Tag Archives: นโยบายรัดเข็มขัด

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา”

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

 

0914e64d80be42c19bea83482cac7c3b_18
พรรคนายทุนชนะการเลือกตั้ง

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

 

SW-SUPPORT-GREECE-1067x600

 

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

 

a-yanis-17-tsipras-merkel

 

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

 

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

 

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

 

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

 

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

 

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

 

athensbudget1
พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซ

 

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

 

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

 

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

 

201229195147950734_20

 

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

ทำไมฝ่ายขวาฟาสซิสต์ในยุโรปเพิ่มคะแนนเสียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ข่าวล่าสุดจากการเลือกตั้งในสวีเดนเมื่อต้นเดือนกันยายนรายงานว่าพรรค “ประชาธิปัตย์สวีเดน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่มีต้นกำเนิดจากพวกนาซี สามารถเพิ่มคะแนนเสียง 4.7% เป็น 17.6% จนกลายเป็นพรรคอันดับที่สามของประเทศรองจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคสายกลาง

สื่อหลายแห่งและพรรคประชาธิปัตย์สวีเดนเอง อ้างว่าเป็นเพราะสวีเดนรับผู้ลี้ภัยมา “มากเกินไป” แต่สาเหตุสำคัญที่แท้จริง เป็นเพราะรัฐบาลจากพรรคกระแสหลักในอดีต ได้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเพื่อค่อยๆ ทำลายรัฐสวัสดิการผ่านการรัดเข็มขัดและการเพิ่มบทบาทของบริษัทเอกชน มีการตัดอัตราภาษีที่เก็บจากบริษัท กลุ่มทุน และคนรวยอีกด้วย

การตัดสวัสดิการและการกดค่าแรงในสวีเดน เริ่มตั้งแต่วิกฤตการเงินในกลางทศวรรษที่ 90 และมาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 ผลคือความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [ดู https://bit.ly/2p0LVFD ]

พรรคกึ่งฟาสซิสต์ของสวีเดนโฆษณาว่าประชาชน “ต้อง” เลือกระหว่างรัฐสวัสดิการและการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งเป็นคำโกหกเหยีดเชื้อชาติสีผิว และเป็นการสร้างแพะรับบาปในรูปแบบคนต่างชาติ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ซึ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ และคุณภาพของรัฐสวัสดิการเพิ่มได้ถ้ามีรัฐบาลที่พร้อมจะเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มทุนและคนรวย และพร้อมจะเลิกการใช้นโยบายเสรีนิยม

คะแนนเสียงของพรรคกระแสหลักสวีเดนลดลง ทั้งๆ ที่มีการลอกแบบจุดยืนบางอย่างที่คัดค้านผู้ลี้ภัยจากพรรคประชาธิปัตย์สวีเดน ในขณะเดียวกัน “พรรคซ้าย” ซึ่งเป็นพรรคอดีตคอมมิวนิสต์ สามารถเพิ่มคะแนนเสียงโดยไม่ยอมจำนนต่อนโยบายที่เหยียดเชื้อชาติ

ผลของการขยับไปทางขวาของพรรคกระแสหลัก นอกจากจะไม่ช่วยกู้คะแนนแล้ว ยังมีผลในการทำให้นโยบายของพวกฟาสซิสต์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาประชาชนบางคน คำพูดเหยียดเชื้อชาติของ ดอนัลด์ ทรัมป์ และเงินสนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปที่มาจากพรรคพวกของทรัมป์ในสหรัฐ ก็มีส่วนช่วยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนไม่ต่างจากปรากฏการณ์ในประเทศอื่นๆ ของยุโรป คือพรรคกึ่งฟาสซิสต์ ที่ประกอบไปด้วยแกนนำที่เป็นนาซี แต่สร้างภาพปลอมว่า “เคารพประชาธิปไตย” สามารถเพิ่มคะแนนเสียง พรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวาคะแนนลดลง ทั้งๆ ที่ขยับจุดยืนไปทางขวาและเริ่มโจมตีผู้ลี้ภัย จนจุดยืนของพวกฟาสซิสต์ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับในประชาชนหลายส่วนส่วน

skynews-germany-chemnitz-hitler_4403794
ฟาสซิสต์ในเมืองChemnitz

ในรัฐสภาเยอรมันตอนนี้มี สส. ที่เป็นนาซี และในเมือง Chemnitz เมื่อเดือนที่แล้ว หลังข่าวการแทงกัน มีการอาละวาดของอันธพาลนาซีที่เดินขบวนและทำร้ายคนสีผิวที่อยู่ในเมือง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกต่อต้านโดยมวลชนที่คัดค้านฟาสซิสต์

Chemnitz-assembly091118
ต้านฟาสซิสต์ที่ Chemnitz

รัฐบาลอิตาลี่ตอนนี้ประกอบไปด้วย “พรรคห้าดาว” และ พรรคLega ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และมีการกีดกันผู้ลี้ภัยที่กำลังจมน้ำในทะเลไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกันนั้นมีการส่งตำรวจไปปรามชาวโรมา (ยิปซี) และข่มขู่คนมุสลิมภายในประเทศ

_101876768_mediaitem101876767
Matteo Salvini ผู้นำพรรคกึ่งฟาสซิสต์ในอิตาลี่

รัฐบาลออสเตรียเป็นรัฐบาลพรรคแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยพรรคฟาสซิสต์ (ชื่อพรรคเสรีภาพ!)

ในเดนมาร์ครัฐบาลปัจจุบันอาศัยเสียงสนับสนุนจาก “พรรคประชาชนเดนมาร์ค” ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และผลคือประเทศเดนมาร์คใช้กฏหมายคนเข้าเมืองโหดที่สุดและกีดกันผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง

marine-le-pen-fn-really-may-day-paris
Le Pen ในฝรั่งเศส

ในฝรั่งเศส “พรรคแนวร่วมชาติ” ของ Marine Le Pen ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “รวมตัวกันเพื่อชาติ” เป็นพรรคนาซี และ นางLe Pen ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

jobbik
อันธพาลพรรค Jobbik ในฮังการี่

ในฮังการี่ พรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ใช้นโยบายเหยียดมุสลิมและผู้ลี้ภัยอย่างเปิดเผย และในรัฐสภาฮังการี่ยังมี พรรค Jobbik ซึ่งเป็นพรรคฟาสซิสต์อย่างเปิดเผยที่ได้ 19% ของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

ปัจจัยร่วมที่สำคัญซึ่งนำไปสู่สภาพแบบนี้ของการขึ้นมาของฝ่ายขวาสุดขั้วในยุโรปคือ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และการใช้นโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัด ที่กดค่าแรงและทำลายสวัสดิการ ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวา บวกกับการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและสร้างแพะรับบาปในรูปแบบผู้ลี้ภัยหรือคนมุสลิม

ในขณะเดียวกันเราไม่ควรมองข้ามการเพิ่มคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายบางพรรคที่ปฏิเสธนโยบายรัดเข็มขัดและการกีดกันผู้ลี้ภัย เช่นพรรคแรงงานอังกฤษของ Jeremy Corbyn  พรรคของ Jean-Luc Mélenchon ในฝรั่งเศส หรือพรรคซ้ายในเยอรมัน

วิธีที่จะคัดค้านกระแสเหยียดสีผิวและการขึ้นมาของฟาสซิสต์คือ ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างแนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวและฟาสซิสต์ เพื่อออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวของพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการสร้างแนวร่วมแบบนี้ในอังกฤษ เยอรมัน กรีซ และออสเตรีย สอง สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่คัดค้านนโยบายเสรีนิยมกับการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะในหมู่สหภาพแรงงาน

sutr080918_web
แนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวในอังกฤษ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2OcScsD , https://bit.ly/2x7iyWm