Tag Archives: ปิยบุตร แสงกนกกุล

พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่พรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนยังไม่สามารถก้าวพ้นรูปแบบพรรคเดิมๆ ของไทย เพราะพรรคกระแสหลักเดิมๆ มักจะมีนายทุนหรือทหารเป็นแกนนำ และมีนายทหารเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกด้วย

 

ในการประชุมพรรคที่พึ่งจัดเมื่อไม่นานมานี้ นายทุนใหญ่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งไม่น่าแปลกใจ

 

กรรมการพรรคส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ มีนักธุรกิจสองคนนอกจากธนาธร และมีนักเอ็นจีโอ รวมถึงนักเอ็นจีโอแรงงาน แต่ไม่มีผู้แทนจริงๆ จากสมาชิกสหภาพแรงงานหรือจากเกษตรกรรายย่อยเข้ามาเป็นกรรมการเลย

99569

 

แน่นอนหลายคนในกรรมการบริหารมีจุดยืนชัดเจนที่คัดค้านเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องดี และถ้าฉีกรัฐธรรมนูญทหารทิ้งได้ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน แต่คงทำได้ยากถ้าไม่สร้างมวลชนนอกรัฐสภา

 

สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจคือรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายทหารเกษียณ พลโท พงศกร รอดชมภู เป็นอดีตรองเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ เขาเคยเขียนบทความลงสื่อเกี่ยวกับปาตานี เขาเสนอว่าการแก้ไขปัญหาควรใช้การเมืองนำทหาร “แต่นั้นไม่ได้แปลว่าต้องยอมหรือขอเจรจา” คือต้องช่วงชิงประชาชนในพื้นที่ให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐไทย โดยการเลิกการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปลี่ยนมาปราบฝ่ายตรงข้ามแบบนิ่มนวลมากกว่านี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการให้สิทธิประชาชนในพื้นปาตานีที่จะกำหนดอนาคตว่าจะปกครองตนเองแบบไหนคือ แยกตัวออกจากประเทศไทย หรือมีเขตปกครองพิเศษ หรืออยู่แบบเดิม และไม่มีการพูดถึงต้นกำเนิดปัญหาซึ่งมาจากการที่รัฐไทยยึดพื้นที่ปาตานีมาเป็นอาณานิคม โดยไม่เคารพวัฒนธรรมของชาวมาเลย์มุสลิม นอกจากนี้ พลโท พงศกร ไม่มีการพูดถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เข่นฆ่าประชาชน มีแต่การพูดถึงการลงโทษฝ่ายตรงข้าม [ดู https://www.matichon.co.th/columnists/news_78135 ]

 

นโยบายแนวคิดแบบนี้ไม่ต่างจากแนวคิดฝ่าย “พิราบ” ของรัฐหรือทหารไทย มันเป็นการยืนยันจุดยืนอนุรักษ์นิยมว่ารัฐไทยแบ่งแยกไม่ได้ และมันห่างไกลเหลือเกินจากความคิดก้าวหน้าที่จะนำไปสู่เสรีภาพและสันติภาพสำหรับประชาชนในปาตานี นอกจากนี้มันแตกต่างจากคำพูดเดิมของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยพูดว่าควรจะรื้อฟื้นข้อเสนอในการปกครองตนเองของชาวปาตานี

 

การมีนายทหารที่เป็นอดีตฝ่ายความมั่นคงเป็นรองประธานพรรค จะทำให้พรรคให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคง” เหนือสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือไม่? เพราะการเน้นความมั่นคงเป็นนโยบายอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลไทยทุกชุด โดยเฉพาะเผด็จการ

 

ในแง่หนึ่งตัวบุคคลที่เป็นแกนนำพรรคอาจแค่ชวนให้เราเดาว่านโยบายพรรคจะเป็นอย่างไร เรื่องชี้ขาดจะอยู่ที่นโยบายที่ประกาศออกมาเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการเสนอรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ถ้วนหน้า และมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน ถ้าไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ถ้าไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี ถ้าไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ และถ้าไม่เสนอให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เพื่อให้สหภาพแรงงานมีสิทธินัดหยุดงานและเคลื่อนไหวอย่างเสรี…. พรรคอนาคตใหม่ก็จะไม่ก้าวหน้าอย่างที่บางคนชอบอ้าง

