Tag Archives: นักศึกษา

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประยุทธ์เปื้อนเลือดมันไม่ออกง่ายๆ

ทั้งๆ ที่พวกเราเชียร์ความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวในการต้านเผด็จการ แต่ในใจเราลึกๆ แล้ว หลายคนเข้าใจว่าประยุทธ์มือเปื้อนเลือดมันคงไม่ออกง่ายๆ ซึ่งแปลว่าเราต้องขยับการต่อสู้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ประยุทธ์กับแก๊งเผด็จการมันลงทุนในการครองอำนาจมากมายและยาวนาน มันมือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดง มันยึดอำนาจผ่านการทำรัฐประหาร มันขู่ ขัง และฆ่าคนเห็นต่าง มันวางแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20  ปี มันออกแบบรัฐธรรมนูญเผด็จการ มันแต่งตั้งพวกของมันเป็นส.ว. และคุมศาล และหลังจากปกครองแบบเผด็จการโดยตรงมันก็โกงการเลือกเพื่อปกครองผ่านเผด็จการรัฐสภา ทั้งหมดนี้แปลว่ามันจะไม่ลงจากอำนาจง่ายๆ

ชนชั้นปกครองไทยแสดงตัวว่าพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่รักประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ทหารหรือตำรวจตชด.ยิงผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธและทำทารุณกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, ตากใบในปาตานี, หรือการฆ่าเสื้อแดง และอย่าลืมว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมอีกมากมาย รัฐไทยคือรัฐอาชญากร และประยุทธ์มีส่วนโดยตรงในการฆ่าเสื้อแดง และการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง

ดังนั้นหลังจากที่ตำรวจสลายการประท้วงของคนหนุ่มสาวที่สยามเมื่อวันก่อน เรามีสิทธิ์ที่จะต้องโกรธแค้น แต่เราไม่ควรแปลกใจ

เราไม่ควรแปลกใจด้วยที่มีการสั่งปิดบริการรถไฟไฟฟ้าด้วย อย่าลืมว่าตอนเสื้อแดงประท้วง BTS มันหยุดวิ่งรถเพื่อให้ทหารสไนเปอร์ขึ้นรางและยิงเสื้อแดงตายที่วัดปทุม

พูดง่ายๆ ฝ่ายมันจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของมัน

การขับไล่เผด็จการออกไป ต้องอาศัยการทำให้ชนชั้นปกครองอยู่ต่อแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีการทำให้เขาบริหารประเทศไม่ได้ และต้องทำให้ฝ่ายเขาเริ่มแตกแยกกันเอง พลังที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากไหน?

ในอดีตสมัย 14 ตุลา 2516 มีการนัดหยุดงานมหาศาลในต้นเดือนตุลาคม มีการเคลื่อนไหวของเกษตรกร มีการขยายจำนวนคนที่ชื่นชมพรรคคอมมิวนิสต์ และในที่สุดนักเรียนนักศึกษาและประชาชนคนทำงานก็ออกมา 5 แสนคนกลางถนน มีการสู้กับทหารที่ใช้อาวุธและกระสุนจริงเข่นฆ่าประชาชน และในที่สุดทรราชก็ต้องออกจากประเทศไป

ในสมัยพฤษภา 35 มีการจลาจลเกิดขึ้นหลายวันหลังจากที่ทหารไล่ฆ่าประชาชน จนในที่สุดทรราชต้องลาออก

การรวมตัวกันของพวกเราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนมากันเป็นแสนในเดือนกันยายน และในวันที่ 14 ตุลาคม และความก้าวหน้ากล้าหาญของนักเรียนนักศึกษา แสดงว่าพลังการต่อสู้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น แต่พอมาถึงจุดนี้การใช้เฟลชม็อบเล่น “วิ่งไล่กัน” หรือเล่น “ซ่อนหา” ในกรุงเทพฯ ซึ่งอาศัยความกล้าหาญและความอดทน มันไม่พอที่จะล้มทรราชประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการประท้วง “ดาวกระจาย” ในวันนี้ (17 ต.ค.) พิสูจน์ว่ากระแสต่อสู้และความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูงในหมู่ประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น เราต้องใช้โอกาสนี้ในการยกระดับการต่อสู้

เราถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะเราจะต้องรักษาโมเมนตัมหรือการเพิ่มพลังที่ขยับไปข้างหน้าให้มันเพิ่มขึ้นอีก ถ้าไม่เช่นนั้นขบวนการเราจะถอยหลัง ดังนั้นต้องมีการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น การพักรบชั่วคราวเพื่อหารือกันและนัดวันประท้วงใหม่ในเดือนข้างหน้าไม่เสียหายอะไรถ้านำไปสู่การประท้วงที่เพิ่มพลัง

แน่นอนผมไม่อยากเห็นการจลาจลที่ทำให้ฝ่ายเราเสียเลือดเนื้อ ทั้งๆ ที่วันก่อนประยุทธ์มันขู่ฆ่าพวกเราไปแล้ว นี่คือสาเหตุที่ผมเสนอว่าเราต้องหาทางปิดสถานที่ทำงานเพื่อให้มีผลทางเศรษฐกิจกับรัฐบาล การหาทางให้คนทำงานนัดหยุดงานประท้วงเผด็จการเป็นวิธีสำคัญที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ [ดูรายละเอียดขั้นตอนการสร้างกระแสนัดหยุดงานที่ผมเสนอในบทความก่อนหน้านี้ https://bit.ly/31eJMcX ] แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ใหญ่ที่พ้นวัยนักเรียนนักศึกษาแล้วจะต้องออกมาเคลื่อนไหวในจำนวนมากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

จะรออะไรอีก? เมื่อนักศึกษานำทาง คนทำงานควรตาม ลงถนนร่วมกัน!!

