Tag Archives: ฝรั่งเศส

วิเคราะห์ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นขบวนการที่ดูเหมือนระเบิดขึ้นอย่างกระทันหันจนสามารถท้าทายการปกครองของประธานาธิบดีมาครง

มีนักวิเคราหะบางคน รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจากยุค 1968 ที่มองว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเป็นขบวนการของชาวชนบทที่มี่นำโดยพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

แต่พวกที่มองแบบนี้เป็นคนที่มองอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ติดดิน และไม่ทันกับสถานการณ์โลกจริง เพราะขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองซับซ้อนกว่านั้นมากและกลายเป็นขบวนการทางชนชั้นที่เอียงไปทางซ้าย

ในตะวันตกพอมาครงชนะการเลือกตั้งในปี2017 พวกเสรีนิยมทั้งหลายพากันตื่นเต้นและเชียร์เขาสุดขีด หลายคนมองว่าเขาคือความหวังใหม่และจะปฏิรูปฝรั่งเศสและยุโรปให้ทันสมัย

macron-1

ในไทยตอนที่มาครงเข้ามาใหม่ๆ นสพ ไทยรัฐ เขียนชมไว้ว่า “หลายคนเห็นหน้าประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่แล้ว กรี๊ดกร๊าดในความหล่อ ทั้งยังฉลาด รู้สึกหลงรักอย่างบอกไม่ถูก” ส่วน MThaiNews ก็มีบทความ “เปิดประวัติ ‘มาครง’ ผู้นำหล่อคนใหม่แห่งเมืองน้ำหอม”

ยิ่งกว่านั้น ความ “หน้าใหม่หน้าหล่อ” ของมาครงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบเขากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP และ https://bit.ly/2S3MSto ] แต่ที่สำคัญคือธนาธรเองไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับมาครง

1920px-Manif_fonctionnaires_Paris_contre_les_ordonnances_Macron_(37572386626)

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของเขา โดยแนวร่วมสหภาพแรงงานเป็นแกนหลัก สาเหตุคือความพยายามของมาครงที่จะทำลายสิทธิแรงงานเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือการพยายามนำรัฐวิสาหกิจในภาคขนส่งออกขายให้เอกชน

นอกจากนี้ในไม่นานมาครงได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เพราะลดภาษีให้คนรวยทันที และใช้เงินรัฐเพื่อการเสพสุขของตนเอง เช่นซื้อของใช้ราคาแพงสำหรับบ้านพักประธานาธิบดี และเขายังผลักดันนโยบายรัดเข็มขัดที่ทุกรัฐบาลในอียูทำกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจนมาก

mka05lnsc5d123536

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเกิดขึ้นจากการประท้วงนโยบายของมาครงที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน โดยที่มาครงใช้ข้ออ้างเท็จว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในความจริงมันมีผลกระทบกับคนจนและคนชั้นกลางมากกว่า ในช่วงแรกพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน พยายามจะฉวยโอกาสด้วยการสนับสนุน แต่เมื่อขบวนการเริ่มชูประเด็นของชนชั้นกรรมาชีพ เช่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย เลอ แปน ก็ถอยออกไป ในไม่ช้าขบวนการนักศึกษาก็มาร่วมโดยนำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการเก็บค่าเล่าเรียนและการกีดกันนักศึกษาจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนและประกาศนัดหยุดงานด้วย แต่แกนนำสหภาพระดับชาติยังสองจิตสองใจอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศและเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนผิวดำก็ถูกชูขึ้นอีกด้วย และเวลาเกิดการทำลายทรัพย์สิน มักจะเป็นร้านค้าและรถยนต์ของเศรษฐีคนรวยที่ถูกเผา แต่ความรุนแรงส่วนใหญ่มากจากตำรวจของรัฐที่พยายามปราบผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

กลุ่มล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมคือกลุ่มคนพิการที่ไม่พอใจกับกฏหมายของรัฐบาลที่ลดมาตรฐานในการสร้างบ้านใหม่ นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานที่ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกลงในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแรงงานออกมาประสานการนัดหยุดงาน

yellow-vests-demonstration-in-paris

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ และเป็นพื้นที่สำหรับการช่วงชิงการนำโดยพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายขวารวมถึงฟาสซิสต์ด้วย ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายซ้ายสามารถชิงการนำได้ [ดูhttps://bit.ly/2cvlmCk ]

นอกจากนี้นักมาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าจะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคใดยุคหนึ่ง ต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์ คือดูว่าการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมีหน้าตาอย่างไร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ การต่อต้านมาครงระเบิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008 นำไปสู่นโยบายรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงในทุกประเทศของยุโรปและหลายประเทศของลาตินอเมริกา มันทำให้คนจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และความเดือดร้อนดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธแค้นที่สะสมในหัวใจคนจำนวนมาก มันแค่รอวันที่จะแสดงตัวเท่านั้น มันอธิบายได้ว่าทำไปประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียูซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตรุนแรงสำหรับชนชั้นปกครอง มันอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนใน บราซิล เยอรมัน อิตาลี่ ฯลฯ เบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก และมันอธิบายความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของ “ผู้ที่ถูกลืม” ในฝรั่งเศส

c318c5c05db8a043348e993cf24f8214_w982_h543
นักสหภาพแรงงานร่วมประท้วงกับเสื้อกั๊กเหลือง

ทุกวันนี้ชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรป เกรงกลัวว่าเสื้อกั๊กเหลืองจะลามจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศของตนเอง เหมือนกับคลื่นประท้วงอาหรับสปริงเมื่อไม่นานมานี้

ชัยชนะของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่จะล้มมาครงและเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงมวลชนกับพลังของชนชั้นกรรมาชีพและนักศึกษา แต่ถ้าผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามจะประนีประนอมมันก็จะไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีเสื้อกั๊กเหลืองแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและคนจนมีผลสำคัญในการผลักพวกฟาซิสต์ออกจากเวทีการเมืองของมวลชน และมันมีผลทำให้รัฐบาลมาครงหมดความชอบธรรม

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องเลิกฝากความหวังกับรัฐบาลตะวันตก

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน ท่านควรกดเข้าไปที่หน้าบล็อก]

การที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดถูกเชิญไปพูดคุยกับรัฐบาลฝ่ายขวาของอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อทำสัญญาการค้า การลงทุน และซื้ออาวุธ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลตะวันตกไม่มีความจริงใจเลยในเรื่องการสนับสนุนประชาธิปไตยในไทย

Not welcome here

ก่อนหน้านี้เราเห็นว่ารัฐบาลอังกฤษพร้อมจะเชิญคนอย่างประวิตรหน้าหมู ไปเที่ยวงานขายอาวุธที่ลอนดอน ซึ่งเป็นโอกาสทองสำหรับหมูโสโครกคนนี้ที่จะคบค้าสมาคมกับทรราชจากทั่วโลกที่ไปเที่ยวงานเดียวกัน  และในที่สุดทหารไทยก็ได้อาวุธเพิ่มและบริษัทตะวันตกก็ได้กำไร

ส่วนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ทำการฝึกทหารร่วมกับกองทัพไทย และประธานาธิบดีทรัมพ์ก็ยินดีพบอาชญากรอย่างประยุทธ์

ในแวดวงการทูตต่างๆ ของรัฐบาลทั่วโลก อุดมการณ์ประชาธิปไตยมักจะไม่มีความสำคัญ ที่สำคัญคือการแข่งกันระหว่างมหาอำนาจ เช่นการแข่งกันระหว่างจีนกับสหรัฐเพื่อมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย และการหาโอกาสที่จะค้าขายสินค้า เพื่อสร้างกำไรให้กลุ่มทุนของประเทศตนเอง โดยเฉพาะการขายอาวุธ นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลตะวันตกคบค้าสมาคมและขายอาวุธให้ทรราชทั่วโลกโดยไม่เลือกหน้า

ถ้ารัฐบาลตะวันตกไม่ยอมคบใคร หรือพยายามผลักดันมาตรการกีดกันการค้าขายกับประเทศใด ก็เฉพาะประเทศที่เป็นศัตรูหรือคู่แข่งหลักเท่านั้น มันไม่เคยเกี่ยวอะไรกับสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตยเลย และในอดีตในช่วงสงครามเย็นที่ใครๆ ชอบอ้างว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง “โลกเสรี” กับ “โลกคอมมิวนิสต์” รัฐบาลตะวันตกก็ยินดีจับมือกับเผด็จการทหารในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย

สิ่งที่รัฐบาลตะวันตกสนใจมากกว่าสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ คือ “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล และ “ความสงบเรียบร้อย” ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

20180620_200111

ตอนนี้เผด็จการทหารไทยกำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยจอมปลอมแบบพม่า คือจะมีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม เพื่อดูดี ภายในกรอบที่จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยแผน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่มันร่างเอง และ “คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์แห่งชาติ” ที่มันใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจร่วมกับวุฒิสภา ตุลาการ และกกต.ที่มันแต่งตั้งเอง เป้าหมายคือการสร้างภาพลวงตา เพื่อให้คนไทยบางส่วน โดยเฉพาะคนชั้นกลาง และรัฐบาลต่างประเทศ มองว่าในอนาคตไทยจะเป็น “ประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง และวันเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปได้เรื่อยๆ

พวกทหารคำนวณว่าภาพลวงตานี้เพียงพอที่จะเป็นข้อแก้ตัวสำหรับรัฐบาลตะวันตก รัฐบาลตะวันตกต้องการเหลือเกินที่จะยอมรับว่าไทยกำลัง “กลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว” ทั้งๆ ที่ใครๆ คงมองออกว่ามันไม่ใช่ การแสวงหาข้อแก้ตัวเพื่อให้รัฐบาลตะวันตกกลับมาคบผู้นำไทยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลเหล่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว การพูดว่าไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการของไทย บ่อยครั้งเป็นคำพูดนามธรรมเพื่อให้ดูดีในสายตาพลเมืองตะวันตกเท่านั้น มันเป็นเรื่องการเมืองภายใน การส่งตัวแทนจากสถานทูตไปสังเกตการณ์คดีต่างๆ ในไทย ก็เป็นแค่การสร้างภาพเช่นกัน เพราะไม่เคยนำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองหรือการยอมให้นักประชาธิปไตยขอลี้ภัยทางการเมืองในตะวันตกอย่างง่ายๆ  และในที่สุดตอนนี้ประเทศอียูและสหรัฐก็ยกเลิกการจำกัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลประยุทธ์เรียบร้อยไปแล้ว

อย่างไรก็ตามมีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนในไทย ที่ยังหลงตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลตะวันตก หรือสหประชาชาติ ซึ่งก็เป็นแค่สมาคมของรัฐบาลมหาอำนาจนั้นเอง

34605905_10155712246440819_8867687056130703360_n
อย่าหลงเชื่อว่าตัวแทนรัฐบาลตะวันตกจะมาช่วยเราสร้างประชาธิปไตย

ดังนั้นเราหนีไม่พ้นข้อสรุปว่า ถ้าเราจะล้มล้างอิทธิพลและมรดกของเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตยแท้ คนไทยจะต้องรวมตัวกันปลดแอกตนเอง และสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชน เพราะจะไม่มีใครคนอื่นทำให้

ฝรั่งเศสพฤษภา 1968 ทุกอย่างเป็นไปได้! แต่การเมืองเป็นเรื่องชี้ขาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปีค.ศ. 1968 การประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศสเรื่องสภาพหอพักในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปารีส ลามไปสู่การต่อสู้ทั่วไปของนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลที่ติดอาวุธ นักศึกษาเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับกฏระเบียบและความคับแคบในสถาบันการศึกษาและในสังคมทั่วไป

2.-May

March

ในที่สุดรัฐบาลสั่งให้ตำรวจปราบจลาจล CRS ทุบตีนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ตำรวจปราบจลาจลจึงถูกเรียกว่าเป็นพวกนาซี ภายใต้คำขวัญ “CRS: SS!!”

altbfqyzbbby

มันกลายเป็นการท้าทายโครงสร้างอำนาจเก่าในสังคมภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา “เดอร์โกล” จนฝรั่งเศสอยู่ในภาวะ “ปฏิวัติ” เพราะในวันรุ่งขึ้น เมื่อนักสหภาพแรงงาน เห็นความรุนแรงของตำรวจ ก็ประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ 9 ล้านคน มีการยึดโรงงาน และขังฝ่ายบริหารเพื่อ “สอบสวน” ในโรงงานต่างๆ มีการเรียนแบบการยึดโรงงานจากยุคอดีตปี 1936 แต่ในปริมาณที่ใหญ่กว่า เช่นการยึดโรงงานผลิตเครื่องบิน “ซุด เอวิเอชอง” ในเมือง น่านท์ เป็นต้น ผู้บัญชาการตำรวจฝรั่งเศสถึงกับสารภาพว่า “เมื่อกรรมกรนัดหยุดงานทั่วไป มันอันตรายมากสำหรับรัฐบาล” การนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้นับว่าใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกตอนนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่นักวิชาการหอคอยงาช้างหลายคนเคยวิเคราะห์ว่าชนชั้นกรรมาชีพหมดสภาพ!!

e5df280fd4f47a93e653cf5ba9562dab
กรรมาชีพโรงงานรถยนต์เรโนนัดหยุดงาน

รัฐบาลฝ่ายขวาของ “เดอร์โกล” อัมพาตเป็นเวลาสองสัปดาห์ “เดอร์โกล” เองหนีไปอยู่ค่ายทหารฝรั่งเศสในเยอรมัน แต่แทนที่พรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานจะผลักดันการปฏิวัติไปข้างหน้า องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเบี่ยงเบนการต่อสู้จากเรื่องการเมืองไปเป็นเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าเท่านั้น ในที่สุดมีการทำสัญญากับรัฐบาลว่าจะขึ้นเงินเดือนคนงานและยุบรัฐสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลในการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ สรุปแล้วในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานกลัวการปฏิวัติและต้องการที่จะปกป้องระบบทุนนิยม

การลุกขึ้นสู้หรือยุติการต่อสู้ของกรรมาชีพ เป็นเรื่องชี้ขาดว่าการกบฏของนักศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

la-lutte-continue-paris-may-1968-street-poster-t-shirt-4

อย่างไรก็ตามการกลับมาของการต่อสู้ทางชนชั้น นำไปสู่การรื้อฟื้นความคิดมาร์คซิสต์ในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้กระแสการต่อสู้ มีผลในการเปลี่ยนวัฒนธรรม ดนตรี และค่านิยมต่างๆ และมีการกระตุ้นการต่อสู้ของกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกดขี่ในสังคมทั่วโลกอีกด้วย เช่นคนผิวดำ คนพื้นเมืองอเมริกา เกย์กะเทยทอมดี้ และสตรี

กระแสสู้ของนักศึกษาทั่วโลกไม่ได้ยุติหลังปี 1968 เพราะในปี 1970 มีการประท้วงของนักศึกษาสหรัฐทั่วประเทศ และมีการยึดมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ทหารยิงนักศึกษาตายที่มหาวิทยาลัย เคนท์ สเตด ขณะที่นักศึกษาประท้วงต่อต้านการขยายสงครามเวียดนามสู่กัมพูชา

ในประเทศไทยนักศึกษาเป็นหัวหอกในการล้มเผด็จการทหาร ถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในปีเดียวกันนักศึกษากรีซเริ่มออกมาสู้ โดยยึดวิทยาลัย โบลิเทคนิค กลางเมืองอาเทนส์ ซึ่งนำไปสู่การล้มเผด็จการทหารกรีซในที่สุด นอกจากนี้มีการเดินขบวนของนักศึกษาในอินโดนีเซีย และในเยอรมันตะวันตก

แต่หลัง 1968 ศูนย์กลางการต่อสู้ส่วนใหญ่ย้ายไปที่ขบวนการแรงงาน เช่นในอิตาลี่ปี 1969 หรือในสเปนบทบาทสำคัญของกรรมาชีพ ตั้งแต่ปี 1970 ทำให้เผด็จการ “ฟรังโก” อ่อนแอลง และในอังกฤษการนัดหยุดงานทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมถูกล้ม

ทั่วโลกชนชั้นปกครองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เอง แต่ต้องพึ่งพรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ และสภาแรงงานต่างๆ ซึ่งยอมร่วมมือเพื่อช่วยดับไฟของการปฏิวัติ โดยในหลายประเทศมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคฝ่ายขวา

ในลาตินอเมริกา มีการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาและแรงงานเช่นกัน ใน อาเจนทีนา มีการยึดเมือง คอร์โดบาและใน ชิลี มีการยึดที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่กระแสนี้ถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ใน อาเจนทีนา มีการรณรงค์ให้อดีตเผด็จการประชานิยม เพรอน กลับมาแก้สถานการณ์ แต่แก้ไม่ได้ และเมื่อ เพรอน เสียชีวิต ทหารฝ่ายขวาก็ทำรัฐประหารป่าเถื่อน โดยเข่นฆ่านักกิจกรรมฝ่ายซ้ายหลายหมื่นคน ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่ไทย

ใน ชิลี กระแสการต่อสู้นำไปสู่ชัยชนะของ ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ ผู้แทนพรรคสังคมนิยม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ฝ่ายขวา นายทุน ทหาร และสหรัฐอเมริกาไม่พอใจ และคอยหาทางล้มรัฐบาลด้วยการปิดกิจกรรมการขนส่ง และการพยายามทำรัฐประหาร ซึ่งในระยะแรกถูกคนงานรากหญ้าต้านสำเร็จผ่านการสร้าง “สภาคนงาน” (คอร์ดอนเนย์ Cordones) ในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คล้ายกับสภาคนงานในรัสเซียปี 1917 อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ชักชวนให้กรรมาชีพสลายการต่อสู้ เพื่อเอาใจทหารและฝ่ายขวา โดยหลงเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อได้ ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี แต่สามเดือนหลังจากนั้นในปี 1973 พิโนเช ยึดอำนาจ ฆ่าประธานาธิบดี และจับคุมเข่นฆ่านักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานหลายพันคน

ในขณะที่พรรคปฏิรูปและสภาแรงงานในยุโรปตะวันตกพยายามกล่อมขบวนการแรงงานให้หลับนอนและเลิกสู้ ฝ่ายขวาในลาตินอเมริกายุติการต่อสู้ของแรงงานผ่านการปราบปรามอย่างนองเลือด

มีที่หนึ่งที่ประกายไฟจาก 1968 ลุกเป็นเปลวอีกครั้ง คือในประเทศปอร์ตุเกส ซึ่งมีรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์มาเกือบห้าสิบปี ในกลางทศวรรษ 1970 ปอร์ตุเกสกำลังแพ้สงครามในอาณานิคมอัฟริกา และทหารระดับล่างไม่พอใจกับการต่อสู้ ดังนั้นในเดือนเมษายน 1974 มีรัฐประหารและนายพลฝ่ายขวาขึ้นมาแทนเผด็จการ “ไคทาโน” รัฐประหารนี้นำไปสู่การนัดหยุดงานตามโรงต่อเรือขนาดใหญ่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใต้ดินพรรคเดียวที่มีการจัดตั้งอย่างดี ก็พยายามตั้งตัวเป็นศูนย์กลางการเจรจาและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพฝ่ายขวา กับขบวนการแรงงาน แต่ทำไม่ได้ เริ่มมีกลุ่มทหารระดับล่างและคนงานฝ่ายซ้ายที่อยากไปไกลกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามองค์กร “ซีไอเอ” ของสหรัฐ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน และนายทหารปฏิรูปของปอร์ตุเกส สามารถเปลี่ยนทิศทางการปฏิวัติปอร์ตุเกสไปสู่ประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยมได้ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ทำอะไรเลย

บทสรุปสำคัญจากยุค 1968 คือต้องมีการสร้างพรรคปฏิวัติฝ่ายซ้ายใหม่ ที่ไม่ยอมประนีประนอมกับทุนและพร้อมจะสามัคคีพลังกรรมาชีพกับการตื่นตัวของนักศึกษาและคนหนุ่มสาว

ภารกิจการสร้างพรรคแบบนี้ยังเป็นภารกิจสำคัญของเราในยุคนี้

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a

ฝรั่งเศส “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” จริงหรือ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากเหตุการณ์ฆ่านักวาดการ์ตูนที่วารสาร ชาลี เฮบโด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการเดินขบวนประท้วงความรุนแรงดังกล่าวที่มีประชาชนออกมาหลายล้านคน คนไทยจำนวนหนึ่งตื่นเต้นและหลงเชื่อว่าฝรั่งเศสเป็น “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” ที่มีการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก บางคนพยายามอธิบายว่านี่คือผลพวงของการปฏิวัติฝรั่งเศสและแนวคิดสาธารณะรัฐที่เกิดในยุค 1789

แต่คนที่เชื่อแบบนี้ตาบอดถึงลักษณะแท้ของสังคมฝรั่งเศส

ในยุคล่าอาณานิคมที่เป็นยุคแห่ง “ทุนนิยม” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และหลังจากที่มีการก่อตั้งสาธารณะรัฐที่ไม่อิงศาสนา ประเทศฝรั่งเศสเข้าไปยึดครองดินแดนในทวีปอัฟริกาและเอเชียด้วยความป่าเถื่อน ในภูมิภาคของเรา ฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง ลาว เขมร และเวียดนาม และใช้พวกเผยแพร่ศาสนาคริสต์เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อสงครามอีกด้วย ชาวเวียดนาม ลาว และเขมร ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสบังคับใช้แรงงานเหมือนไพร่ในไทย และฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่ริเริ่มสงครามเวียดนาม เพื่อสกัดกั้นเสรีภาพของชาวเวียดนาม

ใน อัลจีเรีย ฝรั่งเศสยึดครองสังคมมุสลิมนี้ด้วยความป่าเถื่อนเช่นกัน และมีการปราบขบวนการกู้ชาติอัลจีเรียด้วยความโหดร้ายทารุน ในปี 1961 เมื่อชาวอัลจีเรียในกรุงปารีสต้องการเดินขบวนเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส ตำรวจฝรั่งเศสก็ปราบอย่างหนัก มีการฆ่าชาวอัลจีเรียโยนลงแม่น้ำเซนกว่า 200 ศพ และจนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครถูกลงโทษ และไม่มีการขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐเลย

ที่น่าสังเกตคือ มือปืนที่ไปฆ่านักวาดการ์ตูน ชาลี เฮบโด เป็นคนที่เกิดในฝรั่งเศส แต่เป็นคนเชื้อสายอัลจีเรีย เขาเริ่มทนไม่ได้เมื่อเห็นพฤติกรรมป่าเถื่อนของสหรัฐที่ทรมานนักโทษจากตะวันออกกลางในสงครามอิรัก

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นปกครองฝรั่งเศสส่วนใหญ่สนับสนุนฮิตเลอร์กับพวกนาซี ในขณะที่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ มีการจัดตั้งเพื่อต่อต้านนาซีและฮิตเลอร์ เมื่อเยอรมันเข้ามายึดครองฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยมีบทบาทในการส่งชาวยิวจากฝรั่งเศสไปตายในค่ายของนาซี

ในอดีต ในปี 1894 มีเรื่องอื้อฉาว เพราะชนชั้นปกครองฝรั่งเศสยัดข้อหาเท็จใส่นายทหารชื่อ “เดรฟัส” เพราะเป็นคนยิว

ในสมัยนี้ฝรั่งเศสยังทำตัวเป็นจักรวรรดินิยม โดยใช้กองกำลังแทรกแซงในหลายประเทศของอัฟริกาและตะวันออกกลาง ล่าสุดเมื่อปี 2013 ทหารฝรั่งเศสไปเปิดศึกกับกองกำลังมุสลิมทางเหนือของประเทศมาลี และสงครามนี้ยังไม่สิ้นสุด นอกจากมาลีแล้ว ฝรั่งเศสก็แทรกแซงทางทหารในลิเบียและซิเรียอีกด้วย

ภายในสังคมฝรั่งเศสทุกวันนี้ กระแสกเหยียดสีผิวและเชื้อชาติมาแรง พรรคการเมืองที่กำลังนำในโพล์ คือพรรค “แนวร่วมชาติ” FN ซึ่งเป็นพรรคนาซี นโยบายของพรรคเหยียดทั้งชาวยิว คนมุสลิม และคนสีผิวอื่นๆ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏระเบียบห้ามไม่ให้นักศึกษามุสลิมในโรงเรียนสวมผ้าฮิญาบ โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่อิงศาสนา และในมหาวิทยาลัยชั้นนำ “ซอร์บอน” มีนักศึกษาถูกไล่ออกจากห้องเลคเชอร์ เพราะสวมผ้าฮิญาบ แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการห้ามไม่ให้นักเรียนห้อยไม้กางเขนเป็นสร้อยคอ และบางโรงเรียนอนุญาตให้แม่ชีคริสเตียนเข้ามาได้

ในปี 2010 รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏหมายห้ามสตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าบูร์กาหรือ niqab ในที่สาธารณะ และหลายคนก็โดนตำรวจจับ ผ้าคลุมหน้าบูร์กาหรือ niqab ต่างจาก ฮิญาบ เพราะปิดหน้าไม่ใช่แค่คลุมผม

French police and gendarmes check identity cards of women wearing full-face veils, or niqab, as they arrived to demonstrate after calls on the internet by Islamic groups to protest over an anti-Islam video, in Lille

เมื่อปีที่แล้วมีโรงเรียนทางเหนือของฝรั่งเศสที่ไม่ยอมให้นักเรียนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เมื่อมีหมูในเมนูประจำวัน เจ้าหน้าที่อธิบายว่าถ้าเด็กไม่อยากกินหมูก็ต้องกินผัก และในเมืองหนึ่ง ผู้ว่าฯไม่ยอมให้ชาวโรมา (ยิปซี) ฝังศพเด็กเล็กที่พึ่งเสียชีวิต

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของสังคมฝรั่งเศสที่เราควรทราบไว้ เมื่อเราพิจารณาเหตุการณ์ฆ่านักวาดการ์ตูนที่วารสาร ชาลี เฮบโด และการเดินขบวนที่เกิดขึ้นภายหลัง ปัญหาใหญ่อันหนึ่งคือฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสไม่เข้าใจบทบาทของศาสนาอิสลามในการเป็นความเชื่อของผู้ที่ถูกกดขี่ มาร์คซ์ เคยเขียนว่า “ศาสนาคือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ” นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์อย่างเราจะคัดค้านศาสนาในลักษณะความเชื่อ แต่เราจะปกป้องสิทธิในการนับถือศาสนา และสิทธิของคนที่ถูกกดขี่ทุกคน เราไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย แต่เราจะเข้าใจว่าต้นเหตุมันมาจากจักรวรรดินิยมและการก่อสงครามของรัฐบาลตะวันตก

รัฐบาลฝรั่งเศสถูกยุบท่ามกลางความขัดแย้งซ้าย-ขวา

ประธานาธิบดี ฟรานซ์วา ฮอลแลนด์ เห็นชอบกับการที่รัฐบาลพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี แมนูล วาลส์ ยุบตัวเองภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีซีกซ้ายกับขวา

อาร์โน มอนทาบูร์ก, เบนนัว แฮมมอน และ โอเรล ฟิลิเพที สามรัฐมนตรีจากซีกซ้าย คัดค้านนโยบายการตัดงบประมาณรัฐ โดยเฉพาะในการบริการประชาชนและสวัสดิการสำรับคนทำงาน นโยบายดังกล่าว พร้อมกับการลดภาษีให้กลุ่มทุน เป็นนโยบายที่ถูกผลักดันอย่างแรงจากรัฐบาลฝ่ายขวาของเยอรมันทั่วอียูภายใต้ข้ออ้างว่าจะลดหนี้และกระตุ้นให้กลุ่มทุนลงทุนเพิ่ม

แต่ผลของนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วแบบนี้ ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสและเยอรมันหดตัว และทำให้คนทำงานยากลำบากมากขึ้น สามรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายกล่าวว่านโยบายดังกล่าวทำให้คนหันไปสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์นาซี “แนวร่วมแห่งชาติ” และทำให้คนทั่วไปเบื่อหน่ายระบบการเมือง เพราะหมดหวังในชีวิต

ขณะนี้ประธานาธิบดี ฟรานซ์วา ฮอลแลนด์ เป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ตอนที่ชนะการเลือกตั้งเขาประกาศว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและสภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น แต่ในรูปธรรมประธานาธิบดีพรรคสังคมนิยมคนนี้ไม่ทำอะไรและใช้นโยบายฝ่ายขวา

การตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีรัฐมนตรีจากซีกซ้าย อาจลดความขัดแย้งภายใน แต่จะไม่มีวันแก้ปัญหาของการที่คนทั่วไปเบื่อหน่ายระบบการเมืองและหันไปสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์

สิ่งเดียวที่จะลดคะแนนสนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ คือการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิว และการตัดงบประมาณรัฐที่เป็นประโยชน์กับประชาชน