Tag Archives: ประชาสังคม

มรดกมาร์คซิสต์ของ อันโตนิโอ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

กรัมชี่ เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่ต้องใช้เวลาในคุกฟาสซิสต์หลายปี

7_93_20070522104203

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน L’Ordine Nuovo กรัมชี่ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน ซึ่งแตกต่างจากนักวิชาการปัจจุบันหลายคนที่พูดถึง กรัมชี่ เหมือนเป็นแนวคิด “วิชาการ” ที่ซับซ้อนจนคนธรรมดาเข้าใจยาก

กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง
กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง

ในงานเขียนสมัย “ปีสีแดง” ที่มีการยึดโรงงานต่างๆ กรัมชี่ จะเน้นปัญหาว่าเราจะทำอย่างไรให้การปฏิวัตินั้นนำผลประโยชน์แท้จริงมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรัมชี่ มองว่าคณะกรรมการคนงานในสถานที่ทำงานต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่คนงานยึดโรงงานจากนายทุน เป็นหน่ออ่อนของรัฐกรรมาชีพในอนาคต แต่ท้ายสุดขบวนการยึดโรงงานใน “ปีสีแดง” ก็ถูกผู้นำสภาแรงงานและพรรคสังคมนิยมปฏิรูปทำลายโดยการประนีประนอมกับระบบทุน ประสบการณ์นี้พิสูจน์ให้ กรัมชี่ เห็นว่าต้องมีการจัดตั้งพรรคปฏิวัติที่แท้จริงในหมู่กรรมาชีพ กรัมชี่ จึงมีส่วนสำคัญในการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ (PCI)

กรัมชี่ เสนอว่าต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบัน

ถึงแม้ว่า กรัมชี่ มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกันโดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยาฟาสซิสต์ของ มุสโสลีนี  ในการเสนอให้สร้างแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม กรัมชี่ ไม่ได้มองว่าพรรคนี้คือ “ซีกขวาของแนวคิดลัทธิกรรมาชีพ” แต่มองว่าพรรคสังคมนิยมและพรรคปฏิรูปทั้งหลายในขบวนการแรงงาน ที่ยอมรับระบบและกรอบของทุนนิยม เป็น “ซีกซ้ายของแนวคิดลัทธิชนชั้นนายทุน” งานเขียนของกรัมชี่เรื่องนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับมุมมองของ เลนิน เรื่องพรรคแรงงานอังกฤษว่าเป็น “พรรคกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดชนชั้นนายทุน”

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่ มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”  แต่นักวิชาการปัจจุบันจำนวนมากที่เอ่ยถึง กรัมชี่ ไม่เคยทำงานจัดตั้งพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ตรอทสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค (จากเยอรมัน) และของ กรัมชี่ (จากอีตาลี่) จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

กรัมชี่ ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายในสังคม หรือที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ประชาสังคม” สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครอง เพื่อมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจในทางความคิด (hegemony) ว่าเป็นสงครามจุดยืน

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามแนวคิดแบบนี้จบลงด้วยการไม่ท้าทายอำนาจรัฐแต่อย่างใด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความผูกขาดทางความคิดของชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐผ่านการปฏิวัติสังคมนิยม

สรุปแล้ว กรัมชี่ อธิบายว่าในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ถ้าเราจะล้มอำนาจรัฐและสร้างสังคมนิยม เราต้องต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองของแนวคิดกรรมาชีพเพื่อครองใจคนส่วนใหญ่และทำลายเกราะป้องกันตัวที่นายทุนสร้างขึ้นภายในสถาบันต่างๆ ของประชาสังคมในขั้นตอนแรก

กรัมชี่ เสนอว่าการต่อสู้ขั้นตอน “สงครามทางจุดยืน” เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” (organic intellectuals) ซึ่งในมุมมอง กรัมชี่ “ปัญญาชนอินทรีย์” คือปัญญาชนที่ใกล้ชิดและเติบโตจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนากรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

กรัมชี่ อธิบายว่าถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพ เราต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าในสมองของคนคนเดียวกันมักจะมีความคิดขัดแย้งดำรงอยู่เสมอ ความคิดสายหนึ่งมาจากการพยายามครอบงำความคิดในสังคมโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราทุกคนจะถูกกล่อมเกลาให้เชื่อแนวคิดของนายทุนที่เรียกว่า “กระแสหลัก” ซึ่งการกล่อมเกลาดังกล่าวกระทำผ่านสถาบันใน “ประชาสังคม” เช่นโรงเรียน ศาสนา สื่อต่างๆ และแม้แต่ครอบครัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ในสมองของเราจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับแนวแรกดำรงอยู่เสมอ ซึ่งความคิดรูปแบบที่สองมาจากประสบการณ์ประจำวันของเรา

ตัวอย่างของความคิดที่ขัดแย้งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไป เช่น เราอาจถูกสั่งสอนให้รักชาติและเคารพผู้นำของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันเราอาจเห็นผู้นำกระทำตัวในลักษณะที่กอบโกยความร่ำรวยและกดขี่ขูดรีดคนไทยกันเองเป็นต้น ถ้าความขัดแย้งในความคิดดังกล่าวดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เราเห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานหรือการประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฏีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

ชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวัน ในขณะเดียวกันพรรคกรรมาชีพจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย และต้องพยายามพัฒนาจิตสำนึกจากแค่เรื่องปากท้องไปเป็นการเมืองภาพกว้างในทุกประเด็น

tft-30-p-22-c

อย่างไรก็ตามมีการบิดเบือนแนวคิดของ กรัมชี่ ในสมัยนี้ ซึ่งมักทำโดยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ห่างเหินจากการต่อสู้จริงของกรรมาชีพ  พวกนี้พยายามตีความข้อเขียนของกรัมชี่ในเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อการครองใจทางความคิด หรือการต่อสู้ใน “สงครามทางจุดยืน” ว่าเป็นการเสนอว่าไม่จำเป็นต้องปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐอีกแล้ว และพวกนี้มักคุยแลกเปลี่ยนเรื่องแนวคิดของ กรัมชี่ ในเสวนาวิชาการเหมือนกับว่าแนวคิดของ กรัมชี่ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการต่อสู้ปฏิวัติของกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยม และสร้างสังคมนิยม

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2l0HoCy

วิกฤตไทยทำให้ทฤษฏีการเมืองฝ่ายขวาเป็นโมฆะ

ใจอึ๊งภากรณ์

วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบัน ทำให้ทฤษฏีรัฐศาสตร์ เรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ของพวกนักวิชาการฝ่ายขวาเป็นโมฆะ

ทฤษฏีแรกคือเรื่อง “ประชาสังคม” แนวคิดนี้เคยฮิตกันหลังสงครามเย็น และมีการเสนอว่าประชาธิปไตยพัฒนาได้เมื่อมีชนชั้นกลางและประชาสังคม คำว่า “ประชาสังคม” สำหรับนักวิชาการเหล่านี้ หมายถึงกลุ่มคนชั้นกลาง หรือพวกที่อ้างตัวเป็นปัญญาชน และรวมถึงเอ็นจีโอด้วย ซึ่งล้วนแต่ไม่สังกัดรัฐโดยตรง แต่ทุกวันนี้เราเห็นจุดยืนของพวกนี้ ที่สนับสนุนม็อบสุเทพ สนับสนุนพันธมิตรฯเพื่อเผด็จการ และชื่นชมการทำรัฐประหารโดยทหาร

ชนชั้นกลางได้ออกมาปกป้องผลประโยชน์ตนเอง และพยายามกีดกันไม่ให้คนชั้นล่าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกรรายย่อย ได้ผลประโยชน์จากรัฐ หรือมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

พวกหมอ ทนายความ และอธิการบดีต่างๆ ก็ออกมาสนับสนุนม็อบสุเทพด้วย

เราชาวมาร์คซิสต์ไม่เคยตั้งความหวังพิเศษกับชนชั้นกลาง หรือ “ประชาสังคม” แบบนี้ เพราะในอดีตชนชั้นกลางเป็นฐานสำคัญที่สนับสนุนแนวฟาสซิสต์ในยุโรป หรือเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ในไทย ในขณะเดียวกันชนชั้นกลางเป็น “กลุ่มชนชั้น” ที่กระจัดกระจาย ต่างคนต่างแข่งขันกันแบบปัจเจก และไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากนายทุนใหญ่หรือสหภาพแรงงาน ดังนั้นชนชั้นกลางมักตามกระแส และถ้ากระแสคนชั้นล่างมาแรง เขาก็อาจสนับสนุนประชาธิปไตยได้ แต่ตอนนี้เขาเข้าข้างอำมาตย์ สรุปแล้วชนชั้นกลางไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่มั่นคง

สิ่งหนึ่งที่พออาจกู้จากทฤษฏีประชาสังคมได้ คือเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” แต่เราคงต้องโยนทิ้งทฤษฏีว่าด้วย “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ที่นิยมกันจังหลังยุคสงครามเย็น เพราะเขาจะนิยาม “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ว่าไม่สังกัดชนชั้น และเน้นการเมืองแบบวิถีชีวิตประเด็นเดียว โดยไม่คิดยึดอำนาจรัฐ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือขบวนการเสื้อแดง ซึ่งสังกัดชนชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่หลายส่วนถูกนำในระดับชาติโดยชนชั้นอื่น และเสื้อแดงก็มีเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐอำมาตย์

ทฤษฏีที่สองที่เราต้องโยนทิ้งคือเรื่อง “องค์กรอิสระ” ซึ่งเป็นแนวคิดของพวกเสรีนิยมทางการเมือง และแนวนี้เป็นแนวคิดฝ่ายขวาที่กำเนิดในตะวันตก พวกนี้เสนอว่าการมีประชาธิปไตย ต้องอาศัยการคานอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยองค์กรที่อิสระจากการเมืองและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แนวคิดนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักวิชาการและเอ็นจีโอในยุคที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐

แต่ในรูปธรรมเราเห็นว่าในไทย องค์กรอิสระ ที่ “อิสระ” จากการตรวจสอบเลือกตั้งโดยประชาชน กลายเป็นองค์กรที่จำกัดประชาธิปไตย และเป็นอุสรรค์ต่อการใช้นโยบายตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ในสหภาพยุโรป องค์กรอิสระอย่างเช่นธนาคารกลางของยุโรป ก็เข้ามากำหนดนโยบายเศรษฐกิจแทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย และที่ทำไปก็เพื่อประโยชน์ชนชั้นนายทุน โดยโกหกว่าทำเพื่อประโยชน์ “ชาติ”

นักมาร์คซิสต์มองว่าไม่มีใครหรือองค์กรใดในสังคม ที่อิสระจากผลประโยชน์ทางชนชั้น ดังนั้นความเป็นกลางไม่มี และแท้ที่จริงสิ่งที่คานอำนาจรัฐบาลได้ คือพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และสหภาพแรงงาน  ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์กรทางการเมืองที่ต้องถูกตรวจสอบโดยมวลชนของตนเอง

ทฤษฏีโมฆะที่สามที่ต้องโยนทิ้งคือข้อเสนอว่าประชาธิปไตยมั่นคงได้ ถ้าประชาชนมี “วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย” และมี “สถาบันทางการเมืองที่ตั้งมานาน” แต่ในไทยเราเห็นว่าประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ในขณะที่ชนชั้นปกครอง และสถาบันทางการเมืองของอำมาตย์ ไร้วัฒนธรรมนี้โดยสิ้นเชิง และพรรคการเมืองที่มั่นคงและเก่าแก่ที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่อวยเผด็จการเสมอ

ทฤษฏีโมฆะที่สี่ที่ต้องรื้อทิ้งคือแนวคิดที่เสนอว่าการพัฒนาของทุนนิยมกลไกตลาดเสรี ในลักษณะโลกาภิวัฒน์ จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เป็นประชาธิปไตย แต่ในไทยและที่อื่น เราเห็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งมีลักษณะโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะกลุ่มทุนธนาคารและอุตสาหกรรมเกษตร สนุบสนุนรัฐประหารและเผด็จการตลอด และพรรคพวกของคณะทหารเถื่อน ไม่ว่าจะในปี ๔๙ หรือปี ๕๗ และไม่ว่าจะเป็นทหาร นักวิชาการอวยทหาร หรือพลเรือนในพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนแต่คลั่งนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดเสรี พวก “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เหล่านี้ พร้อมจะทำลาย “30บาทรักษาทุกโรค” กดค่าแรงขั้นต่ำ คัดค้านนโยบายประกันราคาข้าว และนโยบายช่วยคนจนทั้งหลาย ในขณะที่เพิ่มงบประมาณทหารอย่างต่อเนื่อง แต่เราจะสังเกตเห็นว่าพรรคไทยรักไทยเคยใช้นโยบาย “คู่ขนาน” ที่ผสมการใช้งบประมาณรัฐแบบ “เคนส์รากหญ้า” ผสมกับแนวกลไกตลาด สรุปแล้วกลไกตลาดเสรีสุดขั้วเป็นแนวคิดที่สร้างความเหลลื่อมล้ำและไปได้สวยกับระบบเผด็จการเสมอ

สำหรับการพัฒนประชาธิปไตยในไทย เราน่าจะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เป็นเรื่องชี้ขาด คือการมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนระดับล่าง เช่นขบวนการเสื้อแดง แต่การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยจำต้องอาศัยการนำที่มาจากพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่พรรคของนายทุน ไม่ว่าพรรคนายทุนจะประชานิยมแค่ไหน สรุปแล้วเราต้องสามารถวิเคราะห์สังคมจากมุมมองชนชั้น และต้องเน้นพลังของมวลชนตลอด ไม่ใช่ไปหลงเชื่อว่า “ผู้รู้” ทั้งหลายที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะทหาร จะออกแบบประชาธิปไตยให้เราได้ หรือชนชั้นกลางจะขยายสิทธิเสรีภาพในสังคม

สิ่งเหล่านี้น่าจะชัดเจนมาก แต่ผมพนันได้เลยว่าในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และในสถาบันวิชาการอย่าง “สถาบันพระปกเกล้า” จะยังมีการสอนสูตรเดิมๆ ที่ล้มเหลวไปนานแล้ว ต่อไปอีกหลายปี และเนื่องจากคนที่กล้าเถียงกับ “ผู้ใหญ่” มักจะถูกเรียกตัวไป “เปลี่ยนทัศนะคติ” โดยเผด็จการ ก็คงจะไม่ค่อยมีนักศึกษาที่ไหนที่กล้าเถียงกับแนวหอคอยงาช้างของพวกล้าหลังเหล่านี้