Tag Archives: ประเด็นแยกส่วน

ทำไมคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นเดียวไม่มีวันปลดแอกสังคมได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแบบประเด็นเดียวมาตั้งแต่ยุคเอ็นจีโอ มีคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงาน มีกลุ่มที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนหรือคัดค้านความก้าวร้าวของกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่ชนบท และมีคนที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ….

การรณรงค์ในประเด็นที่เอ่ยถึงนี้มีประโยชน์และก้าวหน้าทั้งนั้น แต่มีผลจำกัดมากในการแก้ปัญหาระยะยาว และไม่มีผลเลยในการปลดแอกคนส่วนใหญ่ในสังคมจากการกดขี่ของชนชั้นปกครอง

สาเหตุสำคัญคือ

  1. ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เราต้องแก้ไข และมีคนพยายามรณรงค์แก้ไข มีต้นกำเนิดจากจุดเดียวกันคือระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น การเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนจึงเป็นการเน้นอาการของระบบ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนระบบ ปัญหาต่างๆ จึงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
  2. การเคลื่อนไหวแบบแยกประเด็นเป็นการเคลื่อนไหวที่อ่อนแอ และไม่สามารถรวมพลังของคนที่ถูกกดขี่หรือเดือดร้อนทั้งหมดได้
  3. ไม่มีการวิเคราะห์ว่าพลังในการเปลี่ยนสังคมกระจุกอยู่ตรงไหน

ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหว เช่นพวกเอ็นจีโอ ไม่อยากเปลี่ยนสังคมแต่แรก แค่อยากวิงวอนคนข้างบนที่มีอำนาจ ให้แก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่นพวกที่ไปเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่วิจารณ์รัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมเนื่องจากการทำรัฐประหารแต่แรก

ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหวในประเด็นหนึ่ง อาจไม่อยากสมานฉันท์กับคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นอื่น และไม่สนใจหรือไม่เห็นใจคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเกลียดเกย์ (อย่างที่อาจารย์ปวินเล่าให้เราฟังเรื่องเสื้อแดงคนหนึ่งที่ออสเตรเลีย) หรือเสื้อแดงบางคนที่เชียงใหม่ หรือการที่เสื้อแดงบางคนในสหรัฐที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมพ์ซึ่งเกลียดชังคนผิวดำ คนมุสลิม และสตรี หรือกรณีเอ็นจีโอต่างๆ ที่เคยโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเป็นต้น

หนังสือ “จะทำอะไรดี” ของเลนิน เขียนไว้ในปี 1901 เพื่อวิจารณ์พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่ประเด็นปากท้องของชนชั้นกรรมาชีพอย่างคับแคบ เลนินฟันธงว่านักสังคมนิยมจะต้องคัดค้านและเปิดโปงการกดขี่ทุกรูปแบบโดยชนชั้นปกครอง เขาตั้งคำถามว่าการศึกษาทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมควรจะเป็นอย่างไร และตอบเองว่าต้องยกตัวอย่างการกดขี่ทุกรูปแบบจากโลกจริงมาพิจารณา และเขาฟันธงอีกว่าจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็นจิตสำนึกทางการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่มีคำตอบต่อการกดขี่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าการกดขี่นั้นจะมีผลกับชนชั้นใด

ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดเลนิน คือท่าทีต่อพลเมืองมุสลิมในรัสเซียซึ่งมีจำนวนไม่น้อย พรรคบอลเชวิคของเลนิน ออกคำประกาศในเดือนพฤศจิกายน 1917 หลังการปฏิวัติสำเร็จ ว่า “ชาวมุสลิมในรัสเซีย ซึ่งมัสยิดและประเพณีต่างๆ ของท่านเคยถูกรัฐทำลาย ตอนนี้ท่านมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ซึ่งจะถูกละมิดไม่ได้… จงเข้าใจว่าการปฏิวัติกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่จะปกป้องสิทธิของท่านเสมอ”

และในเรื่องสิทธิเสรีภาพของชาติเล็กที่เคยถูกรัฐบาลรัสเซียกดขี่ เลนินประกาศว่าเขาพร้อมจะทำ “สงคราม” กับแนวคิดชาตินิยมที่กดขี่คนอื่นตลอด

สาเหตุที่เลนินเสนอว่านักสังคมนิยมจะต้องสนับสนุนและมีส่วนร่วมโดยตรงในการต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ในทุกรูปแบบคือ

  1. มันเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพื้นฐาน และการกดขี่ในทุกรูปแบบมีจุดกำเนิดจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น และถูกผลิตซ้ำโดยระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่กำจัดระบบนี้ในที่สุด มนุษย์จะมีเสรีภาพอย่างมั่นคงไม่ได้
  2. พรรคของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องคอยรณรงค์ให้กรรมาชีพทั้งหลายมีจุดยืนที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อให้กรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการนำการผลักดันให้เกิดการปลดแอกมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบที่เป็นรากฐานการกดขี่ทั้งหลายได้
  3. การที่พรรคสังคมนิยมจะชูประเด็นการกดขี่ หรือประเด็นปัญหาหลากหลายของคนในสังคม เป็นสิ่งที่จะสร้างความสามัคคีในการต่อสู้ระหว่างคนที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการปฏิวัติเพื่อปลดแอกมวลมนุษย์

สำหรับประเทศไทย มันแปลว่าเราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

[บางส่วนของบทความนี้คัดจากหนังสือของ John Molyneux (2017) “Lenin for Today”, Bookmarks]

โรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน

ใจ อึ๊งภากรณ์

การมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน โดยสนใจแต่สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และละเลยภาพรวม เป็นโรคเรื้อรังของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” ในสังคมไทยมานาน มันนำไปสู่การไม่เข้าใจต้นเหตุของปัญหาและวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย ต้องถือว่าเป็นแนวคิดที่นำไปสู่ความ “ปัญญาอ่อนทางการเมือง”[1]

วิธีคิดแบบนี้มีผลทำให้ เอ็นจีโอ และหลายองค์กรณ์ที่ใกล้ชิดกับเอ็นจีโอ ไม่เข้าใจว่าการสนับสนุนหรืออย่างน้อยการยอมรับรัฐประหาร นำไปสู่การเพิ่มปัญหาโดยรวมในสังคม

ตัวอย่างอันหนึ่งคือจุดยืนของบางกลุ่มที่เคยออกมาต่อต้านร่าง “รัฐธรรมนูญ” ของทหารโจร โดยเน้นแต่ปัญหาที่เชื่อว่าใกล้ตัวเองเท่านั้น

ในวันกรรมาชีพสากลปีที่แล้ว องค์กรที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ออกมาเสนอ 8 เหตุผลที่กรรมาชีพควรคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยเน้นแต่เรื่องปากท้องสำหรับกรรมาชีพ และที่แย่กว่านั้นคือไม่ได้เสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องทั้งหมดด้วย มันเป็นการบิดเบือนความจริงในภาพรวม ดูถูกกรรมาชีพ ว่าโง่เขลาไม่สนใจปัญหาภาพกว้างในสังคม และเป็นการมองว่ากรรมาชีพไม่มีวุฒิภาวะที่จะเข้าใจการเมืองภาพกว้างได้

ในวันแรงงานสากล “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ควรจะเสนอเหตุผลในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยผสมเรื่องปากท้องและปัญหาโดยรวมสำหรับพลเมืองทุกคนในสังคม เช่นควรจะเน้นเรื่องการต่ออายุยืดเวลาของเผด็จการ การทำลายอำนาจประชาชนในการเลือกรัฐบาล การที่เผด็จการคัดค้านการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์คนจน แล้วหลังจากนั้นควรลงมาพูดรายละเอียดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิในการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และการทำลายระบบบัตรทองกับการศึกษาฟรี นอกกจากนี้ควรพูดถึงผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญต่อศาสนา และเรื่องอื่นๆ อีกด้วย เช่นปัญหาที่ทหารก่อขึ้นมาในปาตานี เพราะการเสนอแบบนั้นเป็นการเสนอที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้าใจทางการเมือง โดยการโยงภาพกว้างกับรายละเอียดประเด็นปัญหาปากท้อง

Untitled

ในขบวนการกรรมาชีพไทย มีหลายกลุ่มที่เข้าใจประเด็นปัญหาภาพรวมของสังคม และพยายามให้การศึกษาทางการเมืองกับเพื่อนๆ กรรมาชีพในเรื่องการเมืองภาพกว้าง กลุ่มเหล่านี้คัดค้านเผด็จการมานาน และมีส่วนร่วมในขบวนการประชาธิปไตย

แต่แถลงการณ์ของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ละเลยกลุ่มแรงงานที่ก้าวหน้ามากเกินไป เพื่อวางตัวเสมอกับจุดยืนของพวกที่ล้าหลัง เช่นพวกนักสหภาพแรงงานที่จงใจไม่สนใจการเมือง โดยใช้สูตร “ปัญหาประเด็นเดียว” เดิมๆ เก่าๆ ที่ล้มเหลวจากคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” มันไม่นำไปสู่การขยับความคิด พูดง่ายๆ ในเรื่องนี้เขาควรจะเรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยเก่า” มันเป็นสูตรที่ เอ็นจีโอ ใช้มานาน คือมองว่าคนจนเป็นเหยื่อ และไปเน้นทำงานกับเหยื่อ แทนที่จะมองว่าคนจนปลดแอกตนเองได้และเน้นทำงานกับคนที่พร้อมจะสู้

ตัวอย่างอื่นๆ ของโรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน เห็นได้จากแถลงการณ์ต่างๆ ของ คนที่สนใจปัญหาสุขภาพ ที่พูดถึงแต่การตัดสิทธิในการใช้บัตรทองแต่ไม่กล่าวถึงปัญหาการทำลายประชาธิปไตย หรือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือผังเมือง ที่เอ่ยถึงปัญหาของตนเอง แต่ละเลยภาพกว้างของการที่เผด็จการครองเมือง

building_0224

ในแวดวงวิชาการก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ดูได้จากการสัมมนาหรือการเขียนบทความ ที่แยกส่วนอ้างว่าพูดหรือเขียนจากมุมมองนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักกฏหมาย แต่การแยกแบบนี้เป็นแนวคิด “อวิชชา”

การนำแต่ละประเด็นมาเรียงเข้าด้วยกัน เหมือนบัญชีหางว่าว ก็ยังไม่พอ และไม่ได้แก้ไขปัญหา เพราะต้องมีการอธิบายว่าแต่ละปัญหาเกี่ยวข้องกันอย่างไร และเกี่ยวข้องกับภาพกว้างของระบบเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมอย่างไรอีกด้วย

ปัญหาเรื่องนี้ผมและสหายฝ่ายซ้ายอื่นๆ ในไทย พยายามแก้ไขโดยการถกเถียงกับ เอ็นจีโอ โดยเฉพาะในงานสมัชชาสังคมไทยที่จัดที่ธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๔๙ แต่ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ต้องการพูดคุยแต่ในประเด็นเดียวของตนเองต่อไป สาเหตุหนึ่งก็เพราะองค์กรเหล่านั้นเน้นการขอทุนภายใต้ปัญหาประเด็นเดียว

ต้นกำเนิดของแนวคิดแบบมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน มาจากยุครุ่งเรืองของ เอ็นจีโอ และวิธีคิด “อนาธิปไตย” กับ “หลังสมัยใหม่” หรือ “โพสธโมเดิน” ซึ่งเกิดขึ้นหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนวสตาลินทั่วโลก เพราะนักเคลื่อนไหวหันหลังให้กับทฤษฏีที่พยายามอธิบายปัญหาภาพรวมของสังคม ที่เขาเรียกว่า “มหาวาทกรรม” พวกนี้หันหลังให้กับความพยายามที่จะล้มรัฐเผด็จการอีกด้วย และเขาเปลี่ยนไปเป็นนักเคลื่อนไหวประเด็นเดียวที่รับทุนมาเคลื่อนไหว และพร้อมจะล็อบบี้หรือเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งหรือจากการทำรัฐประหาร ไม่สนใจแนวการเมืองของผู้มีอำนาจด้วย มันเป็นการปฏิเสธการเมืองและทฤษฏีการเมืองทั้งหมดไปเลย และมันเป็นแนวการทำงานที่อ่อนแอ

สรุปแล้วมันเป็นแนวคิดที่เชิดชูความโง่เขลาปัญญาอ่อนทางการเมือง เพราะจงใจไม่สนใจที่จะเข้าใจทฤษฏีการเมืองเลย แต่ที่สำคัญพอๆ กันคือ มันทำให้เราสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะล้มเผด็จการยากขึ้น

ผลที่เห็นชัดในรอบสิบปีที่ผ่านมาคือ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง คือกลุ่มคนที่ล้าหลังที่สุดในสังคมและพวกที่ต้องการปกป้องอภิสิทธิ์ของคนรวย เพื่อไล่ทักษิณ หลายกลุ่มสนับสนุนการทำรัฐประหารและยังมีบางกลุ่มที่สนับสนุนม็อบสุเทพอีกด้วย

ล่าสุดเอ็นจีโอบางส่วนก็ไปจับมือกับจอมเผด็จการประยุทธ์ เพื่อจัดกิจกรรมเรื่อง “ประชาสังคม และประชาธิปไตย” ฟังแล้วไม่รู้จะหัวเราะห์หรือร้องไห้

แกนนำนักเคลื่อนไหวแรงงานล้าหลัง จากสหภาพแรงงานรถไฟ ก็เคยไปจับมือกับทหารเผด็จการ แต่ตอนนี้โดนกัดจากทหารโดยนโยบายแปรรูปรถไฟให้เป็นเอกชน เอ็นจีโอหลายกลุ่มก็ผิดหวังอกหักในเรื่องการปฏิรูปการเมืองของทหารด้วย แต่ถ้าเขาสนใจศึกษาการเมืองมาแต่แรก เขาจะไม่อกหักแบบนี้

นักมาร์คซิสต์ใช้แนวคิด “วิภาษวิธี” ที่เริ่มจากจุดยืนที่มองว่า “ความจริงในโลกเข้าใจได้ต่อเมื่อเราดูภาพรวม” คือดูภาพรวมในมิติต่างๆ ของสังคม ภาพรวมในมิติสากลทั่วโลก และภาพรวมในเชิงประวัติศาสตร์อีกด้วย

และสำหรับนักมาร์คซิสต์ การสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ ที่รวมคนหนุ่มสาวและนักศึกษาเข้าไปด้วย มีความสำคัญเพราะเป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความคิดก้าวหน้าที่สุดในสังคม เพื่อชักชวนให้มวลชนเริ่มมองภาพรวมของปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ พรรคมีหน้าที่ในการสร้างสะพานระหว่างจิตสำนึกแบบ “ปากท้อง” ไปสู่จิตสำนึกในเรื่องภาพรวมทางชนชั้น นั้นคือการเมือง “ใหม่” ในโลกปัจจุบันที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าเราจะแก้ไขโรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน และเดินหน้าเพื่อล้มเผด็จการ เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมือง และการพัฒนาทฤษฏีทางการเมืองที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายเรา

[1] อ่านเพิ่มเรื่องนี้ที่ http://bit.ly/24tv63k หรือในหนังสือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย” http://bit.ly/1SGzRiw (อาจต้องเข้าสู่ระบบผ่านเฟสบุ๊คของท่าน)

อ่านเพิ่มเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม http://bit.ly/2cvlmCk