ใจ อึ๊งภากรณ์
[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]
ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ
นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์
ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา] และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]
จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]
แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ
สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย
นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง
ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง