Tag Archives: พรรคกรรมาชีพ

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักสังคมนิยมเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ที่จะปลดแอกประเทศไทยได้

ชนชั้นกรรมาชีพคือใคร?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของลัทธิมาร์คซ์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ลูกจ้างนั้นเอง ลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาวในธนาคาร คนขับรถเมล์ คนขับรถไฟ พนักงานสายการบิน พนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์ฯลฯ

หลายคนไม่เข้าใจคำว่า “ปัจจัยการผลิต” และคิดว่าคำนี้เหมือนคำว่า “ทรัพย์สมบัติ” แต่สองคำนี้ต่างกันมาก ปัจจัยการผลิตคือ โรงงาน ที่ดิน และบริษัทที่นำมาใช้ในการผลิตหรือในการแจกจ่ายผลผลิต ส่วนทรัพย์สมบัติอาจรวมถึงสิ่งที่ไม่ได้ใช้ในการผลิต เช่น เสื้อผ้า เตียง โทรทัศน์ หรือตู้เย็น

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในการปลดแอกสังคมไม่ใช่เพราะชนชั้นนี้ถูกกดขี่หนักที่สุด หรือถูกขูดรีดหนักที่สุด บางครั้งการที่มนุษย์ถูกกดขี่อย่างหนักอาจทำให้ขาดความมั่นใจ และไม่มีความประสงค์ที่จะทำอะไรเลยนอกเหนือจากการแสวงหาวิธีเลี้ยงชีพเพื่อเอาตัวรอดเป็นวัน ๆ ไป

ชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้สำคัญต่อการปลดแอกสังคมเพราะชนชั้นนี้มีจิตสำนึกสูงกว่าชนชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ ความจริงแล้วจิตสำนึกไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่มาจากประสบการณ์ในการต่อสู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กระทำอยู่ทุกวัน มาร์คซ์ เขียนถึงปัญหาการวมตัวของชนชั้นกรรมาชีพว่า ชนชั้นนี้ต้องพยายามสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นเพื่อให้แปรรูปเป็น “ชนชั้นเพื่อตัวเอง” การแปรรูปแบบนี้จะเริ่มด้วยการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อการแก้ปัญหาปากท้อง แต่จะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาการเคลื่อนไหวในทางการเมืองด้วย ตรงนี้บทบาทของพรรคสังคมนิยมมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในการปลดแอกสังคมมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

(1)      ชนชั้นกรรมาชีพมีความสัมพันธ์พิเศษในระบบการผลิตและบริการของทุนนิยมเพราะทุนนิยมผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพเข้ามาทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานขนาดใหญ่ โดยที่งานของแต่ละคนต้องอาศัยพึ่งพางานของเพื่อนร่วมงานตลอด ตัวอย่าง เช่น พนักงานสร้างรถยนต์ในโรงงาน ไม่สามารถสร้างรถคันหนึ่งขึ้นมาตามลำพัง แต่ต้องอาศัยงานของคนอื่นจากแผนกอื่น ๆ ของโรงงาน หรือในโรงพยาบาล พนักงานคนหนึ่งไม่สามารถรักษาคนไข้ตามลำพังได้ ต้องอาศัยงานของคนในแผนกต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบนี้ช่วยส่งเสริมความคิดในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม และการร่วมมือกัน

นอกจากนี้แล้วเวลามีปัญหาที่ทำให้คนงานเดือดร้อนวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลมากที่สุด คือ การรวมกลุ่มเพื่อเจรจากับนายจ้างซึ่งอาจช่วยทำให้คนงานเห็นคุณค่าของความสามัคคีด้วย

(2)     ชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้หลักที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพตลอด นายทุนนายจ้างไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เครื่องจักรหรือระบบคมนาคมต้องถูกควบคุมและสร้างขึ้นโดยกรรมาชีพ และต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมัน ทีมาจากการทำงานของคนงาน

ถ้าชนชั้นกรรมาชีพทุกคนหยุดงานพร้อม ๆ กันจะเกิดอะไรขึ้น ? ไฟฟ้าจะดับ น้ำจะไม่ไหล การคมนาคมสื่อสารทุกชนิดจะยุติลง ในสำนักงานต่าง ๆ แอร์และเครื่องคอมพิวเตอร์จะดับ และการผลิตในโรงงานจะยุติลง

อำนาจซ่อนเร้นแบบนี้ของชนชั้นกรรมาชีพมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้กำลังทุกชนิดและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพสามารถปลดแอกสังคมได้

(3)     ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ ในยุคที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคลื่อนไหว ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกมีจำนวนน้อยมาก น้อยกว่าจำนวนคนงานทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันเสียอีก แต่ในยุคสมัยใหม่ชนชั้นกรรมาชีพกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของโลก แม้แต่ในประเทศไทยในปัจจุบันชนชั้นกรรมาชีพมีมากกว่าชนชั้นอื่น

การปลุกระดมและเตรียมตัวนัดหยุดงาน

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อนร่วมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการอยู่แล้ว แต่คนเป็นหมื่นเป็นแสนพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถึงเวลานานแล้วที่นักเคลื่อนไหวแรงงานต้องสร้าง “ขบวนการแรงงาน”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมามีข่าวการเลิกจ้างแรงงานโดยที่หลายบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย หรือมีการจงใจเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานเพื่อหวังล้มสหภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ การตัดเย็บเสื้อผ้า หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานและคนงานขาดการต่อสู้ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่

สภาพเช่นนี้ในไทยแสดงให้เห็นว่าในประเทศของเราเกือบจะพูดได้ว่าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการแรงงาน”

ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่พึ่งเกิดขึ้นที่อินเดีย ที่มีกรรมาชีพออกมาหยุดงานกัน 250 ล้านคน

ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา”

ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง เรามีสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการแรงงาน” เพราะมีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

     ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.

แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย

เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ

ขบวนการแรงงาน

     นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ

การประชุมและการศึกษาที่จะนำไปสู่การสร้างขบวนการแรงงานที่แท้จริง ต้องเป็นการศึกษาทางการเมืองในเรื่องวิธีการปลุกระดมคนในสหภาพแรงงาน เรื่องการนัดหยุดงาน และเรื่องความสำคัญของการเคลื่อนไหวแสดงความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานประกอบการ และการเมืองที่ควรศึกษามากกว่านี้คือการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพในมิติสากล ซึ่งต้องประกอบไปด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง พรรคการเมืองของกรรมาชีพ และขบวนการฝ่ายซ้ายสากลในอดีตกับปัจจุบัน

ในอดีตเราเคยทำได้ ดังนั้นทุกวันนี้เราก็เริ่มทำได้เช่นกัน

Dxcc29yW0AQEpBn

อ่านเพิ่ม: กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

ปัญหาลัทธิสหภาพในขบวนการแรงงานไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันมีลัทธิสหภาพฝ่ายซ้าย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติด้วย พวกนี้มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้ นี่คือการเมืองของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายในไทยส่วนใหญ่

ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น

ประสบการณ์จากขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยมทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน สอนให้เราเข้าใจปัญหาของการใช้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรต่อสู้อย่างเดียว โดยไม่สร้างพรรค คือในประการแรกเขาไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนงาน เช่นนักศึกษา คนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยากรณรงค์เรื่อง 112 เป็นต้น มันนำไปสู่การเน้นประเด็นการเมืองปากท้องอย่างเดียวด้วย ทั้งๆ ที่ในนามธรรมอาจกล่าวถึง “เลนิน” หรือโจมตีระบบทุนนิยม

ในประการที่สององค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

ในประการที่สาม ถ้านักลัทธิสหภาพแบบนี้แพ้การเลือกตั้ง หรือถูกเลิกจ้างเขาอาจจะไม่มีองค์กรเหลือเลย ประเด็นนี้เป็นปัญหาด้วยเวลาคนงานไม่มีความมั่นใจในการต่อสู้ หรือไม่ยอมนัดหยุดงานในช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองลดลง ไม่เหมือนพรรคปฏิวัติที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มศึกษาและการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ

ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ปัญหาการพึ่งพรรคนายทุนของพวกลัทธิสหภาพ

ผลสำคัญอันหนึ่งของการใช้ลัทธิสหภาพแทนการสร้างพรรค คือการไปพึ่งพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่แรงงานไม่ควรหลงเลือก “นายใหม่” แบบนี้

99569

ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างไทยรักไทย/เพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” ตลอด  แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น

แนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์กับขบวนการแรงงานไทย

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายในและภายนอก

พรรคกรรมาชีพ

ในทุกสหภาพแรงงานจะมีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าแบ่งตามแนวความคิด กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและหมอบคลานต่อนายทุนกับผู้มีอำนาจ กลุ่มที่สองเป็นพวกที่มีความคิดกบฏอยากต่อสู้กับนายจ้างและความไม่เป็นธรรม อาจมีความคิดสังคมนิยม หรืออย่างน้อยต้องการประชาธิปไตยแท้ และกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่ผสมแนวจากทั้งสองขั้วหรืออาจยังไม่มีโอกาสที่จะคิดอะไรมาก หน้าที่ของนักสังคมนิยมคือการพยายามดึงกลุ่มตรงกลางที่ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดมาเป็นฝ่ายซ้าย

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมือง พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง

0cf37-gramsci

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อิตาลี่ชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยอธิบายว่านักปฏิบัติการของพรรคสังคมนิยมไม่สามารถชักชวนให้คนงานมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้ามัวแต่ป้อนทฤษฏีและแนวคิดเหมือนการป้อนอาหารให้เด็ก มันต้องมีการเคลื่อนไหวคนถึงจะเริ่มตาสว่าง ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว และพูดถึงทฤษฏีทางการเมืองที่ช่วยอธิยายแนวทางในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเสมอ

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก ควรมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และช่วยสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ พรรคจึงก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรง หรือแนวคิดชาตินิยมที่มองว่าเราต้องสามัคคีกับนายทุนและทหารเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc ]

 

พรรคของชนชั้นกรรมาชีพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ลีออน ตรอทสกี นักมาร์คซิสต์รัสเซีย เคยเขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนน้อยประชาธิปไตยสองหน้าที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง”

ทุกวันนี้มีคนไม่น้อยในไทย ทั้งอดีตฝ่ายซ้ายและอดีตนักเคลื่อนไหวแรงงาน ที่เถียงหน้าดำหน้าแดงว่ากรรมาชีพไทย “ไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้” ต้องพึ่งนายทุนและชนชั้นกลางตลอดไป เหมือนเด็กที่ต้องพึ่งพี่เลี้ยงและไม่มีวันโต เรื่องนี้มีการถกเถียงกันเมื่อผมเสนอว่านักเคลื่อนไหวในขบวนการแรงงานควรสร้างพรรคของตนเองแทนที่จะพึ่งพรรคอนาคตใหม่

แรงงานกับอนาคตใหม่

บางคนอ้างว่ากรรมาชีพไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้เพราะกรรมาชีพเปลี่ยนไปเป็นคนส่วนน้อยของสังคมไปแล้ว ซึ่งสะท้อนสองสิ่งเกี่ยวกับคนที่มีความคิดแบบนี้คือ ไม่เข้าใจว่ากรรมาชีพคือใคร และไม่ติดตามข้อมูลจริงในโลกปัจจุบัน

ชนชั้นกรรมาชีพในนิยามเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ คือลูกจ้าง หรือคนที่ไม่มีปัจจัยการผลิตของตนเองและต้องไปทำงานให้กับคนอื่น ซึ่งนักมาร์คซิสต์เข้าใจดีว่าระบบทุนนิยมและกรรมาชีพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกรรมาชีพในโลกสมัยใหม่ประกอบไปด้วยคนงานโรงงาน คนที่ทำงานในภาคบริการ เช่นการขนส่ง ห้างร้านค้า กิจการธนาคารกับไฟแนนส์ และในโรงเรียน มหาวิทยาลัย กับ โรงพยาบาล มันรวมกรรมาชีพที่ใส่ชุดทำงานของโรงงาน และกรรมาชีพที่แต่งตัวเพื่อเข้าไปทำงานในออฟฟิส และถ้าเรานับปริมาณประชาชนในไทยหรือในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะเห็นว่ากรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนตลอดเวลา

เรื่องนี้ไม่น่าแปลกเลย เพราะทุนนิยมดำเนินการไม่ได้ถ้าขาดกำไร และกำไรดังกล่าวมาจากการทำงานของกรรมาชีพผู้เป็นลูกจ้างเสมอ นี่คือสาเหตุที่นายทุนและรัฐบาลที่รับใช้นายทุนพยายามหาทุกวิธีทางที่จะสร้างอุปสรรค์กับการนัดหยุดงาน เพราะเมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานก็จะไม่มีการสร้างกำไรเพื่อให้นายทุนขโมยไป

ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในไทยหรือที่อื่น กรรมาชีพในรูปแบบที่ผมกล่าวถึง มีการจัดตั้งตัวเองในสหภาพแรงงาน เช่นสหภาพลูกจ้างธนาคาร สหภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพครู หรือแม้แต่สหภาพพยาบาล และเมื่อมีการจัดตั้งแบบนี้ การสร้างพรรคการเมืองของกรรมาชีพย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคของกรรมาชีพเอง

บางคนที่อ้างว่าพรรคกรรมาชีพ “สร้างไม่ได้” จะอ้าง “วัฒนธรรมของคนงานไทย” ว่าไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเองได้ ต้องคลานตามนายทุนหรือชนชั้นกลางเสมอ ความคิดแบบนี้ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าสร้างสหภาพแรงงานได้ ก็ย่อมสร้างพรรคได้ อย่างที่พึ่งอธิบายไป ในโลกแห่งความเป็นจริงวัฒนธรรมไม่ได้มีวัฒนธรรมเดียวในสังคม แต่มีหลายวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกันและดำรงอยู่พร้อมๆ กัน ดังนั้นเราจะเห็นประวัติและวัฒนธรรมของแรงงานไทยที่ลุกขึ้นสู้ เข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง และให้ความสำคัญกับการเมืองฝ่ายซ้าย เราเห็นในอดีตยุคพรรคคอมมิวนิสต์ และเราเห็นในปัจจุบัน แต่แน่นอนเขาอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นเราเห็นวัฒนธรรมของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานที่บูชาคนข้างบน เชิญนักการเมืองฝ่ายทุนหรือแม้แต่เผด็จการทหารมาพูดในงานของแรงงาน และมองว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและเงินมาช่วย นั้นคืออีกวัฒนธรรมหนึ่ง

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับวัฒนธรรมแรกที่ต่อสู้และพึ่งตนเอง มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมืองของฝ่ายซ้าย พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง บ่อยครั้งคนที่อ้างว่าคนงานไทยไม่มีวัฒนธรรมการต่อสู้ มักจะเป็นคนที่ไม่สนใจการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายของกรรมาชีพ และเขาก็จะหาข้ออ้างไร้สาระมาหนุนจุดยืนของเขา เช่นการพูดว่าฝ่ายซ้ายคาบคำภีร์ หรือฝ่ายซ้ายไม่รู้จักแรงงาน ซึ่งเป็นคำด่าเหลวไหลของคนที่หมดปัญญาที่จะเถียงโดยใช้เหตุผลและข้อมูลจากโลกจริง ผู้เขียนสามารถฟันธงในเรื่องนี้ได้เพราะมีประสบการณ์โดยตรงจากการพยามสร้างพรรคในสังคมไทย

42864387_1048457538658557_5369240746756931584_n

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก อาจมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ ดังนั้นพรรคไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนจนกว่าจะตัดสินใจลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ภาระแรกเลยคือการสร้างสมาชิกที่เป็นนักเคลื่อนไหว สมาชิกที่แค่จ่ายค่าสมาชิกไม่ค่อยมีประโยชน์

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

เราจะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของกรรมาชีพที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึงนั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO ]

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณหรือพรรคอนาคตใหม่จะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน