Tag Archives: ทักษิณ

15ปีรัฐประหาร๑๙กันยา -สังคมถอยหลัง

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

และที่สำคัญคือ เมื่อสังคมเผชิญวิกฤตโควิด ประชาชนจำนวนมากต้องเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และป่วยล้มตาย เพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการ

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ตราบใดที่เราไม่สร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อปลุกระดมความคิดทางการเมืองที่เข้าข้างกรรมาชีพผู้ทำงานและคนจน และที่เน้นการทำงานทางการเมืองในขบวนการแรงงาน โดยหวังให้ให้ชนชั้นกรรมาชีพสำแดงพลังในรูปแบบการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ เราจะต้องอยู่กับเผด็จการอีกนาน

อย่างน้อยสุด ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ต้องหาทางรวมตัวกันเพื่อปกป้องปลดปล่อยคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ติดคดีกฎหมายเถื่อนอันเนื่องมาจากการปกครองของเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีหลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลก

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

220px-Empire_(book)

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย ที่เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว คืออันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ซึ่งเขาเขียนไว้ในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น และเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

พอถึงปี 2008 ได้เกิดวิกฤตใหญ่ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรีที่ลามจากสหรัฐสู่ยุโรปและแพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตนี้เกิดจากการลดลงของอัตรากำไร แต่นโยบายกลไกตลาดเสรีและการเคลื่อนย้ายทุนจากจุดต่างๆ ของโลกอย่างเสรี ยิ้งทำให้ผลกระทบร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นในไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็มีลักษณะคล้ายวิกฤตใหญ่ที่ตามมาสิบปีหลังจากนั้น

ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีลดลงอย่างมาก ในไทยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณนำระบบเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” มาใช้ผ่านการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคนจน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เสื้อเหลือง ทหาร และพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งตลาดเสรี หลายคนในไทยทุกวันนี้ไม่เข้าใจว่าพวกเผด็จการทหารและประชาธิปัตย์เป็นพวกเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาด ในขณะที่ทักษิณนิยมผสมการใช้รัฐกับกลไกตลาด

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐและยุโรปหลัง 2008 เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับกลไกตลาดเสรีในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต่างๆ ยังหน้าด้านเดินหน้าต่อไป และโอนภาระในการแก้วิกฤตให้กับประชาชนธรรมดาผ่านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม

ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสียงสนับสนุนพวกขวาจัดในบางกรณี เช่นชัยชนะของดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ หรือการขึ้นมาของรัฐบาลขวาจัดในอิตาลี่เป็นต้น ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักของพวกเสรีนิยมเริ่มเข้าสู่วิกฤตหนักในหลายประเทศของยุโรป เช่นในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และสเปน

ในกรณีอื่นการวิจารณ์กลไกตลาดเสรีออกดอกออกผลในทางที่ก้าวหน้า เช่นในข้อเสนอเรื่อง The Green New Deal (“กรีน นิว ดีล”) ที่เสนอให้รัฐฝืนตลาดและเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาที่มาจากสภาพโลกร้อนพร้อมๆ กัน มีการเสนอ “กรีน นิว ดีล” ในสหรัฐและแพร่ไปสู่คานาดาและอังกฤษผ่านนักการเมืองสายซ้ายปฏิรูป

Untitled

สถานการณ์หลังวิกฤต 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

huawei_0

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

761fdce8-2e6d-11e9-80ef-0255f1ad860b_image_hires_092316

สำหรับคำถามว่าตอนนี้เราถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทุนนิยมโลกยังมีลักษณะโลกาภิวัตน์ แต่ในขณะเดียวกันมี “กลุ่มอำนาจ” หลายกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น อียู จีน สหรัฐ ซึ่งไปกดทับผลประโยชน์ของประเทศที่เล็กกว่าแต่อยากจะโตเท่าทันประเทศเจริญ เช่นอินเดียหรืออาเจนทีนาเป็นต้น

จุดยืนของมาร์คซิสต์คือ เราต้องคัดค้านแนวชาตินิยม หรือแนวที่จะพาเราไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจหนึ่งในความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น และเราต้องเน้นความสมานฉันท์ในหมู่กรรมาชีพสากลเพื่อต่อสู้กับรัฐทุนนิยมในประเทศของเรา และระบบทุนนิยมทั่วโลก

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาส่วนใหญ่จากการอภิปรายโดย Alex Callinicos หัวข้อ “Is this the end of globalisation?” ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2XMpE1S ]

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

บทส่งท้ายเรื่องเสนอชื่ออุบลรัตน์

ใจ อึ๊งภากรณ์

[บทความนี้ควรอ่านควบคู่กับเรื่อง “ขยะการเมือง” https://bit.ly/2MTBtdV ]

หลังจากที่วชิราลงกรณ์ออกมาห้ามไม่ให้พี่สาวลงเล่นการเมือง เราเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่ท้าทายจุดยืนต่างๆ

ที่ชัดเจนคือในการวิเคราะห์ส่วนใหญ่ นักวิเคราะห์เน้นแต่ดูเรื่องราวของคนข้างบนเหมือนคนติดละครน้ำเน่า แต่ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดคือ เราจะกำจัดผลพวงของเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยแท้จริงอย่างไร?

คนที่มักเดินไปเดินมาโดยเงยหน้ามองแต่ข้างบน บ่อยครั้งมักจะเหยียบขี้หมา

มีบางคนที่อยู่ต่างประเทศออกมาแดสงความเห็นว่า การเสนอชื่ออุบลรัตน์ ถ้าประสพความสำเร็จจะทำให้ “ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เข้มแข็งมากขึ้น พวกนี้ยังไม่ทันเอ่ยปากก็ถูกพิสูจน์ว่าผิด เพราะอุบลรัตน์กับวชิราลงกรณ์มีความคิดต่างกัน

หลายคนที่สนุกกับหมกมุ่นเรื่องราวของชนชั้นสูง และพูดอยู่เรื่อยๆ ว่าวิชราลงกรณ์กำลังสร้าง“ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่” จะพันตัวเองในความขัดแย้งของทฤษฏีตนเอง เพราะพยายามอธิบายทุกอย่างจากมุมมองนี้

คำถามอันหนึ่งคือทำไมวชิราลงกรณ์ถึงออกมาห้ามพี่สาว? บางคนพยายามเสนอว่าอุบลรัตน์คงต้องขอน้องชายก่อน จริงหรือ? บางคนถามว่ากษัตริย์เปลี่ยนใจเพราะอะไร? แต่คำอธิบายง่ายๆ ที่น่าจะเป็นจริงคือ มีคนของประยุทธ์คลานเข้าไป “สั่ง” ให้วชิราลงกรณ์ออกมาห้ามอุบลรัตน์

ทำไมคำอธิบายนี้น่าเชื่อที่สุด? วชิราลงกรณ์ต้องพึ่งทหารเพื่อที่จะเป็นกษัตริย์ ถ้าไม่มีทหารวชิราลงกรณ์จะอ่อนแอถึงที่สุด บวกกับการที่ประชาชนไม่ปลื้มมากนัก ดังนั้นถ้าเขาจะเสพสุขต่อไปท่ามกลางความร่ำรวย เขาต้องทำตามความต้องการของทหาร ภูมิพลก็ไม่ต่างออกไป ได้ความมั่นคงของตำแหน่งเพราะทหาร และทหารก็พร้อมจะใช้เสมอ

ลองคิดดู ประยุทธ์ไม่พอใจมากกับการที่อุบลรัตน์ถูกเสนอชื่อโดยพรรคไทยรักษาชาติ เพราะมันไปท้าทายการผูกขาดอำนาจของเผด็จการทหาร และถ้าให้เลือกโดยไม่ถูกกดดัน ประยุทธ์กับพวกคงไม่ต้องการแชร์อำนาจกับทักษิณ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเสนอชื่ออุบลรัตน์แต่แรก ทหารจึงมีเหตุผลสูงในการสั่งวชิราลงกรณ์ให้ออกมาห้าม

แต่สำหรับวชิราลงกรณ์ นอกจากการแข่งอีโก้กับพี่สาวว่าใครจะเป็น “นัมเบอร์วัน” แล้ว วชิราลงกรณ์ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัวจากทักษิณแต่อย่างใด เพราะทักษิณไม่ใช่พวกล้มเจ้า และมีข่าวว่าเคยจ่ายหนี้การพนันให้วชิราลงกรณ์อีกด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีทหารออกมาบอกให้ห้ามพี่สาวก็คงไม่สนใจที่จะออกมา

นอกจากพวกหมกมุ่นในเรื่องข้างบน มีนักวิจารณ์ต่างประเทศบางคนที่หัวเราะดูถูกคนไทยว่าโง่ และทำเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกของประเทศที่ไม่เจริญ แต่พวกเหยียดเชื้อชาติเหล่านี้ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทยเลย เราด่ามันได้แต่ไม่ควรไปสนใจ

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มองว่าพรรคไทยรักษาชาติเล่นเกมเก่งมาก บางคนเสนอคำขวัญ “เดินหมากเดียว กินทั้งกระดาน” แต่แล้ว ภายในไม่กี่ชั่วโมงฝ่ายทหารก็ตีกลับมาด้วยการรุกฆาต บทเรียนคือในการเมืองคนที่หาทางลัดมักจบไม่ดี อย่าลืมว่าไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกด้วยการทำงานหนักเพื่อครองใจประชาชน ไม่ใช่ด้วยการหาทางลัด

และถ้าจะดูภาพกว้างเราอาจคิดได้ว่าการเสนออุบลรัตน์เป็นความผิดพลาดพอๆ กับการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

อีกบทเรียนหนึ่งคือ “อย่าไปหวังอะไรจากชนชั้นบน” เช่นคนเสื้อแดงไม่ควรตั้งความหวังอะไรเลยกับวชิราลงกรณ์อย่างที่เคยทำ และตอนนี้ควรทบทวนการตั้งความหวังกับทักษิณอีกด้วย และไม่ควรไปหวังอะไรจากอุบลรัตน์ เพราะนั้นเป็นความคิดแบบ “ไทยเป็นทาส” มัวแต่ขอความเมตตาจากคนข้างบน

ขอเน้นว่าถ้าวิธีการของไทยรักษาชาติประสพความสำเร็จ มันจะเป็นแค่การแชร์อำนาจระหว่างทักษิณกับทหาร มันไม่ลบผลพวงของเผด็จการแต่อย่างใด

ดังนั้นเราต้องกลับมาที่ประเด็นหลักคือ เราจะกำจัดผลพวงของเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยแท้จริงอย่างไร? ซึ่งเป็นคำถามที่ใครๆ ควรถามแต่แรก และเป็นคำถามสำคัญเพราะเราทราบดีว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะถูกจำกัดเพื่อให้อิทธิพลเผด็จการอยู่ต่อไปอีกนาน และพลเมืองธรรมดาที่อยากเลือกพรรคของทักษิณก็ต้องการประชาธิปไตยแท้

51786591_394346794633035_8835436868259545088_n

มันมีคำตอบเดียวครับ การลบผลพวงของเผด็จการ การกำจัดอิทธิพลของทหารในการเมือง และการสร้างประชาธิปไตยแท้ ต้องทำโดยการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีมวลชนมหาศาล ซึ่งพร้อมจะประสานการเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคการเมืองที่อยากเห็นประชาธิปไตย จากประวัติศาสตร์ไทยเราทราบว่าขบวนการแบบนี้สร้างได้ และจะประสพความสำเร็จถ้าอิสระจากการนำของคนชั้นสูง

แต่ถ้าใครปฏิเสธโลกจริงอันนี้ และมองว่าพลเมืองไทยไม่มีปัญญาจะกำหนดอนาคตตนเองได้ มันก็ย่อมจบลงด้วยการเสนอชื่อเจ้าเพื่อแข่งกับทหาร หรือการใส่เสื้อเหลืองเพื่อโบกมือต้อนรับรัฐประหาร

 

ขยะการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเสนอชื่ออุบลรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นจุดต่ำสุดของพรรคการเมืองสายทักษิณ เป็นจุดต่ำสุดของนักการเมือง นปช. เป็นจุดต่ำสุดของนักการเมืองที่น่าจะรู้ดีกว่านี้เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง แต่ที่แย่ที่สุดคือมันเป็นจุดตดต่ำสุดของระบบการเลือกตั้งไทย และเป็นผลพวงของการแทรกแซงการเมืองผ่านรัฐประหารของทหาร

ทูลกระหม่อมหญิง

คนมีปัญญาไม่จำเป็นต้องถามตัวเองว่านางอุบลรัตน์มีคุณสมบัติอะไรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรอก แต่สำหรับคนที่ตื่นเต้นกับการโหนเจ้าผมขอถามว่า…. เขาเคยสัมผัสวิถีชีวิตของพลเมืองไทยธรรมดาที่ยากจนไหม? เขามีความคิดทางการเมืองก้าวหน้าไหม? ในช่วงชีวิตของเขา เขาสนับสนุนประชาธิปไตยบ้างไหม? เคยสนับสนุนความยุติธรรมไหม? เขาคัดค้านระบบสืบทอดตำแหน่งผ่านสายเลือดไหม? เคยเปิดศึกกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไหม? คำตอบคือไม่เคย เขามีประสบการณ์แค่ในการโปรโหมดตนเองในรายการโทรทัศน์ แค่นี้ และเขาไม่มีวันเป็นสามัญชนตราบใดที่ยังมีการใช้ราชาศัพท์และตำแหน่งต่างๆ ในสื่อกระแสหลักอีกด้วย

สำหรับนักการเมืองพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งต้องเริ่มที่ทักษิณและรวมนักการเมืองพรรคอื่นๆ ของเครือข่ายนี้ เพราะอย่ามาพูดเลยว่าไม่ได้คุยกัน การเสนอชื่ออุบลรัตน์เป็นการถุยน้ำลายใส่ประชาชนไทยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมานาน รวมถึงการสละชีพด้วย มันถุยน้ำลายใส่ประวัติศาสตร์ ๒๔๗๕, ๑๔ตุลา, ๖ตุลา, พฤษภา๓๕, และการต่อสู้ของเสื้อแดง มันเป็นการถุยน้ำลายใส่อุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกด้วย เพราะอะไร?

24879_385730269924_537184924_3652887_7350322_n

แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการเสนอชื่ออุบลรัตน์ คือแนวความคิดว่าพลเมืองไทยธรรมดาไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันตัดบทบาทของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไป มันตัดบทบาทของพลเมืองธรรมดาในการมีส่วนร่วม และมันจบลงด้วยการเสนอว่ามีสิ่งเดียวที่จะต้านเผด็จการประยุทธ์ได้นั้นคือคนที่มีเชื้อสายเจ้า มันเป็นการสะท้อนแนวความคิดล้าหลังของพวกพันธ์มิตรเสื้อเหลืองในยุคทักษิณ ที่เชื่อว่าต้องโหนเจ้าถึงจะล้มคนอย่างทักษิณได้ เพราะคนธรรมดาทำอะไรเองไม่ได้

อย่าลืมว่าแนวคิดแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณกับพรรคพวกจงใจแช่แข็งขบวนการเสื้อแดง ซึ่งเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือแช่แข็งจนหมดพลังไปเลย แต่สิ่งนี้ทำไม่ได้ถ้าแกนนำ นปช. ไม่ประกอบไปด้วยคนปัญญาอ่อนที่เห็นด้วยกับทักษิณและไม่ยอมนำการต่อสู้ในช่วงหลัง สิ่งที่น่าผิดหวังคือคนก้าวหน้าในขบวนการเสื้อแดงไม่ยอมหรือไม่สามารถที่จะสร้างแกนนำที่อิสระจากพวกนี้ได้

ในประวัติศาสตร์ไทยและที่อื่นทั่วโลก การพยายามสร้างภาพ “ความฉลาดในการต่อสู้” โดยการหันหลังให้มวลชน ไม่เคยจบดีเลย คิดหรือว่าการอวยคนเชื้อเจ้าแบบนี้จะนำไปสู่การเพิ่มสิทธิเสรีภาพ หรือการลดความเหลื่อมล้ำ หรือการลดบทบาทของทหารในการเมืองไทย? ไม่เลย! ตรงข้าม เพราะการนำแนวความคิดของฝ่ายเผด็จการปฏิกิริยามาใช้เอง เท่ากับการยอมจำนนต่ออุดมการณ์เผด็จการและยุทธศาสตร์สืบทอดเผด็จการ20ปี และที่น่ากังวลอีกคือมันจะนำไปสู่การจับมือระหว่างทักษิณกับเผด็จการทหารในรัฐบาลแห่งชาติ(หมา)อีกด้วย

แต่ในที่สุดเราก็ทราบว่าวชิราลงกรณ์ได้ออกมาพูดว่าพี่สาวไม่เหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ ไม่ว่าจะเคยลาออกหรือพยายามเป็นสามัญชนหรือไม่ ท่าทีของวชิราลงกรณ์ทำให้คนจำนวนมากหงายท้องสับสน เพราะเสื้อแดงหลายคนเคยมองว่าอยู่ข้างทักษิณ ส่วนคนที่เคยพูดเรื่องอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของวชิราลงกรณ์ที่จะถูกเสริมจากการเสนอชื่ออุบลรัตน์ก็ต้องรีบแก้ทฤษฏีกันใหญ่ นอกจากนี้ยังมีคำถามอีกว่าวชิราลงกรณ์ถูกสั่งให้ออกมาโดยทีมประยุทธ์หรือไม่

พลเมืองไทยที่ไม่ยอมและไม่เห็นด้วยกับการเมืองขยะแบบนี้มีมากมาย เราต้องปฏิเสธพรรคการเมืองของฝ่ายทหารและฝ่ายทักษิณ และต้องให้ความสำคัญกับการจัดตั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมในการต่อสู้ต่อไป

Dxcc29yW0AQEpBn

 

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

การลืมต้นกำเนิดความขัดแย้งในไทยเป็นการนำสมองไปไว้ใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เสนอว่าเราไม่ควรพูดถึง “สลิ่ม”  หรือคนที่เสนอว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้ง เป็นพวกที่มองว่าความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่การก่อตัวของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำไม่กี่คน หรือเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ใส่เสื้อคนละสี มันเป็นการเอาสมองไปไว้ใต้กะลา เพื่อหวังว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ความขัดแย้งโดยนำคนหน้าใหม่มาเป็นนักการเมืองแทนคนหน้าเก่า

มันเป็นความคิดปัญญาอ่อนที่ไร้สาระ และถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดความขัดแย้ง เราจะเข้าใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้

พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันทำให้เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม แลพวกอนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการ “เหม็นขี้หน้าทักษิณ” ของพวกที่ทำลายประชาธิปไตย มันมาจากจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองของเขาต่างหาก

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร นอกจากนี้ไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่จะเป็นปากเสียงของคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทย เข้าใจและพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อครองใจประชาชน ซึ่งจะแทนที่ระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า “นโยบายคู่ขนาน” คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนใช้คำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้ ถูกซื้อง่าย และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งขันทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้ง เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย

ในขณะที่เรามองเห็นและรู้จักพวกที่ทำลายประชาธิปไตย เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนแบบขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

ความ “ใหม่” ของไทยรักไทยกับพรรคอนาคตใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อมีการพูดกันด้วยความตื่นเต้นในเรื่อง “ความใหม่” และ พรรค “อนาคตใหม่” ผมจะขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทบทวนและเปรียบเทียบความหวังของคนจำนวนมากในยุคนี้ กับความหวังที่คนเคยมีกับพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะในยุคปัจจุบันพรรคของ ทักษิณ ไม่น่าจะเป็นที่พึ่งของคนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมได้แต่อย่างใด

14552694321455269471l

พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๔๑ โดยทักษิณ ชินวัตร หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คำขวัญสำคัญของพรรคคือ “คิดใหม่ทำใหม่” และเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยทันสมัย

สรุปแล้วพรรคอนาคตใหม่กับพรรคไทยรักไทยมีจุดร่วมในการเน้น “ความใหม่” กับ “ความทันสมัย” และทักษิณก็เคยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วย

ก่อนอื่นเราต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เพราะเผด็จการทหารชุดปัจจุบันห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายในช่วงนี้ การห้ามแบบนี้ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่มีการอธิบาย แต่อาจเป็นเพราะต้องการตีกรอบล่วงหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่านโยบายแบบไหนจะมีได้ และแบบไหนมีไม่ได้

อย่างไรก็ตามทั้ง ธนาธร ปิยบุตร และคนอื่นได้ให้ความเห็นบางประการผ่านสื่อซึ่งเราสามารถนำมาพิจารณาได้ ที่ชัดเจนมากคือพรรคอนาคตใหม่ฟันธงว่าต่อต้านเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของทหาร

yingluck-and-prayuth-together-inspecting-flood-damage

ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยที่แปลงร่างนั้นเอง จุดยืนของ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างชัดเจน เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นพรรคพวกของ ทักษิณ คอยประนีประนอมกับทหารเผด็จการเรื่อยมา ในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน ไม่มีการพยายามลงโทษประยุทธ์เลย และไม่มีการสกัดกั้นไม่ให้แทรกแซงการเมืองด้วย ต่อมาหลังจากที่ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ก็ไม่มีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแต่อย่างใด

hqdefault

กรณีข้อยกเว้นที่ดีของอดีตสส.พรรคเพื่อไทยคือ วัฒนา เมืองสุข และ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งสองคนนี้ไม่ยอมก้มหัวให้ทหารมาตลอด

bibfbecb7f9kb5cjefejh

แน่นอน เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายในการนำทหารออกจากการเมืองแบบที่ ธนาธร กับ ปิยบุตร เสนอ แต่มันมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยคือ จะเอาอำนาจที่ไหนมาลดบทบาททหาร? จริงๆ แล้วมันมีอำนาจเดียวที่ทำตรงนี้ได้คือ อำนาจของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตรงนี้เราจะเห็นว่าพรรคของ ทักษิณ มีประวัติในการสร้างขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่แล้ว ทักษิณ กับ นปช. ก็ไปแช่แข็งขบวนการนี้และปล่อยให้ตายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ นี่คือบาปกรรมอันเลวร้ายของพรรคเพื่อไทย

คำถามคือ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีแผนจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ ยังไม่มีการพูดถึง ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของ “พรรคสามัญชน” ที่ประกาศว่าเชื่อมโยงกับมวลชนรากหญ้า

ปิยบุตร พูดถึงตัวอย่างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป แต่ตามด้วยการเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาไม่มีความสำคัญในไทย พูดง่ายๆ เขามองว่าไทยไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้น และไม่มีการพูดถึงความสำคัญของขบวนการแรงงานเลย

การที่ผู้นำแรงงานหนึ่งคน คือสุรินทร์ คำสุข จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ มาร่วมเปิดตัวพรรค ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการที่พรรคจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่พรรคฝ่ายซ้ายในหลายประเทศมี พรรคไทยรักไทยเคยมี สถาพร มณีรัตน์ จากสหภาพแรงงาน กฝผ เป็นสมาชิกและต่อมาเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้ทำให้พรรคของทักษิณเป็นพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

ธนาธร เปิดเผยไปแล้วว่าเขาเห็นชอบกับการกดขี่สิทธิแรงงาน 

ปิยบุตรเอ่ยถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันถ้วนหน้าให้คนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และยามตาย ซึ่งคำพูดแบบนี้นักการเมืองพรรคเก่า เช่นทักษิณ ก็เคยพูด ถ้าพรรคอนาคตใหม่จะจริงจังในการสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นสิ่งใหม่ ต้องพูดกันให้ชัด และต้องพูดว่าจะเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อสร้างกองทุน

ผมจะขอเดาว่าจริงๆ แล้ว ปิยบุตร ต้องการสร้างฐานเสียงของพรรคในหมู่คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยแล้ว ทักษิณ เคยประกาศว่ามีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ไม่ใช่แค่คนรวยหรือคนชั้นกลางเท่านั้น และเขาก็ทำจริงตามคำประกาศ

สมาชิกของพรรคอนาคตใหม่มีการพูดถึงความคิดใหม่เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ตรงนี้ต่างจากไทยรักไทย แต่พรรคอนาคตใหม่จะจริงจังแค่ไหนคงต้องรอดู 

บางคนพูดว่าการที่มีนายทุนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พร้อมจะลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ใหม่เลย นายทุนใหญ่หน้าใหม่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนเช่นกัน

ธนาธร ยังไม่ได้กล่าวถึงนโยบายอะไรมากนอกจากการลดบทบาททหาร และการกระจายอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลไปสู่แต่ละจังหวัด นโยบายการกระจายอำนาจแบบนี้เป็นนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดชัดๆ เพราะปฏิเสธบทบาทรัฐบาลกลางในการเก็บภาษีแล้วกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นที่ยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในขณะที่ ธนาธร พูดเหมือนกับว่าจะปล่อยให้จังหวัดที่ยากจนจนต่อไป ทักษิณ เคยเน้นบทบาทรัฐบาลกลางในการพัฒนาฐานะของคนจนในชนบท นอกจากนี้รัฐบาลไทยรักไทยมีผลงานในการสร้างระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้าขึ้นมาเป็นครั้งแรก และนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนอีกหลายนโยบาย

35325500736_f90767b2d5_o

ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก มีการส่งทีมงานลงไปในชุมชนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับประชาชนว่าเขาต้องการนโยบายอะไรแบบไหน ตรงนี้ไทยรักไทยทำอย่างเป็นระบบ ถ้าพรรคของ ธนาธร กับ ปิยบุตร จะมีผลงานจริงกับคนรากหญ้า มันมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ โดยเฉพาะการต่อสายไปสู่ขบวนการแรงงานกับเกษตรกรยากจน แต่ถ้าเขาไม่สนใจทำ พรรคของเขาก็คงเป็นแค่พรรคฝ่ายขวาธรรมดาของชนชั้นกลาง ที่ต่อต้านทหาร

เราคงต้องติดตามข่าวต่อไปครับ

มาทำความเข้าใจกับรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย

แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล

บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”

แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์กำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหารข้าราชการชั้นสูง รวมถึงศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควรเป็นกลางและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าทักษิณจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคต่างๆ ของทักษิณ โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน และจะไม่ได้อยู่ในมือของตัวแทนกรรมาชีพและคนจนในรัฐสภาเลย และถ้ารัฐบาลของพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน พยายามจะกำจัดอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลนั้นจะถูกโค่นล้มโดยชนชั้นปกครอง

หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับเนื้อแท้ของรัฐไทยภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน [ดู http://bit.ly/1QPRCP6 ]

เลนินอธิบายว่ารัฐไม่เคยเป็นกลาง และเป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นล่าง ดังนั้นการที่พรรคของกรรมาชีพจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าชนชั้นนายทุนจะมือไม้อ่อนยอมโอนอำนาจให้กรรมาชีพ ตรงกันข้ามรัฐจะพยายามทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศไม่ได้

กรรมาชีพจะใช้รัฐปัจจุบันในการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะรัฐทุนนิยมปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่แต่แรก

จริงๆ แล้ว ระบบการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้รัฐทุนนิยมเป็นวิธีการที่จะสร้างภาพในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะถ้าจะสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการฝืนกฏหมายและกติการที่ถูกสร้างไว้โดยนายทุน เพื่อยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และยึดอำนาจทหาร ตำรวจ และศาล มาเป็นของประชาชน ซึ่งแปลว่าต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และมีประชาธิปไตยแท้ผ่านสภาต่างๆ ในสถานที่ทำงานและในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ คือประชาชนธรรมดาต้องมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทุกอย่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น

สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ ซึ่งแปลว่าเราต้องพร้อมจะจัดตั้งองค์กรหรือพรรคของคนชั้นล่างที่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าแค่ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงในอดีต

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับกับสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ (Combined and Uneven Development) เป็นวิธีอธิบายกระบวนการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ คนที่เสนอแนวคิดนี้คือนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี

ลักษณะสำคัญของรัสเซียในสมัยก่อนการปฏิวัติปี 1917 คือมีความล้าหลังในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมถ้าเทียบกับยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐ แต่ท่ามกลางความล้าหลังนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

ประเทศล้าหลังจะเรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการผลิตจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของทุนนิยม แต่ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนา เพราะประเทศล้าหลังจะได้เปรียบในแง่หนึ่งคือ สามารถรับสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศก้าวหน้าได้ทันที จึงมีการก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยตามภาพรวมของทุนนิยมโลก

ตรอทสกี้เขียนว่า “มนุษย์เผ่าดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตโบราณอยู่ในป่า วันนี้อาจใช้ธนูและหอก แต่พรุ่งนี้ ถ้ามีโอกาสสัมผัสกับคนจากภายนอก จะสามารถจับปืนมาใช้ได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “กฏเหล็ก” ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเรื่อง และบางครั้งการรับสิ่งที่ทันสมัยมาใช้โดยสังคมล้าหลัง อาจรับมาในลักษณะเพี้ยนๆ ก็ได้ เช่นการนำระบบคิดใหม่มาเสริมสร้างรูปแบบการปกครองแบบล้าหลัง กรณี รัชกาลที่๕ ในไทย เป็นตัวอย่างที่ดี คือรับรูปแบบการบริหารรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้เพื่อเสริมอำนาจกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าประวัติศาสตร์มีกฏเหล็กทั่วไป กฏนั้นคงจะระบุว่าการพัฒนาของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม ต่างระดับ และความไม่แน่นอนเสมอ

ในเรื่องของความ “ต่างระดับ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกแบบองค์รวม เราจะเห็นจากรัสเซีย ในปี 1914 คือรัสเซียยากจนกว่าสหรัฐประมาณ 10 เท่า แต่ 40% ของอุตสาหกรรมรัสเซียเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยขนาดใหญ่ที่มีกรรมาชีพจำนวนมากในโรงงานเดียวกัน ในขณะที่เพียง 18% ของอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัสเซียมีความล้าหลังดำรงอยู่ คือมีชาวนากึ่งทาสเป็นล้านๆ คน ซึ่งสหรัฐไม่มี

กรรมาชีพในประเทศล้าหลังมีสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองหน้ากรรมาชีพโลกได้ทันที ทั้งในด้านจิตสำนึก ระดับการศึกษา และฝีมือ คือไม่ต้องผ่านการพัฒนาเป็นร้อยๆปี แบบที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตก ลูกชาวนาในไทยที่เข้าสู่ระบบโรงงาน ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ และคนไทยที่อยู่ในเมืองกับชนบทเรียนรู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ดได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้คนตะวันตก

แต่หลายแง่ของระบบการเมืองและสังคมในไทย ยังติดอยู่ในระดับล้าหลัง เช่นแนวคิดของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทุนหรือทหาร และมองว่าพลเมืองไทยคิดเองไม่เป็น ไม่ทันสมัย “ขาดการศึกษา” และปกครองตนเองไม่ได้ ดังนั้นชนชั้นปกครองไทยจึงอาศัยการปกครองแบบกึ่งเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกนักการเมืองได้ การบังคับให้พลเมืองรักกษัตริย์ดุจเทวดาก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล้าหลังอันนี้ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไทยมีลักษณะทันสมัยในยุคปัจจุบัน คือเป็นเครื่องมือของนายทุนและทหาร

อีกแง่หนึ่งของความล้าหลังและต่างระดับของสังคมไทย คือในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสภาพชีวิตคนธรรมดา กับพวก “ผู้ใหญ่” และชนชั้นกลางในสังคม คนไทยจำนวนมากยังยากจน เมื่อเทียบกับเศรษฐีระดับโลกของไทย และการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการและสิทธิพลเมืองยังไม่เกิดอย่างจริงจัง

สภาพการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับของไทย นำไปสู่ความขัดแย้งที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอันหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะเมื่อมีนักการเมืองนายทุน คือทักษิณและพรรคพวก เข้ามาเสนอแผนที่จะพัฒนาชีวิตประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการสร้างงานหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พลเมืองจำนวนมากชื่นชมและเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองและทหารหัวเก่าที่ไม่เข้าใจความไม่พอใจที่ดำรงอยู่ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว

เราควรเข้าใจว่าทฤษฏี “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” ของตรอทสกี้ ใช้อีกทฤษฏีหนึ่งเป็นคู่ฝาแฝด คือ “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ทั้งตรอทสกี้ และคาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศด้อยพัฒนาไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าเท่านายทุนในประเทศพัฒนา เพราะไม่เคยนำการปฏิวัติล้มระบบขุนนาง นายทุนส่วนใหญ่หลังยุค 1848 เป็นนายทุนขี้ขลาด กลัวกรรมาชีพมากกว่าเกลียดขุนนาง และมุ่งที่จะอนุรักษ์ระบบโดยพร้อมจะประนีประนอมกับอำนาจเผด็จการประเภทที่ปฏิกิริยาที่สุดเสมอ

นักมาร์คซิสต์จึงเสนอว่าผู้ที่จะต้องรับภาระในการปลดแอกประชาชนในโลกปัจจุบัน จะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก ชนชั้นกรรมาชีพสำคัญเพราะทำงานรวมหมู่และอยู่ในใจกลางระบบการผลิตและเศรษฐกิจทุนนิยม

สำหรับไทย แนวคิดนี้อธิบายว่าทำไมทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันนำการต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยม เพราะเขากลัวว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นจะไปไกลกว่าแค่การหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาพการเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทักษิณและพรรคพวกมีส่วนคล้ายและอุดมการณ์ร่วมกับพวกทหารและนักการเมืองอนุรักษ์นิยม มากกว่าที่เขาจะมีกับประชาชนธรรมดา นี่คือสาเหตุที่เขาแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงหลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

ถ้าเราจะเดินหน้าพัฒนาระบบการเมืองและสังคมไทย เราต้องสร้างพรรคและขบวนการทางสังคมของมวลชนคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพ พรรคและขบวนการนี้ต้องอิสระโดยสิ้นเชิงจากทักษิณและพรรคเพื่อไทย และเราต้องเลิกตั้งความหวังอะไรเลยกับพรรคเพื่อไทยหรือการเลือกตั้งภายใต้อำนาจทหารในอนาคต