ในเมื่อนักศึกษาจากหลายๆ สถาบันทั่วประเทศออกมาแสดงพลังประท้วงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นการทำลายประชาธิปไตยอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ คนทำงาน นักสหภาพแรงงาน อดีตเสื้อแดง และประชาชนทั่วไปที่รักประชาธิปไตย….ควรวางแผนลงถนนร่วมกับคนหนุ่มสาวที่นำทางให้เราแล้ว

58525-728x546

49579356928_c4b624afdb_k

49583284531_afa9faa7f5_b

49588263307_6852e3839b_b

87050886_3965432330137236_6425129018772684800_o

49585215417_1dd10602a5_h

49587901378_37c8a8b6b4_b

ภาพจากประชาไท

คลื่นการต่อสู้สากลยุค 1968 และความสำคัญของมวลชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

ในบทความก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1968 ที่เริ่มต้นในฝรั่งเศส และการหักหลังการต่อสู้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม และสภาแรงงาน ในบทความนี้ผมอยากจะเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับคลื่นการต่อสู้สากลที่เกิดขึ้น และความสำคัญของการสามัคคีมวลชนนักศึกษากับกรรมาชีพ

ช่วงนี้เป็นช่วงครบรอบ 50 ปี แห่งคลื่นการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกเรา ส่วนหนึ่งของคลื่นนี้คือการล้มเผด็จการทหารไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

      นักปฏิวัติมารคซิสต์หญิงจากเยอรมันชื่อ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอว่า “การปฏิวัติครั้งก่อน มักกำหนดกรอบการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปยุคต่อไป”

ถ้าเราย้อนกลับไปคิดถึงคลื่นการปฏิวัติสมัยปฏิวัติรัสเซีย 1917 เราจะเห็นว่ามันเปิดประเด็นการปฏิรูปเรื่อง รัฐสวัสดิการ และการปฏิรูปสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ผ่านการยกเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผ่านการปลดแอกประเทศจากการเป็นอาณานิคม และที่สำคัญคือมันนำไปสู่การสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

ในกรณีคลื่นปฏิวัติ 1968 มันนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศและสิทธิเชื้อชาติสีผิว เช่นสิทธิทำแท้งเสรี สิทธิคนรักเพศเดียวกัน สิทธิในการแต่งกายและเพศสัมพันธ์ของเยาวชน และสิทธิของคนเพื่อที่จะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานสีผิวหรือชาติพันธ์ นอกจากนี้มันเปิดประเด็นการต่อสู้กับเผด็จการทหารในรัฐสมัยใหม่ และการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมยุคใหม่ที่ไม่ใช่ระบบอาณานิคม และที่น่าตื่นเต้นอีกคือการต่อสู้ที่เกิดขึ้นกับระบบอาวุโสที่ผู้ใหญ่ควบคุมค่านิยมและกติกาของสังคม

1968 สำคัญเพราะ เป็นการกบฏของคนชั้นล่างและคนหนุ่มสาวในโลกตะวันตกและในโลกคอมมิวนิสต์พร้อมกัน เป็นการเปิดโปงพิสูจน์ธาตุแท้ของการประนีประนอม ทรยศ หักหลังของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ซึ่งนำไปสู่การสร้างซ้ายใหม่ตามแนวตรอทสกี เหมา และอนาธิปไตยในหลายประเทศ

ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด “1968” คือ

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การขยายจำนวนนักศึกษาภายใต้สถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ไม่พอใจกับการควบคุมสังคมแบบเดิม และชนชั้นกรรมาชีพไม่พอใจที่จะเสียสละต่อไป  พวกเขาต้องการส่วนแบ่งเพิ่มอย่างเป็นธรรม  ในไทยการต่อสู้ของกรรมกรเพื่อขึ้นค่าแรงหลังจากที่แช่แข็งไว้สิบกว่าปี ช่วยให้เกิด ๑๔ ตุลา ในฝรั่งเศสประเด็นแบบนี้ทำให้นักศึกษาและกรรมาชีพเป็นแนวร่วมที่มีพลัง
  2. การต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐในเวียดนาม โดยที่นักศึกษาไม่พอใจความป่าเถื่อนของสหรัฐ และเคารพความกล้าหาญของนักรบเวียดนาม
  3. สงครามเวียดนาม และภาระการสร้างอาวุธในสงครามเย็น เริ่มทำลายเศรษฐกิจสหรัฐ และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

ในประเทศ เชคโกสโลวาเกีย นักศึกษาและปัญญาชน เป็นหัวหอกในการประท้วงระบบการปกครองเผด็จการแนว “สตาลิน” ของพรรคคอมมิวนิสต์ มีการบังคับให้เปลี่ยนผู้นำประเทศ โดยเอา “Dubcek”  ขึ้นมาแทนผู้นำเก่า มีการขยายสิทธิเสรีภาพ   แต่ก่อนที่ขบวนการจะสุกงอม รัสเซียส่งกองทัพและรถถังเข้ามาปราบปราม

ใน โปแลนด์ นักศึกษาประท้วงการเซนเซอร์สื่อ  มีการปิดทุกมหาวิทยาลัยโดยนักศึกษา และร้องเพลงอินเตอร์เนเชนัล พร้อมกับตะโกนว่า “เชคโกสโลวาเกีย จงเจริญ!!!”  นักศึกษาต้องรบกับตำรวจ  ในที่สุดสามารถกดดันให้รัฐบาลต้องปฏิรูปบ้าง และในระยะยาวนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมกรในปี 1970 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสหภาพแรงงานอิสระ Solidarity

ในญี่ปุ่น  นักศึกษาเป็นแสนประท้วงทั่วประเทศหลายเดือน  คนหนุ่มสาวไม่พอใจกับความคับแคบ และระบบอาวุโสในสังคมญี่ปุ่น  หลายคนตื่นเต้นกับ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในจีน  มีการจับฝ่ายบริหารในมหาวิทยาลัยมาขังหลายวันเพื่อ “สอบสวน”  มีการใช้ไม้กระบองและท่อเหล็กตีกับตำรวจ  และนักศึกษาแพทย์เรียกร้องให้ตัวเองมีสิทธิ์ในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน

JapStud1

     ในมหาวิทยาลัย Berkeley ที่สหรัฐ นักศึกษาเสนอหลักสูตรใหม่ที่ไม่มีการสอบ เพราะอยากเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ

ในประเทศจีน คนหนุ่มสาวตื่นตัว ไม่พอใจกับการคอร์รัปชั่นของผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ถูก “เหมาเจ๋อตุง” หลอกใช้ในการต่อสู้กับคู่แข่งของเขาในระดับสูงของพรรค จึงเกิด “การปฏิวัติวัฒนธรรม”

ในเยอรมัน นักศึกษาจาก “สันนิบาตินักศึกษาสังคมนิยม” SDS ขยายสมาชิกผ่านการจัดกลุ่มศึกษามาร์คซิสต์เพื่อวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) ที่ทำแนวร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยม (CDU) จนประชาชนหมดทางเลือกทางการเมือง มีการเคลื่อนไหวต้านสงครามเวียดนาม และผู้นำสำคัญของนักศึกษายุคนั้นคือ “Rudi Dutschke”

ในอิตาลี่นักศึกษาก็ตื่นตัวไม่น้อย พรรคคอมมิวนิสต์ PCI ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก พยายามควบคุมนักศึกษาเพื่อไม่ให้ไฟของการต่อสู้ลามไปสู่ขบวนการแรงงาน ทั้งนี้เพราะพรรค PCI ต้องการพิสูจน์ “ความรับผิดชอบ” ต่อชนชั้นนายทุน เพื่อหวังทำแนวร่วมกับพรรคนายทุนในรัฐสภา

ในสเปนซึ่งตอนนั้นปกครองโดยเผด็จการนายพลฟรังโก มีการปิดทุกมหาวิทยาลัยท่ามกลางกระแสประท้วงต้านฐานทัพสหรัฐ ในไทยก็มีการประท้วงฐานทัพสหรัฐเช่นกัน

ในเม็กซิโกนักศึกษา  3 แสนคนพร้อมประชาชน เดินขบวนประท้วงเผด็จการของ “พรรคสถาบันปฏิวัติ” ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่การปฏิวัติปี 1910  ตอนนั้นเม็กซิโกกำลังจะจัดงานแข่งกีฬาโอลิมปิค  ในที่สุดนักศึกษาถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก ตายหลายร้อย และถูกจับเป็นพัน แต่ในการแข่งกีฬาครั้งนั้น นักวิ่งเหรียญทองและเหรียญเงินผิวดำจากอเมริกาสองคน ยืนขึ้นชูกำปั้นถุงมือดำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังคนผิวดำ (Black Power) ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งในกรรมการกิฬาโอลิมปิค

10318769_10152419982244925_2015312474_n

     ในกรีช หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในไทย นักศึกษากรีชออกมาชุมนุมไล่เผด็จการทหาร โดยตะโกนคำว่า “Thailand Thailand!!!”

ในเวียดนามในช่วงตรุสเวียดนามปี 1968 กองกำลังแนวร่วมปลดแอกชาติ หรือที่เรียกกันว่า “เวียดกง” ยึดสถานทูตอเมริกากลางเมืองไซ่ง่อนในเวียดนามใต้ และยิงปืนออกมา เหตุการณ์นี้ถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก ทำให้ชนชั้นปกครองอเมริการู้ตัวว่าไม่สามารถชนะสงครามได้ และให้กำลังใจกับนักศึกษาสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ที่ชุมนุมต่อต้านสงคราม ในไม่ช้าคนผิวดำอย่างนักมวยชื่อ “โมหัมหมัด อาลี” ก็ออกมาฝืนกฎหมาย ปฏิเสธการถูกเกณฑ์เป็นทหาร โดยอธิบายว่า ‘คนเวียดนามไม่เคยเรียกผมว่า “ไอ้มืด” ผมจะไม่ไปรบในสงครามคนผิวขาว’ และทุกฐานทัพของอเมริกาทั่วโลกมีกลุ่มทหารกบฏที่ไม่พอใจกับสงครามพร้อมกับกลุ่มศึกษาทางการเมืองและหนังสือพิมพ์ของตนเอง

ขบวนการกบฏต่อชนชั้นปกครองในสหรัฐอเมริกามีสองซีกคือ นักศึกษาที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม และคนผิวดำที่ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ ในที่สุดมีการตั้งพรรคเสือดำ (Black Panther Party) เพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐเหยียดผิว นอกจากนี้มีการสร้างขบวนการรักเพศเดียวกัน แต่ปัญหาใหญ่ในสหรัฐ คือการไม่ทำแนวร่วมกับขบวนการแรงงาน จึงขาดพลัง

ในอังกฤษและไอร์แลนด์มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวแคทอลิคในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งส่งผลให้สตรีวัยสาวฝ่ายซ้ายได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส. ในอังกฤษเองมีการผลักดันสิทธิทำแท้งเสรี และพัฒนาขบวนการสิทธิสตรีผ่านแนวร่วมกับสหภาพแรงงาน

เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในไทย ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกระแสหลัก จะบิดเบือนประวัติศาสตร์จนไม่มีการเชื่อมโยงกับกระแสการต่อสู้สากลเลย มีแต่การสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่เน้นบทบาทคนชั้นบน และลดบทบาทกรรมกรและนักศึกษา การต่อสู้ในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดกรอบการต่อสู้เพื่อปฏิรูปการเมืองปัจจุบัน  เช่นข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม และความเป็นธรรมทางสังคมโดยการสร้างรัฐสวัสดิการ  และ ๑๔ ตุลา เป็นต้นกำเนิดของการรื้อฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการตั้งคำถามกับบทบาทสถาบันกษัตริย์

ความพ่ายแพ้ในไทยช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และช่วงป่าแตก มาจากข้อผิดพลาดของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ไม่สนับสนุนการต่อสู้ในเมืองเป็นหลัก แล้วพานักศึกษาหลงทางภายใต้การควบคุมของพรรคจนกระทั้งป่าแตกและพรรคล่มสลาย

บทเรียนสำคัญจากคลื่น 1968 คือความสำคัญของมวลชนนักศึกษาในการเป็นหัวหอกการต่อสู้ แต่หัวหอกอย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าไม่มีการทำแนวร่วมกับมวลชนของขบวนการแรงงานกระแสการต่อสู้จะอ่อนแอ และถ้าไปฝากความหวังกับผู้นำ หรือพรรค ที่พาเราไปประนีประนอมกับชนชั้นปกครอง การกบฏจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นี่บทสรุปสำคัญจากการแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงโดยพรรคเพื่อไทยและทักษิณ มีหลายคนที่ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้และหันไปเน้นการประท้วงเชิงสัญญลักษณ์ของคนกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมเราต้องสร้างขบวนการที่ใหญ่โตพอที่จะท้าทายอำนาจรัฐ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a

ฝรั่งเศสพฤษภา 1968 ทุกอย่างเป็นไปได้! แต่การเมืองเป็นเรื่องชี้ขาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปีค.ศ. 1968 การประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศสเรื่องสภาพหอพักในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปารีส ลามไปสู่การต่อสู้ทั่วไปของนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลที่ติดอาวุธ นักศึกษาเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับกฏระเบียบและความคับแคบในสถาบันการศึกษาและในสังคมทั่วไป

2.-May

March

ในที่สุดรัฐบาลสั่งให้ตำรวจปราบจลาจล CRS ทุบตีนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ตำรวจปราบจลาจลจึงถูกเรียกว่าเป็นพวกนาซี ภายใต้คำขวัญ “CRS: SS!!”

altbfqyzbbby

มันกลายเป็นการท้าทายโครงสร้างอำนาจเก่าในสังคมภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา “เดอร์โกล” จนฝรั่งเศสอยู่ในภาวะ “ปฏิวัติ” เพราะในวันรุ่งขึ้น เมื่อนักสหภาพแรงงาน เห็นความรุนแรงของตำรวจ ก็ประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ 9 ล้านคน มีการยึดโรงงาน และขังฝ่ายบริหารเพื่อ “สอบสวน” ในโรงงานต่างๆ มีการเรียนแบบการยึดโรงงานจากยุคอดีตปี 1936 แต่ในปริมาณที่ใหญ่กว่า เช่นการยึดโรงงานผลิตเครื่องบิน “ซุด เอวิเอชอง” ในเมือง น่านท์ เป็นต้น ผู้บัญชาการตำรวจฝรั่งเศสถึงกับสารภาพว่า “เมื่อกรรมกรนัดหยุดงานทั่วไป มันอันตรายมากสำหรับรัฐบาล” การนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้นับว่าใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกตอนนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่นักวิชาการหอคอยงาช้างหลายคนเคยวิเคราะห์ว่าชนชั้นกรรมาชีพหมดสภาพ!!

e5df280fd4f47a93e653cf5ba9562dab
กรรมาชีพโรงงานรถยนต์เรโนนัดหยุดงาน

รัฐบาลฝ่ายขวาของ “เดอร์โกล” อัมพาตเป็นเวลาสองสัปดาห์ “เดอร์โกล” เองหนีไปอยู่ค่ายทหารฝรั่งเศสในเยอรมัน แต่แทนที่พรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานจะผลักดันการปฏิวัติไปข้างหน้า องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเบี่ยงเบนการต่อสู้จากเรื่องการเมืองไปเป็นเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าเท่านั้น ในที่สุดมีการทำสัญญากับรัฐบาลว่าจะขึ้นเงินเดือนคนงานและยุบรัฐสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลในการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ สรุปแล้วในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานกลัวการปฏิวัติและต้องการที่จะปกป้องระบบทุนนิยม

การลุกขึ้นสู้หรือยุติการต่อสู้ของกรรมาชีพ เป็นเรื่องชี้ขาดว่าการกบฏของนักศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

la-lutte-continue-paris-may-1968-street-poster-t-shirt-4

อย่างไรก็ตามการกลับมาของการต่อสู้ทางชนชั้น นำไปสู่การรื้อฟื้นความคิดมาร์คซิสต์ในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้กระแสการต่อสู้ มีผลในการเปลี่ยนวัฒนธรรม ดนตรี และค่านิยมต่างๆ และมีการกระตุ้นการต่อสู้ของกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกดขี่ในสังคมทั่วโลกอีกด้วย เช่นคนผิวดำ คนพื้นเมืองอเมริกา เกย์กะเทยทอมดี้ และสตรี

กระแสสู้ของนักศึกษาทั่วโลกไม่ได้ยุติหลังปี 1968 เพราะในปี 1970 มีการประท้วงของนักศึกษาสหรัฐทั่วประเทศ และมีการยึดมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ทหารยิงนักศึกษาตายที่มหาวิทยาลัย เคนท์ สเตด ขณะที่นักศึกษาประท้วงต่อต้านการขยายสงครามเวียดนามสู่กัมพูชา

ในประเทศไทยนักศึกษาเป็นหัวหอกในการล้มเผด็จการทหาร ถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในปีเดียวกันนักศึกษากรีซเริ่มออกมาสู้ โดยยึดวิทยาลัย โบลิเทคนิค กลางเมืองอาเทนส์ ซึ่งนำไปสู่การล้มเผด็จการทหารกรีซในที่สุด นอกจากนี้มีการเดินขบวนของนักศึกษาในอินโดนีเซีย และในเยอรมันตะวันตก

แต่หลัง 1968 ศูนย์กลางการต่อสู้ส่วนใหญ่ย้ายไปที่ขบวนการแรงงาน เช่นในอิตาลี่ปี 1969 หรือในสเปนบทบาทสำคัญของกรรมาชีพ ตั้งแต่ปี 1970 ทำให้เผด็จการ “ฟรังโก” อ่อนแอลง และในอังกฤษการนัดหยุดงานทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมถูกล้ม

ทั่วโลกชนชั้นปกครองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เอง แต่ต้องพึ่งพรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ และสภาแรงงานต่างๆ ซึ่งยอมร่วมมือเพื่อช่วยดับไฟของการปฏิวัติ โดยในหลายประเทศมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคฝ่ายขวา

ในลาตินอเมริกา มีการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาและแรงงานเช่นกัน ใน อาเจนทีนา มีการยึดเมือง คอร์โดบาและใน ชิลี มีการยึดที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่กระแสนี้ถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ใน อาเจนทีนา มีการรณรงค์ให้อดีตเผด็จการประชานิยม เพรอน กลับมาแก้สถานการณ์ แต่แก้ไม่ได้ และเมื่อ เพรอน เสียชีวิต ทหารฝ่ายขวาก็ทำรัฐประหารป่าเถื่อน โดยเข่นฆ่านักกิจกรรมฝ่ายซ้ายหลายหมื่นคน ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่ไทย

ใน ชิลี กระแสการต่อสู้นำไปสู่ชัยชนะของ ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ ผู้แทนพรรคสังคมนิยม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ฝ่ายขวา นายทุน ทหาร และสหรัฐอเมริกาไม่พอใจ และคอยหาทางล้มรัฐบาลด้วยการปิดกิจกรรมการขนส่ง และการพยายามทำรัฐประหาร ซึ่งในระยะแรกถูกคนงานรากหญ้าต้านสำเร็จผ่านการสร้าง “สภาคนงาน” (คอร์ดอนเนย์ Cordones) ในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คล้ายกับสภาคนงานในรัสเซียปี 1917 อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ชักชวนให้กรรมาชีพสลายการต่อสู้ เพื่อเอาใจทหารและฝ่ายขวา โดยหลงเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อได้ ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี แต่สามเดือนหลังจากนั้นในปี 1973 พิโนเช ยึดอำนาจ ฆ่าประธานาธิบดี และจับคุมเข่นฆ่านักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานหลายพันคน

ในขณะที่พรรคปฏิรูปและสภาแรงงานในยุโรปตะวันตกพยายามกล่อมขบวนการแรงงานให้หลับนอนและเลิกสู้ ฝ่ายขวาในลาตินอเมริกายุติการต่อสู้ของแรงงานผ่านการปราบปรามอย่างนองเลือด

มีที่หนึ่งที่ประกายไฟจาก 1968 ลุกเป็นเปลวอีกครั้ง คือในประเทศปอร์ตุเกส ซึ่งมีรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์มาเกือบห้าสิบปี ในกลางทศวรรษ 1970 ปอร์ตุเกสกำลังแพ้สงครามในอาณานิคมอัฟริกา และทหารระดับล่างไม่พอใจกับการต่อสู้ ดังนั้นในเดือนเมษายน 1974 มีรัฐประหารและนายพลฝ่ายขวาขึ้นมาแทนเผด็จการ “ไคทาโน” รัฐประหารนี้นำไปสู่การนัดหยุดงานตามโรงต่อเรือขนาดใหญ่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใต้ดินพรรคเดียวที่มีการจัดตั้งอย่างดี ก็พยายามตั้งตัวเป็นศูนย์กลางการเจรจาและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพฝ่ายขวา กับขบวนการแรงงาน แต่ทำไม่ได้ เริ่มมีกลุ่มทหารระดับล่างและคนงานฝ่ายซ้ายที่อยากไปไกลกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามองค์กร “ซีไอเอ” ของสหรัฐ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน และนายทหารปฏิรูปของปอร์ตุเกส สามารถเปลี่ยนทิศทางการปฏิวัติปอร์ตุเกสไปสู่ประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยมได้ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ทำอะไรเลย

บทสรุปสำคัญจากยุค 1968 คือต้องมีการสร้างพรรคปฏิวัติฝ่ายซ้ายใหม่ ที่ไม่ยอมประนีประนอมกับทุนและพร้อมจะสามัคคีพลังกรรมาชีพกับการตื่นตัวของนักศึกษาและคนหนุ่มสาว

ภารกิจการสร้างพรรคแบบนี้ยังเป็นภารกิจสำคัญของเราในยุคนี้

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a

อวสานขบวนการเสื้อแดง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเขียนบทความเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์” ในบทความนั้นผมเสนอว่า แทนที่เราจะมองว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ ขบวน ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์ มองว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ และหวังขยายพื้นที่เสรีภาพสำหรับคนชั้นล่าง แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขา มีหน้าตาแตกต่างกัน ในขณะที่เชื่อมกับลำตัวหลักข้ามยุคต่างๆ ตลอด

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง ไม่เคยคงที่และถาวร แขนหรือขาข้างหนึ่งอาจหมดสภาพไป หรือเมื่อทำหน้าที่เฉพาะหน้าไปแล้วก็เริ่มเสื่อม แต่ในไม่ช้า ตราบใดที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพหรือความเท่าเทียม แขนขาใหม่ก็งอกขึ้นมาแทนที่

เสื้อแดงกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนจากยุค ๑๔ ตุลาเชื่อมโยงกันแบบนี้ และไม่ว่าใครจะว่ายังไง “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ของนักศึกษาในปัจจุบัน ก็เชื่อมกับสองขบวนการข้างต้น ทั้งในแง่ประเพณี รูปแบบการต่อสู้ องค์ความรู้ที่สะสม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นคนที่ไม่อยากให้เสื้อแดงมาชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาใน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เป็นคนที่เข้าใจผิด ใจแคบ และค่อนข้างจะเกรงกลัวเสื้อแดงจนออกรสชาติอนุรักษ์นิยม แต่ถึงกระนั้นผมต้องบอกตรงๆ ว่า ขบวนการเสื้อแดงมันหมดสภาพไปแล้ว และสาเหตุหลักคือแกนนำตั้งใจแช่แข็งขบวนการเพื่อยอมจำนนต่อทหาร และการยอมจำนนครั้งนี้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองสายทักษิณ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสรุปว่า การที่เสื้อแดงก้าวหน้าไม่เคยสนใจอย่างจริงจังที่จะสร้างองค์กรเพื่อช่วงชิงการนำจาก นปช. ก็ทำให้มวลชนเสื้อแดงขาดการนำที่เป็นทางเลือก ในสภาพเช่นนี้เสื้อแดงธรรมดาจะขาดความมั่นใจในการออกมาชุมนุมและเกรงกลัวทหาร แต่อย่าลืมว่านักศึกษาไม่ได้กลัวทหารแบบนั้น ดังนั้นเราต้องหาทางร่วมกันข้ามพ้นความกลัว

ขบวนการเสื้อแดง ในลักษณะ “ขบวนการ” อาจถึงจุดอวสาน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าบุคคลที่เคยเป็นเสื้อแดงจะต้องหมดสภาพ เขาสามารถออกมาเคลื่อนไหวและร่วมสร้างรูปแบบใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาและคนที่ไม่เคยเคลื่อนไหวมาก่อน นั้นคือภาระสำคัญสำหรับยุคนี้ เพราะถ้าเราจะล้มเผด็จการ เราต้องอาศัยพลังมวลชนในที่สุด ประวัติศาสตร์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าแค่การออกมาในรูปแบบกลุ่มเล็กๆ เพื่อเคลื่อนไหวเชิงสัญญลักษณ์จะไม่พอในการล้มอำนาจเผด็จการ

คนที่ไม่อยากเห็นคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ จะเป็นคนที่ชอบพูดเรื่องนักศึกษาว่าเป็น “พลังบริสุทธิ์” ซึ่งก็คงหมายความว่าเสื้อแดงเป็นพลัง “เปรอะเปื้อน” เพราะเกี่ยวโยงกับทักษิณ ความคิดแบบนี้จะตั้งความหวังเพ้อฝันว่าพวกสลิ่มชนชั้นกลางอาจมาร่วมสนับสนุนนักศึกษาเพื่อล้มอำนาจทหาร ดังนั้นเขาอยากเห็นจุดยืนของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ที่ไม่พูดถึงการเมือง หรือถ้าพูดก็แค่ในลักษณะเบาๆ ที่สลิ่มยอมรับได้ ซึ่งหมายความว่าคงห้ามพูดถึง กฏหมาย 112 นักโทษการเมืองคนอื่นที่ไม่ใช่นักศึกษา การนำอาชญากรรัฐที่ฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล โดยเฉพาะทหาร หรือการลบผลพวงทั้งหมดของรัฐประหารสองรอบ สลิ่มจะคัดค้านการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อล้มเผด็จการทหารด้วย

ในช่วงนี้เราเห็นสลิ่มบางคนมามีบทบาทในการ “ช่วย” นักศึกษา แม้แต่ “อภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด” ก็ออกมาพูดเสือก เราต้องถามว่าเป้าหมายของพวกนี้คืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องกีดกันไม่ให้เขามีบทบาทนำในการกำหนดยุทธ์ศาสตร์สำหรับ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”

คนเสื้อแดงอาจเกี่ยวโยงกับทักษิณ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นแค่ลูกน้องของทักษิณที่สู้เพื่อทักษิณ คนเสื้อแดงซับซ้อนกว่านี้มาก และเหตุผลสำคัญในการต่อสู้ก็เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และการกู้ศักดิ์ศรีพลเมืองของตนเองที่ถูกกดทับมานานในสังคมชนชั้นด้วย

นักศึกษาอาจใส่เสื้อสีขาวตามเครื่องแบบนักศึกษา แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาปลอด “เชื้อโรคแห่งการเมือง” เขาเป็นผลของการเติบโตในสังคมที่มีวิกฤตทางการเมือง

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ สลิ่มและชนชั้นกลางส่วนใหญ่ เป็นศัตรูของประชาธิปไตย เป็นเพื่อนของทหารเผด็จการ ดูถูกพลเมืองส่วนใหญ่ และเคยเคลื่อนไหวเพื่อกวักมือเรียกทหารและทำลายการเลือกตั้ง พวกนี้อยู่คนละฝั่งกับเรา ถ้าเราพยายามประนีประนอมกับสลิ่ม โดยถอยออกห่างจากคนเสื้อแดง เป้าหมายของเราจะกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น

ท่ามกลางการเห่าหอนโกหกของเผด็จการประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ว่าพวกเรา “ไม่จำเป็น” ที่จะคัดค้านรัฐบาลทหารชุดนี้ “เพราะเขาต้องยึดอำนาจเพื่อระงับสงครามกลางเมือง” เราควรเตือนความจำกันบ้าง

ประยุทธ์และทหารเผด็จการอื่นร่วมกันก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเข้าข้างฝ่ายเผด็จการ พอมันต้องจัดการเลือกตั้งอีกเพื่อดูดี ฝ่ายทักษิณก็ชนะอีก มันเลยให้ศาลทำรัฐประหารตุลาการแล้วตั้งรัฐบาล อภิสิทธ์-สุเทพ ในค่ายทหาร ต่อมาเมื่อเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตย แก๊งประยุทธ์-อนุพงษ์-อภิสิทธ์-สุเทพ ก็จัดการฆ่าคนที่ไม่มีอาวุธในมือเก้าสิบราย หลังจากนั้นมันจำเป็นต้องยอมให้มีการเลือกตั้งอีก แล้วมันก็แพ้อีกทั้งๆ ที่ประยุทธ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยก่อนวันเลือกตั้งเป็นประจำ เมื่อปลายปีที่แล้วประยุทธ์ก็นั่งเฉยอมยิ้มปล่อยให้อันธพาลม็อบสุเทพก่อความรุนแรงและทำลายกระบวนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นข้ออ้างของประยุทธ์ในการก่อรัฐประหารฟังไม่ขึ้น ไม่ต่างจากข้ออ้างเหลวไหลของผู้ก่อรัฐประหารในอดีตทุกครั้ง

พรรคพวกของประยุทธ์มีแผนระยะยาวในการลดพื้นที่ประชาธิปไตย เขากำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยปลอม เพื่อให้ทหารและข้าราชการอนุรักษ์นิยมครองอำนาจต่อไปไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง และพวกสลิ่มชนชั้นกลางก็เห็นด้วยกับโครงการยุคมืดอันนี้

