Tag Archives: พคท.

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่รวมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ)

คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมา อธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922   โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ  สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆที่ ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเชียงไกเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท  หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว  กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?” เป็นคำถามที่บางคนตั้งขึ้นมาในยุคนี้ แต่ก่อนที่จะขอตอบ ต้องอธิบายว่ามันเป็นเพียงบางคนเท่านั้น เพราะอดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากเคยเข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นฝ่ายขวา

“พวกขวา” ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนิยามว่าหมายถึงพวกที่โบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตย

ในประการแรก คนที่ตั้งคำถามแบบนี้มักจะตกอกตกใจด้วยความซื่อบื้อเมื่อเห็นคนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นมาร์คซิสต์หรือพุทธ คุณควรจะรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะ “ต้อง” เปลี่ยนเสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ในมุมกลับมีบางคนที่ซื่อบื้อคิดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นซ้าย พออายุมากขึ้นต้องเป็นขวา แต่ไม่พูดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นขวาจะต้องเป็นซ้ายเวลาอายุมากขึ้น!! สำหรับผู้เขียนคนนี้และเพื่อนมิตรสหายในไทยและต่างประเทศที่อายุพอๆ กัน คือย่างเข้าหกสิบกว่า ขอยืนยันว่าเป็นซ้ายมาตั้งแต่ ๖ ตุลา และทุกวันนี้ยังซ้ายอยู่ด้วยความภูมิใจ

มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง

คาร์ล มาร์คซ์ ในวัยหนุ่มเป็นแค่เสรีชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่พออายุมากขึ้นก็จะเอียงไปทางซ้ายมากขึ้นจนถึงวันตาย มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มต้นเป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในสหรัฐ แต่พออายุมากขึ้น ก่อนที่จะถูกยิงตาย เริ่มพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน และเริ่มพูดถึงจักรวรรดินิยม คือขยับไปทางซ้ายนั้นเอง

ในประการที่สอง อดีตฝ่ายซ้ายไทย หรือพวกที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทสไทย (พคท.) เป็นคนที่เคยคิดว่าลัทธิ “สตาลิน-เหมา” ของพคท. คือ “มาร์คซิสต์” หรือ”สังคมนิยม” แต่ลัทธิ “สตาลิน-เหมา” เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการปลดแอกมนุษย์ของนักมาร์คซิสต์ เพราะสำหรับชาวมาร์คซิสต์ การปลดแอกมนุษย์ต้องมาจากการกระทำของพลเมืองธรรมดาเองในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่ใช่ทำโดยคนกลุ่มน้อย แต่พคท. และพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก หลังจากที่สตาลินทำลายการปฏิวัติรัสเซียและขึ้นมามีอำนาจ กลายเป็นพรรคที่เป็นเผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ และทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพรรคเผด็จการเหล่านี้ปกครองประเทศจีน เวียดนาม และลาว

ดังนั้นการที่อดีตฝ่ายซ้ายไทยจะไม่เกลียดชังเผด็จการมากนัก หรือเชียร์เผด็จการทหาร ก็อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่เกินไปสำหรับบางคน

แต่เราต้องอธิบายเพิ่ม เพราะแค่นี้ไม่พอ

ในประการที่สาม อดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากมีอาการ “อกหัก” เมื่อ พคท. และระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ทั่วโลกล่มสลายเมื่อสามสิบปีก่อน ความผิดหวังนี้ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนทบทวนความคิด และเลือกเดินในเส้นทางใหม่ที่แตกต่างกันไป

บางคนไปปลื้มกับไทยรักไทยและทักษิณ เพราะมองว่านักการเมืองทุนนิยมที่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน และลงสมัครรับเลือกตั้ง คือทางออกที่ดีกว่าการจับอาวุธเข้าป่า

บางคนคิดจะหันหลังให้กับรัฐ ปฏิเสธการพึ่งพารัฐ หรือการโค่นรัฐ และพวกนี้ก็แปรตัวไปเป็นเอ็นจีโอ เมื่อเวลาผ่านไปก็กินเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนชั้นกลาง ภายในเอ็นจีโอก็ไม่มีประชาธิปไตย มีระบบอาวุโส ไม่ต่างจาก พคท. และไปๆ มาๆ พวกนี้เริ่มมีนิสัยแบบพี่เลี้ยง คือสอนชาวบ้านจากจุดยืนชนชั้นกลางของเขา และทุกกลุ่มหันมาพึ่งพาทุนจากรัฐเพื่อทำกิจกรรม เช่นจาก “สสส” เป็นต้น ต่อมาเอ็นจีโอ ไทยจำนวนมากก็เกิดความไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ เพราะนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจกรรมของเอ็นจีโอในการพัฒนาคนจน และรัฐบาลทักษิณชอบข่มขู่เอ็นจีโออีกด้วย เอ็นจีโอจึงกลัวว่าเขาจะไม่มีอนาคตในการทำกิจกรรม สภาพแบบนั้นทำให้เขาเปลี่ยนความคิดอีก คือหันไปดูถูกคนจนว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “โง่” เพราะไป “หลงเชื่อ” ทักษิณ ในขณะที่ข้อมูลในโลกจริงพิสูจน์ว่าคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยไม่เคยโง่ และไม่เคยขาดข้อมูลแต่อย่างใด ในที่สุดพวกนี้ก็กลายเป็นสลิ่ม

ในประการที่สี่ อดีตฝ่ายซ้ายบางคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นนักวิชาการหรือมีอาชีพแบบชนชั้นกลาง และหันหลังให้กับความฝันว่าจะเปลี่ยนสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น พวกนี้เริ่มสบายในการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ในที่สุดก็เริ่มมีทัศนคติที่ดูถูกคนจน และคิดว่าคนจนควรจะเจียมตัว จริงๆ แล้วเขาอาจมีทัศนคติแบบนี้มาตั้งแต่อยู่กับ พคท. ก็ได้ เพราะ พคท. เน้นการ “สอน” ชาวบ้านและนักศึกษาในลักษณะ “บนลงล่าง” และเมื่อใครเถียงด้วยก็จะด่าว่า “ไม่เข้าใจวิภาษวิธี” หรืออะไรแบบนั้น เพราะพรรคและ “กองทัพประชาชน” จะปลดแอกพลเมือง ไม่ใช่ว่าพลเมืองจะปลดแอกตนเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายซ้ายไทย หรืออดีตฝ่ายซ้ายไทย จำนวนมาก ก็ยังเป็นซ้าย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นขวา

กลุ่มประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และ กลุ่ม สมาน ศรีงาม รับใช้ทหารมาตลอด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตามที่มีข่าวว่า “กลุ่ม สมาน ศรีงาม” มอบตัวกับตำรวจและสารภาพว่าถอนหมุดคณะราษฎร เรายังต้องรอดูว่ามันจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามมันสอดคล้องกับแนวการเมืองของพวกนี้ ลองมาดูกันว่าแนวการเมืองของเขามาจากไหน…

อาจารย์ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่เมื่อพรรคตัดสินใจจับอาวุธสู้กับเผด็จการ สฤษดิ์ ในช่วงที่ จิตร ภูมิศักดิ์ โดนยิงตาย ซึ่งเป็นการปรับยุทธวิธีการต่อสู้จากเดิมที่พรรคเคยทำแนวร่วมกับเผด็จการทหาร ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ไม่เห็นด้วย และแตกกับพรรค ต่อมา อ.ประเสริฐ ก็ทำงานร่วมกับเผด็จการทหาร และคัดค้าน พคท. ได้งบประมาณจากทหารด้วย ในการทำงานร่วมกับทหารนั้น อ. ประเสริฐ ได้ทำกลุ่มศึกษาและให้การศึกษากับทหารหลายคน เช่น ชวลิต ยงใจยุทธ

ในทางวาจา กลุ่ม “อาจารย์เสริฐ” จะพูดถึงความจำเป็นที่จะต้อง “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ในสังคมไทย จากความเป็น “ศักดินา” ซึ่งก็ยังเป็นแนวของ พคท.อยู่  เพียงแต่จะต่างกับ พคท. ตรงที่เสนอว่าควรปฏิวัติโดยทำแนวร่วมกับทหาร ซึ่งเป็นแนวเดิมของ พคท. แต่ในเวลานั้น พคท.หันไปเสนอให้จับอาวุธสู้กับศักดินากับทหาร เพื่อ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” โดยทำแนวร่วมกับ “นายทุนรักชาติ”

ในความเป็นจริงประเทศไทยเปลี่ยนจากศักดินาเป็นทุนนิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ดังนั้นข้อเสนอของทั้งสองกลุ่มให้ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมกับการทำแนวร่วมกับชนชั้นปกครอง ตามแนว สตาลิน-เหมา ทั่วไป ทั้งสองกลุ่มเพียงแต่อยากหาทางลัดสู่อำนาจ ผ่านการจับมือกับทหาร นายทุน หรือคนชั้นสูงอื่นๆ ที่มีอำนาจ แทนที่จะปลุกระดมให้ประชาชนลุกขึ้นสู้เพื่อโค่นทุนนิยมและชนชั้นปกครองทั้งหมด แต่ในด้านหนึ่ง พคท. ยังมีความก้าวหน้ากว่ากลุ่ม อ.เสริฐ เพราะอย่างน้อยก็พยายามจัดตั้งประชาชนให้ล้มเผด็จการทหารด้วยการจับอาวุธ

หลังจากที่ พคท. ล่มสลายเพราะการต่อสู้ไม่สำเร็จ ในช่วงรัฐบาลเปรม กลุ่ม อ.เสริฐ มีบทบาทต่อไป โดยสร้างความสับสนในหมู่นักเคลื่อนไหวสังคมนิยม นักศึกษา กรรมกร และนักสหภาพแรงงาน คือพูดเหมือนนักปฏิวัติฝ่ายซ้าย แต่ในรูปธรรมเสนอให้จับมือกับนายจ้าง คนชั้นสูง และจงรักภักดีต่อกษัตริย์ บางครั้งกลุ่ม อ.เสริฐ จะต่อต้านการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน

สมาน ศรีงาม เป็นลูกศิษย์ที่ดีของ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เขาเป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมสุดขั้ว เช่นการ “ทวงคืน” เขาพระวิหารเป็นต้น

สรุปแล้วแนวทางของกลุ่ม อ.เสริฐ วิวัฒนาการไปเป็นการปกป้องทหารและชนชั้นสูง โดยแฝงตัวเข้าไปในขบวนการต่างๆ ของนักต่อสู้ เพื่อพูดอะไรแรงๆ แต่พาคนไปสู่การสยบยอม

เมื่อเดือนกันยายนปี ๒๕๕๒ กรุงเทพฯธุรกิจออนไลน์เสนอว่า

“วันนี้ สานุศิษย์อาจารย์เสริฐได้นำเอาความรู้ที่ร่ำเรียนกันมายาวนาน มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างคึกคัก วันนี้ สานุศิษย์อาจารย์เสริฐกระจายตัวอยู่ทั้งในกลุ่มเสื้อแดง และเสื้อเหลือง….ธงนำความคิดของ อ. เสริฐ คือการปฏิวัติประชาธิปไตย ที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่กับฝ่ายความคิดก้าวหน้า…..อ.ชูพงศ์ (สานุศิษย์อาจารย์เสริฐ) จึงประกาศคำขวัญกลางสนามหลวงว่าให้ล้มอำมาตย์ (เผด็จการ) เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

ถ้าเราไม่สร้างพรรคฝ่ายซ้าย เราสร้างเสรีภาพในไทยไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ย่ำแย่ของสังคมไทยหลายอย่าง ชี้ให้เห็นว่าเราต้องสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม… ทำไมเป็นเช่นนั้น? ขอยกตัวอย่างสำคัญมาสามตัวอย่าง

ตัวอย่างที่หนึ่งคือ การที่ขบวนการเสื้อแดง ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา ไปพึ่งพาพรรคการเมืองของนายทุนอย่างทักษิณ โดยแกนนำของเสื้อแดง คือ นปช. ไปรับการนำทางการเมืองจากทักษิณและพรรคพวกในยุคเผด็จการประยุทธ์ ซึ่งส่งผลให้การต่อสู้ของเสื้อแดงยุติลงในวินาทีที่เราต้องการการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการมากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดถ้าเสื้อแดงมีความอิสระจากพรรคนายทุนและมีพรรคของคนชั้นล่างที่นำตนเอง

ตัวอย่างที่สองคือ การที่ผู้กล้าหาญ โดยเฉพาะนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ที่ออกมาต้านเผด็จการประยุทธ์ กระจัดกระจาย ไม่มีเครือข่ายหรือพรรคเพื่อประสานงาน ทำให้ความกล้าหาญนั้นมีผลน้อยกว่าที่ควร เพราะลุกขึ้นแสดงจุดยืนพร้อมกันไม่ได้ สมานฉันท์กันยาก และทำให้ผู้กล้าสู้กลัวถูกโดดเดี่ยว

ตัวอย่างที่สามคือ การที่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย กรรมาชีพคนทำงานที่จัดตั้งในสหภาพแรงงาน และเกษตรกรรายย่อย ขาดการศึกษาทางการเมืองของชนชั้นตนเอง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การที่ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาของแนวคิดเศรษฐศาสตร์กลไกตลาดเสรี และความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม ที่ฝ่ายนักวิชาการอำมาตย์เสนออย่างต่อเนื่อง การขาดการศึกษาทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์สภาพการเหยียดเชื้อชาติภายในสังคมอย่างแหลมคมได้ โดยเอียงไปทางแนวคิดรักชาติมากกว่า และที่สำคัญมากๆ คือ การขาดการศึกษาทางการเมืองแบบสังคมนิยม ทำให้นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพผู้ทำงานในการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงแสวงหาแนวทางอื่นที่ไร้พลังแทน เช่นการต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์ การเน้นอินเตอร์เน็ดหรือโซเชียลมีเดีย การพึ่งผู้มีอำนาจ หรือการเพ้อฝันเรื่องการจับอาวุธ

การที่เราไม่มีพรรคฝ่ายซ้ายในไทย ทำให้เราไม่สามารถช่วงชิงการนำทางความคิดในมวลชนเสื้อแดงหรือคนที่รักประชาธิปไตยได้ และนั้นคือสาเหตุที่แนวคิดทักษิณกับ นปช. ผูกขาดในขบวนการได้

ปัญหาการขาดพรรคฝ่ายซ้าย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของไทย ในยุโรปตะวันตกทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรัง การที่พรรคการเมืองกระแสหลักทุกพรรค รวมถึงพรรคแรงงานและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มีนโยบายเหมือนกันหมด คือตัดสวัสดิการ และกดหัวคนจนและผู้ทำงาน โดยที่สหภาพแรงงานสับสนไม่กล้าออกมาสู้ในระดับที่ควร ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหมดความหวัง อีกส่วนหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฟาสซิสต์หรือพรรคที่เหยียดเชื้อชาติ และหลายคนมองว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากการยอมรับกลไกตลาดเสรีที่เอื้อประโยชน์มหาศาลให้นายทุน

แต่ในบางประเทศ เช่นกรีส หรือสเปน เราเริ่มเห็นความหวังระดับหนึ่งจากการสร้างพรรค “ไซรีซา” กับพรรค “โพเดมอส” ที่เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่คัดค้านการตัดสวัสดิการและการกดสภาพการจ้างงาน แม้แต่ในสก๊อตแลนด์มีความหวังชั่วคราวว่าประชามติเรื่องเอกราช อาจเป็นโอกาสในการต้านนโยบายกลไกตลาดของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษ

ในไทยเราควรศึกษาประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างละเอียด เพราะการมีพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง พคท. ทำให้การต่อสู้ของคนชั้นล่างกับเผด็จการทหารในยุคนั้นเข้มแข็งกว่าในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่แนวทางการจับอาวุธ และลักษณะเผด็จการภายในพรรคเป็นข้อบกพร่องมหาศาล

พคท. มีแนวทางการเมืองที่ชัดเจน และมีความกระตือรือร้นที่จะขยายการศึกษาการเมืองไปสู่สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคอย่างเป็นระบบ แนวทางการเมืองของ พคท. เป็นแนว “สตาลิน-เหมา” ที่สู้เพื่อปลดแอกสังคมจากจักรวรรดินิยมและสู้เพื่อขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยม ซึ่งแนวแบบนี้มีจุดอ่อน เพราะจักรวรรดินิยมอเมริกาไม่ใช่ศัตรูหลักของพลเมืองไทย ชนชั้นปกครองไทยต่างหากที่เป็นศัตรูหลัก ในเวียดนามจักรสรรดินิยมอเมริกาที่ก่อสงครามเป็นศัตรูโหดร้ายจริง แต่ในไทยไม่ใช่ นอกจากนี้การที่ พคท. เสนอให้กรรมาชีพและเกษตรกร รอและ “เสียสละ” เพื่อการทำแนวร่วมกับนายทุนก็เป็นปัญหา แต่อย่างน้อยพรรคคอมมิวนิสต์ต่อต้านอำมาตย์อย่างเป็นระบบ พยายามวิเคราะห์สังคมไทยและสังคมโลกจากจุดยืนคนชั้นล่าง และทำกิจกรรมการศึกษาและการสร้างพรรคอย่างต่อเนื่องแบบมืออาชีพ พคท. จึงกลายเป็นพรรคมวลชนของคนชั้นล่างที่ใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยมี นอกจากนี้มีการจัดตั้งกรรมาชีพในเมืองและเกษตรกรในชนบท

ถ้าเราเปรียบเทียบสิ่งที่ พคท. เคยทำ กับการศึกษาการเมืองของ นปช. มันนคนละโลกกันเลย นปช. เอาแนวการเมืองของคนชั้นบนแบบเสรีนิยม มาเสนอกับเสื้อแดง ซึ่งไม่ท้าทายชนชั้นปกครองไทยเลย และที่แย่กว่านั้นคือ คนเสื้อแดงและนักเคลื่อนไหวจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาแนวการเมืองเลย ซึ่งเป็นมรดกเลวร้ายจากการล่มสลายของ พคท. และการหันหลังให้กับแนวคิดฝ่ายซ้ายในสังคมไทยตอนนั้น

ทุกวันนี้ในระดับโลก มีการถกเถียงกันในหมู่คนที่ต้องการสร้างพรรคฝ่ายซ้าย ว่าเราควรหรือไม่ควร ที่จะสร้างพรรคที่รวบรวมคนที่เป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม กับคนที่เป็นฝ่ายซ้ายประเภท “ปฏิรูป” คือยอมรับทุนนิยม แต่หวังจะทำให้ดีขึ้นน่ารักขึ้น

ทั้งๆ ที่ทุกคนมีจุดยืนร่วมกันว่าฝ่ายซ้ายสองประเภทนี้ต้องร่วมมือกัน และบางครั้งควรสร้างเครือข่ายแนวร่วมเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่นักมาร์คซิสต์มองว่าเราควรสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่รักษาความอิสระของพรรค ในขณะที่ทำงานแนวร่วมกับคนที่ยังไม่พร้อมจะเป็นมาร์คซิสต์ ทั้งนี้เพราะแนวโน้มในรูปธรรมจากยุโรปคือ ในกรีส พรรคไซรีซา ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นพรรคปฏิวัติหรือพรรคปฏิรูป เน้นการชนะการเลือกตั้งมากกว่าการปลุกระดมพลังกรรมาชีพกับมวลชน และในการเน้นการเลือกตั้ง มีการพยายามพิสูจน์ความ “รับผิดชอบ” ของพรรคต่อการรักษาระบบทุนนิยม ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การยอมรับนโยบายการตัดสวัสดิการและกดค่าแรง ทั้งๆ ที่อาจไม่โหดเท่าพรรคฝ่ายขวา และที่สำคัญคือการชนะเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจะไม่นำไปสู่การ “คุมอำนาจรัฐ” แต่อย่างใด เพราะอำนาจรัฐอยู่ในมือชนชั้นนายทุนที่ใช้อำนาจนอกระบบ

ในไทยเรายังไม่เริ่มการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายเลย แต่เราต้องพัฒนาการศึกษาทางการเมืองของเราเสมอ และไม่ใช่แค่เรื่องไทยๆ ด้วย การจัดกลุ่มศึกษาในหมู่กรรมาชีพสหภาพแรงงานที่เน้นแต่เรื่องปากท้องทุกๆ ปี ก็จะไม่นำไปสู่การพัฒนาความคิดทางการเมืองหรือการสร้างพรรคด้วย และที่สำคัญคือเราต้องขยายการจัดตั้ง คือขยายผู้ปฏิบัติการของ “หน่ออ่อนพรรค” แบบมืออาชีพ ถ้าเราจัดกลุ่มศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่คนที่มาร่วมเป็นหน้าเดิมๆ ตลอดไป เราคงต้องยอมรับว่ามีงานจัดตั้งที่เราต้องทำอีกมาก

จาก ๖ ตุลา ถึงเผด็จการยุคนี้

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราเปรียบเทียบเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ กับ วิกฤตประชาธิปไตยภายใต้เผด็จการทหารยุคนี้ เราจะเห็นชัดว่า “เรื่องประชาธิปไตย” กับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้

การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายที่ธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๑๙ เป็นผลพวงของการลุกฮือล้มเผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา สามปีก่อนหน้านั้น และรากฐานการลุกฮือของนักศึกษา กรรมาชีพ และเกษตรกรสมัยนั้น มาจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจการเมืองกับฐานะทางเศรษฐกิจ และสภาพสังคมที่ถูกแช่แข็งไว้ภายใต้เผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส คือไม่มีการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย ไม่มีการปรับค่าจ้าง ไม่มีการพัฒนาสภาพการจ้างงาน และไม่มีการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชนบท ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ขยายตัว แต่ในขณะเดียวกันมีคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัว และไม่ยอมรับสภาพเช่นนี้อีกต่อไป มีคลื่นการนัดหยุดงานของกรรมาชีพเกิดขึ้น นักศึกษาตื่นตัวมากขึ้น และเกษตรกรเริ่มออกมาประท้วง  นั้นคือสาเหตุที่มวลชนเหล่านี้ชื่นชมแนวสังคมนิยมในหลากหลายรูปแบบ เพราะสังคมนิยมคือแนวคิดที่ต้องการล้มเผด็จการขุนศึกและนายทุน และแก้ไขปัหญาความเหลื่อมล้ำพร้อมๆ กัน

ที่สำคัญคือมีการจัดตั้งคนชั้นล่างในรูปแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมและยึดอำนาจรัฐ นี่คือสิ่งที่ชนชั้นปกครองไทยรับไม่ได้ และเป็นสาเหตุที่เขาเข่นฆ่าประชาชนและก่อรัฐประหาร

วิกฤตปัจจุบันมีจุดร่วมตรงที่ ข้อเสนอของทักษิณและพรรคไทยรักไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาสังคมให้ทันสมัย พร้อมกับมีการดึงประชาชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนา และประชาชนก็อาศัยระบบการเลือกตั้งเพื่อแสดงความชื่นชมกับนโยบายรูปธรรมของไทยรักไทย การที่ไทยรักไทยครองใจประชาชนผ่านนโยบาย มีผลทำให้ชนชั้นปกครองไทยซีกอนุรักษ์นิยม รับไม่ได้กับประชาธิปไตยและการพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อม เขาหวงสภาพเดิมที่เขาเป็นอภิสิทธิ์ชน

