Tag Archives: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ชื่นชม และสมานฉันท์ กับมวลชนที่ออกมาแสดงพลัง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขอชื่นชมและสมานฉันท์กับมวลชนผู้รักประชาธิปไตยที่ออกมาร่วมชุมนุม “แฟลชม็อบ” #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ และที่เชียงใหม่ ตามคำเชิญชวนของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่

79028343_712588782482887_5026448295782776832_o

ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคนฝ่ายประชาธิปไตยที่กระแนะกระแหนวิจารณ์พรรคอนาคตใหม่อย่างไร้สาระในเรื่องนี้ ใครที่อ่านบทความของผมมาตั้งแต่การก่อตั้งของพรรคอนาคตใหม่ จะทราบดีว่าผมพร้อมที่จะวิจารณ์สิ่งที่ผมมองว่าเป็นข้อเสียของพรรคและของแนวคิดของธนาธรและคนอื่นในแกนนำ แต่ทุกคนที่รักประชาธิปไตยและเข้าใจความสำคัญของการเคลื่อนไหวของมวลชนในการล้มเผด็จการ ควรจะชื่นชมการเปลี่ยนใจของธนาธรและพรรคพวก ที่เดิมเน้นแต่การเล่นเกมส์ในรัฐสภาตามกติกาเผด็จการ

555x312_858298_1576321253

การก่อ “แฟลชม็อบ” #ไม่ถอยไม่ทน ครั้งนี้พิสูจน์สิ่งสำคัญสองสิ่ง

หนึ่ง มันพิสูจน์ว่า “การลงถนน” ไม่ได้นำไปสู่การเสียเลือดเนื้อหรือเป็นการ “เข้าทางเผด็จการ” แต่อย่างใดตามที่พวกแนว “นิ่งเฉยไม่ทำอะไร” ชอบอ้าง มันพิสูจน์ความเฮงซวยของพวกหมาเห่าที่ชอบด่าพวกเราที่อยู่ต่างประเทศในทำนองว่า “แน่จริงทำไมไม่กลับไทยไปจัดม็อบเอง”

สอง มันพิสูจน์ความสำคัญของการนำ โดยเฉพาะจากแกนนำพรรค ในการสร้างการชุมนุมของมวลชน และการที่ผู้รักประชาธิปไตยหลายฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ สามารถสามัคคีและร่วมชุมนุมด้วยกัน การชุมนุมครั้งนี้สามารถระดมคนหลายพันคน และเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง

4190D50EC0C44B17B899CBDA14848B21

ข้อสรุปสำคัญมีสองข้อด้วยคือ

หนึ่ง การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อล้มเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยยังทำได้ ไม่ใช่เรื่องในอดีตหรือสิ่งไม่จำเป็น

สอง คนที่เป็นแกนนำพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องรับผิดชอบและมีหน้าที่สำคัญในการสร้างขบวนการมวลชนดังกล่าว และการที่ไม่ค่อยมีการชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยในอดีต เป็นความผิดของแกนนำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทักษิณที่แช่แข็งเสื้อแดงจนไม่เหลืออะไร หรือแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่เดิมไม่ยอมทำอะไรนอกรัฐสภา แต่ถ้าธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่จริงใจที่จะจัดการชุมนุมอีกในอนาคต และเปลี่ยนใจเพื่อหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมันจะเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง

79122988_712596512482114_5930674550952951808_o

แน่นอนเราไม่ควรไว้ใจแกนนำของพรรคการเมืองกระแสหลักอย่างอนาคตใหม่หรือเพื่อไทยอย่างเดียว แกนนำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่อยู่นอกสองพรรคการเมืองนี้มีอีกมากมาย และทุกคนควรจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างและผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อล้มเผด็จการรัฐสภา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องให้ความสำคัญกับการทำงานทางการเมืองในสหภาพแรงงาน และกลุ่มนักศึกษา เพราะประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทยสอนให้เรารู้ว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนที่มีพลังเพียงพอที่จะล้มเผด็จการและสร้างสังคมใหม่ ย่อมอาศัยพลังของชนชั้นกรรมาชีพ

ศาลเตี้ยออกฤทธิ์เผด็จการอีกครั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ศาล(เตี้ย)รัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยเผด็จการประยุทธ์ สั่งปลด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด มันเป็นแค่อีกตัวอย่างหนึ่งของกลไกต่างๆ ที่เผด็จการทหารสร้างขึ้นเพื่อต่อยอดอำนาจของทหารในระบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ผู้นำเผด็จการ” หรือระบอบ “เผด็จการรัฐสภา”

Dt-n4cyVYAA7HNH

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน iLaw รายงานถึง 10 สาเหตุที่ประยุทธ์ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้ [ดู https://prachatai.com/journal/2019/11/85125 ] มีการกล่าวถึงการที่ประยุทธ์ไม่ใช่สส. การที่เผด็จการประยุทธ์คุมอำนาจตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้ง การที่ทหารเขียนกติกาเอง การที่ทหารแต่งตั้งศาลและกกต. และการสร้างอุปสรรค์ทั้งหลายให้กับพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งกว่านั้นในที่สุดพรรคทหารได้คะแนนเสียงและที่นั่งน้อยกว่าพรรคที่ต้านทหารอีกด้วย

นอกจากนี้ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าทหารกำลังข่มขู่ผู้เห็นต่างด้วยวิธีผิดกฏหมาย [ดู https://prachatai.com/journal/2019/11/85172 ] แต่ในยุค “เผด็จการรัฐสภา” ทหารทำอะไรก็ได้ไม่ต้องสนใจกฏหมาย

คำถามสำคัญที่พวกเราจะต้องชูขึ้นมาคือ ทำไมฝ่ายประชาธิปไตยถึงอ่อนแอ?

เพราะการที่เผด็จการประยุทธ์สามารถสืบทอดอำนาจด้วยกลไกและองค์กรต่างๆ ของมัน ไม่ได้เป็นเรื่องชี้ขาดว่าสังคมเราจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และนิยายหลอกเด็กว่ากษัตริย์ปัญญาอ่อนวชิราลงกรณ์มีอำนาจล้นฟ้า เพียงแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นในการต่อสู้ เพื่อเป็นคำแก้ตัวสำหรับคนที่หมดแนวทางในการต่อสู้ [ดู https://bit.ly/2GcCnzj ]

เรื่องชี้ขาดที่ทำให้เผด็จการประยุทธ์ยังคงดำรงอยู่ได้ คือความอ่อนแอของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา

ความอ่อนแอนี้ไม่ได้มาจากการปราบปรามของฝ่ายเผด็จการเป็นหลัก แต่มาจากการที่แกนนำทางการเมืองของพรรคต่างๆ ที่ต้านทหาร ไม่ต้องการสนับสนุนและสร้างขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่นการที่ทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับฝ่ายทหาร และการที่พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยสนใจที่จะทำอะไรนอกจากการเล่นละครในรัฐสภาหรือการพูดถึงกฏหมายและรัฐธรรมนูญ

สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะมันมีผลในการลดความมั่นใจของคนธรรมดาที่จะเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวที่ผมพูดถึงไม่ใช่การออกรบแบบหัวชนฝาเพื่อพลีชีพ แต่มันเป็นการสร้างเครือข่ายและเคลื่อนไหวของมวลชนแบบที่ใช้สติปัญญา

การที่ธนาธรตอนนี้มีแค่สถานภาพของพลเมืองนอกรัฐสภา เป็นโอกาสทองที่เขาจะเริ่มสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

75239188-c826-496f-8fd6-1d593349dff2

แต่ธนาธรจะทำหรือไม่? เพราะเขาเป็นแค่นักการเมืองนักธุรกิจที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวในอดีต ในฐานะนักธุรกิจเขาเน้นผลประโยชน์กลุ่มทุนเหนือผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและกรรมาชีพ และพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รณรงค์เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบหรือครบวงจร เขาแค่แสดงความจริงใจในการต้านทหารเผด็จการ

ผู้เขียนหวังว่าธนาธรจะเปลี่ยนใจและหันมารณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่มีพลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไปรอหรือตั้งความหวังว่าเขาจะทำไม่ได้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนต้องสร้างจากล่างสู่บน โดยพลเมืองรากหญ้าที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร อย่างที่เขาทำกันในขณะนี้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก [ดู https://bit.ly/2OxpmVr ]

อ่านเพิ่ม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย https://bit.ly/2BYxAyd

 

พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่พรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนยังไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ ของไทย เพราะพรรคกระแสหลักเดิมๆ มักจะมีนายทุนหรือทหารเป็นแกนนำ และมีนายทหารเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกด้วย

 

ในการประชุมพรรคที่พึ่งจัดเมื่อไม่นานมานี้ นายทุนใหญ่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งไม่น่าแปลกใจ

 

กรรมการพรรคส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ มีนักธุรกิจสองคนนอกจากธนาธร และมีนักเอ็นจีโอ รวมถึงนักเอ็นจีโอแรงงาน แต่ไม่มีผู้แทนจริงๆ จากสมาชิกสหภาพแรงงานหรือจากเกษตรกรรายย่อยเข้ามาเป็นกรรมการเลย

99569

 

แน่นอนหลายคนในกรรมการบริหารมีจุดยืนชัดเจนที่คัดค้านเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องดี และถ้าฉีกรัฐธรรมนูญทหารทิ้งได้ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่คงทำได้ยากถ้าไม่สร้างมวลชนนอกรัฐสภา

 

สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจคือรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายทหารเกษียณ พลโท พงศกร รอดชมภู เป็นอดีตรองเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ เขาเคยเขียนบทความลงสื่อเกี่ยวกับปาตานี เขาเสนอว่าการแก้ไขปัญหาควรใช้การเมืองนำทหาร “แต่นั้นไม่ได้แปลว่าต้องยอมหรือขอเจรจา” คือต้องช่วงชิงประชาชนในพื้นที่ให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐไทย โดยการเลิกการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปลี่ยนมาปราบฝ่ายตรงข้ามแบบนิ่มนวลมากกว่านี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการให้สิทธิประชาชนในพื้นปาตานีที่จะกำหนดอนาคตว่าจะปกครองตนเองแบบไหนคือ แยกตัวออกจากประเทศไทย หรือมีเขตปกครองพิเศษ หรืออยู่แบบเดิม และไม่มีการพูดถึงต้นกำเนิดปัญหาซึ่งมาจากการที่รัฐไทยยึดพื้นที่ปาตานีมาเป็นอาณานิคม โดยไม่เคารพวัฒนธรรมของชาวมาเลย์มุสลิม นอกจากนี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เข่นฆ่าประชาชน มีแต่การพูดถึงการลงโทษฝ่ายตรงข้าม [ดู https://www.matichon.co.th/columnists/news_78135 ]

