Tag Archives: ฝ่ายซ้าย

ความจริงเรื่องการปราบปราม ๖ ตุลา และคำโกหกของไชยันต์ ไชยพร

ในเมื่อไชยันต์ไชยพร กล่าวหาเท็จว่านักศึกษาสมัย ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จงใจชุมนุมในธรรมศาสตร์เพื่อให้โดนปราบ (โดยที่เขาอ้างถึง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) และยังมีการโกหกอีกว่าขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันจงใจสร้างสถานการณ์ให้โดนปราบในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งไชยยันต์เสนอว่าทำไปเพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมือง และเพื่อป้ายร้ายสถาบันกษัตริย์ เราควรกลับมาดูว่าอาชญากรรมรัฐ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เกิดขึ้นอย่างไร

การปราบปรามในวันที่ ๖ ตุลา กระทำเพื่ออะไร?

นักวิชาการคนแรกที่เสนอคำตอบเรื่องนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีการอธิบายว่า “เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ” ใครมีเจตนาแบบนี้? ป๋วย อธิบายว่าเป็น “ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมือง ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยตนจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม”

ถึงแม้ว่าการปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการกระทำต่อขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก แต่เป้าหมายโดยรวมน่าจะเป็นการทำลาย “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยดังที่ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยในยุคนั้นเคยชูคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” และเบเนดิก แอนเดอร์สัน อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวา โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ต้องการคือการหยุดยั้งการประท้วงต่างๆ ของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ที่เขามองว่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทฤษฏีที่เสนอว่าพวกฝ่ายซ้ายทำเกินเหตุว่า “การปรับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น (เช่นการปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ) เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวาย แต่การกดดันให้นายจ้างหัวแข็งลงมาเจรจากับลูกจ้างทำได้อย่างไรถ้าไม่นัดหยุดงาน? การกดดันให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่มีกับบริษัทเหมืองแร่ทำได้อย่างไรถ้าไม่ประท้วง? … ถ้ามองย้อนกลับไป รู้สึกว่าพวกเราทุกคนในยุคนั้นสายตาสั้นเวลาบ่นเรื่องความวุ่นวายเหล่านี้” (คำพูดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัย Georgetown, Washington 15/2/1977)

นอกจากความต้องการที่จะทำลายฝ่ายซ้ายโดยตรงแล้ว John Girling มองว่าผู้นำกองทัพส่วนใหญ่คิดว่าไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามา ดังนั้นต้องลงมือปราบปรามพวกประชาธิปไตยด้วยทุกวิธีทาง ในทำนองเดียวกัน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เสน่ห์ จามริก มองว่าการปราบปรามครั้งนี้เป็นการหวังทำลายแนว “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ลงมือกระทำคือกลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” ที่ยังคุมอำนาจรัฐอยู่และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในช่วง ๕ ธันวาคมปี ๒๕๑๙ กษัตริย์ภูมิพลได้แสดงความพึงพอใจกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา และอ้างว่ารัฐประหารเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งตรงกับความเห็นของทหาร

กษัคริย์ภูมิพลเยี่ยมถนอมที่วัดบวรนิเวศน์

นักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีการถกเถียงกันถึงบทบาทของพระราชวังในเหตุการณ์นี้ นักวิชาการต่างประเทศส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจกรรมของพระราชวังมีส่วนเสริมให้เกิดวิกฤตกาลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การสนับสนุนขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรนิเวศน์ในปลายเดือนกันยายนอย่างเปิดเผยเป็นต้น

This image has an empty alt attribute; its file name is 9vsc.jpg
กษัตริย์ภูมิพลมีบทบาทในการช่วยตำรวจ ตชด สร้างขบวนการลูกเสือชาวบ้าน

วชิราลงกรณ์ให้กำลังใจลูกเสือชาวบ้านในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ลานพระรูปทรงม้า

ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกสังคมไทยและวิกฤตที่เกิดขึ้น เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งชนชั้น มีความต้องการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้าย เราจึงต้องสรุปว่า ๖ ตุลา เป็นการพยายามทำลายขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยโดยชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบัน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตามส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีมุมมองที่อาจแตกต่างกันไปเกี่ยวกับวิธีการที่ควรจะใช้ในการสกัดขบวนการฝ่ายซ้ายไทย ฉะนั้นเราไม่ควรมองว่ามีการวาง “แผนใหญ่” เพียงแผนเดียวโดยชนชั้นปกครองไทย เราควรเข้าใจว่าส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีการสร้างกลุ่มพลังฝ่ายขวามาคานนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และฝ่ายซ้าย และมีการฉวยโอกาสตามสถานการณ์

สรุปแล้ว ไชยันต์ ไชยพร ยกเมฆโกหกเรื่อง ๖ ตุลา และป้ายสีขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบัน และที่น่าเกลียดที่สุดคือการพูดแบบนั้นของ ไชยันต์ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เท็จเพื่อฟอกตัวเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เป็นอาชญากรรัฐ ซึ่งผลในรูปธรรมคือเชิดชูเผด็จการ และทำให้การสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยทำได้ยากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

“อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔) ISBN 9748858626  https://bit.ly/2dC7Fk2  และ  https://bit.ly/2cSml2g

วิเคราะห์ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นขบวนการที่ดูเหมือนระเบิดขึ้นอย่างกระทันหันจนสามารถท้าทายการปกครองของประธานาธิบดีมาครง

มีนักวิเคราหะบางคน รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจากยุค 1968 ที่มองว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเป็นขบวนการของชาวชนบทที่มี่นำโดยพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

แต่พวกที่มองแบบนี้เป็นคนที่มองอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ติดดิน และไม่ทันกับสถานการณ์โลกจริง เพราะขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองซับซ้อนกว่านั้นมากและกลายเป็นขบวนการทางชนชั้นที่เอียงไปทางซ้าย

ในตะวันตกพอมาครงชนะการเลือกตั้งในปี2017 พวกเสรีนิยมทั้งหลายพากันตื่นเต้นและเชียร์เขาสุดขีด หลายคนมองว่าเขาคือความหวังใหม่และจะปฏิรูปฝรั่งเศสและยุโรปให้ทันสมัย

macron-1

ในไทยตอนที่มาครงเข้ามาใหม่ๆ นสพ ไทยรัฐ เขียนชมไว้ว่า “หลายคนเห็นหน้าประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่แล้ว กรี๊ดกร๊าดในความหล่อ ทั้งยังฉลาด รู้สึกหลงรักอย่างบอกไม่ถูก” ส่วน MThaiNews ก็มีบทความ “เปิดประวัติ ‘มาครง’ ผู้นำหล่อคนใหม่แห่งเมืองน้ำหอม”

ยิ่งกว่านั้น ความ “หน้าใหม่หน้าหล่อ” ของมาครงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบเขากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP และ https://bit.ly/2S3MSto ] แต่ที่สำคัญคือธนาธรเองไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับมาครง

1920px-Manif_fonctionnaires_Paris_contre_les_ordonnances_Macron_(37572386626)

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของเขา โดยแนวร่วมสหภาพแรงงานเป็นแกนหลัก สาเหตุคือความพยายามของมาครงที่จะทำลายสิทธิแรงงานเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือการพยายามนำรัฐวิสาหกิจในภาคขนส่งออกขายให้เอกชน

นอกจากนี้ในไม่นานมาครงได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เพราะลดภาษีให้คนรวยทันที และใช้เงินรัฐเพื่อการเสพสุขของตนเอง เช่นซื้อของใช้ราคาแพงสำหรับบ้านพักประธานาธิบดี และเขายังผลักดันนโยบายรัดเข็มขัดที่ทุกรัฐบาลในอียูทำกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจนมาก

mka05lnsc5d123536

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเกิดขึ้นจากการประท้วงนโยบายของมาครงที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน โดยที่มาครงใช้ข้ออ้างเท็จว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในความจริงมันมีผลกระทบกับคนจนและคนชั้นกลางมากกว่า ในช่วงแรกพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน พยายามจะฉวยโอกาสด้วยการสนับสนุน แต่เมื่อขบวนการเริ่มชูประเด็นของชนชั้นกรรมาชีพ เช่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย เลอ แปน ก็ถอยออกไป ในไม่ช้าขบวนการนักศึกษาก็มาร่วมโดยนำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการเก็บค่าเล่าเรียนและการกีดกันนักศึกษาจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนและประกาศนัดหยุดงานด้วย แต่แกนนำสหภาพระดับชาติยังสองจิตสองใจอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศและเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนผิวดำก็ถูกชูขึ้นอีกด้วย และเวลาเกิดการทำลายทรัพย์สิน มักจะเป็นร้านค้าและรถยนต์ของเศรษฐีคนรวยที่ถูกเผา แต่ความรุนแรงส่วนใหญ่มากจากตำรวจของรัฐที่พยายามปราบผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

กลุ่มล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมคือกลุ่มคนพิการที่ไม่พอใจกับกฏหมายของรัฐบาลที่ลดมาตรฐานในการสร้างบ้านใหม่ นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานที่ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกลงในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแรงงานออกมาประสานการนัดหยุดงาน

yellow-vests-demonstration-in-paris

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ และเป็นพื้นที่สำหรับการช่วงชิงการนำโดยพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายขวารวมถึงฟาสซิสต์ด้วย ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายซ้ายสามารถชิงการนำได้ [ดูhttps://bit.ly/2cvlmCk ]

นอกจากนี้นักมาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าจะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคใดยุคหนึ่ง ต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์ คือดูว่าการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมีหน้าตาอย่างไร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ การต่อต้านมาครงระเบิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008 นำไปสู่นโยบายรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงในทุกประเทศของยุโรปและหลายประเทศของลาตินอเมริกา มันทำให้คนจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และความเดือดร้อนดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธแค้นที่สะสมในหัวใจคนจำนวนมาก มันแค่รอวันที่จะแสดงตัวเท่านั้น มันอธิบายได้ว่าทำไปประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียูซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตรุนแรงสำหรับชนชั้นปกครอง มันอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนใน บราซิล เยอรมัน อิตาลี่ ฯลฯ เบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก และมันอธิบายความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของ “ผู้ที่ถูกลืม” ในฝรั่งเศส

c318c5c05db8a043348e993cf24f8214_w982_h543
นักสหภาพแรงงานร่วมประท้วงกับเสื้อกั๊กเหลือง

ทุกวันนี้ชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรป เกรงกลัวว่าเสื้อกั๊กเหลืองจะลามจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศของตนเอง เหมือนกับคลื่นประท้วงอาหรับสปริงเมื่อไม่นานมานี้

ชัยชนะของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่จะล้มมาครงและเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงมวลชนกับพลังของชนชั้นกรรมาชีพและนักศึกษา แต่ถ้าผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามจะประนีประนอมมันก็จะไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีเสื้อกั๊กเหลืองแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและคนจนมีผลสำคัญในการผลักพวกฟาซิสต์ออกจากเวทีการเมืองของมวลชน และมันมีผลทำให้รัฐบาลมาครงหมดความชอบธรรม

ธนาธร เสนอนโยบายฝ่ายขวา ในขณะที่ ปิยบุตร พูดถึงพรรคฝ่ายซ้าย? ตกลงจะเอายังไง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมือง หมายความว่าเราสามารถดูออกและแยกแยะแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เราสามารถเข้าใจว่า “ฝ่ายซ้าย” เป็นฝ่ายที่อยู่เคียงข้างคนทำงานกับคนจน และ “ฝ่ายขวา” อยู่เคียงข้างคนจำนวนน้อยที่เป็นนายทุนกับคนรวย และมันหมายความว่าเราเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีกับแนวคิดที่มองว่ารัฐควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

organise-fish-solidarity-hi

การที่พลเมืองจำนวนมากในสังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเขาโง่แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะแนวคิดการเมืองกระแสหลัก ที่มาจากทหาร นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ พยายามปกปิดเรื่องนี้มานาน เพราะเน้นแต่ผลประโยชน์คนข้างบน หรือไม่สนใจเรื่องทฤษฏีการเมือง

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการสหภาพแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะท้าทายการผูกขาดของแนวคิดฝ่ายขวา จนพวกฝ่ายขวาสามารถอ้างว่าแนวคิดของเขาเป็น “ธรรมชาติ” และในโลกจริง “เราไม่มีทางเลือกอื่น” ความอ่อนแอนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทหารฝ่ายขวาเข้ามาปกครองบ้านเมืองและปราบปรามฝ่ายซ้ายในอดีตและปัจจุบัน แม้แต่ในรัฐธรรมนูญมีการระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมกลไกตลาด เหมือนกับว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น และประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกนโยบายอื่น

ในมหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยมีการสอนเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ค่อยมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสำรวจข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดเกี่ยวกับกลไกตลาดและรัฐ [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ] และไม่ค่อยจะมีการชวนให้นักศึกษาเรียนรู้การถกเถียงโต้แย้งในเรื่องต่างๆ เช่นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนขบวนการ เอ็นจีโอ มักจะภูมิใจที่จะไม่ศึกษาทฤษฏีทางการเมืองเลย พวกนี้และนักสหภาพแรงงานบางคน จะพูดว่าเขาเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ต้องสนใจทฤษฏีทางการเมือง

ผมเคยเอ่ยถึงรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส และสื่ออื่นๆ ที่เสนอว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น [ดูhttps://reut.rs/2ugDj39 และ https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

ในรายงานข่าวนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบ ธนาธร กับประธานาธิบดี แมครอน ของฝรั่งเศส(ภาพข้างใต้)

สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP ]

macron-1

การมองว่า ธนาธร เหมือน แมครอน อาจจริง เพราะทั้งสองคนเป็นนักการเมืองฝ่ายทุน ที่อ้าง  “ความหน้าใหม่” มาเป็นจุดขาย และทั้งสองมีจุดยืนในการปราบสหภาพแรงงาน ภาพข้างใต้เป็นภาพสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประท้วงแมครอนเมื่อไม่นานมานี้

29542044_411046555989397_9009463493784753527_n

ข้อแตกต่างอันหนึ่งระหว่างแมครอนกับธนาธรอาจเป็นเรื่องจุดยืนต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งดูเหมือนธนาธรก้าวหน้ากว่ามาก

เราคงต้องกลับไปทบทวนคำพูดของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่บอกว่าต้องการจะสร้างพรรคการเมืองใหม่ตามแบบพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน พรรคห้าดาวของอิตาลี่ และพรรค “La France Insoumise”(พรรค “ฝรั่งเศสไม่ก้มหน้าให้ใคร” ) ของ Jean-Luc Mélenchon [ดู https://bbc.in/2G38dRO ]

Jean-Luc_Mélenchon_-_avril_2012

ที่นี้มันดูเหมือนมีปัญหาหนัก เพราะพรรค La France Insoumise ของเมลองชอง (ภาพข้างบน) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย ที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส และสนับสนุนสหภาพแรงงาน ในขณะที่ประธานาธิบดี แมครอน เป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และพยายามเสนอนโยบายชาตินิยมจัด เพื่อพยายามดึงคะแนนมาจากพรรคฟาสซิสต์ สรุปแล้วทั้งสองอยู่คนละขั้วของการเมืองฝรั่งเศส ไม่มีพรรคไหนที่เป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันได้

ผมนึกภาพไม่ออกว่าเวลา ปิยบุตร คุยกับ ธนาธร ในเรื่องแบบนี้เขาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย หรือมองว่าเรื่องซ้ายกับขวาไม่ควรจะมีความสำคัญสำหรับพลเมืองไทย ผมไม่อยากคิดว่า ปิยบุตร ขาดความรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมเลยไม่เชือว่าแยกไม่ออกระหว่างซ้ายกับขวา

ผมไม่อยากคิดอีกว่า ปิยบุตร จงใจปกปิดความแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา เพื่อผลิตซ้ำการที่พลเมืองไทยไม่ค่อยมีโอกาสในการศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่จะให้ผมคิดอย่างไร?

ตกลงในยุคนี้ เมื่อเรามีโอกาสที่จะถกเถียงตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่กับเก่า เราจะเอาสมองไปไว้กะลา แล้วไม่สนใจนโยบายของพรรคต่างๆ ว่าเป็นซ้ายหรือขวา แต่จะแค่ตื่นเต้นกับคนหน้าใหม่เท่านั้นหรือ?

 

ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?” เป็นคำถามที่บางคนตั้งขึ้นมาในยุคนี้ แต่ก่อนที่จะขอตอบ ต้องอธิบายว่ามันเป็นเพียงบางคนเท่านั้น เพราะอดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากเคยเข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นฝ่ายขวา

“พวกขวา” ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนิยามว่าหมายถึงพวกที่โบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตย

ในประการแรก คนที่ตั้งคำถามแบบนี้มักจะตกอกตกใจด้วยความซื่อบื้อเมื่อเห็นคนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นมาร์คซิสต์หรือพุทธ คุณควรจะรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะ “ต้อง” เปลี่ยนเสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ในมุมกลับมีบางคนที่ซื่อบื้อคิดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นซ้าย พออายุมากขึ้นต้องเป็นขวา แต่ไม่พูดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นขวาจะต้องเป็นซ้ายเวลาอายุมากขึ้น!! สำหรับผู้เขียนคนนี้และเพื่อนมิตรสหายในไทยและต่างประเทศที่อายุพอๆ กัน คือย่างเข้าหกสิบกว่า ขอยืนยันว่าเป็นซ้ายมาตั้งแต่ ๖ ตุลา และทุกวันนี้ยังซ้ายอยู่ด้วยความภูมิใจ

มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง

คาร์ล มาร์คซ์ ในวัยหนุ่มเป็นแค่เสรีชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่พออายุมากขึ้นก็จะเอียงไปทางซ้ายมากขึ้นจนถึงวันตาย มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มต้นเป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในสหรัฐ แต่พออายุมากขึ้น ก่อนที่จะถูกยิงตาย เริ่มพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน และเริ่มพูดถึงจักรวรรดินิยม คือขยับไปทางซ้ายนั้นเอง

ในประการที่สอง อดีตฝ่ายซ้ายไทย หรือพวกที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทสไทย (พคท.) เป็นคนที่เคยคิดว่าลัทธิ “สตาลิน-เหมา” ของพคท. คือ “มาร์คซิสต์” หรือ”สังคมนิยม” แต่ลัทธิ “สตาลิน-เหมา” เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการปลดแอกมนุษย์ของนักมาร์คซิสต์ เพราะสำหรับชาวมาร์คซิสต์ การปลดแอกมนุษย์ต้องมาจากการกระทำของพลเมืองธรรมดาเองในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่ใช่ทำโดยคนกลุ่มน้อย แต่พคท. และพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก หลังจากที่สตาลินทำลายการปฏิวัติรัสเซียและขึ้นมามีอำนาจ กลายเป็นพรรคที่เป็นเผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ และทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพรรคเผด็จการเหล่านี้ปกครองประเทศจีน เวียดนาม และลาว

ดังนั้นการที่อดีตฝ่ายซ้ายไทยจะไม่เกลียดชังเผด็จการมากนัก หรือเชียร์เผด็จการทหาร ก็อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่เกินไปสำหรับบางคน

แต่เราต้องอธิบายเพิ่ม เพราะแค่นี้ไม่พอ

ในประการที่สาม อดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากมีอาการ “อกหัก” เมื่อ พคท. และระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ทั่วโลกล่มสลายเมื่อสามสิบปีก่อน ความผิดหวังนี้ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนทบทวนความคิด และเลือกเดินในเส้นทางใหม่ที่แตกต่างกันไป

บางคนไปปลื้มกับไทยรักไทยและทักษิณ เพราะมองว่านักการเมืองทุนนิยมที่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน และลงสมัครรับเลือกตั้ง คือทางออกที่ดีกว่าการจับอาวุธเข้าป่า

บางคนคิดจะหันหลังให้กับรัฐ ปฏิเสธการพึ่งพารัฐ หรือการโค่นรัฐ และพวกนี้ก็แปรตัวไปเป็นเอ็นจีโอ เมื่อเวลาผ่านไปก็กินเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนชั้นกลาง ภายในเอ็นจีโอก็ไม่มีประชาธิปไตย มีระบบอาวุโส ไม่ต่างจาก พคท. และไปๆ มาๆ พวกนี้เริ่มมีนิสัยแบบพี่เลี้ยง คือสอนชาวบ้านจากจุดยืนชนชั้นกลางของเขา และทุกกลุ่มหันมาพึ่งพาทุนจากรัฐเพื่อทำกิจกรรม เช่นจาก “สสส” เป็นต้น ต่อมาเอ็นจีโอ ไทยจำนวนมากก็เกิดความไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ เพราะนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจกรรมของเอ็นจีโอในการพัฒนาคนจน และรัฐบาลทักษิณชอบข่มขู่เอ็นจีโออีกด้วย เอ็นจีโอจึงกลัวว่าเขาจะไม่มีอนาคตในการทำกิจกรรม สภาพแบบนั้นทำให้เขาเปลี่ยนความคิดอีก คือหันไปดูถูกคนจนว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “โง่” เพราะไป “หลงเชื่อ” ทักษิณ ในขณะที่ข้อมูลในโลกจริงพิสูจน์ว่าคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยไม่เคยโง่ และไม่เคยขาดข้อมูลแต่อย่างใด ในที่สุดพวกนี้ก็กลายเป็นสลิ่ม

ในประการที่สี่ อดีตฝ่ายซ้ายบางคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นนักวิชาการหรือมีอาชีพแบบชนชั้นกลาง และหันหลังให้กับความฝันว่าจะเปลี่ยนสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น พวกนี้เริ่มสบายในการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ในที่สุดก็เริ่มมีทัศนคติที่ดูถูกคนจน และคิดว่าคนจนควรจะเจียมตัว จริงๆ แล้วเขาอาจมีทัศนคติแบบนี้มาตั้งแต่อยู่กับ พคท. ก็ได้ เพราะ พคท. เน้นการ “สอน” ชาวบ้านและนักศึกษาในลักษณะ “บนลงล่าง” และเมื่อใครเถียงด้วยก็จะด่าว่า “ไม่เข้าใจวิภาษวิธี” หรืออะไรแบบนั้น เพราะพรรคและ “กองทัพประชาชน” จะปลดแอกพลเมือง ไม่ใช่ว่าพลเมืองจะปลดแอกตนเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายซ้ายไทย หรืออดีตฝ่ายซ้ายไทย จำนวนมาก ก็ยังเป็นซ้าย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นขวา

ยุคต้านกระแสหลักทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั่วโลกในยุคนี้ หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 9 ปีก่อน และหลังจากที่พลเมืองจำนวนมากในประเทศต่างๆ ต้องประสบความเดือดร้อนมหาศาลจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลกระแสหลักที่คลั่งแนวเสรีนิยมกลไกตลาด จนมีการลดรายได้กันอย่างถ้วนหน้า ปลดคนออกจากงาน และตัดสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ ประชาชนใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และที่อื่น เริ่มแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งกับการเมืองกระแสหลักของทุนนิยม

ในสหรัฐมีการ “ถ่มน้ำลายทางความคิด”ใส่ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคพรรคเดโมแครท เพราะพลเมืองจำนวนมากมองว่าเขาคือตัวแทนโดยตรงของนายทุน 1% ที่คุมทรัพยากรทั้งหมดของประเทศและปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน สถานการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้นักการเมืองขวาจัดเลวทรามอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ จริงๆ แล้วต้องถือว่าทรัมพ์ไม่ได้ชนะ แต่ฮิลารี่เป็นผู้แพ้มากกว่า

ในอังกฤษ พลเมืองจำนวนมาก หันไปลงคะแนนเสียงในประชามติ เพื่อให้อังกฤษออกจากอียู โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กรรมาชีพยากจนเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัด มันเป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นการแทคะแนนให้ฝ่ายขวาเหมือนในสหรัฐ

ในอิตาลี่ ในประชามติเมื่อต้นเดือนธันวาคม ประชาชนลงคะแนนเสียงค้านรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการเมือง เรื่องหลักสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่รายละเอียดของสิ่งที่รัฐบาลเสนอ แต่เป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน และมันนำไปสู่การเพิ่มวิกฤตให้กับอียูอีก เพราะฝ่ายค้านที่อาจชนะการเลือกตั้งในอนาคต เกลียดชังอียู ในขณะเดี๋ยวกันมีวิกฤตหนี้เสียของธนาคารอิตาลี่ อนาคตของเงินสกุลยุโรจริงไม่แน่นอน

พวกเราที่เป็นมาร์คซิสต์ อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่าวิกฤตแห่งความศรัทธาในการเมืองกระแสหลัก จะมีผลในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวาก็ได้ แล้วแต่ว่าแต่ละฝ่ายมีการจัดตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์
นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์

ในสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมพ์ จากฝ่ายขวา ได้ประโยชน์จากการต้านการเมืองกระแสหลัก ในฟิลิปปินส์ นักการเมืองอันธพาลฝ่ายขวา โรดริโก ดูเตอร์เต ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน [ดู http://bit.ly/2hisH9g ] ในออสเตรียเกือบจะมีการเลือกนักการเมืองฟาสซิสต์มาเป็นประธานาธิบดีและในเนเธอร์แลนด์ กับฝรั่งเศส พรรคฟาสซิสต์ได้คะแนนนิยมสูงขึ้นตามลำดับ

หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส
หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส

ในขณะเดียวกันในกรีซ ฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งในขณะที่การเมืองสเปนเอียงซ้ายมานาน ส่วนในพรรคแรงงานอังกฤษนักการเมืองแนวสังคมนิยมชื่อ เจรมี คอร์บิน ถูกเลือกเป็นผู้นำ

คอร์บิน
คอร์บิน

ในบางประเทศ เช่นไอสแลนด์ พรรคแปลกๆ ที่มีภาพ “ใหม่” เช่นพรรคโจรสลัด หรือในอิตาลี่ พรรคห้าดาว ดูเหมือนจะมีคะแนนเพิ่มขึ้น แต่พรรคเหล่านี้ไม่ค่อยมีจุดยืนที่ชัดเจน

พรรคโจรสลัด
พรรคโจรสลัด

ปรากฏการณ์อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งในอังกฤษและสหรัฐ รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา เกิดความขัดแย้งชั่วคราวกับผลประโยชน์กลุ่มทุน เพราะนักการเมืองและพรรคของเขาต้องพยายามเอาใจประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือพลเมืองไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาด และไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลัก และด้วยเหตุที่นักการเมืองฝ่ายขวาต่างจากนายทุน ทั้งๆ ที่มีความคิดตรงกัน ในแง่ที่นักการเมืองต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ ในสหรัฐ จึงพยายามพูดเอาใจประชาชน ด้วยการเสนอนโยบายกีดกันการค้าเสรี นโยบายที่ดูเหมือนเริ่มหันหลังให้กับการรัดเข็มขัดของเสรีนิยมใหม่ หรือนโยบายเพื่อออกจากอียูในกรณีอังกฤษ(ซึ่งขัดกับประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่) มันนำไปสู่พฤติกรรม “หน้าไหว้หลังหลอก” ของนักการเมืองฝ่ายขวาเหล่านี้ เพราะลึกๆ แล้วทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ เป็นคนของกลุ่มทุนใหญ่

ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมพ์ อ้างว่าปกป้องกรรมาชีพที่ถูกละเลย มันกลับแต่งตั้งคนที่ต่อต้านระบบค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิสตรี และการแก้ปัญหาโลกร้อน เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และ ทรัมพ์ เองเป็นมหาเศรษฐีอยู่แล้ว

สิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายมากในยุคนี้คือ นักการเมืองฝ่ายขวาที่อยู่ในกระแสหลัก มักจะพยายามเอาใจคนที่ไม่พอใจกับระบบ ด้วยการปลุกกระแสเกลียดสีผิวและคนต่างชาติ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจและเปลี่ยนเป้าจากนายทุนไปเป็นแพะรับบาปที่เป็นคนมีสีผิว ปัญหาคือแนวคิดแบบนี้เพิ่มคะแนนนิยมให้ฟาสซิสต์ ที่น่าเสียดายคือนักการเมืองซ้ายอ่อนๆ ในพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มักจะหลงเชื่อว่าต้องคล้อยตามความคิดปฏิกิริยาอันนี้ เพื่อชนะการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จริงถ้าเขากล้าสู้

ยุคนี้เป็นยุคที่พิสูจน์ว่าฝ่ายซ้ายที่ “ใจไม่ถึง” เพราะไม่อยากพลิกแผ่นดินล้มระบบ มักจะถูกกดดันอย่างแรงให้ยอมจำนนต่อผลประโยชน์กลุ่มทุน รัฐบาลไซรีซาในกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี และต้นเหตุของการ “ใจไม่ถึง” ของนักการเมืองพวกนี้ นอกจากจะมาจากความคิดกระแสปฏิรูปที่หลีกเลี่ยงการปฏิวัติแล้ว ยังมาจากการที่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับพลังมวลชนนอกรัฐสภาในการต้านอิทธิพลของกลุ่มทุนด้วย

เราต้องใช้การเมืองฝ่ายซ้ายเพื่อลบผลพวงของเผด็จการและรัฐประหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การทำลายประชาธิปไตยในระยะยาวของพวกล้าหลังที่กำลังอ้างว่า “ปฏิรูปการเมือง” ภายใต้อำนาจมืดของเผด็จการทหาร เป็นการรุกสู้สองด้านคือ ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้การรุกสู้ทำลายประชาธิปไตยและความเท่าเทียมนี้ เริ่มมาตั้งแต่รัฐประหารรอบที่แล้วในปี ๒๕๔๙

ความไม่พอใจของพวกทหารและอภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยม มาจากแนวร่วมทางการเมืองที่ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยเคยสร้างกับพลเมืองส่วนใหญ่ แนวร่วมนี้สร้างบนพื้นฐานการเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างที่เป็นประโยชน์กับคนระดับล่าง เช่นนโยบายสาธารณะสุขถ้วนหน้า นโยบายสร้างงานในชนบท หรือนโยบายพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวนาด้วยการประกันราคาข้าวเป็นต้น และเมื่อประชาชนเห็นชอบกับนโยบายดังกล่าวก็มีการแห่กันไปเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ประชาธิปไตยแบบใหม่สำหรับไทย

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอดีตเคยชินกับระบบประชาธิปไตยรัฐสภาที่มีการเลือกตั้งบนพื้นฐานระบบอุปถัมภ์ โดยไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม และย่อมนำไปสู่รัฐบาลผสมจากหลายพรรคเสมอ การที่มีรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ซึ่งบ่อยครั้งขาดเสถียรภาพ เป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองระบบอุปถัมภ์ เพราะมันเป็นระบบที่ “ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีและแบ่งกันกิน” ไม่มีนักการเมืองคนใดที่มีอำนาจเหนือกลุ่มการเมืองอื่น และที่สำคัญคือมีช่องว่างที่เอื้อกับการใช้อำนาจและอิทธิพลนอกระบบของทหารและข้าราชการชั้นสูงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่เมื่อมีนักการเมืองคนไหนดูท่าทางจะใหญ่เกินไป ก็มีการโค่นล้มด้วยวิธีการต่างๆ เช่นในกรณี ชาติชาย ชุณหะวัณ

หลังจากชัยชนะของทักษิณและพรรคไทยรักไทย อภิสิทธิ์ชนอนุรักษ์นิยมเริ่มค่อยๆ กังวลและไม่พอใจที่พรรคของทักษิณผูกขาดอำนาจทางการเมืองประชาธิปไตย โดยครองใจประชาชนที่เลือกพรรคไทยรักไทยอย่างเสรีและด้วยจิตสำนึก พวกนายพลและข้าราชการชั้นสูงที่เคยชินกับอำนาจนอกระบบ เริ่มพบว่าอำนาจของตนเองลดลง นักการเมืองแบบเก่า เช่นในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถแข่งแนวกับพรรคของทักษิณได้ เพราะยึดติดกับการต่อต้านนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ซึ่งเห็นชัดหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นอกจากนี้ชนชั้นกลางที่เคยเสพสุขในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ก็เริ่มไม่พอใจมากขึ้นที่รัฐบาลทักษิณเน้นการใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาชีวิตของคนธรรมดา เพื่อดึงคนส่วนใหญ่เข้ามา “ร่วมพัฒนาประเทศ” และทำให้สังคมมีความทันสมัย

ท้ายสุดพวกนักวิชาการฝ่ายขวาที่คลั่งกลไกตลาดเสรีแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” โกรธแค้นกับการที่รัฐบาลทักษิณใช้นโยบายเศรษฐกิจผสมระหว่างตลาดเสรีกับการใช้งบประมาณรัฐในการสร้างงานและพัฒนาประเทศ พวกนี้ชื่นชมนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ปล่อยวาง” คือปล่อยให้กลุ่มทุนและคนรวยกอบโกย และปล่อยให่คนจนอดอยาก

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าทักษิณและไทยรักไทยมีวาระและผลประโยชน์ของตนเอง เขาไม่ใช่พวกสังคมนิยมที่ยึดผลประโยชน์คนทำงานเป็นหลัก ดังนั้นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและกำไรให้กลุ่มทุนใหญ่ ปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรบนพื้นฐานการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยและบริษัทใหญ่ และพร้อมจะใช้ความรุนแรงในการละเมิดสิทธิมนุษชนของประชาชนอีกด้วย กรณีปาตานีหรือสงครามยาเสพติดเป็นตัวอย่างที่ดี

ถ้าเราเข้าใจต้นเหตุความไม่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เราจะเข้าใจว่าตอนนี้พวกสัตว์เลื้อยคลานที่เข้าไปในสภาปฏิกูลกำลังทำอะไรกันอยู่ภายใต้คำโกหกว่าจะ “ปฏิรูป”

ในด้านการเมืองพวกล้าหลังเหล่านี้วางแผนจะลดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจของประชาชนที่จะเลือกแนวทางสำหรับตนเอง เขาเริ่มทำตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการปี ๒๕๕๐ แต่กำลังเร่งเครื่องทำให้เข้มข้นมากขึ้น วิธีการที่ใช้ในการหมุนนาฬิกากลับของพวกนี้ คือการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่กีดกันไม่ให้พรรคการเมืองไหนมีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาภายใต้คำโกหกเรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” ความหวังคือการกลับสู่ระบบ “ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีและแบ่งกันกิน” ที่มาจากการเมืองอุปถัมภ์  นอกจากนี้จะมีการเพิ่มอำนาจองค์กร “ไม่เคยอิสระ” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อกดทับเสียงประชาชนและนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา พูดง่ายๆ พวกอภิสิทธ์ชนและทหารต้องการมีอำนาจนอกระบบเหนือกลไกประชาธิปไตย เพราะเขามองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่ควรมีอำนาจอธิปไตย

ในด้านเศรษฐกิจ พวกคลั่งกลไกตลาดเสรีต้องการทำลายระบบสาธารณะสุขถ้วนหน้าด้วยการบังคบให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” จะมีการวางแผนกดค่าแรงและหาทางทำลายมาตรฐานการจ้างงาน จะมีการเสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากคนจนมากขึ้น และจะมีการสร้างภาพว่าปรับระบบภาษีให้มีความเป็นธรรม แต่ในรูปธรรมไม่แตะเศรษฐีใหญ่กับนายทุนเลย นอกจากนี้จะมีการหาทางพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคมในราคาถูก โดยพยายามไม่ใช้งบประมาณรัฐมากเกินไป เพราะงบประมาณรัฐควรแจกให้กองทัพและคนข้างบนแทน ตามความเชื่อของพวกคลั่งกลไกตลาดเหล่านี้ การเน้นภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศจะไม่นำไปสู่การบริการประชาชนที่มีคุณภาพ

จะเห็นว่าในการปลดแอกประเทศไทยจากเผด็จการอภิสิทธ์ชนนี้ เราต้องรณรงค์ทั้งประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจของคนชั้นล่าง ของกรรมาชีพผู้ทำงานและเกษตรกรรายย่อย เราต้องเพิ่มสิทธิทางการเมืองและที่ยืนสำหรับคนชั้นล่างหรือคนธรรมดา และเราต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยการดึงเศรษฐีและนายทุนลงมา ไม่ใช่แค่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบลอยๆ หรือหวังกลับไปสู่ยุคทักษิณ นี่คือความสำคัญของการเมือง “ฝ่ายซ้าย” หรือการเมือง “สังคมนิยม” นั้นเอง

การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ เป็นเรื่องดี แต่การด่า “ประชานิยม” เป็นแค่การสนับสนุน “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องดี เพราะควรจะมีการทบทวนบทบาท เอ็นจีโอ ในเรื่องการร่วมทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา และในเรื่องท่าทีต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงการปฏิรูปจอมปลอมอีกด้วย บ่อยครั้งในอดีต รุ่นพี่ เอ็นจีโอ มักจะปิดกั้นการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางการเมืองด้วยระบบอาวุโส และบ่อยครั้งการถกเถียงมักจะออกมาในรูปแบบความขัดแย้งส่วนตัว แทนที่จะเป็นเรื่องหลักการ

แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นจะไร้ประโยชน์ถ้าไม่ก้าวพ้นการสร้างภาพว่า เอ็นจีโอ ปฏิเสธทฤษฏีการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ในขณะที่รับทฤษฏีเสรีนิยมของนายทุนมาใช้โดยไม่มีการวิจารณ์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ควรมีการทบทวนท่าทีต่อชาวบ้านจำนวนมากที่เป็นคนเสื้อแดง แทนที่จะดูถูกประชาชนว่าเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ เพราะ “เข้าไม่ถึงข้อมูล”

นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนสร้างงาน การพักหนี้ชาวบ้าน บ้านเอื้ออาทร หรือโครงการจำนำข้าว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยนานแล้ว และคนที่ด่านโยบายดังกล่าวว่าเป็นเพียง “ประชานิยม” ที่เลวร้าย เป็นแค่คนที่ท่องสูตรแนวเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี หรือ “เสรีนิยมใหม่” ที่คัดค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาสภาพชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะเงียบเฉยต่อการใช้เงินรัฐมหาศาลในทางทหาร หรือพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธิ์ชน หรือสำหรับการลดภาษีให้คนรวยและกลุ่มทุน เพราะทฤษฏีกลไกตลาดเสรีเข้าข้างกลุ่มทุนและคนรวยเสมอ อีกด้านหนึ่งของแนวคิดแบบนี้คือการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจให้กับทุนเอกชน การเสนอให้กดค่าแรง การเสนอให้ตัดอำนาจสหภาพแรงงานด้วยกฏหมายหลายชนิด และการเสนอให้คนจนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือแม้แต่การทำลายรัฐสวัสดิการในยุโรป

ดังนั้นการที่แกนนำ เอ็นจีโอ อย่าง กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เขียนจดหมายถึงเพื่อน เอ็นจีโอ เพื่อวิจารณ์การร่วมมือในโครงการ “ปฏิรูป” ของทหารนั้น ถึงแม้ว่าการวิจารณ์ดังกล่าวถูกต้อง 100% แต่การพ่วงคำวิจารณ์นี้กับการด่า “ประชานิยม” ของรัฐบาลทักษิณ แสดงว่าคนอย่าง กิ่งกร ยังยึดถือแนวคิดของฝ่ายขวาที่ปูทางไปให้ความชอบธรรมกับการทำลายประชาธิปไตยโดยเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหารของทหาร

มันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ คุณกิ่งกร เอ่ยถึง “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเป็นคำศัพท์ไร้สาระของฝ่ายต้านประชาธิปไตย และเป็นการปูทางไปสู่ความคิดที่ถือว่าเผด็จการทหารไม่แย่ไปกว่า “เผด็จการรัฐสภา”

แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นแนวคิดที่ดูถูกวุฒิภาวะของพลเมืองธรรมดาที่ไปเลือกรัฐบาลทักษิณ และไม่ต่างจากการดูถูกนโยบายช่วยคนจน โดยการมองว่าคนจนเรียกร้องอะไรที่ทำให้ประเทศชาติ “เสียหาย” หรือการมองว่านโยบายดังกล่าวสร้างวัฒนธรรม “พึ่งพา” ในหมู่ชาวบ้าน

แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นข้ออ้างในการสร้างเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน เหนือคนส่วนใหญ่ และในประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยรัฐสภาทั่วโลก คนส่วนใหญ่มักยอมรับมติของคนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นการมีผู้แทนเสียงข้างมากในสภาของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ในขณะเดียวกับที่มีการเผยแพร่จดหมายของ คุณกิ่งกร องค์กร “กป อพช.” ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารหยุดคุกคาม เอ็นจีโอ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไม่ยอมเข้ากับกระบวนการ “ปฏิรูป” ของเผด็จการ ซึ่งก็ดีระดับหนึ่ง แต่แถลงการณ์นี้หมดความหมายเมื่อ กป อพช. ยังแสดงความหวังว่าทหารจะฟังเสียงประชาชนในกระบวนการปฏิรูปปลอมอันนี้ และทหารต้องการปรองดอง

เราโชคดีที่ กป อพช. ภาคอีสานออกมาเตือน กป อพช.ส่วนกลาง และล่าสุด วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ กป อพช. ก็ได้เขียนจดหมายลาออก เพราะไม่พอใจความไร้จุดยืนของ กป อพช. ในเรื่อง “ประชาธิปไตย” “ความเป็นธรรม” ” การมีส่วนร่วม”

คำถามคาใจเกี่ยวกับพฤติกรรม เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่คือ มันยากที่จะเข้าใจหรือ ว่าเผด็จการทหารมันเกี่ยวกับการทำลายประชาธิปไตย และตรงข้ามกับการฟังเสียงประชาชน? มันอยากที่จะเข้าใจแค่ไหน ว่าทหารไม่สนใจปรองดอง แต่ต้องการปราบปรามผู้ที่รักประชาธิปไตยและคิดต่างมากกว่า?

สำหรับแกนนำ เอ็นจีโอ หลายคน มันอาจยากที่จะเข้าใจหลายประเด็นทางการเมือง เพราะพวกนี้หันหลังให้กับการศึกษาทฤษฏีการเมืองตั้งแต่หลังป่าแตก ดังนั้นเขาจึงไปกอดแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบง่ายๆ โดยไม่รู้เรื่อง หรือไม่สนใจ ว่ามันเข้าข้างคนรวยและกลุ่มทุน และการที่พวกนี้ปฏิเสธ “การเมือง” กับการสร้างพรรคการเมืองของคนจนและกรรมาชีพ พร้อมกับปฏิเสธ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ทำให้เขาไร้พลังมวลชนที่จะเคลื่อนไหวได้ และในที่สุดก็ไปเข้ากับชนชั้นกลางสลิ่ม และหลายส่วนก็ไปเชียร์รัฐประหารอีกด้วย

แล้วเสรีภาพกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยยังใช้กฏหมาย 112 ในการปราบคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เมื่อไร เอ็นจีโอ จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอันนี้สักที?

ปัญหาที่แท้จริงของนโยบายรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือเป็นการช่วยคนจนในราคาถูก คือไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อนำเงินนั้นมาบริการประชาชนที่สร้างมูลค่าทั้งหมดในสังคมแต่แรก พร้อมกันนั้นไม่ยอมลดงบประมาณพิธีกรรมและทหาร และมีการปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการครอบวงจรอีกด้วย แต่การไปด่านโยบายดังกล่าว ด้วยแนวคิดและวาจาของฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสลิ่ม ไม่ใช่คำตอบ เราต้องสร้างสังคมที่ดีกว่าสังคมสมัยไทยรักไทย ไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคมืด

ถ้า เอ็นจีโอ ควรทบทวนตนเอง ฝ่ายเสื้อแดงก็ควรทบทวนตนเองด้วย เพราะการไม่สร้างพลังที่อิสระจาก นปช. และทักษิณ ในหมู่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ทำให้เราล้มเผด็จการและลบผลพวงทั้งหมดของการปฏิรูปจอมปลอมยากขึ้น

นี่คือสาเหตุที่กรรมาชีพคนทำงาน และเกษตรกรรายย่อย ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของตนเอง และต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวที่อิสระจากนายทุนหรือคนใหญ่คนโตอีกด้วย

พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ในสเปนรุ่งเรือง

โพล์ล่าสุดในสเปน รายงานว่าพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ “โพเดอร์มอส” ติดอันดับที่หนึ่งด้วยคะแนนนิยม 27.7%ในขณะที่พรรคสังคมนิยมกระแสหลักติดอันดับที่สองด้วยคะแนนนิยม 26.6%   ส่วนพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันได้คะแนนนิยมแค่ 20.7 %

“โพเดอร์มอส”แปลว่า “เราทำได้” ซึ่งเป็นชื่อที่เน้นการเปลี่ยนแปลงระบบท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

“โพเดอร์มอส”เป็นพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ที่พึ่งก่อตั้งเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว และก่อตัวจากการชุมนุมบนท้องถนนของประชาชนที่ต่อต้านแนวเสรีนิยมกลไกตลาด เช่นการการตัดสวัสดิการและการเพิ่มอัตราว่างงานของรัฐบาลฝ่ายขวา

“โพเดอร์มอส”เรียกร้องให้จำคุกนายทุนธนาคารที่มีส่วนในการก่อวิกฤต และเรียกร้องให้มีการยุติการไล่คนออกจากบ้านเพราะขาดรายได้ในการจ่ายค่าเช่า

นโยบายอื่นๆ ของ “โพเดอร์มอส”จะเน้นการสร้างมาตรฐานรายได้ให้กับคนจน และการเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยและกลุ่มทุน

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพรรค “โพเดอร์มอส”ได้ สส. ในสภาอียูของยุโรปสามคน และทั้งสามสัญญาว่าจะรับเงินเดือนไม่เกินสามเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ

แกนนำอธิบายว่าพรรค “โพเดอร์มอส”จะนำเสียงของมวลชนบนท้องถนนมาเป็นพลังในการท้าทายสถาบันทางการเมือง และมีการอธิบายว่าต้องรวมพลังในพรรค แทนที่จะอาศัยมวลชนกระจัดกระจาย วิธีการจัดตั้งของพรรคมีวิธีใหม่ๆ โดยเฉพาะการจัด “วงสมัชชามวลชน” ในเมืองและชุมชนต่างๆ เพื่อให้สมาชิกถกเถียงและแสดงความเห็นโดยตรง “วงสมัชชามวลชน” เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวรากหญ้าเอง

“โพเดอร์มอส” ก่อตัวขึ้นจากมวลชนคนหนุ่มสาวที่ยึดจัตุรัสตามเมืองต่างๆ ในสเปนในปี 2011 ตอนนั้นคนส่วนใหญ่มีอคติกับพรรคการเมือง เพราะมองว่า “พรรคการเมือง” เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ปกป้องอภิสิทธิ์ชนและระบบเก่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มมีการทบทวนแนวคิด เพราะคนจำนวนมากมองว่าการประท้วงของมวลชนยังไม่มีผลกระทบทางการเมืองเท่าที่ควร เลยมีการเสนอให้ตั้งพรรค

พับโล อิกเลเซีย นักจัดรายการโทรทัศน์ฝ่ายซ้ายเป็นผู้จุดประกายให้ตั้งพรรค และคาดว่าเขาจะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคในไม่ช้า ภายใน “พีดามอส” และ “วงสมัชชามวลชน” มีหลากหลายแนวคิดของฝ่ายซ้าย

พับโล อิกเลเซีย มีแนวคิดคล้ายๆ พรรค “ไซรีซา” ในกรีส ซึ่งมีแนวโน้มอยากจะปฏิรูปและประนีประนอม นอกจากนี้จะมีกลุ่ม “เอนลูชา” (“ต่อสู้”) ที่ต่อต้านทุนนิยมและเป็นแนวเดียวกับ “เลี้ยวซ้าย” และที่สำคัญคือมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนรู้วิธีต่อสู้ทางการเมืองเป็นครั้งแรก คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการแปรรูปโรงพยาบาลให้เป็นเอกชน และในการสนับสนุนนักสหภาพแรงงานครูระดับรากหญ้าที่นัดหยุดงานต้านการตัดงบประมาณการศึกษา

คะแนนนิยมในโพล์ ไม่เหมือนผลการเลือกตั้งจริง และเราต้องรอดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ปรากฏการณ์ของ “พีดามอส” เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่สำคัญคือมันสะท้อนความเสื่อมศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

ความเสื่อมศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก ไม่มีหลักประกันว่าจะนำไปสู่การสนับสนุนฝ่ายซ้ายโดยอัตโนมัติ มันสร้างกระแสฝ่ายซ้ายในสเปน ในสก็อตแลนด์ (ท่ามกลางประชามติที่พึ่งผ่านมา) ในไอร์แลนด์ และในกรีส แต่มันไปสร้างกระแสฝ่ายขวาเหยีดผิวหรือแนวฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส ในยุโรปตะวันออก และในอิงแลนด์

ในไทยการแช่แข็งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดย นปช. เพื่อไทย และทักษิณ และความกระจัดกระจายของเสื้อแดงอิสระ ทำให้กระแสการต่อสู้อ่อนแอ และหลายคนอาจหมดกำลังใจ

ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างขั้วฝ่ายซ้ายในยุคนี้

อนาคตการเมืองบราซิลหลังฟุตบอล์โลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลบราซิลเคยหวังว่าการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการจัดบอล์โลก จะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะถ้าทีมบราซิลชนะ และกระแสชาตินิยมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลพรรคกรรมกร (PT) และประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดงานแข่งบอล์โลก ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงค่าใช้จ่าย และประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณสุข จนประธานาธิบดี ดิลมา ต้องออกมาประกาศจัดประชามติเรื่องการปฏิรูประบบ และสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณการขนส่งและระบบสาธารณสุข และหลังจากความพ่ายแพ้ของทีมบราซิล ความไม่พอใจในรัฐบาลคงเพิ่มขึ้น

ถ้าเราจะเข้าใจกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในบราซิล เราต้องเข้าใจว่ามันมาจากสองขั้วทางการเมือง คือมาจากทางซ้ายและมาจากทางขวา

ฝ่ายขวาไม่พอใจรัฐบาลพรรคแรงงานมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของประธานาธิบดี “ลูลา” ในปี 2002 และฝ่ายขวามีอิทธิพลในสื่อมวลชน เพราะนายทุนสื่อมักจะต่อต้านรัฐบาล ในปัจจุบันพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลางบราซิล มักจะยกเรื่อง “การคอร์รับชั่น” มาจุดประกายการประท้วง ซึ่งการโกงกินในหมู่นักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่มันเป็นข้ออ้างง่ายๆ แบบนามธรรม ของฝ่ายขวาทั่วโลกเสมอ และมันไม่มีหลักประกันว่านักการเมืองฝ่ายค้านจะไม่โกงกิน

พรรคแรงงานบราซิลมีต้นกำเนิดในยุค 1970 สมัยที่ยังมีเผด็จการทหาร ในตอนต้นมีสมาชิก 8 แสน และเป็นแนวร่วมกับสภาแรงงาน CUT ที่มีสมาชิก 20 ล้าน ข้อเรียกร้องหลักตอนนั้นจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องปากท้อง โดยที่พรรคแรงงานถือว่าเป็นพรรคซ้ายก้าวหน้า

ขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดิน MST ก็เป็นแนวร่วมหลวมๆ แต่ 85% ของประชากรบราซิลอาศัยในเมือง ดังนั้นสหภาพแรงงานมีความสำคัญมากกว่าขบวนการเกษตรกร

หลังจากที่เผด็จทหารการหมดไปในช่วง 1980 พรรคแรงงานเริ่มเดินเข้ากรอบการเมืองกระแสหลัก และเสนอนโยบายแบบพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอ่อนๆ คือเลิกเป็นพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ในช่วง 1990 มีการยอมรับแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดตามกระแสทั่วโลก มีการโจมตีฝ่ายซ้ายภายในพรรค และเน้นเอาใจชนชั้นกลาง

ในปี 2002 “ลูลา” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหล็ก เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืด ไปเป็นการใส่สูท เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักการเมืองในกรอบ และลูลาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้การหาเสียงว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด

พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และในขณะที่เอาใจนายทุนใหญ่ และเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนมั่งมี ก็มีการกระจายรายได้ไปสู่คนจนบ้าง มีการจัดสวัสดิการและเพิ่มค่าแรงด้วย นอกจากนี้มีการขยายมหาวิทยาลัยให้ลูกคนจนเข้าเรียน แต่ในรูปธรรมรัฐบาลจัดงบประมาณไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพและคนจนต้องจ่ายค่าเรียนด้วย ในยุคนี้ฐานะของสตรีและคนผิวดำก็ดีขึ้นบ้าง

การกระตุ้นพลังซื้อของคนชั้นล่าง เป็นวิธีที่รัฐบาลจะเอาใจนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศ และเป็นการช่วยคนจนด้วยพร้อมๆ กัน

ในช่วงหลังๆ ฐานเสียงของพรรคมักจะเป็นคนจนกับคนหนุ่มสาว ส่วนคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร

หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 บราซิลได้ผลกระทบมากพอสมควร ความหวังของคนชั้นล่างที่จะเห็นการพัฒนาของชีวิตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจางหายไป และคนชั้นกลางก็ไม่พอใจอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญคือ ในเมื่อพรรคหรือองค์กรของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเล็กและอ่อนแอ ฝ่ายซ้ายไม่สามารถจะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานในลักษณะที่คนจำนวนมากจะเชื่อถือได้ ฝ่ายขวาและชนชั้นกลางจึงมีอิทธิพลในหมู่คนที่ไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายซ้ายจะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนายทุนเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ฝ่ายซ้ายจะต้องชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคแรงงาน จะต้องกล้าวิจารณ์พรรคแรงงาน และต้องขยันสร้างแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในสภาแรงงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานสำหรับคนส่วนใหญ่