Tag Archives: ประชามติ

ร่วมกันลงคะแนนให้พรรคต้านทหาร – สรุปนโยบายหลักของพรรคเหล่านี้

ใจ อึ๊งภากรณ์

พลเมืองไทยที่รักประชาธิปไตยไม่ควรตั้งความหวังสูงเกินไปสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงในอีกไม่กี่วัน เราทราบดีว่าเผด็จการประยุทธ์พยายามที่จะโกงการเลือกตั้งด้วยหลายวิธี เช่นการแต่งตั้งสว.ของฝ่ายทหาร 250 คน ซึ่งแปลว่าฝ่ายพรรคเผด็จการจะสามารถอ้างว่าได้เสียงข้างมากในสภาทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้เลือก

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปี ที่ออกแบบเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการไปอีกนาน และจำกัดความอิสระของรัฐบาลประชาธิปไตยในการบริหารประเทศ บวกกับศาลและวุฒิสภาที่เป็นทาสรับใช้ของทหาร จะทำให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเคารพ การยุบพรรคไทยรักษาชาติคือตัวอย่างที่ดี

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งประชาธิปไตย

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าเราต้องร่วมกันลงคะแนนเสียงให้พรรคต้านทหาร เรื่องนี้สำคัญมากเพราะอะไร?

เราต้องมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นโอกาสที่ประชาชนจะลงมติไม่ไว้วางใจเผด็จการและพวกทหารที่ชอบก่อรัฐประหาร มันจะเป็นการลงมติในเชิงสัญญลักษณ์ที่มีค่ามหาศาลในการให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยแท้

ลองนึกภาพดูก็ได้ ถ้าพรรคที่ต้านทหารไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ พวกทหารจะยกเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการอยู่ต่ออีกนาน กรณีนายพลเอลซีซีในประเทศอียิปต์เป็นคำเตือนที่สำคัญ

ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องเข้าใจกันว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ เราต้องข้ามพ้นอคติส่วนตัวและสร้างความสามัคคีในการลงคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งจากกลุ่มพรรคต้านทหาร ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคสามัญชน และพรรคประชาชาติ

และที่สำคัญคืออย่าไปหวังอะไรจากพรรคต่างๆ เพราะเรากำลังลงมติไม่ไว้วางใจในเผด็จการในเชิงสัญญลักษณ์เท่านั้น

ทุกพรรคที่เอ่ยถึงข้างบนมีปัญหา ไม่มีพรรคไหนพร้อมจะลงมือสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจรทันทีด้วยการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน มีแต่การเสนอว่าจะสร้างในอนาคตอันไกลหรือแค่เพิ่มสวัสดิการบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับการลงมือสร้างรัฐสวัสดิการทันที นอกจากนี้ไม่มีพรรคไหนในรายชื่อข้างบนที่เสนอให้ยกเลิกหรือแม้แต่ปฏิรูปกฏหมายเผด็จการ 112 และไม่มีพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจนอีกด้วย

พรรคเพื่อไทยมีข้อดีตรงที่เสนอตัดงบประมาณทหาร แต่ทำไปเพื่อช่วยนายทุนน้อย มีการเสนออีกว่าจะซื้อรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษแทนการซื้อรถถัง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่พรรคนี้มีนักการเมืองประเภท “มาเฟีย” หรือ “โจร” หลายคน เช่น พัลลภ ปิ่นมณี เสนาะ เทียนทอง และเฉลิม อยู่บำรุง และมี อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีที่เคยเพิ่มความเข้มข้นในใช้ 112 เพื่อการปราบประชาชานที่ใช้อินเตอร์เน็ด

พรรคอนาคตใหม่มีจุดเด่นตรงที่ประกาศว่าจะลบผลพวงของเผด็จการและตัดงบประมาณทหารเพื่อเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน แต่คำประกาศดังกล่าวขาดประเด็นสำคัญคือการสร้างพลังมวลชนนอกรัฐสภาที่จะมาหนุนช่วย นอกจากนี้มีการพูดถึงปัญหาปาตานี และการเปิดรับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นนโยบายก้าวหน้า แต่พรรคนี้เป็นพรรคนายทุนไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคฝ่ายซ้าย ดังนั้นการเพิ่มประโยชน์ให้กับแรงงานจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองผลประโยชน์นายทุนก่อน และทั้งๆ ที่มีปีกแรงงาน แต่นั้นเป็นแค่ไม้ประดับ เพราะไม่มีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจต่อรองให้สหภาพแรงงานและร่างกฏหมายแรงงานใหม่ ซึ่งตรงนี้ต่างกับนโยบายพรรคสามัญชน นอกจากนี้พรรคอนาคตใหม่มีข้อเสนอสำหรับบำนาญคนชราที่ตั้งไว้แค่ 1800 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าพรรคอื่นหลายพรรค

พรรคสามัญชนมีข้อเสนอให้รวมสามระบบประกันสุขภาพเข้าด้วยกัน ซึ่งต่างกับพรรคอื่นและเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดดิการ แต่ไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจนเรื่องการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวย บำนาญถ้วนหน้าสำหรับคนชราพรรคตั้งไว้ในระดับ 3000 บาทต่อเดือน ซึ่งทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับ และถือว่าเป็นข้อเสนอก้าวหน้า โดยทั่วไปพรรคนี้มีอิทธิพลของเอ็นจีโอสูง ไม่ใช่พรรคของแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม และนโยบายหลักๆ เน้นแต่สิ่งแวดล้อมกับปัญหาชนบท และยังมีอิทธิพลของแนวเศรษฐกิจชุมชนสูง ซึ่งสะท้อนวิธีการทำงานประเด็นปัญหาเดียวของเอ็นจีโอ อย่างไรก็ตามข้อเสนอของพรรคให้หนุนพลังสหภาพแรงงานและเขียนกฏหมายแรงงานใหม่เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า และนโยบายยกเลิกการใช้พาราคอตเพื่อคืนอาหารปลอดภัยให้ประชาชนเป็นนโยบายก้าวหน้าเช่นกัน

เราอาจพูดได้ว่าพรรคสามัญชนเป็นพรรคซ้ายอ่อนๆ ซึ่งดีกว่าพรรคอื่นๆ มีจุดยืนเคียงข้างคนจนที่ชัดเจน แต่เป็นพรรคเล็ก แกนนำตั้งความหวังว่าอย่างมากอาจได้สส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเท่านั้น

ในเรื่องปัญหากฏหมายแรงงานฉบับปัจจุบันดูบทความนี้ https://prachatai.com/journal/2019/02/81152

พรรคเพื่อชาติไม่ค่อยมีนโยบายชัดเจน มีการพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำแต่รายละเอียดน้อยเกินไป มีการพูดถึง “อนาคตดิจิตอล” เหมือนเป็นคำขวัญสวย แต่ขาดรูปธรรมพอสมควร มีการเสนอบำนาญสำหรับคนชราในระดับ 2000 บาทต่อเดือน และมีนโยบายสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนักเรียนแพทย์ตำบลละ 1 คน เพื่อให้กลับมาช่วยบ้านเกิด ซึ่งเป็นเรื่องดี

พรรคประชาชาติมีจุดเด่นตรงที่เน้นการสร้างสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม และบำนาญสำหรับคนชราในระดับ 3000 บาทต่อเดือน แต่ทั้งๆ ที่มีฐานเสียงในภาคใต้ ไม่ค่อยมีนโยบายที่ชัดเจนและก้าวหน้าเรื่องการใช้การเมืองแทนการทหารในการคืนเสรีภาพให้ชาวปาตานี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับรายละเอียดของนโยบายเท่าไร ประเด็นหลักคือการต้านทหาร เพราะเรารู้กันว่ากติกาการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

โกงเลือกตั้ง

ดังนั้นเราต้องร่วมกันลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่ต้านทหารโดยข้ามพ้นอคติส่วนตัวบางอย่าง เราไม่ควรไปเลือกพรรคอื่นที่อวยทหารโดยเด็ดขาด เพราะพรรคอื่นเช่นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยเป็นตัวแทนของคนที่ทำลายประชาธิปไตย

หลังจากที่มีการนับคะแนน ถ้าคะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เทให้พรรคต้านทหาร เราต้องเรียกร้องให้ประยุทธ์และแก๊งทหารถอนตัวออกจากการเมืองไทยสักที

 

ถอดรหัสแถลงการณ์ของรัฐบาลตะวันตกเกี่ยวกับประชามติไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลายคนที่อยากเห็นประชาธิปไตยไทยในไทย แต่มองไม่ออกว่าเราจะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้อย่างไร มักจะไปตั้งความหวังว่าจะมี “อัศวินม้าขาว” มากำจัดเผด็จการให้เรา หลายคนตั้งความหวังกับสหประชาชาติ และหลายคนหลอกตนเองว่ารัฐบาลสหภาพยุโรป (อียู) หรือรัฐบาลสหรัฐ จะคอยวิจารณ์และกดดันให้รัฐบาลประยุทธ์เปิดให้มีประชาธิปไตย

แต่ความจริงในโลกไม่เป็นเช่นนั้น พิสูจน์ได้จากการถอดรหัสแถลงการณ์ต่างๆ ของรัฐบาลตะวันตกหลังผลของประชามติ

ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ดังนี้:

“หลังผลประชามติออกมา สหรัฐอเมริกา ในฐานะมิตรเก่าแก่และพันธมิตรของประเทศไทย ขอชักชวนให้รัฐบาลกลับสู่ระบบรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว และในกระบวนการนี้เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ”

[ดู http://bit.ly/2aPzqGY ]

ส่วนผู้แทนของอียูออกแถลงการณ์ที่มีใจความดังนี้:

“สหภาพยุโรปมองว่าช่วงก่อนวันลงประชามติ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานอย่างมาก โดยเฉพาะในการถกเถียงแลกเปลี่ยน และมีการปิดกั้นการรณรงค์ทางการเมือง เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่การลิดรอนสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ ที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน ต้องถูกยกเลิก เพื่อให้กระบวนการทางการเมืองเปิดกว้าง ตรวจสอบได้ และประกอบไปด้วยการมีส่วนร่วม สหภาพยุโรปเรียกร้องให้ทางการไทยสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแท้ และการเลือกตั้ง”

[ดู http://bit.ly/2auzDR7 ]

ถ้าเราอ่านดีๆ และคิดแบบลงลึก เราจะเห็นว่าไม่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญเผด็จการแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญนี้จะต่ออายุเผด็จการทหารไปนานพร้อมกับแช่แข็งอิทธิพลของกองทัพในระบบการเมืองไทย

ดังนั้นในรูปธรรมรัฐบาลตะวันตกกำลังขอให้รัฐบาลทหารไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยไม่มีการรื้อถอนรัฐธรรมนูญมีชัย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลตะวันตกจะยอมรับระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของประยุทธ์ถ้าแค่มีการเลือกตั้ง

ยิ่งกว่านั้นแถลงการณ์ของอียูกล่าวต่อไปว่า “พลเมืองทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกัน และทำงานร่วมกันอย่างสันติ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเลือกตั้ง” ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่ารัฐบาลอียูต้องการให้พวกเราร่วมมือกับสลิ่ม ประชาธิปัตย์ และทหาร ในกระบวนการประชาธิปไตยครึ่งใบ

จริงๆ จุดยืนของรัฐบาลตะวันตกที่มีคำสวยเรื่องประชาธิปไตยเป็นผักชีโรยหน้า ไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐบาลหลักๆ ของประเทศในอียูเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาของพรรคนายทุน สหรัฐก็ไม่ต่าง หลายรัฐบาลละเมิดสิทธิพลเมืองภายในประเทศ และทำสงครามในประเทศอื่นเป็นประจำ ดังนั้นเราจะไปหวังอะไรได้กับพวกนี้

สิ่งที่รัฐบาลตะวันตกอยากเห็นในประเทศไทยคือระบบที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ไม่เป็นจริง เขาจะได้มีความชอบธรรมในสายตาพลเมืองภายในประเทศของเขา ในการร่วมมือกับรัฐบาลไทย ทั้งในเรื่องการค้าขายและในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

ลึกๆ แล้วรัฐบาลตะวันตกสนใจแต่เรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและรัฐ ในระบบจักรวรรดินิยมทั่วโลก เขาไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของเราแต่อย่างใด

ใครที่คิดว่ารัฐบาลตะวันตกจะเป็น “อัศวินม้าขาว” ที่จะช่วยเราให้มีสิทธิเสรีภาพ กำลังหลอกตนเอง

ไม่มีใครคนอื่นที่ไหนที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เรา ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติ หรือนักกล้าหาญปัจเจกที่เป็นคนไทย อานาคตของเสรีภาพอยู่ที่มวลชน และเสรีภาพนั้นจะเกิดเร็วขึ้นถ้าท่านมีส่วนร่วมในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยมวลชนเป็นแสน

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2b9bGhA

อย่าพึ่งยอมแพ้และหดหู่ เราต้องสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประชาชนจำนวนมากไปรับร่างรัฐธรรมนูญที่งอกจากกระบอกปืนอันนี้ เพราะมันแปลว่าเราต้องอยู่กับเผด็จการต่อไปอีกนาน ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และมันช่วยให้ความชอบธรรมกับเผด็จการอีกด้วย

ที่สำคัญคือ เราทราบดีว่า “ประชามติ” ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง มันไม่ใช่ประชามติประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะในรูปธรรมมีการสั่งห้ามวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในที่สาธารณะ  และมีการจับคุมนักเคลื่อนไหวที่อย่างต่อเนื่อง คณะทหารมีความหวังแต่แรกว่าถ้าขู่ประชาชนและพยายามปิดกั้นการแสดงออกหรือข้อถกเถียงต่างๆ ประชาชนจะขานรับการทำลายประชาธิปไตยที่บรรจุไว้ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประชามติครั้งนี้ไร้ความชอบธรรม ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องยอมรับผลแม้แต่นิดเดียว เรามีความชอบธรรมในการต่อต้านและวิจารณ์เผด็จการและรัฐธรรมนูญเผด็จการของมันต่อไป และสิ่งที่น่าทึ่งคือจำนวนคน 10 ล้านคน ที่กล้าออกมาลงคะแนนเสียงต้านเผด็จการในสถานการณ์แบบนี้ คนเหล่านี้ทั้ง 10 ล้านคน คือหน่ออ่อนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย

เราจะต้องเคลื่อนไหวต่อต้านคณะทหาร และอิทธิพลของเผด็จการต่อไป จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยคืนมา ยิ่งกว่านั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปให้กว้างกว่าแค่ยุคทักษิณหรือยุครัฐธรรมนูญปี ๔๐ โดยเฉพาะในเรื่องกฏหมาย 112 กฏหมายคอมพิวเตอร์ มาตรา 44 และแง่อื่นๆ ของความเป็นเผด็จการในไทยที่ตกข้างจากอดีต

อย่าลืมว่าประชาชนจำนวนหนึ่งลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเบื่อหน่ายกับสภาพสังคมเผด็จการ และต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ แต่คนกลุ่มนี้เข้าใจผิดว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่เสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญทหารฉบับนี้

เราลืมไม่ได้ด้วยว่าสาเหตุหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการผ่านในประชามติ ก็เพราะทักษิณ และ นปช. แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงมานาน ขบวนการที่ถูกแช่แข็งย่อมอ่อนตัวลงและไร้ประสิทธิภาพ

ในประชามติครั้งนี้มีการจำกัดผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนอกเขตเลือกตั้งด้วย ซึ่งทำให้คนที่ทำงานในจังหวัดอื่นเสียเปรียบ

นอกจากนี้จากประชาชนผู้มีสิทธิ์ทั่วประเทศ มีคนไปใช้เสียงแค่ 55% เท่านั้น ซึ่งแปลว่าประชาชนที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญทหารมีแค่ 31% ของประชาชนทั้งหมดของประเทศ

อย่าลืมด้วยว่าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหลายจังหวัดคะแนนไม่รับชนะ และที่น่าสนใจคือใน “ปาตานี” ชาวมาเลย์มุสลิมก็ลงคะแนนไม่รับด้วย นี่คือสาเหตุสำคัญที่คนเสื้อแดงและคนที่รักประชาธิปไตยทุกคนทั่วประเทศควรจะสมานฉันท์กับชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี เราต้องเรียนรู้ปัญหาของเขา และควรเข้าใจว่าเรามีศัตรูร่วม ถ้าไม่มีประชาธิปไตย เราจะไม่มีเสรีภาพและความสงบ สมัยที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชาวมาเลย์มุสลิมต้องใช้ชีวิตภายใต้เผด็จการสยาม

13903326_1263016940383579_3770634799600694759_n

การไม่รับผลประชามติของพวกเรา ไม่เหมือนกรณีสลิ่ม มันต่างโดยสิ้นเชิงกับการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยเคยชนะในอดีต เพราะการเลือกตั้งที่นำไปสู่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทย มันไม่ได้จัดภายใต้เงาเผด็จการ และมันสะท้อนความเห็นของประชาชนอย่างโปร่งใส ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี้ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง มันร่างโดยสมุนของทหาร มันงอกออกมาจากกระบอกปืน มันเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อน และมันออกแบบเพื่อให้เผด็จการคุมอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในแง่หนึ่งผลของประชามติก็สะท้อนความเห็นของคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับเผด็จการ หรืออย่างน้อยยอมจำนนต่อเผด็จการ ซึ่งแปลว่าเรามีงานหนักในการรณรงค์เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย เราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ก่อนที่เราจะสู้ต่อไป อย่างไรก็ตามความจริงอีกอันหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือ คนมักเปลี่ยนความคิดได้เสมอ และท่ามกลางการต่อสู้ หรือท่ามกลางวิกฤตคนจะเปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็ว

หน้าที่ของผู้รักประชาธิปไตยทุกคน คือการรณรงค์ต่อไปเพื่อสิทธิเสรีภาพ โดยมองว่าทุกคนที่คัดค้านรัฐธรรมนูญทหารอย่างจริงใจเป็นแนวร่วมของเรา ตรงนี้ขอยกเว้นคนตอแหลอย่างอภิสิทธิ์

เราต้องเอาใจใส่ในวิธีการมากกว่าที่ผ่านมา เราต้องให้ความสำคัญกับการระดมมวลชน จัดตั้งมวลชน และสร้างเครือข่ายเพื่อต่อสู้ร่วมกัน ต้องมีการต่อสายระหว่างคนเสื้อแดง นักศึกษารุ่นใหม่ คนที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ชาวบ้านที่ออกมาปกป้องสิทธิชุมชน และคนอื่นๆ ที่เกลียดชังเผด็จการ เราไม่ควรและไม่ต้องไปรอให้ “ผู้ใหญ่” ที่ไหนเขาเปิดไฟเขียวให้ เพราะไม่ว่าจะเป็นทักษิณ แกนนำเสื้อแดง หรือพรรคเพื่อไทย เขาคงไม่ออกมาปลุกระดมประชาชน เราต้องร่วมกันทำเอง

คราวนี้เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณ ทักษิณไม่เคยปลุกระดมให้มวลชนออกมาต้านเผด็จการ ดังนั้นเราต้องสร้างความมั่นใจว่าประชาชนทำเองได้ แต่ถ้าเราไม่สร้างองค์กร ไม่สร้างพรรค ไม่สร้างเครือข่ายมวลชน เราจะไม่มีวันนำตนเองอย่างมีพลัง ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักสามัคคีกับคนที่อาจเห็นต่างแต่มีจุดร่วมในการเกลียดชังเผด็จการ การเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเรา เป็นพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ต้องเลิก

ถ้าเรามัวแต่เคลื่อนไหวในกลุ่มเล็กๆ ในเชิงสัญลักษณ์ โอกาสที่จะล้มเผด็จการจะยิ่งยืดออกไปนานในอนาคต

อย่าลืมว่าคนไทยเคยล้มเผด็จการมาหลายรอบ และคนไทยจำนวนมากมีวัฒนธรรมที่ชื่นชมประชาธิปไตย แน่นอนเราทุกคนก็เคยพบอุปสรรคในการต่อสู้ ต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อเดินหน้าสองก้าว

อย่าพึ่งยอมแพ้และหดหู่ เราต้องสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตย เผด็จการจงพินาศ ประชาชนจงเจริญ!