 

นโยบายแนวคิดแบบนี้ไม่ต่างจากแนวคิดฝ่าย “พิราบ” ของรัฐหรือทหารไทย มันเป็นการยืนยันจุดยืนอนุรักษ์นิยมว่ารัฐไทยแบ่งแยกไม่ได้ และมันห่างไกลเหลือเกินจากความคิดก้าวหน้าที่จะนำไปสู่เสรีภาพและสันติภาพสำหรับประชาชนในปาตานี นอกจากนี้มันแตกต่างจากคำพูดเดิมของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยพูดว่าควรจะรื้อฟื้นข้อเสนอในการปกครองตนเองของชาวปาตานี

 

การมีนายทหารที่เป็นอดีตฝ่ายความมั่นคงเป็นรองประธานพรรค จะทำให้พรรคให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคง” เหนือสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือไม่? เพราะการเน้นความมั่นคงเป็นนโยบายอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลไทยทุกชุด โดยเฉพาะเผด็จการ

 

ในแง่หนึ่งตัวบุคคลที่เป็นแกนนำพรรคอาจแค่ชวนให้เราเดาว่านโยบายพรรคจะเป็นอย่างไร เรื่องชี้ขาดจะอยู่ที่นโยบายที่ประกาศออกมาเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการเสนอรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ถ้วนหน้า และมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน ถ้าไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ถ้าไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี ถ้าไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ และถ้าไม่เสนอให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เพื่อให้สหภาพแรงงานมีสิทธินัดหยุดงานและเคลื่อนไหวอย่างเสรี…. พรรคอนาคตใหม่ก็จะไม่ก้าวหน้าอย่างที่บางคนชอบอ้าง

 

มีเรื่องเดียวที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ในขณะนี้  ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคอื่นๆ ยังไม่พูดถึงอย่างชัดเจน นั้นคือการประกาศว่าต้องการลบผลพวงของเผด็จการ

 

สรุปแล้วหน้าตาพรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนเป็นพรรคคนชั้นกลาง สำหรับคนชั้นกลาง ไม่ใช่พรรคของคนชั้นล่างรากหญ้าแต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่าคนของพรรคอนาคตใหม่ นอกจาก อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พูดอะไรมากมายที่ไม่เป็นรูปธรรม ไม่เคยประกาศว่าจะสร้างพรรคของคนชั้นล่าง หรือพรรคของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร และดูเหมือนพรรคจะเน้นการส่งเสริมกลไกตลาดเสรีที่ขัดกับผลประโยชน์คนจนอีกด้วย

 

ดังนั้นภารกิจในการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่าง เพื่อคนชั้นล่าง กรรมาชีพและเกษตรกรนั้นเอง ยังไม่มีใครลงมือริเริ่มอย่างจริงจัง

ธนาธรคุยเรื่องแรงงานจากมุมมองนายทุน

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อวันก่อน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คุยกับ สุนทร บุญยอด และคุณบัวลอง เรื่องแรงงาน [ดู Facebook ของธนาธร] แต่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างภาพเท่านั้น และข้อเสนอไปไม่ไกลพอ จะขออธิบายเพิ่ม

DaMB39JU8AEGUGV

ธนาธรพูดว่าธุรกิจต้องได้กำไรก่อนอื่น ถ้าบรษัทหนึ่งขึ้นค่าแรงหรือเพิ่มสวัสดิการ ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ ดังนั้นต้องทำทั้งประเทศ … แต่คำถามที่ตามมาคือเรื่องการแข่งขันกับต่างประเทศ ถ้าประเทศคู่แข่งของไทยกดค่าแรงและสวัสดิการ มันจะกลายเป็นข้ออ้างในการกดค่าแรงและสวัสดิการของคนงานไทยใช่ไหม? เพราะข้ออ้างของพวกเสรีนิยมกลไกตลาดแบบนี้ใช้กันทั่วโลก

ธนาธรบอกว่าต้องบังคับใช้ 40 ชม.ต่อสัปดาห์! แต่40 ชม.ต่อสัปดาห์มันมากเกินไปและแรงงานสากลเรียกร้อง 35 ชม.ต่อสัปดาห์มานานแล้ว ควรหยุดทั้งเสาร์อาทิตย์และเงินเดือนสำหรับการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ควรจะพอสสำหรับวิถีชีวิตที่ดี

ธนาธรมองว่าแรงงานไม่มีความรู้ และเปลี่ยนชนชั้น ยกระกับตนเองไม่ได้ พูดตามสูตรพวกกลไกตลาด สร้างภาพว่าคนทำงานควรพยายามเป็นนายทุนน้อย และใครที่ทำไม่ได้ก็ต้องโทษตนเอง จริงๆ แล้วในโลกจริงชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นแปรสภาพไปเป็นชนชั้นกลางไม่ได้ เราควรเรียกร้องให้สภาพความเป็นอยู่ของลูกจ้างทุกคนดีพอที่จะมีวิถีชีวิตที่ดี ผ่านการขึ้นค่าแรง ลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มวันลาพักร้อน และสร้างรัฐสวัสดิการต่างหาก คนทำงานธรรมดาจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนธนาธร

Thanathorn09

ธนาธรพูดถึงสวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าอนุบาลในทุกชุมชน และการลดภาษีให้คนจน แต่ไม่แตะ “รัฐสวัสดิการ” แบบถ้วนหน้าผ่านการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษจากคนรวยและกลุ่มทุน นอกจากนี้ข้อเสนอให้นำคนสูงวัยมาเลี้ยงลูกหลานในสถานรับเลี้ยงเด็ก เหมือนกับการบังคับให้คนชราต้องทำงานต่อโดยไม่สามารถเกษียณได้ ใช่หรือไม่? ต้องดูเงื่อนไขและรายละเอียด

ข้อเสนอให้รัฐมนตรีแรงงานเป็นตัวแทนแรงงานเคยถูกนำมาใช้ในฟิลิปปินส์และลาตินอเมริกา และถูกนำมาใช้เพื่อหลอกใช้แรงงานและควบคุมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานต่างหาก ไม่ใช่ว่าขบวนการแรงงานจะมีอำนาจคุมรัฐบาลแต่อย่างใด

ที่สำคัญคือธนาธรไม่แตะการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มสิทธิกับสหภาพแรงงานในการเคลื่อนไหวและนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อาจสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน

ไม่มีการพูดถึงการต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำลายสภาพการจ้างของพนักงาน อีกด้วย

สุนทร บุญยอด หวังว่าแรงงานจะกำหนดนโยบายให้พรรค  แต่ธนาธรกลับพูดถึงทีมนักวิชาการ ที่จะเสนอนโยบายต่างหาก เช่นในเรื่องสวัสดิการ

สรุปแล้วเป็นการสร้างภาพเพื่อดูดี

ขบวนการแรงงานต้องสร้างพรรคของตนเองจากล่างสู่บน เพื่อไม่ให้ถูกนักการเมืองนายทุนหลอกใช้

ถ้าธนาธรจะให้ธุรกิจมีเสรีภาพมากขึ้นมันจะขัดกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่หรือไม่?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น  โดยลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ น่าจะชวนให้เราตั้งคำถามสำคัญในเรื่องนี้ [ดู https://reut.rs/2ugDj39 ] นอกจากนี้รอยเตอร์สเสนอว่าธนาธรต้องการ “ถอยออกห่างจากนโยบายประชานิยมของไทยรักไทย” เราควรจะรู้ว่าท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ต่อนโยบายที่ช่วยคนจนเป็นอย่างไร

ในขณะเดียวกันรายงานข่าวจาก Voice TV เปิดเผยว่า ธนาธร ต้องการรื้อระบบผูกขาดที่ครอบงำภาคเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคการธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก และภาคการเกษตร และพูดว่า หลายภาคส่วนไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ควบคุมโดยกลุ่มทุนไม่กี่ราย” [ดู https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

 

ในด้านหนึ่งการทำลายการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่อาจเป็นประโยชน์กับพลเมืองส่วนใหญ่ ถ้านำไปสู่การลดราคาหรือการบริการที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสียสำหรับคนส่วนใหญ่ ถ้าผลที่เกิดขึ้น นำไปสู่การรื้อทิ้งคนงาน และการตัดค่าจ้าง

 

นอกจากนี้ ในภาพรวม ข้อเสนอในการให้เสรีภาพกับกลุ่มทุนต่างๆ และนำกลไกตลาดเข้ามา เป็นข้อเสนอของนักการเมืองฝ่ายขวาคลั่งกลไกตลาดเสรีมานาน ในบริบทสากลมันเป็นข้อเสนอของคนที่ต้องการเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุนบนซากศพหรือความรันทดในชีวิตของคนธรรมดา และมันเป็นสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์พลเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก นี่คือประสบการณ์จากโลกจริงในทุกประเทศ ผมจะขออธิบายต่อ

 

การให้เสรีภาพมากขึ้นกับธุรกิจ ผ่านการรื้อทิ้งและลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ มีผลเสียกับขบวนการแรงงานและกรรมาชีพคนทำงาน มันมีผลเสียกับคนที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันมีผลเสียต่อคนที่อาจประสบอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน มันเป็นผลเสียต่อชาวไร่ชาวนา และมันเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคอีกด้วย

UnsafeEnviro

สำหรับกรรมาชีพคนทำงานและขบวนการแรงงาน การให้เสรีภาพกับกลุ่มทุนหมายความว่าในรูปธรรมกฏหมายที่ปกป้องสิทธิพื้นฐานของคนทำงานจะถูกรื้อทิ้ง ผลที่เห็นกันทั่วโลกคือนายทุนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการให้คุณให้โทษและในการละเมิดชีวิตคนทำงาน

นอกจากนี้การรื้อทิ้งข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หรือบนเรือประมง ทำให้การทำงานอันตรายมากขึ้น และมันทำให้คนที่มีที่อยู่อาศัยใกล้ๆ กับสถานประกอบการเสี่ยงภัยมากขึ้นอีกด้วย

การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยในการประกอบธุรกิจคมนาคม เช่นการเดินรถประจำทาง การเดินรถไฟ  หรือการธุรกิจการบิน ทำให้มีอุบัติเหตุมากขึ้น

Anthropocene

สำหรับคนที่ต้องการจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือลดมลภาวะ หรือแก้ปัญหาโลกร้อน และสำหรับชาวบ้านธรรมดา การรื้อทิ้งระเบียบที่จำกัดเสรีภาพของธุรกิจ นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้า การขุดเหมือง การบุกรุกป่า และการเพิ่มมลภาวะในเมือง มันนำไปสู่การปฏิเสธปัญหาโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอน เพราะนายทุนจะมีเสรีภาพเต็มที่ในการใช้ทรัพยากรที่ควรเป็นของส่วนรวม ในการกอบโกบกำไรโดยไม่มีการจำกัดเลย เราเห็นปัญหาแบบนี้ในไทยอยู่แล้ว และเห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี ทรัมพ์ อีกด้วย

สำหรับเกษตรกรรายย่อย การเพิ่มเสรีภาพกับกลุ่มทุน ทำให้เขามีอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนภาคเกษตรน้อยลง และเอาตัวรอดในการประกอบอาชีพยากขึ้นจนเขาต้องล้มละลาย ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นปัญหาทั่วโลก สำหรับชาวประมงพื้นบ้าน ก็จะถูกธุรกิจประมงขนาดใหญ่แย่งอาชีพไปเช่นกัน

การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับบริษัทสื่อไอทีหรือโทรคมนาคม จะนำไปสู่การที่บริษัทเหล่านั้นสามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า โดยการนำข้อมูลส่วนตัวไปขายได้อย่างเสรี

สำหรับผู้บริโภค การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ นำไปสู่การผลิตอาหารที่อันตรายมากขึ้น เพราะมาตรฐานความสะอาดจะลดลง และการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช และการฉีดยาปฏิชีวนะใส่เนื้อสัตว์มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในประเทศตะวันตก

ถ้าเราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และมาดูสภาพสังคมไทย เราจะเห็นว่าในยุคนี้ ธุรกิจต่างๆ เกือบจะมีเสรีภาพในการกอบโกยกำไรและทำลายชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่อยู่แล้ว และส่วนหนึ่งมาจากมรดกการปกครองแบบเผด็จการทหาร หรือการที่เรามีแต่พรรคการเมืองฝ่ายทุน ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ คือการเพิ่มระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อจำกัดสิทธิของกลุ่มทุนและปกป้องสิทธิของคนส่วนใหญ่

ดังนั้นในเรื่องนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ควรจะออกมาชีแจงความหมายอย่างเป็นรูปธรรมของการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้นผ่านการรื้อทิ้งข้อบังคับต่างๆ [“business deregulation”] เราจะได้ตัดสินใจว่าจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่

ความ “ใหม่” ของไทยรักไทยกับพรรคอนาคตใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อมีการพูดกันด้วยความตื่นเต้นในเรื่อง “ความใหม่” และ พรรค “อนาคตใหม่” ผมจะขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทบทวนและเปรียบเทียบความหวังของคนจำนวนมากในยุคนี้ กับความหวังที่คนเคยมีกับพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะในยุคปัจจุบันพรรคของ ทักษิณ ไม่น่าจะเป็นที่พึ่งของคนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมได้แต่อย่างใด

14552694321455269471l

พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๔๑ โดยทักษิณ ชินวัตร หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คำขวัญสำคัญของพรรคคือ “คิดใหม่ทำใหม่” และเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยทันสมัย

สรุปแล้วพรรคอนาคตใหม่กับพรรคไทยรักไทยมีจุดร่วมในการเน้น “ความใหม่” กับ “ความทันสมัย” และทักษิณก็เคยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วย

ก่อนอื่นเราต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เพราะเผด็จการทหารชุดปัจจุบันห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายในช่วงนี้ การห้ามแบบนี้ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่มีการอธิบาย แต่อาจเป็นเพราะต้องการตีกรอบล่วงหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่านโยบายแบบไหนจะมีได้ และแบบไหนมีไม่ได้

อย่างไรก็ตามทั้ง ธนาธร ปิยบุตร และคนอื่นได้ให้ความเห็นบางประการผ่านสื่อซึ่งเราสามารถนำมาพิจารณาได้ ที่ชัดเจนมากคือพรรคอนาคตใหม่ฟันธงว่าต่อต้านเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของทหาร

yingluck-and-prayuth-together-inspecting-flood-damage

ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยที่แปลงร่างนั้นเอง จุดยืนของ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างชัดเจน เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นพรรคพวกของ ทักษิณ คอยประนีประนอมกับทหารเผด็จการเรื่อยมา ในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน ไม่มีการพยายามลงโทษประยุทธ์เลย และไม่มีการสกัดกั้นไม่ให้แทรกแซงการเมืองด้วย ต่อมาหลังจากที่ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ก็ไม่มีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแต่อย่างใด

hqdefault

กรณีข้อยกเว้นที่ดีของอดีตสส.พรรคเพื่อไทยคือ วัฒนา เมืองสุข และ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งสองคนนี้ไม่ยอมก้มหัวให้ทหารมาตลอด

bibfbecb7f9kb5cjefejh

แน่นอน เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายในการนำทหารออกจากการเมืองแบบที่ ธนาธร กับ ปิยบุตร เสนอ แต่มันมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยคือ จะเอาอำนาจที่ไหนมาลดบทบาททหาร? จริงๆ แล้วมันมีอำนาจเดียวที่ทำตรงนี้ได้คือ อำนาจของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตรงนี้เราจะเห็นว่าพรรคของ ทักษิณ มีประวัติในการสร้างขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่แล้ว ทักษิณ กับ นปช. ก็ไปแช่แข็งขบวนการนี้และปล่อยให้ตายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ นี่คือบาปกรรมอันเลวร้ายของพรรคเพื่อไทย

คำถามคือ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีแผนจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ ยังไม่มีการพูดถึง ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของ “พรรคสามัญชน” ที่ประกาศว่าเชื่อมโยงกับมวลชนรากหญ้า

ปิยบุตร พูดถึงตัวอย่างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป แต่ตามด้วยการเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาไม่มีความสำคัญในไทย พูดง่ายๆ เขามองว่าไทยไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้น และไม่มีการพูดถึงความสำคัญของขบวนการแรงงานเลย

การที่ผู้นำแรงงานหนึ่งคน คือสุรินทร์ คำสุข จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ มาร่วมเปิดตัวพรรค ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการที่พรรคจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่พรรคฝ่ายซ้ายในหลายประเทศมี พรรคไทยรักไทยเคยมี สถาพร มณีรัตน์ จากสหภาพแรงงาน กฝผ เป็นสมาชิกและต่อมาเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้ทำให้พรรคของทักษิณเป็นพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

ธนาธร เปิดเผยไปแล้วว่าเขาเห็นชอบกับการกดขี่สิทธิแรงงาน 

ปิยบุตรเอ่ยถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันถ้วนหน้าให้คนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และยามตาย ซึ่งคำพูดแบบนี้นักการเมืองพรรคเก่า เช่นทักษิณ ก็เคยพูด ถ้าพรรคอนาคตใหม่จะจริงจังในการสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นสิ่งใหม่ ต้องพูดกันให้ชัด และต้องพูดว่าจะเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อสร้างกองทุน

ผมจะขอเดาว่าจริงๆ แล้ว ปิยบุตร ต้องการสร้างฐานเสียงของพรรคในหมู่คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยแล้ว ทักษิณ เคยประกาศว่ามีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ไม่ใช่แค่คนรวยหรือคนชั้นกลางเท่านั้น และเขาก็ทำจริงตามคำประกาศ

สมาชิกของพรรคอนาคตใหม่มีการพูดถึงความคิดใหม่เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ตรงนี้ต่างจากไทยรักไทย แต่พรรคอนาคตใหม่จะจริงจังแค่ไหนคงต้องรอดู 

บางคนพูดว่าการที่มีนายทุนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พร้อมจะลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ใหม่เลย นายทุนใหญ่หน้าใหม่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนเช่นกัน

ธนาธร ยังไม่ได้กล่าวถึงนโยบายอะไรมากนอกจากการลดบทบาททหาร และการกระจายอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลไปสู่แต่ละจังหวัด นโยบายการกระจายอำนาจแบบนี้เป็นนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดชัดๆ เพราะปฏิเสธบทบาทรัฐบาลกลางในการเก็บภาษีแล้วกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นที่ยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในขณะที่ ธนาธร พูดเหมือนกับว่าจะปล่อยให้จังหวัดที่ยากจนจนต่อไป ทักษิณ เคยเน้นบทบาทรัฐบาลกลางในการพัฒนาฐานะของคนจนในชนบท นอกจากนี้รัฐบาลไทยรักไทยมีผลงานในการสร้างระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้าขึ้นมาเป็นครั้งแรก และนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนอีกหลายนโยบาย

35325500736_f90767b2d5_o

ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก มีการส่งทีมงานลงไปในชุมชนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับประชาชนว่าเขาต้องการนโยบายอะไรแบบไหน ตรงนี้ไทยรักไทยทำอย่างเป็นระบบ ถ้าพรรคของ ธนาธร กับ ปิยบุตร จะมีผลงานจริงกับคนรากหญ้า มันมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ โดยเฉพาะการต่อสายไปสู่ขบวนการแรงงานกับเกษตรกรยากจน แต่ถ้าเขาไม่สนใจทำ พรรคของเขาก็คงเป็นแค่พรรคฝ่ายขวาธรรมดาของชนชั้นกลาง ที่ต่อต้านทหาร

เราคงต้องติดตามข่าวต่อไปครับ

ธนาธร เผยจุดยืนนายทุนที่กดขี่สิทธิแรงงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรายการสดของ The Standard http://bit.ly/2DI5maR ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดชัดเจนเลยว่าเขาเห็นด้วยกับ “สิทธิ” นายทุนในการกดขี่สิทธิแรงงาน มันเป็นครั้งแรกที่เราได้รับความชัดเจนตรงนี้

เขาเล่าว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน พร้อมกันนั้น ธนาธร อ้างว่าได้ “ทำตามกฏหมายแรงงาน” และแก้ตัวว่าเขาปฏิบัติ “อย่างเป็นธรรม” ต่อสหภาพแรงงาน

นอกจากนี้เราทราบจากข่าว “ประชาไท” ว่าบริษัทไทยซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี ได้สั่งเลิกจ้างงานคนงาน 50 คนในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย และทางบริษัทเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงานแบบนี้

ส่วนปัญหาที่ผมเคยพูดว่าเกิดกับลูกจ้างบริษัท “ซัมมิท” ธนาธร อธิบายว่าไม่เกี่ยวกับบริษัท “ไทยซัมมิท” ของเขา

ในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนและนักสหภาพแรงงานสากล การปิดโรงงานที่กำลังจะนัดหยุดงาน ไล่คนงานออกหมด แล้วรับคนกลับมาทำงานเฉพาะในส่วนที่ยอมจำนนต่อบริษัท หรือการเลิกจ้างคนงานด้วยเหตุที่ต้องการสร้างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมากขึ้น ถือว่าเป็นพฤติกรรมหน้าเลือดของนายทุนที่ต่อต้านสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน มันเป็นนโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายขวาทั่วโลกที่จะให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมแบบนี้

การอ้างของ ธนาธร ว่าเขาให้ความเป็นธรรม เพราะทำตามกฏหมายแรงงานไทย เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะกฏหมายแรงงานไทยในปัจจุบันมันละเมิดสิทธิแรงงานไปในตัว ไม่เคยให้เสรีภาพเต็มที่ในการเคลื่อนไหว ก่อตั้งสหภาพ หรือเสรีภาพเต็มที่ในการนัดหยุดงานเลย กฏหมายนี้เป็นมรดกตกทอดจากยุคเผด็จการไทยในหลายสิบปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ธนาธร คงอยากแช่แข็งกฏหมายแรงงานให้อยู่ต่อแบบนี้

การอ้างว่า “ต้องปิดโรงงาน” เพื่อปกป้องกำไรของบริษัทตนเอง แสดงว่า ธนาธร ยืนอยู่เคียงข้างผลประโยชน์นายทุนและตรงข้ามกับผลประโยชน์ของคนทำงานธรรมดา นี่คือเรื่องชนชั้นอย่างชัดเจน

คำพูดแก้ตัวและพฤติกรรมของ ธนาธร พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า “พรรคอนาคตใหม่” คงไม่ต้องการสร้างอนาคตใหม่ให้กับกรรมาชีพผู้ทำงาน อนาคตใหม่ของพวกนักการเมืองหน้าใหม่แบบนี้ จะไม่รวมถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับคนส่วนใหญ่ จะไม่รวมถึงการลบผลพวงของเผด็จการทหารออกไปจากระบบแรงงานสัมพันธ์ และจะไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองของแรงงานจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ธนาธร มองว่าการเรียกร้องโบนัสของสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทในครั้งนั้นมัน “มากเกินไป” แต่เขาไม่ตรวจสอบตนเองและตั้งคำถามว่าเงินเดือนสูงของเขาเองมาจากการทำงานของใคร และทำไมเขาจะมี “สิทธิ์” ที่จะรับเงินเดือนสูงกว่าคนธรรมดาทั่วประเทศ

มันชวนให้ตีความได้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่สนับสนุนการเพิ่มอัตราค่าแรงทั่วประเทศให้คนทำงานสามารถมีชีวิตที่ดีได้เท่ากับพวกชนชั้นกลาง เพราะทุกอย่างต้องขึ้นกับเงื่อนไขการเพิ่มกำไรของกลุ่มทุน มันชวนให้ตีความได้อีกว่าพรรคนี้คงจะไม่สนับสนุนการเก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีและกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการอีกด้วย

สรุปแล้วสำหรับ พรรคอนาคตใหม่ ของธนาธร มันเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะเป็นความหวังสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมาชีพผู้ทำงาน

fight2

ธนาธรไม่ต้องขอโทษใครเรื่องข้อเสนอแยกศาสนาออกจากรัฐ และเรื่องปาตานี

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดว่าควรแยกศาสนาออกจากรัฐ และให้รัฐเลิกอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าและจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับพลเมืองทุกคนไม่จะว่านับถือศาสนาใดหรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ดังนั้น ธนาธร ไม่ควรขอโทษใครในเรื่องนี้ และเราควรสนับสนุนเต็มที่

สิ่งที่ ธนาธร พูดเป็นข้อเสนอที่มีประโยชน์ต่อชาวพุทธ เพราะจะนำไปสู่เสรีภาพในการนับถือพุทธในลักษณะหลากหลายที่แต่ละคนเลือกจะนับถือ รัฐจะเข้ามาปราบคนที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “พุทธนอกรีต” หรือพวกธรรมกายไม่ได้ และสตรีที่ต้องการบวชเป็นพระสงฆ์ก็ย่อมทำได้ ศาสนาจะกลายเป็นสิทธิส่วนตัวของพลเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้นพวกที่โวยวายเรื่องนี้เป็นพวกล้าหลังที่คัดค้านเสรีภาพและความหลากหลาย

แต่ในแง่หนึ่ง ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของ ธนาธร จะเพิ่มเสรีภาพให้ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี มันไม่พอที่จะแก้ปัญหาสงครามได้ เพราะมันไม่ใช่สงครามระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม มันเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนที่ถูกรัฐไทยกดขี่ต่างหาก

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ข้อเสนอของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่จะรื้อฟื้นข้อเสนอในการปกครองตนเองของชาวปาตานี ที่หะยีสุหลง เคยยื่นต่อรัฐบาลไทยในปี 2490 ก่อนที่เขาจะถูกเผด็จการทหารไทยฆ่าทิ้ง เป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่านโยบายพรรคการเมืองกระแสหลักทุกพรรค

บางคนที่มีอคติกับศาสนาอิสลาม จะโวยวายว่ามันจะนำไปสู่การ “เฆี่ยนเกย์” และขัดแย้งกับสิ่งที่ ธนาธร พูดเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐ ผมขอฟันธงว่าไม่จริงเลย และจะขออธิบายต่อ

ศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพลเมืองชาวมาเลย์มุสลิมส่วนใหญ่ในปาตานี แต่วัฒนธรรมนี้ถูกรัฐไทยกดขี่มานาน ดังนั้นการเพิ่มเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่เคยโดนกดขี่จากรัฐไทย เป็นข้อเสนอก้าวหน้า และจะมาเปรียบเทียบกับสิทธิชาวพุทธกระแสหลักไม่ได้

หะยีสุหลง

ลองมาดูข้อเสนอเดิมของ หะยีสุหลง ซึ่งเคยได้รับการยอมรับจากอ.ปรีดี พนมยงค์

  1. “สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วยผู้นำที่เป็นคนจากพื้นที่และมาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่” ข้อเสนอนี้จะเพิ่มเสรีภาพอย่างชัดเจนเพราะลดบทบาทรัฐจักรวรรดินิยมไทย ถ้ากรุงเทพฯเลือกผู้ว่าได้ ทำไมปาตานีเลือกไม่ได้?
  2. “ข้าราชการในพื้นที่อย่างน้อย 80 % ต้องเป็นมุสลิม” ตรงนี้เราอาจดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้นโดยเสนอว่า ประมาณ 80% ต้องเป็นคนเชื้อสายมาเลย์จากพื้นที่ แต่ควรดัดแปลงสัดส่วนให้เท่ากับสัดส่วนจริงของพลเมืองเชื้อชาติต่างๆ ในพื้นที่ มันจะแก้ไขความรู้สึกของคนในปาตานี ที่รู้สึกว่าถูกยึดครองจากกรุงเทพฯ
  3. “ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ” ข้อเสนอแบบนี้เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก เช่นสวิสแลนด์ คานาดา สวีเดน และอังกฤษ มีแต่พวกไดโนเสาร์อย่างพลเอกเปรมที่เคยคัดค้าน
  4. “ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา” ซึ่งควรตีความว่าหมายถึงโรงเรียนในชุมชนที่เขาพูดภาษามลายูที่บ้าน แต่สำหรับครอบครัวที่พูดภาษาไทยที่บ้าน ก็ควรมีโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาไทยเพื่อเป็นทางเลือก จะไปคัดค้านทำไม? และมันไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่ใช้ภาษามลายูจะไม่สอนให้เด็กรู้จักภาษาไทย อย่าลืมว่าเรื่องภาษากลางเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพและทำลายวัฒนธรรมหลากหลายมานาน รวมถึงคนเชื้อชาติลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  5. “ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด” ตรงนี้พวกคนที่มีอคติกับศาสนาอิสลาม จะโวยวายว่ามันจะนำไปสู่การ “เฆี่ยนเกย์”!! ไม่เลยครับ มันหมายความว่าพลเมืองทุกคนสามารถเลือกได้ว่าอยากขึ้นกับศาลแบบไหนต่างหาก มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราอยู่แล้ว นอกจากนี้การลงโทษในศาสนาอิสลามตีความได้หลากหลาย ชาวอิสลามก้าวหน้าควรจะรณรงค์ไม่ให้มีการตีความแบบล้าหลัง และประเทศสิงคโปร์ที่ใช้การเฆี่ยนเป็นการลงโทษไม่ใช่รัฐอิสลามอีกด้วย
  6.  “ภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่เท่านั้น” ก็เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ในเมื่อปาตานีเป็นพื้นที่ยากจน ควรมีงบประมาณสมานฉันท์จากพื้นที่อื่นเข้ามา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
  7. “ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม” อันนี้ก็เป็นข้อเสนอที่จะให้เสรีภาพกับการนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในโลกสมัยใหม่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้ง และคนอิสลามควรมีสิทธิที่จะไม่ทำตามระเบียบนั้นได้ คือระเบียบที่ว่านี้ควรจะเป็นแค่ข้อเสนอแนะเท่านั้น

แต่คำพูดหนึ่งของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ น่าจะสร้างความกังวลนิดหน่อย คือเวลามีการถามว่าจะทำได้แค่ไหน เขาตอบว่า “อะไรก็ได้ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย” แต่รัฐธรรมนูญไทยตอนนี้เขียนว่ารัฐไทยเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรค์สำคัญในการที่คนในพื้นที่จะพูดคุยพิจารณารูปแบบต่างๆ ของการปกครองตนเอง รวมถึงสิทธิที่จะแยกประเทศด้วย

%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%9a-2

ปัญหาความรุนแรงในปาตานี มาจากการกดขี่ของรัฐไทย ผ่านการกระทำของกำลังทหารและตำรวจที่ยึดครองพื้นที่เหมือนเป็นอาณานิคม ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่ควรเสนอให้ถอนทหารและตำรวจส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันอย่างสันติ และควรเสนอให้ลดบทบาททหารในการเจรจาสันติภาพอีกด้วย

ข้อดีอีกอันหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่คือ มีแผนจะลงไปพบปะกับนักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคมในปาตานี เพื่อจัดทำนโยบายการกระจายอำนาจและนโยบายด้านพหุวัฒนธรรม ผมหวังว่าคนของพรรคจะกล้าพอที่จะต่อสายและคุยกับคนที่กบฏต่อรัฐไทย หรือคนที่อยากแบ่งแยกดินแดนด้วย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมกังวลอันหนึ่งคือ พอพวกอนุรักษ์นิยมวิจารณ์สิ่งที่เขาพูดนิดเดียว ก็จะเริ่มเห็นเขาถอยและเปลี่ยนใจ ทำไมต้องขาดความมั่นใจในการทำสิ่งที่ถูกถึงขนาดนั้น? เราคงต้องดูต่อไป