Tag Archives: ฝ่ายขวา

ดอนัลด์ ทรัมป์ ปลุกม็อบเพื่ออะไร?

หลายคนอาจมองว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ พยายามยึดอำนาจผ่านการปลุกม็อบที่บุกเข้าไปในรัฐสภาสหรัฐ แต่นั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์

ทรัมป์ มีเป้าหมายมาตลอดที่จะผลักดันการเมืองในสหรัฐไปทางขวา ซึ่งเขามองว่าเป็นประโยชน์กับฐานเสียงของตนเอง แต่พอแพ้การเลือกตั้งและต้องลงจากตำแหน่ง เป้าหมายของเขากลายไปเป็นการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของพวกขวาจัด ที่เกลียดคนก้าวหน้าทุกฝ่ายและเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง ทรัมป์ต้องการที่จะมีบทบาทเป็นปากเสียงของขบวนการนี้ในอนาคต

เราเห็น ทรัมป์ พูดจาด่าผู้ลี้ภัยและคนที่อพยพหนีความยากจนมาสู่ประเทศตะวันตก ในลักษณะที่ไม่ต่างเลยจากพวกฟาสซิสต์ และในขณะที่ทรัมป์พูดจาสนับสนุนกลุ่มขวาจัดในสหรัฐ เราต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ เองไม่ใช่ ฟาสซิสต์ เพียงแต่ต้องการที่จะส่งเสริมการเมืองฝ่ายขวาผ่านการร่วมมือกับฟาสซิสต์

แน่นอน ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง เพราะต่อต้านสิทธิสตรี และอวดว่าตนเองละเมิดผู้หญิงหลายคน ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัมป์ เป็นคนที่เหยียดคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวชาวอเมริกัน เขาพูดจาดูถูกคนจากประเทศอื่น เช่นชาวเม็กซิโก ว่าเป็นพวก “ขี้ขโมย” ที่นำอาชญากรรมเข้าประเทศ เขาดูถูกคนพื้นเมืองอเมริกัน และคัดค้านคนที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งๆ ที่พ่อแม่ของ ทรัมป์ เองไม่ได้เกิดที่สหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ พร้อมจะอุดหนุนทุนใหญ่ของสหรัฐ เช่นทุนพลังงานหรือการเกษตร โดยการปิดหูปิดตาถึงปัญหาโลกร้อนและการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากมลพิษ

แต่ ไบเดน ไม่มีนโยบายอะไรที่ก้าวหน้าเลย เพราะไบเดนเป็นนักการเมืองกระแสหลักอนุรักษ์นิยมของฝ่ายทุน สองพรรคใหญ่ในสหรัฐสนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ไม่มีพรรคใดที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจนเลย

จริงอยู่ภายในพรรคเดโมแครตมีกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย และกลุ่มนี้มีผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งในสภาหยิบมือหนึ่ง แต่กลุ่มนี้จะไม่มีอิทธิพลแต่อย่างใดกับรัฐบาลของไบเดน และกลายเป็น “ไม้ประดับ” ที่สร้างภาพความก้าวหน้าปลอมของพรรคเท่านั้น

ไบเดนชนะเพราะสาเหตุเดียวเท่านั้นคือเขาไม่ใช่ทรัมป์ ไม่มีใครตื่นเต้นอะไรกับนโยบายของเขา และเขาเกือบแพ้เพราะคนจนและกรรมาชีพส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาลงคะแนนให้ใคร และอีกส่วนโดนทรัมป์ชักชวนให้หาแพะรับบาปสำหรับปัญหาความยากจน

ม็อบฝ่ายขวาบุกรัฐสภา

ถ้าเปรียบเทียบการรับมือของตำรวจสหรัฐต่อม็อบฝ่ายขวา กับการรับมือกับการประท้วงของคนผิวดำเรื่องการโดนตำรวจยิงตาย จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมสหรัฐเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดสีผิว โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ

ตำรวจรับมือกับการประท้วงของคนผิวดำ

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายและผู้รักความเป็นธรรมในหลายประเทศจะต้องออกมารับมือ วิธีรับมือคือการต่อต้านพวกฟาสซืสต์ และพวกเหยียดสีผิวเชื้อชาติ และที่สำคัญคือต้องต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อระงับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่นำไปสู่การรัดเข็มขัดที่มาพร้อมกับวิกฤตโควิด ต้องมีการสนับสนุนและปลุกระดมการนัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแบบนี้ ฝ่ายขวาจะครองถนนและสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ความจริงเรื่องการปราบปราม ๖ ตุลา และคำโกหกของไชยันต์ ไชยพร

ในเมื่อไชยันต์ไชยพร กล่าวหาเท็จว่านักศึกษาสมัย ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จงใจชุมนุมในธรรมศาสตร์เพื่อให้โดนปราบ (โดยที่เขาอ้างถึง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) และยังมีการโกหกอีกว่าขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันจงใจสร้างสถานการณ์ให้โดนปราบในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งไชยยันต์เสนอว่าทำไปเพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมือง และเพื่อป้ายร้ายสถาบันกษัตริย์ เราควรกลับมาดูว่าอาชญากรรมรัฐ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เกิดขึ้นอย่างไร

การปราบปรามในวันที่ ๖ ตุลา กระทำเพื่ออะไร?

นักวิชาการคนแรกที่เสนอคำตอบเรื่องนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีการอธิบายว่า “เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ” ใครมีเจตนาแบบนี้? ป๋วย อธิบายว่าเป็น “ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมือง ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยตนจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม”

ถึงแม้ว่าการปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการกระทำต่อขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก แต่เป้าหมายโดยรวมน่าจะเป็นการทำลาย “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยดังที่ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยในยุคนั้นเคยชูคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” และเบเนดิก แอนเดอร์สัน อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวา โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ต้องการคือการหยุดยั้งการประท้วงต่างๆ ของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ที่เขามองว่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทฤษฏีที่เสนอว่าพวกฝ่ายซ้ายทำเกินเหตุว่า “การปรับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น (เช่นการปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ) เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวาย แต่การกดดันให้นายจ้างหัวแข็งลงมาเจรจากับลูกจ้างทำได้อย่างไรถ้าไม่นัดหยุดงาน? การกดดันให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่มีกับบริษัทเหมืองแร่ทำได้อย่างไรถ้าไม่ประท้วง? … ถ้ามองย้อนกลับไป รู้สึกว่าพวกเราทุกคนในยุคนั้นสายตาสั้นเวลาบ่นเรื่องความวุ่นวายเหล่านี้” (คำพูดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัย Georgetown, Washington 15/2/1977)

นอกจากความต้องการที่จะทำลายฝ่ายซ้ายโดยตรงแล้ว John Girling มองว่าผู้นำกองทัพส่วนใหญ่คิดว่าไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามา ดังนั้นต้องลงมือปราบปรามพวกประชาธิปไตยด้วยทุกวิธีทาง ในทำนองเดียวกัน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เสน่ห์ จามริก มองว่าการปราบปรามครั้งนี้เป็นการหวังทำลายแนว “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ลงมือกระทำคือกลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” ที่ยังคุมอำนาจรัฐอยู่และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในช่วง ๕ ธันวาคมปี ๒๕๑๙ กษัตริย์ภูมิพลได้แสดงความพึงพอใจกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา และอ้างว่ารัฐประหารเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งตรงกับความเห็นของทหาร

กษัคริย์ภูมิพลเยี่ยมถนอมที่วัดบวรนิเวศน์

นักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีการถกเถียงกันถึงบทบาทของพระราชวังในเหตุการณ์นี้ นักวิชาการต่างประเทศส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจกรรมของพระราชวังมีส่วนเสริมให้เกิดวิกฤตกาลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การสนับสนุนขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรนิเวศน์ในปลายเดือนกันยายนอย่างเปิดเผยเป็นต้น

This image has an empty alt attribute; its file name is 9vsc.jpg
กษัตริย์ภูมิพลมีบทบาทในการช่วยตำรวจ ตชด สร้างขบวนการลูกเสือชาวบ้าน

วชิราลงกรณ์ให้กำลังใจลูกเสือชาวบ้านในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ลานพระรูปทรงม้า

ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกสังคมไทยและวิกฤตที่เกิดขึ้น เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งชนชั้น มีความต้องการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้าย เราจึงต้องสรุปว่า ๖ ตุลา เป็นการพยายามทำลายขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยโดยชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบัน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตามส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีมุมมองที่อาจแตกต่างกันไปเกี่ยวกับวิธีการที่ควรจะใช้ในการสกัดขบวนการฝ่ายซ้ายไทย ฉะนั้นเราไม่ควรมองว่ามีการวาง “แผนใหญ่” เพียงแผนเดียวโดยชนชั้นปกครองไทย เราควรเข้าใจว่าส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีการสร้างกลุ่มพลังฝ่ายขวามาคานนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และฝ่ายซ้าย และมีการฉวยโอกาสตามสถานการณ์

สรุปแล้ว ไชยันต์ ไชยพร ยกเมฆโกหกเรื่อง ๖ ตุลา และป้ายสีขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบัน และที่น่าเกลียดที่สุดคือการพูดแบบนั้นของ ไชยันต์ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เท็จเพื่อฟอกตัวเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เป็นอาชญากรรัฐ ซึ่งผลในรูปธรรมคือเชิดชูเผด็จการ และทำให้การสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยทำได้ยากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

“อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔) ISBN 9748858626  https://bit.ly/2dC7Fk2  และ  https://bit.ly/2cSml2g

ดอนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำอะไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

หลายคนอาจมองว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำ “สติเสีย” เพราะมักจะมีการกลับคำเสมอ พร้อมจะโกหกแบบหน้าด้าน และนโยบายของเขาดูเหมือนไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จึงขัดแย้งในตัวเอง หรือไร้เหตุผลทางปัญญา แต่คนที่มองแบบนี้ประเมิน ทรัมป์ ต่ำเกินไป

แน่นอน ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง เพราะต่อต้านสิทธิสตรี อวดว่าตนเองละเมิดผู้หญิงหลายคน และในขณะนี้กำลังหาทางที่จะยกเลิกสิทธิทำแท้งในสหรัฐผ่านการแต่งตั้งผู้พิพากษาอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยาสุดขั้ว ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัมป์ เป็นคนที่เหยียดคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวชาวอเมริกัน เขาพูดจาดูถูกคนจากประเทศอื่น เช่นชาวเม็กซิโก ว่าเป็นพวก “ขี้ขโมย” ที่นำอาชญากรรมเข้าประเทศ เขาดูถูกคนพื้นเมืองอเมริกัน และคัดค้านคนที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งๆ ที่พ่อแม่ของ ทรัมป์ เองไม่ได้เกิดที่สหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ พร้อมจะอุดหนุนทุนใหญ่ของสหรัฐ เช่นทุนพลังงานหรือการเกษตร โดยการปิดหูปิดตาถึงปัญหาโลกร้อนและการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากมลพิษ และถ้าแค่นี้ไม่พอ ทรัมป์ เป็นคนที่พร้อมจะก่อให้เกิดสงครามทั่วโลก เช่นในตะวันออกกลาง โดยไม่ห่วงใยเพื่อนมนุษย์

ทรัมป์ ชอบอ้างว่าเป็นมิตรของคนทำงานธรรมดาในสหรัฐที่ต้องยากลำบาก แต่ในรูปธรรมนโยบายของเขาหนุนแต่ทุนใหญ่และคนรวยในขณะที่ทำลายความมั่นคงของคนธรรมดา เช่นนโยบายการลดภาษีให้กลุ่มทุน หรือการพยายามทำลายระบบสาธารณสุขสำหรับประชาชน

ในการเดินทางมายุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว เราเห็นความพยายามของ ทรัมป์ ที่จะเปิดศึกกับนักการเมืองและพรรคการเมืองกระแสหลักแบบเสรีนิยม โดยเฉพาะ อังเกลา แมร์เคิล ในเยอรมัน และ ทะรีซา เมย์ ในอังกฤษ เป้าหมายของ ทรัมป์ คือการสร้างความปั่นป่วน ทำลายพรรคกระแสหลัก และลดอิทธิพลของ อียู (สหภาพยุโรป)

ทรัมป์ เชื่อว่าองค์กรที่สหรัฐเคยสร้างและสนับสนุนในอดีต เช่น อียู นาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และองค์กรการค้าระหว่างประเทศ (WTO) ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ เขาไม่พอใจที่ เยอรมัน มีดุลการค้ากับสหรัฐสูง และไม่ยอมเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยที่ ทรัมป์ เชื่อว่าประเทศต่างๆ ใน อียู อาศัย “ร่ม” ทางทหารของสหรัฐ โดยไม่ยอมจ่าย

5aca2cf0dda4c817528b458c

การเปิดศึกทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐกับจีนและอียู มาจากแนวคิดเดียวกันที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสหรัฐ แต่มันเป็นยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างจะเสี่ยง และคุมยาก เพราะประสบการณ์จากอดีต สมัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก 1930 ชี้ให้เห็นว่าการปิดกั้นทางการค้าของทุกฝ่ายทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศได้รับผลเสีย และนายทุนสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการโต้ตอบของจีนและอียูในสมัยนี้ ก็คงไม่พอใจอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นทั้งสหรัฐ อียู และจีน ผูกพันกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการลงทุนและการถือหุ้นในบริษัทข้ามชาติต่างๆ และตลาดจีนมีความสำคัญกับสหรัฐไม่น้อย ดังนั้นการปิดประเทศโดย ทรัมป์ คงทำไม่ได้

อีกสาเหตุสำคัญที่ ทรัมป์ โจมตีพรรคเสรีนิยมกระแสหลัก ก็เพราะเขามีเป้าหมายร่วมกับพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ในยุโรป ที่จะผลักดันการเมืองโลกไปทางขวา ซึ่งเขามองว่าจะเป็นประโยชน์กับฐานเสียงตนเองในสหรัฐ

ดังนั้นเราเห็น ทรัมป์ พูดจาด่าผู้ลี้ภัยและคนที่อพยพหนีความยากจนมาสู่ยุโรป ในลักษณะที่ไม่ต่างเลยจากพวกฟาสซิสต์ที่อยู่ในรัฐบาล อิตาลี่ ออสเตรีย และฮังการี่ ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็พูดจาสนับสนุนกลุ่มขวาจัดในสหรัฐด้วย อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ ไม่ใช่ ฟาสซิสต์ แต่เพียงแต่ต้องการที่จะส่งเสริมการเมืองฝ่ายขวา

FRANCE-US-POLITICS-FN-PARTY-CONGRESS
สตีฟ แบนนอน กับหัวหน้าพรรคฟาสซิสต์ฝรั่งเศส

ที่น่ากังวลคือ สตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาคนโปรดของ ทรัมป์ ได้ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นในยุโรป เพื่อให้ทุนอุดหนุนกลุ่มฟาสซิสต์ต่างๆ ในทุกประเทศของยุโรป

US-POLITICS-TRUMP-STAFF

จะเห็นได้ว่าการมีประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปและสหรัฐ ในบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดเพราะผลของนโยบายรัดเข็มขัดสร้างความไม่พอใจทั่วไปในหมู่ประชาชนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่อันตรายยิ่ง และเสี่ยงกับการเพิ่มกระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ กับกระแสฟาสซิสต์โดยทั่วไป

การเน้นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว เป็นวิธีหนึ่งที่ชนชั้นปกครองใช้ในการเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายรัดเข็มขัดที่เริ่มหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายและผู้รักความเป็นธรรมในหลายประเทศจะต้องออกมารับมือ วิธีรับมือคือการต่อต้านพวกฟาสซืสต์ และการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อระงับนโยบายรัดเข็มขัด เช่นด้วยการนัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแบบนี้ ยุโรปและสหรัฐจะเข้าสู่ยุคมืด

20180715_135530

[บทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความของ Alex Callinicos ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker]

ธนาธร เสนอนโยบายฝ่ายขวา ในขณะที่ ปิยบุตร พูดถึงพรรคฝ่ายซ้าย? ตกลงจะเอายังไง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง หมายความว่าเราสามารถดูออกและแยกแยะแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เราสามารถเข้าใจว่า “ฝ่ายซ้าย” เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างคนทำงานกับคนจน และ “ฝ่ายขวา” อยู่เคียงข้างคนจำนวนน้อยที่เป็นนายทุนกับคนรวย และมันหมายความว่าเราเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีกับแนวคิดที่มองว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

organise-fish-solidarity-hi

การที่พลเมืองจำนวนมากในสังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาโง่แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะแนวคิดการเมืองกระแสหลัก ที่มาจากทหาร นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ พยายามปกปิดเรื่องนี้มานาน เพราะเน้นแต่ผลประโยชน์คนข้างบน หรือไม่สนใจเรื่องทฤษฏีการเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการสหภาพแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะท้าทายการผูกขาดของแนวคิดฝ่ายขวา จนพวกฝ่ายขวาสามารถอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็น “ธรรมชาติ” และในโลกจริง “เราไม่มีทางเลือกอื่น” ความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทหารฝ่ายขวาเข้ามาปกครองบ้านเมืองและปราบปรามฝ่ายซ้ายในอดีตและปัจจุบัน แม้แต่ในรัฐธรรมนูญมีการระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมกลไกตลาด เหมือนกับว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น และประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนโยบายอื่น

ในมหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ค่อยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสำรวจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและรัฐ [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ] และไม่ค่อยจะมีการชวนให้นักศึกษาเรียนรู้การถกเถียงโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนขบวนการ เอ็นจีโอ มักจะภูมิใจที่จะไม่ศึกษาทฤษฏีทางการเมืองเลย พวกนี้และนักสหภาพแรงงานบางคน จะพูดว่าเขาเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ต้องสนใจทฤษฏีทางการเมือง

ผมเคยเอ่ยถึงรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส และสื่ออื่นๆ ที่เสนอว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น [ดูhttps://reut.rs/2ugDj39 และ https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

ในรายงานข่าวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบ ธนาธร กับประธานาธิบดี แมครอน ของฝรั่งเศส(ภาพข้างใต้)

สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP ]

macron-1

การมองว่า ธนาธร เหมือน แมครอน อาจจริง เพราะทั้งสองคนเป็นนักการเมืองฝ่ายทุน ที่อ้าง  “ความหน้าใหม่” มาเป็นจุดขาย และทั้งสองมีจุดยืนในการปราบสหภาพแรงงาน ภาพข้างใต้เป็นภาพสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประท้วงแมครอนเมื่อไม่นานมานี้

29542044_411046555989397_9009463493784753527_n

ข้อแตกต่างอันหนึ่งระหว่างแมครอนกับธนาธรอาจเป็นเรื่องจุดยืนต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนธนาธรก้าวหน้ากว่ามาก

เราคงต้องกลับไปทบทวนคำพูดของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่บอกว่าต้องการจะสร้างพรรคการเมืองใหม่ตามแบบพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน พรรคห้าดาวของอิตาลี่ และพรรค “La France Insoumise”(พรรค “ฝรั่งเศสไม่ก้มหน้าให้ใคร” ) ของ Jean-Luc Mélenchon [ดู https://bbc.in/2G38dRO ]

Jean-Luc_Mélenchon_-_avril_2012

ที่นี้มันดูเหมือนมีปัญหาหนัก เพราะพรรค La France Insoumise ของเมลองชอง (ภาพข้างบน) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส และสนับสนุนสหภาพแรงงาน ในขณะที่ประธานาธิบดี แมครอน เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และพยายามเสนอนโยบายชาตินิยมจัด เพื่อพยายามดึงคะแนนมาจากพรรคฟาสซิสต์ สรุปแล้วทั้งสองอยู่คนละขั้วของการเมืองฝรั่งเศส ไม่มีพรรคไหนที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

ผมนึกภาพไม่ออกว่าเวลา ปิยบุตร คุยกับ ธนาธร ในเรื่องแบบนี้เขาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย หรือมองว่าเรื่องซ้ายกับขวาไม่ควรจะมีความสำคัญสำหรับพลเมืองไทย ผมไม่อยากคิดว่า ปิยบุตร ขาดความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมเลยไม่เชือว่าแยกไม่ออกระหว่างซ้ายกับขวา

ผมไม่อยากคิดอีกว่า ปิยบุตร จงใจปกปิดความแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา เพื่อผลิตซ้ำการที่พลเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่จะให้ผมคิดอย่างไร?

ตกลงในยุคนี้ เมื่อเรามีโอกาสที่จะถกเถียงตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่กับเก่า เราจะเอาสมองไปไว้กะลา แล้วไม่สนใจนโยบายของพรรคต่างๆ ว่าเป็นซ้ายหรือขวา แต่จะแค่ตื่นเต้นกับคนหน้าใหม่เท่านั้นหรือ?

 

ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?” เป็นคำถามที่บางคนตั้งขึ้นมาในยุคนี้ แต่ก่อนที่จะขอตอบ ต้องอธิบายว่ามันเป็นเพียงบางคนเท่านั้น เพราะอดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากเคยเข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นฝ่ายขวา

“พวกขวา” ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนิยามว่าหมายถึงพวกที่โบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตย

ในประการแรก คนที่ตั้งคำถามแบบนี้มักจะตกอกตกใจด้วยความซื่อบื้อเมื่อเห็นคนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นมาร์คซิสต์หรือพุทธ คุณควรจะรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะ “ต้อง” เปลี่ยนเสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ในมุมกลับมีบางคนที่ซื่อบื้อคิดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นซ้าย พออายุมากขึ้นต้องเป็นขวา แต่ไม่พูดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นขวาจะต้องเป็นซ้ายเวลาอายุมากขึ้น!! สำหรับผู้เขียนคนนี้และเพื่อนมิตรสหายในไทยและต่างประเทศที่อายุพอๆ กัน คือย่างเข้าหกสิบกว่า ขอยืนยันว่าเป็นซ้ายมาตั้งแต่ ๖ ตุลา และทุกวันนี้ยังซ้ายอยู่ด้วยความภูมิใจ

มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง

คาร์ล มาร์คซ์ ในวัยหนุ่มเป็นแค่เสรีชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่พออายุมากขึ้นก็จะเอียงไปทางซ้ายมากขึ้นจนถึงวันตาย มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มต้นเป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในสหรัฐ แต่พออายุมากขึ้น ก่อนที่จะถูกยิงตาย เริ่มพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน และเริ่มพูดถึงจักรวรรดินิยม คือขยับไปทางซ้ายนั้นเอง

ในประการที่สอง อดีตฝ่ายซ้ายไทย หรือพวกที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทสไทย (พคท.) เป็นคนที่เคยคิดว่าลัทธิ “สตาลิน-เหมา” ของพคท. คือ “มาร์คซิสต์” หรือ”สังคมนิยม” แต่ลัทธิ “สตาลิน-เหมา” เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการปลดแอกมนุษย์ของนักมาร์คซิสต์ เพราะสำหรับชาวมาร์คซิสต์ การปลดแอกมนุษย์ต้องมาจากการกระทำของพลเมืองธรรมดาเองในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่ใช่ทำโดยคนกลุ่มน้อย แต่พคท. และพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก หลังจากที่สตาลินทำลายการปฏิวัติรัสเซียและขึ้นมามีอำนาจ กลายเป็นพรรคที่เป็นเผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ และทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพรรคเผด็จการเหล่านี้ปกครองประเทศจีน เวียดนาม และลาว

ดังนั้นการที่อดีตฝ่ายซ้ายไทยจะไม่เกลียดชังเผด็จการมากนัก หรือเชียร์เผด็จการทหาร ก็อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่เกินไปสำหรับบางคน

แต่เราต้องอธิบายเพิ่ม เพราะแค่นี้ไม่พอ

ในประการที่สาม อดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากมีอาการ “อกหัก” เมื่อ พคท. และระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ทั่วโลกล่มสลายเมื่อสามสิบปีก่อน ความผิดหวังนี้ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนทบทวนความคิด และเลือกเดินในเส้นทางใหม่ที่แตกต่างกันไป

บางคนไปปลื้มกับไทยรักไทยและทักษิณ เพราะมองว่านักการเมืองทุนนิยมที่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน และลงสมัครรับเลือกตั้ง คือทางออกที่ดีกว่าการจับอาวุธเข้าป่า

บางคนคิดจะหันหลังให้กับรัฐ ปฏิเสธการพึ่งพารัฐ หรือการโค่นรัฐ และพวกนี้ก็แปรตัวไปเป็นเอ็นจีโอ เมื่อเวลาผ่านไปก็กินเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนชั้นกลาง ภายในเอ็นจีโอก็ไม่มีประชาธิปไตย มีระบบอาวุโส ไม่ต่างจาก พคท. และไปๆ มาๆ พวกนี้เริ่มมีนิสัยแบบพี่เลี้ยง คือสอนชาวบ้านจากจุดยืนชนชั้นกลางของเขา และทุกกลุ่มหันมาพึ่งพาทุนจากรัฐเพื่อทำกิจกรรม เช่นจาก “สสส” เป็นต้น ต่อมาเอ็นจีโอ ไทยจำนวนมากก็เกิดความไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ เพราะนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจกรรมของเอ็นจีโอในการพัฒนาคนจน และรัฐบาลทักษิณชอบข่มขู่เอ็นจีโออีกด้วย เอ็นจีโอจึงกลัวว่าเขาจะไม่มีอนาคตในการทำกิจกรรม สภาพแบบนั้นทำให้เขาเปลี่ยนความคิดอีก คือหันไปดูถูกคนจนว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “โง่” เพราะไป “หลงเชื่อ” ทักษิณ ในขณะที่ข้อมูลในโลกจริงพิสูจน์ว่าคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยไม่เคยโง่ และไม่เคยขาดข้อมูลแต่อย่างใด ในที่สุดพวกนี้ก็กลายเป็นสลิ่ม

ในประการที่สี่ อดีตฝ่ายซ้ายบางคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นนักวิชาการหรือมีอาชีพแบบชนชั้นกลาง และหันหลังให้กับความฝันว่าจะเปลี่ยนสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น พวกนี้เริ่มสบายในการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ในที่สุดก็เริ่มมีทัศนคติที่ดูถูกคนจน และคิดว่าคนจนควรจะเจียมตัว จริงๆ แล้วเขาอาจมีทัศนคติแบบนี้มาตั้งแต่อยู่กับ พคท. ก็ได้ เพราะ พคท. เน้นการ “สอน” ชาวบ้านและนักศึกษาในลักษณะ “บนลงล่าง” และเมื่อใครเถียงด้วยก็จะด่าว่า “ไม่เข้าใจวิภาษวิธี” หรืออะไรแบบนั้น เพราะพรรคและ “กองทัพประชาชน” จะปลดแอกพลเมือง ไม่ใช่ว่าพลเมืองจะปลดแอกตนเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายซ้ายไทย หรืออดีตฝ่ายซ้ายไทย จำนวนมาก ก็ยังเป็นซ้าย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นขวา