บอยคอตหรือโหวดโน?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเลือกว่าเราจะลงคะแนนไม่รับ “รัฐอธรรมนูญทหาร” (โหวดโน) หรืองดออกเสียง (บอยคอต) ในประชามติที่จะจัดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องยุทธวิธีเท่านั้น อย่างที่พวกเราหลายคนเข้าใจดี มันเป็นยุทธวิธีในยุทธศาสตร์การต่อต้านเผด็จการ

ผมขอเรียกเศษกระดาษของเผด็จการว่า “รัฐอธรรมนูญ” เพราะมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเลย [ดู  http://bit.ly/25jnpk3  ]

ทั้งสองฝ่ายในการถกเถียงว่าจะงดออกเสียงหรือกาช่อง “ไม่รับ” มีจุดยืนเหมือนกันคือต่อต้านเผด็จการและรังเกียจ รัฐอธรรมนูญ โสโครกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด ตรงนี้มันชัดเจน และทั้งสองฝ่ายจริงใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

แต่การเลือกยุทธวิธีที่ดีที่สุดในครั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาประเด็นปัญหาจากมุมมองการเมือง และมันมียุทธวิธีที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวคือกาช่อง“ไม่รับ”… จะขออธิบายเหตุผล

syylar7hxfydosf3li4l

คนที่เน้นการต่อสู้เชิงสัญลักณ์แบบปัจเจก จะพิจารณาเรื่องนี้จากจุดยืนของ “ความบริสุทธิ์” คือจะเสนอเหตุผลว่าการไปลงคะแนนเสียงไม่เอารัฐอธรรมนูญทหาร เป็นการยอมรับกติกาของเผด็จการ หรือเป็นการ “ถือหางทหาร” เขาจะถามต่อไปว่า ถ้าปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนรับรัฐอธรรมนูญ เราก็จะพ่ายแพ้ถึงขนาด “ต้อง” ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่หรือไม่? พวกนี้เลยเสนอว่าเราต้องงดออกเสียงหรือบอยคอตประชามติครั้งนี้

พอพวกที่เน้นความเป็นปัจเจกแบบนี้จะนั่งเฉยอยู่บ้าน ไม่ไปร่วมกิจกรรมการเมืองที่ทหารจัดไว้ เขาจะรู้สึกดีในตัวเอง เพราะสามารถรักษาความขาวสะอาด และไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร เขาก็จะอมยิ้มมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองในรูปแบบปัจเจก

แต่การมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองแบบนามธรรม มันไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางสังคมเลย เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมทุนนิยมปัจจุบันต้องอาศัย “พลัง” และ “อำนาจ” มันอาศัยเหตุผลและศีลธรรมก็จริง เพราะเราต้องชักชวนคนจำนวนมากให้มาทางเดียวกับเราด้วยเหตุผลและศีลธรรม แต่การโบกธงของศีลธรรมหรือความถูกต้องอย่างเดียว ไม่สามารถเอาชนะพลังและอำนาจของชนชั้นปกครองได้เลย สิ่งที่จะใช้ได้ในการเผชิญหน้ากับอำนาจของทหาร หรืออำนาจของรัฐที่กดขี่เรา คือพลังมวลชนกับกระแสมวลชน และเราต้องใช้พลังนั้นในสังคม บนท้องถนน และในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ถ้าไม่มีมวลชน เราชนะไม่ได้

ดังนั้นสำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เน้นพลังมวลชนแทนจุดยืนปัจเจก เราจะเลือกยุทธวิธีที่สามารถครองใจมวลชนได้ดีที่สุด

ในขณะนี้การเคลื่อนไหวของมวลชนผู้รักประชาธิปไตยในไทยอ่อนแอพอสมควร เหตุผลมาจากการ “สลาย” เสื้อแดงโดยทักษิณและพรรคเพื่อไทย บวกกับการที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ไม่ได้เดินตามทักษิณ ไม่ยอมจัดตั้งมวลชนอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะร่วมกันแสดงว่าเราปฏิเสธทหารผ่านประชามติ

ประชามติที่กำลังจะจัดขึ้น เป็นการเสี่ยงทางการเมืองของคณะทหารโจรมากพอสมควร เขาต้องการสร้างภาพว่าจะปรึกษาประชาชน และสร้างภาพว่าในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งปลอม แต่เขากังวลว่าประชาชนจะคว่ำรัฐอธรรมนูญอัปลักษณ์อันนี้ ดังนั้นเราต้องใช้โอกาสนี้เพื่อพยายามคว่ำรัฐอธรรมนูญและตบหน้าทหาร

มันมีประเด็นเดียวเท่านั้นที่สำคัญในการเลือกว่าเราจะโหวดโนหรือบอยคอต ประเด็นนี้คือเรื่องของกระแสในหมู่คนส่วนใหญ่ที่รักประชาธิปไตย เราต้องยึดติดกับกระแสนี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. จะมีส่วนในกระแสนี้หรือไม่

การนำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. มาเป็นข้ออ้างในการบอยคอตนั้นฟังไม่ขึ้น และเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เลย แท้จริงแล้วเราควรดีใจที่แกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยมีส่วนในการสร้างกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญเลวฉบับนี้ นานๆ ที่สององค์กรนี้จะมีจุดยืนถูกต้อง

เวลาเราพิจารณาว่ากระแสตอนนี้เป็นอย่างไรในหมู่คนที่รักประชาธิปไตยทั่วประเทศ เราต้องยอมรับว่าการชวนให้คนไปลงคะแนนไม่รับรัฐอธรรมนูญมีกระแสแรงกว่าการบอยคอตหลายพันเท่า เราจึงต้องเลือกเส้นทางนี้

Untitled

เราต้องเป็นส่วนของกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญทหารครับ!

บางคนอาจสงสัยว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวอะไรกับประชามติ มันเกี่ยวข้องแน่นอนและถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือสังคมทุกชนิดเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งนั้น

การที่พวกนายพลและอภิสิทธิ์ชน ใช้อำนาจของกระบอกปืนและความรุนแรงเพื่อกีดกันไม่ให้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย เป็นการปราบปรามคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยม  ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครองนี้ มีสมาชิกจากหลายส่วน มีทหาร นายทุนใหญ่ ข้าราชการชั้นสูงฯลฯ และชนชั้นนี้อาจไม่สามัคคีกันไปทั้งหมด อาจมีนายทุนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคนส่วนใหญ่ในชนชั้นปกครองก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันคือ ชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์กำลังใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นโอกาสและอิทธิพลทางการเมืองของคนทำงานในเมืองและในชนบท ซึ่งเป็นกรรมาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนซีกสมัยใหม่ของชนชั้นปกครองที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการปัจจุบัน ต้องการควบคุมเราด้วยระบบรัฐสภาและการสร้างภาพว่าเรามีส่วนร่วมเท่านั้นเอง เขาไม่ต้องการให้คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ท้ายสุดถ้าทหารมันสามารถ โกง ข่มขู่ หรือชักชวน หรือทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน จนผลประชามติออกมารับรัฐอธรรมนูญของมัน เราจะทำอย่างไร? ง่ายมากครับ หลังจากที่เราเสียใจสักห้านาที เราต้องสู้ต่อไปเพื่อคัดค้านเผด็จการและระบบการเลือกตั้งจอมปลอมที่มันอยากนำเข้ามาใช้ เราจะไม่มีวันยอมรับกติกาของโจรไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร การรณรงค์ให้โหวดโนเป็นเพียงรอบหนึ่งในสงครามระยะยาวเพื่อประชาธิปไตย