Tag Archives: ทุนนิยมกลไกตลาด

ทำไมต้องมีการปฏิวัติสังคมนิยม -สามวิกฤตของทุนนิยมปัจจุบัน

ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม ซึ่งทั้งสามวิกฤตมีผลซึ่งกันและกัน และท้าทายความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งโลก

1. วิกฤตที่หนึ่ง  วิกฤตโควิด

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

คนที่ตกงาน เด็กๆ หรือวัยรุ่นที่ต้องขาดเรียน และคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข จะเสี่ยงต่อปัญหาจิตใจมากขึ้นเนื่องจากชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในขณะเดียวกันพวกนายทุนเศรษฐีที่รวยที่สุดมีการเพิ่มทรัพย์สินมหาศาล และบริษัทยาขนาดใหญ่ก็คุมการผลิตวัคซีนภายใต้ความต้องการที่จะเพิ่มกำไรอย่างเดียว

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่ในไม่ช้าแรงกดดันจากกลุ่มทุนจะบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป ซึ่งทำให้โควิดระบาดรอบสองหรือสาม

แต่ที่สำคัญคือวิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงโดยตรงกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้

นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกัน ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เกษตร และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่ระบาดไปทั่วโลก

ถ้าไม่มีการปรับรูปแบบการเกษตร พัฒนาสภาพชีวิตมนุษย์ และการปกป้องธรรมชาติอย่างจริงจังปัญหานี้จะแก้ไม่ได้ แต่ภายใต้ทุนนิยม การแสวงหากำไรของกลุ่มทุนใหญ่กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลต่างๆ และกลุ่มทุน

อ่านเพิ่ม: โควิด https://bit.ly/2UA37Cx  

ทุนนิยม กลไกตลาด กับปัญหาโควิด https://bit.ly/3aA9hrF

2. วิกฤตที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร

ก่อนที่โควิดจะระบาด ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเข้าสู่สภาพถดถอยมาหลายสิบปีแล้ว สาเหตุคือแนวโน้มของระบบที่จะทำให้อัตรากำไรลดลง สืบเนื่องจากการลงทุนมากขึ้นในเครื่องจักรในอัตราที่เร็วกว่าและสูงกว่าการลงทุนในการจ้างกรรมาชีพ กลุ่มทุนต่างๆ โดนกดดันให้ทำเช่นนี้ เพราะการแข่งขันในระบบกลไกตลาดของทุนนิยม กลุ่มทุนไหนไม่ลงทุนแบบนี้ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ แต่ผลในภาพรวมคือทำให้เศรษฐกิจเสื่อมในระยะยาว และทุกวันนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะอ่อนแอตามด้วยวิกฤตเป็นระยะๆ และรัฐต่างๆ มักจะต้องอุ้มกลุ่มทุนและบริษัทต่างๆ เพื่อไม่ให้ล้มละลาย ซึ่งทำให้เราเห็น “บริษัทซอมบี้” มากมาย คือกึ่งเป็นกึ่งตาย และมีหนี้สินท่วมหัว รัฐเองก็มีหนี้สินเพิ่มจากการอุ้มบริษัทด้วย

พอโควิดระบาด สถานการณ์นี้ร้ายแรงขึ้นหลายเท่า คาดว่าตอนนี้ระบบทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่แย่กว่าช่วง 1930 เสียอีก คนเริ่มตกงานกันทั่วโลก และรัฐต่างๆ เข้ามาอุ้มกลุ่มทุนต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ช่วยพลเมืองอย่างเพียงพอ แถมมีการวางแผนที่จะตัดค่าแรงเงินเดือน และรัดเข็มขัดตัดระบบสาธารณสุขและสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีก

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือประเทศในยุโรป แต่ลักษณะการเมืองฝ่ายขวายิ่งทำให้สภาพแย่ลงถ้ารัฐบาลปฏิเสธเรื่องโควิด หรือปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณช่วยประชาชนในอัตราเพียงพอ ซึ่งต้องทำผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย และการตัดงบทหารหรืองบพวกอภิสิทธิ์ชน

อ่านเพิ่ม: วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf

3. วิกฤตที่สาม วิกฤตโลกร้อน

วิกฤตโลกร้อนมีผลทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดอากาศร้อนสุดขั้ว อากาศเย็นสุดขั้ว ไฟป่า พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และมีส่วนในการผลิตฝุ่นละอองในอากาศด้วย มันจะทำให้การเกษตรล้มเหลวในบางพื้นที่ การประมงมีปัญหา ธรรมชาติและระบบนิเวศน์เสียหายมหาศาล ส่งผลให้ท้าทายสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลก เพิ่มความยากจน เพิ่มความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัย

วิกฤตโลกร้อนเป็นวิกฤตที่มาจากระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทุนนิยม และทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองส่วนใหญ่ทราบว่ามีปัญหานี้จริง แต่ระบบการแข่งขันในกลไกตลาดแปลว่ากลุ่มทุนใหญ่คิดแต่เรื่องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้าโดยไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมได้เลย และถึงแม้ว่ามีการพูดกันว่าจะลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน แต่ในทางรูปธรรมยังไม่มีประเทศไหนที่ทำได้รวดเร็วพอที่จะห้ามวิกฤตนี้ได้

วิธีสำคัญในการลดปัญหาโลกร้อน คือการที่รัฐที่ควบคุมโดยคนธรรมดาตามหลักประชาธิปไตย จะต้องออกมาควบคุมหรือยึดกลุ่มทุนและระบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มทุนเกษตร เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายในการผลิตจากการแสวงหากำไร ไปเป็นการตอบสนองทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะที่ปกป้องโลกธรรมชาติ ต้องมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว ต้องใช้รถไฟไฟฟ้าแทนเครื่องบิน ต้องมีการผลิตพลังงานจากแสงแดดและลมพร้อมกับยกเลิกการผลิตพลังงานจากน้ำมัน ถ่านหินหรือก๊าซ ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่เราไม่มีการเปลี่ยนระบบจากทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยม

อ่านเพิ่ม: สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

วิกฤตโลกร้อนทับถมซ้อนลงไปกับสภาพวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ และทั้งสามวิกฤตมาจากเนื้อแท้ของระบบทุนนิยม ถ้าเราไม่ร่วมกันเปลี่ยนระบบและโครงสร้างของสังคม มนุษย์ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในสภาพสังคมที่โหดร้ายป่าเถื่อนในอนาคตข้างหน้า

คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนจะตรงกับความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม สภาพย่ำแย่ของโลกปัจจุบันเป็นประกายไฟในการลุกขึ้นสู้ของคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ซึ่งเราเห็นใน ไทย ฮ่องกง อัฟริกา ยุโรป สหรัฐ และลาตินอเมริกา การต่อสู้ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือความหวังของเรา

อ่านเพิ่ม: การลุกฮือของมวลชนทั่วโลกในปี 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ คือเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริง

ก่อนอื่นขอฟันธงว่า “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ไม่ใช่สิ่งเดียวกับเผด็จการ “สตาลิน/เหมา” ที่เคยมีในรัสเซีย และยังมีในจีน เกาหลีเหนือ หรือคิวบา และไม่ใช่สิ่งเดียวกับเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ในท้ายบทความนี้จะอธิบายรายละเอียด แต่ก่อนอื่นขอเสนอว่าสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์คืออะไร

     มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ มองว่า “สังคมนิยม” เป็นสังคมทางผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์สมบูรณ์ แต่เราไม่ควรยึดติดกับคำ เพราะในยุคนี้ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน และเป็นสังคมที่ไม่มีระบบทุนนิยมแล้วเพราะถูกปฏิวัติยกเลิกไป

     สังคมนิยมคือวิธีการจัดการบริหารสังคมมนุษย์โดยเน้นความร่วมมือกันระหว่างพลเมือง เน้นความสมานฉันท์และเน้นความเท่าเทียมกัน แทนที่จะเน้นการแย่งชิงกัน หรือการเอารัดเอาเปรียบกัน ที่มาจากระบบความคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ของทุนนิยมตลาดเสรี

     สังคมนิยมเป็นระบบที่ไม่มีชนชั้น คือไม่มีเจ้านายและผู้ถูกปกครอง ไม่มีคนส่วนน้อยที่ครอบครองทรัพยากรเกือบทั้งหมดในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอะไรนอกจากการทำงานเพื่อคนอื่น มันเป็นระบบที่ยกเลิกนายทุนและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเป็นระบบที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ แทนที่จะถูกจำกัดอยู่ในกรอบ สังคมนิยมคือสภาพมนุษย์ที่เป็นปัจเจกเสรีในระดับสูงสุดผ่านกระบวนการร่วมมือกับคนอื่นๆ ในสังคม

     ในระบบทุนนิยม ถ้าเรามีประชาธิปไตย มันก็แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเราอาจมีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาล หรืออาจมีเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง แต่เราไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบและควบคุมเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจ การลงทุน และการผลิต ถูกควบคุมโดยนายทุนในรูปแบบการผูกขาดอำนาจ และเราไม่มีโอกาสร่วมในการปกครองตนเอง เพราะเรายังมีคนมาปกครองเราภายใต้ระบบชนชั้น ในระบบทุนนิยมนี้ แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีกฏหมายเผด็จการแบบ 112 ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นเช่นประเด็นว่าใครครองสื่อมวลชนเป็นต้น ดังนั้นสิทธิในการแสดงออกของคนธรรมดากับนายทุนสื่อ ต่างกันในรูปธรรม

     ในสังคมปัจจุบันเราไม่มีโอกาสเลือกว่าเราจะ “เป็นใคร” หรือ “เป็นอะไร” อย่างเสรี เพราะเราต้องไปหางานภายใต้เงื่อนไขนายทุน เด็กถูกแยกและคัดเลือกตั้งแต่อายุยังน้อย แยกออกว่าจะเป็น “ผู้ประสพความสำเร็จ” หรือเป็น “ผู้ไม่สำเร็จ” และเกือบทุกครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเด็กนั้นเกิดในตระกูลไหน มนุษย์จำนวนมากจึงไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ท่ามกลางระบบชนชั้น

     ความ “เท่าเทียม” ของสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเหมือนกัน” เพราะสังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นปัจเจกเต็มที่ มันเปิดโอกาสให้เรามีนิสัยใจคอ วิถีชีวิต และรสนิยมตามใจชอบ แทนที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ ถูกบังคับให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และมีวิถีชีวิตในกรอบศีลธรรมและรสนิยมของชนชั้นปกครอง

     นักสังคมนิยมชื่อดัง เช่น คาร์ล มาร์คซ์ หรือ ลีออน ตรอทสกี้ เคยวาดภาพว่าภายใต้สังคมนิยมเราจะสามารถเป็นศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์ในตอนเช้า และเป็นช่างฝีมือหรือนักกิฬาในตอนบ่ายได้ ชีวิตแบบนั้นจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยสิ้นเชิง เพราะเดิมมนุษย์รักการทำงานที่สร้างสรรค์ แต่พอเราตกอยู่ในสังคมชนชั้น งานกลายเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อภายใต้คำสั่งของคนอื่น งานในระบบสังคมนิยมจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพราะมันจะทำให้เรามีความสุขและรู้สึกว่าเรามีผลงานที่น่ายกย่องภูมิใจ

     แน่นอนงานบางอย่างคงไม่มีวันสนุกได้ เช่นการซักผ้า เก็บขยะ หรือการทำความสะอาดส้วม แต่งานแบบนั้นเราใช้เครื่องจักรมาทำแทนได้บ้าง และที่ยังต้องอาศัยมนุษย์ก็ผลัดกันทำ ไม่ใช่ว่ามีบางคนในสังคมที่ต้องทำงานแบบนี้ตลอดชีพ

     สังคมนิยมจะเป็นระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบทุนนิยม เพราะมีการวางแผนการผลิต ผ่านระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ไม่ใช่นายทุนแข่งกันผลิตเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายจนเกิดการล่มจมและปิดโรงงานหรือเลิกจ้าง อย่างที่เราเห็นทั่วโลกตอนนี้ และสังคมนิยมจะไม่เปลืองทรัพยากรโดยการโฆษณาให้พลเมืองซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นถ้าเรากำจัดการแข่งขันแบบตลาด ซึ่งเป็นแค่ระบบ “ตัวใครตัวมัน” เราจะกำจัดความจำเป็นของการทำสงครามและประหยัดงบประมาณทหารมหาศาล การจัดการบริการประชาชนในปริมาณระดับคนหมู่มาก จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายอีก เรามั่นใจตรงนี้ได้เพราะระบบสาธารณสุขและการศึกษาแบบ “ถ้วนหน้า” ในระบบทุนนิยมที่มีรัฐสวัสดิการ ยังเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการบริการประชาชนผ่านบริษัทเอกชนหลายบริษัท

     ในระบบสังคมนิยมพลเมืองจะสามารถควบคุมคุณภาพ และออกแบบระบบการบริการได้อีกด้วย ผ่าน “สภาประชาชน” ในระดับถานที่ทำงาน ท้องถิ่น หรือภูมิภาค

     สภาประชาชนที่ว่านี้ เคยถูกออกแบบมาโดยคนทำงานธรรมดาในคอมมูนปารีส หรือหลังการปฏิวัติรัสเซียในยุคก่อนที่สตาลินจะยึดอำนาจ มันเป็นสภาที่เราถอดถอนผู้แทนที่เราเลือกมาได้ทุกเมื่อ เพื่อควบคุมเขาอย่างเต็มที่ มันเป็นระบบที่มีเขตการเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน เพื่อควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน และมันเป็นสภาที่ผู้แทนไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ไม่กินเงินเดือนมากกว่าคนธรรมดา ต่างจากรัฐสภาในระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง

     ในระบบสังคมนิยมเราจะขยันลบล้างความคิดล้าหลังในหมู่พลเมือง ที่นำไปสู่การดูถูกสตรี เกย์ ทอม ดี้ กะเทย คนต่างชาติ หรือคนกลุ่มน้อย และมนุษย์จะสามารถรักกันด้วยหัวใจ แทนที่จะรักกันภายใต้เงื่อนไขของเงินหรือศีลธรรมจอมปลอม

     สังคมนิยมคือระบบที่เราร่วมกันผลิตสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ต้องการ และเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าว จะใช้ระบบการทำงานของทุกคนตามความสามารถของแต่ละคน

ข้อเสียของทุนนิยม

ในระบบทุนนิยมมีการผลิตเพื่อกำไรของนายทุนอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อกำไรลดลง ก็จะเลิกผลิต ทั้งๆ ที่คนยังต้องการสินค้ามากมาย มันจึงเกิดวิกฤตแห่งการผลิต “ล้นเกิน” ท่ามกลางความอดอยากเสมอ ทุนนิยมนี้ไร้ประสิทธิภาพจริงๆ และทุกวันนี้เราเห็น “วิกฤตสามชนิดซ้อนกัน” ของระบบทุนนิยม ซึ่งมีผลในการทำลายวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก ถึงขนาดที่เราไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีอนาคตหรือไม่

     วิกฤตแรกคือวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้การผลิตชะลอตัวมาหลายปี และเมื่อมีการ “ฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจก็จะเป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอไม่มั่นคง นี่คือสภาพของระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมที่มีต้นเหตุจากการลดลงของอัตรากำไร [อ่านเพิ่ม วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf ]

     วิกฤตที่สองคือวิกฤตโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยม  และเราเริ่มเห็นภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างน่าใจหาย ในอนาคตอันใกล้จะมีหลายพื้นที่ของโลกที่มนุษย์อยู่ต่อไม่ได้เพราะขาดน้ำ ร้อนเกินไป หรือถูกน้ำทะเลท่วม นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองรู้เรื่องนี้มานานแต่ไม่สามารถแก้อะไรได้ เพราะระบบการแข่งขันในตลาดเสรีเพื่อเพิ่มกำไรแปลว่าไม่มีใครอยากลงทุนอย่างจริงจังเพื่อยกเลิกการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน [อ่านเพิ่ม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF ]

     วิกฤตที่สาม คือวิกฤตโควิด ซึ่งเกิดจากการที่ระบบการเกษตรทุนนิยมรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งทำให้สัตว์ป่าอย่างเช่นค้างคาว เข้ามาสัมผัสกับชุมชนแออัดในเมืองหรือฟาร์มขนาดใหญ่ และเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสกระโดดสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่ออาชีพการทำงานและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เมื่อมีการล็อกดาวน์ และแน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนจนและคนที่มีสถานภาพไม่มั่นคง เช่นคนงานข้ามชาติเป็นต้น [อ่านเพิ่มวิกฤตโควิด https://bit.ly/2UA37Cx ]

     สามวิกฤตซ้อนกันของทุนนิยมปัจจุบัน พิสูจน์ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อสังคมใหม่

สังคมนิยมสองรูปแบบ

จะมีคนที่คิดว่าตนเองเป็น “ผู้รู้” และมาบอกเราว่า “สังคมนิยมสร้างไม่ได้” เพราะมันล้มเหลวที่รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม ลาว หรือจีน และแถมมันเป็นเผด็จการด้วย ใช่ระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจที่เคยมีหรือยังมีอยู่ในประเทศเหล่านั้น มันเป็นเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพ และยิ่งกว่านั้นมันไม่มีความเท่าเทียมด้วย มันเป็นระบบชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดพลเมืองในนามของ “สังคมนิยม” โดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเราวิเคราะห์ที่มาที่ไปของระบบเหล่านี้ จะพบว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในรัสเซียบนความพ่ายแพ้และซากศพของการปฏิวัติหลังจากที่เลนินเสียชีวิต มันเป็นการสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” โดยสตาลิน และในประเทศอื่นๆ หลังจากนั้นก็ลอกแบบกันมา ในจีนมันเป็นการปฏิวัติชาตินิยมของพรรคเผด็จการ และถ้าเราเปรียบเทียบบางเรื่องที่เห็นในเกาหลีเหนือทุกวันนี้ เราจะพบว่าคล้ายๆ ทุนนิยมตลาดเสรีของประเทศไทยอีกด้วย การวิเคราะห์ว่าระบบ “สตาลิน-เหมา” ตรงข้ามกับสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งทำกัน แต่เป็นการวิเคราะห์ของนักมาร์คซิสต์อย่าง ลีออน ตรอทสกี หรือโทนนี่ คลิฟ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

     แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ

1.       สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซียกับจีน(ภายใต้สตาลินกับเหมา) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.ส. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท “ท่านให้” ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม บัดนี้สังคมนิยมจากข้างบนเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการล่มสลายของการปกครองลัทธิสตาลินในรัสเซียและจีน และการที่แนวพรรคสังคมนิยมปฏิรูปในยุโรป เช่นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันและพรรคแรงงานในอังกฤษไม่พร้อมที่จะออกจากกรอบทุนนิยมตลาดเสรี และในเมื่อทุนนิยมมีวิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง ก็ไม่สามารถใช้นโยบายรัฐสวัสดิการต่อไปในรูปแบบเดิม พรรคเหล่านี้จึงหันมาอ้างถึง “แนวทางที่สาม” ซึ่งเท่ากับการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีนั่นเอง

     ลัทธิสตาลินถือได้ว่าเป็นลัทธิที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติซ้อนที่ทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซีย เราต้องเข้าใจว่าลัทธิสตาลินเป็นลัทธิปฏิกิริยาและอนุรักษ์นิยมชนิดหนึ่งที่ตรงข้ามกับลัทธิมาร์คซ์และลัทธินี้มีอิทธิพลครอบงำการทำงานของนักต่อสู้ในประเทศไทยในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

2.       สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเองร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่นำโดยเลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ มาร์คซิสต์เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง

สังคมนิยมไม่ใช่แค่ความฝันแบบอุดมการณ์

คงจะมีคนล้าหลังหดหู่ที่พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า “มันเป็นแค่ความฝัน มันอุดมการณ์เกินไป” แต่เรามีคำตอบหลายประการ

     ในประการแรกสังคมนิยมไม่ใช่ “สวรรค์” เพราะมันจะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมมนุษย์ แต่มันจะเป็นการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความอยู่ดีกินดี เราคงต้องลองถูกลองผิดไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยมันเป็นจุดเริ่มต้น

     ในประการที่สองสังคมนิยมสร้างขึ้นได้เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดจากความคิดคับแคบที่มาจากการกล่อมเกลาในระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าเราต้องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติล้มรัฐนายทุน จะเป็นโอกาสทองที่เราจะร่วมกัน “ล้างขยะแห่งประวัติศาสตร์ออกจากหัวเรา”

     ในประการที่สาม เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่เราวิวัฒนาการมาจากลิง เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเราเป็นประวัติของสังคมที่ไม่มีชนชั้น คือเราร่วมมือกันเต็มที่ ทุนนิยมเองก็พึ่งมีมาสองร้อยกว่าปีเอง ในขณะที่มนุษย์อยู่บนโลกมานานถึงสองแสนห้าหมื่นปี และแม้แต่ในสังคมปัจจุบัน เราก็เห็นตัวอย่างของการร่วมมือกันหรือความสมานฉันท์เสมอ สังคมนิยมใกล้เคียงกับ “ธรรมชาติมนุษย์” มากกว่าความเห็นแก่ตัวของทุนนิยม

     อย่างไรก็ตามสังคมบุพกาลที่ไม่มีชนชั้นในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมที่มีความขาดแคลน มันจึงเป็นสังคมเท่าเทียมท่ามกลางความยากจน แต่ปัจจุบันเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีและสบายได้ สังคมนิยมจึงต้องอาศัยความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นในสังคมชนชั้น โดยเฉพาะระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันไม่ดีพอ เพราะมันไม่สามารถแจกจ่ายทรัพยากรให้ทุกคนได้ และมันเกิดวิกฤตและสงครามเป็นประจำ มันเหมือนกับว่ามนุษย์สร้างหัวจักรรถไฟที่มีพลังมหาศาลขึ้นมา แล้วขับรถไฟไม่เป็น เพราะคนขับคือนายทุนที่มีวัตถุประสงค์อื่น มันเลยตกรางเป็นประจำหรือชนกับรถไฟอื่น สังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนขับรถไฟได้อย่างปลอดภัย

     พวกล้าหลังจำนวนมากชอบพูดว่า “สังคมนิยมล้าสมัย” แต่ระบบทุนนิยมเก่ากว่าความคิดสังคมนิยม ถ้าอะไรล้าหลังก็คงต้องเป็นทุนนิยม และยิ่งกว่านั้นการบูชาสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยการกดขี่มันเป็นเรื่องโบราณและอดีต ในขณะที่การเสนอสังคมใหม่ที่เสรีและเท่าเทียมเป็นการมองอนาคต

     ในประการที่สี่ สังคมนิยมคือความใฝ่ฝันของมนุษย์ ซึ่งในอดีตมนุษย์ที่เป็นทาสเคยฝันว่าจะมีเสรีภาพ มนุษย์ที่เป็นไพร่เคยฝันว่าจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง สตรีเคยฝันว่าจะเท่าเทียมกับชาย และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริงในโลกเรา แต่ถ้าเรามัวแต่ฟังพวก “กาดำหดหู่” ที่บอกว่ามัน “อุดมกาณ์เกินไป” ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ไม่มีวันเกิด

     ในประการที่ห้า สังคมนิยมคือระบบที่เน้นวิทยาศาสตร์และความคิด “วัตถุนิยม” ที่ติดดินและเป็นรูปธรรม แต่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยไสยศาสตร์ และความเชื่อเพี้ยนๆ เช่นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคนบางคน และมันเต็มไปด้วยการพยายามหลอกให้ประชาชนส่วนใหญ่กระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของเขา เช่นการยอมรับการกดขี่ขูดรีด หรือการคลั่งชาติที่นำไปสู่การฆ่ากันเองของคนจนเป็นต้น ถึงแม้ว่าทุนนิยมเป็นระบบที่เคยถูกสร้างขึ้นมาบนความคิดวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากมันเป็นระบบที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อย การปกป้องทุนนิยมในยุคปัจจุบันกระทำบนพื้นฐานความเพ้อฝันและการหลอกลวง มันเป็นการฝันร้ายของมนุษย์    

     ในประการที่หก สังคมนิยมคือเป้าหมายในจิตใจคนที่รักเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่มันไม่เกิดง่ายๆ นักสังคมนิยมไม่เคยหลอกตัวเองว่าถ้านั่งอ่านหนังสือที่บ้านมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ เราต้องขยันสร้างเครื่องมือที่จะล้มอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนทำงาน เครื่องมือนั้นคือพรรคปฏิวัติสังคมนิยม สหภาพแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เราต้องมีสื่อของเรา เราต้องขยายสมาชิกพรรค เราต้องฝึกฝนการต่อสู้ซึ่งแน่นอนจะมีทั้งแพ้และชนะ มีทั้งการก้าวไปข้างหน้าสองก้าวและถอยหลังสองก้าว

ศึกษาสังคมนิยม สร้างพรรค สร้างขบวนการมวลชน เพื่อล้มระบบชนชั้น!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

โรคระบาด ทุนนิยม กับกลไกตลาด ทำไมสังคมนิยมแก้ปัญหาได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่ประชาชนทั่วโลกล้มตายเป็นหมื่นและป่วยเป็นแสนจากไข้หวัดโคโรนา มีนายทุนบางคนที่หน้าด้านคว้าประโยชน์จากโรคระบาดนี้ ตัวอย่างเช่น Bill Ackman นายทุนเฮดจ์ฟันด์ที่พนันในตลาดหุ้นและรวยขึ้น $2.6 พันล้าน ส่วน Jeff Bezos เจ้าของบริษัทอเมซอน สามารถกอบโกย $5.3 พันล้านจากการขายหุ้นในบริษัทของตนเอง

ท่ามกลางวิกฤตโควิดในออสเตรเลียมีการเลิกจ้างพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน 600 คนเพราะมีการยกเลิกผ่าตัดที่ไม่เกี่ยวกับโควิด

ท่ามกลางวิกฤตโควิดในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คนทำงานธรรมดาเป็นล้านกำลังจะถูกยกเลิกประกันสุขภาพเพราะตกงานจากโควิด อันนี้ไม่รวมประชาชนเป็นล้านที่ไม่มีประกันแต่แรก นอกจากนี้บริษัทประกันเอกชนมีความเชื่องช้าในการอนุญาตทุกขั้นตอนของการรักษาคนไข้โควิดแย่ยิ่งกว่าระบบราชการเสียอีก

นี่คือใบหน้าแท้ของระบบกลไกตลาดเสรีของทุนนิยมท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่เป็นภัยต่อประชาชนทั่วโลก

ในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่วโลก ชอบสอนเราอย่างต่อเนื่องว่า “กลไกตลาดเป็นสิ่งที่สร้างประสิทธิภาพในสังคม และตอบสนองมนุษย์ได้ดีกว่าการวางแผนแบบสังคมนิยม” แต่วิกฤตโควิดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่เปิดโปงว่ากลไกตลาดเสรีของทุนนิยมไร้ประสิทธิภาพสำหรับประชาชนส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง (ดู เสรีนิยม กลไกตลาด และรัฐ https://bit.ly/2tWNJ3V )

ในเรื่องวัคซีน กลไกตลาดเสรีและการที่บริษัทยาขนาดใหญ่เป็นของเอกชนที่แสวงหากำไรอย่างเดียว แปลว่าไม่มีการพยายามพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสชนิดต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะลดเวลาที่จะผลิตวัคซีนต้านโคโรนาอย่างมาก สาเหตุคือตราบใดที่ไม่มีการระบาดทั่วโลกมันไม่มีกำไรในการพัฒนาวัคซีนไว้ล่วงหน้า และยิ่งกว่านั้นเมื่อมีการผลิตวัคซีนได้ คนที่ยากจนที่สุดในประเทศที่จนที่สุดของโลกจะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แม้แต่ในสหรัฐนักการเมืองบางคนออกมาพูดโดยไร้ความละอายว่าคนจนในสหรัฐอาจเข้าไม่ถึงวัคซีนเมื่อมีการผลิตเสร็จแล้ว

เราต้องบอกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่าทฤษฏี “อุปสงค์คานอุปทาน พ่อมึงสิ!!!”

ในประเทศพัฒนาอย่างอิตาลี่และสเปน ที่มียอดคนเสียชีวิตสูงมากในเดือนมีนาคม นโยบายรัดเข็มขัดของนักการเมืองที่ชื่นชมตลาดเสรี นำไปสู่การทำลายระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ในอังกฤษก็เช่นกัน สาเหตุหลักมาจากการที่นักการเมืองโยนภาระหนี้เอกชนและรัฐ ที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี2008 ลงบนสันหลังกรรมาชีพ ทั้งในแง่ของการตัดค่าจ้างและการตัดการบริการทางสังคม และวิกฤษเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นแต่แรกจากระบบกลไกตลาดเสรีของทุนนิยม (ดูบทความเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf )

Covid crash

หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด และมีการปิดประเทศและสถานที่ทำงาน คาดว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ร้ายแรงกว่าปี 2008 อีก

ในประเทศยากจนของโลก ประชาชนยากจนเพราะองค์กรอย่างเช่นไอเอ็มเอฟ บังคับให้รัฐบาลรัดเข็มขัดและรีดไถประชาชน เพื่อจ่ายหนี้ให้ธนาคารต่างๆ ในตะวันตก คาดว่ามีการโอนเงินและทรัพยากรไปสู่ประเทศพัฒนาอย่างมาก และทุกอย่างที่ทำไป ทำโดยอ้างความชอบธรรมจากแนวกลไกตลาดเสรี ยิ่งกว่านั้นประเทศยากจนที่สุดมักจะถูกละเลยจากการลงทุนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้ยิ่งยากจนลง และถ้าแค่นี้ไม่พอ ระบบชนชั้นที่ดำรงอยู่ทั่วโลกแปลว่าพวกนักการเมือง คนใหญ่คนโต และนายทุนพื้นเมืองในประเทศเหล่านั้น ใช้อำนาจกอบโกยทรัพยากรมาเป็นของตนเองในขณะที่คนจนกำลังจะตาย

PRI_147654490
บางคนเสพสุข

1402467731-pic0-o
บางคนติดคุก

 

33-10-728x410
ภาพจากบทความในมติชน

แม้แต่ในไทย คนใหญ่คนโตเสพสุขกับเมียน้อยและคนใช้ในโรงแรมห้าดาวราคาแพง และพวกทหารก็พยายามกอบโกยเงินทองต่อไปและพยายามซื้ออาวุธ ในขณะที่คนธรรมดามีวิกฤต มันพิสูจน์ว่าประชาชนต้องลุกขึ้นโค่นล้มพวกปรสิตเหล่านี้ให้หมดไป

เราเรียกพวกข้างบนว่าเป็น “ปรสิต” ได้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด เราเห็นชัดว่าพวกนี้ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมเลย คนที่ทำประโยชน์จริงในสังคมคือ พยาบาล หมอ พนักงานขนส่ง คนทำความสะอาด พนักงานในร้านค้าที่ขายของจำเป็น และชาวไร่ชาวนาที่ผลิตอาหารให้เรากิน ฯลฯ กรรมาชีพกับเกษตรกรนั้นเอง

6004723_031120-kgo-health-care-workers-coronavirus-img_Image_00-00-47,17

house-keeper1

ในสมัยก่อนเวลาเราชาวมาร์คซิสต์เสนอว่ากรรมาชีพสร้างทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ (ดู ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน https://bit.ly/2zozGbS ) พวกกระแสหลักจะชอบสอนเราว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องไปกราบไหว้นายทุนและเครื่องจักรแทน แต่ตอนนี้เราเห็นว่านายทุนและเครื่องจักร และชนชั้นปกครองไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับเราเลย กรรมาชีพต่างหากที่สร้างโลก

ตัวอย่างของความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการรัฐสภาไทยปัจจุบัน เห็นได้จากการที่มาตรการต่างๆ เช่นการแจกเงินให้คนจน หรือการปิดสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น รัฐบาลประยุทธ์กระทำไปด้วยความโง่เขลาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากเงินที่แจกไป ไม่พอและไม่ทั่วถึงทุกคนแล้ว มาตรการแบบนี้นำไปสู่การแย่งกันเข้าคิวแบบแออัด เพื่อลงทะเบียนหรือขึ้นรถกลับต่างจังหวัด ซึ่งจะนำไปสู่การระบาดของโควิดมากขึ้น ทั้งนี้เพราะไม่มีการวางแผนอะไรเลยเพื่อปกป้องประชาชน

QATYrz-1

dFQROr7oWzulq5FZUErgPS6GRV0vjJAaHUkkRyA2rDXFtleUJhUHEseCQzOZAAqjNZQ

และอย่าลืมว่าเมื่อวิกฤตโควิดจบลง ชนชั้นปกครองทั่วโลกจะพยายามไถเงินจากเราเพื่ออุดหนี้รัฐบาล แทนที่จะเก็บภาษีจากกลุ่มทุนและคนรวย

บทเรียนสำคัญคือ ในเมื่อพวกนั้นไม่สนใจปกป้องเรา เราต้องรวมตัวกันเพื่อปกป้องเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง โดยใช้ขบวนการเคลื่อนไหวในสังคมกับชุมชน และสหภาพแรงงาน

ที่มาของไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด

ไวรัสโคโรน่าที่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้มีชื่อทางการว่า “severe acute respiratory syndrome coronavirus 2” (SARS-CoV-2) และไข้หวัดที่ติดจากไวรัสนี้เรียกว่า โควิด19 หรือ coronavirus disease (COVID-19)

ไวรัสโคโรน่ามีตามธรรมชาติในสัตว์อย่างเช่นค้างคาว แต่สามารถกระโดดไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้นเมื่อระบบเกษตรอุตสาหกรรมของทุนนิยมตลาดเสรีขยายตัวไปทั่วโลก ในจีนเริ่มมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเลี้ยงและจับสัตว์ป่า เพื่อนำมาขายในตลาดสดมากขึ้น ถ้าตลาดสดขายค้างคาวตัวเป็นๆ ขี้ข้างคาวที่เต็มไปด้วยไวรัสจะสัมผัสกับอาหารอื่นและมนุษย์ได้ แต่มันไม่ใช่แค่ปัญหาของจีน

ก่อนหน้านี้ไข้หวัดนก และไข้หวัดหมู ซึ่งเกิดจากไวรัสอีกประเภท ได้ระบาดบ่อยขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะมีการเลี้ยงไก่และหมูในลักษณะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดี

ในกรณีไข้หวัดซาร์ ( SARS – severe acute respiratory syndrome) และ ไข้หวัดเมอร์ส (MERS – Middle East respiratory syndrome ) ซึ่งเคยระบาดจนเป็นข่าว มันเป็นไข้หวัดที่เกิดจากไวรัสตระกูลโคโรน่าเช่นเดียวกับโควิด ไข้หวัดซาร์ แพร่สู่มนุษย์ผ่านแมวป่าในตลาดที่ติดเชื้อจากค้างคาว และไวรัสเมอร์ส ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเชื้อนี้มาจากค้างคาวแล้วติดอูฐ ก่อนแพร่ไปยังชายชาวซาอุฯ ตอนนี้ในตะวันออกกลางมีการเลี้ยงอูฐแบบอุตสาหกรรมเช่นกัน

การที่ระบบเกษตรอุตสาหกรรมขยายเข้าไปสู่แหล่งธรรมชาติ ยิ่งทำให้สัตว์ป่าเข้ามาสัมผัสมนุษย์มากขึ้น เช่นในกรณีโรคอีโบลา การขยายสวนสวนปาล์มในอัฟริกา ทำให้ค้างคาวเข้ามาอาศัยในต้นปาล์มจนมนุษย์ได้รับเชื้อไวรัสอีโบลา

เราจะเห็นได้ว่าระบบทุนนิยมตลาดเสรีที่ทำให้มีการขยายของระบบเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนโลกเสี่ยงกับโรคระบาดร้ายแรงมากขึ้น

ปัจจัยอื่นของทุนนิยมที่ทำให้โรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น

แต่ไหนแต่ไร การขยายตัวของระบบทุนนิยมไปทั่วโลก ภายใต้กลไกตลาดเสรีและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ทำให้เกิดสภาพเมืองขนาดยักษ์ที่เป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองกรรมาชีพจำนวนมาก สภาพแออัดของเมืองต่างๆ เช่นในจีน อินเดีย ลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย ทำให้เชื้อไวรัสสามารถกระโดดระหว่างคนจำนวนมาได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสภาพที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำที่ดำรงอยู่ทั่วโลกเป็นปัจจัยสำคัญของการแพร่ระบาดของโรค

495E72401F6942B59E755B13168BCD1E

นอกจากที่อยู่อาศัยแล้ว ภายใต้ระบบทุนนิยม นักการเมืองกระแสหลักและเผด็จการต่างๆ ทั่วโลก มองว่าการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สำคัญน้อยกว่าการอุ้มกำไรกลุ่มทุน ค่าใช้จ่ายทางทหาร หรือค่าใช้จ่ายสำหรับอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นระบบสาธารณสุขทั่วโลกไม่พร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตโควิด

อีกปัจจัยหนึ่งของทุนนิยมที่ทำให้โรคระบาดแรงขึ้นคือลัทธิทางการเมืองแบบล้าหลังอนุรักษ์นิยม ที่มองว่าชีวิตคนธรรมดาไร้ค่าเมื่อเทียบกับชีวิตของชนชั้นปกครอง ในแง่หนึ่งเราเห็นจากความรุนแรงที่รัฐบาลต่างๆ ใช้เพื่อควบคุมคนจน เช่นการฉีกน้ำผสมคลอรีนใส่คนงานจากต่างจังหวัดในอินเดีย เหมือนกับเป็นผักเป็นปลา หรือการใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมประชาชนในอัฟริกาทางใต้

safe_image

ในอังกฤษนักการเมืองล้าหลังบางคนมองว่าถ้าคนแก่ตายจากโควิดก็จะเป็นประโยชน์เพราะลดภาระต่อสังคม

ในอดีตลัทธิการเมืองแบบอนุรัษ์นิยมที่ชวนให้คนเกลียดชังเกย์ นำไปสู่การเพิกเฉยของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกต่อการระบดของเอดส์ ซึ่งทำให้โรคนี้ร้ายแรงขึ้นสำหรับทั้งชายและหญิง

แนวความคิดลัทธิอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นความคิดทางการเมืองที่ออกแบบเพื่อให้ปกป้องระบบทุนนิยมด้วยการสร้างค่านิยมต่างๆ (ดูการกดขี่ทางเพศ https://bit.ly/2QQr5VX )

สังคมนิยมคือทางออก

เราจะเห็นว่าระบบทุนนิยมพาเราไปสู่วิกฤตร้ายแรงเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตโลกร้อน และระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดแก้วิกฤตเหล่านี้ไม่ได้เลย ตรงกันข้าม ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดสร้างปัญหาแต่แรก

คาร์ล มาร์คซ์ เคยเขียนไว้ในหนังสือว่าด้วยทุนเล่ม3 ว่า “อุปสรรค์หลักของระบบทุนนิยมคือทุน” พูดง่ายๆ กลไกภายในของระบบทุนนิยมขัดแย้งกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของมนุษย์ในระยะยาว (ดู ว่าด้วยทุน https://bit.ly/2iWRQtY )

การรื้อถอนปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมเท่านั้นที่จะสร้างความอยู่ดีกินดีให้พลเมืองทั่วโลกและยับยั้งภัยจากการระบาดของโรคร้ายแรง ภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยจากสงครามจักรวรรดินิยม และภัยจากวิกฤตโลกร้อน

สังคมนิยมที่พูดถึงนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกับระบบเผด็จการในเกาหลีเหนือ หรือระบบเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ที่เคยมีในจีน รัสเซีย หรือคิวบา ก่อนที่ประเทศเหล่านี้เปลี่ยนไปใช้แนวกลไกตลาด (ดู ปัญหาของลัทธิสตาลินในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและผลกระทบต่อพรรคไทย https://bit.ly/2Mj3bSy  และ  สังคมนิยมในทัศนะของมาร์คซ์ https://bit.ly/2zoAiy5 )

สังคมนิยมคือระบบที่พลเมืองทั่วไปร่วมกันบริหารสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่

ก่อนที่จะถึงจุดนั้นเราต้องมีข้อเรียกร้องระยะสั้นให้รัฐหันมาใช้ทรัพยากรและมาตรการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับคนชั้นล่างเพื่อปกป้องประชาชนจากโควิด (ดู https://bit.ly/2UA37Cx ) และเราต้องต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ เพราะรัฐบาลนี้ไร้ความสามารถในการปกป้องประชาชน

ข้อเรียกร้องระยะกลางควรจะเป็นเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการที่ครบวงจรผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าและการตัดงบประมาณทหาร

แต่ในระยะยาวต้องมีการวางแผนสังคม เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ สร้างงานภายใต้มาตรฐานที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนและลดชั่วโมงการทำงาน ยึดบริษัทเอกชนทุกแห่งมาเป็นของส่วนรวมภายใต้การบริหารของกรรมาชีพเอง ยกเลิกระบบเกษตรอุตสาหกรรม ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน ฯลฯ ซึ่งถ้าจะเป็นจริงได้ต้องมีขบวนการปฏิวัติที่เชื่อมโยงพรรคปฏิวัติกับมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

Against Dictatorship

เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้ถ้าเรามัวแต่หมอบคลาน

หลังวิกฤตโควิด เราจะยอมเดินกลับไปสู่สังคมเก่าเดิมๆ เหมือนถูกจูงแบบวัวกับควายจริงหรือ?

รัฐบาลพรรคสังคมนิยมกับการหักหลังขบวนการประชาชน บทเรียนจากโบลิเวีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหารที่ล้มประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย เป็นรัฐประหารที่วางแผนกันระหว่างกองทัพ ตำรวจ และนักการเมืองฝ่ายขวา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลของกลุ่มประเทศอียูก็ดูเหมือนยอมรับการทำรัฐประหารครั้งนี้ด้วย และหลังจากการทำรัฐประหารมีการประกาศว่าโบลิเวีย “เป็นของคนผิวขาวคริสเตียน” ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนพื้นเมือง

Bolivian Coup
ทหารกับนักการเมืองฝ่ายขวาก่อรัฐประหาร

ทุกคนที่รักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคมควรจะประณาม

ในขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายจะต้องวิเคราะห์ว่าทำไมมันเกิดขึ้นได้ และจุดอ่อนกับข้อผิดพลาดของ อีโว โมราเลส กับรัฐบาลพรรคขบวนการเพื่อสังคมนิยม (MAS) มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนในการต่อสู้

download
อีโว โมราเลส

อีโว โมราเลส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 53.7% และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียในปี 2005 ท่ามกลางกระแสการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต่อสู้กับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลที่ทำลายวิถีชีวิตกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ศูนย์กลางการต่อสู้นี้อยู่ที่เมือง El Alto ใกล้ๆ กับเมืองหลวง จุดสูงสุดของกระแสนี้เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อมีการลุกฮือต่อสู้ของประชาชนเพื่อคัดค้านการขายระบบน้ำประปาให้บริษัทเอกชน และในปี 2003 กับ 2005 การประท้วงต่อต้านการขายองค์กรก๊าชสามารถล้มประธานาธิบดีสองคน

AP_Morales_Resigns_min

โมราเลส เป็นประธานาธิบดีคนแรกของลาตินอเมริกาที่เป็นคนเชื้อสายพื้นเมือง เรื่องนี้สำคัญเพราะตั้งแต่การล่าอาณานิคมของสเปนเมื่อห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ ชนชั้นปกครองในประเทศลาตินอเมริกามักจะเป็นคนผิวขาว และคนพื้นเมืองจากชนเผ่าต่างๆมักจะถูกกดขี่และยากจน

รัฐบาลของ โมราเลส ได้พยายามนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่นก๊าซ แร่ธาตุ ป่า และน้ำมาอยู่ภายใต้รัฐ แทนที่จะอยู่ในมือของบริษัทเอกชนและบริษัทข้ามชาติ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดาที่ยากจนก็ดีขึ้นตามลำดับเพราะรัฐสามารถนำรายได้จากก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุมาใช้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน

ในปี 2008 มีการจัดประชามติเพื่อตรวจสอบประธานาธิบดี โมราเลส ซึ่งเขาชนะ ดังนั้นฝ่ายขวาในเมือง Santa Cruz จึงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล โดยที่สหรัฐอเมริกาหนุนช่วย แต่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว เพราะมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีคนพื้นเมืองร่วมอยู่ด้วย สามารถระงับการกบฏต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งปี 2009 โมราเลส ชนะด้วยคะแนนเสียงเพิ่ม พรรค MAS เพิ่มที่นั่งในรัฐสภา และมีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ รัฐธรรมนูญนี้เพิ่มสิทธิให้คนจน คนพื้นเมือง และกล่าวถึงการปกป้องป่ากับทรัพยากรธรรมชาติ บรรยากาศทางการเมืองในยุคนั้นต่างกับปัจจุบันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของ โมราเลส พยายามจะปฏิรูปสังคม โดยไม่ปฏิวัติล้มทุนนิยม และการที่รัฐบาลโบลิเวียอาศัยรายได้จากการส่งออกทรัพยากรอย่างสินค้าเกษตร ก๊าซธรรมชาติกับแร่ธาตุ เหมือนรัฐบาลฝ่ายซ้ายอื่นในลาตินอเมริกา หมายความว่ารัฐบาลต้องพัฒนาประเทศตามกติกากลุ่มทุนใหญ่ในระบบทุนนิยมโลก  ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือนักธุรกิจ และรายได้ที่เคยนำมาช่วยคนจนลดลงเมื่อราคาทรัพยากรส่งออกลดลงในตลาดโลก ปัญหานี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเวเนสเวลาและบราซิลด้วย

เริ่มตั้งแต่ปี 2010 มีการประท้วงของสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องรายได้เพิ่ม และกลุ่มผู้ประท้วงประเด็นอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลสร้างความไม่พอใจเมื่อประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ไม่พอใจกับรัฐบาลภายในพรรค MAS ได้ออกแถลงการณ์ที่วิจารณ์การที่พวกนายธนาคาร บริษัทข้ามชาติ พวกที่ค้าสินค้าเถื่อน และแก๊งยาเสพติด กลายเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายรัฐบาล

มีสองเหตุการณ์ที่สำคัญที่ช่วยสร้างกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เหตุการณ์แรกคือในปี 2011 มีการเสนอให้สร้างถนนเชื่อมโยงกับบราซิลที่ตัดผ่านเขตป่าสงวนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองที่เรียกว่าเขต TIPNIS เหตุผลที่รัฐบาลเสนอให้สร้างถนนสายนี้คือมันจะช่วยในการเจาะก๊าซและแร่ธาตุ เพื่อส่งออกไปสู่ตลาดโลกผ่านบราซิล เป็นการเอาใจนายทุนภายในประเทศ และจะดึงการลงทุนจากบราซิลอีกด้วย ปรากฏว่ามีการประท้วงใหญ่ซึ่งตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างหนักในการปราบ ในที่สุด โมราเลส ต้องออกมาประณามตำรวจและหยุดโครงการสร้างถนน หลังจากนั้น โมราเลส ชนะการเลือกตั้งรอบที่สามในปี 2014 อย่างไรก็ตามในปี 2017 มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างถนนอีกครั้งซึ่งสร้างกระแสความไม่พอใจอย่างมาก

brazil-tipnis01

Sin-título

tipnis-march-la-paz-2aug17

เหตุการณ์ที่สองคือความพยายามของ โมราเลส ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 ทั้งๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการทำประชามติเรื่องนี้ในปี 2016 และโมราเลสแพ้ 51% ต่อ 49% แต่ในปี 2018 ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตราที่ห้ามไม่ให้ โมราเลส สมัครเป็นครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา และผลการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ค่อยชัดเจน จนมีการกล่าวหาว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของ โมราเลส พยายามจะพัฒนาชีวิตของคนจน คนพื้นเมือง และกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมก้าวพ้นระบบทุนนิยม และพยายามคานผลประโยชน์ของคนชั้นล่างกับผลประโยชน์ของนายทุน ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การหักหลังประชาชนและเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาเผด็จการทำรัฐประหาร

เวลาเราศึกษาปัญหาที่เปิดทางให้เกิดรัฐประหารในโบลิเวีย เราควรจะเปรียบเทียบกับนโยบายที่ทำให้ประชาชนผิดหวังและเปิดทางให้ฝ่ายขวาขึ้นมาใน บราซิล กับ กรีซ เพื่อเป็นภาพรวมและบทเรียนสำหรับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในอนาคต

Syriza betrayal
กรีซ

อ่านเพิ่ม

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา” https://bit.ly/2NUhYUL

10 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

สิบปีผ่านไปหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบอย่างแรงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งทุกวันนี้เรายังเห็นผลในรูปแบบวิกฤตการเมืองของพรรคกระแสหลัก และการขึ้นมาของพรรคฝ่ายขวาฟาสซิสต์

ในบทความนี้จะขอทบทวนสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ธนาคารกลางสหรัฐพยายามจะหลีกเลี่ยงการชลอตัวของเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมให้กรรมาชีพกู้เงินในราคาถูกเพื่อซื้อบ้าน ในขณะที่มีการกดค่าแรง มันทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่คนจนไม่มีวันจ่ายหนี้นี้ได้ ทำให้คนจนเป็นหนี้ที่เรียกกันว่า “sub-prime” ต่อมามีการขายหนี้คนจนให้บริษัทไฟแนนส์และปั่นราคาหุ้น แต่เมื่อคนจนจ่ายหนี้ไม่ได้ ฟองสบู่การพนันนี้ก็แตก และเกิดวิกฤตในระบบธนาคาร จนธนาคารพี่น้องตระกูลเลห์แมน (Lehman Brothers) ล้มละลาย ธนาคารนี้เป็นธนาคารการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ4 และการล้มละลายครั้งนี้เปิดโปงปัญหาใหญ่ในระบบธนาคารในสหรัฐและยุโรป

ในยุโรปมีการปล่อยกู้ในรูปแบบคล้ายๆ สหรัฐ แต่เป็นการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารต่างๆ ในอียู เพื่อให้กับบริษัทต่างๆ และเมื่อเกิดวิกฤตธนาคาร ประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และสเปนก็มีปัญหา

ก่อนหน้านั้นมีการปั่นหุ้นในบริษัทอินเตอร์เน็ด (dot com) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพยุงอัตรากำไรชั่วคราวเช่นกัน ฟองสบู่นั้นก็แตกเหมือนกัน

ในปี 2008/2009 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดของโลก 11 ประเทศได้เข้าสู่วิกฤติอย่างแรง องค์กร OECD เสนอว่าในปีค.ศ. 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วประสบปัญหาการชลอตัวของเศรษฐกิจ 4.3% และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง คนงานสหรัฐ  6 แสนกว่าคนต้องตกงานในเดือนเมษายน  และระบบอุตสาหกรรมสหรัฐกำลังชลอตัวลง 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในยุโรประบบการผลิตอุตสาหกรรมหดลง 18.4% และในญี่ปุ่นหดลงถึง 38%  จีนก็มีปัญหาด้วย

ท่าทีของรัฐทุนนิยมหลักๆ  เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในสกุลเงินยูโร คือใช้รัฐแทรกแซงตลาดเพื่ออุ้มสถาบันการเงิน รวมถึงการนำธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นของรัฐทั้งทางอ้อมและทางตรง นโยบายดังกล่าวได้ทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดที่ปฏิเสธรัฐโดยสิ้นเชิง แต่เป้าหมายของการแทรกแซงตลาดโดยรัฐในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อปกป้องงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาแต่อย่างใด เป้าหมายคือการปกป้องระบบทุนนิยมและนายทุนใหญ่ในระบบการเงินต่างหาก

นอกจากนี้ในสหรัฐและยุโรป ธนาคารกลางใช้นโยบายพิมพ์เงินและลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามพยุงเศรษฐกิจ ในจีนรัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจพยุงเศรษฐกิจโดยการขยายโครงการสาธารณูปโภค

หลังจากนั้นรัฐบาลตะวันตกก็กอบโกยเงินคืนจากประชาชนด้วยนโยบายรัดเข็มขัด มีการตัดงบประมาณสาธารณสุข สวัสดิการ และการศึกษา มีการกดค่าแรง ลดคนงาน หรือขึ้นภาษีให้คนธรรมดา สรุปแล้วกรรมาชีพคนทำงานถูกบังคับให้อุ้มบริษัทใหญ่และนายทุนที่เล่นการพนันในตลาด ในยุโรปประชาชนกรีซเดือดร้อนมากที่สุด

นโยบายดังกล่าวนำไปสู่ความไม่พอใจและความสิ้นหวังในระบบกระแสหลัก และบวกกับผลของสงครามในส่วนต่างๆ ของโลก ที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้ลี้ภัย นำไปสู่การปลุกระดมลัทธิเหยียดสีผิวและเชื้อชาติที่เอื้อประโยชน์กับพรรคฟาสซิสต์ฝ่ายขวาและคนอย่างดอนัลด์ ทรัมป์

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง ไมเคิล โรเบิรตส์ [ดู https://thenextrecession.wordpress.com/ ] ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำในระบบทุนนิยม คือปัญหาอัตรากำไร เพราะนายทุนทุกคนจะประเมินความคุ้มของการลงทุนที่ตัวเลขอัตรากำไรเสมอ อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงผ่านการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และมันนำไปสู่การชลอในการลงทุน หรือแสวงหาแหล่งลงทุนนอกภาคการผลิต เช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือการปั่นหุ้นเป็นต้น ซึ่งสภาพแบบนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ในราคาหุ้น ราคาที่ดิน หรือราคาบ้าน คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายปัญหาพื้นฐานอันนี้ของทุนนิยมในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” [ดู https://bit.ly/2v6ndWf ]

โดยทั่วไปการฟื้นตัวของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้ถ้ามีการทำลายทุน หรือมีการทำลายเครื่องจักรในวิกฤต หรือผ่านการทำสงคราม หรืออาจฟื้นตัวถ้ามีการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราวและความสำเร็จเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่จะทำลายทุนที่เป็นส่วนเกิน หรือความเป็นไปได้ที่จะขูดรีดแรงงานหนักขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ้นเปลือง และไม่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ส่วนใหญ่

ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ของโลกในยุคนี้ แสดงให้เราเห็นว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากร (rate of GDP increase / head หรืออัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศหาญด้วยจำนวนประชากร) ไม่ได้กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี 2008 เลย นอกจากนี้ระดับการค้าขายทั่วโลกก็ซบเซาเมื่อเทียบกับก่อนปี 2008 และแนวโน้มอาจแย่ลงท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและยุโรป

แม้แต่การขยายตัวของจีนก็ช้าลง และความคาราคาซังของเศรษฐกิจโลกกับสงครามการค้า ทำให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เคยอาศัยการส่งออกวัตถุดิบมีปัญหามากขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกบวกกับการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และปัญหาการเมืองในหลายประเทศ ก็เข้ามซ้ำเติม ทำให้มีการถอนทุนจากลาตินอเมริกา ตุรกี อินโดนีเซีย และอัฟริกาใต้ ในที่สุดอาจส่งผลต่อเกาหลีใต้และอินเดียอีกด้วย ซึ่งไทยคงหนีปัญหาไม่ได้

ปัจจุบันระดับหนี้สินของรัฐบาลและกลุ่มทุนในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าระดับหนี้ในเศรษฐกิจโลกเท่ากับ 217% ของผลผลิตมวลรวมทั้งหมดภายในประเทศต่างๆ ซึ่งสูงกว่าระดับหนี้ก่อนวิกฤตปี 2008 และบริษัทไฟแนนส์กับธนาคารก็ใหญ่ขึ้นและมีลักษณะผูกขาดมากขึ้น ถ้าในอนาคตธนาคารแห่งหนึ่งล้มละลายก็จะมีผลกระทบสูงกว่าคราวก่อน นอกจากนี้มีการซื้อขายหุ้นและหนี้ใน “ธนาคารเงา” ที่รัฐต่างๆ ควบคุมไม่ได้เพราะไม่ความโปร่งใส การเพิ่มขึ้นของราคาเงินดอลลาร์และการลดลงของราคาเงินในหลายประเทศของโลก ทำให้ประเทศที่มีหนี้สินเป็นดอลลาร์มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ตราบใดที่เรายังไม่ล้มทุนนิยมและนำระบบสังคมนิยมมาใช้แทน ชาวโลกก็จะต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่สงครามและความปั่นป่วนทางการเมืองอีกด้วย

ทำไมฟองสบู่ถึงแตกในตลาดหุ้นจีน

ใจอึ๊งภากรณ์

การดิ่งลงของตลาดหุ้นจีนในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความกังวลอย่างมากในแวดวงผู้นำรัฐบาล นักธุรกิจบริษัทเอกชน ชนชั้นกลาง และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก

ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นในตลาดหุ้นของระบบทุนนิยมจีนลดลง 30% และ บริษัทเอกชน 1300 แห่ง ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาด ได้ระงับการค้าขายหุ้นเพื่อปกป้องมูลค่าของบริษัท

ตลาดหุ้นจีนมีลักษณะพิเศษตรงที่มีผู้ซื้อขายหุ้นที่เป็นพลเมืองชนชั้นกลางจำนวนมาก เกือบ 80% ของผู้ซื้อขาย ซึ่งแตกต่างจากตลาดหุ้นในตะวันตกที่ถูกครอบงำโดยกองทุนขนาดใหญ่ การที่พลเมืองธรรมดาจำนวนมากอาจเสียประโยชน์จากการดิ่งลงของราคาหุ้น ทำให้รัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กังวลว่าจะเสียความชอบธรรมในสายตาคนจำนวนมาก เพราะจะดูเหมือนบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และที่กลัวมากที่สุดคือการลุกฮือประท้วงของมวลชนในสถานการณ์แบบนั้น

ทั้งๆ ที่การขึ้นลงของตลาดหุ้นเป็นเพียงอาการที่บ่งบอกถึงสภาพเศรษฐกิจในทางอ้อม และไม่ได้วัดความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของเศรษฐกิจโดยตรง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าปัญหาเศรษฐกิจของจีนอาจมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าวิกฤตยูโรของกรีซ และจะมีผลกระทบกับประเทศที่ส่งออกให้จีนอีกด้วย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกให้จีน

วิกฤตเศรษฐกิจจีนและความอ่อนแอของระบบธนาคารจีน เห็นชัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2007 ขยายตัวในอัตราปีละ 14% แต่อัตราการขยายตัวปีที่แล้วลดลงจนเหลือแค่ 7.4% และตัวเลขล่าสุดอาจแย่กว่านี้อีก

ในปี 2008 หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตหนัก รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการลงทุนในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ และมีมาตรการที่ช่วยให้การกู้เงินง่ายขึ้น แต่ทั้งๆ ที่นโยบายดังกล่าวช่วยพยุงเศรษฐกิจชั่วคราว แต่มันไม่แก้ปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารที่ถูกเปิดโปงออกมาเมื่อเกิดวิกฤต และมันไม่สามารถแก้ปัญหาของการลดลงของการส่งออกสินค้าที่มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจตะวันตก ยิ่งกว่านั้นการที่กรรมาชีพคนทำงานและเกษตรกรจีนมีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐเผด็จการที่ตั้งใจใช้เพื่อลดค่าแรงและเพิ่มกำไรในการส่งออกสินค้าราคาถูก แปลว่ากำลังซื้อภายในประเทศจีนไม่เพียงพอที่จะทดแทนการลดลงของการส่งออกอีกด้วย

ที่สำคัญสำหรับปัญหาฟองสบู่คือ การที่บริษัทและประชาชนชนชั้นกลางสามารถกู้เงินง่ายขึ้น ทำให้เกิดสภาพฟองสบู่ในราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับที่เคยเกิดในไทยในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง มันเป็นอาการปกติในระบบทุนนิยมเมื่ออัตรากำไรในภาคการผลิตจริงลดลง ซึ่งเกิดจากการขายสินค้าไม่ออกและการแข่งกันลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้นก่อนที่จะเกิดวิกฤต ประเด็นนี้นักมาร์คซิสต์อธิบายว่าเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นระยะๆ ตลอดเวลา

นอกจากการลดลงของการส่งออกแล้ว การพัฒนาเทคโนโลจีและขยายการลงทุนในเครื่องจักรในจีน ก็มีผลกระทบในด้านลบกับอัตรากำไรอีกด้วย

เมื่อรัฐบาลจีนพยายามระงับการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนที่ต้องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้า ก็แห่กันไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแทน ซึ่งมีผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูงถึง 150% ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้นดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าจริงในเศรษฐกิจจีน แต่ที่ยิ่งทำให้เป็นปัญหาคือพวก “บโรเคอร์” หรือบริษัทที่จัดการซื้อขายหุ้นให้คนอื่น มีการปล่อยกู้ให้คนชั้นกลางเพื่อซื้อหุ้น โดยเชื่อว่าราคาหุ้นคงไม่ตกต่ำ และไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีนโยบายอะไรที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะได้แต่พยายามพยุงราคาหุ้นแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น และทั้งๆ ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นบ้าง ปัญหาความอ่อนแอของเศรษฐกิจไม่ได้หายไปไหน ซึ่งวัดกันในรูปธรรมจากสภาพธนาคาร ระดับการส่งออก และตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

วิกฤตในจีนตอนนี้พิสูจน์สองสิ่งที่สำคัญคือ หนึ่ง จีนเป็นทุนนิยมกลไกตลาดเต็มตัวทั้งๆ ที่มีรัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ และสอง ระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่เคยมีเสถียรภาพ และเข้าสู่สภาพวิกฤตเป็นระยะๆ ตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันในกลไกตลาดและการแสวงหากำไรโดยไม่มีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่เลย

อ่านเพิ่ม “ว่าด้วยวิกฤตทุนนิยม” แนวความคิดมาร์คซิสต์ที่อธิบายวิกฤตเศรษฐกิจ http://bit.ly/1UB4b1t

อีโบลา เป็นภัยต่อมนุษย์เพราะความยากจน

ใจ อึ๊งภากรณ์

โรคระบาด อีโบลา เป็นภัยต่อมนุษย์ในขณะนี้เพราะความยากจนที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยมตลาดเสรีในอัฟริกาตะวันตก ในประเทศไลบีเรียคาดว่ามีคนป่วยเกินพัน องค์กรอนามัยโลกคาดว่าในภูมิภาคอัฟริกาตะวันตกมีคนป่วยเกินสองพันและล้มตายกว่า 1300 คน แต่องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนมองว่าน่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป เพราะประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณะสุข

อีโบลา เป็น “โรคความยากจน” เพราะในหลายประเทศของอัฟริกาตะวันตก มีสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิงทรัพยากร แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือรัฐบาลต่างๆ ไม่สนใจลงทุนในระบบสาธารณะสุขเลย

นางเอเลน จอห์นสัน เซอร์ลิฟ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธบดีไลบีเรียสองรอบ เขาเป็นอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก และนิยมชื่นชมนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักชมรัฐบาลของ เอเลน จอห์นสัน ว่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่พวกนี้ไม่สนใจรายละเอียดว่าประชาชนธรรมดาอยู่กันอย่างไร

ในเมืองมอนโรเวีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไลบีเรีย ไม่มีโรงพยาบาลสาธารณะของรัฐแม้แต่แห่งเดียว สำหรับประชาชน 1.3 ล้านคน ซึ่งแปลว่าพลเมืองส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงแพทย์หรือพยาบาล ในสลัมต่างๆ ของเมืองไม่มีห้องส้วม พยาบาลที่ต้องมารักษาคนไข้ อีโบลา ไม่มีเครื่องมือทันสมัยเพื่อป้องกันตนเอง จนต้องนัดหยุดงาน

มีแต่องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนจากต่างประเทศเท่านั้นที่เข้ามาดูแลประชาชน

ในขณะที่รัฐบาลไลบีเรียหันหลังกับการดูแลประชาชน มีการสั่งให้ทหารเข้าไปห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปทำงานหรือซื้ออาหาร และทหารก็ยิงคนตายในการ “คุมสถานการณ์”

นอกจากปัญหาความยากจนที่มาจากนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดแล้ว ปัญหาหลักที่สองคือบริษัทยาข้ามชาติไม่สนใจลงทุนผลิตยาต้านโรคนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมาคนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนจนที่ไม่มีปัญญาจะซื้อยา บริษัทยาจึงแสวงหากำไรไม่ได้ นี่คืออีกตัวอย่างของความระยำของระบบทุนนิยม

โรคอีโบลาจะไม่ร้ายแรงเท่าที่เป็น ถ้าสังคมมนุษย์มีระบบสาธารณะสุขถ้วนหน้าที่มีคุณภาพและพลเมืองทุกคนเข้าถึงได้ และโรคนี้จะรักษาได้ถ้ามีการลงทุนโดยรัฐในการผลิตยา แทนที่จะพึ่งบริษัทเอกชนที่สนใจแต่กำไร

วิกฤตอีโบลาพิสูจน์ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อปกป้องระบบสาธารณะสุขถ้วนหน้าที่รัฐบาลไทยรักไทยนำเข้ามาใช้ เพราะตอนนี้เผด็จการทหารประยุทธ์และพวกประจบสอพลอที่สนับสนุนการทำลายประชาธิปไตยต้องการทำลายระบบสาธารณะสุขไทยด้วย นอกจากนี้วิกฤตอีโบลาพิสูจน์ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อสร้างสังคมนิยมแทนระบบทุนนิยมกลไกตลาด