Tag Archives: ปฏิวัติทุนนิยม

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

รัฐทุนนิยมไทยและระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

 ถ้าเราจะเข้าใจว่าทำไมนักมาร์คซิสต์นิยามรัฐรวมศูนย์ภายใต้การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นรัฐทุนนิยม เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับศัพท์สำคัญทางรัฐศาสตร์สองคำคือ “ทุนนิยม” และ “รัฐ”

ทุนนิยม

ในหนังสือ ว่าด้วยทุน คาร์ล มาร์คซ์ ได้นิยามระบบทุนนิยมว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญที่พอจะสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้คือ

เงิน สินค้า เงิน…. (หมุนเวียนไปเรื่อยๆ)

ซึ่งถ้าเราจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ มีการลงทุน(ด้วยเงิน) เพื่อผลิตสินค้า เพื่อขายให้ได้เงินทุนกลับมา เพื่อลงทุนต่อไป…. และแน่นอนไม่มีใครจะมาลงทุนเพื่อได้ทุนกลับมาเท่าเดิม ต้องมีการเพิ่มมูลค่าของทุนในรูปแบบกำไร ที่มาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานของลูกจ้างผู้ผลิตสินค้านั้นๆ

ระบบเศรษฐกิจในยุครัชกาลที่ ๕ มีแนวโน้มไปในรูปแบบการลงทุนเพื่อการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของระบบทุนนิยมมากกว่าระบบศักดินา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งกับระบบทุนนิยมก็คือ ต้องมีการจ้างแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อได้มาซึ่งมูลค่าส่วนเกินหรือกำไร แต่แรงงานรับจ้างเป็นแรงงานที่เลือกที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ เรียกว่า “แรงงานเสรี” ต่างจากแรงงานบังคับของไพร่และทาสในระบบศักดินา และถ้ามีแรงงานรับจ้างก็ต้องมีชนชั้นนายทุนผู้เป็นนายจ้าง นี่คือที่มาของการเลิกทาส เลิกไพร่

เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญสำหรับการรองรับอำนาจของนายทุน คือความสามารถในการคุมระบบการผลิต โดยการคุมปัจจัยการผลิตและทุน ส่วนลักษณะ รูปร่าง ยศศักดิ์ ของนายทุนเป็นเรื่องรอง ดังนั้นชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยมจะมีหลายรูปแบบเช่น นายทุนเอกชน นายทุนรัฐข้าราชการ หรือนายทุนกษัตริย์ ก็ได้

คาร์ล มาร์คซ์ ในงานเขียนเกี่ยวกับอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสมัยกษัตริย์ เฮนรี่ที่ ๘ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ปกครองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ลักษณะตำแหน่งยศศักดิ์ของเฮนรี่และที่ดินของผู้ครองที่ดินรายใหญ่ในสมัยนั้น มีลักษณะแบบทุนนิยม ไม่ใช่แบบฟิวเดิล” ลักษณะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยก็มีลักษณะทุนนิยมเช่นเดียวกัน และมีนักวิชาการหลายคนยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนการทำธุรกิจนายทุนโดยใช้พระคลังข้างที่ หรือ สถาบันทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นหน่วยธุรกิจ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า:

พระองค์ทรงนำประเทศไทยในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นักธุรกิจ

กล่าวคือพระองค์ทรงเข้าร่วมลงทุน โดยผ่านพระคลังข้างที่ กับนักลงทุน

ชาวต่างประเทศ และลงทุนกิจการอสังหาริมทรัพย์อย่างแข็งขันลงทุน

ซื้อขายที่ดิน พัฒนาที่ดินย่านการค้าสำคัญเป็นตลาดหลวง และต่อมาเป็น

ตลาดพระคลังข้างที่ ทั้งยังทรงลงทุนสร้างห้องแถว

ในคำจำกัดความของคำว่า “รัฐ” ของ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขาได้อธิบายว่า “อำนาจของรัฐสมัยใหม่ เป็นแต่เพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นนั้นเอง” ส่วน เลนิน อธิบายเพิ่มในหนังสือ รัฐกับการปฏิวัติ ว่า “รัฐเป็นเครื่องมือสำหรับขูดรีดชนชั้นผู้ถูกกดขี่” โดยที่รัฐใช้อำนาจในรูปแบบกองกำลังพิเศษของผู้ติดอาวุธ ทหารและตำรวจ คุก และศาล

นักวิชาการมาร์คซิสต์ชื่อ ฮาร์แมน จากอังกฤษได้กำหนดภาระหน้าที่หลักของรัฐทุนนิยมไว้ดังนี้

  • การจัดสรรแรงงานเสรีที่มีการศึกษาและฝีมือเพื่อเป็นแรงงานรับจ้าง
  • การจัดสรรกฏหมายธุรกิจ กฏหมายกรรมสิทธิ์ และระบบเงินตรา ที่เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ
  • ปกป้องธุรกิจของนายทุนภายในประเทศจากการแข่งขันจากธุรกิจภายนอก และปัญหาการล้มละลาย
  • จัดสรรกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องผลประโยชน์นายทุน

จากงานการวิจัยของ ไชยันต์ รัชชกูร เรื่องระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้รัชกาลที่ ๕ เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติรัฐที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น มีผลต่อความสามารถในการรับภาระหน้าที่ทั้งสี่ประการของรัฐทุนนิยม

รัฐรวมศูนย์ของรัชกาลที่ ๕ จึงมีกฏเกณฑ์เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ทั่วประเทศและเป็นการสร้าง “รัฐชาติ” ของ “ประเทศไทย” เป็นครั้งแรก

การปฏิวัติทุนนิยม (Bourgeois Revolution) แบบนี้ ที่นำโดยชนชั้นปกครอง ในสถานการณ์ที่อำนาจภายนอกเข้ามาคุกคาม เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันในญี่ปุ่นสมัยการปฏิวัติเมจิ (Meiji Restoration) และถึงแม้ว่าไม่ใช่การปฏิวัติจากส่วนล่างของสังคม อย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษหรือฝรั่งเศส แต่มีผลเหมือนกันคือเป็นการปูทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยม

การปฏิวัติของชนชั้นนายทุนกระฎุมพีในไทย กระทำขึ้นก่อนหน้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กว่า 60 ปี โดยเป็นการกระทำของรัชกาลที่ ๕ และการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการทำลายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบทุนนิยมที่รัชกาลที่ ๕ เคยสร้างขึ้น เพื่อเดินหน้าต่อไปและสร้างระบบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญภายใต้ทุนนิยม

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

การเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จากยุคศักดินาสู่ยุคทุนนิยมในไทยและที่อื่น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความเร็วแตกต่างกัน บางครั้งจะเป็นการวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเวลาปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น แต่พอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงจุดที่นำไปสู่วิกฤต ที่โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองแก้ไขไม่ได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นในรูปแบบการปฏิวัติ กระบวนการแบบนี้ นักมาร์คซิสต์เรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน (Base) กับโครงสร้างส่วนบน(Super Structure)”

ท่ามกลางระบบศักดินา ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลผ่านการค้าขาย และผ่านการแข่งขันทางอำนาจกับผู้ปกครองเมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยสำคัญอันนี้ทำให้ระบบทุนนิยมเริ่มแทรกซึมเข้ามาในไทย แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าในยุคนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศไทย เพราะระบบศักดินาเป็นระบบเมือง ไม่ใช่ระบบประเทศพอระบบทุนนิยมโลกเข้ามาสัมผัสกับเศรษฐกิจไทย คนไทยสามกลุ่มสามารถพัฒนาตัวเองเป็นนายทุนได้อย่างรวดเร็ว  คนไทยสามกลุ่มนี้คือ กษัตริย์  พ่อค้าเชื้อสายจีน และ ข้าราชการ ในกรณีข้าราชการเกิดขึ้นหลัง ๒๔๗๕ ดังนั้นเราไม่ควรมองว่าสังคมไทยล้าหลังถึงขนาดที่พัฒนาเป็นระบบทุนนิยมไม่ได้

อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์และวรรณคดี ที่ชี้ให้เห็นว่าในต้นยุครัตนโกสินทร์ อิทธิพลของระบบการผลิตแบบทุนนิยมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยิ่งคือมีแนวโน้มที่จะค้าขายสินค้าที่อาศัยแรงงานในกระบวนการผลิตมากขึ้น ในขณะที่รายได้จากการควบคุมระบบการค้าขายอย่างผูกขาดลดลง ฉะนั้นแนวโน้มที่สำคัญคือ มีการลงทุนในการจ้างแรงงานและการผลิตสินค้ามากขึ้น และการขูดรีดส่วนเกินจากการผลิตดังกล่าวก็เพิ่มขึ้น     เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ภาษีที่เก็บจากการผลิตเท่ากับ 40% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐ

หลังจากที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่๔ เซ็นสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษที่เรียกว่า “สัญญาเบาริ่ง” ในปีพ.ศ. ๒๓๙๘  ระบบทุนนิยมโลกเริ่มที่จะมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที  ระบบการค้าเสรีสร้างทั้งปัญหาและโอกาสกับกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครอง

“ปัญหา” คือรายได้ที่เคยได้จากการควบคุมการค้าอย่างผูกขาดย่อมหมดไป  แต่ในขณะเดียวกันการเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับตลาดโลกให้ใกล้ชิดมากขึ้น มีผลในการ “สร้างโอกาส”มหาศาลสำหรับผู้ปกครอง ที่สามารถลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก  จะเห็นได้ว่าระหว่างช่วงพ.ศ. ๒๔๑๒/๒๔๑๗ และช่วงพ.ศ. ๒๔๑๘/๒๔๒๒ การผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 93% ในสภาพเช่นนี้ระบบศักดินาไทยที่อาศัยการเกณฑ์แรงงานในระบบการเมืองที่กระจายอำนาจ กลายเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ดังนี้คือ

(๑) ถ้าจะมีการลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก จะต้องใช้กำลังแรงงานในการขุดคลองชลประทานและการปลูกข้าวมากขึ้น และแรงงานนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม แรงงานเกณฑ์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ มักจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีจำนวนไม่พอ จะเห็นได้ว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ ผู้ปกครองไทยต้องเปลี่ยนระบบแรงงานจากแรงงานบังคับไปเป็นแรงงานรับจ้าง และต้องนำแรงงานรับจ้างเสริมเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย นอกจากนั้นชนชั้นปกครองเริ่มใช้ระบบสัญญาเช่าที่ดิน และการแจกกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบทุนนิยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตเองเพื่อส่งให้ตลาดทุนนิยม

ที่รังสิตมีระบบคลองชลประทานที่ตัดเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างชัดเจน คลองชลประทานที่ขุดขึ้นที่รังสิต ขุดโดยแรงงานรับจ้าง การลงทุนในการสร้างที่นาเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทหุ้นส่วนในระบบทุนนิยมเพื่อการผลิตส่งออก ไม่ใช่การผลิตแบบพึ่งตนเองแต่อย่างใด ผู้ที่ลงทุนคือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์และนายทุนต่างชาติ

(๒) เนื่องจากมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกกำลังยึดดินแดนรอบๆ เขตอิทธิพลของเมืองกรุงเทพฯ กษัตริย์กรุงเทพฯ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดเขตแดนที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และจำต้องหาทางสถาปนาระบบการปกครองใหม่ในรูปแบบรวมศูนย์ที่ไม่พึ่งการแบ่งอำนาจกับมูลนาย ขุนนาง และเจ้าหัวเมือง  และที่สำคัญคือการปกครองในรูปแบบใหม่จะต้องเอื้ออำนวยให้ระบบการผลิตทุนนิยมพัฒนาได้ดี ฉะนั้นจะต้องมีระบบเงินตรา ระบบธนาคาร ภาษากลาง ระบบข้าราชการ ตำรวจ และกองทัพแห่งชาติที่เกณฑ์โดยรัฐรวมศูนย์  และจะต้องมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและกิจการทางธุรกิจทั้งหลาย  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของรัชกาลที่ ๕

