ใจ อึ๊งภากรณ์
[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]
ทุกวันนี้ประเทศเวเนสเวลาประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประชาชนจำนวนมากเลี้ยงชีพไม่ได้และเดินทางออกนกอประเทศ ปีนี้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 1 ล้าน% และราคาสินค้าพื้นฐานสำหรับครอบครัวธรรมดาสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 17 เท่า ซึ่งทำให้มีการนัดหยุดงานประท้วงโดยลูกจ้างในโรงพยาบาล องค์กรไฟฟ้า มหาวิทยาลัย และองค์กรโทรศัพท์

แต่อย่าไปหวังว่าสื่อกระแสหลักหรือนักวิจารณ์ฝ่ายขวาแบบเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาดจะให้คำอธิบายได้ เพราะพวกนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากข้อมูลประวัติศาสตร์หรือการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะวิจารณ์บนพื้นฐานอคติที่ไร้สาระมากกว่า
ตัวอย่างที่ดีจากไทยคือ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ [ดู https://bit.ly/2LmKVUW ]
พิภพ ได้ข้อมูลส่วนใหญ่จากสื่อฝ่ายขวา แล้วเติมอคติตนเองเข้าไปด้วย เช่นการพูดลอยๆ ว่า เวเนสเวลาเป็น “สังคมนิยม” แล้วกระแนะกระแหนว่าในสวรรค์ของกรรมาชีพประชาชนจะอดอยาก มีการพูดดูถูกว่าอดีตคนขับรถเมล์ไม่สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ และนอกจากนี้มีการโจมตีการบริหารบริษัทน้ำมันโดยรัฐ โดยไม่มีการพิจารณาข้อมูลจริง
ในความจริงรัฐบาลที่นำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐ คือรัฐบาลฝ่ายขวาของ คาร์ลอส เพเรส ในปี 1976 ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะขึ้นมาเป็นผู้นำ และสิ่งที่ ชาเวส ทำกับบริษัทน้ำมันของรัฐในภายหลัง คือปลดผู้บริหารและผู้นำสหภาพแรงงานที่ร่วมมือกันขโมยรายได้ของบริษัทเข้ากระเป๋าตนเอง ผลคือรายได้ของบริษัทน้ำมันสามารถถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจนได้
ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับเวเนสเวลา ขอรายงานว่าใน “สวรรค์ของทุนนิยม” เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เงินเดือนเฉลี่ยของคนทำงานธรรมดาลดลง 15% ระหว่าง 1973-1995 และลดลงอีก 16% ระหว่าง 1990-2013 และในปีนี้ประชาชนสหรัฐ 40 ล้านคนมีรายได้ในระดับยากจน และในกลุ่มนี้ 18.5 ล้านคนถือว่า “ยากจนสุดขั้ว” นอกจากนี้ประชาชน 44 ล้านคนไม่มีหลักประกันสุขภาพเลย ซึ่งถือว่าแย่กว่าฐานะของประชาชนไทย และในโลกทุนนิยมเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาอยู่ในสภาพคาราคาซัง ไม่มีการฟื้นตัวอย่างจริงจังตั้งแต่วิกฤตทุนนิยมปี 2008
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาพย่ำแย่ของฐานะประชาชนในสหรัฐหรือยุโรป ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะมาใช้แก้ตัวให้กับรัฐบาลเวเนสเวลา ที่ปกครองประเทศที่ประสบวิกฤตอย่างหนัก
สาเหตุหลักของวิกฤตปัจจุบันในประเทศเวเนสเวลามีทั้งหมด 3 สาเหตุคือ
1) การลดลงของราคาน้ำมัน เพราะ 95% ของรายได้จากการส่งออกของเวเนสเวลา มาจากการขายน้ำมัน ระหว่างปี 2008 กับ 2017 ราคาน้ำมันลดจาก $140 ต่อถัง เหลือแค่ $38 ต่อถัง คือลดลง 73% และถึงแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึง $70ต่อถัง แต่นั้นก็แค่ 50% ของราคาเดิมในช่วง 2008
2) การคอร์รับชั่นในแวดวงรัฐบาลและในพรรคสังคมนิยม PSUV ซึ่งกลายเป็นโรคเรื้อรัง เพราะพรรค PSUV เป็นพรรคของข้าราชการในรูปแบบเดียวกับพรรคสายสตาลินในคิวบาหรือในอดีตโซเวียด มันไม่ใช่พรรคสังคมนิยมที่กรรมาชีพหรือพลเมืองธรรมดาควบคุมได้
3) การกักสินค้าและการแสวงหากำไรโดยนายทุนคนรวย ที่ร่วมมือกับข้าราชการพรรค PSUV และนายทหารชั้นสูงที่กลายเป็นเศรษฐี ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของเวเนสเวลา คือบทบาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของกองทัพ ซึ่งเข้ามามีส่วนในการควบคุมสังคมและเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย

สำหรับเรื่อง “สังคมนิยม” นั้น ทั้งๆ ที่ ฮูโก ชาเวส อดีตผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ ได้ประกาศว่าจะ “ปฏิวัติสังคมนิยม” แต่ในรูปธรรมการปฏิวัติดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น เพราะกรรมาชีพไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ รัฐทุนนิยมเดิมยังดำรงอยู่ ไม่มีการคุมปัจจัยการผลิตโดยกรรมาชีพ และมีการร่วมมือกับบริษัททุนข้ามชาติตลอดเวลา
ก่อนที่ ชาเวส จะป่วยตาย เขาเตือนว่าถ้าจะมีสังคมนิยมต้องมีการเปลี่ยนลักษณะของรัฐแบบถอนรากถอนโคน แต่มันไม่เกิดขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ ชาเวส คือโครงการต่างๆ ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณสุข และในขณะเดียวกันมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นมาโดยคนระดับล่าง เพื่อบริหารและปกป้องสิ่งเหล่านี้ และขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ได้ปกป้องรัฐบาล ชาเวส จากการพยายามทำรัฐประหารโดยฝ่ายค้านซึ่งเป็นพวกขวาจัดที่เกลียดชังคนจน ฝ่ายค้านนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “สลิ่ม” คนชั้นกลาง ที่มองว่าคนผิวคล้ำๆ ที่เป็นคนธรรมดาหรือคนจน ไม่ควรมีสิทธิทางการเมือง [ดู https://bit.ly/1UgAWyo ]

โครงการที่ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ในยุค ชาเวส อาศัยเงินจากการขายน้ำมัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ มันจึงเกิดวิกฤตสำหรับประชาชน แต่วิกฤตนี้ร้ายแรงกว่าที่จำเป็น เพราะรัฐบาลปัจจุบันของ นิโคลัส มาดูโร เลือกที่จะใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามสูตรทุนนิยมกลไกตลาด ในขณะที่ยังใช้เงินเพื่อทดแทนหนี้ต่างประเทศ และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุน การลดค่าเงินตราและการตัดโครงการช่วยคนจนของ มาดูโร ทำให้คนธรรมดาจนลงอย่างน่าใจหาย และบวกกับการนำเข้าสินค้าที่ลดลงก็ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ

การที่รัฐบาลของชาเวสอาศัยกำไรจากการขายน้ำมันในตลาดทุนนิยม เป็นการทำให้ประเทศพึ่งการส่งออกวัตถุดิบชนิดเดียวเท่านั้น มันไม่เป็นการแปลงเศรษฐกิจเป็นระบบสังคมนิยม เพราะไม่ได้มีการขยายการผลิตสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนต้องการผ่านการถือปัจจัยการผลิตร่วมกันของพลเมือง และไม่มีการยึดปัจจัยการผลิตจากนายทุนเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติ และมันทำให้มีการพึ่งพาตลาดโลกที่ไม่มีความแน่นอน และไม่เป็นการพัฒนาการผลิตที่หลากหลายภายในประเทศอีกด้วย
ฝ่ายค้านและสื่อกระแสหลักต่างประเทศไม่ได้เสนอทางออกที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะพวกนี้ไม่เคยสนใจประชาธิปไตยและความเสมอภาค มีแต่การเสนอให้ล้มรัฐบาลและนำนโนบายรัดเข็มขัดสุดขั้วเข้ามาใช้ เช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การขายรัฐวิสาหกิจ และการตัดสวัสดิการและค่าจ้าง
ทางออกที่จะเริ่มแก้ปัญหาคือการส่งเสริมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเพิ่มค่าจ้าง สกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายค้านยึดอำนาจ ลดบทบาททหาร และจัดการกับข้าราชการโกงกิน ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นของประชาชนชั้นล่าง เพราะนักสังคมนิยมในเวนเนสเวลาได้นิยามรัฐบาลปัจจุบันของ มาดูโร ว่าเป็น “เผด็จการที่กดขี่ประชาชน” ส่วนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อต้องอาศัยการหยุดจ่ายหนี้ต่างประเทศ และการนำกำไรจากการขายน้ำมันมาใช้เพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคนพร้อมๆ กับการควบคุมราคาต่างๆ และการพัฒนาการผลิตภายในประเทศให้หลากหลายมากขึ้น
แต่หลายคนมองว่ามันอาจสายเกินไปแล้ว เพราะทหารอาจทำรัฐประหารในไม่ช้า
อ่านเพิ่มภาษาอังกฤษ:
บทความของนักเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ และ Venezuela struggle and the left https://bit.ly/2Pyitmb video https://bit.ly/2o4j6Yi