ใจ อึ๊งภากรณ์
[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวการอาละวาดผ่านทวิตเตอร์ของนายทุนเศรษฐี อีลอน มัสก์ ด้วยการใส่ร้าย เวิร์น อันสเวิร์ธ นักดำน้ำอังกฤษที่ร่วมทีมกู้ภัย “หมูป่า” ว่าเป็นคนที่ชอบละเมิดเด็กเล็ก โดยไม่มีหลักฐานอะไรเลย สาเหตุเพราะทีมนักดำน้ำทั้งไทยและต่างประเทศสรุปว่าเรือดำน้ำขนาดเล็กของ มัสก์ ไม่เหมาะสมที่จะกู้ทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำได้ สาเหตุที่ไม่เหมาะสมคือมันผ่านบางจุดในถ้ำที่มีทางโค้งและช่องแคบไม่ได้
ก่อนหน้านี้ มัสก์ ก็ออกมาด่าอดีตผู้ว่าราชการเชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญพอที่จะออกมาพูดว่าเรือดำน้ำของ มัสก์ ใช้ไม่ได้ในกรณีถ้ำนางนอน
ข้อสรุปของหลายคน รวมถึงนักดำน้ำอังกฤษ ว่า อีลอน มัสก์ เข้ามายุ่งในเรื่องการกู้เด็กออกมาจากถ้ำ ก็เพื่อโฆษณาตนเองเท่านั้น น่าจะมีน้ำหนัก เพราะ มัสก์ ควรจะดีใจโดยไม่มีเงื่อนไขที่เด็กทุกคนและโค้ชออกมาได้อย่างปลอดภัย เหมือนคนไทยและชาวโลกนับล้านๆ แต่ มัสก์ กลับโกรธและไม่พอใจที่ข้อเสนอของตนเองถูกขัดด้วยเหตุผลและปัญญา
ก่อนหน้านี้ องค์กรข่าว Center for Investigative Reporting (CIR) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ได้รายงานถึงสภาพการทำงานในโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของ มัสก์ ว่ามีปัญหาเรื่องความปลอดภัยแบบเรื้อรัง [รายงานภาษาอังกฤษอ่านได้ที่นี่ https://bit.ly/2qGLpgf ]
CIR รายงานว่าอดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของบริษัทพยายามยกเรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัยขึ้นมาคุยกับฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีใครสนใจ อัตราอุบัติเหตุในโรงงานของ Tesla สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในโรงงานประกอบรถยนต์ทั่วไปของสหรัฐ คือประมาณ 8.1-8.8 ต่อคนงาน 100 คน ในปี 2017 และ2016 เทียบกับอัตรา 6.2-6.7 ในโรงงานของบริษัทอื่น และที่ Tesla มีอัตราอุบัติเหตุร้ายแรงเกือบสองเท่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ ยิ่งกว่านั้นในปี 2017 หลังจากที่มีการวิจารณ์บริษัทเรื่องความปลอดภัย Tesla พยายามปกปิดอัตราจริงผ่านการไม่รายงานหลายเหตุการณ์ ซึ่งถือว่าผิดกฏหมาย
ปัญหาความปลอดภัยในโรงงาน Tesla มีหลายเรื่อง เช่นปัญหาสารเคมี การถูกเครื่องจักรบาด การถูกชนโดยรถยกชิ้นส่วน การถูกไฟดูด และการโดนเหล็กหลอมลวก CIR กล่าวว่าสภาพภายในโรงงานมีลักษณะวุ่นวายไร้ระเบียบและอุปกรณ์ยกเครื่องยนต์บางครั้งไม่ได้ถูกทดสอบก่อนนำมาใช้
อดีตลูกจ้างในทีมความปลอดภัยหลายคนสรุปกับ CIR ว่าบริษัทเร่งผลิตรถยนต์ โดยไม่ยอมพิจารณาความปลอดภัยของคนงาน ครั้งหนึ่งอดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย ได้เตือนฝ่ายบริหารว่าในโรงงานมีความเสี่ยงว่าจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดได้ แต่เขาถูกโต้ตอบว่าทุกอย่างต้องขึ้นกับเป้าหมายตัวเลขในการผลิตเป็นหลัก
CIR เปิดโปงว่าบรรยากาศที่มาจากวิธีบริหารแบบเผด็จการของ มัสก์ ภายในโรงงาน ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าเถียงกับ มัสก์ และซีอีโอคนนี้ขึ้นชื่อว่าไม่ชอบกฏระเบียบและป้ายต่างๆ ที่จะเพิ่มความปลอดภัย บ่อยครั้งคนงานถูกกดดันให้ทำงานวันละ 12 ชม. สัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อเพิ่มอัตราการผลิต
หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษรายงานเมื่อกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ว่า มัสก์ ชอบสร้างภาพว่าตนเองห่วงใยลูกจ้าง แต่ในรูปธรรมไม่ทำตามคำพูด นสพ. Guardian มองว่า มัสก์ เป็นคนขี้อวด และบ่อยครั้งสิ่งที่เขาพูดไม่เป็นความจริง บริษัทของเขามีปัญหาเรื่องการละเมิดทางเพศและการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานสีผิวและเพศ ทั้งๆ ที่ มัสก์ ชอบประกาศว่าเขาต่อต้านสิ่งเหล่านี้ และการเร่งอัตราการผลิตทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งพูดออกมาว่าบางวันต้องเลือกระหว่างการพักเพื่อไปกินอาหารกับการเข้าห้องน้ำ [บทความภาษาอังกฤษดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2K2hnjq ]
ในบทความอีกชิ้นหนึ่งของ The Guardian จากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มีการรายงานว่ามีความพยามที่จะนำสหภาพแรงงานประกอบรถยนต์เข้ามาในโรงงานของ Tesla เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องความปลอดภัยและการบังคับให้คนงานทำโอที และเราไม่ควรแปลกใจที่ มัสก์ พยายามต้านสหภาพด้วยการใส่ร้ายต่างๆ นาๆ เดิมโรงงานแห่งนี้เคยเป็นของบริษัท GM และตอนนั้นมีสหภาพแรงงาน แต่เมื่อขายให้ Tesla และรับคนงานเข้ามาใหม่ ปรากฏว่าไม่มีสหภาพแรงงาน [บทความภาษาอังกฤษดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2ljDiDj ]
ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังนายทุนเศรษฐีหน้าเลือดที่ชื่อ อีลอน มัสก์ และเราคงโล่งใจที่มันไม่มีบทบาทในการนำเด็กๆ ออกมาจากถ้ำ