Tag Archives: ประเทศชิลี

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO

สังคมนิยมและความรุนแรง  กรณีศึกษาจากประเทศชิลี

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลายคนตั้งข้อกล่าวหากับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ว่าชอบใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนสังคม และเขาเสนอต่อไปว่าน่าจะใช้สันติวิธีแทน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศชิลีเมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน 1973  เป็นกรณีที่ทุกคนน่าจะศึกษา

ประเทศชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีฉายาว่าเป็น “อังกฤษ” แห่งอเมริกาใต้ ทั้งนี้เพราะเคยมีระบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่มั่นคงมาร้อยกว่าปี

allende

ในปี 1970 ประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นพรรครัฐบาลล้วนแต่เป็นพรรคของนายทุน

พรรคสังคมนิยมชิลีเป็นพรรคของกรรมาชีพที่พยายามเปลี่ยนสังคมโดยสันติวิธี พรรคนี้พยายามอาศัยกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม เพื่อหวังครองอำนาจรัฐ และเมื่อพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง ใครๆก็เชื่อว่าคงจะสร้างสังคมนิยมได้โดยสันติวิธี

ชัยชนะของพรรคสังคมนิยมชิลีเกิดขึ้นกลางกระแสการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ดุเดือด ก่อนวันเลือกตั้งมีการนัดหยุดงาน 5295 ครั้ง และเกษตรกรกับคนยากจนก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วย

allende_foto.png_1718483346

หลังจากที่ได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดี อาเยนเดย์  ประกาศว่า “เราจะทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบสังคมนิยม” นอกจากนี้เขาสัญญาว่าจะปฏิรูปที่ดินและเอาบริษัทเอกชนชั้นนำ 150 บริษัทมาเป็นของรัฐ แต่เขาเตือนต่อไปว่าทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกัน และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเสียสละเพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนโดยการสลายการเคลื่อนไหว และลดข้อเรียกร้อง เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นนายทุนจะไม่ร่วมมือ

ในปีแรกของรัฐบาลใหม่ รายได้จริงของกรรมาชีพเพิ่มขึ้น จำนวนคนตกงานลดลง โรงงาน 90 แห่ง และที่ดิน 30% ของประเทศถูกนำมาเป็นของรัฐ และเศรษฐกิจก็ขยายตัวอย่างน่าชื่นชม

สิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถทำเพื่อกรรมาชีพชิลี ไม่ได้อาศัยการล้มระบบทุนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก็ต้องนับว่ายังเป็นประโยชน์กับคนธรรมดามากพอสมควร แต่มาตรการ “ค่อยเป็นค่อยไป” ของรัฐบาล อาเยนเดย์  ไม่เป็นที่พอใจกับนายทุนเลย ฉนั้นนายทุนชิลีพยายามทำลายเศรษฐกิจด้วยการถอนทุนหรือหยุดการลงทุน และนายทุนสหรัฐพยายามห้ามไม่ให้ชิลีกู้เงินจากต่างประเทศอีกด้วย ในขณะเดียวกันสหรัฐส่งเงินไปช่วยนายทหารของกองทัพชิลี

เนื่องจาก อาเยนเดย์  ไม่ต้องการปฏิวัติยกเลิกระบบทุนนิยม ในที่สุดเขาต้องเลือกยอมประนีประนอมกับเงื่อนไขของนายทุน ในขั้นตอนแรกก็มีการชลอมาตรการที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพ ต่อจากนั้นก็มีการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายทหารและตำรวจในการ “รักษาความสงบ”

แต่การประนีประนอมของรัฐบาลต่อฝ่ายทุนมิได้ทำให้นายทุนร่วมมือมากขึ้นแต่อย่างใด นายทุนเข้าใจดีว่ากรรมาชีพกับนายทุนร่วมมือกันไม่ได้  ฉนั้นเมื่อรัฐบาลยอมประนีประนอม นายทุนกลับมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ จึงทำให้ฝ่ายทุนรุกสู้ต่อไปด้วยการ “ปิดงาน” ไม่ยอมปล่อยรถ ของนายทุนขนส่ง ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนขาดอาหารและสิ่งจำเป็น

กรรมาชีพพื้นฐานชิลีไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้ง่ายๆ คนงานพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รวมตัวกันสร้างสภาคนงานย่านอุตสาหกรรม (“คอร์โดเนส์”) เพื่อยึดรถบรรทุกจากนายทุนแล้วนำมาขนส่งสินค้าเอง ในที่สุดคนงานได้รับชัยชนะ

แต่แทนที่ประธานาธิบดี อาเยนเดย์  จะสนับสนุนการกระทำของกรรมาชีพพื้นฐาน เขากลับมองว่าเป็นการสร้างความไม่สงบซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติ ดังนั้น อาเยนเดย์  จึงสั่งให้ทหารและตำรวจสลายสภาคนงาน และที่แย่สุดคือการกระทำครั้งนั้นได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศชิลีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

หลังจากนั้นชิลีก็เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ร้ายแรงขึ้นเป็นลำดับ ทุกครั้งที่ฝ่ายทุนพยายามยึดอำนาจโดยอาศัยกองทัพ คนงานพื้นฐานและนายทหารชั้นล่างบางคนจะออกมาปกป้องรัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลแจกอาวุธให้คนงาน แต่รัฐบาลไม่ยอมฟังเพราะมัวแต่ประนีประนอมกับนายทุนและนายทหารชั้นผู้ใหญ่

06_Devine_B
นายพลออร์กัสโต พิโนเช

ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี

arton1546

ในที่สุด ในวันที่ 11 เดือนกันยายน 1973 กองทัพชิลีภายใต้นายพล พิโนเช ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและจับสมาชิกพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และนักสหภาพหลายพันคน ด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างถึงที่สุด อาเยนเดย์และแกนนำฝ่ายซ้ายทั้งหมดที่หนีออกนอกประเทศไม่ได้ก็ถูกฆ่าตาย

Chilean-troops-make-arres-010

สรุปแล้ว ระบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สร้างไม่ได้ถ้าอาศัยรัฐสภาและการประนีประนอมกับทหารหรือชนชั้นปกครอง เพราะฝ่ายตรงข้ามพร้อมจะใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเสมอ

 

รัฐบาลฝ่ายซ้ายในชีลีผ่านกฎหมาย “การศึกษาฟรีสำหรับทุกคน”!

ข้อมูลจาก OECD ทำให้เห็นว่าประเทศชิลีเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ติด 1 ใน 34 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ค่าเล่าเรียนจากโรงเรียนมัธยมสู่มหาวิทยาลัยนั้นแพงที่สุดติดอันดับโลก นักศึกษาที่เข้าไปได้เมื่อจบออกมามีปัญหาในการหาเงินมาชดใช้หนี้ นอกจากโรงเรียนเอกชนของบรรดาชั้นชั้นนำ คุณภาพการสอนโดยทั่วไปนั้นก็ถือว่าแย่ ติดอันดับท้ายๆ ของโลก

การเปลี่ยนแปลงมาจากไหน?

การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เริ่มจากนักการเมือง หรือ ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา คือ ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มขึ้นในปี 2006 จาก “การปฏิวัตินกเพนกวิน” ชื่อดังกล่าวได้มาจากชุดนักศึกษาสีดำกับสีขาว ที่นักเรียนใส่เพื่อประกาศว่า “การศึกษาคือสิทธิมนุษยชน” เป้าหมายหลักของขบวนการคือ “ระบบการศึกษาฟรี” ตอนต้นๆ ของขบวนการนักศึกษาประสบความสำเร็จบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้

Toma_de_la_Universidad_de_Chile

พลังของนักศึกษาระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง พฤษภาคม 2011 นักศึกษายึดมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 8 เดือน ส่งผลสะเทือนและกระเพื่อมพลังการเคลื่อนไหวกระจายออกไปในระดับประเทศ การเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยความดุเดือดรอบนี้กินระยะเวลา 3 ปี ในจุดที่กระแสขึ้นสูงสุด ประมาณว่านักเรียนนักศึกษากว่า 800,000 คนหลั่งไหลเข้าสู่ท้องถนน ประชาชนชาวชิลีมากกว่า 81% ให้การสนับสนุนนักศึกษา ผู้นำนักศึกษาคนสำคัญ ๆ อย่างเช่น Camila Vallejo ตอนนี้เป็น ส.ส. พรรคคอมมิวนิสต์ ในรัฐสภา และแกนนำคนอื่นที่ถูกเลือกเป็น ส.ส. คือ Giorgio Jackson, Gabriel Boric and Karol Cariola

student-leaders

การประท้วงขนาดใหญ่ของนักศึกษาในรอบหลายเดือน เรียกร้องให้มีการปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน โดยเฉพาะการแปรรูประบบการศึกษา ที่เน้นการทำกำไร ระบบดังกล่าวนำเข้ามาโดยเผด็จการนายพลปิโนเช่

2011_student_UCH_protests_in_Chile

 

ความเข้มแข็งขอบขบวนการนักศึกษาได้กำหนดทิศทางของการเลือกตั้งในปี 2013 และส่งผลให้พรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง มิชเชลล์ บาเชเลส(Michelle Bachelet) กลายมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี เธอให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกนโยบายความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก เผด็จการปิโนเช่ในช่วง 1973-1990 เธอกล่าวต่อไปว่าเธอมุ่งมั่นจะลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยลง

Chilean presidence

ในที่สุด ระบบการศึกษาที่เน้นกลไกตลาดก็ได้ปิดฉากลง ไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมารัฐสภาชิลีได้ออกกฎหมายที่ถือว่าสำคัญที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชิลี คือ การยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนในระบบการศึกษา การศึกษาจะต้องเป็นของทุกคน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2016

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดี มิชเชลล์ บาเชเลส  ประกาศแผนการปฏิรูปการศึกษาโดยยกเลิกระบบการคัดเลือกที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นมรดกล้าหลังของนายพลเผด็จการปิโนเช่ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีประกาศต่อไปว่า “เราต้องการครูคุณภาพ กับ ระดับเงินเดือนที่ดี ระบบการจ้างงานที่มีมาตรฐาน พวกเราต้องการให้โรงเรียนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และ พวกเราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้นอกรั้วมหาวิทยาลัย” เพราะการศึกษาต้องเป็นของทุกคน”

ประธานาธิบดี มิชเชลล์ ได้ยกเครื่องระบบภาษี มีการเก็บภาษีจากทุนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ให้รัฐมีเงินเพิ่มอย่างมหาศาล 8.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ เงินดังกล่าวจะถูกมาสร้างระบบการศึกษาเพื่อทุกคน ขณะนี้รัฐสภาชิลีกำลังผ่านกฎหมายตัวใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้กับสหภาพแรงงาน

แปลและเรียบเรียงจาก : http://reut.rs/1tkVe1Z , http://bit.ly/1CeZGQn