 

มีเรื่องเดียวที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ในขณะนี้  ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคอื่นๆ ยังไม่พูดถึงอย่างชัดเจน นั้นคือการประกาศว่าต้องการลบผลพวงของเผด็จการ

 

สรุปแล้วหน้าตาพรรคอนาคตใหม่ดูเหมือนเป็นพรรคคนชั้นกลาง สำหรับคนชั้นกลาง ไม่ใช่พรรคของคนชั้นล่างรากหญ้าแต่อย่างใด แต่ต้องยอมรับว่าคนของพรรคอนาคตใหม่ นอกจาก อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พูดอะไรมากมายที่ไม่เป็นรูปธรรม ไม่เคยประกาศว่าจะสร้างพรรคของคนชั้นล่าง หรือพรรคของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร และดูเหมือนพรรคจะเน้นการส่งเสริมกลไกตลาดเสรีที่ขัดกับผลประโยชน์คนจนอีกด้วย

 

ดังนั้นภารกิจในการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่าง เพื่อคนชั้นล่าง กรรมาชีพและเกษตรกรนั้นเอง ยังไม่มีใครลงมือริเริ่มอย่างจริงจัง

ธนาธร เสนอนโยบายฝ่ายขวา ในขณะที่ ปิยบุตร พูดถึงพรรคฝ่ายซ้าย? ตกลงจะเอายังไง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง หมายความว่าเราสามารถดูออกและแยกแยะแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เราสามารถเข้าใจว่า “ฝ่ายซ้าย” เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างคนทำงานกับคนจน และ “ฝ่ายขวา” อยู่เคียงข้างคนจำนวนน้อยที่เป็นนายทุนกับคนรวย และมันหมายความว่าเราเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีกับแนวคิดที่มองว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

organise-fish-solidarity-hi

การที่พลเมืองจำนวนมากในสังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาโง่แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะแนวคิดการเมืองกระแสหลัก ที่มาจากทหาร นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ พยายามปกปิดเรื่องนี้มานาน เพราะเน้นแต่ผลประโยชน์คนข้างบน หรือไม่สนใจเรื่องทฤษฏีการเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการสหภาพแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะท้าทายการผูกขาดของแนวคิดฝ่ายขวา จนพวกฝ่ายขวาสามารถอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็น “ธรรมชาติ” และในโลกจริง “เราไม่มีทางเลือกอื่น” ความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทหารฝ่ายขวาเข้ามาปกครองบ้านเมืองและปราบปรามฝ่ายซ้ายในอดีตและปัจจุบัน แม้แต่ในรัฐธรรมนูญมีการระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมกลไกตลาด เหมือนกับว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น และประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนโยบายอื่น

ในมหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ค่อยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสำรวจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและรัฐ [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ] และไม่ค่อยจะมีการชวนให้นักศึกษาเรียนรู้การถกเถียงโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนขบวนการ เอ็นจีโอ มักจะภูมิใจที่จะไม่ศึกษาทฤษฏีทางการเมืองเลย พวกนี้และนักสหภาพแรงงานบางคน จะพูดว่าเขาเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ต้องสนใจทฤษฏีทางการเมือง

ผมเคยเอ่ยถึงรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส และสื่ออื่นๆ ที่เสนอว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น [ดูhttps://reut.rs/2ugDj39 และ https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

ในรายงานข่าวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบ ธนาธร กับประธานาธิบดี แมครอน ของฝรั่งเศส(ภาพข้างใต้)

สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP ]

macron-1

การมองว่า ธนาธร เหมือน แมครอน อาจจริง เพราะทั้งสองคนเป็นนักการเมืองฝ่ายทุน ที่อ้าง  “ความหน้าใหม่” มาเป็นจุดขาย และทั้งสองมีจุดยืนในการปราบสหภาพแรงงาน ภาพข้างใต้เป็นภาพสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประท้วงแมครอนเมื่อไม่นานมานี้

29542044_411046555989397_9009463493784753527_n

ข้อแตกต่างอันหนึ่งระหว่างแมครอนกับธนาธรอาจเป็นเรื่องจุดยืนต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนธนาธรก้าวหน้ากว่ามาก

เราคงต้องกลับไปทบทวนคำพูดของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่บอกว่าต้องการจะสร้างพรรคการเมืองใหม่ตามแบบพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน พรรคห้าดาวของอิตาลี่ และพรรค “La France Insoumise”(พรรค “ฝรั่งเศสไม่ก้มหน้าให้ใคร” ) ของ Jean-Luc Mélenchon [ดู https://bbc.in/2G38dRO ]

Jean-Luc_Mélenchon_-_avril_2012

ที่นี้มันดูเหมือนมีปัญหาหนัก เพราะพรรค La France Insoumise ของเมลองชอง (ภาพข้างบน) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส และสนับสนุนสหภาพแรงงาน ในขณะที่ประธานาธิบดี แมครอน เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และพยายามเสนอนโยบายชาตินิยมจัด เพื่อพยายามดึงคะแนนมาจากพรรคฟาสซิสต์ สรุปแล้วทั้งสองอยู่คนละขั้วของการเมืองฝรั่งเศส ไม่มีพรรคไหนที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

ผมนึกภาพไม่ออกว่าเวลา ปิยบุตร คุยกับ ธนาธร ในเรื่องแบบนี้เขาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย หรือมองว่าเรื่องซ้ายกับขวาไม่ควรจะมีความสำคัญสำหรับพลเมืองไทย ผมไม่อยากคิดว่า ปิยบุตร ขาดความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมเลยไม่เชือว่าแยกไม่ออกระหว่างซ้ายกับขวา

ผมไม่อยากคิดอีกว่า ปิยบุตร จงใจปกปิดความแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา เพื่อผลิตซ้ำการที่พลเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่จะให้ผมคิดอย่างไร?

ตกลงในยุคนี้ เมื่อเรามีโอกาสที่จะถกเถียงตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่กับเก่า เราจะเอาสมองไปไว้กะลา แล้วไม่สนใจนโยบายของพรรคต่างๆ ว่าเป็นซ้ายหรือขวา แต่จะแค่ตื่นเต้นกับคนหน้าใหม่เท่านั้นหรือ?

 

อ. ปิยบุตร ไม่ต้องขอโทษหรือถอยเรื่อง 112

ใจ อึ๊งภากรณ์

กฏหมาย 112 เป็นกฏหมายที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสิ้นเชิง และสังคมใดที่พลเมืองไม่สามารถพูดอะไรบางอย่างได้เกี่ยวกับการเมือง หรือบุคคลสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้นการที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล มองว่าต้องปฏิรูปกฏหมาย 112 เป็นเรื่องที่ดีและเป็นการพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ทุกคนที่รักประชาธิปไตยควรจะปกป้องและสนับสนุนเขาในเรื่องนี้

จริงๆ แล้ว ผมมองว่ากฏหมาย 112 มันแก้ไขไม่ได้ มันต้องถูกยกเลิก การแก้กฏหมาย 112 เช่นให้สำนักงานหนึ่งเป็นผู้ฟ้องแต่ฝ่ายเดียว ควบคู่กับการลดโทษ ไม่สามารถแก้ปัญหาว่า 112 เป็นกฏหมายที่ปิดปากประชาชน และทำให้การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดได้ หรือไม่สามารถแก้การที่มีกระบวนการลับในศาล

การยกเลิกกฏหมาย 112 นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะเปิดโอกาสให้ใครด่าใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอย่างเสรี เพราะมีกฏหมายหมิ่นประมาทธรรมดาที่ปกป้องไม่ให้มีการให้ข้อมูลเท็จอยู่แล้ว ส่วนกฏหมาย112 ไม่ใช่การปกป้องไม่ให้คนกล่าวเท็จ แต่เป็นกฏหมาย “การเมือง” ที่มีวัตถุประสงค์ในการปิดปากพลเมือง

นอกจากนี้สังคมใดที่ฆาตกรมือเปื้อนเลือดอย่างประยุทธ์ ทำรัฐประหารตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน แล้วลอยนวลเหมือนฆาตกรรัฐของไทยคนอื่นๆ แล้วมาจำคุกคนที่เห็นต่างด้วยกฏหมาย 112 นั้น ต้องถือว่าเป็นสังคมทรามที่ขาดความยุติธรรมพื้นฐาน

พวกที่ปกป้องกฏหมาย 112 เป็นพวกที่ต่อต้านและทำลายประชาธิปไตย

crownandfont

ความ “ใหม่” ของไทยรักไทยกับพรรคอนาคตใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อมีการพูดกันด้วยความตื่นเต้นในเรื่อง “ความใหม่” และ พรรค “อนาคตใหม่” ผมจะขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทบทวนและเปรียบเทียบความหวังของคนจำนวนมากในยุคนี้ กับความหวังที่คนเคยมีกับพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะในยุคปัจจุบันพรรคของ ทักษิณ ไม่น่าจะเป็นที่พึ่งของคนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมได้แต่อย่างใด

14552694321455269471l

พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๔๑ โดยทักษิณ ชินวัตร หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คำขวัญสำคัญของพรรคคือ “คิดใหม่ทำใหม่” และเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยทันสมัย

สรุปแล้วพรรคอนาคตใหม่กับพรรคไทยรักไทยมีจุดร่วมในการเน้น “ความใหม่” กับ “ความทันสมัย” และทักษิณก็เคยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วย

ก่อนอื่นเราต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เพราะเผด็จการทหารชุดปัจจุบันห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายในช่วงนี้ การห้ามแบบนี้ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่มีการอธิบาย แต่อาจเป็นเพราะต้องการตีกรอบล่วงหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่านโยบายแบบไหนจะมีได้ และแบบไหนมีไม่ได้

อย่างไรก็ตามทั้ง ธนาธร ปิยบุตร และคนอื่นได้ให้ความเห็นบางประการผ่านสื่อซึ่งเราสามารถนำมาพิจารณาได้ ที่ชัดเจนมากคือพรรคอนาคตใหม่ฟันธงว่าต่อต้านเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของทหาร

yingluck-and-prayuth-together-inspecting-flood-damage

ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยที่แปลงร่างนั้นเอง จุดยืนของ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างชัดเจน เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นพรรคพวกของ ทักษิณ คอยประนีประนอมกับทหารเผด็จการเรื่อยมา ในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน ไม่มีการพยายามลงโทษประยุทธ์เลย และไม่มีการสกัดกั้นไม่ให้แทรกแซงการเมืองด้วย ต่อมาหลังจากที่ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ก็ไม่มีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแต่อย่างใด

hqdefault

กรณีข้อยกเว้นที่ดีของอดีตสส.พรรคเพื่อไทยคือ วัฒนา เมืองสุข และ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งสองคนนี้ไม่ยอมก้มหัวให้ทหารมาตลอด

bibfbecb7f9kb5cjefejh

แน่นอน เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายในการนำทหารออกจากการเมืองแบบที่ ธนาธร กับ ปิยบุตร เสนอ แต่มันมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยคือ จะเอาอำนาจที่ไหนมาลดบทบาททหาร? จริงๆ แล้วมันมีอำนาจเดียวที่ทำตรงนี้ได้คือ อำนาจของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตรงนี้เราจะเห็นว่าพรรคของ ทักษิณ มีประวัติในการสร้างขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่แล้ว ทักษิณ กับ นปช. ก็ไปแช่แข็งขบวนการนี้และปล่อยให้ตายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ นี่คือบาปกรรมอันเลวร้ายของพรรคเพื่อไทย

คำถามคือ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีแผนจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ ยังไม่มีการพูดถึง ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของ “พรรคสามัญชน” ที่ประกาศว่าเชื่อมโยงกับมวลชนรากหญ้า

ปิยบุตร พูดถึงตัวอย่างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป แต่ตามด้วยการเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาไม่มีความสำคัญในไทย พูดง่ายๆ เขามองว่าไทยไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้น และไม่มีการพูดถึงความสำคัญของขบวนการแรงงานเลย

การที่ผู้นำแรงงานหนึ่งคน คือสุรินทร์ คำสุข จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ มาร่วมเปิดตัวพรรค ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการที่พรรคจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่พรรคฝ่ายซ้ายในหลายประเทศมี พรรคไทยรักไทยเคยมี สถาพร มณีรัตน์ จากสหภาพแรงงาน กฝผ เป็นสมาชิกและต่อมาเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้ทำให้พรรคของทักษิณเป็นพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

ธนาธร เปิดเผยไปแล้วว่าเขาเห็นชอบกับการกดขี่สิทธิแรงงาน 

ปิยบุตรเอ่ยถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันถ้วนหน้าให้คนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และยามตาย ซึ่งคำพูดแบบนี้นักการเมืองพรรคเก่า เช่นทักษิณ ก็เคยพูด ถ้าพรรคอนาคตใหม่จะจริงจังในการสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นสิ่งใหม่ ต้องพูดกันให้ชัด และต้องพูดว่าจะเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อสร้างกองทุน

ผมจะขอเดาว่าจริงๆ แล้ว ปิยบุตร ต้องการสร้างฐานเสียงของพรรคในหมู่คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยแล้ว ทักษิณ เคยประกาศว่ามีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ไม่ใช่แค่คนรวยหรือคนชั้นกลางเท่านั้น และเขาก็ทำจริงตามคำประกาศ

สมาชิกของพรรคอนาคตใหม่มีการพูดถึงความคิดใหม่เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ตรงนี้ต่างจากไทยรักไทย แต่พรรคอนาคตใหม่จะจริงจังแค่ไหนคงต้องรอดู 

บางคนพูดว่าการที่มีนายทุนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พร้อมจะลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ใหม่เลย นายทุนใหญ่หน้าใหม่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนเช่นกัน

ธนาธร ยังไม่ได้กล่าวถึงนโยบายอะไรมากนอกจากการลดบทบาททหาร และการกระจายอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลไปสู่แต่ละจังหวัด นโยบายการกระจายอำนาจแบบนี้เป็นนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดชัดๆ เพราะปฏิเสธบทบาทรัฐบาลกลางในการเก็บภาษีแล้วกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นที่ยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในขณะที่ ธนาธร พูดเหมือนกับว่าจะปล่อยให้จังหวัดที่ยากจนจนต่อไป ทักษิณ เคยเน้นบทบาทรัฐบาลกลางในการพัฒนาฐานะของคนจนในชนบท นอกจากนี้รัฐบาลไทยรักไทยมีผลงานในการสร้างระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้าขึ้นมาเป็นครั้งแรก และนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนอีกหลายนโยบาย

35325500736_f90767b2d5_o

ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก มีการส่งทีมงานลงไปในชุมชนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับประชาชนว่าเขาต้องการนโยบายอะไรแบบไหน ตรงนี้ไทยรักไทยทำอย่างเป็นระบบ ถ้าพรรคของ ธนาธร กับ ปิยบุตร จะมีผลงานจริงกับคนรากหญ้า มันมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ โดยเฉพาะการต่อสายไปสู่ขบวนการแรงงานกับเกษตรกรยากจน แต่ถ้าเขาไม่สนใจทำ พรรคของเขาก็คงเป็นแค่พรรคฝ่ายขวาธรรมดาของชนชั้นกลาง ที่ต่อต้านทหาร

เราคงต้องติดตามข่าวต่อไปครับ