Tag Archives: ปฏิวัติสังคมนิยม

ข้อเสนอของอันโตนิโอ กรัมชี่ ต่อการสร้างพรรคและการปฏิวัติสังคมนิยม

ในยุคปัจจุบันนักวิชาการหลายคนมักบิดเบือนแนวคิดของกรัมชีจนไม่เหลือหัวใจของเรื่องแนวชนชั้น การปฏิวัติสังคมนิยม และการสร้างพรรค

อันโตนิโอ กรัมชี่ เป็นนักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่เริ่มสนใจแนวสังคมนิยมเมื่อพี่ชายส่งหนังสือพิมพ์ “Avanti!” (“เดินหน้า!”) ของพรรคสังคมนิยม มาให้อ่านเป็นประจำ ต่อมากรัมชี่มีโอกาสเรียนหนังสือต่อโดยไปพักอยู่ในบ้านของสมาชิกพรรค และในช่วงนี้เขาเริ่มอ่านงานของ คาร์ล มาร์คซ์ หลังจากนั้นเขาได้รับทุนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยแต่ปรากฏว่าเรียนไม่จบเพราะถอนตัวออกมาทำกิจการหนังสือพิมพ์ของพรรคสังคมนิยมแทน

ในเดือนธันวาคมปี 1917 กรัมชี่ เขียนบทความ “การปฏิวัติล้มทุน” เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติรัสเซียที่นำโดยพรรคบอลเชวิค บทความนี้ต่อต้านพวกแนวคิดปฏิรูปที่มองว่าสังคมนิยมในประเทศพัฒนาสามารถวิวัฒนาการได้จากระบบทุนนิยมโดยไม่ต้องมีการปฏิวัติ

กลางปี 1919 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “L’Ordine Nuovo” (“ระเบียบใหม่”) กรัมชี่ ได้เขียนบทความเรียกร้องให้กรรมาชีพยึดโรงงานและตั้งกรรมการของกรรมาชีพขึ้นมาแทนระบบบริหารของนายทุน ในปลายปีเดียวกัน “ขบวนการกรรมการคนงาน” ก็เกิดขึ้นในเมืองทูรินซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางเหนือของอิตาลี่

กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง

ในเดือนเมษายนปี 1920 มีการนัดหยุดงานทั่วไปนำโดยกรรมาชีพพื้นฐานเกิดขึ้นในเมืองทูริน ซึ่งต่อมาขยายไปเป็นคลื่นการยึดโรงงานโดยกรรมาชีพตามเมืองใหญ่ๆ ทางภาคเหนือของอิตาลี่ ยุคนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ปีสีแดง” สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยวาดภาพสถานการณ์การต่อสู้ในช่วงนี้คือใบปลิวที่ออกมาในเมืองทูริน ซึ่งเชิญชวนให้กรรมาชีพมาร่วมประชุมสหภาพแรงงานโดยนำปืนส่วนด้วย! อย่างไรก็ตามพรรคสังคมนิยมและผู้นำระดับสูงของสภาแรงงานไม่ยอมสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมาชีพอย่างจริงใจ กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ใกล้ชิดกับหนังสือพิมพ์ “L’Ordine Nuovo” จึงตัดสินใจตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ในโรงงานต่างๆ และต่อมากลุ่มเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางในการสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในปลายปี 1922 มุสโสลีนี หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์สามารถยึดอำนาจในอิตาลี่ และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถูกจับไปหลายคน ส่วน กรัมชี่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างประเทศก็รอดพ้นไปได้

ในปี 1924 กรัมชีกลับมาทำงานในอิตาลี่แต่ในไม่ช้าก็ถูกจับในปี  1926 และติดคุกถึงปี 1935 ซึ่งเป็นช่วงปลายชีวิตของเขา กรัมชี่เสียชีวิตในปี1937 ในช่วงที่เขาติดคุก กรัมชี่ ได้เขียนผลงานสำคัญที่เรียกรวมๆ ว่า “สมุดบันทึกจากคุก” เนื่องจากงานเขียนในคุกต้องผ่านการเซ็นเซอร์ของเจ้าหน้าที่ควบคุมคุก คำและภาษาที่ กรัมชี่ ใช้ในการพูดถึงประเด็นต่างๆ ทางการเมืองในบทความเหล่านี้ค่อนข้างจะอ้อมไปอ้อมมาและไม่ชัดเจนเฉพาะเจาะจง ซึ่งเปิดโอกาสให้คนอื่นที่ตามหลังมาบิดเบือนแนวคิดของเขา

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคอคมมิวนิสต์อิตาลี่เริ่มเสนอแนวปฏิรูปและค่อยๆ พยายามทำแนวร่วมกับพรรคนายทุน นักวิชาการของพรรคจึงเริ่มบิดเบือนแนวคิดของกรัมชี่ ตามมาด้วยนักวิชาการที่เป็นพวกเสรีนิยม เรื่องหลักๆที่พวกนี้บิดเบือนคือ การลบทิ้งแนวคิดปฏิวัติของกรัมชี่ และปกปิดความสำคัญของการสร้างพรรคปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน “L’Ordine Nuovo” ที่เขาเป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน กรัมชี่ เสนอว่ากรรมาชีพต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบันและเน้นรัฐสภา

ถึงแม้ว่ากรัมชี่มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกัน โดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยา ฟาสซิสต์ ของ มุสโสลีนี เพราะในช่วงแรกพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะปีก “ซ้าย” ของพรรคภายใต้การนำของบอร์ดิกา ไม่ยอมทำแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม โดยอ้างว่าผู้นำพรรคพากรรมาชีพไปหลงทางตลอด แต่กรัมชี่ พยายามอธิบายว่าคอมมิวนิสต์ควรสร้างแนวร่วมเพื่อเป็นการทดสอบผู้นำพรรคสังคมนิยมต่อหน้าสมาชิกพื้นฐาน โดยที่กรัมชี่เชื่อว่าหลังจากการทดสอบดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์จะสามารถช่วงชิงสมาชิกพื้นฐานของพรรคสังคมนิยมมาเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ได้ พร้อมกันนั้นกรัมชี่ก็ไม่เห็นด้วยกับ “ปีกขวา” ของพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย เพราะพวกนี้เห็นว่าควรสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและนายทุนชาติเพื่อต่อต้าน ฟาสซิสต์

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”

ประชาสังคม

มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ทรอตสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ในเยอรมัน และกรัมชี่ ในอีตาลี่ จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” กรัมชี่อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายใน “ประชาสังคม” (Civil Society) สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครองมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกว่าเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจทางความคิดในสังคม

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ

แนวคิดประชาสังคมของพวกนักวิชาการและเอ็นจีโอ มักเน้นชนชั้นกลาง และมองข้ามการที่หลายๆ กลุ่มและองค์กรถูกครอบงำโดยแนวคิดกระแสหลักที่คอยปกป้องสภาพสังคมภายใต้ทุนนิยม การที่เอ็นจีโอ นักวิชาการและคนชั้นกลางในไทย ออกมาจับมือกับฝ่ายรักเจ้าและโบกมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของกรัมชี่อธิบายประชาสังคมได้ดี ทุกวันนี้ทหารเผด็จการก็ยังครองอำนาจอยู่ในไทยและชักชวนให้คนจำนวนมากยอมรับกติกาการเลือกตั้งของทหาร และความจำเป็นที่จะคงไว้กฎหมาย 112 อีกด้วย

การช่วงชิงการครองใจทางความคิด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบหรือขั้นตอน ที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้ช่วงชิงการผูกขาดทางความคิดกับชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐของกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ การปฏิวัติสังคมนิยมต้องอาศัยการช่วงชิงมวลชนกรรมาชีพ ให้หลุดพ้นจากแนวคิดของชนชั้นปกครอง เพราะการปฏิวัติต้องเป็นสิ่งที่มวลชนกรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มเล็กๆ ทำแทนให้ได้ แต่การช่วงชิงความคิดจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีฐานในมวลชนกรรมาชีพ ซึ่งพรรคก็จะใช้สื่อต่างๆ ขณะที่ร่วมต่อสู้ เพื่อช่วงชิงความคิดก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ปฏิวัติ

ในขณะเดียวกันกรัมชี่เสนอว่าในหัวสมองของประชาชนธรรมดา เรามักจะมีแนวคิดที่ขัดแย้งกัน คือส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นปกครองผ่านสื่อกระแสหลัก โรงเรียน องค์กรศาสนา หรือครอบครัวของเรา แต่อีกส่วนมาจากประสบการณ์โลกจริง โดยเฉพาะเวลาเราเกิดความขัดแย้งกับอำนาจรัฐในสังคม แนวคิดหลังนี้เป็นแนวคิดเชิงกบฏ ที่พูดได้ว่าอาจเป็นหน่ออ่อนของแนวคิดสังคมนิยม

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง เพราะประสบการณ์ในการต่อสู้จะก่อให้เกิดความคิดขัดแย้งกับแนวกระแสหลักของชนชั้นปกครองเสมอ ยกตัวอย่าง เช่นกรรมาชีพที่ยังไม่มีประสบการณ์การต่อสู้กับนายจ้างอาจมองว่านายจ้างของเขาใจดี และกฎหมายของบ้านเมืองเป็นกลางและมีความเป็นธรรมก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาตัดสินใจนัดหยุดงานเพราะค่าแรงไม่พอกิน เขาอาจพบว่านายจ้างพร้อมจะจ้างนักเลงมาทำร้ายเขา และไม่ยอมขึ้นค่าแรงทั้งๆ ที่นายจ้างร่ำรวยมาจากการทำงานของคนงาน นอกจากนี้กรรมาชีพอาจพบว่าตำรวจและศาลเข้าข้างนายจ้างเสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเปลี่ยนความคิดได้ และถ้าในขณะที่กรรมาชีพกำลังสู้มีผู้ปฏิบัติการของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่พร้อมจะให้คำอธิบายโลกจริงที่แตกต่างจากกระแสหลัก กรรมาชีพยิ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยนความคิดได้เร็ว

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฎีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

มาร์คซ์เคยอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์ที่เชื่อคำหลอกลวงของชนชั้นปกครองว่าเป็นเรื่องของ “ความแปลกแยก” คือในสถานการณ์ที่คนรู้สึกว่าไร้อำนาจ เขาจะยอมเชื่อคำโกหกของคนที่มีอำนาจมากกว่า แต่พอคนเริ่มเคลื่อนไหวและมีความมั่นใจมากขึ้น เขาจะเลิกเชื่อคำโกหกต่างๆ

ถ้าความขัดแย้งในความคิดดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ชาวลัทธิมาร์คซ์ควรเข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวันหรือในเรื่องอื่น ในขณะเดียวกันพรรคปฏิวัติจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย พูดง่ายๆ กรัมชี่ เข้าใจดีว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพอย่างไร

มุมมองนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดเอ็นจีโอหรือนักวิชาการกระแสหลักที่มองว่าเราควรไปช่วยคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคมที่เป็นเหยื่อของระบบ มันไม่ใช่ว่าเราชาวมาร์คซิสต์ไม่สงสารคนแบบนี้ แต่มันเป็นเรื่องของวิธีเปลี่ยนสังคมเพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป การช่วยคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคม ไม่นำไปสู่พลังที่จะเปลี่ยนสังคม

พวกนักวิชาการฝ่ายปฏิรูปมักจะเอ่ยถึง “สงครามจุดยืน” และลบทิ้งเรื่อง “สงครามขับเคลื่อน” เพื่อบิดเบือนว่ากรัมชีคิดว่าแค่การต่อสู้ทางความคิดเพียงพอที่จะเปลี่ยนสังคม นอกจากนี้จะเห็นได้ว่านักวิชาการที่ชอบพูดถึงกรัมชี นอกจากจะไม่พูดถึงความจำเป็นที่จะปฏิวัติแล้ว ยังมองข้ามเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติ ความสำคัญของสื่อพรรคปฏิวัติ และบทบาทนำของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคมอีกด้วย ในคำพูดหรือข้อเขียนของนักวิชาการพวกนี้ทฤษฎีของกรัมชี่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ท้าทายรัฐและระบบทุนนิยมเลย มันกลายเป็นแนวคิดของพวกหอคอยงาช้าง

พรรคปฏิวัติต้องสร้างปัญญาชนขึ้นมาจากชนชั้นกรรมาชีพ

ในเรื่องปัญญาชน ซึ่งสำคัญมากในการพัฒนาความคิด กรัมชี่ไม่ได้มองว่าขบวนการกรรมาชีพต้องไปพึ่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหรือเอ็นจีโอ เหมือนว่าเป็น “ผู้รู้” ที่ชวนลงมาเพื่อสอนคนชั้นล่าง ซึ่งเราเห็นในสังคมไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่อง “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอที่มีบทบาทในการนำม็อบ นอกจากนี้กรัมชี่เปิดโปงคนที่พูดถึง “นักวิชาการอิสระ” อย่างที่เราเห็นในสังคมไทย เขามองว่าปัญญาชนย่อมมีความผูกพันกับเรื่องชนชั้น เขาเสนอว่าข้อผิดพลาดที่แล้วมาในการนิยามปัญญาชนมาจากการมองกิจการของปัญญาชนด้านเดียว โดยไม่มองว่ากิจการดังกล่าวมีความผูกพันอย่างไรกับระบบการผลิตของสังคม

กรัมชี่มองว่ามนุษย์ทุกคนคือปัญญาชน แต่ในสังคมมนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัญญาชน ในลักษณะเดียวกันการที่เราอาจทอดไข่หรือเย็บผ้าเป็นบางครั้งบางคราว ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพ่อครัวแม่ครัวหรือช่างตัดเย็บ ดังนั้นปัญญาชนมีบทบาทเฉพาะที่เกิดมาจากอดีต บทบาทดังกล่าวเกิดขึ้นมาควบคู่กันไปกับการกำเนิดชนชั้นทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นหลักๆ สิ่งที่น่าสังเกตคือชนชั้นที่ต้องการจะขึ้นมาครอบงำสังคมจำต้องหาทางครอบงำปัญญาชนยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของชนชั้นใหม่ แต่การยึดครองความคิดของปัญญาชนดังกล่าวกระทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นถ้าชนชั้นใหม่มี “ปัญญาชนอินทรีย์” ของตนเองด้วย

กรัมชี่ เสนอว่าในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” หรือ ปัญญาชนที่เติบโตจากกลุ่มคนในชนชั้นกรรมาชีพเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญญาชนที่ใกล้ชิดและพัฒนาจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องแปรตัวจากกรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” ผ่านการเคลื่อนไหวและการศึกษาทฤษฎีของพรรค อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

ประชาธิปไตยแรงงาน

กรัมชี่เน้นว่าสังคมนิยมที่เกิดจากการปฏิวัติจะเป็น “ประชาธิปไตยของแรงงาน” เขาเสนอว่า หน่ออ่อนของรัฐสังคมนิยมมีอยู่แล้วในสถาบันทางสังคมประจำวันที่ชนชั้นกรรมาชีพสร้างขึ้นเอง ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้ให้เป็นระบบรวมศูนย์ที่มีพลัง โดยที่ยังรักษาลักษณะความเป็นอิสระในการทำงานของแต่ละองค์กร เราจะสามารถสร้าง “ประชาธิปไตยแรงงาน” อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยแรงงานดังกล่าวจะเป็นกำลังหลักในการคัดค้านและต่อต้านรัฐนายทุนเพื่อหวังเข้ามาแทนที่รัฐนายทุนดังกล่าวในบทบาทการบริหารประเทศชาติ ตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่สร้างประชาธิปไตยแรงงานคือสภาคนงานหรือโซเวียด และหน่ออ่อนของสภาแบบนี้เคยเกิดขึ้นในการต่อสู้ที่อิหร่าน ชิลีและที่อื่น

สรุปแล้วงานของกรัมชี่ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติในการล้มล้างระบบทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม โดยที่มีข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับวิธีช่วงชิงความคิดในสังคม เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปฏิวัติหรือปฏิรูป?  

เวลาชาวมาร์คซิสต์พูดถึง “การปฏิวัติ” คนจำนวนมากจะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรืออาจมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติในอดีต ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกที่ดำรงอยู่ในยุคนี้ บางคนอาจมองไปถึงการยึดอำนาจด้วย “กองทัพปลดแอก” หรือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมือง แล้วสรุปว่ามันรุนแรง ไม่เอาดีกว่า ดังนั้นเราต้องอธิบายว่าการปฏิวัติหมายถึงอะไร และทำไมต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

มาร์คซ์ เขียนเป็นประจำว่าการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม เป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง จะมาปลดปล่อยกรรมาชีพหรือสร้างสังคมนิยมเพื่อยกให้คนส่วนใหญ่

เลนิน ซึ่งเคยนำการปฏิวัติจริงในรัสเซียในปี 1917 เคยนิยามการปฏิวัติว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองของสังคมโดยมวลชน  มวลชนชั้นล่างที่ถูกกดทับและขูดรีดจะ ร่วมกันลุกขึ้นกบฏโดยกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ เพื่อพยายามสร้างสังคมใหม่ท่ามกลางการพังทลายของสังคมเก่า

ทรอตสกี ซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการนำการปฏิวัติรัสเซีย เคยเสนอว่าการปฏิวัติคือจุดที่มวลชนทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และเดินหน้าทะลุกำแพงที่เคยปิดกั้นไม่ให้เขามีบทบาทในเวทีการเมือง และพร้อมกันนั้นจะมีการปลดผู้แทนเก่าของประชาชนทิ้ง และสร้างผู้แทนใหม่

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติเป็นกิจกรรมของมวลชนจำนวนมาก โดยมีชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลาง มันไม่ใช่อะไรที่กระทำโดยกลุ่มเล็กๆ ได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเพราะพรรคปฏิวัติต้องการให้มันเกิด

นอกจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทำของมวลชนเพื่อปลดแอกตนเองแล้ว มันนำไปสู่การพลิกแผ่นดินพลิกสังคม คือในสังคมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน คนธรรมดามักจะถูกกีดกันไม่ให้กำหนดนโยบายทางการเมืองหรือนำสังคม ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจในสังคมได้ อำนาจของคนธรรมดามักถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่นลัทธิความคิดที่มองว่าการปกครองต้องกระทำโดย “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนชั้นล่าง หรือการที่นายทุนใหญ่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองผ่านการลงทุน เงื่อนไขการสร้างกำไรและกลไกตลาด

ดังนั้นในการปฏิวัติ มวลชนจะลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย การขยายพื้นที่เสรีภาพนี้ จนก่อให้เกิดสังคมใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวมาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบวิภาษวิธี “จากปริมาณ สู่คุณภาพ” คือปริมาณเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมนั้นเอง

มันไม่มีหลักประกันอะไรในโลกที่จะทำให้การปฏิวัติสำเร็จเสมอ การปฏิวัติซ้อนหรือการทำลายการปฏิวัติมักใช้ความรุนแรงสูง มันไม่ใช่แค่การปราบปรามเพื่อสถาปนาระบบเดิม แต่เป็นการรุกสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาจุดอ่อนของขบวนการปฏิวัติและเพื่อแกะเปลือกและขยายความขัดแย้งภายในมวลชน จนความสามัคคีในทิศทางเป้าหมายการปฏิวัติถูกทำลายลง บ่อยครั้งลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือศาสนา จะถูกนำมาใช้ในสงครามทางชนชั้นอันนี้ ในกรณีอียิปต์เมื่อสิบปีก่อน มีการฆ่าประชาชนผู้สนับสนุนพรรคมุสลิมเป็นหมื่นๆ ขณะที่ชุมนุมบนท้องถนน โดยก่อนหน้านั้นมีการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่สนใจศาสนา ในกรณีซูดาน ฝ่ายทหารพยายามใช้วิธีป่าเถื่อนข่มขืนผู้หญิงท่ามกลางม็อบเพื่อหวังทำลายการปฏิวัติ แต่มวลชนยังสู้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เรื่องจึงยังไม่จบ

ความรุนแรงจากรัฐและกองทัพของรัฐในการปฏิวัติซ้อน คือสิ่งที่เปิดโปงคำโกหกของฝ่ายชนชั้นนำและสื่อกระแสหลักว่าการปฏิวัติของคนชั้นล่างมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง แต่ความรุนแรงไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง มันมาจากชนชั้นนำต่างหาก

การเบี่ยงเบนแนวทางปฏิวัติของคนชั้นล่างด้วยแนวคิด “ขั้นตอน” ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง

ในการปฏิวัติปลดแอกประเทศจากเจ้าอาณานิคมในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา มักเชื่อตามคำสอนของสตาลินว่าเนื่องจากประเทศของตนด้อยพัฒนา และชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนน้อย ต้องมีการสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับ “นายทุนชาติ” เพื่อสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยทุนนิยมนั้นเอง ส่วนสังคมนิยมต้องรอไปอีกนานในอนาคต แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์นำการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย อย่างเช่นจีน เวียดนาม หรือลาว พอยึดอำนาจได้แล้วก็จะรีบอ้างว่าประเทศเป็นสังคมนิยมไปแล้ว

แต่การปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ไม่ได้นำโดยมวลชน ไม่ได้นำโดยกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะการสนับสนุนกับการลุกขึ้นทำเองเป็นคนละเรื่องกัน และมันนำไปสู่ผลที่ต่างกันด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจในสังคม ไม่มีการขยายพื้นที่เสรีภาพจนเกิดสังคมใหม่ในลักษณะปริมาณสู่คุณภาพ และรัฐใหม่ที่สร้างขึ้นยังไม่ก้าวพ้นทุนนิยม เพียงแต่เปลี่ยนจากรัฐในอาณานิคมเป็นรัฐอิสระเท่านั้น มันเป็นการเบี่ยงเบนการปฏิวัติจากเป้าหมายสังคมนิยมไปสู่การปฏิรูปทุนนิยม

ในตะวันออกกลาง การสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนชาติและพรรคชาตินิยมของชนชั้นปกครองใหม่หลังอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์คล้อยตามรัฐบาลและไม่สามารถเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ต่อไปได้ ซึ่งเปิดช่องทางให้กลุ่มอื่นเข้ามาอ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจนและผู้ถูกขูดรีด กลุ่มการเมืองมุสลิมจึงเข้ามามีความสำคัญในสังคมได้

ในกรณีไทยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสร้างภาพปลอมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เพื่อเป็นข้ออ้างในการพยายามทำการปฏิวัติชาตินิยมที่สร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ และหลังจากที่ พคท. ล่มสลาย แนวคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ในลักษณะแปลกเพี้ยน คือชวนให้คนไปจับมือกับนายทุนชาติแบบทักษิณ และพาคนไปมองอำนาจกษัตริย์แบบเกินเหตุ แทนที่จะมองว่าศัตรูหลักของเสรีภาพตอนนี้คือทหารเผด็จการ

ในประเทศที่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอและยังไม่พัฒนามากนัก ในช่วงหลังจากเจ้าอาณานิคมถอนตัวออก รัฐมักถูกใช้ในการสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเราไม่ควรหลงคิดว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้คือ “สังคมนิยม” แต่อย่างใด และบ่อยครั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทในการเป็นนายทุนรัฐเองด้วย ในหลายประเทศที่เน้นการพัฒนาประเทศผ่านบทบาทของรัฐ มีการสร้างสหภาพแรงงานภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจต่อรองของกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าถ้าจะมีเสรีภาพต้องเรียกร้องให้แปรสังคมจากการเน้นรัฐมาเป็นทุนนิยมตลาดเสรี แต่ทุนนิยมตลาดเสรีไม่เคยสร้างสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แนวคิดแบบนี้ที่หลงเชิดชูกลไกตลาดถูกสะท้อนในข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอในการต้านทุนนิยมผูกขาด พวกนี้เข้าใจผิดว่าเผด็จการทหารไม่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และมองไม่ออกว่าการล้มทุนนิยมจะเป็นทางออกได้

ชนชั้นกรรมาชีพ

ในโลกปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศของโลก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง และคนที่เป็น “ลูกจ้าง”ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ชนชั้นกรรมาชีพจึงมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กรรมาชีพ แต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีอาชีพมั่นคง เขาเป็นคนจนในเมืองนั้นเอง

ถ้าเราศึกษาการปฏิวัติใน ตูนิเซีย อียิปต์ กับซูดาน จะเห็นว่าพลังของกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติล้มเผด็จการ ถึงแม้ว่าอาจเป็นชัยชนะชั่วคราวในกรณีอียิปต์ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมในกรณี ซีเรีย การปฏิวัติไม่สำเร็จและเสื่อมลงมากลายเป็นสงครามโหด เพราะในซีเรียขบวนการแรงงานถูกครอบงำโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเอาใจแรงงานบวกกับระบบสายลับของรัฐ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพจะมีพลังในการปฏิวัติต้องมีสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ สหภาพแรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิวัติอียิปต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นในจีนก็มีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐในบางแห่ง

ในกรณีซูดานขบวนการแรงงานในส่วนที่เข้มแข็งที่สุดมาจากกลุ่มครูบาอาจารย์ ทนาย และหมอ คือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั้นกลาง ในตูนิเซียขบวนการแรงงานมีบทบาทมานานตั้งแต่สมัยที่สู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีความอิสระจากรัฐระดับหนึ่ง ในอียิปต์การนัดหยุดงานในสิบปีก่อนการล้มเผด็จการทำให้มีการสร้างความเข้มแข็งพอสมควร ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝนการนัดหยุดงานมาหลายปีพร้อมกับการจัดตั้ง นี่คือสิ่งที่ เองเกิลส์ เคยเรียกว่า “โรงเรียนแห่งสงครามทางชนชั้น” 

แต่ในการปฏิวัติจีน เหมาเจอตุง ขึ้นมามีอำนาจผ่านกองทัพปลดแอกจากชนบท และคำประกาศในวันแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์คือคำสั่งให้กรรมาชีพในเมืองอยู่นิ่งๆ และทำงานต่อไป โดยไม่มีส่วนอะไรเลยในการปฏิวัติ

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมาชีพ ทั้งในการนัดหยุดงานทั่วไปที่อียิปต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในการลุกฮือนัดหยุดงานในซูดาน จะเห็นว่าในกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนสังคม บ่อยครั้งผู้ที่เป็น “ช้างเท้าหลัง” มักแซงไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำได้ ซึ่งเราก็เห็นในไทยด้วยในกรณีที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ มันทำให้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเพศในหลายมิติ มันเป็นหน่ออ่อนของการกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้า

ประท้วงที่ซูดาน

ในทุกกรณี ตูนิเซีย อียิปต์ และซูดาน การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมาชีพไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่มีการขยายจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง และกลับมาพัฒนาการต่อสู้เรื่องปากท้องอีกที อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ดังนั้นภารกิจสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมในไทยและที่อื่น คือการเกาะติดขบวนการกรรมาชีพเพื่อขยายกรอบคิดของนักเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องการเมืองเสมอ ไม่ใช่คล้อยตามแค่เรื่องปากท้อง

การขยายตัวของระบบการศึกษา เพิ่มความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมกับนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม มักจะทำลายความฝันดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว และเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกของการต่อสู้ในฐานะ “เตรียมกรรมาชีพ” ได้ ทุกวันนี้ทั่วโลก คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องไปเชื่อคนอายุมากที่ชอบบ่นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจสังคม

ปัญหาของแนวคิดปฏิรูป

การปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร แนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่า “รัฐ” คืออะไร

รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้

แนวคิดปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการหรือในการพยายามปฏิวัติในยุคปัจจุบัน คือความคิดที่เสนอว่ามวลชนมีความสำคัญในการล้มเผด็จการ แต่หลังจากนั้นต้อง “ส่งลูก” ต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เพื่อปฏิรูปสังคมและสร้างประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถสร้างรัฐใหม่ได้ เพราะอย่างที่ กรัมชี เคยอธิบาย ระบบรัฐสภาไม่สามารถทะลายกำแพงต่างๆ ใน “ประชาสังคม” ที่มีไว้ปกป้องรัฐได้ เช่นระบบการศึกษา สื่อมวลชน สถาบันศาสนา และศาล

กรัมชี

การออกมาต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนนหรือท่ามกลางการนัดหยุดงานทั่วไป เป็นแนวต่อสู้แบบ “ปฏิวัติ” แต่มันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ในหัวของมวลชน เพราะแนวคิดปฏิรูปที่อยู่ในหัวของมวลชนหลายหมื่นหลายแสนคน มักจะมองว่าเราไม่ต้องหรือไม่ควรล้มรัฐ และสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องหลักคือการ “แบ่งอำนาจ” ให้ประชาชนปกครองร่วมกับชนชั้นนำผ่านการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” ในกรณีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาจมีการเสนอว่าทหารต้องแบ่งอำนาจกับพลเรือน อย่างเช่นในซูดานหรือพม่า การที่มวลชนส่งลูกต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เกิดขึ้นที่ไทยด้วย ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของการต่อสู้กับเผด็จการ แต่มันก็ยังคงจะเกิดถ้ามวลชนชนะในการล้มประยุทธ์

ธงชาติและแนวคิดชาตินิยม

เกือบทุกครั้งในการประท้วงที่ไทย มีคนถือธงชาติ ผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ถือธงชาติ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวลชนคือตัวแทนของชาติมากกว่าชนชั้นปกครอง และเพื่อปกป้องตัวเองจากคนที่อยากจะใส่ร้ายว่า “ไม่รักชาติ” หรือใส่ร้ายว่าการประท้วงมีต่างชาติหนุนหลัง แต่การมองการต่อสู้ล้มเผด็จการผ่านกรอบชาตินิยม นำไปสู่การมองว่าเราไม่ควรล้มรัฐชาติ ในไทยการใช้แนวชาตินิยมของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ต้านรัฐ เป็นอีกมรดกหนึ่งของนโยบายปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของ พคท. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปฏิรูปที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบรัฐทุนนิยมได้

การปฏิวัติถาวรและพลังอำนาจคู่ขนาน

ทฤษฎี “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ และทรอตสกี เสนอว่าท่ามกลางการปฏิวัติ มวลชนกรรมาชีพควรปลดปล่อยความคิดในหัวที่จำกัดการต่อสู้ไว้แค่ในขั้นตอนการปฏิรูปรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การปกครองของกรรมาชีพและคนชั้นล่างเอง ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ มวลชนต้องสร้าง “พลังคู่ขนาน” ที่แข่งกับอำนาจรัฐเดิม เช่นสภาคนงานที่เคยเกิดในรัสเซีย ชิลี หรืออิหร่าน หรือ “คณะกรรมการต้านเผด็จการ” ในซูดาน แต่ถ้าอำนาจคู่ขนานที่มวลชนสร้างท่ามกลางการปฏิวัติ จะก้าวไปสู่การล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐใหม่ ต้องมีพรรคปฏิวัติที่คอยปลุกระดมให้มวลชนเดินหน้าเลยกรอบแนวคิดปฏิรูปที่ยึดติดกับรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ภายใต้การกำหนดรูปแบบสังคมโดยกรรมาชีพและคนจนเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

เบื้องหลังการกบฏที่อิหร่าน

การต่อสู้รอบล่าสุดของประชาชนอิหร่านที่ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามที่โหดร้ายป่าเถื่อนจากฝ่ายรัฐ คาดว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตเกือบสี่ร้อยคน รวมถึงเด็ก และถูกจับอีกหลายร้อย นอกจากนี้รัฐบาลประกาศประหารชีวิตผู้ถูกจับอีกด้วย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ยิ่งกว่านั้นในต้นเดือนตุลาคมกระแสกบฏลามไปสู่บางส่วนของกรรมาชีพในอุตสาหกรรมน้ำมัน มีการนัดหยุดงาน ปิดถนน และตะโกนด่าผู้นำสูงสุด อะลี คอเมเนอี ล่าสุดคนงานโรงเหล็กในเมือง อิสฟาฮาน ก็นัดหยุดงาน

นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมออกมาประท้วงอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่นำโดยนักศึกษาหญิง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการทุบผนังที่ใช้แยกนักศึกษาหญิงออกจากชาย

บนท้องถนนเวลามีการประท้วงมีการปัดผ้าโพกหัวพวกพระตกลงบนพื้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการย่อยปิดร้านค้าประท้วงอีกด้วย

การประท้วงรอบนี้เริ่มต้นจากการฆ่า มาห์ซา อามินี โดยตำรวจในขณะที่เขาถูกขังในคุกตำรวจ เขาเป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมตัว เนื่องจากเธอไม่ได้สวมฮิญาบในลักษณะ “ถูกต้อง” ตามระเบียบอนุรักษ์นิยม

โพลที่สำรวจความเห็นของประชาชน ทั้งที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนา พบว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลบังคับให้สวมฮิญาบ ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างคนที่เคร่งศาสนากับคนที่ไม่เคร่งศาสนา แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับชนชั้นนำของประเทศ

ในไม่ช้าความไม่พอใจของประชาชนขยายจากเรื่อง มาห์ซา อามินี ไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการที่สังคมไร้เสรีภาพ และประท้วงปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังของประชาชนในวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเป็นนักศึกษาและคนหนุ่มสาวที่เกลียดชังกฎหมายเผด็จการและไม่พอใจกับการที่จะตกงานและยากจนในอนาคต การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงขนาดใหญ่โดยกรรมาชีพเรื่องค่าครองชีพ การตกงาน และการตัดสวัสดิการ ซึ่งในการต่อสู้ของกรรมาชีพนี้ ไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องแต่เป็นการประท้วงรัฐบาลอีกด้วย ปีที่แล้วคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมันนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่คนงานที่ประท้วงตอนนี้และตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีสัญญาการจ้างชั่วคราว และทำงานซ่อมแซมโครงสร้างของอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนงานหลักในใจกลางอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเคยปิดการผลิตน้ำมันในการปฏิวัติปี 1979 การต่อสู้ครั้งนี้จะมีพลังมากขึ้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพในใจกลางเศรษฐกิจออกมาร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะยุติการอุดหนุนราคาอาหาร มีการประท้วงบนท้องถนนของประชาชนหลายพัน รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถพยุงราคาได้เพราะค่าอาหารพุ่งขึ้นเนื่องจากวิกฤตโลก โดยเฉพาะวิกฤตอาหารในตลาดโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน สภาพย่ำแย่ของประชาชนมาจากอีกสองสาเหตุด้วยคือ การปิดกั้นเศรษฐกิจอิหร่านโดยสหรัฐอเมริกา และการใช้นโยบายตลาดเสรีของรัฐบาลอิหร่านในรอบสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามวิดีโอที่เปิดเผยความรุนแรงของตำรวจบนท้องถนนทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธแค้น แม้แต่ในคุกเอวินในกรุงเตหะรานก็มีการต่อสู้ คุกนี้เป็นคุกสำหรับนักโทษการเมืองที่ขังปัญญาชน นักศึกษา และนักต่อสู้ผู้หญิง แต่การปราบปรามของฝ่ายรัฐคงจะมีผลทำให้หลายคนกลัว อย่างไรก็ตามคนบนท้องถนนจำนวนมากมองว่าต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อล้มรัฐบาล แต่กระแสนี้อาจเปลี่ยนได้

นักการเมืองฝ่าย “ปฏิรูป” บางคนแนะให้รัฐบาลประนีประนอมเพื่อจำกัดและลดการประท้วง แต่ดูเหมือนรัฐบาลคิดจะปราบท่าเดียว

นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในอิหร่านรายงานว่า ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกพยายามฉวยโอกาสแทรกแซงความวุ่นวายในอิหร่าน พร้อมขู่ว่าจะช่วยล้มรัฐบาล และออกมาพูดสนับสนุนผู้ประท้วง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้หลงคิดว่าสหรัฐกับตะวันตกเป็นเพื่อนของประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการแต่อย่างใด เขาจำหรือเข้าใจบทบาทตะวันตกในอดีตได้ดี ยิ่งกว่านั้นท่าทีของสหรัฐและตะวันตกเปิดโอกาสให้รัฐบาลอิหร่านโกหกว่าการประท้วงถูกจัดตั้งจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจริง

ถ้าจะเข้าใจการต่อสู้รอบนี้ เข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเข้าใจที่มาของชนชั้นปกครองอิหร่านในยุคปัจจุบัน เราต้องศึกษาการปฏิวัติ 1979

ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอิหร่าน

ในปี1979 มีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศอีหร่าน      ก่อนหน้านั้นอีหร่านปกครองโดยกษัตริย์เผด็จการที่เรียกว่า “พระเจ้าชาห์” พระเจ้าชาห์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาผู้เป็นจักรวรรดินิยมรายใหญ่และตอนนั้นประเทศอีหร่านเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์กรสายลับ “ซีไอเอ” ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพราะสหรัฐพยายามปกป้องผลประโยชน์เรื่องน้ำมันในตะวันออกกลางมาตลอด ซึ่งเห็นชัดในกรณีรัฐประหารปี 1953 ที่ล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดฆ ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง รัฐประหารนี้เกิดจากการที่ โมซัดเดฆ พยายามนำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผลของรัฐประหารคือการขึ้นมาของเผด็จการพระเจ้าชารห์

เนื่องจากพระเจ้าชาห์มีองค์กรตำรวจลับ “ซาวัค” ที่โหดร้ายทารุน และมีกองทหารสมัยใหม่ที่มีกำลังถึง 7 แสนคน เขามักอวดดีว่า “ไม่มีใครล้มกูได้”  แต่ในขณะที่อีหร่านเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันสูง ประชาชนกลับยากไร้ หมู่บ้าน87%ในประเทศในไม่มีโรงเรียน และเกือบจะไม่มีหมู่บ้านไหนเลยที่มีสถานพยาบาล      80%ของประชากรอ่านหนังสือไม่ได้อีกด้วย                 

ในปี 1977 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มักเกิดกับทุนนิยมเป็นระยะๆ ปรากฏว่ามีการนัดหยุดงานทั่วไป มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่อิสระจากอิทธิพลของตำรวจ “ซาวัค” และมีการประท้วงทุกรูปแบบ เช่นมีคนเข้าฟังกวีอ่านกลอนต่อต้านรัฐบาลถึง 2 หมื่นคน 

พอถึงกันยายนปี 1978 มีประชาชนออกมาชุมนุมต้านกษัตริย์ชาห์ 2 ล้านคนในเมืองเตหะราน กรรมาชีพส่วนที่สำคัญที่สุดของอีหร่านคือคนงานสูบและกลั่นน้ำมัน เขาก็นัดหยุดงาน พนักงานสื่อมวลชนมีการดับรายการวิทยุโทรทัศน์คืนละหนึ่งชั่วโมง พนักงานรถไฟไม่ยอมให้ตำรวจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นรถไฟ กรรมกรท่าเรือไม่ยอมขนสินค้ายกเว้นอาหารและยา   สรุปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมาชีพยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอีหร่านตอนนั้น แต่เป็นส่วนที่มีพลังมากที่สุดและเป็นส่วนที่ใช้พลังบีบระบบเศรษฐกิจจนพระเจ้าชาห์ต้องหนีออกนอกประเทศ

ฝ่ายค้าน

ปัญหาของการปฏิวัติอีหร่านในปี 1979 เป็นปัญหาเดียวกับการปฏิวัติในยุคปัจจุบันทุกครั้ง คือล้มรัฐบาลแล้วจะเอาอะไรมาแทนที่?   ตอนนั้นฝ่ายค้านมีสามพวกคือ

1.พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นการต่อสู้แบบติดอาวุธ ซึ่งมีบทบาทน้อยมากเพราะไม่สนใจบทบาทมวลชน หรือกรรมาชีพ

2.พวกพระศาสนาอิสลามที่ต่อต้านรัฐบาลเก่าเพราะขัดแย้งทางผลประโยชน์กัน พวกนี้ได้เปรียบฝ่ายซ้ายเพราะรัฐบาลพระเจ้าชาห์ไม่ค่อยกล้าปราบปรามสถาบันศาสนาโดยตรง มัสยิดจึงกลายเป็นแหล่งจัดตั้งของพระฝ่ายค้านได้ดี กลุ่มพระเหล่านี้มีฐานสนับสนุนในพวกนายทุนน้อยในตลาดตามเมืองต่างๆ แต่พร้อมจะทำงานกับนายทุนใหญ่

3.ฝ่ายซ้าย “พรรคทูเดย” แนวคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ที่ต้องการทำแนวร่วมรักชาติกับพวกพระ ตามแนวปลดแอก “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะสู้เพื่อล้มทุนนิยม

กรรมาชีพตั้งสภาคนงาน “ชอร่า”

เมื่อกรรมาชีพอีหร่านเริ่มรู้พลังของตนเอง ก็มีการตั้งสภาคนงานในรูปแบบเดียวกับ “โซเวียด” ของรัสเซีย แต่ในอีหร่านเขาเรียกว่า “ชอร่า” ซึ่งสภาคนงานนี้ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนของรัฐชนชั้นกรรมาชีพได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือฝ่ายซ้ายในอีหร่านไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพในการสร้างสังคมใหม่ เขามองว่าอีหร่าน “ยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติสังคมนิยม” และ “ต้องสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน” ตามสูตรแนวคิดลัทธิสตาลิน ฝ่ายซ้ายจึงสนับสนุนและสร้างแนวร่วมกับพวกพระศาสนาอิสลาม เพื่อ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในการต่อต้านรัฐบาลเก่า  แต่พวกพระอิสลามไม่สนใจที่จะล้มระบบทุนนิยมเลย เขาต้องการปกป้องทุนนิยมในรูปแบบชาตินิยมผสมอิสลามเท่านั้น และพวกพระพยายามทุกวิธีทางที่จะทำลายสภาคนงาน“ชอร่า”ที่ถูกตั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงด้วย

ในที่สุด ทั้งๆที่กรรมาชีพมีพลังสูง และทั้งๆที่กรรมาชีพออกมาประท้วงถึง 1.5 ล้านคนในวันแรงงานสากลปี 1979 ฝ่ายพระอิสลามที่นำโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้

ทรอตสกี กับ “การปฏิวัติถาวร”

ลีออน ทรอตสกี นักปฏิวัติรัสเซียที่เป็นคู่สหายของเลนิน เคยเสนอตั้งแต่ปี 1905 ว่าในประเทศล้าหลังถึงแม้ว่าจะมีกรรมาชีพน้อยกว่าชาวนา แต่กรรมาชีพจะต้องไม่พอใจกับการสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในกรณีที่มีการล้มเผด็จการ และจะต้องยกระดับการต่อสู้ให้เลยขั้นตอนนี้ไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยม กรรมาชีพจะไม่ได้อะไรเลย และจะยังถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป นี่คือการต่อสู้ที่เรียกว่าการ “ปฏิวัติถาวร” และในการต่อสู้แบบนี้กรรมาชีพจะต้องรบกับระบบทุนนิยมและนายทุนอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่สร้างแนวร่วมกับนายทุน แต่ในขณะเดียวกันกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมกับชาวนายากจนในชนบท

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จะเป็นไปตามที่ทรอตสกีเสนอ แต่บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังๆ เช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือฝ่ายซ้ายในอีหร่าน ก็ล้วนแต่ปฏิเสธการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น และหันมาเสนอการสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติเพื่อสร้างประชาธิปไตยของนายทุนแทน การปฏิเสธการปฏิวัติถาวรมาจากการที่สตาลินยึดอำนาจในรัสเซีย ทำลายสังคมนิยม และเปลี่ยนแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

อีหร่าน 1979    ไทย ๑๔ ตุลา

แนวทางชาตินิยมต้านจักรวรรดินิยมที่ปฏิเสธบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเสนอให้สู้เพื่อได้มาแค่ขั้นตอนประชาธิปไตยนายทุน แทนที่จะต่อสู้อย่างไม่ขาดขั้นตอนไปสู่สังคมนิยม เป็นแนวทางที่เราได้รับการสั่งสอนมาในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง แนวนี้เป็นแนวที่เปิดโอกาสให้นายทุนไทยฉวยโอกาสครอบงำการเมืองไทยหลังการล้มเผด็จการทุกครั้ง โดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเกิดขึ้นหกปีก่อนการปฏิวัติอิหร่าน แนวนี้นำกรรมาชีพไทยไปเป็นทาสรับใช้นายทุนไทย เช่นเดียวกับแนวทางที่นำกรรมาชีพอีหร่านไปสู่การเป็นทาสของนายทุนอิสลามและความพ่ายแพ้ในปี 1979

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือ (1)กรรมาชีพไม่ควรฝากความหวังไว้กับชนชั้นอื่นเลย ไม่ควรสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสู้กับจักรวรรดินิยมและสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างเดียว นายทุนชาติไม่ใช่มิตร แต่เป็นผู้ขูดรีด และประชาธิปไตยทุนนิยมไม่มีวันยกเลิกการขูดรีดดังกล่าว (2) ฝ่ายซ้ายต้องเน้นพลังมวลชนกรรมาชีพในการต่อสู้ และเข้าใจแนว “ปฏิวัติถาวร”

ปัจจุบัน

ถ้ากรรมาชีพอิหร่านเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองอีกครั้ง จะต้องต่อสู้โดยไม่หลงเชื่อว่าประชาธิปไตยนายทุนจะเพียงพอ หรือพึ่งพามิตรจอมปลอมในรูปแบบรัฐบาลตะวันตก กรรมาชีพและนักสังคมนิยมอิหร่านจะต้องผลักดันการต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจของกรรมาชีพในสังคมและมุ่งสู่สังคมนิยม ต้องเดินตามแนว “ปฏิวัติถาวร” เพราะในอดีตสิ่งที่กรรมาชีพได้จากการต่อสู้เสียสละในปี 1979 คือเผด็จการจากมัสยิดที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน และกดขี่สตรีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ฝ่ายซ้ายในไทยและที่อื่นจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ของชาวอิหร่าน พร้อมกับคัดค้านการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของตะวันตก เพราะผู้ที่จะปลดแอกสังคมคือคนอิหร่านเอง

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

เราสามารถปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ มักจะเกิดคำถามในหมู่นักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเวลาตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในสหรัฐอเมริกาประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับการเหยียดสีผิวของตำรวจซึ่งนำไปสู่การฆ่าประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจล่าสุดเกิดจากการที่ตำรวจในเมือง Minneapolis เอาหัวเข่ากดทับคอของ George Floyd จนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ George Floyd ร้องว่าหายใจไม่ออกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แปลกประหลาดสำหรับตำรวจในสหรัฐ นำไปสู่ขบวนการประท้วง Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายต่อไปสู่อังกฤษและที่อื่นอีกด้วย

ธรรมดาแล้วเวลาตำรวจฆ่าประชาชน มักจะไม่มีการนำตำรวจเหล่านั้นมาขึ้นศาลและลงโทษ และตำรวจที่เป็นฆาตกรมักจะลอยนวลเสมอ แต่ความยิ่งใหญ่ของขบวนการประท้วง Black Lives Matter บังคับให้ทางการสหรัฐต้องนำตำรวจชื่อ Derek Chauvin มาขึ้นศาลและในที่สุดถูกจำคุก แต่ในกรณีอื่นๆ อีกมากมายก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่มีการลงโทษตำรวจเลย ชนชั้นปกครองมักปกป้องกองกำลังของตนเองเสมอ

นอกจากนี้ขบวนการประท้วง Black Lives Matter ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราสามารถยกเลิกตำรวจได้หรือไม่?” ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการรณรงค์ให้ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ แต่เราคงไม่แปลกใจที่ยังไม่มีที่ไหนที่ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ ทั้งๆ ที่ผู้แทนท้องถิ่นในบางที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ในสหรัฐ ในอังกฤษ และในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีประชาชนที่เสียชีวิตหลังจากที่เผชิญหน้ากับตำรวจ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนผิวดำ ส่วนในประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ต้องพูดถึงเลย ตำรวจจะฆ่าประชาชนตามอำเภอใจและจะลอยนวลเป็นธรรมดา

ในประเทศที่ตำรวจทุกคนถือปืนอย่างเช่นสหรัฐ ตำรวจจะยิงก่อนและถามคำถามทีหลัง แต่การตายของประชาชนจากการกระทำของตำรวจก็เกิดที่อังกฤษด้วย ในอังกฤษตำรวจจะถือปืนในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ตำรวจยังสามารถซ้อมทรมานประชาชนได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นล่าสุดในอังกฤษ ตำรวจคนหนึ่งไปข่มขืนสตรีคนหนึ่งและฆ่าทิ้ง และเมื่อมีการออกมาประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงโดยแก้ตัวว่าคนเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการรวมตัวของประชาชนในยุคโควิด นอกจากนี้ในอังกฤษมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับสายลับตำรวจที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อแทรกเข้าไปในกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มนักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยที่ตำรวจพวกนี้ฝังลึกจนไปมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมโดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ

ในไทยการกระทำของตำรวจก็ไม่ดีกว่าที่อื่น เช่นตำรวจสภ.นครสวรรค์ 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทรมานผู้ต้องหาจนตาย ในปาตานีตำรวจร่วมกับทหารในการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม และในกรณีสงครามปราบยาเสพติดมีการวิสามัญฆาตกรรม

กรณีไทยซับซ้อนกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะชนชั้นปกครองมักใช้ทหารในหน้าที่คล้ายๆ กับตำรวจ คือเข้ามาคุมสังคม ไม่ใช่แค่รบในสงครามภายนอก สาเหตุเพราะทหารไทยทำรัฐประหารบ่อยและเสือกในเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทหารอาจไม่ค่อยไว้ใจตำรวจ

ในอดีต สมัย เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. ผู้บัญชาการตำรวจกับผู้บัญชาการทหารแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในสังคมภายใต้เผด็จการ

ในยุคสงครามเย็นมีการสร้างองค์กรคล้ายๆ ทหารในตำรวจ เช่นตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรเหล่านี้สร้างขึ้นมาภายใต้คำแนะนำของสหรัฐเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ และหน่วยงานเหล่านี้ถูกใช้ในการปราบและฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

มันไม่ใช่แค่ในไทย เพราะในประเทศอิตาลี่กับสเปนมีหน่วยตำรวจที่แข่งกันและมีหน้าที่ซ้อนกัน โดยที่องค์กรหนึ่งมีลักษณะคล้ายทหารมากกว่าตำรวจ

สำหรับไทยในยุคนี้ ทหารเข้มแข็งกว่าตำรวจและคุมตำรวจได้ แต่ดูเหมือนสององค์กรนี้หากินในพื้นที่ต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ทหารหากินผ่านการคุมอำนาจทางการเมือง และตำรวจหากินโดยรีดไถประชาชนในระดับรากหญ้า

ในช่วงการประท้วงของเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดงพยายามเสนอว่าตำรวจดีกว่าทหารเพราะทักษิณเคยเป็นตำรวจ และมีการพูดถึงตำรวจในลักษณะบวก แต่ในที่สุดตำรวจก็ไม่ได้ทำตัวต่างจากทหารในเรื่องการเมืองเลย

ในช่วงที่พวกสลิ่มออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร ตำรวจนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร เพราะตำรวจระดับสูงสนับสนุนสลิ่ม

ในการประท้วงไล่ประยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้วิจารณ์ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชนว่าใช้วิธีจัดการกับม็อบไม่เป็นไปตาม “หลักสากล” และบางครั้งเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ   เลยมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ แต่ “หลักสากล” ที่เขาพูดถึงไม่เคยมีจริง

บทบาทของตำรวจที่กล่าวถึงในบทความนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่ เลนิน เคยพูดถึงเกี่ยวกับเครื่องมือของรัฐ คือในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน อธิบายว่ารัฐใช้กองกำลังในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตำรวจ ทหาร คุก กับศาล ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือชาวนา กฎหมายต่างๆ ที่ร่างกันในรัฐสภาส่วนใหญ่ก็รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ซึ่งในยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุน

นักสหภาพแรงงานในไทยและที่อื่นเข้าใจดีว่าเมื่อมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงของคนงาน ตำรวจไม่เคยเข้าข้างคนงานเลย ศาลแรงงานก็ไม่ต่างออกไป และเราเห็นชัดว่าเมื่อฝ่ายนายจ้างทำผิดเช่นไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าชดเชย กลั่นแกล้งคนงาน ก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือปล่อยสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่เคยบุกเข้าไปจับหรือตีหัวนายทุน กรณีที่มีนายทุนติดคุกเกือบจะไม่เกิดเลย และถ้าเกิดก็เพราะมีการรณรงค์จากขบวนการมวลชน ตำรวจคือเครื่องมือทางชนชั้น

ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในทุกประเทศรวมถึงไทย พยายามกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อนิยายว่าตำรวจปกป้องสังคมและดูแลประชาชน รูปปั้นหน้าสถานีตำรวจที่มีตำรวจอุ้มประชาชน เป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง ความจริงคือตำรวจอุ้มและลากประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุก และรีดไถเงินจากคนธรรมดา

วิธีครองใจพลเมืองของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับอำนาจรัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าครองใจประชาชนไม่ได้ ชนชั้นปกครองจะครองอำนาจยากและต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องแบบนั้นนานๆ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็จะไม่มีวันสร้างความสงบมั่นคงในสังคมได้เลย แค่มองข้ามพรมแดนไปที่พม่าก็จะเห็นภาพ

การสร้างตำรวจขึ้นมาในสังคมทุนนิยม เกิดขึ้นเพื่อใช้ตำรวจในการควบคุมความมั่นคงของรัฐในสังคม ในอดีตก่อนที่จะมีตำรวจ ชนชั้นปกครองต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุนของทหารกับคนธรรมดา ซึ่งเสี่ยงกับการทำให้เกิดการกบฏ ตำรวจมีหน้าที่ตีหัวประชาชน หรือใช้ก๊าซน้ำตา ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเอาทหารมาคุมมวลชนมีแต่การยิงประชาชนตายอย่างเดียว รัฐต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่เผด็จการทหารของประยุทธ์บางครั้งก็สร้างความเสี่ยงด้วยการนำทหารมาลงถนน

ในแง่หนึ่งทหารกับตำรวจต่างกันที่ทหารอาศัยทหารเกณฑ์ที่เป็นประชาชนธรรมดา มาทำหน้าที่ชั่วคราว ทหารเกณฑ์ระดับล่างเหล่านี้อาจมีจุดยืนที่ใกล้ชิดญาติพี่น้องประชาชนมากกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพระยะยาว แต่มันไม่ขาวกับดำ

การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และส่วนใหญ่มีหน้าที่ปราบคนที่สังคมตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” เป็นสาเหตุสำคัญที่ตำรวจมักมีอคติต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่ถูกกล่าวหาว่า “มัก” ก่ออาชญากรรม นี่คือสาเหตุที่ตำรวจไทยมีอคติต่อคนที่มาจากชาติพันธุ์ชายขอบ คนมาเลย์มุสลิม หรือคนจนที่ตกงานหรือเร่ร่อน และตำรวจในตะวันตกมีอคติกับคนผิวดำ

การมีผู้บัญชาการตำรวจที่เป็นคนผิวดำในสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจฆ่าคนผิวดำน้อยลง การที่อังกฤษเคยมีผู้บัญชาตำรวจที่เป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้ช่วยในการปกป้องสิทธิสตรี การมีหัวหน้าตำรวจที่เป็นมุสลิมก็ไม่ช่วยปกป้องคนมาเลย์มุสลิม เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรตำรวจจะมีสีผิว เพศ หรือชาติพันธุ์อะไร

ในที่สุดถ้าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งรวมไปถึงทั้งการปราบม็อบ อุ้มทรมาน หรือรีดไถ เราต้องรื้อถอนโครงสร้างรัฐ และทำลายระบบชนชั้น คือปฏิวัติล้มระบบนั้นเอง

แต่ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องอธิบายเพิ่ม สิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าไม่มีตำรวจประชาชนจะปลอดภัยหรือไม่? ในความเป็นจริงตำรวจไม่ได้ปกป้องประชาชนธรรมดาจากอาชญากรรมเลย ตำรวจพยายามจับผู้ร้ายหลังเกิดเหตุต่างหาก และบ่อยครั้งจับไม่ได้ด้วย ถ้าจะลดอาชญากรรมเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่นการปล้นขโมยที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสตรีที่มาจากการที่สังคมไม่เคารพสตรีและมองว่าสตรีเป็นเพศรองจากชายหรือการที่สังคมสร้างภาพว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเอาใจชายทางเพศ นอกจากนี้ต้องปรับความคิดเรื่องยาเสพติดโดยมองว่าไม่ต่างจากสุราเป็นต้น แท้จริงแล้วตำรวจในรัฐทุนนิยมปัจจุบันทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของรวย และชนชั้นปกครองพร้อมจะปิดหูปิดตาเมื่อตำรวจทำตัวเป็นอันธพาลต่อคนธรรมดา

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าเราต้องปฏิวัติล้มระบบ มันแปลว่าเราไม่ควรเสียเวลาเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่เลย! ตราบใดที่เรายังล้มระบบไม่ได้ เราต้องคอยกดดันเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเสมอ ต้องประท้วงเมื่อตำรวจทำผิด แต่เราไม่หลงคิดว่าในระยะยาวเราไม่ต้องยกเลิกตำรวจ

และคำถามสุดท้ายที่ต้องตอบคือ ถ้าเราปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยม รัฐใหม่ของเราจะมีกองกำลังติดอาวุธหรือไม่? ในระยะแรกต้องมี เพื่อปราบปรามซากเก่าของชนชั้นนายทุน แต่ที่สำคัญคือกองกำลังนี้ต้องถูกควบคุมโดยประชาชน และเป็นกองกำลังที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กองกำลัง “พิเศษ” ที่แยกจากประชาชนและอยู่เหนือประชาชน

ในยุคปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ใกล้สถานการณ์ปฏิวัติ เราต้องขยันในการเตรียมตัว คือต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเข้าใจธาตุแท้ของตำรวจและไม่ไปหวังว่าตำรวจจะรับใช้ประชาชน และต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจ(หรือทหาร)รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ

นักปฏิวัติสังคมนิยมชื่อ โรซา ลักเซมเบิร์ก เคยเสนอว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อการปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทบาทเลนินในการปฏิวัติรัสเซีย 1917

เลนินพูดกับทรอตสกีว่า “สำหรับคนที่เคยถูกปราบปราม เคยถูกจำคุกมานาน อย่างเรา พอได้อำนาจรัฐแล้ว รู้สึกเวียนหัว”  จะเห็นได้ว่าในเรื่องขั้นตอนต่อไปในการสร้างสังคมนิยม เลนินก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน

การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 เกิดขึ้นเมื่อพรรคบอลเชวิคและแนวร่วมได้รับเสียงข้างมากในสามสภาโซเวียตของ กรรมาชีพ ทหาร และ ชาวนา

แต่พวกฝ่ายปฏิรูปทั้งหลาย เช่นพวกเมนเชวิค ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะอยู่รอดได้นานกว่า 2-3 วัน เพราะพวกนี้ไม่เข้าใจว่ากระแสการปฏิวัติฝังลึกลงไปในมวลชนแค่ไหน

ในการประชุมผู้แทนสภาโซเวียตครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการปฏิวัติตุลาคมหนึ่งวัน นักสังเกตการณ์จากฝ่ายที่คัดค้านพรรคบอลเชวิค เล่าให้นักข่าวอเมริกันที่ชื่อ จอห์น รีด (John Reed) ฟังอย่างดูถูกว่า “พวกผู้แทนชุดใหม่นี้ต่างจากผู้แทนชุดก่อน ดูสิ พวกนี้มันหยาบและหน้าตาโง่มาก พวกนี้เป็นคนดำๆทั้งนั้น”  จอห์น รีด ซึ่งเป็นนักข่าวมาร์คซิสต์ อธิบายว่าข้อสังเกตนี้มีความจริงอยู่มาก “ความปั่นป่วนในสังคมที่เกิดขึ้น เสมือนเอาไม้ไปคนน้ำแกงจนส่วนล่างของสังคม ขึ้นมาเป็นส่วนบน คนดำๆได้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง”

ส่วน มาร์ทอฟ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเมนเชวิคที่คัดค้านเลนิน ต้องยอมรับว่า “กรรมาชีพทั้งชนชั้นหันมาสนับสนุนเลนิน” 

ในจำนวนผู้แทนทั้งหมดของสภาโซเวียต 650 คน มีตัวแทนของพรรคบอลเชวิค 390 คน และผู้แทนของ “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย” (แนวร่วมของพรรคบอลเชวิคในหมู่ชาวนายากจน) ประมาณ 160 คน  ส่วนพรรคเมนเชวิค และ พรรคปฏิวัติสังคมซีกขวา มีผู้แทนน้อยกว่า 100 คน พวกอนาธิปไตยไม่มีอิทธิพลอะไรเลย และไม่มีบทบาทในการปฏิวัติ

กรรมการบริหารชุดแรกของสภาโซเวียต หรือ “รัฐบาลใหม่” มีผู้แทนของ พรรคบอลเชวิค 14 คน พรรคปฏิวัติสังคม (ทั้งสองซีก) 7 คน และพรรคเมนเชวิค 3 คน  แต่พวกเมนเชวิค และปฏิวัติสังคมซีกขวาไม่ยอมทำงานร่วมกับพรรคบอลเชวิค และเดินออกจากสภา  ทรอตสกีส่งท้ายการเดินออกของพวกนี้ว่า “ไปเถิด ไปลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย” และมวลชนที่เป็นผู้แทนคนชั้นล่างก็พากันตบมือ

มาตรการหลักของรัฐบาลปฏิวัติ

(๑) สันติภาพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยกเลิกการเจรจาทางทูตแบบลับๆ กับเยอรมัน เจราจาทุกครั้งอย่างโปร่งใสต่อหน้าสาธารณะชน

(๒) ยกเลิกที่ดินส่วนตัวของเจ้าที่ดิน ยกที่ดินให้ชาวนาใช้ทันที่ตามความต้องการของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการยืนยันการยึดที่ดินที่ชาวนายากจนกระทำไปแล้ว

(๓) ประกาศสิทธิเสรีภาพให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย

(๔) กรรมกรต้องควบคุมระบบการผลิต และระบบการเงิน ผ่านโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากกรรมกรโดยตรง

(๕) ผู้แทนทุกคนในสภาคนงานถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อถ้าฝ่าฝืนมติคนส่วนใหญ่

(๖) สตรีทุกคนได้สิทธิเต็มที่ และได้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในโลก

(๗) แยกศาสนาออกจากรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียน

นอกจากนี้แล้วก็มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเก่าที่เลือกมาภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมเพื่อให้สภาโซเวียตเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจในรัฐใหม่ สภาโซเวียตเป็นระบบที่ใช้สถานที่ทำงานเป็นเขตเลือกตั้ง  

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันแรกของการทำงาน รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ก้าวหน้ากว่ารัฐบาลของนักการเมืองนายทุนทุกชุด ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาของการอยู่รอด

การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นหลังการสู้รบในสงครามโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนี้รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว  ร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลโซเวียตเจรจาสันติภาพกับกองทัพเยอรมัน รัสเซียต้องยอมเสีย 33% ของดินแดนที่ผลิตผลผลิตเกษตร   27% ของรายได้รัฐ  70% ของอุตสาหกรรมเหล็ก  70% ของแหล่งผลิตถ่านหิน  และ 50% ของโรงงานอุตสาหกรรม ให้รัฐบาลเยอรมัน  ในสภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกใจที่เลนินกล่าวว่า “เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน เราจะพินาศ”

สงครามกลางเมืองจากฝ่ายขวาและนโยบายเศรษฐกิจ “คอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม”

ในเดือนพฤษภาคม 1918 ประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่กลัวการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียที่อาจแพร่ไปสู่ประเทศอื่น ได้รวมหัวกันส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติรัสเซียถึง 14 กองทัพ นอกจากนี้ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก็ก่อ “กองทัพขาว” ขึ้นมาด้วย

มาตรการ “เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอดของการปฏิวัติ มีการยึดโรงงานและธุรกิจต่างๆ มาเป็นของรัฐศูนย์กลาง มีการกำหนดส่วนแบ่งอาหารให้ประชาชนโดยที่ผู้ใช้แรงหนัก และทหารได้มากกว่าผู้อื่น แต่ผู้นำพรรคได้เท่ากับประชาชนธรรมดา  มีการยึดผลผลิตจากชาวนาร่ำรวยที่กักอาหารไว้

ทรอตสกี อธิบายว่า “ระบบคอมมิวนิสต์แบบนี้ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ในยามวิกฤตแห่งสงคราม”

มาตรการทางทหาร ทรอตสกีได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแดง และใช้หลายมาตรการในการต่อสู้กับกองทัพขาวและกองทัพของมหาอำนาจ จนได้รับชัยชนะ เช่น

(๑) ใช้ความคิดทางการเมืองในการนำการต่อสู้   เลนินสังเกตว่า “เราได้รับชัยชนะเพราะทหารของกองทัพแดงเข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง กองทัพของเราเสียสละอย่างสุดยอดในการกำจัดพวกกดขี่ระยำทั้งหลาย”

(๒) ทรอตสกีใช้ผู้นำทางการเมืองควบคู่กับผู้นำทางทหารในกองกำลังทุกกอง มีรถไฟปลุกระดมพิเศษที่เคลื่อนย้ายจากจุดต่างๆ ในสนามรบ โดยที่มีโรงพิมพ์และโรงหนังเพื่อปลุกระดมกองทัพแดง และประชาชน

หลังจากที่กองทัพแดงได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าปัญหาทางทหารจะลดลง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งทวีขึ้น เนื่องจากความเสียหายในสงครามกลางเมือง เลนินสังเกตว่า “รัสเซียผ่านการต่อสู้มา 7 ปี เหมือนคนที่ถูกรุมซ้อมจนเกือบตาย นับว่าโชคดีที่ยังเดินด้วยไม้เท้าได้”  ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนัก และบางส่วนแสดงความไม่พอใจในรัฐบาลบอลเชวิค

ที่ป้อม Kronstadt ทหารรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นหัวหอกการปฏิวัติเหมือนในปี 1917 เขาเป็นพวกลูกชาวนาที่เดือดร้อนจาก“เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” และได้อิทธิพลจากความคิดอนาธิปไตย พวกอนาธิปไตยที่ Kronstadt จับอาวุธเข้ากับฝ่ายกองทัพขาว กบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และเรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีตัวแทนพรรคบอลเชวิค ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้การปฏิวัติพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ทรอตสกีกับเลนินจึงจำเป็นต้องปราบด้วยความหนักใจ

ถ้าทรอตสกีกับเลนิน ไม่นำการรบในสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายขาวและมหาอำนาจตะวันตกก่อขึ้น คำว่า “ฟาสซิสต์” จะเป็นคำภาษารัสเซียแทนภาษาอิตาลี่ เพราะมันจะยึดอำนาจแน่นอน

รัฐบาลบอลเชวิคเข้าใจว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ จึงมีการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อซื้อเวลารอการปฏิวัติในเยอรมันและประเทศอื่นๆ

นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (N.E.P.)

นโยบายเศรษฐกิจใหม่(“เน๊พ”) ที่รัฐบาลนำมาใช้ต้องถือว่าเป็นการเดินถอยหลังกลับสู่ระบบกึ่งทุนนิยม เพื่อซื้อเวลา สาเหตุหลักที่ต้องถอยหลังคือความล้มเหลวในการปฏิวัติเยอรมันปี 1918 ซึ่งมีผลให้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เป็นผู้นำสำคัญ ถูกฆ่าตาย  นอกจากนี้การพยายามปฏิวัติในประเทศ ฮังการี่ บัลแกเรีย และ อังกฤษ ในช่วงนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน  ประเด็นสำคัญในความล้มเหลวของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ คือการที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์อย่างพรรคบอลเชวิค

ประเด็นสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่มีดังนี้คือ

(๑) ฟื้นฟูกลไกตลาดโดยปล่อยให้มีการค้าขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกับชาวนาในชนบท ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนาร่ำรวยกับชาวนายากจนมีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วทำให้เกิดพวกพ่อค้ารุ่นใหม่ขึ้นที่ใครๆ เรียกว่า “พวกนายทุนเน๊พ” ซึ่งในที่สุดพวกนี้ก็เกิดความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและพรรคบางคน

(๒) ยกเลิกการยึดผลผลิตเกษตรกรรม แต่เก็บภาษีแทน

(๓) มีการใช้ระบบคุมงานและกลไกตลาดในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพเสียประโยชน์

เลนินเห็นว่านโยบายนี้จำเป็น แต่เป็นห่วงอย่างยิ่ง “นโยบายใหม่จะทำลายสังคมนิยมถ้าเราไม่ระวัง ….  ใครเป็นคนกำหนดแนวทางของรัฐกันแน่? คนงาน หรือ กลุ่มผลประโยชน์?”

ในเดือน มกราคม 1924 เลนินเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาป่วยมาหลายเดือนหลังจากที่ถูกคนจากพรรคสังคมปฏิวัติลอบฆ่า เขาทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเป็นโรคเส้นโลหิตแตกในสมองด้วย ก่อนที่เลนินจะเสียชีวิต เขาได้เขียนบทความหลายบทความที่เตือนถึงภัยต่างๆที่กำลังเกิดกับการปฏิวัติกรรมาชีพในรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

(๑) นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้ทุนนิยมกลับมาได้

(๒) ปัญหากำลังเกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน

(๓) รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแล้ว

(๔) ผู้นำบางคน เช่น สตาลิน กำลังฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม

(๕) เลนินเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรนำของพรรคเพื่อลดบทบาทของข้าราชการแดงลง

แต่ในช่วงนี้ เลนินไม่สามารถลงไปปลุกระดมความคิดในหมู่กรรมาชีพพื้นฐาน อย่างที่เคยทำในอดีตได้ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ ความคิดของเลนินจึงมีอิทธิพลน้อย

พินัยกรรมของเลนิน

“สตาลินไม่เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการของพรรคต่อไป สมาชิกพรรคควรหาทางปลดเขาออกจากตำแหน่ง” ….  “สตาลินมีอำนาจมากเกินไปและผมไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางที่ถูกหรือไม่”

ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียไม่ได้มาจากความผิดพลาดของเลนิน หรือการที่พรรคบอลเชวิคนำการปฏิวัติแต่อย่างใด         และไม่ได้มาจากนโยบาย “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของพรรคบอลเชวิคอีกด้วย  แต่เกิดจากการที่กรรมาชีพรัสเซียไม่สามารถแพร่ขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปที่พัฒนามากกว่ารัสเซียในโอกาสนั้น ความพยายามของกรรมาชีพรัสเซียที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ที่จบลงในที่สุดด้วยความพ่ายแพ้และเผด็จการของสตาลิน เพียงแต่เป็นรอบแรกในการต่อสู้เพื่อล้มระบบทุนนิยมของกรรมาชีพโลก อนาคตของสังคมนิยมยังแจ่มใส ถ้าเราเรียนบทเรียนจากการทำงานของเลนิน

[คัดจากหนังสือเล่มเล็ก “วิธีการสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” สำนักพิมพ์ กปร. ๒๕๔๒]

ปัญหาของการปลีกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพแรงงานแดง

เลนิน เคยเขียนว่า “พวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* เวลามองสหภาพแรงงาน มักจะตะโกนเรียกหามวลชน! มวลชน! แล้วไม่ยอมทำงานในสหภาพแรงงาน ปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่ามันล้วนแต่ปฏิกิริยา(เหลือง) เสร็จแล้วก็ไปประดิษฐ์สหภาพแรงงานกรรมาชีพแบบใหม่ที่ขาวสะอาด ที่ไม่เปรอะเปื้อนกับแนวคิดเสรีนิยมของนายทุน และไม่คับแคบ ซึ่งพวกเขามองว่าองค์กรดังกล่าวจะกลายเป็นองค์กรกว้างใหญ่ โดยมีเงื่อนไขเดียวในการเข้าเป็นสมาชิก คือต้องสนับสนุนระบบโซเวียด!

ความโง่เขลาที่ทำลายการปฏิวัติมากกว่านี้คงไม่มี…. ถ้าเราทำงานแบบนั้น เราจะปล่อยให้ฝ่ายขวาผูกขาดอิทธิพลเหนือมวลชนในสหภาพแรงงาน… เพราะภาระของชาวคอมมินิสต์คือการโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้พัฒนาทางความคิด ให้หันมามีจิตสำนึกก้าวหน้า เราต้องทำงานในองค์กรที่มีคนล้าหลังแบบนั้น ไม่ใช่ไปสร้างรั้วเพื่อแยกตัวออกจากเขาด้วยวาจา *ซ้าย* นามธรรมแบบเด็กๆ

เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้นำแรงงานอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย จะขอบคุณพวก *คอมมิวนิสต์ซ้าย* ที่ถอนตัวออกและไม่ยอมทำงานภายในสหภาพแรงงาน *เหลือง* และแน่นอนพวกผู้นำสหภาพเหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการเขี่ยเราออกไปจากสหภาพแรงงานต่างๆ แต่เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่ในสหภาพแรงงาน เพื่อปลุกระดมแนวความคิดฝ่ายซ้าย”

[จากโรคไร้เดียงสา “ฝ่ายซ้าย” ในขบวนการคอมมิวนิสต์ โดย วี.ไอ. เลนิน หัวข้อ “นักปฏิวัติควรทำงานในสหภาพแรงานปฏิกิริยาหรือไม่?”]

*สหภาพคนทำงาน* ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กรสหภาพคนทำงานไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้

มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ ซึ่งถ้าเราจะทำเราต้องมีพรรคสังคมนิยมมาร์คซิสต์

ดังนั้นต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก

บางคนอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ และกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน

นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนส่วนน้อยที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้าได้

ใจอึ๊งภากรณ์

ทำไมต้องมีการปฏิวัติสังคมนิยม -สามวิกฤตของทุนนิยมปัจจุบัน

ยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม ซึ่งทั้งสามวิกฤตมีผลซึ่งกันและกัน และท้าทายความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งโลก

1. วิกฤตที่หนึ่ง  วิกฤตโควิด

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

คนที่ตกงาน เด็กๆ หรือวัยรุ่นที่ต้องขาดเรียน และคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข จะเสี่ยงต่อปัญหาจิตใจมากขึ้นเนื่องจากชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในขณะเดียวกันพวกนายทุนเศรษฐีที่รวยที่สุดมีการเพิ่มทรัพย์สินมหาศาล และบริษัทยาขนาดใหญ่ก็คุมการผลิตวัคซีนภายใต้ความต้องการที่จะเพิ่มกำไรอย่างเดียว

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่ในไม่ช้าแรงกดดันจากกลุ่มทุนจะบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป ซึ่งทำให้โควิดระบาดรอบสองหรือสาม

แต่ที่สำคัญคือวิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงโดยตรงกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้

นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกัน ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เกษตร และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่ระบาดไปทั่วโลก

ถ้าไม่มีการปรับรูปแบบการเกษตร พัฒนาสภาพชีวิตมนุษย์ และการปกป้องธรรมชาติอย่างจริงจังปัญหานี้จะแก้ไม่ได้ แต่ภายใต้ทุนนิยม การแสวงหากำไรของกลุ่มทุนใหญ่กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลต่างๆ และกลุ่มทุน

อ่านเพิ่ม: โควิด https://bit.ly/2UA37Cx  

ทุนนิยม กลไกตลาด กับปัญหาโควิด https://bit.ly/3aA9hrF

2. วิกฤตที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากแนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร

ก่อนที่โควิดจะระบาด ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเข้าสู่สภาพถดถอยมาหลายสิบปีแล้ว สาเหตุคือแนวโน้มของระบบที่จะทำให้อัตรากำไรลดลง สืบเนื่องจากการลงทุนมากขึ้นในเครื่องจักรในอัตราที่เร็วกว่าและสูงกว่าการลงทุนในการจ้างกรรมาชีพ กลุ่มทุนต่างๆ โดนกดดันให้ทำเช่นนี้ เพราะการแข่งขันในระบบกลไกตลาดของทุนนิยม กลุ่มทุนไหนไม่ลงทุนแบบนี้ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ แต่ผลในภาพรวมคือทำให้เศรษฐกิจเสื่อมในระยะยาว และทุกวันนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะอ่อนแอตามด้วยวิกฤตเป็นระยะๆ และรัฐต่างๆ มักจะต้องอุ้มกลุ่มทุนและบริษัทต่างๆ เพื่อไม่ให้ล้มละลาย ซึ่งทำให้เราเห็น “บริษัทซอมบี้” มากมาย คือกึ่งเป็นกึ่งตาย และมีหนี้สินท่วมหัว รัฐเองก็มีหนี้สินเพิ่มจากการอุ้มบริษัทด้วย

พอโควิดระบาด สถานการณ์นี้ร้ายแรงขึ้นหลายเท่า คาดว่าตอนนี้ระบบทุนนิยมโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่แย่กว่าช่วง 1930 เสียอีก คนเริ่มตกงานกันทั่วโลก และรัฐต่างๆ เข้ามาอุ้มกลุ่มทุนต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่ช่วยพลเมืองอย่างเพียงพอ แถมมีการวางแผนที่จะตัดค่าแรงเงินเดือน และรัดเข็มขัดตัดระบบสาธารณสุขและสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีก

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือประเทศในยุโรป แต่ลักษณะการเมืองฝ่ายขวายิ่งทำให้สภาพแย่ลงถ้ารัฐบาลปฏิเสธเรื่องโควิด หรือปฏิเสธที่จะใช้งบประมาณช่วยประชาชนในอัตราเพียงพอ ซึ่งต้องทำผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย และการตัดงบทหารหรืองบพวกอภิสิทธิ์ชน

อ่านเพิ่ม: วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf

3. วิกฤตที่สาม วิกฤตโลกร้อน

วิกฤตโลกร้อนมีผลทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดอากาศร้อนสุดขั้ว อากาศเย็นสุดขั้ว ไฟป่า พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และมีส่วนในการผลิตฝุ่นละอองในอากาศด้วย มันจะทำให้การเกษตรล้มเหลวในบางพื้นที่ การประมงมีปัญหา ธรรมชาติและระบบนิเวศน์เสียหายมหาศาล ส่งผลให้ท้าทายสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลก เพิ่มความยากจน เพิ่มความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัย

วิกฤตโลกร้อนเป็นวิกฤตที่มาจากระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทุนนิยม และทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองส่วนใหญ่ทราบว่ามีปัญหานี้จริง แต่ระบบการแข่งขันในกลไกตลาดแปลว่ากลุ่มทุนใหญ่คิดแต่เรื่องการแสวงหากำไรเฉพาะหน้าโดยไม่สามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมได้เลย และถึงแม้ว่ามีการพูดกันว่าจะลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน แต่ในทางรูปธรรมยังไม่มีประเทศไหนที่ทำได้รวดเร็วพอที่จะห้ามวิกฤตนี้ได้

วิธีสำคัญในการลดปัญหาโลกร้อน คือการที่รัฐที่ควบคุมโดยคนธรรมดาตามหลักประชาธิปไตย จะต้องออกมาควบคุมหรือยึดกลุ่มทุนและระบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มทุนเกษตร เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายในการผลิตจากการแสวงหากำไร ไปเป็นการตอบสนองทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะที่ปกป้องโลกธรรมชาติ ต้องมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว ต้องใช้รถไฟไฟฟ้าแทนเครื่องบิน ต้องมีการผลิตพลังงานจากแสงแดดและลมพร้อมกับยกเลิกการผลิตพลังงานจากน้ำมัน ถ่านหินหรือก๊าซ ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่เราไม่มีการเปลี่ยนระบบจากทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยม

อ่านเพิ่ม: สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

วิกฤตโลกร้อนทับถมซ้อนลงไปกับสภาพวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ และทั้งสามวิกฤตมาจากเนื้อแท้ของระบบทุนนิยม ถ้าเราไม่ร่วมกันเปลี่ยนระบบและโครงสร้างของสังคม มนุษย์ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในสภาพสังคมที่โหดร้ายป่าเถื่อนในอนาคตข้างหน้า

คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนจะตรงกับความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม สภาพย่ำแย่ของโลกปัจจุบันเป็นประกายไฟในการลุกขึ้นสู้ของคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ซึ่งเราเห็นใน ไทย ฮ่องกง อัฟริกา ยุโรป สหรัฐ และลาตินอเมริกา การต่อสู้ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือความหวังของเรา

อ่านเพิ่ม: การลุกฮือของมวลชนทั่วโลกในปี 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

ใจ อึ๊งภากรณ์

โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติสังคมนิยม

ในวันที่ 15 มกราคม 1919 ท่ามกลางการปราบปรามการลุกฮือของกรรมาชีพ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกฆ่าทิ้งโดยทหารฝ่ายขวาภายใต้คำสั่งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องระบบทุนนิยม หลังจากนั้นมีการโยนศพของทั้งสองคนลงคลอง และพวกชนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 กระแสปฏิวัติในประเทศต่างๆ ของยุโรปพุ่งสูง มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ ประเทศเยอรมันหลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารชั้นล่างกับคนงานยึดเมือง มิวนิค และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารชั้นล่างติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังเพื่อประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้พระเจ้าไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที

พวกสังคมนิยมเยอรมันส่วนใหญ่สองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแค่ “กลุ่มสันนิบาตสบาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคสังคมนิยมปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงไม่ได้มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ ในที่สุดไม่เข้มแข็งพอที่จะนำการปฏิวัติได้

ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยม ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยมปฏิวัติ บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์นาซีภายใต้ฮิตเลอร์

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันชื่อ เอเบอร์ด จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป วิ่งไปจับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยมแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน

ผลงานสำคัญของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เราควรศึกษาคือเรื่อง “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ที่อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องอาศัยการปฏิวัติแทนที่จะตั้งความหวังกับการปฏิรูป และเรื่อง “การนัดหยุดงานทั่วไป” ที่เสนอความสำคัญของการนัดหยุดงาน พร้อมกับอธิบายว่า “การเมืองภาพกว้าง” กับเรื่อง “ปากท้อง” เชื่อมโยงกันอย่างไร บทความเรื่องการนัดหยุดงานทั่วไปสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพไทย เพราะมีการเน้นเรื่องปากท้องเหนือการเมืองภาพกว้างมานานเกินไป

โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค

ทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตทุนนิยมสามวิกฤต คือวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และวิกฤตโลกร้อน คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนมีพลังอย่างยิ่ง และอย่าลืมด้วยว่าเผด็จการทหารที่เรามีอยู่ในไทยตอนนี้ มีรากฐานมาจากสภาพการเมืองหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและความพยายามที่จะปฏิรูประบบโดยทักษิณและไทยรักไทย

อ่านเพิ่ม: แนวความคิดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค https://bit.ly/2DtwQWo

ต้นกำเนิดเผด็จการประยุทธ์ https://bit.ly/3stTEeQ

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทเรียนสำคัญจากการปฏิวัติในซูดานกับแอลจีเรีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้นักข่าวหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งเป็นปากเสียงของนายทุนอังกฤษ ได้เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศซูดานมีบรรยากาศคล้ายกับการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ในยุคเลนิน ประโยคแบบนี้ทำให้เรารู้ว่าการปฏิวัติในซูดานมีความสำคัญยิ่ง และทำให้เราเข้าใจว่าการปฏิวัติในแอลจีเรีย ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับซูดาน มีความสำคัญพอๆ กัน

Photo-creditL--750x400

สำหรับนักมาร์คซิสต์สังคมนิยม การต่อสู้ในทั้งสองประเทศ ต้องขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม สาเหตุที่เรามีมุมมองแบบนี้ก็เพราะภายใต้ระบบทุนนิยมปัจจุบัน ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชนจะประสบความล้มเหลวถ้าไม่ปฏิวัติต่อไป ซึ่งจะอธิบายเหตุผลในท้ายบทความนี้

เรื่องนีเกี่ยวข้องโดยตรงกับทฤษฏี “การปฏิวัติถาวร” ของ ลีออน ตรอทสกี้ [ดู https://bit.ly/2zCPB5h ]

การลุกฮือของชาวซูดาน เพื่อโค่นล้มระบบเผด็จการของประธานาธิบดี อัล บาเชียร์ ระเบิดขึ้นเนื่องจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลภายใต้คำแนะนำของไอเอ็มเอฟ ประชาชนธรรมดาเดือดร้อนมากเพราะราคาข้าวของเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นราคาขนมปัง ที่เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว

อัล บาร์เชียร์ เป็นทหารที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอิสลามสุดขั้วในปี 1989 หลังจากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป พร้อมกันนั้นมีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนัก

20101218101053872360_20
อัล บาเชียร์

ในการต่อสู้ครั้งนี้มีมวลชนหลายแสนออกมาประท้วง จนนายทหารคนอื่นในชนชั้นปกครองซูดานมองว่ารัฐบาลคงไปต่อไม่ไหว ทหารจึงเขี่ย อัล บาเชียร์ ออกจากตำแหน่งและตั้งคณะทหารมาปกครองประเทศเพื่อเอาตัวรอด วิธีแบบนี้เคยถูกใช้ในการปฏิวัติอียิปต์ ในช่วง “อาหรับสปริง” และประชาชนไม่น้อยถูกหลอกให้ไว้ใจทหาร แต่คราวนี้ในซูดาน มวลชนไม่พอใจและชุมนุมต่อไป โดยเฉพาะหลังจากที่คณะทหารแจ้งว่าจะปกครองประเทศต่ออีกสองปี การต่อสู้ของมวลชนบังคับให้หัวหน้าคณะทหารคนแรกต้องลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งวัน (ภาพข้างล่าง)

sudan-spring-uprising-ibn-auf

แต่มวลชนยังต้องต่อสู้ต่อไปกับคณะทหาร โดยชุมนุมต่อเนื่องหน้ากองบัญชาการทหาร

SUDAN

ที่น่าทึ่งคือ พลังมวลชนในซูดานมาจากบทบาทของการนัดหยุดงานและเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานคอปกขาว พวกนี้เป็นแกนนำของแนวร่วมที่มีชื่อว่า “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งคือบทบาทสำคัญของสตรีในการนำม็อบ

นอกจากกรรมาชีพคอปกขาวแล้ว คนงานในองค์กรไฟฟ้า องค์กรโทรคมนาคม ท่าเรือ และโรงสี ก็นัดหยุดงานด้วย

ภายในม็อบมีการจัดการอะไรเองหลายอย่าง เช่นความปลอดภัย การทำอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุมและเด็กยากจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย การบันเทิงซึ่งประกอบไปด้วยการร้องเพลงและการจัดจอโทรทัศน์เพื่อดูฟุตบอล์ นอกจากนี้มีศูนย์พยาบาลอีกด้วย ภายในที่ชุมนุมมีความสามัคคีระหว่างคนต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ มันสะท้อนหน่ออ่อนของสังคมใหม่ที่อาจเป็นไปได้ถ้าประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง

ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการผู้ชุมนุมคือ ทหารต้องออกจากการเมือง พลเรือนต้องตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งต้องประกอบไปด้วยสตรีเกือบครึ่งหนึ่งและคนจากหลากหลายศาสนาเชื้อชาติ แน่นอนมันมีการถกเถียงกันระหว่างคนที่อยากประนีประนอมกับอำนาจรัฐ และคนที่อยากปฏิวัติโค่นรัฐเก่า แต่ทุกคนเข้าใจว่าการนัดหยุดงานและการชุมนุมเป็นหลักประกันสำคัญของชัยชนะ

อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของชาวซูดานถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะคณะทหารทำเหมือนจะตกลงกับแกนนำ “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” เสร็จแล้วก็พยายามใช้ความรุนแรงในการปราบปรามม็อบ แต่ยังไม่สำเร็จ ข้อตกลงกับทหารครั้งนี้เป็นแผนซื้อเวลาของทหาร และอันตรายอย่างยิ่งกับฝ่ายปฏิวัติ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าทหารจะลงจากอำนาจในคณะปกครองประเทศชั่วคราว และมีการยืดเวลากำหนดเลือกตั้งออกไปสามปี

petroleum_workers_protest2_WEB_OK
คนงานน้ำมันประท้วง

ล่าสุดมีการประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อกดดันทหาร

การลุกฮือในแอลจีเรีย มาจากการต่อสู้เพื่อกีดกันการสืบทอดอำนาจของผู้นำประเทศที่หมดสภาพเพราะความชราที่ชื่อ บูเตฟลิกา ผู้นำคนนี้ประกาศว่าอยากอยู่ต่ออีก 4 ปีทั้งๆ ที่ครองอำนาจมาเกือบยี่สิบปีผ่านการใช้อำนาจกึ่งเผด็จการ บูเตฟลิกา ขึ้นมามีอำนาจหลังจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายทารุณระหว่างกองทัพกับพรรคอิสลามที่เคยชนะการเลือกตั้ง “ยุคสิบปีแห่งความมืด” นี้เกิดขึ้นระหว่าง 1992-2002 และก่อนที่จะมีการลุกฮือปีนี้มันมีกฏหมายห้ามการชุมนุมที่ตกค้างจากยุคมืดเผด็จการ

FILE PHOTO: Algeria's President  Abdelaziz Bouteflika gestures during a graduation ceremony of the 40th class of the trainee army officers at a Military Academy in Cherchell
บูเตฟลิกา กับนายทหารชั้นสูง

รัฐบาลของบูเตฟลิกา ใช้งบประมาณจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อพยุงความเป็นอยู่ของประชาชน แต่พอราคาทรัพยากรเหล่านี้ตกต่ำในตลาดทุนนิยมโลก การว่างงานก็เพิ่มขึ้น

637762f3753486aa1c8f735d7ac11c1e_w771_h422

หลังจากมวลชนออกมาประท้วงและมีการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมาชีพในภาครัฐ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ชนชั้นปกครองแอลจีเรียก็ใช้วิธีการเดียวกับที่ซูดาน คือเขี่ยผู้นำที่ประชาชนเกลียดชังออกจากตำแหน่งเพื่อเอาตัวรอด หลังจากนั้นก็สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ขบวนการประท้วงไม่ยอมหยุด มีการยึดมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งโดยนักศึกษาและอาจารย์

la-1555182630-o77bgwl898-snap-image

ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในแอลจีเรียไม่ต่างจากซูดานคือ มวลชนคนธรรมดาต้องกำหนดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้แกนนำรัฐเก่ากำหนด

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์จากประเทศอียิปต์ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง ซูดานและแอลจีเรีย ไว้ 5 ข้อคือ

  1. เหตุการณ์ในสองประเทศแสดงให้เห็นว่าการปฏิวัติยังเป็นไปได้ในโลกสมัยใหม่ และอาหรับสปริงยังไม่ตาย ทั้งๆ ที่มีชัยชนะตามด้วยความพ่ายแพ้ การปฏิวัติล้มรัฐเก่าและทุนนิยมเป็นเรื่องจำเป็นถ้าจะแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนที่เกิดจากนโยบายเสรีนิยมและระบบตลาดโลก
  2. เราเห็นประกายไฟที่ก่อให้เกิดการลุกฮือสองรูปแบบคือ ประเด็นเศรษฐกิจในซูดาน กับประเด็นการเมืองในแอลจีเรีย แต่อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ กับการต่อสู้ทางการเมือง มันย่อมเชื่อมโยงกัน เศรษฐกิจนำไปสู่การเมือง การเมืองนำไปสู่เศรษฐกิจ นักสังคมนิยมมีหน้าที่เชื่อมการต่อสู้สองซีกนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน [ดู https://bit.ly/2DtwQWo ]
  3. มวลชนต้องไม่หลงเชื่อทหารหรือสมาชิกเก่าของชนชั้นปกครองที่ต้องการสลายการชุมนุมด้วยการยอมเขี่ยผู้นำเก่าออกจากตำแหน่ง บทเรียนจากอียิปต์สอนให้เรารู้ว่าการประนีประนอมของฝ่ายเราจะนำไปสู่การถูกปราบปรามในอนาคตและการกลับมาของเผด็จการ นอกจากนี้จะมีการหันหลังกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
  4. การลุกฮือเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปูพื้นจัดตั้งการต่อสู้หลายปี โดยเฉพาะในชนชั้นกรรมาชีพการลุกฮือและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นหลายครั้งในแอลจีเรียแต่พึ่งมาก่อตัวเป็นการปฏิวัติในรอบนี้ ในซูดานก็มีการต่อสู้กับรัฐบาลโดยหลายกลุ่มก่อนหน้านี้
  1. บทบาทการนัดหยุดงานและการประท้วงของสหภาพแรงงานร่วมกับมวลชนอื่นๆ เป็นเรื่องชี้ขาด เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจสูง

แนวคิดปฏิวัติถาวร ของลีออน ตรอทสกี มีความสำคัญในการเสนอว่ากรรมาชีพต้องมีบทบาทนำในการปฏิวัติเพื่อปลดแอกชีวิตของคนธรรมดา การหยุดอยู่แค่การเลือกตั้งภายใต้ระบบและรัฐเก่าย่อมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะยาวไม่ได้ และการปล่อยให้ชนชั้นปกครองเก่าถืออำนาจต่อไปภายใต้บุคคลหน้าใหม่จะนำไปสู่การถูกปราบปราม นอกจากนี้การปฏิวัติที่จะได้รับชัยชนะต้องขยายไปในระดับสากล ตอนนี้มีการลุกฮือในหลายประเทศของอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลางนอกเหนือจาก ซูดานและแอจีเรีย คือที่ตูนิเซีย โมรอคโค เลบานอน และจอร์แดน ถ้าการปฏิวัติในซูดาน หรือแอจีเรีย ได้รับชัยชนะ การปฏิวัติจะลามไปสู่ประเทศอื่นและจะเสริมพลังของการปฏิวัติให้แรงขึ้น

5de501ab4504740c7f82a59c54b7bd43_w582_h482

กระบวนการปฏิวัติที่ยังไม่จบที่ ซูดาน และ แอลจีเรีย ทำให้เราเห็นว่า “รัฐ” ไม่ใช่อะไรที่เป็นกลาง เราต้องโค่นมันเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจ หน่ออ่อนของสังคมใหม่ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมใหญ่ และชนชั้นกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพมีความสำคัญในการนำการปฏิวัติไปสู่จุดหมายแทนที่จะประนีประนอม การศึกษาการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีการขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมยังมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน

ข่าวล่าสุด 7 มิย. 2019

การปฎิวัติในซูดานถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังการปราบปรามการชุมนุมโดยกองทัพ มีการนัดหยุดงานที่กดดันให้ผู้นำกองทัพเสนอให้รื้อฟื้นการเขรจากับฝ่ายประท้วง ถ้าประชาชนจะชนะจะต้องขยายการนัดหยุดงานและกดดันให้ทหารรากหญ้าที่สนับสนุนการประท้วงกบฏต่อผู้บังคับบัญชา