ใจ อึ๊งภากรณ์
การที่เครือข่ายเพื่อปกป้องบัตรทองและหลักประกันสุขภาพ ออกมาคัดค้านวิธีการปรับแก้กฏหมายว่าด้วยบัตรทองนั้น เป็นเรื่องดี เพราะเราต้องช่วยกันปกป้องหลักประกันสุขภาพจากการที่จะถูกทำลายโดยเผด็จการทหาร แต่มันมีเรื่องที่เราควรเข้าใจมากกว่านั้น
ประเด็นใหญ่คือรัฐบาลและสภาโจรที่มาจากการทำรัฐประหาร ไม่มีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะแก้ไขกฏหมายอะไรเลย รวมถึงกฏหมายที่เกี่ยวกับสุขภาพของพลเมือง นอกจากนี้พลเมืองทุกคนควรจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ในการกำหนดอนาคตของหลักประกันสุขภาพ และในการร่วมบริหารระบบสาธารณสุขอีกด้วย
ส่วนการที่ไอ้ไก่อู ปากหมาของเผด็จการ ออกมาพูดว่า “มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง” นั้น ก็แน่นอนละ เรื่องสาธารณสุขมันเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และในกรณีนี้เป็นเรื่องการเมืองทหารเผด็จการ ที่เผชิญหน้ากับการเมืองประชาธิปไตยของพลเมือง
แต่บางครั้งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องหลักประกันสุขภาพ จะ “ลืม” ว่าเรามีรัฐบาลเผด็จการ ยิ่งกว่านั้นบางกลุ่มเคยสนับสนุนการทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในยุคนี้ ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการเลือกสนใจประเด็นการเมืองแบบแยกส่วน ทำให้การปกป้องหลักประกันสุขภาพทำได้ยากขึ้น พูดง่ายๆ ถ้าเราจะปกป้องระบบบัตรทอง และทำให้มันดีขึ้น เราต้องร่วมกันขับไล่เผด็จการทหารด้วย ซึ่งรวมไปถึงการวิจารณ์ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารออกแบบมาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
การที่องค์กรเอ็นจีโอและองค์กรที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” มองปัญหาแยกส่วนมาตลอด ทำให้เขาไม่สนใจกระบวนการประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะเขาอ้างตัวว่าเป็น “ภาคประชาชน” แต่ไม่มีการเลือกตั้งภายในองค์กรแต่อย่างใด และไม่มีการพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะเป็น “ตัวแทน” ของพลเมืองจำนวนมากอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ไม่มีคนอื่นเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ การที่เขาออกมาก็ดีกว่าไม่ทำอะไร
แต่การไม่สนใจระบบ “ประชาธิปไตยแบบผู้แทน” ของพวกนี้ แปลว่าเขาจะมองข้ามวิธีที่จะบริหารการบริการสังคมที่มีการมีส่วนร่วมจริงๆ เพราะถ้าระบบสาธารณสุข หรือระบบการศึกษาจะมีการบริหารแบบประชาธิปไตย นอกจากเราจะต้องมีรัฐบาลและรัฐมนตรีสาธารณสุขและการศึกษาที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีแล้ว ในระดับจังหวัดและชุมชน พลเมืองจะต้องมีสิทธิ์เลือกผู้แทนเข้าไปบริหารโรงพยาบาลและโรงเรียนอีกด้วย ที่สำคัญคือกระบวนการประชาธิปไตยแบบนี้ที่เน้นการเลือกตั้ง ต่างโดยสิ้นเชิงกับการที่องค์กร “ภาคประชาชน” จะเสนอตัวเองเข้าไปมีส่วนในการบริหารโดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
การที่องค์กรเอ็นจีโอและ “ภาคประชาชน” มองปัญหาแบบแยกส่วนและภูมิใจที่จะไม่สนใจทฤษฏีเศรษฐกิจหรือการเมืองแต่อย่างใด แปลว่ามีการรับแนวคิดการบริหารระบบสาธารณสุขของนายทุนมาเต็มๆ แนวคิดนี้ที่เรียกว่าแนวคิด “กลไกตลาดเสรี” จะพยายามนำระบบตลาดเข้ามาในการบริการสาธารณะ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเสนอว่า “ต้อง” มีการแยกฝ่ายที่รับบริการออกจากฝ่ายที่ให้การบริการ ซึ่งในภาษาเศรษฐกิจเรียกว่าการแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้ขายบริการ (Purchaser-Provider Separation) พูดง่ายๆ แนวคิดนี้มองว่ากระทรวงสาธารณสุขและสาขาย่อยในท้องถิ่นต่างๆ ของกระทรวง ไม่ควรคุมทั้งโรงพยาบาลและระบบบัตรทอง
ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือคำพูดของ ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ป่วย ที่เสนอว่าเอกชนควรมีส่วนร่วมในการบริการสาธารณสุข [ดู http://bit.ly/2sE0FxA ] อันนี้เป็นความคิดแปรรูป Privatisation ซึ่งนักการเมืองและนักวิชาการฝ่ายขวาทั่วโลกนิยมกัน มันตรงข้ามกับผลประโยชน์คนจนหรือคนธรรมดา มันเข้ากับแนวคิดพวกสลิ่มที่เกลียดชังการบริการประชาชนโดยรัฐ มันสนับสนุนให้กลุ่มทุนเข้ามาได้ประโยชน์จากคนไข้ ผ่านเงินภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชน โดยที่เอกชนจะเลือกให้บริการที่สร้างกำไรเท่านั้น และปล่อยให้รัฐแบกภาระกับการบริการอื่นๆ
ระบบสาธารณสุขไม่ควรจะเป็นเรื่องซื้อขาย ไม่ควรจะเป็นแหล่งกำไรให้กลุ่มทุน มันควรจะเป็นสิทธิถ้วนหน้าของพลเมือง
ตั้งแต่ระบบ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคถูกนำมาใช้ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย มันเป็นระบบที่มี “ตลาดภายใน” มาตั้งแต่แรก คือกองทุนบัตรทองจะ “ซื้อ” บริการจากโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่แสวงหากำไร แทนที่จะนำโรงพยาบาลทุกแห่งมาเป็นของรัฐ แนวคิดนี้ลอกแบบมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายขวาในตะวันตก หรือที่เรียกกันว่าแนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาด มันเอื้อกับการที่บริษัทเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในระบบสาธารณสุขเพื่อหวังกำไร มันเอื้อกับการนำเข้าระบบคิดค่ารักษาพยาบาล ที่เขาเรียกกันว่าระบบ “ร่วมจ่าย” เพื่อให้ดูดี แต่มันเป็นระบบที่หมุนนาฬิกากลับจากการบริการถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีเท่านั้น มันเอื้อกับการสร้างระบบสาธารณสุขที่มีความแตกต่างกันสำหรับคนจนและคนรวย
แต่ในไทยผู้ที่อ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ” จะไม่กล้าบอกตรงๆว่าเขาสังกัดแนวคิดแบบกลไกตลาดเสรีนิยม หรือแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย มันมีการสร้างภาพโกหกว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์มีแนวเดียว คือแนวของฝ่ายขวา
ระบบสาธารณสุขที่ไม่มีตลาดภายใน เป็นระบบตามแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย อย่างเช่นระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษตอนเริ่มแรก ก่อนที่รัฐบาลแทชเชอร์จะทำลายมัน ผู้บริหารโรงพยาบาล และหมอประจำครอบครัว จะคาดการว่าถ้าจะบริการประชาชนในพื้นที่ได้เต็มที่ จะต้องมีงบประมาณเท่าไร และจะมีการปรับตามความเป็นจริงเสมอ โรงพยาบาลต่างๆ และหมอประจำครอบครัว จะอยู่ภายใต้กรรมการสาธารณสุขท้องถิ่นที่มีผู้แทนจากการเลือกตั้ง และผู้แทนจากรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขจะคำนวนงบประมาณที่ส่วนต่างๆ ควรจะได้ทั่วประเทศ มันไม่มีการซื้อขายบริการแต่อย่างใด มีแต่การเน้นความต้องการของประชาชนเท่านั้น
การนำกลไกตลาดเข้ามา มีผลในการจ้างนักบัญชีและผู้บริหารจำนวนมาก แทนที่จะใช้เงินตรงนั้นเพื่อจ้างหมอและพยาบาลหรือซื้อยาที่จำเป็น มันมีผลทำให้บริษัทเอกชนเข้ามาแสวงหากำไร และมันมีผลในการชู “เงิน” และ “ตลาด” เหนือความต้องการแท้จริงของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะจนหรือรวย และพวกที่สนับสนุนแนวคิดฝ่ายขวาแบนี้มักจะดูถูกประชาชนว่าไปหาหมอหรือเข้าโรงพยาบาลมากเกินความจำเป็น
มันเป็นเรื่องดีที่องค์กรภาคประชาชนคัดค้านระบบร่วมจ่าย แต่เขาควรจะไปไกลกว่านั้น เพื่อรณรงค์ให้มีประชาธิปไตยและการบริการที่ไม่อิงกลไกตลาด ในระบบสาธารณสุขไทย
อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2rOzlLy (โดยเฉพาะหน้า 18)