Tag Archives: ปฏิวัติ๒๔๗๕

ระหว่างตากสินกับอ.ปรีดี ใครกู้ชาติกันแน่?

พวกที่อ้างว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยหลายคน โดยเฉพาะบางคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะอวยกษัตริย์ตากสินเพราะไม่ชอบราชวงศ์ปัจจุบัน และใช้ข้ออ้างว่าตากสิน “กู้ชาติ” ดังนั้นเป็นคุณประโยชน์กับคนไทย แต่นั้นเป็นการเข้าใจประวัติศาสตร์ผิด เป็นการกลืนคำโกหกของชนชั้นปกครองไทยเรื่องกษัตริย์ และไม่ใช้กรอบคิดทางชนชั้นในการวิเคราะห์เลย

ผู้ที่สู้เพื่อกู้ชาติจริง ไม่ใช่ตากสินและกษัตริย์อื่นๆ ที่รบเพื่ออำนาจที่จะขูดรีดประชาชน แต่เป็น อ.ปรีดี กับคณะราษฎรในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕

เป้าหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ๒๔๗๕ เพื่อล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กดขี่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพกับความเท่าเทียม และล้มอำนาจที่เคยประนีประนอมและยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมตะวันตกในอดีต ในความคิดของคณะราษฎรมันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติ และในความคิดอ.ปรีดี มันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติของฝ่ายซ้าย

ที่สำคัญคือ “ชาติไทย” ไม่เคยมีก่อนการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่๕ ที่ยกเลิกระบบศักดินา ดังนั้นกษัตริย์ตากสินจะ “กู้ชาติ” ไม่ได้

ตากสินขูดรีดไพร่ทาสเป็นพิเศษเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ธนบุรี สิ่งที่แรงงานบังคับต้องสร้างคือวังต่างๆ การเกณฑ์แรงงานครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจกับคนชั้นล่างไม่น้อย และอาจกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการยึดอำนาจของรัชกาลที่๑ การย้ายเมืองหลักไปอยู่ธนบุรีซึ่งใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เพื่อควบคุมการค้าทางทะเลอย่างผูกขาดและเพื่อขูดรีดภาษีเพื่อประโยชน์ตนเอง

ไม่มีกษัตริย์ไหนในไทยหรือในโลกที่มีคุณประโยชน์กับประชาชนธรรมดา การ “กู้ชาติ” ของกษัตริย์ที่บางคนพูดถึงเป็นแค่สงครามแย่งพื้นที่กันระหว่างมาเฟียสมัยศักดินา แย่งกันเพื่อมีอำนาจและสะสมความร่ำรวยบนสันหลังไพร่กับทาส บ่อยครั้งสงครามกระทำไปเพื่อกวาดต้อนคนไปใช้ แทนที่จะจ้างคน แต่พอถึงยุครัชกาลที่๕ ระบบแรงงานบังคับแบบนี้ใช้ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ยากขึ้นทุกวัน (เชิญอ่านรายละเอียดในหนังสือใหม่ของผม “มาร์กซิสต์วิเคราะห์สังคมไทย” ที่กำลังพิมพ์อยู่)

การฆ่าตากสินโดยทองด้วงกับพวก ซึ่งทำให้ทองด้วงตั้งตัวเป็นรัชกาลที่หนึ่งได้ เป็นแค่รัฐประหารแย่งอำนาจตามสันดานกษัตริย์ทั่วโลกในยุคก่อนไม่ว่าจะในไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที่อื่น และมีการโกหกกันว่าตากสิน “บ้า” ตากสินตายอย่างไรเป็นเรื่องถกเถียงกัน แต่ในยุคที่ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก่อน๑๔ตุลา ครูบอกว่าโดนทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้เราเข้าใจว่า “ถึงแม้จะบ้าก็ต้องเคารพ” ทำนองนั้น ครูคนเดียวกันในภายหลังสอนเราเรื่องปฏิวัติ ๒๔๗๕ และร้องไห้เพราะสงสารรัชกาลที่๗!!

ชาวบ้านธรรมดาๆ เกลียดสงครามมาก ไม่ใช่ว่าแห่กันไปรบ “เพื่อชาติ” เพราะเวลากองทัพไหนมาใกล้บ้านเขา ทหารก็จะทำตัวเป็นโจร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปรบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต แต่แน่นอนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงครอบครัวได้ บ่อยครั้งชาวบ้านจะหนีเข้าป่าเวลามีทหารมาใกล้บ้าน บางครั้งมีการป้ายหน้าลูกสาวด้วยขี้ควายเพื่อไม่ให้โดนข่มขืน คนที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่ก็พยายามหนีตลอดเวลาด้วย

พวกที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแต่อวยกษัตริย์ตากสิน ทำตัวเหมือนไม่รู้จะอยู่ยังไงถ้าไม่มีผู้ใหญ่ให้กราบไหว้ เป็นพวกที่ไม่มีความมั่นใจว่าพลเมืองผู้น้อยสามารถปลดแอกตนเองได้ จึงไม่ให้ความสำคัญกับม็อบหรือเยาวชนที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ แต่ฝากความหวังไว้กับทักษิณและนักการเมือง “ผู้ใหญ่” อื่นๆ ในที่สุดไม่ต่างจากพวกที่เคยโบกมือให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แทนที่จะพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา

สงครามทางความคิดเรื่อง๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

 ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย เก็บมาเพื่อถ่ายทอดให้เรารับรู้เท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ที่หวังเสนอแนวคิดในเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเองในสมัยนี้ ไม่มีตำราเรียนในโรงเรียนเล่มไหนที่ไม่ลำเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพื่อสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และบทความนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อเสนอในบทนี้พยายามอ้างประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีขึ้น โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมโดยตรงได้ ไม่ใช่ว่าต้องหยุดนิ่งกับที่ตลอดไป ดังนั้นบทนี้จะพยายามแย้งแนวกระแสหลักทางความคิดของชนชั้นปกครองไทยเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยมภายใต้เผด็จการกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่รัฐทุนนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีรูปแบบประชาธิปไตยรัฐสภาหรือเผด็จการก็ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีประโยชน์กับฝ่ายประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย มวลชนธรรมดาในยุคนั้นเข้าใจสิ่งนี้ดี จึงมีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แต่ในยุคปัจจุบันชนชั้นปกครองไทยต้องการที่จะลดความสำคัญของเหตุการณ์นี้ เพื่อให้ประชาชนลืมว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมในเกือบทุกประเทศมีต้นกำเนิดจากการปฏิวัติ

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้เกิดจากการนำเอา “ความคิดตะวันตก” มาใช้ในสังคมไทย แต่มาจากการที่ระบบการผลิตแบบทุนนิยมในไทยพัฒนาถึงระดับที่สามัญชน ซึ่งเข้ามามีบทบาทในระบบราชการ ไม่พอใจที่จะถูกปกครองต่อไปโดยเจ้าในรูปแบบเดิม  แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากมวลประชาไทยมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงทั่วโลก และในที่สุดระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นทางผ่านชั่วคราวระหว่างระบบศักดินากับระบบรัฐสภาทุนนิยมก็หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย

มีนักประวัติศาสตร์ไทยจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อย่างละเอียด เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หรือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ฯลฯ บทความชิ้นนี้จะไม่บังอาจยกตัวขึ้นเพื่อแข่งกับชิ้นงานดังกล่าว      แต่จะอาศัยข้อมูลที่ผู้อื่นค้นหามาเพื่อใช้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้จากมุมมองมาร์คซิสต์ และในการวิเคราะห์ครั้งนี้จะพิจารณาสี่นิยายที่ชนชั้นปกครองเสนอให้เราเชื่อเกี่ยวกับ ๒๔๗๕

การปฏิวัติครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะมีรูปแบบผิวเผินที่ดูคล้ายกับการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษปี 1640 ที่มีการล้มการปกครองที่ใช้อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ เพื่อสถาปนาการปกครองรูปแบบรัฐสภาทุนนิยมของนายทุน แต่แท้จริงแล้วการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ปฏิวัติทางสังคม” ที่ล้มระบบศักดินาเพื่อไปสู่ระบบทุนนิยมแต่อย่างใด เพราะระบบศักดินาไทยถูกล้มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว       การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติ “ทางการเมือง” จากรัฐทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่รัฐทุนนิยมที่มีการปกครองแบบคณะภายใต้รัฐธรรมนูญต่างหาก [ดู http://bit.ly/2pmhLNT ]