ความหวังสำหรับประชาธิปไตยคือ การสร้างขบวนการมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกอบไปด้วยคนที่เคยเป็นเสื้อแดง นักศึกษารุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวเลย

ฮ่องกง เผด็จการกับความเหลื่อมล้ำ

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักศึกษาฮ่องกงที่ออกมาประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ออกมาประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำและฐานะทางเศรษฐกิจด้วย เพราะทั้งๆ ที่จีนเคยประกาศว่าจีนกับฮ่องกงเป็น “ประเทศเดียว สองระบบ” แต่ในความเป็นจริงทุนนิยมจีนเริ่มเข้ามาครอบงำฮ่องกง และในขณะเดียวกันมีการพยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพตามรูปแบบเผด็จการจีน อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนและอินเตอร์เน็ดฮ่องกงยังมีเสรีภาพมากกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่

หลายคนมองว่า เหลียง ชุน หยิง ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง เป็นแค่ตัวแทนของจีนแผ่นดินใหญ่ และบริหารฮ่องกงเพื่อผลประโยชน์กลุ่มทุนจีนและนายทุนจีน

ล่าสุดมีข่าวอื้อฉาวว่า เหลียง ชุน หยิง กอบโกย 50 ล้านดอลล่าฮ่องกงเข้ากระเป๋าตนเองจากข้อตกลงกับบริษัทออสเตรเลีย

พลเมืองฮ่องกงจำนวนมากมองว่าในยุคปัจจุบัน คนที่จะพัฒนาอาชีพและชีวิตตนเองได้ ต้องมี “เส้น” คือมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะคนใหญ่คนโตในจีนแผ่นดินใหญ่ และทุกวันนี้ช่องทางสำหรับนักศึกษาที่จบออกมาเริ่มแคบลงทุกวัน เพราะต้องไปแข่งกับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่ได้เปรียบเพราะมีเส้น

ปัจจุบัน 1 ใน 5 ของพลเมืองฮ่องกง หรือ 1.3 ล้านคน อยู่ในระดับยากจน และตลอดเวลาเขาจะเห็นพวกเศรษฐีและลูกหลานแกนนำพรรคจีน ข้ามฝั่งมาซื้อของราคาแพงที่เขาเองซื้อไม่ได้ ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกว่าจีนกำลังเข้ามายึดครองเหมือนอาณานิคม

ราคาบ้านหรือคอนโดกลางฮ่องกงแพงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก สาเหตุหนึ่งก็มาจากการกวาดซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อหวังขายในราคาสูงขึ้นโดยเศรษฐีจากแผ่นดินใหญ่ ราคาบ้านโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายได้ต่อปีของคนธรรมดาถึง 14 เท่า และพลเมืองธรรมดาต้องอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ แออัด คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาที่อยู่ของตนเองได้ และต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่เป็นเวลานาน หลายคนต้องดูแลพ่อแม่หรือคนชราอีกด้วย เพราะระบบสวัสดิการบําเหน็จบํานาญแย่มาก

กลุ่มทุนใหญ่จากจีนตอนนี้คุมเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดหุ้น และบริษัทฮ่องกงกำลังถูกผลักออกไปเพราะแข่งไม่ไหว และสำหรับนักศึกษาฮ่องกง เขาพบว่าบริษัทใหญ่จากแผ่นดินใหญ่เลือกจ้างคนจากแผ่นดินใหญ่แทนคนฮ่องกง และบริษัทเหล่านี้นำผู้บริหารระดับสูงเข้ามาจากแผ่นดินใหญ่อีกด้วย

ขณะนี้พลเมืองฮ่องกงไม่มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าได้อย่างเสรี แต่คนรวยหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงมากกว่าพลเมือง 7 ล้านคน เขาสามารถปิดกั้นหรือวีโต้ความต้องการของประชาชนได้ อภิสิทธิ์ชนอีก 1 แสนคนมีสิทธิ์เลือกครึ่งหนึ่งของรัฐสภา

เผด็จการจีนแผ่นดินใหญ่บังคับให้นักเรียนฮ่องกงต้องเรียน “หลักสูตรรักชาติ” และในรอบ 14 ปีที่ผ่านมารายได้ของคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาลดลง 10-15%

การประท้วงที่นำโดยคนหนุ่มสาวฮ่องกง สามารถดึงคนวัยกลางเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก และมีผลในการจุดประกายการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาในไต้หวันอีกด้วย ส่วนในเวียดนาม ซึ่งเป็นเผด็จการ นักศึกษาหลายกลุ่มก็ออกมาประท้วงสนับสนุนชาวฮ่องกง

ถ้าการต่อสู้ของชาวฮ่องกงจะชนะ ในระยะยาวต้องมีการเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานให้ดีกว่าที่ผ่านมา และต้องมีการแพร่กระจายการต่อสู้ไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่ผ่านความสมานฉันท์ และถ้าขบวนการนี้สามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ ก็คงให้กำลังใจกับคนไทยที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย