Tag Archives: ปฏิรูปการเมือง

ปฏิวัติหรือปฏิรูป?  

เวลาชาวมาร์คซิสต์พูดถึง “การปฏิวัติ” คนจำนวนมากจะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรืออาจมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติในอดีต ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกที่ดำรงอยู่ในยุคนี้ บางคนอาจมองไปถึงการยึดอำนาจด้วย “กองทัพปลดแอก” หรือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมือง แล้วสรุปว่ามันรุนแรง ไม่เอาดีกว่า ดังนั้นเราต้องอธิบายว่าการปฏิวัติหมายถึงอะไร และทำไมต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

มาร์คซ์ เขียนเป็นประจำว่าการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม เป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง จะมาปลดปล่อยกรรมาชีพหรือสร้างสังคมนิยมเพื่อยกให้คนส่วนใหญ่

เลนิน ซึ่งเคยนำการปฏิวัติจริงในรัสเซียในปี 1917 เคยนิยามการปฏิวัติว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองของสังคมโดยมวลชน  มวลชนชั้นล่างที่ถูกกดทับและขูดรีดจะ ร่วมกันลุกขึ้นกบฏโดยกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ เพื่อพยายามสร้างสังคมใหม่ท่ามกลางการพังทลายของสังคมเก่า

ทรอตสกี ซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการนำการปฏิวัติรัสเซีย เคยเสนอว่าการปฏิวัติคือจุดที่มวลชนทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และเดินหน้าทะลุกำแพงที่เคยปิดกั้นไม่ให้เขามีบทบาทในเวทีการเมือง และพร้อมกันนั้นจะมีการปลดผู้แทนเก่าของประชาชนทิ้ง และสร้างผู้แทนใหม่

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติเป็นกิจกรรมของมวลชนจำนวนมาก โดยมีชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลาง มันไม่ใช่อะไรที่กระทำโดยกลุ่มเล็กๆ ได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเพราะพรรคปฏิวัติต้องการให้มันเกิด

นอกจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทำของมวลชนเพื่อปลดแอกตนเองแล้ว มันนำไปสู่การพลิกแผ่นดินพลิกสังคม คือในสังคมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน คนธรรมดามักจะถูกกีดกันไม่ให้กำหนดนโยบายทางการเมืองหรือนำสังคม ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจในสังคมได้ อำนาจของคนธรรมดามักถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่นลัทธิความคิดที่มองว่าการปกครองต้องกระทำโดย “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนชั้นล่าง หรือการที่นายทุนใหญ่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองผ่านการลงทุน เงื่อนไขการสร้างกำไรและกลไกตลาด

ดังนั้นในการปฏิวัติ มวลชนจะลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย การขยายพื้นที่เสรีภาพนี้ จนก่อให้เกิดสังคมใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวมาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบวิภาษวิธี “จากปริมาณ สู่คุณภาพ” คือปริมาณเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมนั้นเอง

มันไม่มีหลักประกันอะไรในโลกที่จะทำให้การปฏิวัติสำเร็จเสมอ การปฏิวัติซ้อนหรือการทำลายการปฏิวัติมักใช้ความรุนแรงสูง มันไม่ใช่แค่การปราบปรามเพื่อสถาปนาระบบเดิม แต่เป็นการรุกสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาจุดอ่อนของขบวนการปฏิวัติและเพื่อแกะเปลือกและขยายความขัดแย้งภายในมวลชน จนความสามัคคีในทิศทางเป้าหมายการปฏิวัติถูกทำลายลง บ่อยครั้งลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือศาสนา จะถูกนำมาใช้ในสงครามทางชนชั้นอันนี้ ในกรณีอียิปต์เมื่อสิบปีก่อน มีการฆ่าประชาชนผู้สนับสนุนพรรคมุสลิมเป็นหมื่นๆ ขณะที่ชุมนุมบนท้องถนน โดยก่อนหน้านั้นมีการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่สนใจศาสนา ในกรณีซูดาน ฝ่ายทหารพยายามใช้วิธีป่าเถื่อนข่มขืนผู้หญิงท่ามกลางม็อบเพื่อหวังทำลายการปฏิวัติ แต่มวลชนยังสู้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เรื่องจึงยังไม่จบ

ความรุนแรงจากรัฐและกองทัพของรัฐในการปฏิวัติซ้อน คือสิ่งที่เปิดโปงคำโกหกของฝ่ายชนชั้นนำและสื่อกระแสหลักว่าการปฏิวัติของคนชั้นล่างมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง แต่ความรุนแรงไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง มันมาจากชนชั้นนำต่างหาก

การเบี่ยงเบนแนวทางปฏิวัติของคนชั้นล่างด้วยแนวคิด “ขั้นตอน” ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง

ในการปฏิวัติปลดแอกประเทศจากเจ้าอาณานิคมในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา มักเชื่อตามคำสอนของสตาลินว่าเนื่องจากประเทศของตนด้อยพัฒนา และชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนน้อย ต้องมีการสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับ “นายทุนชาติ” เพื่อสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยทุนนิยมนั้นเอง ส่วนสังคมนิยมต้องรอไปอีกนานในอนาคต แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์นำการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย อย่างเช่นจีน เวียดนาม หรือลาว พอยึดอำนาจได้แล้วก็จะรีบอ้างว่าประเทศเป็นสังคมนิยมไปแล้ว

แต่การปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ไม่ได้นำโดยมวลชน ไม่ได้นำโดยกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะการสนับสนุนกับการลุกขึ้นทำเองเป็นคนละเรื่องกัน และมันนำไปสู่ผลที่ต่างกันด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจในสังคม ไม่มีการขยายพื้นที่เสรีภาพจนเกิดสังคมใหม่ในลักษณะปริมาณสู่คุณภาพ และรัฐใหม่ที่สร้างขึ้นยังไม่ก้าวพ้นทุนนิยม เพียงแต่เปลี่ยนจากรัฐในอาณานิคมเป็นรัฐอิสระเท่านั้น มันเป็นการเบี่ยงเบนการปฏิวัติจากเป้าหมายสังคมนิยมไปสู่การปฏิรูปทุนนิยม

ในตะวันออกกลาง การสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนชาติและพรรคชาตินิยมของชนชั้นปกครองใหม่หลังอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์คล้อยตามรัฐบาลและไม่สามารถเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ต่อไปได้ ซึ่งเปิดช่องทางให้กลุ่มอื่นเข้ามาอ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจนและผู้ถูกขูดรีด กลุ่มการเมืองมุสลิมจึงเข้ามามีความสำคัญในสังคมได้

ในกรณีไทยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสร้างภาพปลอมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เพื่อเป็นข้ออ้างในการพยายามทำการปฏิวัติชาตินิยมที่สร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ และหลังจากที่ พคท. ล่มสลาย แนวคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ในลักษณะแปลกเพี้ยน คือชวนให้คนไปจับมือกับนายทุนชาติแบบทักษิณ และพาคนไปมองอำนาจกษัตริย์แบบเกินเหตุ แทนที่จะมองว่าศัตรูหลักของเสรีภาพตอนนี้คือทหารเผด็จการ

ในประเทศที่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอและยังไม่พัฒนามากนัก ในช่วงหลังจากเจ้าอาณานิคมถอนตัวออก รัฐมักถูกใช้ในการสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเราไม่ควรหลงคิดว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้คือ “สังคมนิยม” แต่อย่างใด และบ่อยครั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทในการเป็นนายทุนรัฐเองด้วย ในหลายประเทศที่เน้นการพัฒนาประเทศผ่านบทบาทของรัฐ มีการสร้างสหภาพแรงงานภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจต่อรองของกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าถ้าจะมีเสรีภาพต้องเรียกร้องให้แปรสังคมจากการเน้นรัฐมาเป็นทุนนิยมตลาดเสรี แต่ทุนนิยมตลาดเสรีไม่เคยสร้างสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แนวคิดแบบนี้ที่หลงเชิดชูกลไกตลาดถูกสะท้อนในข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอในการต้านทุนนิยมผูกขาด พวกนี้เข้าใจผิดว่าเผด็จการทหารไม่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และมองไม่ออกว่าการล้มทุนนิยมจะเป็นทางออกได้

ชนชั้นกรรมาชีพ

ในโลกปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศของโลก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง และคนที่เป็น “ลูกจ้าง”ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ชนชั้นกรรมาชีพจึงมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กรรมาชีพ แต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีอาชีพมั่นคง เขาเป็นคนจนในเมืองนั้นเอง

ถ้าเราศึกษาการปฏิวัติใน ตูนิเซีย อียิปต์ กับซูดาน จะเห็นว่าพลังของกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติล้มเผด็จการ ถึงแม้ว่าอาจเป็นชัยชนะชั่วคราวในกรณีอียิปต์ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมในกรณี ซีเรีย การปฏิวัติไม่สำเร็จและเสื่อมลงมากลายเป็นสงครามโหด เพราะในซีเรียขบวนการแรงงานถูกครอบงำโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเอาใจแรงงานบวกกับระบบสายลับของรัฐ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพจะมีพลังในการปฏิวัติต้องมีสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ สหภาพแรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิวัติอียิปต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นในจีนก็มีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐในบางแห่ง

ในกรณีซูดานขบวนการแรงงานในส่วนที่เข้มแข็งที่สุดมาจากกลุ่มครูบาอาจารย์ ทนาย และหมอ คือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั้นกลาง ในตูนิเซียขบวนการแรงงานมีบทบาทมานานตั้งแต่สมัยที่สู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีความอิสระจากรัฐระดับหนึ่ง ในอียิปต์การนัดหยุดงานในสิบปีก่อนการล้มเผด็จการทำให้มีการสร้างความเข้มแข็งพอสมควร ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝนการนัดหยุดงานมาหลายปีพร้อมกับการจัดตั้ง นี่คือสิ่งที่ เองเกิลส์ เคยเรียกว่า “โรงเรียนแห่งสงครามทางชนชั้น” 

แต่ในการปฏิวัติจีน เหมาเจอตุง ขึ้นมามีอำนาจผ่านกองทัพปลดแอกจากชนบท และคำประกาศในวันแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์คือคำสั่งให้กรรมาชีพในเมืองอยู่นิ่งๆ และทำงานต่อไป โดยไม่มีส่วนอะไรเลยในการปฏิวัติ

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมาชีพ ทั้งในการนัดหยุดงานทั่วไปที่อียิปต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในการลุกฮือนัดหยุดงานในซูดาน จะเห็นว่าในกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนสังคม บ่อยครั้งผู้ที่เป็น “ช้างเท้าหลัง” มักแซงไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำได้ ซึ่งเราก็เห็นในไทยด้วยในกรณีที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ มันทำให้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเพศในหลายมิติ มันเป็นหน่ออ่อนของการกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้า

ประท้วงที่ซูดาน

ในทุกกรณี ตูนิเซีย อียิปต์ และซูดาน การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมาชีพไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่มีการขยายจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง และกลับมาพัฒนาการต่อสู้เรื่องปากท้องอีกที อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ดังนั้นภารกิจสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมในไทยและที่อื่น คือการเกาะติดขบวนการกรรมาชีพเพื่อขยายกรอบคิดของนักเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องการเมืองเสมอ ไม่ใช่คล้อยตามแค่เรื่องปากท้อง

การขยายตัวของระบบการศึกษา เพิ่มความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมกับนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม มักจะทำลายความฝันดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว และเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกของการต่อสู้ในฐานะ “เตรียมกรรมาชีพ” ได้ ทุกวันนี้ทั่วโลก คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องไปเชื่อคนอายุมากที่ชอบบ่นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจสังคม

ปัญหาของแนวคิดปฏิรูป

การปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร แนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่า “รัฐ” คืออะไร

รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้

แนวคิดปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการหรือในการพยายามปฏิวัติในยุคปัจจุบัน คือความคิดที่เสนอว่ามวลชนมีความสำคัญในการล้มเผด็จการ แต่หลังจากนั้นต้อง “ส่งลูก” ต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เพื่อปฏิรูปสังคมและสร้างประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถสร้างรัฐใหม่ได้ เพราะอย่างที่ กรัมชี เคยอธิบาย ระบบรัฐสภาไม่สามารถทะลายกำแพงต่างๆ ใน “ประชาสังคม” ที่มีไว้ปกป้องรัฐได้ เช่นระบบการศึกษา สื่อมวลชน สถาบันศาสนา และศาล

กรัมชี

การออกมาต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนนหรือท่ามกลางการนัดหยุดงานทั่วไป เป็นแนวต่อสู้แบบ “ปฏิวัติ” แต่มันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ในหัวของมวลชน เพราะแนวคิดปฏิรูปที่อยู่ในหัวของมวลชนหลายหมื่นหลายแสนคน มักจะมองว่าเราไม่ต้องหรือไม่ควรล้มรัฐ และสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องหลักคือการ “แบ่งอำนาจ” ให้ประชาชนปกครองร่วมกับชนชั้นนำผ่านการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” ในกรณีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาจมีการเสนอว่าทหารต้องแบ่งอำนาจกับพลเรือน อย่างเช่นในซูดานหรือพม่า การที่มวลชนส่งลูกต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เกิดขึ้นที่ไทยด้วย ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของการต่อสู้กับเผด็จการ แต่มันก็ยังคงจะเกิดถ้ามวลชนชนะในการล้มประยุทธ์

ธงชาติและแนวคิดชาตินิยม

เกือบทุกครั้งในการประท้วงที่ไทย มีคนถือธงชาติ ผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ถือธงชาติ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวลชนคือตัวแทนของชาติมากกว่าชนชั้นปกครอง และเพื่อปกป้องตัวเองจากคนที่อยากจะใส่ร้ายว่า “ไม่รักชาติ” หรือใส่ร้ายว่าการประท้วงมีต่างชาติหนุนหลัง แต่การมองการต่อสู้ล้มเผด็จการผ่านกรอบชาตินิยม นำไปสู่การมองว่าเราไม่ควรล้มรัฐชาติ ในไทยการใช้แนวชาตินิยมของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ต้านรัฐ เป็นอีกมรดกหนึ่งของนโยบายปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของ พคท. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปฏิรูปที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบรัฐทุนนิยมได้

การปฏิวัติถาวรและพลังอำนาจคู่ขนาน

ทฤษฎี “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ และทรอตสกี เสนอว่าท่ามกลางการปฏิวัติ มวลชนกรรมาชีพควรปลดปล่อยความคิดในหัวที่จำกัดการต่อสู้ไว้แค่ในขั้นตอนการปฏิรูปรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การปกครองของกรรมาชีพและคนชั้นล่างเอง ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ มวลชนต้องสร้าง “พลังคู่ขนาน” ที่แข่งกับอำนาจรัฐเดิม เช่นสภาคนงานที่เคยเกิดในรัสเซีย ชิลี หรืออิหร่าน หรือ “คณะกรรมการต้านเผด็จการ” ในซูดาน แต่ถ้าอำนาจคู่ขนานที่มวลชนสร้างท่ามกลางการปฏิวัติ จะก้าวไปสู่การล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐใหม่ ต้องมีพรรคปฏิวัติที่คอยปลุกระดมให้มวลชนเดินหน้าเลยกรอบแนวคิดปฏิรูปที่ยึดติดกับรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ภายใต้การกำหนดรูปแบบสังคมโดยกรรมาชีพและคนจนเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

เราสามารถปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ มักจะเกิดคำถามในหมู่นักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเวลาตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในสหรัฐอเมริกาประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับการเหยียดสีผิวของตำรวจซึ่งนำไปสู่การฆ่าประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจล่าสุดเกิดจากการที่ตำรวจในเมือง Minneapolis เอาหัวเข่ากดทับคอของ George Floyd จนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ George Floyd ร้องว่าหายใจไม่ออกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แปลกประหลาดสำหรับตำรวจในสหรัฐ นำไปสู่ขบวนการประท้วง Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายต่อไปสู่อังกฤษและที่อื่นอีกด้วย

ธรรมดาแล้วเวลาตำรวจฆ่าประชาชน มักจะไม่มีการนำตำรวจเหล่านั้นมาขึ้นศาลและลงโทษ และตำรวจที่เป็นฆาตกรมักจะลอยนวลเสมอ แต่ความยิ่งใหญ่ของขบวนการประท้วง Black Lives Matter บังคับให้ทางการสหรัฐต้องนำตำรวจชื่อ Derek Chauvin มาขึ้นศาลและในที่สุดถูกจำคุก แต่ในกรณีอื่นๆ อีกมากมายก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่มีการลงโทษตำรวจเลย ชนชั้นปกครองมักปกป้องกองกำลังของตนเองเสมอ

นอกจากนี้ขบวนการประท้วง Black Lives Matter ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราสามารถยกเลิกตำรวจได้หรือไม่?” ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการรณรงค์ให้ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ แต่เราคงไม่แปลกใจที่ยังไม่มีที่ไหนที่ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ ทั้งๆ ที่ผู้แทนท้องถิ่นในบางที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ในสหรัฐ ในอังกฤษ และในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีประชาชนที่เสียชีวิตหลังจากที่เผชิญหน้ากับตำรวจ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนผิวดำ ส่วนในประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ต้องพูดถึงเลย ตำรวจจะฆ่าประชาชนตามอำเภอใจและจะลอยนวลเป็นธรรมดา

ในประเทศที่ตำรวจทุกคนถือปืนอย่างเช่นสหรัฐ ตำรวจจะยิงก่อนและถามคำถามทีหลัง แต่การตายของประชาชนจากการกระทำของตำรวจก็เกิดที่อังกฤษด้วย ในอังกฤษตำรวจจะถือปืนในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ตำรวจยังสามารถซ้อมทรมานประชาชนได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นล่าสุดในอังกฤษ ตำรวจคนหนึ่งไปข่มขืนสตรีคนหนึ่งและฆ่าทิ้ง และเมื่อมีการออกมาประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงโดยแก้ตัวว่าคนเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการรวมตัวของประชาชนในยุคโควิด นอกจากนี้ในอังกฤษมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับสายลับตำรวจที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อแทรกเข้าไปในกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มนักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยที่ตำรวจพวกนี้ฝังลึกจนไปมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมโดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ

ในไทยการกระทำของตำรวจก็ไม่ดีกว่าที่อื่น เช่นตำรวจสภ.นครสวรรค์ 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทรมานผู้ต้องหาจนตาย ในปาตานีตำรวจร่วมกับทหารในการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม และในกรณีสงครามปราบยาเสพติดมีการวิสามัญฆาตกรรม

กรณีไทยซับซ้อนกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะชนชั้นปกครองมักใช้ทหารในหน้าที่คล้ายๆ กับตำรวจ คือเข้ามาคุมสังคม ไม่ใช่แค่รบในสงครามภายนอก สาเหตุเพราะทหารไทยทำรัฐประหารบ่อยและเสือกในเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทหารอาจไม่ค่อยไว้ใจตำรวจ

ในอดีต สมัย เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. ผู้บัญชาการตำรวจกับผู้บัญชาการทหารแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในสังคมภายใต้เผด็จการ

ในยุคสงครามเย็นมีการสร้างองค์กรคล้ายๆ ทหารในตำรวจ เช่นตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรเหล่านี้สร้างขึ้นมาภายใต้คำแนะนำของสหรัฐเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ และหน่วยงานเหล่านี้ถูกใช้ในการปราบและฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

มันไม่ใช่แค่ในไทย เพราะในประเทศอิตาลี่กับสเปนมีหน่วยตำรวจที่แข่งกันและมีหน้าที่ซ้อนกัน โดยที่องค์กรหนึ่งมีลักษณะคล้ายทหารมากกว่าตำรวจ

สำหรับไทยในยุคนี้ ทหารเข้มแข็งกว่าตำรวจและคุมตำรวจได้ แต่ดูเหมือนสององค์กรนี้หากินในพื้นที่ต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ทหารหากินผ่านการคุมอำนาจทางการเมือง และตำรวจหากินโดยรีดไถประชาชนในระดับรากหญ้า

ในช่วงการประท้วงของเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดงพยายามเสนอว่าตำรวจดีกว่าทหารเพราะทักษิณเคยเป็นตำรวจ และมีการพูดถึงตำรวจในลักษณะบวก แต่ในที่สุดตำรวจก็ไม่ได้ทำตัวต่างจากทหารในเรื่องการเมืองเลย

ในช่วงที่พวกสลิ่มออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร ตำรวจนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร เพราะตำรวจระดับสูงสนับสนุนสลิ่ม

ในการประท้วงไล่ประยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้วิจารณ์ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชนว่าใช้วิธีจัดการกับม็อบไม่เป็นไปตาม “หลักสากล” และบางครั้งเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ   เลยมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ แต่ “หลักสากล” ที่เขาพูดถึงไม่เคยมีจริง

บทบาทของตำรวจที่กล่าวถึงในบทความนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่ เลนิน เคยพูดถึงเกี่ยวกับเครื่องมือของรัฐ คือในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน อธิบายว่ารัฐใช้กองกำลังในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตำรวจ ทหาร คุก กับศาล ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือชาวนา กฎหมายต่างๆ ที่ร่างกันในรัฐสภาส่วนใหญ่ก็รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ซึ่งในยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุน

นักสหภาพแรงงานในไทยและที่อื่นเข้าใจดีว่าเมื่อมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงของคนงาน ตำรวจไม่เคยเข้าข้างคนงานเลย ศาลแรงงานก็ไม่ต่างออกไป และเราเห็นชัดว่าเมื่อฝ่ายนายจ้างทำผิดเช่นไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าชดเชย กลั่นแกล้งคนงาน ก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือปล่อยสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่เคยบุกเข้าไปจับหรือตีหัวนายทุน กรณีที่มีนายทุนติดคุกเกือบจะไม่เกิดเลย และถ้าเกิดก็เพราะมีการรณรงค์จากขบวนการมวลชน ตำรวจคือเครื่องมือทางชนชั้น

ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในทุกประเทศรวมถึงไทย พยายามกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อนิยายว่าตำรวจปกป้องสังคมและดูแลประชาชน รูปปั้นหน้าสถานีตำรวจที่มีตำรวจอุ้มประชาชน เป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง ความจริงคือตำรวจอุ้มและลากประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุก และรีดไถเงินจากคนธรรมดา

วิธีครองใจพลเมืองของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับอำนาจรัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าครองใจประชาชนไม่ได้ ชนชั้นปกครองจะครองอำนาจยากและต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องแบบนั้นนานๆ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็จะไม่มีวันสร้างความสงบมั่นคงในสังคมได้เลย แค่มองข้ามพรมแดนไปที่พม่าก็จะเห็นภาพ

การสร้างตำรวจขึ้นมาในสังคมทุนนิยม เกิดขึ้นเพื่อใช้ตำรวจในการควบคุมความมั่นคงของรัฐในสังคม ในอดีตก่อนที่จะมีตำรวจ ชนชั้นปกครองต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุนของทหารกับคนธรรมดา ซึ่งเสี่ยงกับการทำให้เกิดการกบฏ ตำรวจมีหน้าที่ตีหัวประชาชน หรือใช้ก๊าซน้ำตา ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเอาทหารมาคุมมวลชนมีแต่การยิงประชาชนตายอย่างเดียว รัฐต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่เผด็จการทหารของประยุทธ์บางครั้งก็สร้างความเสี่ยงด้วยการนำทหารมาลงถนน

ในแง่หนึ่งทหารกับตำรวจต่างกันที่ทหารอาศัยทหารเกณฑ์ที่เป็นประชาชนธรรมดา มาทำหน้าที่ชั่วคราว ทหารเกณฑ์ระดับล่างเหล่านี้อาจมีจุดยืนที่ใกล้ชิดญาติพี่น้องประชาชนมากกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพระยะยาว แต่มันไม่ขาวกับดำ

การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และส่วนใหญ่มีหน้าที่ปราบคนที่สังคมตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” เป็นสาเหตุสำคัญที่ตำรวจมักมีอคติต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่ถูกกล่าวหาว่า “มัก” ก่ออาชญากรรม นี่คือสาเหตุที่ตำรวจไทยมีอคติต่อคนที่มาจากชาติพันธุ์ชายขอบ คนมาเลย์มุสลิม หรือคนจนที่ตกงานหรือเร่ร่อน และตำรวจในตะวันตกมีอคติกับคนผิวดำ

การมีผู้บัญชาการตำรวจที่เป็นคนผิวดำในสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจฆ่าคนผิวดำน้อยลง การที่อังกฤษเคยมีผู้บัญชาตำรวจที่เป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้ช่วยในการปกป้องสิทธิสตรี การมีหัวหน้าตำรวจที่เป็นมุสลิมก็ไม่ช่วยปกป้องคนมาเลย์มุสลิม เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรตำรวจจะมีสีผิว เพศ หรือชาติพันธุ์อะไร

ในที่สุดถ้าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งรวมไปถึงทั้งการปราบม็อบ อุ้มทรมาน หรือรีดไถ เราต้องรื้อถอนโครงสร้างรัฐ และทำลายระบบชนชั้น คือปฏิวัติล้มระบบนั้นเอง

แต่ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องอธิบายเพิ่ม สิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าไม่มีตำรวจประชาชนจะปลอดภัยหรือไม่? ในความเป็นจริงตำรวจไม่ได้ปกป้องประชาชนธรรมดาจากอาชญากรรมเลย ตำรวจพยายามจับผู้ร้ายหลังเกิดเหตุต่างหาก และบ่อยครั้งจับไม่ได้ด้วย ถ้าจะลดอาชญากรรมเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่นการปล้นขโมยที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสตรีที่มาจากการที่สังคมไม่เคารพสตรีและมองว่าสตรีเป็นเพศรองจากชายหรือการที่สังคมสร้างภาพว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเอาใจชายทางเพศ นอกจากนี้ต้องปรับความคิดเรื่องยาเสพติดโดยมองว่าไม่ต่างจากสุราเป็นต้น แท้จริงแล้วตำรวจในรัฐทุนนิยมปัจจุบันทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของรวย และชนชั้นปกครองพร้อมจะปิดหูปิดตาเมื่อตำรวจทำตัวเป็นอันธพาลต่อคนธรรมดา

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าเราต้องปฏิวัติล้มระบบ มันแปลว่าเราไม่ควรเสียเวลาเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่เลย! ตราบใดที่เรายังล้มระบบไม่ได้ เราต้องคอยกดดันเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเสมอ ต้องประท้วงเมื่อตำรวจทำผิด แต่เราไม่หลงคิดว่าในระยะยาวเราไม่ต้องยกเลิกตำรวจ

และคำถามสุดท้ายที่ต้องตอบคือ ถ้าเราปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยม รัฐใหม่ของเราจะมีกองกำลังติดอาวุธหรือไม่? ในระยะแรกต้องมี เพื่อปราบปรามซากเก่าของชนชั้นนายทุน แต่ที่สำคัญคือกองกำลังนี้ต้องถูกควบคุมโดยประชาชน และเป็นกองกำลังที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กองกำลัง “พิเศษ” ที่แยกจากประชาชนและอยู่เหนือประชาชน

ในยุคปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ใกล้สถานการณ์ปฏิวัติ เราต้องขยันในการเตรียมตัว คือต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเข้าใจธาตุแท้ของตำรวจและไม่ไปหวังว่าตำรวจจะรับใช้ประชาชน และต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจ(หรือทหาร)รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ

นักปฏิวัติสังคมนิยมชื่อ โรซา ลักเซมเบิร์ก เคยเสนอว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อการปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติสังคมนิยม

ในวันที่ 15 มกราคม 1919 ท่ามกลางการปราบปรามการลุกฮือของกรรมาชีพ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกฆ่าทิ้งโดยทหารฝ่ายขวาภายใต้คำสั่งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องระบบทุนนิยม หลังจากนั้นมีการโยนศพของทั้งสองคนลงคลอง และพวกชนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 กระแสปฏิวัติในประเทศต่างๆ ของยุโรปพุ่งสูง มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ ประเทศเยอรมันหลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารชั้นล่างกับคนงานยึดเมือง มิวนิค และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารชั้นล่างติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังเพื่อประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้พระเจ้าไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที

พวกสังคมนิยมเยอรมันส่วนใหญ่สองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแค่ “กลุ่มสันนิบาตสบาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคสังคมนิยมปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงไม่ได้มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ ในที่สุดไม่เข้มแข็งพอที่จะนำการปฏิวัติได้

ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยม ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยมปฏิวัติ บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์นาซีภายใต้ฮิตเลอร์

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันชื่อ เอเบอร์ด จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป วิ่งไปจับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยมแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน

ผลงานสำคัญของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เราควรศึกษาคือเรื่อง “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ที่อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องอาศัยการปฏิวัติแทนที่จะตั้งความหวังกับการปฏิรูป และเรื่อง “การนัดหยุดงานทั่วไป” ที่เสนอความสำคัญของการนัดหยุดงาน พร้อมกับอธิบายว่า “การเมืองภาพกว้าง” กับเรื่อง “ปากท้อง” เชื่อมโยงกันอย่างไร บทความเรื่องการนัดหยุดงานทั่วไปสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพไทย เพราะมีการเน้นเรื่องปากท้องเหนือการเมืองภาพกว้างมานานเกินไป

โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค

ทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตทุนนิยมสามวิกฤต คือวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และวิกฤตโลกร้อน คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนมีพลังอย่างยิ่ง และอย่าลืมด้วยว่าเผด็จการทหารที่เรามีอยู่ในไทยตอนนี้ มีรากฐานมาจากสภาพการเมืองหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและความพยายามที่จะปฏิรูประบบโดยทักษิณและไทยรักไทย

อ่านเพิ่ม: แนวความคิดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค https://bit.ly/2DtwQWo

ต้นกำเนิดเผด็จการประยุทธ์ https://bit.ly/3stTEeQ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผู้ประท้วงไม่ควรฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

ถ้าเป้าหมายในใจของผู้ประท้วงคือแค่การกดดันให้รัฐสภาพิจารณาสามข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฏร หรือส่งลูกและฝากความหวังไว้กับพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เรื่องจะจบลงด้วยการประนีประนอมที่แย่ที่สุด

ในเมื่อผู้รักประชาธิปไตยออกมาแสดงพลังเป็นแสนๆ และฝ่าการปราบปรามของตำรวจ มันจะเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเศร้าใจ

อย่าให้ใครมาบอกเราว่า “เราทำได้แค่นี้” หรือ “ต้องใจเย็นปฏิรูปไปทีละก้าว” เพราะการปฏิรูปไปทีละก้าวอาจทำให้มีการถอยหลังทีละก้าวได้ง่าย

เราพอจะเดากันได้ว่าถ้ามีการพิจารณาสามข้อเรียกร้องในสภา มีแค่ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับรัฐรรมนูญที่พวกนั้นจะยอมพิจารณา และคงจะเป็นการ “แก้” รัฐธรรมนูญในบางจุดเท่านั้น ไม่ใช่การร่างใหม่โดยประชาชนรากหญ้า

ในบทความก่อนหน้านี้ผมพยายามเสนอว่าประยุทธ์คงไม่ลาออกง่ายๆ เพราะพวกโจรเผด็จการมันลงทุนไว้เยอะ เช่นเรื่องการแต่งตั้งส.ว.และโกงการเลือกตั้งฯลฯ ถ้าประยุทธ์จะลาออกมันจะเป็นการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง และเสียหน้ามากมาย ถ้าจะทำให้เป็นจริงต้องมีการยกระดับการต่อสู้ไปสู่พลังเศรษฐกิจผ่านการนัดหยุดงานเพื่อทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ หรืออีกทางหนึ่งคือการก่อจลาจลซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะจะมีการเสียเลือดเนื้อมากมาย

ชลบุรี

การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักสหภาพแรงงานบางส่วนออกมาร่วมการประท้วงแล้วที่รังสิตกับชลบุรี การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักเรียนนักศึกษาที่นำการประท้วงได้รับความชื่นชมในสายตาประชาชนเป็นล้านๆ แต่ถ้าจะให้เกิดขึ้น นักเรียนนักศึกษาจะต้องจับมือกับนักสหภาพแรงงานที่ก้าวหน้า และวางแผนเพื่อไปเยี่ยมพูดคุยถกเถียงกับคนทำงานตามสถานที่ทำงานหลายๆ แห่ง และไม่ใช่แค่โรงงาน ควรคุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พนักงานในสำนักงาน และคนที่ทำงานในระบบคมนาคม สรุปแล้วมันต้องมีการลงทุนลงแรงในการทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นจริง พลังที่จะล้มเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นเองแบบง่ายๆ

ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สำหรับพวกเรามันเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลมากมาย และหลายคนมองว่าเป็นข้อเสนออ่อนๆ ที่ไม่ใช่การล้มเจ้า แต่สำหรับทหารมันเป็นเรื่องใหญ่มากและยอมยาก เพราะทหารใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือมา 50 ปีกว่าแล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ทหารเชิดชูเพื่อใช้ในการให้ความชอบธรรมกับระบบเผด็จการ การสร้างกษัตรย์ให้ดูเหมือนมีอำนาจดุจพระเจ้า เป็นวิธีสร้างความกลัวในหมู่ประชาชน ดังนั้นถ้าเขายอมถอยในเรื่องนี้ ทหารจะหมดความชอบธรรมในการแทรกแซงการเมือง ด้วยเหตุนี้เราต้องย้อนกลับมาดูวิธีที่จะกดดันแก๊งประยุทธ์ให้ยอมแพ้ อย่างที่เขียนไว้ข้างบน

การสร้างภาพของทหารที่มีอำนาจเหนือวชิราลงกรณ์

กษัตรย์ไทยไม่มีอำนาจในตัวเอง ทั้ง ร.9 และ ร.10 เป็นคนอ่อนแอทางการเมือง ร.10 อาจทำตัวเหมือนนักเลงกระจอกในเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขา แต่เขาสั่งการทหารไม่ได้ สาเหตุที่คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่ากษัตริย์มีอำนาจ ก็เพราะทหารและชนชั้นนำไทย รวมถึงทักษิณด้วย ได้เชิดชูกษัตริย์มานานและสร้างขึ้นมาให้ดูเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้เรากลัวที่จะตั้งคำถามกับระบบชนชั้นที่กดทับเรา และยอมจำนนต่อแนวคิดว่า “บางคนเกิดสูง บางคนเกิดต่ำ” สาเหตุที่คนจำนวนมากยอมรับความคิดแบบนี้ไม่ใช่เพราะความโง่ แต่เป็นเพราะขาดความมั่นใจที่จะคิดทวนกระแสของชนชั้นปกครอง และการขาดความมั่นใจแบบนี้มักจะหายไปเมื่อมีการเคลื่อนไหวประท้วงของมวลชน นักมาร์คซิสต์เรียกการมองปรากฏการณ์ในโลกแบบ “กลับหัวกลับหาง” ว่าเป็นอาการของสภาพแปลกแยก Alienation และเราแก้ได้ด้วยการต่อสู้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นกับตาในไทย ตอนนี้ร.10 ไมใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป แต่คนที่ตาสว่างควรจะตาสว่างเพิ่มขึ้นและเข้าใจว่าศัตรูหลักของเราคือทหารกับพรรคพวกที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ขึ้นมาแต่แรก

ถ้าจะขอให้จบที่รุ่นนี้ ต้องมีการยกระดับการต่อสู้ ไม่ใช่ส่งลูกให้นักการเมืองในรัฐสภา

ใจ อึ๊งภากรณ์

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา”

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

 

0914e64d80be42c19bea83482cac7c3b_18
พรรคนายทุนชนะการเลือกตั้ง

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

 

SW-SUPPORT-GREECE-1067x600

 

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

 

a-yanis-17-tsipras-merkel

 

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

 

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

 

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

 

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

 

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

 

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

 

athensbudget1
พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซ

 

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

 

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

 

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

 

201229195147950734_20

 

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

จุดยืนทางชนชั้นเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของพรรคการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เสนอว่าถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

การปฏิรูปสังคมและการเมืองพื้นฐานที่จะเริ่มแก้ปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง?

ในประการแรกเราต้องสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร รัฐสวัสดิการนี้ไม่ใช่การให้สวัสดิการกับคนจน มันจะต้องเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน มันต้องครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา และการดูแลคนชรา โดยที่พลเมืองไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในเรื่องการรับบริการ เพราะกองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการสร้างขึ้นจากการจ่ายภาษีของทุกคนในอัตราก้าวหน้า คือคนที่รายได้ต่ำจ่ายน้อย และคนรวยและกลุ่มทุนจ่ายมาก เราต้องมีการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มทุนใหญ่และเศรษฐี อย่างที่อาจารย์ปรีดีเคยเสนอ

การนำระบบการเก็บภาษีทางตรงแบบก้าวหน้า และการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นภาระสำหรับคนจน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

กองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ถ้าเราตัดงบประมาณทหารและสร้างสันติภาพในปาตานีผ่านการใช้วิธีทางการเมืองแทนการทหาร งบประมาณสำหรับพิธีกรรมและวิถีชีวิตของราชวงศ์ควรถูกตัดให้ “พอเพียง” เท่าเทียมกับคนธรรมดาอีกด้วย

รัฐสวัสดิการต้องถูกตรวจสอบเสมอว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำจริงในรูปธรรมได้หรือไม่ และถ้ายังไม่สำเร็จก็ควรมีการแก้ไขให้ดีขึ้น เราจะต้องไม่พูดว่าเรา “ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” เพราะคนในสังคมไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรก คนที่ด้อยโอกาสจึงต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าคนที่มีโอกาส

ดังนั้นเวลาพรรคอนาคตใหม่พูดถึงการ “ให้โอกาส” กับทุกคน มันน่าจะสร้างข้อกังวลกับคนที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการ

นอกจากการสร้างรัฐสวัสดิการแล้ว รัฐต้องลงทุนในการสร้างความก้าวหน้าทันสมัยของสังคม เช่นในการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การลงทุนในพลังงานแสงแดดและลม การกำจัดมลพิษ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ภายในประเทศในราคาที่เหมาะสม

มาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องอาศัยการขึ้นเงินเดือนหรือค่าแรงเพื่อให้พลเมืองทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต ในประเด็นนี้การแก้กฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเสรีภาพของสหภาพแรงงานมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างรัฐสวัสดิการ และมันเป็นมาตรการเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยอีกด้วย

ในเรื่องที่ดิน ควรมีการปฏิรูปให้เกษตรกรมีที่ทำกินเพียงพอ และในกรณีทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวม พลเมืองในพื้นที่ควรมีบทบาทในการร่วมบริหารการใช้อีกด้วย

และในประการสุดท้ายเราต้องช่วยกันสร้าง “ความเป็นพลเมือง” ในสังคม ควรยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ การก้มหัวให้ “ผู้ใหญ่” และการใช้ภาษาที่เน้นความไม่เสมอภาคระหว่างพลเมือง เราต้องยกเลิกการใส่เครื่องแบบของข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะครูในโรงเรียน เราต้องสร้างค่านิยมในสังคมที่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าพลเมืองจะมีเพศอะไรหรือเชื้อชาติอะไร

สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่จะต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองก้าวหน้า เพื่อการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และเราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ชนชั้น” อย่างชัดเจน เพราะอภิสิทธิ์ชน นายทุน และนายทหารระดับสูง จะรวมตัวกันเพื่อคัดค้านอย่างแน่นอน

เราต้องใช้การเมืองฝ่ายซ้ายเพื่อลบผลพวงของเผด็จการและรัฐประหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การทำลายประชาธิปไตยในระยะยาวของพวกล้าหลังที่กำลังอ้างว่า “ปฏิรูปการเมือง” ภายใต้อำนาจมืดของเผด็จการทหาร เป็นการรุกสู้สองด้านคือ ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้การรุกสู้ทำลายประชาธิปไตยและความเท่าเทียมนี้ เริ่มมาตั้งแต่รัฐประหารรอบที่แล้วในปี ๒๕๔๙

ความไม่พอใจของพวกทหารและอภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยม มาจากแนวร่วมทางการเมืองที่ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยเคยสร้างกับพลเมืองส่วนใหญ่ แนวร่วมนี้สร้างบนพื้นฐานการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง เช่นนโยบายสาธารณะสุขถ้วนหน้า นโยบายสร้างงานในชนบท หรือนโยบายพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวนาด้วยการประกันราคาข้าวเป็นต้น และเมื่อประชาชนเห็นชอบกับนโยบายดังกล่าวก็มีการแห่กันไปเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ประชาธิปไตยแบบใหม่สำหรับไทย

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอดีตเคยชินกับระบบประชาธิปไตยรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งบนพื้นฐานระบบอุปถัมภ์ โดยไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และย่อมนำไปสู่รัฐบาลผสมจากหลายพรรคเสมอ การที่มีรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ซึ่งบ่อยครั้งขาดเสถียรภาพ เป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองระบบอุปถัมภ์ เพราะมันเป็นระบบที่ “ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีและแบ่งกันกิน” ไม่มีนักการเมืองคนใดที่มีอำนาจเหนือกลุ่มการเมืองอื่น และที่สำคัญคือมีช่องว่างที่เอื้อกับการใช้อำนาจและอิทธิพลนอกระบบของทหารและข้าราชการชั้นสูงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่เมื่อมีนักการเมืองคนไหนดูท่าทางจะใหญ่เกินไป ก็มีการโค่นล้มด้วยวิธีการต่างๆ เช่นในกรณี ชาติชาย ชุณหะวัณ

หลังจากชัยชนะของทักษิณและพรรคไทยรักไทย อภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยมเริ่มค่อยๆ กังวลและไม่พอใจที่พรรคของทักษิณผูกขาดอำนาจทางการเมืองประชาธิปไตย โดยครองใจประชาชนที่เลือกพรรคไทยรักไทยอย่างเสรีและด้วยจิตสำนึก พวกนายพลและข้าราชการชั้นสูงที่เคยชินกับอำนาจนอกระบบ เริ่มพบว่าอำนาจของตนเองลดลง นักการเมืองแบบเก่า เช่นในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถแข่งแนวกับพรรคของทักษิณได้ เพราะยึดติดกับการต่อต้านนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ซึ่งเห็นชัดหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นอกจากนี้ชนชั้นกลางที่เคยเสพสุขในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ก็เริ่มไม่พอใจมากขึ้นที่รัฐบาลทักษิณเน้นการใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาชีวิตของคนธรรมดา เพื่อดึงคนส่วนใหญ่เข้ามา “ร่วมพัฒนาประเทศ” และทำให้สังคมมีความทันสมัย

ท้ายสุดพวกนักวิชาการฝ่ายขวาที่คลั่งกลไกตลาดเสรีแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” โกรธแค้นกับการที่รัฐบาลทักษิณใช้นโยบายเศรษฐกิจผสมระหว่างตลาดเสรีกับการใช้งบประมาณรัฐในการสร้างงานและพัฒนาประเทศ พวกนี้ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ปล่อยวาง” คือปล่อยให้กลุ่มทุนและคนรวยกอบโกย และปล่อยให่คนจนอดอยาก

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าทักษิณและไทยรักไทยมีวาระและผลประโยชน์ของตนเอง เขาไม่ใช่พวกสังคมนิยมที่ยึดผลประโยชน์คนทำงานเป็นหลัก ดังนั้นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและกำไรให้กลุ่มทุนใหญ่ ปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรบนพื้นฐานการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยและบริษัทใหญ่ และพร้อมจะใช้ความรุนแรงในการละเมิดสิทธิมนุษชนของประชาชนอีกด้วย กรณีปาตานีหรือสงครามยาเสพติดเป็นตัวอย่างที่ดี

ถ้าเราเข้าใจต้นเหตุความไม่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เราจะเข้าใจว่าตอนนี้พวกสัตว์เลื้อยคลานที่เข้าไปในสภาปฏิกูลกำลังทำอะไรกันอยู่ภายใต้คำโกหกว่าจะ “ปฏิรูป”

ในด้านการเมืองพวกล้าหลังเหล่านี้วางแผนจะลดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจของประชาชนที่จะเลือกแนวทางสำหรับตนเอง เขาเริ่มทำตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการปี ๒๕๕๐ แต่กำลังเร่งเครื่องทำให้เข้มข้นมากขึ้น วิธีการที่ใช้ในการหมุนนาฬิกากลับของพวกนี้ คือการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่กีดกันไม่ให้พรรคการเมืองไหนมีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาภายใต้คำโกหกเรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” ความหวังคือการกลับสู่ระบบ “ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีและแบ่งกันกิน” ที่มาจากการเมืองอุปถัมภ์  นอกจากนี้จะมีการเพิ่มอำนาจองค์กร “ไม่เคยอิสระ” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อกดทับเสียงประชาชนและนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา พูดง่ายๆ พวกอภิสิทธ์ชนและทหารต้องการมีอำนาจนอกระบบเหนือกลไกประชาธิปไตย เพราะเขามองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่ควรมีอำนาจอธิปไตย

ในด้านเศรษฐกิจ พวกคลั่งกลไกตลาดเสรีต้องการทำลายระบบสาธารณะสุขถ้วนหน้าด้วยการบังคบให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” จะมีการวางแผนกดค่าแรงและหาทางทำลายมาตรฐานการจ้างงาน จะมีการเสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคนจนมากขึ้น และจะมีการสร้างภาพว่าปรับระบบภาษีให้มีความเป็นธรรม แต่ในรูปธรรมไม่แตะเศรษฐีใหญ่กับนายทุนเลย นอกจากนี้จะมีการหาทางพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคมในราคาถูก โดยพยายามไม่ใช้งบประมาณรัฐมากเกินไป เพราะงบประมาณรัฐควรแจกให้กองทัพและคนข้างบนแทน ตามความเชื่อของพวกคลั่งกลไกตลาดเหล่านี้ การเน้นภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศจะไม่นำไปสู่การบริการประชาชนที่มีคุณภาพ

จะเห็นว่าในการปลดแอกประเทศไทยจากเผด็จการอภิสิทธ์ชนนี้ เราต้องรณรงค์ทั้งประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจของคนชั้นล่าง ของกรรมาชีพผู้ทำงานและเกษตรกรรายย่อย เราต้องเพิ่มสิทธิทางการเมืองและที่ยืนสำหรับคนชั้นล่างหรือคนธรรมดา และเราต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยการดึงเศรษฐีและนายทุนลงมา ไม่ใช่แค่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบลอยๆ หรือหวังกลับไปสู่ยุคทักษิณ นี่คือความสำคัญของการเมือง “ฝ่ายซ้าย” หรือการเมือง “สังคมนิยม” นั้นเอง

เผด็จการประยุทธ์ เราจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร?

ใจ  อึ๊งภากรณ์

(สรุปจากการประชุมคนไทยรักประชาธิปไตยที่ประเทศเด็นมาร์ค)

 

ปรากฏการณ์ล่าสุดในไทยคือการแต่งตั้งตนเองเป็นนายกของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ประยุทธ์มั่นใจในตนเอง ว่าสมุนใน “สภาทหาร” จะเลือกเขา จนประยุทธ์ไม่สนใจไปร่วมประชุมด้วย

เผด็จการของประยุทธ์ทั้งโหดร้ายและโง่ โหดร้ายเพราะขัง ทรมาน และใช้ 112 ไล่จับคนที่คิดต่าง โง่เพราะหน้าด้านปกครองเดี่ยว และสร้างภาพหน้าสมเพชว่าคืนความสุขให้ประชาชน

เผด็จการนี้ทำให้นึกถึงยุคเผด็จการก่อน 14 ตุลา นักเขียนชื่อดัง วัฒน์  วรรลยางกูร มองว่า “คสช คือเศษสวะตกค้างจากสงครามเย็น” และ สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ ชี้แจงว่า การรวบอำนาจของประยุทธ์ ใช้วิธีการที่ไม่มีการใช้มาตั้งแต่ยุคเผด็จการถนอม

ในปัจจุบันจำนวนคนไทยที่รักประชาธิปไตย ที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศมีจำนวนสูงมาก ปรากฏการณ์นี้ไม่เคยมีมานานแล้ว ครั้งก่อนจะเป็นช่วงยุค 6 ตุลา

คสช. มีแผนทำอะไร? แน่นอนพวกมันและพวกประจบสอพลอที่คอยฉวยโอกาสเลียเผด็จการ ไม่มีวันปฏิรูประบบการเมืองไทยให้มีประชาธิปไตยมากขึ้นได้ พวกนี้เป็นพวกมือเปื้อนเลือดที่ก่อรัฐประหารและปิดกั้นเสรีภาพ แต่ฝูงนักวิชาการเลื้อยคลาน มักเห่าหอนว่านี่คือการ ”ปฏิรูป”

ถ้ามีการปฏิรูปจริงมันจะมีหน้าตาอย่างไร? จะต้องมีการทำลายอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองของทหาร จะต้องมีการยกเลิกกฎหมาย 112 จะต้องมีการลงโทษพวกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและพวกที่ก่อรัฐประหาร จะต้องมีการยกเลิกองค์การ(ไม่)อิสระ และต้องมีการสร้างความเสมอภาคผ่านระบบรัฐสวัสดิการและการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย แต่เราต้องรอให้ล้มเผด็จการก่อน

ต้นเหตุของวิกฤติทางการเมืองในประเทศไทยเริ่มจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2539 ตอนนั้น ทักษิณ สามารถเสนอนโยบายที่ครองใจประชาชนในสถานการณ์วิกฤติ นโยบายของทักษิณ ไม่ใช่“ประชานิยม”แต่เป็นนโยบายที่ทำให้สังคมไทยทันสมัยและคนจนมีส่วนในสังคมมากขึ้น ทักษิณ ไม่ได้มีเจตนาที่จะท้าทายระบบการเมืองอุปถัมภ์แบบเก่าและเขาอยากปกป้องอำนาจของอำมาตย์ แต่ในรูปธรรมนโยบายของทักษิณสร้างศัตรูมากมายในแวดวงพวกอนุรักษ์นิยม นี่คือสาเหตุที่ทหาร ข้าราชการชั้นสูง และ ชนชั้นกลางล้าหลังเกลียดชังประชาธิปไตยมาตลอด

แต่เราจะหวังว่าทักษิณและพรรคพวกหรือแม้แต่ นปช. จะนำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ ทักษิณเองก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาหลายครั้ง และ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยและนปช. ก็ยอมจำนนต่อทหาร ทักษิณถึงกับเสนอแนะให้คนเสื้อแดงร่วมมือกับเผด็จการ คสช.

ถ้าเราเข้าใจที่มาของวิกฤติการเมืองไทยแบบนี้ เราจะเข้าใจด้วยว่าการเปลี่ยนรัชกาล จะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด และจะไม่กระทบต่ออำนาจของทหาร

เผด็จการ คสช. จะไม่พังเองและผลพวงของเผด็จการนี้จะไม่หายไปเองจากสังคม ยิ่งกว่านั้นเราไม่ควรลืมว่ามีคนที่กำลังติดคุกอยู่

ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจัดตั้งทางการเมืองอย่างเป็นระบบ และ จะต้องเป็นการจัดตั้งอิสระจากทักษิณ โดยเชื่อมโยงกับขบวนกับขบวนการแรงงานเพื่อใช้พลังกดดันทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยภายในประเทศเป็นเรื่องชี้ขาด และ เรากำลังรอวันที่จะมีการทำงานแบบนี้อย่างจริงจัง เราต้องตั้งคำถามกับ “องค์กรเสรีไทย” ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และเน้นการทำงานแบบไหน? เพราะถ้ามีแต่การเน้นการ“ล็อบบี้”องค์กรต่างประเทศประชาธิปไตยจะไม่เกิด

เราจะไปหวังอะไรได้จากสหรัฐอเมริกา ที่ปราบปรามประชาชนผิวดำภายในประเทศ? เราจะไปหวังอะไรได้จากรัฐบาลในยุโรปที่พร้อมจะก่อสงครามเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง? เราจะไปหวังอะไรได้จากสหประชาชาติที่ไม่เคยห้ามอาชญากรรมของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์?

บทเรียนสำคัญจากพม่าสอนให้เรารู้ว่าการประนีประนอมกับเผด็จการทหาร ไม่นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตย ดังนั้นขบวนการประชาธิปไตยในไทยต้องประกาศให้ชัดเจน ว่าจะเคลื่อนไหวเพื่อลดอิทธิพลของทหาร ยกเลิก 112 และนำคนอย่างประยุทธ์ มาลงโทษในอนาคต

ในไทยคำว่า “ปฏิรูป” หมดความหมายไปแล้ว

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้ในไทย พวกที่เกลียดชังสิทธิเสรีภาพของประชาชน และพวกที่มีส่วนร่วมในการใช้กำลังเพื่อทำลายประชาธิปไตย ได้ทำให้คำว่า “ปฏิรูป” มีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิม เราน่าจะหันมาใช้คำว่า “อปฏิรูป” หรือ “ปฏิกูล” เพื่อบรรยายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

ขอทบทวนความจริงเกี่ยวกับสภาพการเมืองหน่อย คือในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา พวกอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะเป็นทหาร คนชั้นกลาง ข้าราชการชั้นสูง นักวิชาการล้าหลัง เอ็นจีโอ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้กระทำทุกอย่างเพื่อสร้างอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการดำรงอยู่ของประชาธิปไตย การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหอกในการสร้างประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ประเด็นหลักคือพลเมืองไทยส่วนใหญ่ได้เลือกพรรคเหล่านี้ในการเลือกตั้งที่ตรงไปตรงมา ไม่มีการโกง และเขาเลือกเพราะพรรคของทักษิณมีนโยบายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างที่สำคัญคือระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้า การสร้างงานในหมู่บ้าน และการช่วยเหลือเกษตรกร ดังนั้นการแจกเงินซื่อเสียงจึงหมดความสำคัญลงในวันเลือกตั้ง

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งเพราะระบอบอุปถัมภ์แบบเก่า และการมีอำนาจนอกกรอบประชาธิปไตย ที่ทหาร ข้าราชการชั้นสูง และพรรคการเมืองเก่าเคยใช้ ดูเหมือนจะหมดยุค เขาไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ที่พรรคการเมืองของทักษิณครองใจพลเมืองส่วนใหญ่ได้ผ่านนโยบายการเมืองที่ถูกทดสอบในวันเลือกตั้ง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงพร้อมจะใช้ทุกกลไกในการล้มประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารสองรอบ การใช้กลไกศาล กกต. หรือองค์กรอิสระลำเอียง และการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงแต่ไม่เคยถูกลงโทษ

ด้วยเหตุนี้เราพอสรุปได้ว่าคนที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบัน คือประยุทธ์ จันทร์โอชา และแก๊งเผด็จการ เป็นพวกมือเปื้อนเลือดที่จงใจฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ราชประสงค์ และทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อจากนั้นหลังทำรัฐประหารก็มีการโกหกบิดเบือนความจริงตลอด และปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยอย่างโหดร้ายผ่านการกักขังและข่มขู่หรือทรมานนักโทษการเมือง

เราฟันธงได้เลยว่าคณะเผด็จการที่กำลังอ้างว่าจะริเริ่มกระบวนการ “ปฏิรูป” เป็นพวกอาชญากรที่ “ฆ่า” ประชาธิปไตย เขาเป็นพวก “อปฏิรูป-ปฏิกูล” นั้นเอง

แล้วพวกนี้จะไป “ปฏิรูป”  การเมืองทำหอกอะไรได้?

ใครมีสมองเท่าไส้เดือนคงเข้าใจเป้าหมายจริงของคณะทหาร มันต้องการเปลี่ยนกติกาการเมืองเพื่อขัดขวางการที่พลเมืองส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองและใช้สิทธิเสรีภาพ

คณะทหารต้องการ “พม่าโมเดล” คือเราไปเลือกตั้งได้ แต่ทหารและแนวร่วมประจบสอพลอยังคุมอำนาจต่อ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกฏหมายและองค์กรหรือสถาบันต่างๆ มัดมือไว้จนดิ้นไม่ได้ภายใต้ข้ออ้างว่ามันเป็นการ “ตรวจสอบ” นักการเมือง แต่อย่างที่ทุกคนเห็นทุกวันนี้ ผู้ที่อ้างว่ามีอำนาจตรวจสอบไม่เคยถูกประชาชนตรวจสอบได้เลย

แค่นี้ยังไม่แย่พอ ท่านผู้อ่านควรจะทำใจไว้เพิ่ม เพราะสิ่งที่แย่กว่านี้คือปรากฏการณ์ของพวกตอแหล โกหก โง่เขลา เลียทหาร ที่วิ่งเต้นจะไปร่วมกระบวนการ “อปฏิรูป-ปฏิกูล” ที่กำลังเกิดขึ้น และพวกสื่อมวลชนที่รายงานอย่างหน้าด้านว่า “นี่คือการปฏิรูป”

คำถามคือ พวกนี้มันโง่ หรือมันจงใจโกหกทุจริตเพื่อผลประโยชน์มันเอง? ในกรณีนักวิชาการและพวกอดีตข้าราชการหรือนักกฏหมาย รวมถึงนายทหาร ผมมองว่ามันจงใจโกหกทุจริตว่านี้คือการปฏิรูป แต่พวกเอ็นจีโอบางคน สื่อมวลชน และพวกผู้นำแรงงานน้ำเน่า อาจทั้งโง่และทั้งจงใจโกหกในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วฝูงเปรตเหล่านี้ เป็นพวก “ขยะสังคม” ที่เราจะต้องกวาดทิ้งจากการมีบทบาทในการกำหนดอนาคตของประเทศ เพราะเขาไม่เคารพพลเมืองส่วนใหญ่ ไม่ชื่นชมสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย และไม่สุจริตพอ หรือไม่ฉลาดพอ ที่จะกล้าพูดความจริง

ในเดือนต่อๆไป เราคงเห็นละครสัตว์ “อปฏิรูป-ปฏิกูล” เล่นไปบนเวทีที่ทหารสร้าง แต่ในอนาคตข้างหน้าพลเมืองไทยจะล้มกระดานเผด็จการและผลพวงทั้งหมดของพวกนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง