สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้
การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร
การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก
ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง
การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน
การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง
ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ
การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด
จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย
การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น
การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น
ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี
การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก
จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น
แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้
ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย
ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน
แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม
เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ
และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม
แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน
ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ
ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก
จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้
พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”
เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ
มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง
แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย
ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ
เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”
ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก
เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย
ใจอึ๊งภากรณ์