Tag Archives: ปฎิวัติ๒๔๗๕

ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทสังคมไทยประโยคนี้เป็นประโยคที่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะทหารและพวกอภิสิทธิ์ชนกับนายทุนใช้สถาบันกษัตริย์ในการเบี่ยงเบนประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

ในประเทศตะวันตกการมีสถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อเน้น “ธรรมชาติ” ของระบบชนชั้นที่กดทับประชาชน แต่การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยโดยชนชั้นกรรมาชีพทำให้ชนชั้นปกครองในตะวันตกไม่สามารถทำให้กษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตยเหมือนในไทย

สถาบันกษัตริย์ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้นสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ในไทยหรือในโลก ตรงกันข้ามมันเป็นปรสิตใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อการเสพสุขของบุคคลที่ไม่เคยทำงาน ยิ่งกว่านั้นในไทยมันเป็นเครื่องมือราคาแพงเพื่อข่มพลเมืองให้เกรงกลัวการต่อต้านเผด็จการ อภิสิทธิ์ชน หรือนายทุน เพราะกลุ่มคนที่ปกครองเราโดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งที่แท้จริง เช่นรัฐบาลปัจจุบัน หรือนายทุน มักจะต้องเกาะติดกับสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองในการใช้อำนาจ

2019-05-04T072632Z-948315276-RC1EE0951570-RTRMADP-3-THAILAND-KING-CORONATION

ที่ตลกร้ายคือการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ผ่านสายเลือด ทำให้ไทยมีประมุขปัญญาอ่อนโหดร้ายอย่างวชิราลงกรณ์ และชนชั้นปกครองเรามักชักชวนให้เรากราบไหว้ตัวปัญญาอ่อนนี้ในขณะที่พวกเขาเองเอบดูถูกสมเพศวชิราลงกรณ์ลับหลังเรา

จริงๆ แล้วราชวงศ์อังกฤษและในยุโรปก็มีตัวเหี้ยๆ พอๆ กับของไทย โดยเฉพาะสามีและลูกชายของราชินีอังกฤษ แต่สังคมด่าเขาได้

ใครๆ รู้ว่าวชิราลงกรณ์เป็นคนที่ไม่สมควรที่จะมีบทบาทอะไรในลักษณะการเป็นประมุข การเชิดชูส่งเสริมวชิราลงกรณ์ว่าเป็น “อัจฉริยะมนุษย์” อย่างที่ชนชั้นนำเคยทำในกรณีนายภูมิพล ทำไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตามชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหารคลั่งเจ้าที่เป็นฝ่ายขวาตกขอบ กำลังพยายามทำให้ความจงรักภักดีต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเครื่องมือบังคับให้เราก้มหัวให้ทหารเผด็จการ เหมือนที่เขาใช้ลัทธิชาตินิยมและมักกล่าวหาคนที่รักประชาธิปไตยว่าเป็นพวก “ชังชาติ” การพยายามทำลายพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวอย่างที่ดี

สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งเดียวกับบุคคลที่เป็นกษัตริย์ แต่ในเวลาเดียวกันมันผูกพันกันอย่างใกล้ชิด เรื่องนี้อาจสร้างปัญญาให้กับทหารคลั่งเจ้าขวาตกขอบ เพราะเนื่องจากเขากลัวการล้มอำนาจทหารโดยประชาชน เขากำลังพยายามส่งเสริมฐานะของสถาบันกษัตริย์ในลักษณะของสถาบัน ในขณะที่เขาอยากให้เราลืมความเลวทรามของวชิราลงกรณ์ มันมีความขัดแย้งในตัว

img_20200127_184610_1-696x511

49449713792_049f54baa7_b

ความพยายามใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเครื่องมือบังคับให้เราก้มหัวให้ทหารเผด็จการ เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการพยายามลบประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ด้วยการรื้อถอนอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ๒๔๗๕

วิธีที่จะสู้กับแนวทางของพวกทหารคลั่งเจ้าขวาตกขอบ และทหารเผด็จการทั่วไป คือการปกป้องรักษาประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ในไทยรวมถึง ๒๔๗๕ และการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เรื่องอนุสาวรีย์อาจเป็นเรื่องรอง ถ้าเรารักษาประวัติศาสตร์ของฝ่ายเราได้ แต่เราก็ต้องพยายามต่อต้านการรื้อทิ้งอนุสาวรีย์อย่างหลักสี่หรือหมุดคณะราษฎร

การรักษาประวัติศาสตร์ของฝ่ายเราทำได้ด้วยประสิทธิภาพ ถ้าเราสร้างพรรคการเมืองของคนชั้นล่างและกรรมาชีพที่เน้นการศึกษาทางการเมือง อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเคยทำ เพราะถ้าแค่รักษาประวัติศาสตร์ในแวดวงมหาวิทยาลัยมันจะไม่แพรากระจายสู่คนธรรมดา

Against Dictatorship

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการสร้างขบวนการมวลชนเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและไล่ทหารออกจากระบบการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับกรรมาชีพมากกว่าชนชั้นกลาง และถึงแม้ว่าในสังคมเปิดกว้างคนส่วนใหญ่ไม่สามารถแสดงจุดยืนสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐได้ แต่เราควรพูดถึงเรื่องนี้ในวงเล็กๆ เสมอ และที่สำคัญคือต้องรณรงค์ต่อต้านการใช้กฏหมาย112 หรือต่อต้านการพยายามใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเครื่องวัด “ความเป็นไทย” นอกจากนี้เราไม่ควรรีบไปแสดงความจงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์ถ้าไม่จำเป็น เราต้องพยายามรักษาจุดยืนประชาธิปไตยในสถานการณ์ลำบาก

เราต้องพยายามพูดในที่สาธารณะว่าระบอบประชาธิปไตยมีหลานรูปแบบที่มีความชอบธรรม และทหาร ศาล หรือรัฐบาลปัจจุบัน ไม่มีความชอบธรรมในการผูกขาดว่าเราควรใช้ระบอบไหน

 

๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์? เก็บตกจากข้อถกเถียงที่เยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ มีการจัดเสวนาที่เมืองโคโลน ประเทศเยอรมัน ในหัวข้อ “๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์?” ….จึงมาเล่าสู่กันฟัง และในตอนท้ายจะกล่าวถึงข้อถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์

ผมเปิดประเด็นด้วยการเล่าว่า อารัมภบทของรัฐธรรมนูญมีชัย โกหกว่ารัชกาลที่ ๗ “ยกประชาธิปไตยให้ประชาชน” ในความเป็นจริงกษัตริย์คนนี้ต้องถูกโค่นด้วยการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ “รัฐประหาร” อย่างที่พวกอนุรักษ์นิยมอ้าง แต่เป็นการปฏิวัติสังคมที่ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากประชาชนไทยจำนวนมาก

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “ยังไม่สำเร็จ” มันไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ไม่ใช่เพราะไม่สามารถล้มระบบศักดินาหรือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบศักดินาถูกทำลายโดยรัชกาลที่๕ และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และหลังจากกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ซึ่งถูกปราบโดยคณะราษฎร ฝ่ายเจ้าเลิกฝันถึงการคืนสู่อำนาจ

กษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ร่ำรวย และเสพสุขบนหลังประชาชนก็จริง มีคนเชิดชูและหมอบคลานเข้าหาก็จริง แต่กษัตริย์คนนี้ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารและชนชั้นนำอื่นๆ เช่นนักการเมืองนายทุน ฯลฯ การเชิดชูกษัตริย์แบบบ้าคลั่งที่เกิดขึ้น กระทำไปเพื่อให้ความชอบธรรมกับการกระทำของทหารและชนชั้นนำคนอื่นเท่านั้น

รัชกาลที่ ๑๐ ยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อของเขา และไม่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมไทยเลย วชิราลงกรณ์ ต้องการเสพสุขที่เยอรมันอย่างเดียว ที่ขอแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อควบคุมเรื่องส่วนตัวในวังเท่านั้น

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ยังไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตย สาเหตุสำคัญมาจากการที่อาจารย์ปรีดี ผู้ก่อตั้งคณะราษฏร์ ไม่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคการเมืองของมวลชน และไปพึ่งอำนาจทหารมากเกินไปในการปฏิวัติ นี่คือที่มาของอำนาจทหารในระบบการเมืองไทย ในภายหลังเมื่ออาจารย์ปรีดีมาทบทวนความผิดพลาด เขาเคยเขียนว่าในยุคที่เขามีอำนาจ เขาไม่ค่อยเข้าใจการเมืองอย่างเพียงพอ แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาเสียอำนาจไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ชิงสุกก่อนห่าม” แต่อย่างใด ในยุคนั้นและยุคนี้ประชาชนไทยต้องการและพร้อมที่จะมีประชาธิปไตย

ผู้ที่ทำให้เป้าหมายการสร้างประชาธิปไตยหลัง ๒๔๗๕ ไม่ประสบผลสำเร็จ คือทหารเป็นหลัก และบ่อยครั้งทหารที่ก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากนายทุนและพวกสลิ่มชนชั้นกลางอีกด้วย

ถ้าตอนนี้เราอยู่ในยุค “สู่อำนาจสมบูรณ์” มันไม่ใช่อำนาจสมบูรณ์ของกษัตริย์ แต่เป็นการสร้าง “อำนาจสมบูรณ์” ของทหารต่างหาก ซึ่งดูได้จากรัฐธรรมนูญทหาร และการใช้มาตรา 44 ในเรื่องการเมืองและสังคมแบบนี้ นายวชิราลงกรณ์ไม่เคยแสดงความเห็นหรือความสนใจแม้แต่นิดเดียว

อำนาจของทหารที่เผด็จการประยุทธ์ต้องการจะแช่แข็งและสืบทอดไปเรื่อยๆ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญดังนี้

  1. มีการคงไว้บทบาทและยืดวาระการทำงานของคณะทหารเผด็จการ คสช. ออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ในหมวดที่ 6 “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิด ถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ”
  2. มาตรา 5 และ 272 ให้อำนาจกับพวกเผด็จการในการเลือกนายกที่ไม่ใช่สส.
  3. เผด็จการทหารมีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาทั้ง200คน, กกต., และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกกต.มีอำนาจในการสั่งเปลี่ยนนโยบายของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดของทหารอนุรักษ์นิยม
  4. ระบบการเลือกตั้งและจัดจำนวนสส. ให้ประโยชน์กับพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์
  5. มีการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ที่พวกสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยม”
  6. การแก้รัฐธรรมนูญฉบับทหารอันนี้ ถ้ายึดตามกติกาของผู้ร่าง เกือบจะไม่มีโอกาสแก้ได้เลย แต่พวกทหารเผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่ประชาชนมีส่วนในการร่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
  7. ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้วจะเห็นว่ามีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  8. มีการทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข พูดง่ายๆ มีการเสนอนโยบายที่ทำลายระบบบัตรทอง หรือที่เคยเรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”
  9. ในเรื่องการศึกษา มีการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

ดังนั้นประเทศของเรากำลังเดินถอยหลังไปสู่ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ตีนทหาร

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศสอนให้เรารู้ว่าถ้าประชาชนจะปลดแอกตนเองจากเผด็จการ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่รักประชาธิปไตยพร้อมกับการสร้างพรรคมวลชนของคนธรรมดา เช่นกรรมาชีพกับเกษตรกรรายย่อย ไม่มีผู้ใหญ่ที่ไหนที่จะยกสิทธิเสรีภาพให้เรา แต่ในขณะนี้แกนนำเสื้อแดงและทักษิณได้แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพไปแล้ว ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นใหม่ในการสร้างขบวนการประชาธิปไตย

ประเด็นถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ในงานเสวนานี้

เพื่อความยุติธรรมต่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ กรุณาไปค้นโดยตรงว่าเจ้าตัวทั้งสองมีความเห็นอย่างไรครับ…

  1. เรื่อง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพล ผมเสนอมาตลอดว่ากษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจสั่งการอะไรและเป็นแค่เครื่องมือของทหาร ยิ่งกว่านั้นกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนที่ไม่มีความกล้าที่จะพูดหรือเสนออะไรเอง มักคล้อยตามกระแสผู้มีอำนาจจริงเช่นทหารเสมอ [ดู http://bit.ly/2s0KHd4 ]ตรงนั้นหลายคนเริ่มเห็นด้วยมากขึ้น ส่วน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าต้องมอง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพลในลักษณะที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการใคร และไม่ใช่อำนาจที่จับต้องได้ แต่เป็นอำนาจในลักษณะลัทธิความคิดที่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ผมมองว่าการพูดแบบนี้มันนามธรรมและเป็นการพูดลอยๆ พิสูจน์อะไรไม่ได้ จับต้องไม่ได้ และในที่สุดไม่มีความหมายเลย ผมนิยามว่าเป็นทฤษฏี “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ที่ติดดินและจับต้องได้ ผมมองว่าสมศักดิ์ เสนอความคิดแบบนี้เพราะไม่สามารถให้ตัวอย่างอำนาจกษัตริย์ภูมิพลเป็นรูปธรรม แต่ต้องการเชื่อต่อไปว่ามีอำนาจ สมศักดิ์มีจุดอ่อนในการปกป้องข้อเสนอของเขาเพราะนอกจากจะพิสูจน์อะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้แล้ว ยังโจมตีผมแบบส่วนตัวว่า “ไม่เข้าใจสังคมไทย” ในทำนองที่ชวนคนมองว่าผมไม่ใช่คนไทยแท้ทำนองนั้น ซึ่งเป็นการโจมตีที่ไม่ตรงกับสภาพชีวิตผมที่เติบโตในไทยและมีพ่อเป็นคนไทย และมีลักษณะแบบเหยียดเชื้อชาติผมอีกด้วย มันไม่ใช่ข้อถกเถียงที่ใช้ปัญญาเลย

  1. สมศักดิ์เสนอว่าในสังคมไทยเริ่มมีความเห็นร่วมกันทั้งสังคมที่เชิดชูกษัตริย์ภูมิพล ตั้งแต่พฤษภา 35 และให้เหตุผลว่าคนเชื้อสายจีนในเมืองต้องการพิสูจน์ความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมกับคนไทย คนจีนจึง “ต้องการสิ่งที่จะยึดมั่นได้” และนี่คือที่มาของอำนาจกษัตริย์ ซึ่งถ้าจริงก็คงมีอำนาจแบบ “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ลอยๆ ในเวลาแค่สิบกว่าปีเองก่อนป่วยและหมดสภาพ แต่ปัญหาของแนวคิด สมศักดิ์ นี้คือ เขามองแค่สังคมคนชั้นกลาง มองข้ามคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพไทย คนลาว คนล้านนา คนเขมร คนมาลายู ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ต้องการพิสูจน์อะไรแบบนั้น พูดง่ายๆ คือสำหรับ สมศักดิ์ ชนชั้นกลาง ซึ่งผมมองว่าเป็นสลิ่มต้านประชาธิปไตย เป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่านั้นการที่มีกระแสเชิดชูกษัตริย์หลังปี 35 นั้นมันเกี่ยวกับการที่ พคท. ล่มสลายไปและแนวคิดการเมืองพคท. และแนวคิดซ้ายอ่อนลงมากกว่าอะไรอื่น มันเป็นชัยชนะทางความคิดชั่วคราวในสงครามจุดยืนที่กรัมชี่เคยพูดถึงมากกว่า และมันเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายแนวคิดซ้ายในยุคที่เปิดกว้างให้มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตย

 

  1. สมศักดิ์เสนอมานานแล้วว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงควรเลิกด่ากัน เพื่อสร้างฉันทามติร่วมที่ยอมรับกันได้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เขาพูดเหมือนกับว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายด่ากันเหมือนคนเชียร์ทีมฟุตบอลที่เป็นคู่แข่งกันเท่านั้น นี่เป็นมุมมองที่ไร้ประเด็นการเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะความแตกแยกระหว่างเหลืองกับแดงมันมีพื้นฐานจากจุดยืนต่อนโยบายรัฐบาลทักษิณที่ช่วยยกระดับคนจนด้วยระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า และการลงทุนเพื่อพัฒนาชีวิตคนชนบทและคนจนในเมือง โดยที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่าพลเมืองทุกคนควรมีหุ้นส่วนในการพัฒนาชาติ ไม่ใช่แค่คนรวยและคนชั้นกลาง ดังนั้นฉันทามติร่วมทางการเมืองคงไม่มีทางเกิดได้ และในทุกประเทศทั่วโลกก็มีความคิดที่ขัดแย้งกันเสมอในเรื่องท่าทีต่อความเหลื่อมล้ำและนโยบายเศรษฐกิจการเมือง ในเรื่องนี้ สมศักดิ์ ไม่ให้เกียรติมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อแดงว่าคิดเองเป็นและไม่ใช่แค่ขี้ข้าทักษิณ และสมศักดิ์ไม่เคยมองว่าขบวนการมวลชนมีความสำคัญในการเปลี่ยนสังคม ในอดีตเขาเคยวิจารณ์ผมที่ลงไปทำงานกับกรรมาชีพไทยด้วย

  1. ในความเห็นผม ทั้ง สมศักดิ์ และ แอนดรู แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ หมกมุ่นกับนายวชิราลงกรณ์ โดยที่ แอนดรู มองว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าสั่งถอนหมุดคณะราษฏร์” ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย[ดู http://bit.ly/2oVf9Uu และ http://bit.ly/2quNSZx ] แอนดรู แสนอว่าคนไทยจำนวนมาก “ไม่เคยยอมรับการปฏิวัติ 2475” ซึ่งขัดกับหลักฐานประวัติศาสตร์ (กรุณาอ่านหนังสือของ ณัฐพล ใจจริง) และเขาอธิบายว่า “ความเป็นไทย” ทำให้คนไทยพร้อมจะหมอบคลาน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายๆ รอบที่คนไทยเข้าร่วม ในแง่หนึ่งมันดูถูกพลเมืองไทยจำนวนมาก  แต่นั้นคงไม่ใช่เจตนา ส่วนการที่ สมศักดิ์ หมกมุ่นกับ วชิราลงกรณ์ และภูมิพล นำไปสู่การมองแต่พวกเจ้าเพื่อความสนุก จนไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเสนอแนวทางการล้มเผด็จการทหาร และมรดกเผด็จการอย่างเป็นรูปธรรมเลย และไม่สนใจการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเลย การมองแต่เรื่องเจ้าๆ ทำให้คนอัมพาต โดยเฉพาะเวลาเชื่อว่าเจ้ามีอำนาจ เพราะมองไม่ออกว่าจะล้มอย่างไร ต่างโดยสิ้นเชิงกับคนที่กำลังพยายามเคลื่อนไหวในไทยทุกวันนี้ เพื่อคัดค้านทหารในเรื่องปากท้องและเรื่องรูปธรรมหลายๆ เรื่อง ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายการสร้างกระแสล้มเผด็จการ

 

ทั้งหมดนี้เป็นการถกเถียงทางการเมืองระหว่างสามคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย หวังว่าที่นำเสนอให้อ่านครั้งนี้จะช่วยชวนให้ท่านผู้อ่านคิดต่อและมีความเห็นของตนเอง

๒๔๗๕ ศรีบูรพา และความฝันสู่โลกใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่จะก้าวสู่โลกใหม่แห่งความทันสมัยและความเท่าเทียมของมนุษย์

ในเรื่องความฝันไปสู่การปฏิวัติพลิกแผ่นดิน กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เขียนไว้ในหนังสือ “แลไปข้างหน้า” ว่าหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “อำนาจที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นอำนาจที่จะอยู่คู่ฟ้าไม่อาจเปลี่ยนและทำลายได้นั้น ในที่สุดก็ล้มครืนลงต่อหน้าต่อตาเขาทั้งหลาย และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ได้กระทำโดยมือของมนุษย์ธรรมดานั้นเอง” สรุปแล้ว “ไม่มีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้” (ศรีบูรพา “และไปข้างหน้า” ๒๕๒๖; 266-267) นี่คือคำสำคัญที่นักเคลื่อนไหวคนหนุ่มสาวในสังคมไทยปัจจุบันควรนำมาใช้ในการต่อสู้ โดยในประการแรกไม่ลืมว่าในไทยเคยมีการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน และสองเราควรนึกถึงตัวอย่างของ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ใครๆ แตะไม่ได้” เพื่อกล้าเสนอว่าในเมื่อสิ่งเหล่านี้สร้างโดยมนุษย์แต่แรก มันก็ถูกมนุษย์ธรรมดาล้มหรือเปลี่ยนไปได้ ในที่นี้ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่ใช่แค่เรื่องกษัตริย์ แต่รวมถึง ระบบกลไกตลาดเสรี อำนาจของทหารในสังคม และระบบชนชั้น

ในหนังสือ “แลไปข้างหน้า” กุหลาบ ชวนให้เราถามต่อไปว่าความคิดเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มันเกิดมาจากไหนและรับใช้ใคร เช่นในกรณีที่เด็กยากจนป่วย คนอย่างคุณลมัยมองว่า “เมื่อมันถึงที ก็ต้องปล่อยให้มันตายไป …มันไม่มีทำเนียมที่บ่าวจะใช้แพทย์ร่วมกับนาย” ….กุหลาบ สรุปหลังจากนั้นว่า “ไม่มีใครที่ซักถามคุณลมัยว่าประเพณีอันดีงามของเขาก่อรูปมาได้อย่างไร และมีใครบ้างที่ต้องการเชิญมันไว้ให้ค้ำฟ้า”  (ศรีบูรพา “และไปข้างหน้า” ๒๕๒๖; 107-108) ในยุคปัจจุบันหลังจากที่เรามีระบบรักษาพยาบาลบัตรทอง นักสังคมนิยมที่เสนอว่าเราควรเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อพัฒนามันให้เป็นระบบรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะถูกประณามโดยหมอปฏิกิริยาบางคน และพวกชนชั้นกลาง ว่าเป็นพวกที่ไม่รู้จักโลกจริงหรือเป็นพวกที่ต้องการทำลายระบบสาธารณะสุข และเราทราบดีว่าพวกทหารเผด็จการและนักวิชาการที่รับใช้มัน ต้องการหมุนนาฬิกากลับ โดยเปิดช่องให้มีการ “ร่วมจ่าย” เพื่อ “ความคล่องตัว” ของระบบทุนนิยมตลาดเสรี ซึ่งถ้าเราตามแนวคิดของ กุหลาบ เราต้องตั้งคำถามว่าข้อเสนอแบบนี้ก่อรูปขึ้นมาเพื่อรับใช้ใคร และทำไมมีบางกลุ่มเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการทำลายบัตรทองมาตั้งแต่แรก

ปัญหาอันหนึ่งที่คนก้าวหน้าในไทยมักจะเกรงกลัวคือปัญหาการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในไทย สำหรับบางคน ความเกรงกลัวที่จะวิจารณ์สถาบันนี้กลายเป็นเรื่องคล้ายๆ ความเกรงกลัวในเชิงการกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยก่อนวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราหยุดนิ่งสักพัก และหันมาใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ เราจะพบว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่มาสามครั้งในรอบแค่ 150 ปีที่ผ่านมา เช่นจากลักษณะศักดินา มาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วมาเป็นกษัตริย์ใต้ระบบรัฐธรรมนูญ และยิ่งกว่านั้นถ้าย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สมัยจอมพลป. ซึ่งไม่นานมานี้เอง จะพบว่าในจุดเริ่มต้นของระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันนี้ไม่ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและชนชั้นปกครองใหม่แต่อย่างใด ดังนั้นสมควรแล้วหรือที่เราจะต้องกลัวการเสนอรูปแบบการปกครองอื่นในไทย เช่นรูปแบบสาธารณรัฐ? การเสนอว่าความสามารถไม่ได้ถ่ายทอดทางสายเลือดแบบอัตโนมัติหยาบๆ นอกจากจะตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพในโลกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นการนำทางไปสู่สังคมที่มีประชาธิปไตยและการใช้สติปัญญามากขึ้นด้วย

แต่แน่นอน ตราบใดที่ทหารยังมีอำนาจที่จะใช้กฏหมายเถื่อน 112 เพื่อปกป้องสถานภาพของตนเอง ความกลัวมีเหตุผล อย่างไรก็ตามเราต้องกลับไปสู่คำเขียนของ กุหลาบ อีกครั้งว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้” ซึ่งรวมถึงอำนาจทหารที่มวลชนสามารถล้มได้ถ้ามีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ

สุดท้าย ในเรื่องสถาบันกษัตริย์ กุหลาบ ก็มีคำแนะนำอีกจากหนังสือ “แลไปข้างหน้า”…. นิทัศน์พูดว่า: “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าก็เหมือนกัน แต่เดิมท่านเป็นขุนนางชั้นหลวง … และแต่เดิมทีเดียวท่านชื่อด้วง … ดูซิเธอ … พระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนางท่านก็มาจากคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ทั้งนั้น”  (ศรีบูรพา “แลไปข้างหน้า” ๒๕๒๖; 163) ในเมื่อกษัตริย์สืบเชื้อสายจากคนธรรมดา ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะร่วมกันนำกษัตริย์และราชวงศ์กลับสู่สภาพเดิมของคนธรรมดา?

สงครามอนุสาวรีย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักประวัติศาสตร์หลายคน ทั้งคนไทยและชาวตะวันตก ได้เคยอธิบายความสำคัญของอนุสาวรีย์และประวัติศาสตร์ในสงครามช่วงชิงอำนาจทางการเมืองปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ เคยเรียกว่า “สงครามจุดยืน” หรือในภาษาง่ายๆ มันคือสงครามทางความคิด เพื่อผูกขาดแนวคิดของฝ่ายตนนั้นเอง

ในเรื่องหมุดคณะราษฎร การดำรงอยู่ของอนุสาวรีย์อันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสงครามจุดยืนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายเผด็จการ แต่มันมีความซับซ้อนและคำถามที่น่าสนใจอีกด้วย

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะพบจากข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ไทยหลายคน ว่าเคยมียุคเผด็จการทหารที่ต่อต้านเจ้า ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นยุคที่เรามีทหารที่ต้านทั้งประชาธิปไตยและต้านระบบกษัตริย์ ผลอันเป็นรูปธรรมในแง่ของอนุสาวรีย์คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นในยุคเผด็จการอันนี้ จริงๆ แล้วมันเป็นอนุสาวรีย์ต้านกษัตริย์มากกว่าอะไร มันเป็นสิ่งที่สร้างกลางถนน “ราชดำเนิน” คล้ายๆ การยกนิ้วกลางให้กษัตริย์ ถ้าไม่เชื่อก็ข้ามถนนไปดูว่าบนอนุสาวรีย์นี้มีภาพอะไรบ้าง มันเต็มไปด้วยภาพของสังคมไทย “สมัยใหม่” แต่ไม่มีภาพหรือสัญลักษณ์ของกษัตริย์เลย

ในยุคนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างอนุสาวรีย์ชาตินิยมอันยิ่งใหญ่ที่อยุธยา ซึ่งรวมถึงศาลากลางเก่า และการบูรณะเจดีย์ที่พังไป จริงอยู่ที่ศาลากลางเก่า มีรูปกษัตริย์สมัยอยุธยา แต่การใช้รูปปั้นกษัตริย์สมัยก่อนเพื่อสร้างกระแสชาตินิยม เป็นสิ่งที่เผด็จการทหารพม่าทำ เผด็จการในอดีตรัฐเล็กๆ ของโซเวียตก็ทำ แต่พวกนี้ไม่ได้ต้องการนำระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแม้แต่ตัวกษัตริย์กลับมาแต่อย่างใด

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความหมายของอนุสาวรีย์มันเปลี่ยนได้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเดิมมีความหมายตามที่จอมพลป.ต้องการ แต่ตั้งแต่เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประชาชนไทยเปลี่ยนความหมายของมันเพื่อให้เป็นเรื่อง “ประชาธิปไตยล้วนๆ” อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และเนื่องจากเผด็จการทหารทุกรุ่น รวมถึงเผด็จการของประยุทธ์ อ้างว่ามันเป็น “ประชาธิปไตย” ไม่มีทหารรุ่นไหนกล้าทุบมันทิ้ง กระแสประชาธิปไตยในประชาชนของสังคมไทยกลายเป็นกระแสที่มีพลังยิ่ง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่างจากหมุดคณะราษฎร เพราะหมุดคณะราษฎร ในความคิดของนักเคลื่อนไหวปัจจุบัน ตอนนี้ผูกไว้กับการลดอำนาจหรือยกเลิกกษัตริย์

ถ้า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกลียดกษัตริย์ ทำไมไม่ยกเลิกไปเลย? คำตอบคือจอมพล ป. พิบูลสงครามและพรรคพวก ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ต้องคอยแย่งชิงอำนาจกับฝ่ายอื่นเสมอ ต้องประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม หนึ่งในนั้นคือพวกคลั่งเจ้า แต่ไม่ใช่ตัวกษัตริย์เอง เพราะกษัตริย์รัชกาลที่๗แพ้สงครามการแย่งชิงอำนาจ และรัชกาลที่๘และ๙ ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิงเพราะสาเหตุที่อ่อนวัยและไม่ได้เตรียมตัวเพื่อขึ้นมาเป็นกษัตริย์เลย ฝ่ายคลั่งเจ้าหลังจากความพ่ายแพ้ในกบฏบวรเดช เริ่มค่อยๆ เข้าใจว่าไม่สามารถหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายคลั่งเจ้าต้องการคือการยกความสำคัญของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมา ในที่สุดเขาก็ได้ดังใจภายใต้เผด็จการรุ่นต่อไปของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่อย่าไปหลงเข้าใจผิดนะว่าจอมพล สฤษดิ์ “คืนอำนาจให้กษัตริย์” สฤษดิ์ยกระดับกษัตริย์เพื่อเพิ่มความชอบธรรมให้กับอำนาจของตนเองเท่านั้น

อย่าลืมด้วยว่า “อำนาจ” เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมเสมอ คือเป็นอำนาจที่จะกำหนดวิธีการบริหารประเทศ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในมือของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนักการเมืองที่ตามมา มันไม่เคยอยู่ในมือกษัตริย์มาตั้งแต่ ๒๔๗๕

หลังจากจอมพล สฤษดิ์ ทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนักการเมืองล้วนแต่ใช้กษัตริย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอนุรักษ์นิยม และหุ่นที่ให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่พวกนี้ทำตลอด นั้นคือสาเหตุที่มีการสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ หน้ารัฐสภา ซึ่งเกิดขึ้นหลังสมัยความป่าเถื่อนของ ๖ ตุลา การนำกษัตริย์ผู้ที่ขัดขวางระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญมาตั้งไว้หน้ารัฐสภา เหมือนกับเอารูปปั้นกษัตริย์อังกฤษไปไว้หน้ารัฐสภาของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้มีการพยายามทำให้ประชาชนลืมหรือเข้าใจผิดเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕ การที่ประชาชนจำนวนมากไม่รู้จักหมุดคณะราษฏร หรืออนุสาวรีย์หลักสี่ เป็นผลพวงของความพยายามนี้ ยิ่งกว่านั้นหมุดคณะราษฎรเคยหายไปจากที่ตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีคำสั่งให้ย้ายหมุดดังกล่าว แต่กลับมาตั้งในที่เดิมหลังจากที่สฤษดิ์เสียชีวิตไป

ฝ่ายประชาธิปไตยมีการโต้ตอบฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ ๑๔ตุลา และ๖ตุลา อันหลังตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ซึ่งมีอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร อีกด้วย

ปัจจุบันหลังจากที่หมุดคณะราษฎร หายไปอีกครั้งและมีหมุดอุบาทว์ “หน้าใส” เข้ามาแทนที่ หลายคนตั้งคำถามว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ โดยที่พวกคลั้งนิยายเรื่องเจ้าเสนอว่าว ชิราลงกรณ์ เป็นผู้สั่ง แต่พวกนี้ลืมไปว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา พวกคลั่งเจ้าได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อทำลายประชาธิปไตยของเรา และเชิญเผด็จการทหารเข้ามา และพวกนี้มักใช้กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ถึงขั้นที่เอ่ยถึงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย แต่พวกนี้ไม่ได้ต้องการให้กษัตริย์มีอำนาจจริง มันและพรรคพวกของมันต้องการมีอำนาจเอง และที่สำคัญคือกษัตริย์ภูมิพลในสมัยนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะรู้เรื่องหรือกำกับอะไร และกษัตริย์วชิราลงกรณ์ไม่เคยสนใจสภาพบ้านเมืองเลย ผมคาดเดาว่าก่อนหน้านี้แกอาจไม่รู้จักหมุดคณะราษฏร์ด้วยซ้ำ

ตอนนี้มีข่าวว่าคนจาก “กลุ่ม สมาน ศรีงาม” มอบตัวกับตำรวจและสารภาพว่าถอนหมุดคณะราษฎร เรายังต้องรอดูว่ามันจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามมันสอดคล้องกับแนวการเมืองของพวกนี้ ดู [ http://bit.ly/2oVf9Uu ]

ก่อนที่ประยุทธ์จะทำรัฐประหาร พวกสลิ่มคลั่งเจ้าได้ก่ออาชญากรรมทางการเมืองเพื่อปูทางไปสู่เผด็จการ ในเรื่องนี้มันทำเอง ตัดสินใจเอง แต่ฝ่ายทหารก็ไม่ทำอะไรเพราะมันเป็นโอกาสที่จะทำรัฐประหาร ในเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฏร มันคงจะคล้ายกัน ผมมองว่าคสช.และประยุทธ์ไม่ได้สั่งถอนหมุดแต่ขี้เกียจสอบสวนหาความจริงเพราะแอบเห็นด้วย วชิราลงกรณ์ก็ไม่ได้สั่ง แต่พวกที่ทำคือพวกคลั่งเจ้าสุดขั้ว มันมีการขู่ก่อนหน้านี้ และพวกนี้เห็นว่าในช่วงปัจจุบันฝ่ายเราชอบประกอบพิธีประชาธิปไตยตรงนั้นท่ามกลางกระแสไม่เอาเจ้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นมันเป็น “สงครามอนุสาวรีย์” อีกรูปแบบหนึ่ง

สักวันหนึ่ง เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราจะดึงอนุสาวรีย์ของพวกเจ้าลงมาให้หมด เหมือนกับที่คนทั่วโลกเคยทำ

ชนชั้นปกครองอังกฤษบิดเบือนสัญญา “แมคนา คาร์ตา” ปกปิดการปฏิวัติ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

ชนชั้นปกครองอังกฤษกำลังบิดเบือนประวัติศาสตร์เนื่องในวันครบ 800 ปี สัญญา “แมคนา คาร์ตา” (ปี1215) ทั้งนี้เพื่อปกปิดความสำคัญของการกบฏครั้งยิ่งใหญ่ของไพร่ในปี 1381 การปฏิวัติอังกฤษที่ตัดหัวกษัตริย์ในปี 1640 และการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยถ้วนหน้าของขบวนการแรงงาน Chartists ระหว่าง 1838-1858

การปกปิดและการบิดเบือนประวัติศาสตร์แบบนี้ ก็ไม่ต่างจากการที่ชนชั้นปกครองไทยพยายามปกปิดความสำคัญของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แล้วโกหกว่ารัชกาลที่ ๗ เป็น “บิดาแห่งประชาธิปไตย” หรือการที่รัฐบาลเผด็จการพยายามปกปิดอาชญากรรมรัฐไทย ยุค ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕ หรือการเข่นฆ่าเสื้อแดง

รัชกาลที่ ๗ พบ ฮิตเลอร์
รัชกาลที่ ๗ พบ ฮิตเลอร์

2475peg

     ในขณะที่รัฐบาลฝ่ายขวาพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษกำลังส่งเสริมการฉลองครบรอบ 800 ปี ของ “แมคนา คาร์ตา” รัฐบาลของ เดวิด แคมมารอน ชุดนี้พยายามที่จะยกเลิก “กฏหมายสิทธิมนุษยชน” ที่ออกมาในปี 1998 และพยายามจะถอนตัวออกจาก “สัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป” พร้อมกันนั้นมีการประกาศว่าจะลดสิทธิเสรีภาพของสหภาพแรงงานอีกด้วย ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีผู้นำตอแหล

สัญญา “แมคนา คาร์ตา” เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างกษัตริย์จอห์นกับขุนนางอังกฤษ ซึ่งพยายามลดอำนาจกษัตริย์เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ขุนนางและสถาบันศาสนา แต่ 85% ของประชาชนอังกฤษตอนนั้นเป็นไพร่ที่ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพอะไรทั้งสิ้น

อังกฤษในช่วงนั้นเป็นสังคมที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ความสำคัญของเมืองและการค้าขายเริ่มทำให้พวกขุนนางที่มีฐานอำนาจและเศรษฐกิจจากการคุมไพร่ในชนบท เริ่มกังวลว่ากษัตริย์กำลังรวบอำนาจ

แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นคือการกบฏครั้งยิ่งใหญ่ของไพร่อังกฤษในปี 1381 มีการยกกองทัพไพร่ไปที่ลอนดอน ยึดปราสาทกลางเมือง และจับรัฐมนตรีคลังและหัวหน้าศาสนาคริสต์ในอังกฤษมาประหารชีวิต เพราะสองคนนี้เป็นตัวการสำคัญในการเก็บภาษีจากไพร่ บริบทสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบกับการกบฏครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ที่ทำให้คนธรรมดามีพลังต่อรองมากขึ้น คือการแพร่ระบาดของกาฬโรคในปี 1348 ซึ่งมีผลทำให้ประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศล้มตาย เหตุการณ์นี้ทำให้แรงงานขาดแคลนและมีอำนาจต่อรองสูง ในที่สุดการกบฏของไพร่ถูกปราบสลาย แต่ชนชั้นปกครองอังกฤษจำต้องยกเลิกระบบไพร่เพราะเกรงกลัวการกบฏในอนาคต

กบฏไพร่อังกฤษ
กบฏไพร่อังกฤษ

ต่อมาในปี 1640 อำนาจของนายทุนในเมืองเริ่มแสดงตัวเมื่อมีการกบฏต่อกษัตริย์ ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติทุนนิยมของอังกฤษ กษัตริย์ชาร์ลส์ถูกจับและประหารชีวิต และอังกฤษก็กลายเป็นสาธารณรัฐชั่วคราว หลังจากนั้นทั้งๆ ที่มีการนำระบบกษัตริย์กลับมาอีกครั้ง แต่ระบบฟิวเดิลถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงและตั้งแต่นั้นมากษัตริย์ไม่มีอำนาจจริง เพราะต้องพึ่งพานายทุนและทำตามสิ่งที่นายทุนต้องการ

กษัตริย์ชาร์ส์โดนประหารชีวิตในการปฏิวัติอังกฤษ
กษัตริย์ชาร์ส์โดนประหารชีวิตในการปฏิวัติอังกฤษ

การที่นายทุนอังกฤษมีอำนาจเหนือกษัตริย์ ไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอังกฤษได้มาจากการต่อสู้ของขบวนการแรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะขบวนการ “ชาร์ทิสต์” ระหว่าง 1833-1858 รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและการตั้งพรรคแรงงานอีกด้วย

ขบวนการชาร์ทิสต์
ขบวนการชาร์ทิสต์

ถ้าจะเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษและไทย เราสามารถสรุปได้ว่าสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมาจากการลุกฮือปฏิวัติของคนชั้นล่าง ไม่ได้มาจากการยกอะไรให้ประชาชนจากเบื้องบน และไม่ได้มาจากการเจรจาระหว่างผู้มีอำนาจกับกษัตริย์อีกด้วย และที่สำคัญคือชนชั้นปกครองของเราทั่วโลก มักจะพยายามปกปิดประวัติศาสตร์การต่อสู้และการปฏิวัติของประชาชน นี่คือสาเหตุที่เราต้องศึกษาความจริงเกี่ยวกับการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และแนวคิดของอาจารย์ปรีดี และต้องให้ความสำคัญกับพลังของกรรมาชีพก้าวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

สี่นิยายเรื่อง ๒๔๗๕

สี่นิยายเรื่อง ๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

2475 ราษฎร

1. การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ ชิงสุกก่อนห่าม

พวกที่เชื่อนิยายนี้มองว่าประชาชนไทยไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย ประยุทธ์กับสลิ่มปฏิกูลก็คงมองแบบนี้เช่นกัน แนวคิดนี้เริ่มต้นจากความเชื่อว่าประชาชนธรรมดาไร้การศึกษาและโง่ แน่นอนผู้ที่ตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวถือว่าตนเองเป็นผู้ที่ฉลาดกว่าพวกคนชั้นต่ำทั้งหลายเสมอ และเรามักจะได้ยินคำกล่าวหาจากสำนักนี้ว่าสาเหตุที่ระบบประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันมีการทุจริตซื้อขายเสียงก็เพราะคนยากคนจนขาดการศึกษา แต่แท้ที่จริง การศึกษากับความฉลาดไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการทุจริตกับการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยทุกพรรคเป็นผู้ริเริ่มทำกันเอง หลัง ๒๔๗๕

ความจริงแล้วถ้าเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญ ในปี ๒๔๗๕แทนที่จะยังไม่ถึงยุคสุกงอม ต้องถือว่าไทยล้าหลังประเทศอื่นพอสมควรเพราะแม้แต่ประเทศจีนก็ปฏิวัติยกเลิกระบบจักรพรรดิไปแล้ว 21 ปีก่อนการปฏิวัติในไทย

เหล่าประชาชนไทยในยุคก่อน ๒๔๗๕ เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะก่อนหน้านั้นมีการตีพิมพ์บทความและเสนอฎีกาความเห็นจากประชาชนคนสามัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในสมัยนั้นและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลกษัตริย์ในการแก้วิกฤตดังกล่าว

จะเห็นว่า กระแสความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจยุคในวิกฤตทุนนิยมครั้งยิ่งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๒ และ ๒๔๗๔ ราคาข้าวในตลาดที่ชาวนาไทยได้รับ ลดต่ำลงอย่างน่ากลัวถึง 60%  ค่าจ้างเฉลี่ยในชนบทถูกลด 50% และสภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปย่ำแย่ ส่วนในเมืองค่าแรงของกรรมาชีพถูกกดลง 20% ระหว่างปี ๒๔๗๔ ถึง ๒๔๗๕  และรัฐบาลได้ประกาศลดเงินเดือนและจำนวนข้าราชการ มีการประกาศขึ้นภาษีกับสามัญชนในขณะที่เจ้าที่ดินและนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลไม่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

 

2. ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร์เอา ความคิดฝรั่งที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้

นิยายนี้เสนอว่าพวกคณะราษฎร์เป็นพวก “จบนอก” ที่เอาความคิดฝรั่งมาสวมสังคมไทยที่มีประเพณีการอาศัยใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย”

ในประการแรกการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เป็นผู้ถืออำนาจสูงสุดไม่ใช่ระบบการปกครองเก่าแก่ของไทย แต่พึ่งประดิษฐ์ขึ้น 60 ปีก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยรัชกาลที่ ๕ และสาเหตุหนึ่งที่รัชกาลที่ ๕ นำระบบนี้มาใช้กับเมืองไทยก็เพราะมองว่าระบบรัฐรวมศูนย์แบบทุนนิยมที่มีอยู่ในโลกภายนอกเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ของไทย

ในประการที่สองกระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ไปเรียนต่างประเทศ เพราะผู้นำส่วนใหญ่ของคณะราษฎร์ไม่ได้จบจากนอกแต่อย่างใด และปรีดีเองได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยปี ๒๔๗๐ ชนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยไปต่างประเทศมีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

 

3. การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการกระทำของกลุ่มชั้นนำโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม

นิยายที่สามนี้ถือว่ามีกำเนิดมาจากสำนักคิดที่มองคนชั้นล่างในเมืองไทยเสมือนควายที่ไร้ความสามารถที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ในปัจจุบันคนที่มีความคิดแบบนี้มองว่าวิกฤตการเมืองปัจจุบันเป็นแค่การทะเลาะกันระหว่างทักษิณกับคู่แข่ง โดยมวลชนเสื้อแดงถูกจ้างมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่าในหมู่ประชาชนมีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสูง และมีหลักฐานว่าประชาชนชั้นล่างมีส่วนร่วมในการปฏิวัติพอสมควร  แม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมาก่อนหน้าการปฏิวัติ ตัวอย่างที่ดีคือ“คณะกรรมกร”ของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคนงานรถรางและที่มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” คณะกรรมกรถูกก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๖๓ และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าในปี ๒๔๗๕ และในปราบกบฏบวรเดชปี ๒๔๗๖

4. รัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย

กระแสที่เสนอว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตย เป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคหลังเหตุการณ์รุนแรง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการสร้างรูปปั้นรัชกาลที่ ๗ ไว้หน้าตึกใหม่ของรัฐสภาไทยในสมัยนั้น ปรากฏการณ์อันนี้ถ้าเปรียบเทียบกับรูปปั้นหน้ารัฐสภาสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรูปปั้นของผู้นำการปฏิวัติที่ล้มอำนาจกษัตริย์อังกฤษ จะเห็นว่าค่อนข้างจะแปลกประหลาด เพราะการเชิดชูผู้นำการปฏิวัติ เช่นผู้นำคณะราษฎร์ ซึ่งเปิดทางให้มีการปกครองแบบใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญน่าจะสมเหตุสมผลทางประวัติศาสตร์มากกว่าการเชิดชูผู้ปกครองระบบเก่าที่ถูกล้มไป แต่หลังการปราบปรามอย่างป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทยในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ชนชั้นปกครองต้องการที่จะลบล้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนชาวไทยให้หมดไปจากจิตสำนึกของเรา การล้างจิตสำนึกของประชาชนมีหลายรูปแบบ อีกตัวอย่างคือการไม่ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่เป็นหมุดโลหะซึ่งตั้งไว้บนถนนใกล้ๆ พระรูปทรงม้า และอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงชัยชนะของคณะราษฎร์ในการปราบกบฏบวรเดชที่หลักสี่

สรุป

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยมภายใต้เผด็จการกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่รัฐทุนนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งอาจมีรูปแบบประชาธิปไตยรัฐสภาหรือเผด็จการก็ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและที่มีประโยชน์กับฝ่ายประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย