Tag Archives: บราซิล

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO

บราซิล เมื่อฝ่ายซ้ายหักหลังคนจน ฝ่ายขวามักฉวยโอกาส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ชัยชนะของ ชาอีร์ โบลโซนาโร นักการเมืองขวาจัดในประเทศบราซิล สร้างภัยให้กับนักประชาธิปไตย ฝ่ายซ้าย และประชาชนทั่วโลก

ภัยหลักสำหรับชาวโลกที่มาจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนก่อนคือ จะช่วยเสริมกระแสฝ่ายขวาสุดขั้วในประเทศอื่นๆ และจะมีผลต่อปัญหาโลกร้อน

โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองที่เหยียดสตรี เหยียดสีผิว เกลียดชังนักสหภาพแรงงานกับฝ่ายซ้าย ส่งเสริมนโยบายกลไกตลากเสรีสุดขั้ว และพร้อมจะใช้มาตรการเผด็จการที่รุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและคนรวย

bolsonaro-nao-nunca-jamais-logo-FFE4B3BC5C-seeklogo.com

ในเรื่องปัญหาโลก โบลโซนาโร พร้อมจะทำลายป่าอเมซอนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเกษตรโดยเฉพาะกิจกรรมผลิตเนื้อวัว และทุนเหมืองแร่ โดยที่มองว่าชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าต้อง “ปรับตัว” หรือตาย และการที่ป่าอเมซอนคือ “ปอดของโลก” ที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออคไซด์ออกจากบรรยากาศ แปลว่าการทำลายป่านี้จะมีผลต่อประชากรทั้งโลกอีกด้วย

โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองต่ำช้าที่เกลียดทุกอย่างที่ก้าวหน้า นอกจากการเกลียดชังสิทธิทางเพศทุกชนิด และการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงกับฝ่ายค้านแล้ว โบลโซนาโร ซึ่งเป็นอดีตนายทหาร มองว่าควรหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคเผด็จการทหารในอดีต เขามองว่าในยุคนั้นเผด็จการทหารไม่รุนแรงเพียงพอ

ระหว่างค.ศ. 1964 ถึง 1985 บราซิลตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร โดยที่รัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากสลิ่มชนชั้นกลาง กลุ่มทุน และพวกเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ไปลงคะแนนให้โบลโซนาโร ในยุคเผด็จการทหารมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ มีการปราบปรามพรรคการเมืองทุกพรรค ปราบปรามสหภาพแรงงาน และจับแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ทุกคนมาฆ่าทิ้ง

แต่หลังจากที่ทหารยึดอำนาจมาได้แค่ 6 ปีกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มก่อตัวจากขบวนการนักศึกษา นักสหภาพแรงงาน และฝ่ายซ้าย สิ่งที่กระตุ้นการเติบโตของขบวนการนี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิทธิมนุษยชน การเหยียดสีผิว การคอร์รับชั่น และความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจโดยรัฐบาลทหาร

ในปี 1978 คนงานในโรงเหล็กและในโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองเซาเปาโล ตัดสินใจนัดหยุดงานผิดกฏหมายจนได้รับชัยชนะ ผู้นำสำคัญของสหภาพแรงงานนี้คือ “ลูลา” และชัยชนะครั้งนี้นำไปสู่การก่อตั้งพรรคแรงงาน (PT) ในปี 1980 โดยที่พรรคนี้ประกอบไปด้วยนักสหภาพแรงงาน นักศึกษา และฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆ ที่เคยทำการต่อสู้ทั้งใต้ดินและเปิดเผย พรรคนี้เป็นพรรคอิสระของชนชั้นกรรมาชีพและภายในเวลาสิบปีมีสมาชิก 8 แสนคน ในเวลาเดียวกันพรรคแรงงานนี้สามารถดึงสภาแรงงาน CUT และองค์กรเกษตรกร MST มาเป็นแนวร่วมที่สำคัญ

ระหว่าง 1979 ถึง 1985 บราซิลค่อยๆ ปฏิรูปกลับมาเป็นประชาธิปไตยภายใต้แรงกดดันจากขบวนการมวลชนและการนัดหยุดงาน ในปี 1988 มีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ที่เพิ่มสิทธิเสรีภาพและกล่าวถึงรัฐสวัสดิการ

ลูลา ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคแรงงานสามครั้งในปี 1989 1994 และ 1998 แต่ไม่ชนะเพราะกระแสของฝ่ายขวาและกลุ่มทุนมีอิทธิพลสูง ความไม่สำเร็จในการเลือกตั้งตอนนั้น ประกอบกับการล่มสลายของระบบเผด็จการสตาลินในรัสเซียกับยุโรปตะวันออก ทำให้แกนนำพรรคแรงงานขยับไปทางขวา มีการเขี่ยนักสังคมนิยมออกจากตำแหน่งที่มีอิทธิพล และ ลูลา เลิกแต่งตัวเหมือนคนธรรมดาและหันมาใส่เสื้อสูทราคาแพง พร้อมกันนั้นมีการสร้างแนวร่วมกับพรรคน้ำเน่าเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นอาการของการละทิ้งการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ เพื่อให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งอย่างเดียว

lulada
ลูลา

ในปี 2002 ลูลา ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสองสมัย ในรอบแรกแนวร่วมของพรรคแรงงานเป็นแนวร่วมนรกที่ประกอบไปด้วยนายทุน เจ้าของที่ดินฝ่ายขวา คนจนในเมือง นักสหภาพแรงงาน กับชนชั้นกลาง และรัฐบาลพรรคแรงงานทั้งสองสมัยภายใต้ ลูลา ใช้นโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรีเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ดังนั้นมีการตัดเงินบำเหน็จบำนาญ เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัดภาษีให้กลุ่มทุน และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแค่เล็กน้อย นโยบายดังกล่าวได้รับคำชมจากองค์กรไอเอ็มเอฟ

ผลของนโยบายรัฐบาลพรรคแรงงานคือทำให้กรรมาชีพในสหภาพแรงงานเริ่มเบื่อหน่ายกับพรรค และพร้อมกันนั้นมีการสลายการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของสมาชิกพรรคกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันมีการนำโครงการช่วยคนจนในเมืองมาใช้ เพื่อสร้างฐานเสียง เงินที่ใช้ในการช่วยคนจนมาจากกำไรจากการส่งออกวัตถุดิบที่เริ่มบูมเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ในขณะเดียวกันยังใช้แนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดต่อไป

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตและราคาส่งออกของวัตถุดิบดิ่งลงเหวในยุคของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ จากพรรคแรงงาน มีการตัดโครงการต่างๆ ที่เคยช่วยคนจน และเกิดเรื่องอื้อฉาวคอร์รับชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวกับพรรคแรงงาน มันนำไปสู่ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาล เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016 และนักการเมืองฝ่ายขวาก็เข้ามาเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวจนถึงวันเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา

สาเหตุที่คนอย่าง โบลโซนาโร ชนะการเลือกตั้งก็เพราะพรรคแรงงานทำลายฐานเสียงตัวเองในสหภาพแรงงานและในหมู่คนจนในเมือง โดยการใช้นโยบายที่หักหลังและละทิ้งคนธรรมดา พร้อมกันนั้นการคอร์รับชั่นก็ทำให้คนชั้นกลางเกลียดชังพรรค

manifestação-ele-não-joinville-800x445

โบลโซนาโร เป็นภัยต่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพราะเขากำลังวางแผนใช้ทหารและตำรวจเพื่อสร้างรัฐบาลที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่าง แต่ขบวนการสหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศ ขบวนการนักศึกษา และขบวนการเกษตรกร ยังไม่ได้ถูกทำลาย และถ้าเรียนบทเรียนจากการล้มเผด็จการทหารรอบก่อน ก็จะสามารถเอาชนะ โบลโซนาโร ด้วยการต่อสู้นอกรัฐสภาได้

อ่านเพิ่ม เรื่องบราซิลกับลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

วิกฤตการเมืองบราซิลเปรียบเทียบกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ทั้งบราซิลกับไทยมีประวัติการตกภายใต้เผด็จการทหาร และมีวิกฤตการเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพวกอภิสิทธิ์ชนและสลิ่มชนชั้นกลาง จนในที่สุดเกิดรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

p18 argentina protest

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชนชั้นกลางใช้ประเด็น “การต่อต้านคอร์รับชั่น” เพื่อเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศ

นักวิชาการบราซิล Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais วิเคราะห์ว่าชนชั้นกลางชอบเล่นประเด็นเรื่องการคอร์รับชั่น เพราะมองว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่จริงเท่าไร แต่มันทำให้คนชั้นกลางมองว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์

brazil-45

ปัจจัยที่บวกเข้าไปสำหรับชนชั้นกลางคือ เขาจะมักจะไม่พอใจเมื่อรัฐบาลช่วยคนจนและแรงงาน

180908-004-2E0344EA
เดลมา รุสเซฟ

อย่างไรก็ตามการกล่าวหานักการเมืองว่าโกงกิน มักถูกใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นในกรณีไทย เช่นการที่ทหารชั้นสูงจะโกงแค่ไหนก็ได้ โดยที่สลิ่มชนชั้นกลางเงียบเฉย ในกรณีบราซิล กระแสต่อต้านการคอร์รับชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำหรับ ตุลาการ ตำรวจชั้นสูง และอัยการ ในการเลือกที่จะตั้งข้อกล่าวหากับพรรคแรงงานของ ประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และอดีตประธานาธิบดี ลูลา โดยที่ไม่มีการสอบสวนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคฝ่ายค้านเลยทั้งๆ ที่มีเรื่องอื้อฉาวติดตัวด้วย ในด้านหนึ่งการคอร์รับชั่นของนักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่ในกรณีผู้นำอย่างรุสเซฟหรือลูลา ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ แต่ในไม่ช้าข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รับชั่น ก็แปรไปเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการต่อต้านนโยบายช่วยคนจนของพรรคแรงงาน โดยมีการกล่าวหาว่า “ทำลายวินัยทางการคลัง” และข้อกล่าวหาหลังนี้เองที่ถูกใช้โดยฝ่ายตุลาการและวุฒิสภาบราซิลในการก่อรัฐประหารล้มประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ มันทำให้เรานึกถึงกรณียิ่งลักษณ์ในไทย

Luiz Inacio Lula da Silva, Dilma Rousseff
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ

ลึกๆ แล้ววัตถุประสงค์ของฝ่ายขวาอภิสิทธิ์ชนบราซิลในการล้มรัฐบาลพรรคแรงงาน คือความต้องการของพวกนี้ที่จะยกเลิกนโยบายที่ช่วยคนจนที่กระทำไปภายใต้นโยบาย “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) [รายละเอียดเรื่องนี้อ่านได้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา]  และเขาต้องการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิของคนจนและแรงงาน นอกจากนี้พวกนี้ต้องการเปิดประเทศเต็มที่และแปรรูปบริษัทน้ำมันของรัฐเพื่อขายให้ทุนข้ามชาติ นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของพวกนี้ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมเคยเสนอมานานว่าการทำรัฐประหาร๑๙กันยาและรัฐประหารของประยุทธ์ ส่วนหนึ่งกระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของทักษิณที่ช่วยคนจน โดยมีเป้าหมายที่จะนำนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วเข้ามาใช้ นโยบายดังกล่าวเป็นที่ชื่นชมของพรรคประชาธิปัตย์และทหาร และมันเอื้อประโยชน์ให้คนรวย [ดู https://bit.ly/2Na1TLa ]

จริงๆ แล้วนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย เพราะมันเน้นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ร่ำรวย และเน้นอำนาจของ “กลไกตลาด” ในขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน และกีดกันไม่ให้รัฐคุมเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่อีกด้วย ดังนั้นเราไม่ควรหลงเชื่อว่าเสรีนิยมสร้างประชาธิปไตย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แน่นอนบราซิลกับไทยไม่ได้เหมือนกัน 100% เพราะพรรคการเมืองของทักษิณไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป และพรรคแรงงานบราซิลไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนพรรคของทักษิณ

สำหรับทางออกในปัจจุบัน Alfredo Saad-Filho และ Lecio Morais เน้นว่าฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านคอร์รับชั่น แต่ไม่ใช่ไปเล่นเรื่องนี้จนฝ่ายขวานำมาใช้เป็นเครื่องมือเองได้ คือต้องมีการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และต้องต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนและคนรวยผูกขาดนโยบายของรัฐเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดปิดโอกาสสำหรับคนธรรมดาที่จะร่วมกันตรวจสอบการกอบโกยของนายทุน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการคอร์รับชั่นประเภทหนึ่ง

ที่สำคัญคือ การล้มเผด็จการทหาร และการผลักดันให้รัฐเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน มาจากกระแสการกดดันจากมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งในไทยและบราซิล เมื่อขบวนการดังกล่าวถูกหักหลังโดยรัฐบาลพรรคแรงงานในบราซิล หรือถูกแช่แข็งโดยพรรคของทักษิณ สังคมมีแนวโน้มจะถอยหลัง

วิกฤตเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศของลาตินอเมริกา เป็นปัญหาที่มาจากการพึ่งการส่งออกวัตถุดิบสู่ตลาดโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมอธิบายสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนสเวลา ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากการพึ่งการส่งออกของน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำลงอันเนื่องมาจากวิกฤคเศรษฐกิจโลกปี 2008 [ดู https://bit.ly/2Pvrjk0 ] แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ไหนเวเนสเวลา มันสร้างปัญหาให้กับอาเจนทีนา บราซิล และนิการากัวด้วย ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ถ้าเราย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปี นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายชาตินิยมซ้ายในประเทศกำลังพัฒนา มักจะชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในแถบ “ใต้” จะมีจุดอ่อนตรงที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบสู่ตลาดโลกที่ควบคุมโดยประเทศพัฒนาในแถบ “เหนือ” ซึ่งผลก็คือความด้อยพัฒนาของการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการที่รัฐบาลในประเทศทางใต้ขาดอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ

ทางออกของที่พวกชาตินิยมซ้ายเสนอ คือการปิดประเทศระดับหนึ่ง เพื่อควบคุมการลงทุนและการแข่งขัน และเพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้าของผลผลิตอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนา เป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ และลดการถูกควบคุมโดยบริษัทข้ามชาติ ผู้นำและนักเศรษฐศาสตร์ในคิวบา เวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา มีความพยายามที่จำนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ และมีนักวิชาการหลายคนที่เสนอการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทฤษฏีพึ่งพา”

ในไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมซ้ายที่เสนอนโยบายคล้ายๆ กัน [เช่น กมล กมลตระกูล (๒๕๔๐) “IMF นักบุญหรือคนบาป” ส.พ.มิ่งมิตร, พิทยา ว่องกุล (๒๕๔๐) บรรณาธิการ “คำประกาศอิสรภาพจาก IMF” ส.ก.ว. และมูลนิธิภูมิปัญญา,เศรษฐสยาม (๒๕๔๑) “สหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า” วิถีทรรศน์ชุดภูมิปัญญา 8]

ปัญหาคือการปิดประเทศเพื่อพัฒนาภายใน ภายใต้เงื่อนไขของทุนนิยมโลกในสมัยนี้ นำไปสู่การขาดการลงทุนและเทคโนโลจีสมัยใหม่ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีการยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของกรรมาชีพ ปฏิวัติล้มทุนนิยม สร้างรัฐสังคมนิยม เริ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และสร้างความสมานฉันท์กับประเทศอื่นๆที่ทำสิ่งเดียวกัน แต่แนวชาตินิยมซ้ายไม่ต้องการจะล้มระบบทุนนิยม เพราะทั้งๆที่อ้างความเป็นซ้าย แท้จริงแนวคิดหลักเป็นแนวชาตินิยมที่ตรงกับผลประโยชน์นายทุนชาติเท่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างชาติที่อิสระจากจักรวรรษนิยมเท่านั้น มันตรงกับสิ่งที่ลัทธิเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ เรียกว่าขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย”

และการบิดเบือนสังคมนิยมภายใต้เผด็จการแนวสตาลิน ที่ใช้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ทำให้การต่อสู้เพื่อสังคมนิยมมีอุปสรรคมากมาย [ดู https://bit.ly/2uOffCh ]

การล่มสลายของเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรัสเซีย กับยุโรปตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของจีน เวียดนาม และคิวบา มาจากปัญหาเดียวกันของการปิดประเทศโดยพวกชาตินิยมซ้าย [เรื่องคิวบาดู https://bit.ly/2N7HyGf ]

ผลของความล้มเหลวของแนวชาตินิยมซ้าย ทำให้รัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกา หันไปรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งแปลว่าต้องเปิดประเทศ รับการลงทุนและอิทธิพลจากบริษัทข้ามชาติ กดค่าแรงของประชาชน ขายรัฐวิสาหกิจ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และยกเลิกความพยายามของรัฐที่จะควบคุมเศรษฐกิจ คือยอมจำนนต่อตลาดโลกนั้นเอง แม้แต่อดีตนักวิชาการทฤษฏีพึ่งพาอย่าง เฟอร์นานโด เฮนริก คาร์โดโซ พอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล ก็หันไปใช้นโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว

ปัญหาหลักของนโยบายเสรีนิยมคือ ในทุกประเทศมันนำไปสู่การเพิ่มความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะมันเป็นนโยบายที่อิงผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นอกจากนี้มันหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ประเทศในลาตินอเมริกาต้องพึ่งพาการส่งออกของวัตถุดิบ เช่นน้ำมันในกรณีเวเนสเวลาและบราซิล น้ำตาลในกรณีคิวบา แร่ธาตุในกรณีบราซิล และผลิตผลเกษตรในกรณีอเจนทีนาและนิการากัว ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ในตลาดโลกขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขยายตัวแล้วเข้าสู่วิกฤตเป็นประจำ โดยที่วิกฤตทุนนิยมดังกล่าวมีต้นเหตุจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรตามที่มาร์คซ์เคยวิเคราะห์นานแล้ว [ดู  https://bit.ly/2HZwn0y ]

สำหรับเวเนสเวลา บราซิล และอาเจนทีนา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงและดึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัว

ในเวเนสเวลา กับ บราซิล มีการนำกำไรจากการส่งออกมาพัฒนาสถานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนระบบทุนนิยมแต่อย่างใด [ดูบทความสัปดาห์ที่แล้ว]

lulada

ในบราซิล รัฐบาลของประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงาน เลือกใช้นโยบายเสรีนิยมต่อไปจากรัฐบาลก่อนเพื่อเอาใจนายทุน แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียงจากคนจนและกรรมาชีพ ดังนั้นมีความพยายามที่จะนำทฤษฏีเศรษฐกิจ “เสรีนิยมพัฒนา” (Developmental Neo-Liberalism) มาใช้ หลักสำคัญคือการใช้รัฐเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนภายในประเทศภายใต้กลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนผ่านโครงการของรัฐ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากในบราซิล โดยรัฐบาลจงใจไม่แตะหรือลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย แต่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจนี้ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงในตลาดโลก ซึ่งแปลว่าทุกอย่างพังทะลายเมื่อทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 และมีการลดลงของราคาวัตถุดิบ สภาพเช่นนี้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง การตัดโครงการต่างๆ ที่ช่วยคนจน และการหายไปของเสียงสนับสนุนรัฐบาล ผลคือ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลฝ่ายขวาที่เข้ามาใหม่มีการหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่โจมตีสถานะของคนจนและกรรมาชีพ [ดู https://bit.ly/2NDhLmw ]

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในบราซิล และอดีตประธานาธิบดีลูลาจากพรรคแรงงานก็ลงสมัครอีกครั้ง แต่ตุลาการหาข้ออ้างเรื่องการคอรับชั่นมากีดกันไม่ให้เขาลงสมัคร ขณะนี้(ต้นเดือนกันยายน) โพล์ดูเหมือนจะเสนอว่าผู้สมัครฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่สนับสนุนเผด็จการทหารโหดร้ายกำลังนำ แต่เขาพึ่งถูกทำร้ายต้องเข้าโรงพยาบาล สรุปแล้วสถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลปั่นป่วนมาก

ในแง่หนึ่งเราควรจะเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยกับทฤษฏี “เสรีนิยมพัฒนา” เพราะไทยรักไทยพยายามฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการขยายกำไรของทุนเอกชนพร้อมกับความพยายามที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา คือใช้ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”แทนเสรีนิยมสุดขั้ว แต่มันมีข้อแตกต่างตรงที่ไทยไม่ได้พึ่งการส่งออกของวัตถุดิบแบบบราซิล และไทยรักไทยไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายซ้าย [ดู https://bit.ly/2PYRDnr ]

ในอาเจนทีนา เศรษฐกิจออกจากวิกฤตที่เกิดในปี 1998 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง 2001 กับ 2008 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดจากการส่งออกผลผลิตเกษตรที่ราคาสูงในตลาดโลก อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตในปี 2008 อาเจนทีนาก็เริ่มมีปัญหาอีก และในที่สุดรัฐบาลฝ่ายขวาของประธานาธิบดีแมครี ต้องไปกราบเท้าองค์กร ไอเอ็มเอฟ เมื่อไม่นานมานี้เอง

A woman holds a sign that reads "No to the IMF" during a protest outside the Congress in Buenos Aires
ประชาชนต้านไอเอ็มเอฟในอเจนทีนา

ในนิการากัว อดีตนักปฏิวัติพรรคซานดินิสตา ประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่มาจากการต่อต้านอย่างแรงจากประชาชน สาเหตุหลักของการต่อต้านครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การที่ประชาชนถูกยิงตายเกือบ 300 คน คือนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาราคาผลผลิตส่งออก ออร์เตกาเคยนำการปฏิวัติล้มเผด็จการโซโมซาในปี 1979 แต่การปลุกสงครามต่อต้านรัฐบาลใหม่ในยุคนั้นโดยสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจพังจนพรรคซานดินิสตาต้องแพ้การเลือกตั้งในปี 1990 ต่อมาในปี 2006 ออร์เตกาชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ใน16ปีที่ผ่านไปก่อนหน้านั้นเขาเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง คือสร้างความสัมพันธ์กับทุนภายในประเทศกับนักการเมืองคอร์รับชั่น และทำตัวเป็นเผด็จการหลังชนะการเลือกตั้ง อดีตนักปฏิวัติซานดินิสตาหลายคนจึงรับไม่ได้และตัดสินใจแยกทางกัน

image
ฝ่ายค้านประท้วงที่นิการากัว

สรุปแล้วสิ่งที่เราควรจะเข้าใจคือ วิกฤตการเมืองในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิกฤตที่เกิดจากนโยบายสังคมนิยมแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่มีการต่อต้านและล้มทุนนิยมรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นซ้ายไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตทุนนิยมที่เกิดเป็นประจำได้ และรัฐบาลฝ่ายขวาก็จะพยายามแก้วิกฤตเศรษฐกิจบนสันหลังประชาชนผู้ทำงานเสมอ

อนาคตการเมืองบราซิลหลังฟุตบอล์โลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลบราซิลเคยหวังว่าการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการจัดบอล์โลก จะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะถ้าทีมบราซิลชนะ และกระแสชาตินิยมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลพรรคกรรมกร (PT) และประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดงานแข่งบอล์โลก ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงค่าใช้จ่าย และประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณสุข จนประธานาธิบดี ดิลมา ต้องออกมาประกาศจัดประชามติเรื่องการปฏิรูประบบ และสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณการขนส่งและระบบสาธารณสุข และหลังจากความพ่ายแพ้ของทีมบราซิล ความไม่พอใจในรัฐบาลคงเพิ่มขึ้น

ถ้าเราจะเข้าใจกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในบราซิล เราต้องเข้าใจว่ามันมาจากสองขั้วทางการเมือง คือมาจากทางซ้ายและมาจากทางขวา

ฝ่ายขวาไม่พอใจรัฐบาลพรรคแรงงานมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของประธานาธิบดี “ลูลา” ในปี 2002 และฝ่ายขวามีอิทธิพลในสื่อมวลชน เพราะนายทุนสื่อมักจะต่อต้านรัฐบาล ในปัจจุบันพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลางบราซิล มักจะยกเรื่อง “การคอร์รับชั่น” มาจุดประกายการประท้วง ซึ่งการโกงกินในหมู่นักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่มันเป็นข้ออ้างง่ายๆ แบบนามธรรม ของฝ่ายขวาทั่วโลกเสมอ และมันไม่มีหลักประกันว่านักการเมืองฝ่ายค้านจะไม่โกงกิน

พรรคแรงงานบราซิลมีต้นกำเนิดในยุค 1970 สมัยที่ยังมีเผด็จการทหาร ในตอนต้นมีสมาชิก 8 แสน และเป็นแนวร่วมกับสภาแรงงาน CUT ที่มีสมาชิก 20 ล้าน ข้อเรียกร้องหลักตอนนั้นจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องปากท้อง โดยที่พรรคแรงงานถือว่าเป็นพรรคซ้ายก้าวหน้า

ขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดิน MST ก็เป็นแนวร่วมหลวมๆ แต่ 85% ของประชากรบราซิลอาศัยในเมือง ดังนั้นสหภาพแรงงานมีความสำคัญมากกว่าขบวนการเกษตรกร

หลังจากที่เผด็จทหารการหมดไปในช่วง 1980 พรรคแรงงานเริ่มเดินเข้ากรอบการเมืองกระแสหลัก และเสนอนโยบายแบบพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอ่อนๆ คือเลิกเป็นพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ในช่วง 1990 มีการยอมรับแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดตามกระแสทั่วโลก มีการโจมตีฝ่ายซ้ายภายในพรรค และเน้นเอาใจชนชั้นกลาง

ในปี 2002 “ลูลา” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหล็ก เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืด ไปเป็นการใส่สูท เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักการเมืองในกรอบ และลูลาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้การหาเสียงว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด

พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และในขณะที่เอาใจนายทุนใหญ่ และเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนมั่งมี ก็มีการกระจายรายได้ไปสู่คนจนบ้าง มีการจัดสวัสดิการและเพิ่มค่าแรงด้วย นอกจากนี้มีการขยายมหาวิทยาลัยให้ลูกคนจนเข้าเรียน แต่ในรูปธรรมรัฐบาลจัดงบประมาณไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพและคนจนต้องจ่ายค่าเรียนด้วย ในยุคนี้ฐานะของสตรีและคนผิวดำก็ดีขึ้นบ้าง

การกระตุ้นพลังซื้อของคนชั้นล่าง เป็นวิธีที่รัฐบาลจะเอาใจนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศ และเป็นการช่วยคนจนด้วยพร้อมๆ กัน

ในช่วงหลังๆ ฐานเสียงของพรรคมักจะเป็นคนจนกับคนหนุ่มสาว ส่วนคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร

หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 บราซิลได้ผลกระทบมากพอสมควร ความหวังของคนชั้นล่างที่จะเห็นการพัฒนาของชีวิตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจางหายไป และคนชั้นกลางก็ไม่พอใจอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญคือ ในเมื่อพรรคหรือองค์กรของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเล็กและอ่อนแอ ฝ่ายซ้ายไม่สามารถจะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานในลักษณะที่คนจำนวนมากจะเชื่อถือได้ ฝ่ายขวาและชนชั้นกลางจึงมีอิทธิพลในหมู่คนที่ไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายซ้ายจะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนายทุนเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ฝ่ายซ้ายจะต้องชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคแรงงาน จะต้องกล้าวิจารณ์พรรคแรงงาน และต้องขยันสร้างแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในสภาแรงงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานสำหรับคนส่วนใหญ่