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคม และความขัดแย้งที่นำไปสู่การปฏิวัติสังคมไทยในครั้งนั้นมาจากสามแหล่ง คือ (๑)การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกที่เข้ามาเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมในดินแดนไทย (๒)ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกษัตริย์กับเจ้าขุนมูลนาย และความขัดแย้งกับคู่แข่งของรัชกาลที่๕ในราชวงศ์ (ดูงานของ อ.กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด)  และ (๓)ความไม่พอใจของไพร่ที่จะทำงานภายใต้ระบบแรงงานบังคับ

ถ้ารัฐใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้น ไม่ใช่รัฐในระบบศักดินา รัฐนี้เป็นรัฐของระบบการผลิตแบบไหน? ในอนาคตผมจะอธิบายว่าทำไมรัฐนี้เป็นรัฐทุนนิยมรัฐแรกของไทย และทำไมระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องถือว่าเป็นการปกครองในระบบทุนนิยมชนิดหนึ่ง

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

 

การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์แยกการปฏิวัติ “เปลี่ยนระบอบ” ออกเป็นสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติทั้งสองรูปแบบนี้ไม่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของทหาร อย่างเช่นที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดทำไปเมื่อปี ๕๗ เพราะนั้นเป็นแค่การยึดรัฐบาลโดยอันธพาลที่มีปัญญาจำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองอยู่แล้ว มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ

นักมาร์คซิสต์ชาวอเมริกาชื่อ แฮล ดเรเพอร์ เคยอธิบายว่าการปฏิวัติทางการเมือง เป็นการปฏิวัติภายในกรอบของระบบเศรษฐกิจสังคมที่ดำรงอยู่ โดยที่มีการยึดอำนาจรัฐจากคนที่เคยคุมอำนาจรัฐในอดีต รูปแบบรัฐอาจเปลี่ยน แต่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไม่เปลี่ยน

การยึดอำนาจรัฐมันยิ่งใหญ่กว่าแค่การยึดรัฐบาล ซึ่งทหารไทยทำเป็นประจำตามสันดาน

แต่ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางการเมืองคือ การปฏิวัติทางสังคม เพราะมันจะเปลี่ยนทั้งรูปแบบรัฐและลักษณะเศรษฐกิจสังคม มีการเปลี่ยนลักษณะการผลิต โดยมีการถ่ายเทอำนาจสู่ชนชั้นใหม่

ตัวอย่างของการปฏิวัติสังคมก็เช่นการปฏิวัติทุนนิยมที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ มันปูทางไปสู่การพัฒนาของระบบทุนนิยมที่เข้ามาแทนที่ระบบขุนนางฟิวเดิล มันนำไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมและความสำคัญของเมืองสมัยใหม่ มันนำไปสู่หรือมาควบคู่กับแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ เช่นแนวเสรีนิยม และในบางกรณีมันนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยในที่สุด แต่นั้นไม่ใช่ผลงานของนายทุนผู้นำการปฏิวัติ มันเป็นผลงานของชนชั้นกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพภายในระบบทุนนิยมต่างหาก

การปฏิวัติทางสังคมอาจเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคม ที่ค่อยเกิดขึ้น จนมีการปะทะกับระบบเก่า เช่นในกรณีฝรั่งเศส หรืออาจปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม อย่างเช่นในกรณีอังกฤษ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิวัติทางการเมืองในยุคปัจจุบัน คือการลุกฮือที่ล้มระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ “แบบสตาลิน” ในยุโรปตะวันออกราวๆ ปี 1989 เพราะมันแค่เปลี่ยนจาก “ทุนนิยมโดยรัฐ” ไปเป็น “ทุนนิยมตลาดเสรี” และที่สำคัญคือคนที่ยึดรัฐมักจะเกี่ยวข้องกับ หรือเป็นคนๆเดียวกันกับ ชนชั้นปกครองคอมมิวนิสต์เก่า ในยุโรปตะวันออกพวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ที่พัฒนาจากอดีตเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกเรียกว่า “คนมีชื่อ” และพวกนี้หรือญาติพี่น้องของเขามักจะแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ และนักการเมืองนายทุน แต่ที่สำคัญคือมีการล้มและทำลายระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน

ในการปฏิวัติทางการเมือง คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดในระบบเก่า ก็จะยังเป็นคนที่ถูกขูดรีดในระบบใหม่ พูดง่ายๆ กรรมาชีพในระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ก็ยังเป็นกรรมาชีพในระบบทุนนิยมตลาดเสรี ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยหรือไม่ บ่อยครั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจดีขึ้นหลังการปฏิวัติทางการเมืองก็ได้ แต่พลังการผลิตยังอยู่ในมือของคนส่วนน้อย

บ่อยครั้งการปฏิวัติทางสังคมจะเชื่อมโยงกับการปฏิวัติทางการเมือง ในกรณีอังกฤษการปฏิวัติทางสังคมที่ล้มระบบฟิวเดิลและตัดหัวกษัตรย์เกิดขึ้นในปี 1640 แต่ตามมาด้วยการปฏิวัติทางการเมืองในปี 1688 ที่เปลี่ยนลักษณะรัฐและลดบทบาทกษัตริย์อย่างถาวร ในกรณีสหรัฐอเมริกา การต่อสู้ที่เอาชนะอังกฤษและนำไปสู่อิสรภาพในปี 1776 เป็นแค่ขั้นตอนแรกของการยึดอำนาจรัฐจากอังกฤษ คือการปฏิวัติทางการเมืองนั้นเอง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม เพราะตอนนั้นมีหลายระบบซ้อนกันที่อเมริกา เช่นระบบเกษตรกรรายย่อยอิสระ ระบบทาส และหน่ออ่อนของระบการผลิตอตสาหกรรม แต่ชัยชนะของรัฐทางเหนือของอเมริกาในสงครามกลางเมือง 1861-65 เป็นชัยชนะของนายทุนเหนือพวกเจ้าของทาสในรัฐทางใต้ มันคือขั้นตอนที่สองและเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่สถาปนาทุนนิยมในสหรัฐ

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ล้มเผด็จการก็จริง แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปสู่การปฏิวัติทางสังคมที่จะสถาปนาสังคมนิยมแทนทุนนิยมได้ ในกรณีอียิปต์ดูเหมือนถอยหลังลงคลอง มีแต่ตูนิเซียที่มีระบบการเมืองใหม่

ในยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติทางสังคมที่นำไปสู่การสถาปนาทุนนิยมและรัฐทุนนิยม มักจะไม่นำโดยนายทุนที่ลุกขึ้นสู้กับระบบเก่า เพราะชนชั้นปกครองในระบบเก่าอาจมองว่าถ้าไม่ปฏิวัติตนเองกับจัดการล้มระบบเก่า จะไปไม่รอด มีสองตัวอย่างที่น่าสนใจคือไทยกับญี่ปุ่น ในกรณีญี่ปุ่นการปฏิวัติทางสังคมที่ปูทางไปสู่ทุนนิยมคือ “การปฏิวัติเมจี่” นำโดยชนชั้นปกครองเก่าที่แปรตัวไปเป็นชนชั้นนายทุนเพื่อพัฒนาความสมัยใหม่ของชาติ ในไทยการปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ ก็เช่นกัน มันเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่เปิดทางไปสู่ทุนนิยม โดยที่กษัตริย์ไทยแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ในระบอบทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ไทยมีความสมัยใหม่ ในทั้งสองกรณีมันมีการยึดรัฐและเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมโดยชนชั้นใหม่ แต่ตัวบุคคลไม่เปลี่ยน เพราะบุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพทางชนชั้นแทน

ถ้าในอนาคตมวลชนล้มเผด็จการทหารได้และเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็นสาธารณรัฐ มันจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมจากทุนนิยมที่ดำรงอยู่ปัจจุบันไปเป็นอย่างอื่น มันจะเป็นแค่การปฏิวัติทางการเมือง แต่ในพื้นที่เสรีภาพที่เพิ่มขึ้น เราจะต้องเตรียมตัวปฏิวัติทางสังคมต่อไปสู่สังคมนิยมได้