แต่ไทยรักไทยไม่ใช่พรรคฝ่ายซ้ายและไม่ใช่พรรคของคนชั้นล่างแบบ พคท. นี่คือความแตกต่างที่สำคัญ ในยุคไทยรักไทยคนรุ่นตุลาหมดความศรัทธาในแนวสังคมนิยมและพคท.ไปนานแล้ว เพราะ พคท.เป็นฝ่ายแพ้ และมีจุดอ่อนเพราะมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ การใช้แนวจับอาวุธแทนการจัดตั้งกรรมาชีพในเมือง ก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญอีกอันหนึ่ง แต่พวกคนเดือนตุลาที่หมดศรัทธา ทิ้งจุดเด่นสำคัญของ พคท. ไป คือความสำคัญในการจัดตั้งมวลชนทางการเมือง ให้เป็นพรรคการเมืองของคนชั้นล่าง หลายคนก็เลยไปหลงรักทักษิณและพรรคนายทุนของเขาแทน แต่ที่แย่กว่านั้นก็คืออดีตคนเดือนตุลาที่กลายเป็นสลิ่มและรับใช้ทหารทุกวันนี้

คนรุ่นตุลาที่หมดความศรัทธาในแนวสังคมนิยม ไม่เคยเข้าใจสังคมนิยมแบบ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เขารับมาแต่แนวเผด็จการชาตินิยมของสตาลินกับเหมา เกือบทุกคนจึงก้มหัวให้นายทุนและระบบทุนนิยม ทั้งๆ ที่มันเป็นระบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล มันเป็นเรื่องตลกที่คนอย่างทักษิณเข้าใจทุนนิยมมากกว่าอดีต พคท. เกือบทุกคน และทักษิณพร้อมจะใช้ทุนนิยมแบบที่ใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาชีวิตคนจน แทนทุนนิยมตลาดเสรี 100% แต่ทักษิณก็ไปไม่ไกล เพราะต่อต้านระบบรัฐสวัสดิการ

ถ้าเราพูดถึงความรุนแรงของชนชั้นปกครองไทย ความโหดร้ายทารุณของตำรวจ ตชด. ในวันที่ ๖ ตุลาที่ธรรมศาสตร์ และของทหารภายใต้ประยุทธ์ที่ราชประสงค์ ก็พอๆ กัน คือใช้อาวุธสงครามฆ่าประชาชนมือเปล่า เป้าหมายคือการทำลายขบวนการประชาชน

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อเราเปรียบเทียบ ๖ ตุลา กับตอนนี้คือ บทบาทของชนชั้นกลาง เพราะที่สนามหลวงในวันที่ ๖ ตุลา มีม็อบอันธพาลชนชั้นกลางฉลองการเข่นฆ่านักศึกษาอย่างป่าเถื่อนที่สุด ม็อบดังกล่าวมีสองกลุ่มหลักคือ ลูกเสือชาวบ้าน กับพวกนวพล นอกจากนี้มีม็อบคนตกงานหรือนักศึกษาอาชีวะ ที่เป็นกระทิงแดง

และเราก็ทราบดีว่าในวิกฤตปัจจุบัน พวกพันธมิตรปิดสนามบิน และพวกสลิ่มประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้ง ก็เป็นคนชั้นกลาง

สรุปแล้วคนชั้นกลางไม่ใช่พลังก้าวหน้า และไม่ใช่ที่พึ่งของนักประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ผลพวงของ ๖ ตุลา และการเอาชนะ พคท. ทำให้ไทยมีประชาธิปไตยครึ่งใบที่เน้นระบบอุปถัมภ์ แทนนโยบายทางการเมือง สถานการณ์นี้เริ่มถูกแก้ไขเมื่อมีการรณรงค์ให้ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และการเสนอนโยบายของไทยรักไทย หลังวิกฤตเศรษฐกิจ และหลังการล้มเผด็จการในปี ๒๕๓๕ แต่ในไม่ช้าสังคมไทยก็ถูกหมุนกลับไปสู่ยุคมืดอีก

สาเหตุสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยในยุคนี้อ่อนแอเกินไป คือคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” ในขบวนการเอ็นจีโอ ซึ่งหลายคนเป็นอดีตคนเดือนตุลา หันหลังให้กับการจัดตั้งทางการเมือง หันหลังให้กับความคิดทางการเมืองภาพกว้าง ปฏิเสธทฤษฏี ปฏิเสธการยึดอำนาจรัฐ และหันไปตั้งความหวังกับทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ในที่สุดก็ถูกลากไปกับกระแสสลิ่ม

นอกจากนี้คนเสื้อแดง ที่เป็นนักประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ก็ “ลืม” บทเรียนในการจัดตั้งพรรคของ พคท. และไม่ได้ศึกษาแนวชนชั้น หรือแนวสังคมนิยม จึงอ่อนแอในการนำตนเองอย่างอิสระจาก ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทย

ด้วยเหตุนี้เราไม่ควรแปลกใจที่ปีนี้ พวกปฏิกิริยาที่บริหารธรรมศาสตร์ และพวกทหารมือเปื้อนเลือดที่ปกครองประเทศ ต้องการห้ามไม่ให้เราจัดงาน ๖ ตุลา

เขาต้องการฝังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

การทำงาน “แนวร่วม” ในยุคเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่สมัย พคท. ถึง นปช. นักเคลื่อนไหวไทยจำนวนมากไม่เข้าใจธาตุแท้ของการทำงาน “แนวร่วม” เพราะแนวร่วมกับองค์กร ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

องค์กรต้องมีการจัดตั้งที่เป็นระบบ ต้องมีชุดความคิดที่เหมือนกัน และต้องมีแกนนำที่คอยเสนอแนวทางในการนำ มันมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร

“แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. มีแกนนำที่กำหนดนโยบายและแนวทางต่อสู้ในหลายมิติ และมีการกีดกันคนที่คิดต่างออกไป เช่นคนที่ต้องการยกเลิก 112 หรือคนที่ปฏิเสธการนำของทักษิณ ดังนั้น จริงๆ แล้ว นปช. เป็น องค์กรมากกว่าแนวร่วม หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่ได้อีกด้วย แต่มันไม่ใช่ “แนวร่วม”

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) เคยสร้างสิ่งที่พรรคเรียกว่า “แนวร่วม” แต่ก็ไม่ใช่แนวร่วมอีก เพราะเป็นวิธีจัดตั้งมวลชนตามแนวของ พคท. ในขณะที่มวลชนดังกล่าวไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค จริงๆ แล้วการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคเป็นเรื่องยากมาก ต้องผ่านหลายขั้นตอน ดังนั้น “แนวร่วม” ที่ พคท.พูดถึงคือ “ผู้ตาม” นั้นเอง ไม่ใช่แนวร่วมจริง

ในอดีต บางครั้ง พคท. จะสร้างแนวร่วมกับนายทุนคนที่พรรคมองว่า “รักชาติ” และในการสร้างแนวร่วมนี้ พคท. ก็จะไม่พูดถึงการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมเลย คือเอาจุดยืนนายทุนมาเป็นจุดยืนของตนเอง นั้นก็ไม่ใช่การสร้างแนวร่วม

ทุกวันนี้เวลาคนที่รักประชาธิปไตยคนไหนวิจารณ์ทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์ หรือ นปช. ก็จะมีคนเสื้อแดงสาย นปช. เตือนว่าเราต้องรู้จักสามัคคี แต่ความหมายของเขาแปลว่าให้หยุดวิจารณ์ คือสามัคคีภายใต้แนวของ นปช. เพื่อไทย หรือทักษิณเท่านั้น คนที่มีมุมมองแบบนี้สร้างแนวร่วมไม่ได้

ทำไมเราต้องสร้างแนวร่วมในขณะนี้?

ถ้าเราจะล้มเผด็จการ และยกเลิกผลพวงทั้งหมดของรัฐประหารสองรอบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฏหมาย หรือองค์กรปฏิกูลที่ทหารผลักดันเข้ามา เราต้องสร้างอะไรที่มีมวลชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมาก แต่มวลชนผู้รักประชาธิปไตยไม่ได้มีมุมมองทางการเมืองที่เหมือนกัน บางคนยังรักทักษิณ บางคนกึ่งรักทักษิณแต่ยังเชื่อมั่นใน นปช. บางคนหมดศรัทธาใน นปช. แต่อาจรักทักษิณ บางคนไม่เอาทั้งทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เพื่อไทยหรือ นปช. บางคนต้องการยกเลิก 112 บางคนมองว่าควรรอไปก่อน บางคนต้องการเปลี่ยนสังคมไทยแบบถอนรากถอนโคน บางคนต้องการแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาอย่างที่เราเคยมีสมัยที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล เราจะทำอย่างไรเพื่อสามัคคีคนที่มีแนวคิดที่หลากหลายแบบนี้?

มีวิธีเดียว นั้นคือสร้าง “แนวร่วม” ภายใต้จุดยืนที่พื้นฐานที่สุด คือจุดยืนต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์ ในการสร้างแนวร่วมไม่ควรจะมีจุดยืนในหลายๆประเด็น ประเด็นเดียวจะดีที่สุด เพราะคนที่มีความคิดหลากหลายอย่างที่เอ่ยไปแล้ว สามารถสามัคคีกันบนพื้นฐานการต้านเผด็จการประยุทธ์ได้ เรื่องอื่นก็ให้แต่ละคน แต่ละกลุ่มคิดและเสนออย่างเสรี พูดง่ายๆ นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจะใส่หมวกสองใบเสมอ คือหมวกของแนวร่วม และหมวกขององค์กรหรือจุดยืนตนเอง และเราจะไม่ปกปิดเรื่องนี้ ต้องเคารพซึ่งกันและกัน แนวร่วมแบบนี้จะมีพลัง

การให้แต่ละกลุ่มแต่ละคนในแนวร่วม มีเสรีภาพที่จะมองต่างมุมในเรื่องอื่นๆ นอกจากประเด็นหลักคือการต้านเผด็จการประยุทธ์ เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างแนวร่วมที่ครอบคลุมนักประชาธิปไตยทุกคน

การสร้างแนวร่วมต้องไม่กีดกันใคร ไม่ว่าเราจะไม่ชอบเขาเป็นส่วนตัว หรือไม่เห็นด้วยกับแนวเขาแค่ไหน เราต้องข้ามพ้นความคิดทารกแบบนั้น และไม่ควรมีกลุ่มคนกลุ่มใด ที่พยายามกดดันบังคับให้ทุกคนต้องคิดตามในเรื่องอื่นๆ

แน่นอน มันยังคงมีโอกาสที่จะขัดแย้งกันทางแนวคิดหรือแนวปฏิบัติเคลื่อนไหว ซึ่งเรื่องแบบนั้นต้องตัดสินกันในที่ประชุมผ่านการลงมติและการเคารพมติเสียงส่วนใหญ่

ประเด็นสำคัญคือ พวกเราพร้อมจะทำงานแนวร่วมเพื่อล้มเผด็จการหรือไม่?

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องอาศัยการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ

ใจ อึ๊งภากรณ์ องค์กรเลี้ยวซ้าย

คณะทหารเผด็จการต้องการสร้างความกลัว เพราะความกลัวนำไปสู่อัมพาต อัมพาตในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และอัมพาตในการเคลื่อนไหว

แต่เรายอมเป็นอัมพาตไม่ได้!! เราจะต้องก้าวพ้นความกลัว

การก้าวพ้นความกลัวไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำอะไรโง่ๆ และไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความกลัวอยู่ในใจ แต่เราต้องหาทางบริหารความกลัวที่มีอยู่โดยปกติ เพื่อไม่ให้เราอัมพาต และเพื่อไม่ให้เราต้องยอมแพ้ เพราะถ้าเรายอมแพ้ สังคมไทยจะถอยหลังสู่ยุคมืด การเสียสละของวีรชนประชาธิปไตยตั้งแต่ ๒๔๗๕ ถึงปัจจุบันก็จะเปล่าประโยชน์ และลูกหลานคนรุ่นต่อไป จะต้องเติบโตภายใต้ระบบทาสทางความคิด

สถานการณ์ปัจจุบันหมายความว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรทำเด็ดขาด คือนั่งอยู่บ้านคนเดียวหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอโทรทัศน์ มันจะนำไปสู่ความหดหู่และความกลัว เราต้องออกจากบ้านทุกวันเพื่อไปนัดคุยกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในวงเล็กๆ เงียบๆ ดื่มกาแฟ และคุยอย่างเป็นระบบ คือคุยกับคนเดิมทุกวันอย่างต่อเนื่อง คุยเพื่อแลกข่าว แต่ไม่ใช่ข่าวลือ คุยเพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ คุยเพื่อศึกษาบทเรียนจากอดีตและจากประเทศอื่น และที่สำคัญคือ

(1)ต้องคุยเพื่อวางแผนการต่อสู้แบบปิดลับ ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติการในที่สาธารณะแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน และการคุยกันตอนนี้ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรบ้างในอนาคตที่ใหญ่กว่าการออกมาประท้วงเชิงสัญญลักษณ์

(2)ต้องคุยเพื่อเลือกตัวแทนที่จะไปคุยกับกลุ่มเล็กๆ อื่นๆ เพื่อสร้างเครือข่าย ซึ่งในประเด็นนี้ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร นี่คือ “ก.ข.ค.” ของการจัดตั้งและต่อสู้ใต้ดิน

การต่อสู้ครั้งนี้จะใช้เวลา แต่เรามีเวลา เราคือคนส่วนใหญ่ และเราคืออนาคต พวกทหาร พวกอำมาตย์ และพวกต้านประชาธิปไตย คือคนส่วนน้อยที่ไม่มีอนาคตต่างหาก

จัดขบวนเป็นระบบ

การต่อสู้รอบนี้คงใช้เวลา แต่เราต้องสู้อย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือต้องพยายามขยายกระแส ไปสู่ทุกภาคส่วน ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

แต่เราต้องฉลาดในการต่อสู้ ต้องเข้าใจยุทธวธีที่มีประสิทธิภาพ เพราะแค่การใช้ “อารมณ์” คงอยู่ได้ไม่นาน

การต่อสู้แบบนำตนเอง นัดเอง มาเอง มีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์ที่ผ่านมา เพราะมันเป็นการแสดงจุดยืนนำตนเอง ไม่พึ่งทักษิณด้วย เพราะทักษิณไม่มีความคิดจะสู้แบบที่จะถอนรากถอนโคนอำนาจทหารหรืออำมาตย์เลย เขาต้องการแค่กดดันให้เขาสามารถกลับมามีบทบาทเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เราจะสู้แบบ นำตนเอง นัดเอง มาเอง ไม่ได้ มันค่อยๆ ลดพลังลง ดังนั้นเราต้องหาทางทำงานร่วมกันในรูปแบบองค์กร ประสานการเคลื่อนไหวและต่อสู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่คงไว้แกนนำหลากหลาย หลายหัว เพราะจะรักษาความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร และทำให้ปราบยากขึ้น ที่สำคัญคือควรมีการนัดคุยกันระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อถกเถียงทำความเข้าใจกับภาพรวมทางการเมือง เพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ ต้องเชิญกลุ่มอื่นๆ มาร่วมมากขึ้นตลอด ไม่มีการกีดกันใคร โดยมีกติกาง่ายๆ ในการประชุม เพื่อไม่ให้ใครครอบงำ

เราต้องทำงานเป็นระบบเหมือนฝ่ายตรงข้าม ที่ทหารทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ ศาล ม็อบนกหวีด พรรคปชป.กันเป็นอย่างดี

เราต้องให้ความสำคัญในการเชิญกลุ่มสหภาพแรงงานแดงและสหภาพแรงงานที่รักประชาธิปไตยมาร่วม สหภาพแรงงานดังกล่าวต้องพยายามทำความเข้าใจกับสมาชิกว่าทำไมเราต้องสู้แบบ “การเมือง” กับอำนาจเผด็จการ และในอนาคน ถ้าสร้างกระแสได้ เราควรพิจารณาการนัดหยุดงาน แต่ต้องทำงานการเมืองพื้นฐานก่อนอย่างเร่งด่วน

ในอนาคต มันไม่เห็นทางที่คณะรัฐประหารจะใช้ในการแก้ปัญหาสังคม ในการลดความขัดแย้ง ตามที่เขาอ้าง มันจะแก้ได้ยังไง คนจะทนกับสภาพเผด็จการเช่นนี้ได้นานแค่ไหน? ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้สนับสนุนทหารและพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด อย่าให้สื่อมวลชนภายใต้ตีนทหารกล่อมให้เราหดหู่ เราต้องมีช่องทางสือแนวคิดระหว่างกันเอง การพบกันเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ การใช้โซเชียลมีเดียก็สำคัญ แต่ต้องทำหลายอย่าง ไม่ใช่แค่พึ่งอินเตอร์เน็ตเพราะเขาปิดวิธีการแบบนี้ได้

ในระยะสั้น ทหารอาจจะสร้างภาพว่าคุมสังคมได้ด้วยกระบอกปืน แต่ภายใต้ภาพหลอกลวงนี้ประชาชนโกรธแค้นและไม่ยอมรับทหาร

ในระยะยาว ทหารจะไม่สามารถแบกความต้องการที่หนักหนาซับซ้อนของประชาชนได้ ความต้องการ ข้อเรียกร้องของทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร และฝ่ายคัดค้าน จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดทั่วไปในทุกสังคม

และสุดท้าย เราไม่ควรลืมเพื่อน ต้องรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยไว ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกลืมและเป็นเหยื่อของการเจรจา อย่างที่พรรคเพื่อไทยเคยทำ

เราต้องจัดตั้งลับ เรียนรู้จากข้อดีข้อเสียของ พคท.

ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจะต้องทำงานปิดลับใต้ดิน เพื่อคานอำนาจมืดของทหารที่คอยคุกคามเราตลอด มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยต้องสู้แบบปิดลับมานาน ครั้งสุดท้ายก็หลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมศึกษายุทธวิธีการเคลื่อนไหวใต้ดิน พวกเราควรทบทวนแนวการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพื่อวิเคราะห์จุดเด่นกับจุดด้อย

พคท. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดตั้งมวลชน เพราะมวลชนที่กระจัดกระจายแบบ “ต่างคนต่างทำ” อาจกระตือรือร้นในการเคลื่อนไหวในตอนต้น แต่พอไปสักพักก็หมดกำลังใจ หมดแรง ท่ามกลางความกลัว

การจัดตั้งสำคัญ เพราะเป็นการสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงไปทั่วประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ พคท. ต่อสู้ไปได้นาน ทั้งๆ ที่มีการพยายามปราบปรามอย่างหนักจากฝ่ายชนชั้นปกครองไทย นอกจากนี้การจัดตั้งหมายความว่าทุกคนมี “ความเข้าใจร่วมกัน” ว่าสังคมมีลักษณะแบบไหน และก้าวต่อไปในการต่อสู้ควรจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ พคท. มีทฤษฏีที่วิเคราะห์สังคมและนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันของสมาชิก เรื่องนี้สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะขณะที่ฝ่ายทหารเผด็จการกำลังสร้างกระแสความกลัว ขณะที่ผู้ปฏิบัติการบางคนถูกจับไป ขณะที่แกนนำเก่ายอมจำนนและสร้างความสับสนในมวลชน เราต้องรักษาความมั่นใจ เราต้องรักษาปัญญาที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ และเราต้องมีแผนสู้

พคท. เข้าใจการทำงานปิดลับที่อาศัยกลุ่มเล็กๆ ที่ประสานงานกันทั่วประเทศ และนอกประเทศ ผ่านตัวแทนหรือที่สหายเก่าเรียกกันว่า “จัดตั้ง” หรือแกนนำของกลุ่มเล็กๆ นั้นเอง นี่คือวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการปราบปรามองค์กร

แต่การจัดตั้งของพคท. มีข้อบกพร่องใหญ่คือ การจัดตั้งของเขาเป็นรูปแบบเผด็จการ สหายนำสั่งลงมาและลูกพรรคต้องทำตาม ต้องเห็นด้วย คิดเองไม่ได้ ไม่มีประชาธิปไตยภายใน ในแง่หนึ่งพอพูดแบบนี้ก็ทำให้เรานึกได้ว่า พคท. เป็นเงาสะท้อนกลับสังคมเผด็จการ แต่ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย เราใช้วิธีการของเผด็จการไม่ได้

ดังนั้นการจัดตั้งรูปแบบใหม่ที่เราต้องใช้คือ การจัดตั้งกลุ่มเล็กๆ ที่ถกเถียงประเด็นอย่างเสรี เรียนรู้และศึกษาสภาพสังคมด้วยกัน และส่งผู้แทนไปประสานกับผู้แทนของกลุ่มอื่นๆ มันเป็นการจัดตั้งแบบรากหญ้า หรือแบบล่างสู่บน ซึ่งมีลักษณะประชาธิปไตย

การมีประชาธิปไตยในองค์กรเคลื่อนไหวสำคัญเพราะ เป็นวิธีที่จะประมวลประสบการณ์การต่อสู้ของทุกคนในโลกจริง แทนที่จะทำงานภายใต้ความคิดของคนคนเดียวหรือแกนนำไม่กี่คน มันเป็นวิธีที่เราจะทดสอบการวิเคราะห์สังคมและแนวสู้ในโลกจริง เพื่อปรับปรุงตลอดเวลา ไม่ใช่ทำงานแบบท่องสูตร

ในขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจว่า การมีประชาธิปไตยในองค์กรเคลื่อนไหวแบบที่เราจะสร้าง ไม่ได้หมายความว่า “ต่างคนต่างเคลื่อนไหว” แบบเสรี 100% เพราะนั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติแบบกระจัดกระจาย ซึ่งจะไม่มีพลังเมื่อเผชิญหน้ากับเผด็จการรวมศูนย์ของฝ่ายอำมาตย์ เราต้องมีวินัยในตัวเราเองที่จะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่เสมอ เราจะมาเสพสุขกับความเป็นเสรีชนไม่ได้ถ้าเราจะโค่นเผด็จการ

พคท. เข้าใจเสมอว่าเราต้องขยายมวลชนและขยายความคิดไปสู่คนจำนวนมาก เราก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้เช่นกัน ไม่ใช่แค่พอใจในการกระทำของกลุ่มเล็กๆ อย่าลืมว่าเพื่อนๆ พลเมืองไทยเป็นล้านๆ ไม่พอใจกับการเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยโดยทหารหรือม็อบพรรคประชาธิปัตย์ พลเมืองเหล่านี้คือแนวร่วมสำคัญของเรา

พคท. มีจุดอ่อนสำคัญอีกสองจุดคือ (1) การเลือกวิธีจับอาวุธ แทนที่จะเน้นการขับเคลื่อนมวลชน ซึ่งรวมถึงการนัดหยุดงานของคนทำงานด้วย และ(2) เลือกสมรภูมิชนบท แบบ “ป่าล้อมเมือง”

เราคงเรียนรู้ไปแล้ว จากประวัติศาสตร์ พคท. ว่าการจับอาวุธคงเป็นวิธีที่จะรบกับทหารที่มีอาวุธและรถถังครบมือไม่ได้ แต่จุดอ่อนของทหารคือ เวลาเขาจะบริหารบ้านเมือง เขาใช้ปืนอย่างเดียวไม่ได้ และใช้ตลอดไปไม่ได้อีกด้วย ในที่สุดเขาต้องการอาศัยการร่วมมือจากเรา เราจึงต้องหาทางไม่ร่วมมือ ต้องหาทางประท้วงเมื่อโอกาสเหมาะ

ในเรื่องสมรภูมิ นักประชาธิปไตยคงเข้าใจกันแล้วว่าสมรภูมิหลักคือในเมืองต่างๆ ตามที่เราเห็นคนออกมาประท้วงรัฐประหารเมื่อไม่นานมานี้ เราทำงานปิดลับในเมืองง่ายกว่าในชนบทด้วย เพราะในเมืองมีชุมชนแออัด

ถึงแม้ว่าเราจำใจต้องทำงานปิดลับตอนนี้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเราต้องรู้จักปรับตัว ถ้าโอกาสหรือช่องว่างเกิดขึ้น เราต้องสามารถเปลี่ยนวิธีทำงานไปเป็นการทำงานแบบเปิดเผยอย่างรวดเร็ว ในอดีตหลายองค์กรที่เคยชินกับการทำงานปิดลับ จะปรับตัวเพื่อทำงานแบบเปิดเผยไม่ทัน ตรงนี้นักปฏิวัติรัสเซียชื่อ เลนิน เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของนักต่อสู้ที่พร้อมจะปรับตัวเพื่อเข้ากับสถานการณ์เสมอ แต่เวลาเลนินปรับตัว เขาไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนหรือุดมการณ์แต่อย่างใด การปรับตัวต่างจากการฉวยโอกาสทิ้งอุดมการณ์เดิมโดยสิ้นเชิง มันเป็นคนละเรื่องกัน 

หวังพึ่งทักษิณ เพื่อไทย หรือ นปช. ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องพึ่งตนเอง

ในเมื่อคนอย่างทักษิณ สามารถครองใจประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และในเมื่อคนอย่างประยุทธ์ ไม่สามารถครองใจใคร นอกจากสลิ่มและพวกประจบสอพลอล้างลิ้นคอยเลีย แถมยังทำตัวน่าสมเพชเป็นที่อับอายขายหน้าสังคมสากลเพราะหลงตัวเองคิดว่าเป็น สฤษดิ์ กลับชาติมาเกิด ทักษิณได้เปรียบประยุทธ์และทหารเผด็จการแบบขาดลอย

ดังนั้นถ้าทักษิณ มีความประสงค์และมีวุฒิภาวะในการเป็นผู้นำ เขาสามารถออกประกาศให้ประชาชนเสื้อแดงและคนอื่นที่ชื่นชมไทยรักไทยและเพื่อไทย เตรียมพร้อมจัดตั้ง สร้างเครือข่าย วางแผน ที่จะล้มเผด็จการทหารและสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยได้  แต่ทักษิณไม่มีวันทำ

ทักษิณ ไม่มีวันทำ เพราะทักษิณกลัวการลุกฮือของประชาชนมากกว่าที่จะกลัวว่าสังคมไทยจะถอยหลังเข้าสู่ยุคมืดของเผด็จการทหาร เรื่องนี้ชัดเจนมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่นำไปสู่การตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะทักษิณมัวแต่ชักชวนให้พรรคพวกปรองดองกับทหาร แต่การปรองดองกับทหารทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ใจและในที่สุดนำไปสู่รัฐประหารของประยุทธ์

พลเมืองผู้รักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเชื่อนิยายหลอกเด็ก ว่าทักษิณ หรือ ใครก็ตาม จะมาปลดแอกสังคมและสร้างประชาธิปไตยให้เราทุกคน เราต้องพึ่งตนเอง และเราต้องพึ่งตนเองในขณะที่แกนนำรากหญ้าหลายคนถูกคุกคามจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่เราต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว

กาลเวลาและสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อดวงอาทิตย์ตกและฟ้าดินมืดมน ในไม่ช้าเช้ารุ่งก็จะตามมา แต่ในช่วงตกมืดเราหลับนอนไม่ได้ เราต้องขยันสร้างกลุ่ม เชื่อมกับกลุ่มอื่นและสร้างเครือข่าย เพื่อลุกขึ้นสู้โค่นเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยในอนาคตอันใกล้

การสร้างกลุ่มและเครือข่ายน่าจะอาศัยจุดยืนง่ายๆ ที่สร้างความสามัคคีในมวลชนประชาธิปไตยได้  เช่น ปฏิเสธรัฐธรรมนูญปี 50 และการปฏิกูลสังคมที่จะเกิดขึ้นภายใต้เผด็จการประยุทธ์

เราน่าจะมีจุดร่วมว่า สส. และ สว. ทุกคนจะต้องมาจากการเลือกตั้ง  ต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญ กกต.และองค์กรอิสระทั้งหมด  ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน เน้นการพัฒนาสถานภาพของพลเมืองทุกคนผ่านการพัฒนารายได้ของคนระดับล่าง ส่งเสริมนโยบายที่พัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคให้ทันสมัย และ นำทหารมือเปื้อนเลือดที่ก่อรัฐประหารมาลงโทษ

พวกเราควรจะจับกลุ่มกันเพื่อรวมตัวกันภายใต้นโยบายง่ายๆ ที่สร้างความสามัคคีในมวลชนประชาธิปไตยแบบนี้

แล้วเราควรจะออกไปขยายเครือข่ายของคนที่เห็นตรงกับเรา ควรมีการตั้งสภากาแฟในทุกชุมชนเพื่อคุยเรื่องอนาคตประชาธิปไตยไทย ซึ่งจะเป็นหน่ออ่อนของเครือข่ายที่จะลุกขึ้นมาสู้ จนล้มเผด็จการ

เราอาจไปทำบุญร่วมกันที่วัด แล้วถือโอกาสคุยการเมือง

เราควรพัฒนาความรู้โดยจัดกลุ่มศึกษาเล็กๆ ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ทฤษฎีการเมือง และวิธีการต่อสู้กับเผด็จการ

ในไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อทหารเริ่มหมดสภาพในการครองสังคม จะเกิดช่องโหว่และโอกาสในการเคลื่อนไหว และเมื่อนั้นเครือข่ายทั่วประเทศของเราจะต้องขยับตัวออกมาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย แต่ถ้าเราไม่สร้างกลุ่มและเครือข่ายเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าเราจะทำไม่ได้

แจกใบปลิวโดยกลุ่มใต้ดิน

การแจกใบปลิวลับๆ ในสถานที่สาธารณะ โดยกลุ่มใต้ดินที่คัดค้านเผด็จการ ควรอาศัยหลักการดังนี้คือการเลือกเนื้อหา ควรคิดว่าต้องการสื่ออะไรให้ใคร อยากให้ผู้รักประชาธิปไตยทำอะไรเป็นรูปธรรม หรืออยากแจ้งอะไรเพื่อทราบ ที่สำคัญคือเลือกเรื่องสำคัญมาเรื่องเดียวก็พอ คราวต่อไปเสนออีกเรื่อง ใบปลิวไม่ใช่หนังสือ และไม่ใช่แถลงการณ์ยาว

หลีกเลี่ยงคำหยาบถ้าไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงข้อความ 112 แสดงตัวว่าเป็นองค์กรที่มีวุฒิภาวะ

การออกแบบจัดหน้า ต้องมีหัวข้อใหญ่ เห็นและเข้าใจทันที อาจมีหนึ่งรูปภาพ เนื้อหาไม่ควรยาว ใช้เวลาอ่านไม่เกิน 1 นาที ทำใบปลิวขนาด A5 คือครึ่งหน้ากระดาษ และควรใช้โลโก้เดียวตลอด ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ร่วมกับกลุ่มอื่น เช่นโลโก้ชูสามนิ้วเป็นต้น

ก่อนไปถ่ายเอกสาร ต้องสำรวจแหล่งที่ปลอดภัย อาจถ่ายคนละนิดแล้วมารวมกัน

ก่อนที่จะกระจายใบปลิว ควรสำรวจสถานที่ต่างๆ ก่อน สำรวจว่ากระจายแล้วจะหลบไปอย่างไร เส้นทางใด ฯลฯ

หลายแห่งมีกล้องวงจรปิด เราคงต้องหาทางปิดหน้า แบบดูธรรมชาติ

การกระจายใบปลิวมีหลายรูปแบบ เช่นทิ้งจากที่สูงลงมาบนพื้นที่ที่มีคนเดินไปเดินมา ภายในหรือภายนอกตึก อาจแอบวางบนเก้าอี้ หรือในห้องน้ำ อาจกระจายในมหาวิทยาลัย อาจกระจายตามชุมชน หรือวางบนกระจกรถ ฯลฯ คิดสร้างสรรค์เอง

กระจายเสร็จแต่ละครั้งไม่ควรมีเหลือติดตัว ไม่ควรมีเหลือที่บ้าน ต้นฉบับไม่ควรอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์

เราต้องจัดตั้งลับ เรียนรู้จากข้อดีข้อเสียของ พคท.

เราต้องจัดตั้งลับ เรียนรู้จากข้อดีข้อเสียของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจะต้องทำงานปิดลับใต้ดิน เพื่อคานอำนาจมืดของทหารที่คอยคุกคามเราตลอด แต่สำหรับคนรุ่นผม มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยต้องสู้แบบปิดลับมานาน ครั้งสุดท้ายก็หลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙

hammer-and-sickle-md

     เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมศึกษายุทธวิธีการเคลื่อนไหวใต้ดิน พวกเราควรทบทวนแนวการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพื่อวิเคราะห์จุดเด่นกับจุดด้อย

พคท. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดตั้งมวลชน เพราะมวลชนที่กระจัดกระจายแบบ “ต่างคนต่างทำ” อาจกระตือรือร้นในการเคลื่อนไหวในตอนต้น แต่พอไปสักพักก็หมดกำลังใจ หมดแรง

การจัดตั้งสำคัญ เพราะเป็นการสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงไปทั่วประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ พคท. ต่อสู้ไปได้นาน ทั้งๆ ที่มีการพยายามปราบปรามอย่างหนักจากฝ่ายชนชั้นปกครองไทย นอกจากนี้การจัดตั้งหมายความว่าทุกคนมี “ความเข้าใจร่วมกัน” ว่าสังคมมีลักษณะแบบไหน และก้าวต่อไปในการต่อสู้ควรจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ พคท. มีทฤษฏีที่วิเคราะห์สังคมและนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันของสมาชิก เรื่องนี้สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะขณะที่ฝ่ายทหารเผด็จการกำลังสร้างกระแสความกลัว ขณะที่ผู้ปฏิบัติการบางคนถูกจับไป ขณะที่แกนนำเก่ายอมจำนนและสร้างความสับสนในมวลชน เราต้องรักษาความมั่นใจ เราต้องรักษาปัญญาที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ และเราต้องมีแผนสู้

พคท. เข้าใจการทำงานปิดลับที่อาศัยกลุ่มเล็กๆ ที่ประสานงานกันทั่วประเทศ และนอกประเทศ ผ่านตัวแทนหรือที่สหายเก่าเรียกกันว่า “จัดตั้ง” หรือแกนนำของกลุ่มเล็กๆ นั้นเอง นี่คือวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการปราบปรามองค์กร

แต่การจัดตั้งของพคท. มีข้อบกพร่องใหญ่คือ การจัดตั้งของเขาเป็นรูปแบบเผด็จการ สหายนำสั่งลงมาและลูกพรรคต้องทำตาม ต้องเห็นด้วย คิดเองไม่ได้ ไม่มีประชาธิปไตยภายใน ในแง่หนึ่งพอพูดแบบนี้ก็ทำให้เรานึกได้ว่า พคท. เป็นเงาสะท้อนกลับสังคมเผด็จการ แต่ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย เราใช้วิธีการของเผด็จการไม่ได้

ดังนั้นการจัดตั้งรูปแบบใหม่ที่เราต้องใช้คือ การจัดตั้งกลุ่มเล็กๆ ที่ถกเถียงประเด็นอย่างเสรี เรียนรู้และศึกษาสภาพสังคมด้วยกัน และส่งผู้แทนไปประสานกับผู้แทนของกลุ่มอื่นๆ มันเป็นการจัดตั้งแบบรากหญ้า หรือแบบล่างสู่บน ซึ่งมีลักษณะประชาธิปไตย

การมีประชาธิปไตยในองค์กรเคลื่อนไหวสำคัญเพราะ เป็นวิธีที่จะประมวลประสบการณ์การต่อสู้ของทุกคนในโลกจริง แทนที่จะทำงานภายใต้ความคิดของคนคนเดียวหรือแกนนำไม่กี่คน มันเป็นวิธีที่เราจะทดสอบการวิเคราะห์สังคมและแนวสู้ในโลกจริง เพื่อปรับปรุงตลอดเวลา ไม่ใช่ทำงานแบบท่องสูตร

ในขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจว่า การมีประชาธิปไตยในองค์กรเคลื่อนไหวแบบที่เราจะสร้าง ไม่ได้หมายความว่า “ต่างคนต่างเคลื่อนไหว” แบบเสรี 100% เพราะนั้นจะนำไปสู่การปฏิบัติแบบกระจัดกระจาย ซึ่งจะไม่มีพลังเมื่อเผชิญหน้ากับเผด็จการรวมศูนย์ของฝ่ายอำมาตย์ เราต้องมีวินัยในตัวเราเองที่จะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่เสมอ เราจะมาเสพสุขกับความเป็นเสรีชนไม่ได้ถ้าเราจะโค่นเผด็จการ

พคท. เข้าใจเสมอว่าเราต้องขยายมวลชนและขยายความคิดไปสู่คนจำนวนมาก เราก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้เช่นกัน ไม่ใช่แค่พอใจในการกระทำของกลุ่มเล็กๆ อย่าลืมว่าเพื่อนๆ พลเมืองไทยเป็นล้านๆ ไม่พอใจกับการเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยโดยทหารหรือม็อบพรรคประชาธิปัตย์ พลเมืองเหล่านี้คือแนวร่วมสำคัญของเรา

พคท. มีจุดอ่อนสำคัญอีกสองจุดคือ (1) การเลือกวิธีจับอาวุธ แทนที่จะเน้นการขับเคลื่อนมวลชน ซึ่งรวมถึงการนัดหยุดงานของคนทำงานด้วย และ(2) เลือกสมรภูมิชนบท แบบ “ป่าล้อมเมือง”

เราคงเรียนรู้ไปแล้ว จากประวัติศาสตร์ พคท. ว่าการจับอาวุธคงเป็นวิธีที่จะรบกับทหารที่มีอาวุธและรถถังครบมือไม่ได้ แต่จุดอ่อนของทหารคือ เวลาเขาจะบริหารบ้านเมือง เขาใช้ปืนอย่างเดียวไม่ได้ และใช้ตลอดไปไม่ได้อีกด้วย ในที่สุดเขาต้องการอาศัยการร่วมมือจากเรา เราจึงต้องหาทางไม่ร่วมมือ ต้องหาทางประท้วงเมื่อโอกาสเหมาะ

ในเรื่องสมรภูมิ นักประชาธิปไตยคงเข้าใจกันแล้วว่าสมรภูมิหลักคือในเมืองต่างๆ ตามที่เราเห็นคนออกมาประท้วงรัฐประหารเมื่อไม่นานมานี้ เราทำงานปิดลับในเมืองง่ายกว่าในชนบทด้วย เพราะในเมืองมีชุมชนแออัด

ถึงแม้ว่าเราจำใจต้องทำงานปิดลับตอนนี้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเราต้องรู้จักปรับตัว ถ้าโอกาสหรือช่องว่างเกิดขึ้น เราต้องสามารถเปลี่ยนวิธีทำงานไปเป็นการทำงานแบบเปิดเผยอย่างรวดเร็ว ในอดีตหลายองค์กรที่เคยชินกับการทำงานปิดลับ จะปรับตัวเพื่อทำงานแบบเปิดเผยไม่ทัน ตรงนี้นักปฏิวัติรัสเซียชื่อ เลนิน เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของนักต่อสู้ที่พร้อมจะปรับตัวเพื่อเข้ากับสถานการณ์เสมอ แต่เวลาเลนินปรับตัว เขาไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนหรือุดมการณ์แต่อย่างใด การปรับตัวต่างจากการทิ้งอุดมการณ์เดิมโดยสิ้นเชิง มันเป็นคนละเรื่องกัน

ประชาชนจงเจริญ!