Tag Archives: ปรองดอง

การลืมต้นกำเนิดความขัดแย้งในไทยเป็นการนำสมองไปไว้ใต้กะลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนที่เสนอว่าเราไม่ควรพูดถึง “สลิ่ม”  หรือคนที่เสนอว่าเราต้องมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ข้ามพ้นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้ง เป็นพวกที่มองว่าความขัดแย้งที่มีมาตั้งแต่การก่อตัวของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำไม่กี่คน หรือเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ใส่เสื้อคนละสี มันเป็นการเอาสมองไปไว้ใต้กะลา เพื่อหวังว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ความขัดแย้งโดยนำคนหน้าใหม่มาเป็นนักการเมืองแทนคนหน้าเก่า

มันเป็นความคิดปัญญาอ่อนที่ไร้สาระ และถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดความขัดแย้ง เราจะเข้าใจว่าทำไมเป็นอย่างนี้

พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ๑๙ กันยา มันทำให้เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม แลพวกอนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากการ “เหม็นขี้หน้าทักษิณ” ของพวกที่ทำลายประชาธิปไตย มันมาจากจุดยืนและแนวคิดทางการเมืองของเขาต่างหาก

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร นอกจากนี้ไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่จะเป็นปากเสียงของคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทย เข้าใจและพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อครองใจประชาชน ซึ่งจะแทนที่ระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า “นโยบายคู่ขนาน” คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนใช้คำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับพวกเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้ ถูกซื้อง่าย และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งขันทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้ง เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย

ในขณะที่เรามองเห็นและรู้จักพวกที่ทำลายประชาธิปไตย เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนแบบขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

ปรองดองของทหารคือการบังคับให้ยอมจำนน

ใจ อึ๊งภากรณ์

กระบวนการที่ทหารเผด็จการเลือกที่จะเรียกว่า “การปรองดอง” ไม่ใช่การสร้างสันติภาพ ความสงบ หรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด มันเป็นการบังคับให้ฝ่ายประชาธิปไตยยอมจำนนต่อโจรผู้ปล้นประชาธิปไตยต่างหาก ปรองดองของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด คือการ “ดองเผด็จการ” ให้อยู่ต่ออีกยี่สิบปี

นายพลเผด็จการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนายพล “หน้าหมู” หรือ ไอ้ยุทธ์ หรือทาสรับใช้ของมัน อ้างว่าทหารเป็นกลางระหว่างสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน นั้นคือคำหลอกลวงของพวกที่โกหกเป็นสันดานเท่านั้นเอง

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารเป็นผู้ก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๙

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อมันนั่งอมยิ้มปล่อยให้ “พันธมิตรต้านประชาธิปไตย” ยึดทำเนียบและยึดสนามบิน โดยไม่สลายม็อบแต่อย่างใด

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารก่อตั้งรัฐบาลอภิสิทธ์ในค่ายทหาร ทั้งๆที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลย

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารเป็นผู้เข่นฆ่าเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๓

24879_385522464924_537184924_3646967_92917_n

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อคนอย่างไอ้ยุทธ์ประกาศว่าประชาชนไม่ควรเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารนั่งอมยิ้มไม่ทำอะไร เมื่อพวกสลิ่มและพระสงฆ์ฟาสซิสต์อย่าง “ไอ้โจรอิสระ” ใช้ความรุนแรงในการล้มกระบวนการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๗ แถมไอ้ยุทธ์กับ “ไอ้โจรอิสระ” เป็นเพื่อนซี้กันด้วย

1328008185

ทหารจะเป็นอิสระได้อย่างไร ในเมื่อไอ้ยุทธ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้ง

154917704__705502c

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไร ในเมื่อเผด็จการชุดนี้ใช้กฏหมายเถื่อน 112 ในการขังคุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำลายประชาธิปไตยของทหาร มันจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารขยัน “ปรับทัศนคติ” ของฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อให้คล้อยตามความคิดเผด็จการ และการไล่ล่านักประชาธิปไตยยังเกิดขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อสถาบันกาฝากอันนี้ มีประวัติอันยาวนานในการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย และการกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเองผ่านการคอร์รับชั่น

วิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นวิกฤตระหว่างพวกที่อยากทำลายประชาธิปไตย และพวกที่ชื่นชมประชาธิปไตย และทหารเป็นส่วนสำคัญของฝ่ายที่ต้องการทำลายประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นวิกฤตการเมืองนี้มีรากฐานมาจากการที่คนบางส่วน เช่นพวกชนชั้นกลาง ทหาร ข้าราชการอนุรักษนิยม และเอ็นจีโอ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะมองว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงของผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง

ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบพรรคเหล่านี้ เป็นชัยชนะจริง เพราะถูกพิสูจน์มาหลายรอบจนฝ่ายเผด็จการต้องใช้วิธีรัฐประหารของทหารหรือของศาลเตี้ยในการล้มรัฐบาล นี่คือสาเหตุที่พวกปฏิกูลการเมืองทั้งหลาย ตั้งหน้าตั้งตาเปลี่ยนระบบการเมือง ผ่าน ”สภาลากลิ้นเลียทหาร” และองค์กรไม่เป็นกลางทั้งหลาย เพื่อลดความสำคัญของเสียงประชาชนลง และเพิ่มอำนาจของทหารและพวกอนุรักษ์นิยมภายใต้ “ยุทธ์ศาสตร์แช่แข็งประเทศไทย20ปี”

วิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากนักการเมืองเลว มันมาจากการที่ทหารเสือกในระบบการเมือง และพวกสลิ่มทั้งหลายไม่มองว่าตัวเองต้องเคารพกติกาประชาธิปไตยแต่อย่างใด

สรุปแล้วไอ้ที่พวกมันเรียกว่า “ปรองดอง” เป็นแค่การบังคับให้ฝ่ายประชาธิปไตยยอมจำนนต่อแผนทำลายประชาธิปไตย 20 ปีของมัน มันเป็นการบังคับให้ปรองดองด้วยกระบอกปืน โดยทหารหวังจะสร้างภาพลวงตาว่าจัดการเลือกตั้งได้ แต่เราก็รู้อยู่ว่ามันจะเป็นการเลือกตั้งที่เสียงประชาชนมีค่าน้อยกว่าความเห็นของทหาร มันจะไม่ใช่การเลือกตั้งเสรี

แล้วถ้าเราต้องการความสงบสุขและการปรองดองจริง ซึ่งประชาชนจำนวนมากคงต้องการ มันจะมีหน้าตาแบบไหน?

ถ้าจะมีการปรองดองเพื่อสร้างประชาธิปไตย และความสงบ มันมีเงื่อนไขสำคัญดังนี้คือ

  1. ทหารต้องประกาศถอนตัวออกจากการเมืองและกลับเข้ากรมกอง นายพลที่มีส่วนในการก่อรัฐประหารจะต้องลาออกจากการเป็นทหารและสัญญาต่อประชาชนว่าจะไม่เล่นการเมือง ต้องมีการลดงบประมาณทหาร และนำวิธีการบริหารกองทัพโดยพลเรือนที่เป็นผู้แทนประชาชนเข้ามาใช้
  2. ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ม็อบสุเทพ และสลิ่มชนชั้นกลาง จะต้องปฏิญาณตนต่อหน้าประชาชนว่าจะและความสงบ ยอมรับการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้ง แน่นอนประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ค้าน ประท้วง หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แต่จะต้องไม่เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารเมื่อไม่ชอบผลการเลือกตั้ง
  3. จะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ เป็นการชั่วคราวก่อนที่จะปรับแก้ไขให้ดีขึ้นโดยประชาชน ควรจัดการเลือกตั้งเสรีที่โปร่งใสภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ โดยที่กรรมการเลือกตั้งมาจากกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย อาจต้องให้มีผู้สังเกตการณ์จากประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยมาให้หลักประกันว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่สะอาด
  4. จะต้องมีการปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึงคนที่โดน 112 และหยุดดำเนินคดีการเมืองทุกประเภท พร้อมกับการยกเลิกกฏหมาย112 และกฏหมายที่เผด็จการร่างออกมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

มองแล้ว ในสภาพปัจจุบัน 4 ข้อข้างบนก็คงเป็นแค่ความฝัน เพราะถ้าจะมีการปรองดองที่นำไปสู่ประชาธิปไตยและความสงบ ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยจะต้องเข้มแข็งพอที่จะบังคับให้มีการปรองดองที่ไม่ใช่การยอมจำนนต่อเผด็จการ นั้นคือบทเรียนจากอดีตในไทยและจากทั่วโลกด้วย