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ ชิงสุกก่อนห่ามความจริงแล้วถ้าเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยังไม่ถึงยุคสุกงอมสำหรับเมืองไทย ต้องถือว่าไทยล้าหลังประเทศอื่นพอสมควรเพราะแม้แต่ประเทศจีนก็ปฏิวัติยกเลิกระบบจักรพรรดิไปแล้วในปี 1911   21 ปีก่อนการปฏิวัติในไทย และไม่ใช่ว่าในไทยไม่ได้มีกระแสที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญมานาน เพราะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗ ก็ได้มีการขอรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นความไม่พร้อมของประชาชน คณะราษฎร์เองในคำประกาศฉบับที่หนึ่ง มีความเห็นว่า รัฐบาลของกษัตริย์ ….กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้เจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้เสนอข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดที่มองว่ากระแสและจิตสำนึกในส่วนสำคัญๆ ของเหล่าประชาชนไทยในยุคนั้นเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะก่อนหน้านั้นมีการตีพิมพ์บทความและเสนอฎีกาความเห็นจากประชาชนคนสามัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในสมัยนั้น และความไร้ประสิทธิภาพและความเห็นแก่ตัวของรัฐบาลกษัตริย์ในการแก้วิกฤตดังกล่าว

พวกที่มองว่า ๒๔๗๕ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” มักอ้างว่าการปฏิวัติครั้งนี้นำไปสู่เผด็จการแทนที่จะมีประชาธิปไตย แต่นั้นเป็นคำโกหกของพวกที่เชียร์เผด็จการ แท้จริงแล้วเผด็จการทหารเกิดขึ้นในไทยเพราะพวกทหารหลายกลุ่มต้องการทำลายประชาธิปไตยต่างหาก และการไม่ยกเลิกเผด็จการกษัตริย์ของรัชกาลที่๗ จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้แต่อย่างใด เพราะเผด็จการของ ร.๗ ก็เลวพอๆ กับเผด็จการทหาร และรัชกาลที่๗ ไม่เคยมีแผนจะสละอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร์เอา ความคิดตะวันตกที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้? กระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ไปเรียนต่างประเทศอย่างปรีดี พนมยงค์ เพราะความจริงผู้นำส่วนใหญ่ของคณะราษฎร์ไม่ได้จบจากนอกแต่อย่างใด และปรีดีเองได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยปี ๒๔๗๐ ชนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยไปต่างประเทศมีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นักวิชาการหลายคนเช่น Girling ได้เสนอว่าที่จริงแล้วในต้นศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของกษัตริย์ไทยในชนบทเกือบจะไม่มีเลย และ Bowie รายงานว่านักมนุษยวิทยาคนหนึ่งเคยพบว่าในปี ๒๔๙๗ 61% ของคนไทยที่อยู่ในชนบทห่างไกลไม่เข้าใจความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามพอเข้ายุครัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ก็มีการฟื้นฟูค่านิยมและประเพณีในพระเจ้าแผ่นดินใหม่เพื่อหวังสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการกระทำของกลุ่มชั้นนำโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม? มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่าในหมู่ประชาชนมีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสูง และมีหลักฐานว่าประชาชนชั้นล่างมีส่วนร่วมในการปฏิวัติพอสมควร แม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมาก่อนหน้าการปฏิวัติ ตัวอย่างที่ดีคือ“คณะกรรมกร”ของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคนงานรถรางและที่มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” คณะกรรมกรถูกก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๖๓ และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าในปี ๒๔๗๕ และในปราบกบฏบวรเดชปี ๒๔๗๖ เหรียญของคณะราษฎร์ที่มอบให้ผู้นำกรรมกรยังตั้งไว้ให้เราชมที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

รัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย? กระแสที่เสนอว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตย  เป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคหลังเหตุการณ์รุนแรง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการสร้างรูปปั้นรัชกาลที่ ๗ ไว้หน้าตึกใหม่ของรัฐสภาไทยในสมัยนั้น ชนชั้นปกครองต้องการที่จะลบล้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนชาวไทยให้หมดไปจากจิตสำนึกของเรา การล้างจิตสำนึกของประชาชนมีหลายรูปแบบ อีกตัวอย่างคือการไม่ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่เป็นหมุดโลหะซึ่งเคยตั้งไว้บนถนนใกล้ๆ พระรูปทรงม้า และอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงชัยชนะของคณะราษฎร์ในการปราบกบฏบวรเดชที่หลักสี่ [ดู http://bit.ly/2quNSZx ]

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เราควรเฉลิมฉลองและรักษาไว้ในความทรงจำของพลเมืองไทย

เชิญอ่านบทความเต็มเรื่องนี้ได้ที่นี่ http://bit.ly/2pz4oul

ประกาศของคณะราษฎร์  2475

 

ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น  ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้  คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น  แต่การหาเป็นไปตามความหวังที่คิดไม่  กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม  ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ  ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร  ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตมีการรับสินบนในการก่อสร้าง  ซื้อของใช้ในราชการหากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน  ผลาญเงินทองของประเทศ  ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร  ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม  ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน  ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว  รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้  การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้  มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎร  ตามที่รัฐบาลอื่นๆ  ได้กระทำกัน  รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส  (ซึ่งเรียกว่า  ไพร่บ้าง  ข้าบ้าง)  เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์  เพราะฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร  กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร  จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น  กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งจำนวนหลายล้าน  ส่วนราษฎรสิ  กว่าจะหาได้แต่ละเล็กแต่ละน้อย  เลือดตาแทบกระเด็น  ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว  ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา  แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข  ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้  นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน  ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎรมีเป็นต้นว่า  จะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้  แต่ครั้นคอยๆ  ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่  มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้เจ้าได้กินว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้  เพราะราษฎรยังโง่  ถ้าราษฎรโง่  เจ้าก็โง่  เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน  ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่  เป็นเพราะขาดการศึกษา  ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่  เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษา  ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้  และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง  บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมาจากข้าศึก  พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ  และกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน  เงินเหล่านี้เอามาจากไหน  ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง  บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง  ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล  รัฐบาลไม่บำรุง  รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด  นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ   จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม  เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย  บีบคั้นข้าราชการผู้น้อย  นายสิบและเสมียน  เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ  ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำ  จึงสมควรที่สนองคุณราษฎร  ซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน  แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่  คงสูบเลือดกันเรื่อยไป  เงินมีเหลือเท่าไรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรมปล่อยให้ราษฎรอดอยาก  การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ  ทหาร  และพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว  จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎร์  และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว  คณะราษฎร์เห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา  จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ  ความคิดดีกว่าความคิดเดียว   ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น  คณะราษฎร์ไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ  ฉะนั้นจึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป  แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน  จะทำอะไรโดยลำพังมิได้  นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร    คณะราษฎร์ได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว  เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ  ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูก ลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ  และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย  กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ  ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา

ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า  ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด  ทุกๆ  คนจะมีงานทำเพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ    เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคน  ตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว  ประเทศจะต้องเฟื่องฟูเป็นแม่นมั่น  การปกครองซึ่งคณะราษฎร์จะพึงกระทำก็คือ  จำต้องวางโครงการโดยอาศัยหลักวิชา  ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด   เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว  เป็นหลักใหญ่ๆ  ที่คณะราษฎร์ได้วางไว้มีอยู่ว่า

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย  เช่น  เอกราชทางการเมือง  การศาล  ในทางเศรษฐกิจ  ฯลฯ  ของประเทศไว้ให้มั่นคง

  1. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  2. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ  ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  3. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
  4. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก  5  ประการดังกล่าวข้างต้น
  5. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลาย  จงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎร์ให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ  คณะราษฎร์ขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมาย  พึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน  อย่าทำการใดๆ  อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร์นี้  เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร  บุตรหลาน  เหลน  ของราษฎรเอง  ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมสมบูรณ์  ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย  ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย  ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน  และมีเสรีภาพพ้นจากความเป็นไพร่  เป็นข้า  เป็นทาสพวกเจ้า  หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร  สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา  คือ  ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐที่เรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย์” นั้น  ก็พึงจะบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

คณะราษฎร์

                                                                         ๒๔  มิถุนายน  ๒๔๗๕

2475peg