ใจ อึ๊งภากรณ์
การชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่สำคัญคือ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ยกเลิกการรวบทรัพย์สินภายใต้วชิราลงกรณ์และเพิ่มความโปร่งใสในเรื่องเงิน ลดงบประมาณที่จัดสรรให้กษัตริย์ ยกเลิก “ราชการในพระองค์” ยกเลิกอำนาจกษัตริย์ในการแสดงความเห็นทางการเมือง ยกเลิกการเชิดชูกษัตริย์เกินเหตุเพียงด้านเดียว ยกเลิกการที่กษัตริย์จะรับรองรัฐประหาร และเปิดกระบวนการที่จะสืบความจริงเกี่ยวกับผู้เห็นต่างที่ถูกอุ้มฆ่า
ถือได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทย และทุกคนที่รักเสรีภาพควรจะสนับสนุน
แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาในการต่อสู้ต่อไปคือ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?
สิ่งแรกที่ต้องพูดคือการต่อสู้อยู่ในขั้นตอนริเริ่ม หยุดไม่ได้ ต้องขยายขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาชนผู้ทำงานเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งการก่อตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนี้ และแน่นอนมันไม่เกิดขึ้นเอง พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือทำงานที่ไหนต้องร่วมกันช่วยสร้าง
และที่สำคัญคือเราไม่ควรลดความสำคัญของข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ให้ยุบสภา และเลิกคุกคามประชาชนผู้รักเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่าเราต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อให้รัฐบาลเผด็จการลาออก
ทุกคนคงเข้าใจดีว่าการล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่การรณรงค์ให้ไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นการประท้วงปัจเจกเชิญสัญลักษณ์ อาจช่วยในการรณรงค์หรือขยายจิตสำนึก แต่มันล้มเผด็จการไม่ได้

ในขณะที่ผู้คนกำลังชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เราเห็นรูปธรรมของม็อบที่ล้มรัฐบาลสำเร็จในเมืองเบรูต ประเทศเลบานอน มีผู้ชุมนุมออกมาเป็นแสนจากทุกส่วนของสังคม การประท้วงแบบนี้เคยเกิดที่ไทยในช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เราต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างขบวนการอันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และเราไม่ควรลืมว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงต้านพรรคทหาร ดังนั้นมันมีกระแสที่จะช่วยเรา
มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พลเมืองที่ออกมาประท้วงจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และคนจำนวนมากจะอยู่ในสภาพการพัฒนาความคิดความเข้าใจท่ามกลางการต่อสู้ และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ จะพยายามเสนอแนวคิดที่ตนเองมองว่ามีน้ำหนักมากที่สุด บางทีเพื่อเสริมการต่อสู้ บางทีเพื่อยับยั้งการต่อสู้ นั้นคือสาเหตุที่การตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องสำคัญ
สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าพลเมืองที่ออกมาสู้ต้องเข้าใจคือเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ในความเห็นผมสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยไม่ควรประเมินอำนาจของวชิราลงกรณ์สูงเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีการเบี่ยงเบนเป้าหมายจากคณะทหารเผด็จการ และมันมีผลต่อยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายเราใช้
ผมเขียนเรื่องข้อจำกัดของอำนาจกษัตริย์ไว้หลายที่ เช่น “การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล” https://bit.ly/2XIe6el และ“ว่าด้วยวชิราลงกรณ์” https://bit.ly/31ernxt
อีกเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนควรทำความเข้าใจ คือประเด็นว่าทำไมชนชั้นปกครองในหลายประเทศทั่วโลก นิยมให้คงไว้สถาบันกษัตริย์ เพราะในมุมมองผม การคงไว้สถาบัยกษัตริย์ในรูปแบบตะวันตกภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลเสียกับฝ่ายเรา เพราะเป็นเครื่องมือในการเสนอลัทธิอภิสิทธิ์ชนว่าคนเราเกิดสูงและเกิดต่ำและบางคนมีสิทธิ์จะเป็นผู้นำในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ตาม มันออกแบบมาเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้นทุกคนที่รักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมควรนิยมการยกเลิกระบบกษัตริย์เพื่อให้มีสาธารณรัฐ [ดู “ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ” https://bit.ly/30Ma32f ]
แต่ระบบสาธารณรัฐภายใต้ทุนนิยม ไม่พอที่จะนำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แค่ดูสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม ก็จะเห็นภาพชัดเจน พูดง่ายๆ เราต้องคิดต่อไปถึงเรื่อง “รัฐ” ภายใต้ระบบทุนนิยม และความสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มรัฐของนายทุนผู้เป็นชนชั้นปกครองในโลกสมัยใหม่ [ดู “รัฐกับการปฏิวัติ” https://bit.ly/2PEQK4K ]
เมื่อเราคิดถึงเรื่อง “รัฐ” และ “ชนชั้น” เราจะเข้าใจว่า “ข้าราชการ” ชั้นผู้ใหญ่ ศาล และ ตำรวจ ไม่เคยรับใช้ประชาชนในโลกสมัยใหม่ การคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นโดยไม่ล้มรัฐของนายทุนและสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงานเป็นการเพ้อฝัน และแน่นอนเสรีภาพและประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องอาศัยกระบวนการปฏิวัติด้วยพลังมวลชน แทนที่จะไปฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา