Tag Archives: ประสิทธิภาพ

สภาพกรรมาชีพในสหรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

กรรมาชีพในสหรัฐอเมริกาไม่ได้สูญพันธ์หรือไร้อำนาจต่อรองอย่างที่นักวิชาการและสื่อกระแสหลักเสนอ แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยม ที่มีมาตั้งแต่กำเนิดของระบบนี้ รูปแบบและสภาพการทำงานได้เปลี่ยนไป

ในสหรัฐอเมริกากรรมาชีพทั้งหมดนับเป็นสัดส่วน 63% ของประชากร โดยที่ชนชั้นกลางมีประมาณ 36% และนายทุนใหญ่ 1%

โดยทั่วไปสถานที่ทำงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งรวมกันเป็นบริษัทที่โตขึ้น สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีการนำระบบรับเหมาช่วงเข้ามาสำหรับหลายกิจกรรมที่เชื่อมกับการผลิต เพราะระบบรับเหมาช่วงทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่เฉพาะทางอีกด้วย

ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนคนงานลดลง แต่สาเหตุหลักไม่ใช่เพราะกลุ่มทุนย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าจ้างต่ำอย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์และคนอื่นชอบอ้าง สาเหตุหลักมาจากการที่นายทุนผลักดันการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งทำให้ลดคนงานแต่เพิ่มผลผลิต ซึ่งมีผลทำให้การขูดรีดแรงงานหนักขึ้น สภาพการทำงานแย่ลง และกำไรของนายทุนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความหนาแน่นของทุนที่ใช้ลงทุนในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งจะเพิ่มขึ้น

us-auto-workers-on-line

วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มอัตราการขูดรีดมีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการผลิตรูปแบบใหม่ที่ตัดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองออก ผ่านระบบที่เรียกว่าการผลิต “ลีน” (Lean Production) เช่นการเปลี่ยนกะทำงานในบริษัทประกอบรถยนต์ “จีเอ็ม” ที่เปลี่ยนกะทำงานจากวันละ 8 ชม. 5 วันต่อสัปดาห์ (จันทร์ถึงศุกร์) ไปเป็นการทำงานวันละ 10 ชม. 4 วันต่อสัปดาห์ โดยนับวันเสาร์-อาทิตย์เป็นวันธรรมดาและไม่จ่ายค่าโอที

การเปลี่ยนกะทำงานแบบนี้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มกำไรให้นายทุน และมีการปรับเปลี่ยนกะทำงานในภาคบริการเช่นในโรงพยาบาลอีกด้วย

พร้อมกันนั้นจะมีระบบสอดแนมตรวจสอบการทำงานของคนงานทุกคน โดยใช้เทคโนโลจี “ไอที” สมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าคนงานจะพักผ่อนลำบากและถูกติดตามตลอดเวลา ซึ่งวิธีการนี้ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบการขนส่ง และแม้แต่ในโรงพยาบาล

Nurses

ในกรณีโรงพยาบาล เวลาพยาบาลใช้คอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้ หัวหน้างานสามารถดูว่าดูแลคนไข้กี่คนในระยะเวลาเท่าไร หรือสำหรับคนทำงานแอดมินในโรงพยาบาล หัวหน้างานสามารถตรวจสอบว่ารับโทรศัพท์บ่อยแค่ไหนหรือทำงานอื่นเร็วแค่ไหน ในกรณีคนทำงานในโกดัง จะมีระบบตรวจสอบว่าเคลื่อนย้ายสินค้ากี่ชิ้นในเวลาเท่าไร

การเปลี่ยนแปลงของสภาพการทำงานแบบนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของกรรมาชีพแย่ลงและเพิ่มความเครียด

อีกวิธีที่นายทุนใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคือระบบ “ทันเวลาพอดี” (Just In Time) คือในโรงงานต่างๆ จะลดต้นทุนโดยที่ไม่ต้องลงทุนเก็บชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตนานเกินไป ชิ้นส่วนจะถูกส่งมาให้ทันการผลิตในช่วงสั้นๆ และในโกดังที่ป้อนการผลิตในโรงงานต่างๆ หรือป้อนห้างร้าน จะมีระบบ “เข้าออกในวันเดียวกัน” (Cross-Docking) คือรถบรรทุกจะส่งของให้โกดัง และโกดังจะส่งต่อสู่เป้าหมายปลายทางในวันเดียวกัน

ระบบนี้มีผลทำให้กรรมาชีพมีพลังต่อรองสูงขึ้น เพราะถ้าส่วนหนึ่งนัดหยุดงาน ระบบการผลิต หรือการค้าขายจะหยุดทันทีเพราะไม่มีชิ้นส่วนหรือสินค้าสำรอง มันทำให้เราเห็นว่าในยุคนี้มี “สายประกอบการ” ทั้งภายในสถานประกอบการ และภายนอกที่เชื่อมกับระบบโกดังและการขนส่งอีกด้วย นอกจากนี้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนงานน้อยลง คนงานแต่ละคนมีความสำคัญและอำนาจต่อรองสูงขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมแยกไม่ออกจากภาคบริการ เพราะพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในขณะที่คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมลดลง คนงานในภาค “โลจิสติก” (logistics) เพิ่มขึ้น เช่นคนงานในโกดัง และคนงานขนส่งสินค้า คาดว่าทั่วประเทศคนงานในภาคนี้มีถึง 4 ล้านคน

workers-compensation-logistics-warehouse

ในชานเมืองใหญ่ๆ เช่นเมือง Chicago, Los Angeles หรือ New York มี “กลุ่มโลจิสติก” ขนาดใหญ่ที่เชื่อมกับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทขายของทางอินเตอร์เน็ด และห้างร้านขนาดใหญ่ และที่เมือง Chicago กลุ่มโลจิสติกมีการจ้างคนงานสองแสนคนในโกดัง ตัวเลขนี้ไม่รวมคนที่ขับรถขนส่งสินค้า

xpo_equipment_on-road-city1

นอกจากโลจิสติกแล้ว ภาคบริการประกอบไปด้วยคนทำงานในสถานการศึกษา ธนาคารกับไฟแนนส์ การขนส่งมวลชน และโรงพยาบาล คาดว่าลูกจ้างในโรงพยาบาลมีถึง 4.4 ล้านคน และที่สำคัญคือภาคบริการนี้ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นได้เนื่องจากลักษณะงานบวกกับความเข้มข้นของการลงทุน

e5c7613e79b239ed68390596044f9745

ลักษณะของงานในภาคบริการ มักจะเป็นงานที่จ่ายค่าจ้างต่ำและโอกาสที่จะเลื่อนขั้นสำหรับลูกจ้างจะมีน้อย นอกจากนี้มีการใช้คนงานในลักษณะยืดหยุ่น คือส่วนหนึ่งไม่ได้มีชั่วโมงการทำงานที่เต็มเวลาหรือมั่นคง ซึ่งบ่อยครั้งคนงานจะเป็นคนอายุน้อยที่พึ่งจบการศึกษา หรืออาจเป็นสตรีที่ต้องการงานไม่เต็มเวลาเพื่อเลี้ยงลูก แต่ทั้งๆ ที่มีการประโคมข่าวว่า “ในยุคนี้งานประจำกำลังหายไปหมด” ตัวเลขจริงชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการทำงานแบบที่ไร้ความมั่นคง (Precarious Work) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไร คือคงอยู่ที่ 15% ของกำลังงานทั้งหมดในช่วง10ปีระหว่าง1995-2005 แต่จำนวนคนงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้คนงานที่ไร้ความมั่นคง และคนงานที่มีงานประจำเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน

ในภาพรวมมันไม่ได้มีส่วนหนึ่งของประชาชนที่ขาดความมั่นคงตลอดไป แต่คนงานทุกคนอาจมีประสบการณ์ของการทำงานที่ขาดความมั่นคงในช่วงหนึ่งของชีวิต และเนื่องจากสหรัฐไม่มีรัฐสวัสดิการ ประชาชนสูงอายุหลังเกษีณ เป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงมากพอสมควร

38591-full

ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1980 คือคน 10% ที่รวยที่สุดเพิ่มส่วนแบ่งทรัพย์สินจาก 30% ในปี1970 เป็น 50% ในปี2005 ความเหลื่อมล้ำนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน คือถ้าวัดสัดส่วน “กำไรต่อค่าจ้าง” จะเห็นว่าเพิ่มจาก 21 ในปี 1975 เป็น 36 ในปี 2011 ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพโดยนายทุน

6.6.16portsphoto

สำหรับโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและส่งเสริมการต่อสู้ทางชนชั้น การมีสถานที่ทำงานที่ใหญ่ขึ้น และมีการลงทุนสูงขึ้น และลักษณะของระบบโลจิสติก เป็นโอกาสทอง เพราะทำให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานง่ายขึ้นและคนงานมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น แต่เงื่อนไขทางวัตถุแบบนี้ไม่พอที่จะทำให้เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้นได้ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กันคืองานการจัดตั้งภายในสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้า พร้อมกับการจัดตั้งทางการเมืองที่อิสระจากพรรคเดโมแครต ในอดีตผู้นำแรงงานระดับสูงไม่ยอมนำการต่อสู้และมัวแต่ไปตีสนิทกับนักการเมืองพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนายทุนอย่างชัดเจน และถ้าเราเข้าใจว่า ทรัมป์ ไม่ได้ชนะเพราะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาชีพ แต่ชนะเพราะกรรมาชีพจำนวนมากไม่ยอมออกมาลงคะแนนเสียงเลยในวันเลือกตั้ง เพราะเบื่อหน่ายกับสองพรรคใหญ่และสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม เราจะเห็นว่าในยุคนี้นักเคลื่อนไหวมีโอกาสที่จะก่อตั้งพรรคสังคมนิยมหรือพรรคแรงงานเพื่อจัดตั้งคนงานในสถานที่ทำงานให้ออกมาต่อสู้

[ข้อมูลส่วนใหญ่ในบทความนี้มาจากหนังสือ “On New Terrain. How Capital is Reshaping the Battleground of Class War. โดย Kim Moody – Haymarket Books, Chicago 2017. ]

frontcover-f_large-2fb8dd7e1e725035417e691ea490dc17

การล้มละลายของบริษัท “คอริเลี่ยน” ในอังกฤษ พิสูจน์อีกครั้งว่าเอกชนไม่มีประสิทธิภาพในการบริการประชาชน

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อเดือนที่แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ “คอริเลี่ยน” ล้มละลายในอังกฤษ บริษัทนี้เริ่มต้นเป็นบริษัทก่อสร้าง แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคที่มีการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการแทนรัฐในโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด หรือระบบคมนาคม มีการใช้ระบบเหมาช่วงเพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ในอัตราเงินเดือนต่ำ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ แทนลูกจ้างของรัฐที่เคยทำงานบริการ มีการทำสัญญา “รัฐ-เอกชน” (PFI) เพื่อก่อสร้างตึกใหม่ของโรงพยาบาล โดยที่ภาคเอกชนลงทุนในการก่อสร้าง และรัฐต้องจ่าย “ค่าเช่า” ในระบบนี้จำนวนเงินที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนสูงกว่าการลงทุนโดยตรงจากรัฐถึง 40% และค่าบริการโครงการต่างๆ หลังจากการก่อสร้างเส็จสิ้น ก็สูงกว่าการจ้างพนักงานโดยตรงทั้งๆ ที่เอกชนตัดค่าแรงและสวัสดิการ สาเหตุเพราะมีการกินกำไรตลอด แต่รัฐบาลต่างๆ ในอดีต ต้องการลดหนี้รัฐที่คำนวณจากการกู้เงินโดยตรง และรัฐบาลต้องการเพิ่มบทบาทเอกชน และตัดค่าแรงในสังคม ตามลัทธิคลั่งกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว

 

บริษัทอย่าง “คอริเลี่ยน” มักจะชิงสัญญาจากรัฐเมื่อมีการเปิดประมูล เพราะมีการตีราคาต่ำกว่าคู่แข่งผ่านการตัดค่าแรงและลดคุณภาพการทำงาน ในที่สุดยุทธศาสตร์นี้ทำให้บริษัทล้มละลายและคนงานสี่หมื่นสามพันคนต้องเกร็งกลัวกับการตกงานและการถูกตัดเงินบำนาญ ในขณะเดียวกัน ซีอีโอ ของบริษัทบางคนที่รีบลาออกก่อนการล้มละลายสามารถกอบโกยเงินโบนัสเป็นล้าน และสุดท้ายคาดกันว่ารัฐอังกฤษและประชาชนธรรมดาที่เสียภาษีจะต้องก้าวเข้ามาอุ้มกิจกรรมที่ “คอริเลี่ยน” เคยทำ

 

คอริเลี่ยน ไม่ใช่บริษัทเดียวที่มีปัญหา บริษัท “คาพิตา” และ “เชอร์โค” ซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ คอริเลี่ยน คือเข้ามาให้บริการแทนรัฐ ก็มีวิกฤตเช่นกัน ในกรณี “คาพิตา” มีหมอและพยาบาลตามคลินิคชุมชนที่ไม่ได้รับเงินเดือนตรงเวลา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในภาครัฐ

 

การคลั่งกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีต่างๆ ในอังกฤษ สร้างปัญหามากมายสำหรับระบบรถไฟ ระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา ประสบการณ์ของการใช้บริษัทเอกชนในการบริการแทนรัฐ ทำให้คุณภาพการบริการตกต่ำลง เพราะเน้นการจ่ายเงินเดือนต่ำและการขูดรีดกำไร

 

การวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ค้นพบว่าองค์กรรัฐที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนในภาคโทรคมนาคม พลังงาน และรถไฟ ของอังกฤษ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารัฐวิสาหกิจ และการวิจัยรูปแบบเดียวกันเกี่ยวกับยุโรปก็มีข้อสรุปเหมือนกัน แม้แต่ธนาคารโลกก็รายงานว่าในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าลักษณะการเป็นเจ้าของระหว่างรัฐกับเอกชน มีผลต่อประสิทธิภาพขององค์กรแต่อย่างใด

[ http://bit.ly/2BctqBC ]

 

พรรคแรงงานในอดีตภายใต้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ มีนโยบายส่งเสริมสัญญา “รัฐ-เอกชน” ไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน แต่ในยุคนี้หลังการเลือก เจเรมี คอร์บิน เข้ามานำพรรคแรงงาน และหลังจากกระแสในสังคมเรียกร้องให้มีการนำบริษัทเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ จุดยืนของพรรคแรงงานก็เปลี่ยนไป

จอห์น แมคดอนเนล “รัฐมนตรีเงา”ทางด้านการคลังของพรรคแรงงานอังกฤษ ที่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ เจเรมี คอร์บิน ได้ออกมาประกาศว่ากรณี “คอริเลี่ยน” พิสูจน์ว่าลัทธิสุดขั้วที่เชื่อว่า “เอกชนดีกว่าเสมอ” หมดยุคไปแล้ว ถ้าพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งในโอกาสหน้าจะมีการนำการบริการของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ

 

ในไทยนักวิชาการจำนวนมากมัก โดยเฉพาะใน “สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) และตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะท่องสูตร “เอกชนดีกว่า” และ “เอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่า” โดยไม่เปิดหูเปิดตาดูความจริง และผมจะไม่แปลกใจเลยถ้านักวิชาการขี้เกียจทั้งหลายภายใต้กะลา จะท่องสูตรเท็จนี้และสอนลัทธิคลั่งกลไกตลาดในมหาวิทยาลัยต่อไป

 

ต้นกำเนิดของนิยาย “กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการให้บริการมากกว่าภาครัฐ” ในยุคนี้ เริ่มต้นจากการฟื้นตัวของเสรีนิยมในทศวรรษที่ 70 นำโดยนักคิดเช่น มิลตัน ฟรีดแมน และนำมาปฏิบัติโดยนักการเมืองเช่น มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ ในอังกฤษ หรือ โรนัลด์ เรแกน ในสหรัฐ แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันเป็นลัทธิที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

นิยายอันนี้เป็นความพยายามอย่างหยาบๆ ที่จะลดบทบาทรัฐ เพื่อลดการเก็บภาษีจากคนรวย และเพิ่มกำไรให้ภาคเอกชนผ่านการตัดเงินเดือนและสวัสดิการ แต่ไม่มีข้อมูลจากที่ไหนในโลกที่ยืนยันประโยชน์ของความเชื่อนี้เลย ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบสาธารณะสุขแบบอิงเอกชน ที่เน้นการประกันตน แทนการเก็บภาษีในระบบถ้วนหน้าของรัฐ มักจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบรัฐสวัสดิการเสมอ ระบบสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบเอกชนเป็นหลัก แพงกว่าระบบอังกฤษสองเท่า เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อหัว และไม่ครอบคลุมคนจนหลายล้านคน ซึ่งหมายความว่าในด้านประสิทธิภาพของการให้บริการกับผู้มีประกัน และประสิทธิภาพในการดูแลประชากร ระบบกลไกตลาดของอเมริกาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขสหรัฐกับระบบของประเทศอื่น จะพบว่าสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก ในขณะที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ หรืออย่างน้อยระบบถ้วนหน้าที่บริหารโดยรัฐอยู่ในอันดับ1 ถึง 25

 

พวกสำนักเสรีนิยมกลไกตลาดชอบเสนอว่ารัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด ไม่ควรปกป้องการผลิตในกรอบรัฐชาติ จึงเสนอให้มีการค้าเสรี และรัฐไม่ควรลงมาทำหน้าที่แทนนายทุนเอกชนอีกด้วย อีกประเด็นที่สำคัญคือพวกนี้มองว่าควรสร้างความ “ยืดหยุ่น” ในตลาดแรงงาน คือไม่ควรมีการปกป้องมาตรฐานการทำงานและไม่ควรมีสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง พูดง่ายๆ พวกเสรีนิยมเป็นพวกที่เข้าข้างนายทุน และมองว่าแรงงานควรได้รับค่าจ้างสวัสดิการน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มกำไรให้นายทุนมากที่สุด

 

แต่สำนักเสรีนิยมกลไกตลาดนี้มีจุดอ่อนสำคัญอีกสองประการคือ

  1. ทั้งๆที่พูดว่าปฏิเสธบทบาทนำของรัฐ แต่ในรูปธรรมมีการใช้รัฐในการต่อรองทางเศรษฐกิจตลอด โดยเฉพาะในรูปแบบการสร้างกำลังทหารเพื่อทำสงคราม

 

  1. มีการเลือกปฏิบัติเสมอ เช่นสนับสนุนให้รัฐอุ้มธุรกิจเอกชนในยามวิกฤต แต่มองว่ารัฐไม่ควรช่วยคนจนเพราะจะไปทำลาย “วินัยทางการคลัง” หรือมีการมองว่าควรเปิดตลาดการค้าเสรีในกรณีที่นายทุนของชาติตัวเองเข้มแข็งกว่าคู่แข่ง แต่ในกรณีที่อ่อนแอควรมีมาตรการจำกัดนายทุนต่างชาติเป็นต้น

 

การอ้างว่ากลไกตลาดเสรีสร้างประสิทธิภาพสูงสุดถูกพิสูจน์ว่าไม่จริงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในกรณีการก่อให้เกิดวิกฤตจากการแข่งขัน เช่นวิกฤตเศรษฐกิจเอเซียปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดจากฟองสบู่ sub-prime ซึ่งในทุกกรณีภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการอุ้มบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย ล่าสุดกรณีของบริษัท “คอริเลี่ยน” ก็พิสูจน์ปัญหาของการเน้นบริษัทเอกชน  สรุปแล้วกลไกตลาดไม่สามารถบริการและตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมโลกได้เลย

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2tWNJ3V