ใจ อึ๊งภากรณ์
หลายคนตั้งข้อกล่าวหากับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ว่าชอบใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนสังคม และเขาเสนอต่อไปว่าน่าจะใช้สันติวิธีแทน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศชิลีเมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน 1973 เป็นกรณีที่ทุกคนน่าจะศึกษา
ประเทศชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีฉายาว่าเป็น “อังกฤษ” แห่งอเมริกาใต้ ทั้งนี้เพราะเคยมีระบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่มั่นคงมาร้อยกว่าปี

ในปี 1970 ประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นพรรครัฐบาลล้วนแต่เป็นพรรคของนายทุน
พรรคสังคมนิยมชิลีเป็นพรรคของกรรมาชีพที่พยายามเปลี่ยนสังคมโดยสันติวิธี พรรคนี้พยายามอาศัยกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม เพื่อหวังครองอำนาจรัฐ และเมื่อพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง ใครๆก็เชื่อว่าคงจะสร้างสังคมนิยมได้โดยสันติวิธี
ชัยชนะของพรรคสังคมนิยมชิลีเกิดขึ้นกลางกระแสการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ดุเดือด ก่อนวันเลือกตั้งมีการนัดหยุดงาน 5295 ครั้ง และเกษตรกรกับคนยากจนก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วย

หลังจากที่ได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดี อาเยนเดย์ ประกาศว่า “เราจะทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบสังคมนิยม” นอกจากนี้เขาสัญญาว่าจะปฏิรูปที่ดินและเอาบริษัทเอกชนชั้นนำ 150 บริษัทมาเป็นของรัฐ แต่เขาเตือนต่อไปว่าทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกัน และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเสียสละเพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนโดยการสลายการเคลื่อนไหว และลดข้อเรียกร้อง เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นนายทุนจะไม่ร่วมมือ
ในปีแรกของรัฐบาลใหม่ รายได้จริงของกรรมาชีพเพิ่มขึ้น จำนวนคนตกงานลดลง โรงงาน 90 แห่ง และที่ดิน 30% ของประเทศถูกนำมาเป็นของรัฐ และเศรษฐกิจก็ขยายตัวอย่างน่าชื่นชม
สิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถทำเพื่อกรรมาชีพชิลี ไม่ได้อาศัยการล้มระบบทุนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก็ต้องนับว่ายังเป็นประโยชน์กับคนธรรมดามากพอสมควร แต่มาตรการ “ค่อยเป็นค่อยไป” ของรัฐบาล อาเยนเดย์ ไม่เป็นที่พอใจกับนายทุนเลย ฉนั้นนายทุนชิลีพยายามทำลายเศรษฐกิจด้วยการถอนทุนหรือหยุดการลงทุน และนายทุนสหรัฐพยายามห้ามไม่ให้ชิลีกู้เงินจากต่างประเทศอีกด้วย ในขณะเดียวกันสหรัฐส่งเงินไปช่วยนายทหารของกองทัพชิลี
เนื่องจาก อาเยนเดย์ ไม่ต้องการปฏิวัติยกเลิกระบบทุนนิยม ในที่สุดเขาต้องเลือกยอมประนีประนอมกับเงื่อนไขของนายทุน ในขั้นตอนแรกก็มีการชลอมาตรการที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพ ต่อจากนั้นก็มีการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายทหารและตำรวจในการ “รักษาความสงบ”
แต่การประนีประนอมของรัฐบาลต่อฝ่ายทุนมิได้ทำให้นายทุนร่วมมือมากขึ้นแต่อย่างใด นายทุนเข้าใจดีว่ากรรมาชีพกับนายทุนร่วมมือกันไม่ได้ ฉนั้นเมื่อรัฐบาลยอมประนีประนอม นายทุนกลับมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ จึงทำให้ฝ่ายทุนรุกสู้ต่อไปด้วยการ “ปิดงาน” ไม่ยอมปล่อยรถ ของนายทุนขนส่ง ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนขาดอาหารและสิ่งจำเป็น
กรรมาชีพพื้นฐานชิลีไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้ง่ายๆ คนงานพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รวมตัวกันสร้างสภาคนงานย่านอุตสาหกรรม (“คอร์โดเนส์”) เพื่อยึดรถบรรทุกจากนายทุนแล้วนำมาขนส่งสินค้าเอง ในที่สุดคนงานได้รับชัยชนะ
แต่แทนที่ประธานาธิบดี อาเยนเดย์ จะสนับสนุนการกระทำของกรรมาชีพพื้นฐาน เขากลับมองว่าเป็นการสร้างความไม่สงบซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติ ดังนั้น อาเยนเดย์ จึงสั่งให้ทหารและตำรวจสลายสภาคนงาน และที่แย่สุดคือการกระทำครั้งนั้นได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศชิลีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย
หลังจากนั้นชิลีก็เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ร้ายแรงขึ้นเป็นลำดับ ทุกครั้งที่ฝ่ายทุนพยายามยึดอำนาจโดยอาศัยกองทัพ คนงานพื้นฐานและนายทหารชั้นล่างบางคนจะออกมาปกป้องรัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลแจกอาวุธให้คนงาน แต่รัฐบาลไม่ยอมฟังเพราะมัวแต่ประนีประนอมกับนายทุนและนายทหารชั้นผู้ใหญ่
นายพลออร์กัสโต พิโนเช
ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี

ในที่สุด ในวันที่ 11 เดือนกันยายน 1973 กองทัพชิลีภายใต้นายพล พิโนเช ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและจับสมาชิกพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และนักสหภาพหลายพันคน ด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างถึงที่สุด อาเยนเดย์และแกนนำฝ่ายซ้ายทั้งหมดที่หนีออกนอกประเทศไม่ได้ก็ถูกฆ่าตาย

สรุปแล้ว ระบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สร้างไม่ได้ถ้าอาศัยรัฐสภาและการประนีประนอมกับทหารหรือชนชั้นปกครอง เพราะฝ่ายตรงข้ามพร้อมจะใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเสมอ