Tag Archives: พรรคคอมมิวนิสต์

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่รวมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ)

คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมา อธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922   โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ  สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆที่ ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเชียงไกเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท  หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว  กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

สร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติเพื่อสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง

ปัจจุบันมีการเลิกจ้างและกดค่าแรงในประเทศไทย แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานขาดการต่อสู้จริงๆ จังๆ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุน

     อันนี้ไม่ใช่ความผิดของคนงาน แต่เป็นความผิดของนักเคลื่อนไหวแรงงานที่ปฏิเสธการเมืองของฝ่ายซ้ายและความสำคัญของการสร้างพรรคสังคมนิยมแนวปฏิวัติ

     ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่อินเดีย หรือที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้

     ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา” และสภาพนี้ไม่ได้มาจากการกดขี่ของฝ่ายรัฐที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง มีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

     ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

     ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

     แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.

     แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย

     เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ

     นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ

     แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

     การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฎหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์

     ในปัจจุบันนักเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดในขบวนการแรงงานไทย เช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มักจะยึดมั่นในแนวคิด “ลัทธิสหภาพซ้าย” บางคนถึงกับใช้แนว “ลัทธิสหภาพปฏิวัติ” เช่นพวกที่ชอบกล่าวถึงเลนินและแนวมาร์คซิสต์

     ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

     ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้

     ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น ในปัจจุบันหลายคนที่เคยได้รับอิทธิพลจากแนวนี้ก็ไปเข้ากับพรรคนายทุนเช่นพรรคก้าวไกล

     องค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

     ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

     “สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค

     ยิ่งกว่านั้น “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานไม่ได้มีความคิดแบบนั้น นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรค และในเมื่อองค์กรนี้เรียกตัวเองว่า “สหภาพ” ก็ยากที่สมาชิกจะเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองภาพกว้าง ที่ไม่เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน ในสังคมโดยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม:

กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

พระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาว

ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศลาว “ขบวนการปะเทดลาว” เลือกที่จะใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โดยนำพระสงฆ์มาเป็นแนวร่วม ในขณะที่ฝ่ายขวาและรัฐบาลกษัตริย์ไม่สามารถใช้ศาสนาพุทธในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรลืมในกรณีลาวคือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนลาวลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีชาติพันธ์อื่นๆ ในประเทศลาวอีกมากมายที่ไม่นับถือพุทธ แต่นับถือผีสางนางไม้หรือบรรพบุรุษ ซึ่งแปลว่าขบวนการปะเทดลาวต้องหาวิธีการอื่นในการสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชาติอื่นๆที่ไม่ใช่วิธีการของศาสนาพุทธ และก็ทำได้สำเร็จ เพราะกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มเป็นกำลังต่อสู้สำคัญของขบวนการปะเทดลาว วิธีการอื่นที่กล่าวถึงคือการยกเลิกการดูถูกชาติพันธ์ที่ไม่ใช่ลาวลุ่มว่าต่ำต้อยกว่า เช่นการยกเลิกใช้คำดูถูกว่าเขาเป็น “ข้า”

ทำไมขบวนการปะเทดลาวได้เปรียบเหนือรัฐบาลกษัตริย์ฝ่ายขวาในการใช้พุทธศาสนา?

ในประการแรกฝรั่งเศสไม่ได้พัฒนาประเทศในยุคอาณานิคม ลาวจึงเป็นประเทศยากจนที่ขาดโรงเรียน หนทางในการรับการศึกษาของลูกคนจน (ที่เป็นชาย) คือการบวชเป็นพระ ดังนั้นวัดลาวจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์หนุ่มๆ ที่เป็นลูกคนจน ส่วนลูกคนรวยสามารถไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ ได้ พระสงฆ์จำนวนมากจึงเข้าใจดีว่าสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและฝ่ายขวากับกษัตริย์ไม่ยอมแก้ปัญหานี้

ในประการที่สองเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเชิดชูเจ้าลาวเพื่อเป็นเครื่องมือแต่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ เพราะมองว่าศาสนาคริสต์ดีกว่า พอมาถึงยุคสงครามกับสหรัฐ ขบวนการปะเทดลาวสามารถอ้างได้ว่าสหรัฐทิ้งระเบิดทำลายหมู่บ้านและวัดวาอารามอีกด้วย และสหรัฐเป็นอำนาจต่างชาติที่ทำแนวร่วมอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายขวาและพวกเจ้าลาว ดังนั้นขบวนการปะเทดลาวกลายเป็นฝ่ายที่ปกป้องวัฒนธรรมพุทธของลาว

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวทำงานจัดตั้งพระสงฆ์ได้ เพราะพระสงฆ์หันมาสนใจการเมืองและสังคมท่ามกลางสงคราม มีการจัดกลุ่มศึกษาสำหรับพระและประชาชนธรรมดาในวัดเพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาต่างๆ จนมีการตั้งคำถามในหมู่พระสงฆ์เองว่าทำไมพระสงฆ์ไม่มีบทบาทในการทำงานสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สาเหตุสุดท้ายที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบในการใช้ศาสนาพุทธคือรัฐบาลฝ่ายขวาในยุคปี ค.ศ. 1960 พยายามออกระเบียบเพื่อควบคุมคณะสงฆ์และทำให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก ในขณะที่ขบวนการปะเทดลาวปล่อยพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนและคิดอย่างเสรี

การที่พระสงฆ์จำนวนมากสนับสนุนขบวนการปะเทดลาวแปลว่าขบวนการนี้มีเครือข่ายและนักปฏิบัติการตามวัดวาอารามทั่วลาว

ถึงแม้ว่า “ขบวนการปะเทดลาว” อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนว “มาร์คซิสต์” แต่เราจะเห็นว่ามีการใช้ศาสนาพุทธเป็นส่วนสำคัญของลัทธิการเมือง ทั้งในช่วงที่ต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐและในช่วงที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่ควรแปลกใจอะไร เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น หลังปี ค.ศ. 1930 ล้วนแต่ใช้ลัทธิสตาลิน แทนลัทธิมาร์คซ์ แต่การใช้ลัทธิสตาลินบ่อยครั้งนำไปสู่การต่อต้านศาสนาโดยพรรคหรือโดยรัฐบาลหลังจากที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องปรัชญาว่าสนับสนุนหรือต่อต้านศาสนา เพราะลัทธิสตาลินเป็น “ปรัชญาปลอม” ก็ว่าได้ เนื่องจากมีการอ้างว่าใช้แนวคิดมาร์คซิสต์แต่ในทางปฏิบัติทำในสิ่งตรงข้าม ดังนั้นการคัดค้านหรือสนับสนุนศาสนาของพรรคที่ใช้แนวสตาลินกลายเป็นเรื่องของการคำนวณอย่างไร้อุดมการณ์ว่าศาสนาหรือองค์กรศาสนาเป็นคู่แข่งหรือควรนำมาเป็นแนวร่วม

ใจอึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์ (๒๕๕๒) “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน https://bit.ly/3hf6LMP

Martin Stuart-Fox (1996) Buddhist kingdom Marxist state. White Lotus.  

อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ (๒๕๔๘) “การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ป.ป. ลาว ระหว่าง 1975-2003” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภาคปกครองคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ

ความจริงเรื่องการปราบปราม ๖ ตุลา และคำโกหกของไชยันต์ ไชยพร

ในเมื่อไชยันต์ไชยพร กล่าวหาเท็จว่านักศึกษาสมัย ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จงใจชุมนุมในธรรมศาสตร์เพื่อให้โดนปราบ (โดยที่เขาอ้างถึง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) และยังมีการโกหกอีกว่าขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันจงใจสร้างสถานการณ์ให้โดนปราบในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งไชยยันต์เสนอว่าทำไปเพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมือง และเพื่อป้ายร้ายสถาบันกษัตริย์ เราควรกลับมาดูว่าอาชญากรรมรัฐ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เกิดขึ้นอย่างไร

การปราบปรามในวันที่ ๖ ตุลา กระทำเพื่ออะไร?

นักวิชาการคนแรกที่เสนอคำตอบเรื่องนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีการอธิบายว่า “เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ” ใครมีเจตนาแบบนี้? ป๋วย อธิบายว่าเป็น “ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมือง ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยตนจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม”

ถึงแม้ว่าการปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการกระทำต่อขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก แต่เป้าหมายโดยรวมน่าจะเป็นการทำลาย “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยดังที่ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยในยุคนั้นเคยชูคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” และเบเนดิก แอนเดอร์สัน อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวา โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ต้องการคือการหยุดยั้งการประท้วงต่างๆ ของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ที่เขามองว่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทฤษฏีที่เสนอว่าพวกฝ่ายซ้ายทำเกินเหตุว่า “การปรับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น (เช่นการปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ) เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวาย แต่การกดดันให้นายจ้างหัวแข็งลงมาเจรจากับลูกจ้างทำได้อย่างไรถ้าไม่นัดหยุดงาน? การกดดันให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่มีกับบริษัทเหมืองแร่ทำได้อย่างไรถ้าไม่ประท้วง? … ถ้ามองย้อนกลับไป รู้สึกว่าพวกเราทุกคนในยุคนั้นสายตาสั้นเวลาบ่นเรื่องความวุ่นวายเหล่านี้” (คำพูดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัย Georgetown, Washington 15/2/1977)

นอกจากความต้องการที่จะทำลายฝ่ายซ้ายโดยตรงแล้ว John Girling มองว่าผู้นำกองทัพส่วนใหญ่คิดว่าไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามา ดังนั้นต้องลงมือปราบปรามพวกประชาธิปไตยด้วยทุกวิธีทาง ในทำนองเดียวกัน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เสน่ห์ จามริก มองว่าการปราบปรามครั้งนี้เป็นการหวังทำลายแนว “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ลงมือกระทำคือกลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” ที่ยังคุมอำนาจรัฐอยู่และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในช่วง ๕ ธันวาคมปี ๒๕๑๙ กษัตริย์ภูมิพลได้แสดงความพึงพอใจกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา และอ้างว่ารัฐประหารเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งตรงกับความเห็นของทหาร

กษัคริย์ภูมิพลเยี่ยมถนอมที่วัดบวรนิเวศน์

นักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีการถกเถียงกันถึงบทบาทของพระราชวังในเหตุการณ์นี้ นักวิชาการต่างประเทศส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจกรรมของพระราชวังมีส่วนเสริมให้เกิดวิกฤตกาลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การสนับสนุนขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรนิเวศน์ในปลายเดือนกันยายนอย่างเปิดเผยเป็นต้น

This image has an empty alt attribute; its file name is 9vsc.jpg
กษัตริย์ภูมิพลมีบทบาทในการช่วยตำรวจ ตชด สร้างขบวนการลูกเสือชาวบ้าน

วชิราลงกรณ์ให้กำลังใจลูกเสือชาวบ้านในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ลานพระรูปทรงม้า

ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกสังคมไทยและวิกฤตที่เกิดขึ้น เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งชนชั้น มีความต้องการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้าย เราจึงต้องสรุปว่า ๖ ตุลา เป็นการพยายามทำลายขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยโดยชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบัน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตามส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีมุมมองที่อาจแตกต่างกันไปเกี่ยวกับวิธีการที่ควรจะใช้ในการสกัดขบวนการฝ่ายซ้ายไทย ฉะนั้นเราไม่ควรมองว่ามีการวาง “แผนใหญ่” เพียงแผนเดียวโดยชนชั้นปกครองไทย เราควรเข้าใจว่าส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีการสร้างกลุ่มพลังฝ่ายขวามาคานนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และฝ่ายซ้าย และมีการฉวยโอกาสตามสถานการณ์

สรุปแล้ว ไชยันต์ ไชยพร ยกเมฆโกหกเรื่อง ๖ ตุลา และป้ายสีขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบัน และที่น่าเกลียดที่สุดคือการพูดแบบนั้นของ ไชยันต์ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เท็จเพื่อฟอกตัวเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เป็นอาชญากรรัฐ ซึ่งผลในรูปธรรมคือเชิดชูเผด็จการ และทำให้การสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยทำได้ยากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

“อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔) ISBN 9748858626  https://bit.ly/2dC7Fk2  และ  https://bit.ly/2cSml2g

ถึงเวลานานแล้วที่นักเคลื่อนไหวแรงงานต้องสร้าง “ขบวนการแรงงาน”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมามีข่าวการเลิกจ้างแรงงานโดยที่หลายบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย หรือมีการจงใจเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานเพื่อหวังล้มสหภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ การตัดเย็บเสื้อผ้า หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานและคนงานขาดการต่อสู้ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่

สภาพเช่นนี้ในไทยแสดงให้เห็นว่าในประเทศของเราเกือบจะพูดได้ว่าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการแรงงาน”

ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่พึ่งเกิดขึ้นที่อินเดีย ที่มีกรรมาชีพออกมาหยุดงานกัน 250 ล้านคน

ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา”

ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง เรามีสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการแรงงาน” เพราะมีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

     ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.

แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย

เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ

ขบวนการแรงงาน

     นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ

การประชุมและการศึกษาที่จะนำไปสู่การสร้างขบวนการแรงงานที่แท้จริง ต้องเป็นการศึกษาทางการเมืองในเรื่องวิธีการปลุกระดมคนในสหภาพแรงงาน เรื่องการนัดหยุดงาน และเรื่องความสำคัญของการเคลื่อนไหวแสดงความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานประกอบการ และการเมืองที่ควรศึกษามากกว่านี้คือการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพในมิติสากล ซึ่งต้องประกอบไปด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง พรรคการเมืองของกรรมาชีพ และขบวนการฝ่ายซ้ายสากลในอดีตกับปัจจุบัน

ในอดีตเราเคยทำได้ ดังนั้นทุกวันนี้เราก็เริ่มทำได้เช่นกัน

Dxcc29yW0AQEpBn

อ่านเพิ่ม: กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

ทำไมคอมมิวนิสต์ไทยต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่นการที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม “เวียดเกียว” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ธง แจ่มศรี บวกกับคนเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ

แต่ปัญหาใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คือขาดการวิเคราะห์ในบริบทของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวลัทธิสตาลิน และไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียของพรรคอีกด้วย มันเป็นแค่หนังสือ “บอกเล่า”

CPT Stalin

พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยกำเนิดขึ้นราวๆ ปี ๒๔๗๓ (1930) ในยุคที่สตาลินขึ้นมาปกครองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นพรรคไทยจึงทำตามคำสั่งของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลภายใต้สตาลินตลอด

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นใน“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฏรว่าเป็น “คณะราษฏรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า188) คำวิจารณ์ของคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” และการมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องโดดเดี่ยวตนเอง ไม่รวมมือกับฝ่ายปฏิรูป มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในยุคนั้นคอมมิวนิสต์ในไทยพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” ภายใต้คอมมิวนิสต์ แทนที่จะสร้างสหภาพแรงงานที่รวมคนงานทุกคนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบ “แดงเอียงซ้าย” ตามแนว “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ (1935) มีการยกเลิกนโยบาย “แดงเอียงซ้าย” เพื่อหันขวาอีกครั้งไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของสตาลินเช่นกัน เพราะสตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ (1941) คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “ศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน จริงๆ แนวนี้เริ่มมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและตรอทสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของตรอดสกี้และมาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ (1957) วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า358)

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

การฝากความหวังไว้กับแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนแบบนี้ ตามด้วยการถูกปราบอย่างหนัก เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินในช่วงนั้นในตะวันออกกลาง ในอินโดนีเซีย และเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1926 เมื่อคอมมิวนิสต์จีนทำแนวร่วมกับ เชียง ไกเชก จากพรรคก๊กมินตั๋งแล้วโดนฆ่าทิ้งเกือบหมด

สำหรับไทยมันกลายเป็นหนึ่งข้ออ้างในการหันไปใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง เหมือนกับข้ออ้างของเหมาเจ๋อตุงในจีน โดยที่พรรคไทยไม่มีการทบทวนสรุปข้อบกพร่องของนโยบายพรรคแต่อย่างใด

นโยบายชนบทล้อมเมืองของพรรคไทยเริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (1950) แต่ลงมือทำกันอย่างจริงจังในปี ๒๕๐๔ (1961) ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นผู้ปกป้องแนวลัทธิสตาลินหลังจากที่สตาลินตายและผู้นำรัสเซียเริ่มตั้งคำถามกับเผด็จการสตาลิน

นโยบาย “ชนบทล้อมเมือง” นำไปสู่การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยละเลยหน้าที่ที่จะนำการต่อสู้กับเผด็จการทหารในกรุงเทพฯ ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และนำไปสู่การละเลยที่จะปกป้องนักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น ส่วนการสู้รบในชนบทนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุดเนื่องจากละเลยการต่อสู้ในเมือง ความเป็นเผด็จการภายในพรรค และการพึ่งพาแนวสตาลิน-เหมาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย คือการเดินตามแนวสตาลินโดยไม่ใช้แนวมาร์คซิสต์ และไม่ศึกษาข้อเขียนของเลนินกับตรอทสกี้หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ เช่นกรัมชี่ หรือโรซา ลัคแซมเบอร์ค ข้อเสียนี้รวมถึงปัญหาแนว เหมาเจ๋อตุง ในเรื่องชนบทล้อมเมือง และปัญหาแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุน

ข้อดีของพรรค ซึ่งนักกิจกรรมในยุคปัจจุบันควรนำไปศึกษาคือ มีการเน้นการจัดตั้งในช่วงแรกในหมู่กรรมาชีพและนักศึกษา มีการให้ความสำคัญกับการตั้งกลุ่มศึกษาและห้องสมุด มีการใช้การต่อสู้ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาพร้อมกัน และมีการให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสือพิมพ์เพื่อนำมาขาย โดยมีเป้าหมายในการขยายสมาชิกพรรค

ดังนั้นผมจึงแนะนำให้นักเคลื่อนไหวในยุคนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไปหาอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

 

อ่านเพิ่ม

ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์คซิสต์ ฉบับสังเขป Chris Harman แปลและเรียบเรียงโดย ใจ อึ๊งภากรณ์  https://bit.ly/2i294Cn

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ https://bit.ly/1sH06zu

ปัญหาของลัทธิสตาลินในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและผลกระทบต่อพรรคไทย https://bit.ly/2Mj3bSy

ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (๒๕๕๗) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี (๒๕๖๒)

 

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

อุปสรรคในการขยายตัวของจีน

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในอัตราเฉลี่ยปีละ 10% ทำให้จีนกลายเป็นประเทศส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเศรษฐิจจีนโตเป็นอันดับสองของโลก แต่การขยายตัวดังกล่าวไม่ได้เกิดจากพลวัตของกลไกตลาดเสรีอย่างที่ทฤษฏีเสรีนิยมมักจะทำนาย แต่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐต่างหาก ทั้งในส่วนของรัฐวิสาหกิจและนโยบายของรัฐที่ควบคุมและกำกับธุรกิจเอกชน

135591304_14710448465461n

ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤต 2008-9 33% มาจากการขยายตัวของจีน และตั้งแต่ปี 1978 จำนวนกรรมาชีพจีนก็เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านคน ซึ่งชนชั้นนี้มีพลังซ่อนเร้นที่จะท้าทายเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์

ในแผนเศรษฐกิจ “สร้างในจีน 2025” มีการพยายามพัฒนาเทคโนโลจีสมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งดึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นดีจากทั่วโลก เมื่อสิบปีก่อนจีนไม่มีรถไฟความเร็วสูง แต่ตอนนี้มีเส้นทางรถไฟสำหรับรถไฟความเร็วสูงมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลสหรัฐกำลังพยายามสร้างอุสรรคกับการพัฒนาเทคโนโลจีของจีน โดยห้ามไม่ให้บริษัทอเมริการร่วมมือด้วย

1017225341

ทุนนิยมจีนไม่สามารถหลุดพ้นจากข้อจำกัดและปัญหาของระบบทุนนิยมอย่างที่คาร์ล มาร์คซ์เคยอธิบายในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” กลุ่มทุนรัฐของจีนต้องแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดทั่วโลก ซึ่งแปลว่าต้องมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้นำจีนได้จัดการให้มีการลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ ถ้าเทียบกับประเทศตะวันตกอัตราการลงทุนเท่ากับเพียง 20% ของผลผลิต แต่การลงทุนที่ขยายตัวเรื่อยๆ มีผลในการเพิ่มการลงทุนในเครื่องจักรในอัตราที่สูงกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และเนื่องจากกำไรมาจากการจ้างงาน ผลคืออัตรากำไรต่อการลงทุนมีแนวโน้มจะลงลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ทำให้จีนเสี่ยงกับวิกฤตเศรษฐกิจ ในหลายส่วนของเศรษฐกิจจีน เช่นในการพัฒนาสาธารณูปโภคหรือการขนส่ง ประสิทธิภาพในการผลิตและผลกำไรจะต่ำ รัฐวิสาหกิจจีนได้รับ 33% ของการลงทุนทั้งหมด แต่มีส่วนในการผลิตแค่ 10% ของมูลค่าทั้งหมดของชาติ

รัฐวิสาหกิจยังมีความสำคัญสำหรับรัฐบาลในการเป็นฐานเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่ผู้บริหาร และในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการขนส่ง ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจมีความสำคัญในการรักษาไม่ให้คนงานตกงานในภูมิภาคที่ยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอีกด้วย

กลุ่มทุนใหญ่ของจีนส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งนับเป็น 80% ของมูลค่าทั้งหมดในตลาดหุ้น และภายใต้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บริษัทเอกชน IT ขนาดใหญ่ เช่น Tencent กับ Ali Baba ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยรัฐ และถูกบังคับให้ลงทุนในรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้กิจกรรม “กึ่งธนาคาร” หรือ “ธนาคารเงา” ของบริษัทเอกชนถูกควบคุม เพื่อไม่ให้ระบบธนาคารล้มเหลวและเพื่อพยายามลดปริมาณทุนจีนที่ไหลออกนอกประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามชักชวนให้ทุนเอกชนลงทุนในระบบขนส่งระหว่างจีนกับตลาดในทวีปต่างๆ ของโลกอีกด้วย

แต่เนื่องจากอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์มีลักษณะกระจายสู่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากขึ้น ประสิทธิภาพของรัฐบาลกลางจึงมีข้อจำกัด

ระบบธนาคารของจีนมีปัญหาเรื้อรัง และการที่รัฐบาลจีนใช้การลงทุนของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโลก 2008-9 สร้างความเสี่ยงสำหรับอนาคต เพราะระดับหนี้ของกลุ่มทุนจีนสูงมาก คืออยู่ในระดับ 160% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในระบบไฟแนนส์ระดับหนี้สูงกว่านี้อีก และประมาณหนึ่งในสามของหนี้ เป็นหนี้เสีย ปรากฏการณ์ฟองสบู่กำลังเกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

ชนชั้นปกครองจีนต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่มาตรการที่เขาใช้มาในอดีตทำให้อัตราหนี้พุ่งสูง และการเพิ่มเงินกู้เพื่อการลงทุนมีผลในการขยายการผลิตและเพิ่มกำไรน้อยลงทุกวัน นอกจากนี้เสถียรภาพของเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองประเทศมานานเป็นแหล่งเพาะโรคระบาดแห่งการคอร์รับชั่น ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถกำจัดได้ทั้งๆ ที่ประกาศเป็นนโยบายสำคัญ

ในขณะเดียวกันแหล่งแรงงานราคาถูกในชนบทเริ่มหายไปเนื่องจากถูกดึงเข้าไปในเมืองหมดแล้ว ในสถานการณ์การขาดแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพเริ่มเข้าใจอำนาจต่อรองของตนเองที่เพิ่มขึ้น เราเห็นการนัดหยุดงานเพื่มขึ้นในอตสาหกรรมรถยนต์ และล่าสุดครู กับ คนขับรถบรรทุกทั่วประเทศก็มีการประท้วงหยุดงาน

22889682_1502271242.6035

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจภายในแล้ว “สงครามการค้า” และความตึงเครียดทางทหาร ระหว่างจีนกับสหรัฐ ก็เพิ่มความเสี่ยง

ถ้าในอนาคตพรรคคอมมิวนิสต์ไม่สามารถจะประกันฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประชาชน การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอาจระเบิดขึ้นอีก เพราะข้อตกลงกับประชาชนในรูปแบบ “การแลกสภาพไร้ประชาธิปไตยกับการพัฒนาประเทศ” กำลังจะถูกท้าทาย นี่คือสาเหตุที่เราเห็นรัฐบาลพยายามใช้มาตรการเผด็จการมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อและภายในพรรค

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Adrian Budd ในวารสาร Socialist Review]

พรรคการเมืองที่ต้านเผด็จการควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การที่นักการเมืองอย่าง วัฒนา เมืองสุข และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเยี่ยมและให้กำลังใจแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่โดนขังหลังจากการชุมนุม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

images-771303392988.33234804_1679739312111511_4525595980254412800_n

แต่พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนว่าต้านเผด็จการ และจะลบผลพวงของเผด็จการประยุทธ์ จะต้องทำมากกว่านี้ เพราะในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็น “ละครประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบเผด็จการทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจไปข้างหน้าอีก 20 ปี

ทั้งรัฐธรรมนูญทหาร แผนการเมืองในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของทหาร การแต่งตั้งสว. การแต่งตั้งตุลาการ การเขียนกฏหมายเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง กกต.ฯลฯ จะมีผลในการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี และไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เพราะจะมีการกำหนดว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายอะไรบ้าง และจะมีการมัดมือรัฐบาลในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และการลบผลพวงของเผด็จการประบุทธ์ จะเป็นเรื่องที่ “ผิดกฏหมาย” ตามคำนิยามของเผด็จการ แต่ทั้งๆ ที่ผิดกฏหมายเผด็จการ มันเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมีความชอบธรรมสูงตามมาตรฐานประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ล้วนแต่ผ่านกระบวนการของการฝืนกฏหมายทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเผด็จการของ “ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด” ชอบอ้างว่าทำตามกฏหมายเสมอ ก็แน่นอนล่ะ!กฏหมายของมัน มันกับพรรคพวกล้วนแต่ร่างเองออกเองทั้งนั้น

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะละครการเลือกตั้งในอนาคต จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฏหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ

สรุปแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว

การไปเยี่ยมและให้กำลังใจกับแกนนำการประท้วงที่ถูกจับเป็นเรื่องดี แต่มันต้องมีการพัฒนาไปสู่การไปร่วมประท้วงด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการชักชวนมวลชนเข้ามาเพิ่ม ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนฝ่ายทหารจะจับตาดูพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่บางทีมันต้องมีการแบ่งงานกันทำในหมู่สมาชิกและแกนนำของพรรค

33424580_1680606478691461_2432532333853671424_o

ในมุมกลับนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ จะต้องไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากพรรคภายใต้ข้ออ้างว่าจะ “รักษาความบริสุทธิ์” แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมให้กลุ่มหรือพรรคเข้ามาครอบงำ ดังนั้นการนำและแผนการทำงานต้องมาจากมติประชาธิปไตยภายในองค์กร ซึ่งดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแบบนี้

นอกจากนี้การพูดถึง “ความบริสุทธิ์” มันเป็นการสร้างภาพลวงตาพอๆ กับคนที่อ้างว่าหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นคน “บริสุทธิ์” และมันเป็นการดูถูกคนอื่นๆ เป็นล้านๆ ที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองกับพรรคการเมืองว่าเป็นคน “สกปรกที่เสียความบริสุทธ์”

ถ้าเราดูประวัติของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย เช่นการสร้างขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา หรือการสร้างเสื้อแดง จะเห็นว่ามีการกระตุ้นและประสานงานโดยพรรคการเมือง

ในช่วง ๑๔ ตุลา จะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในกรณีเสื้อแดงก็เป็นพรรคของทักษิณ

ในยุคนี้การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยต้องทำแบบไม่เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งแปลว่าต้องมีการสร้างแนวร่วมระหว่างหลายกลุ่ม ไม่ใช่คุมโดยพรรคใดหรือกลุ่มใดอย่างผูกขาด ต้องมีการเปิดกว้างยอมรับหลากหลายมุมมองภายใต้จุดยืนร่วมสำคัญๆ เกี่ยวกับการลบผลพวงของเผด็จการ

บทเรียนอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับยุคนี้มาจากขบวนการเสื้อแดง ที่เคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันมีสองบทเรียนที่สำคัญคือ หนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคคอยประสานงานและกระตุ้นให้เกิดมันก็ไม่เกิดแต่แรก สอง การที่พรรคของทักษิณนำขบวนการเสื้อแดงมีผลทำให้เสื้อแดงถูกแช่แข็งและทำลายโดยนักการเมืองของทักษิณได้ เมื่อพรรคมองว่าไม่ควรเคลื่อนไหวต่อทั้งๆ ที่สังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการ

จริงๆ ประสบการณ์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่า พรรคที่จะให้ความสนใจกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างจริงจัง จากล่างสู่บน มักเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการสหภาพแรงงานและคนชั้นล่างโดยทั่วไป และจะเป็นพรรคที่ไม่ได้หมกมุ่นกับรัฐสภาจนลืมเรื่องอื่นๆ อีกด้วย แต่พรรคการเมืองแบบนี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาในไทยอย่างจริงจัง

 

[หลายภาพถ่ายโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ แต่เขาไม่มีส่วนในการเขียนบทความนี้  ซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียว]

ฝรั่งเศสพฤษภา 1968 ทุกอย่างเป็นไปได้! แต่การเมืองเป็นเรื่องชี้ขาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปีค.ศ. 1968 การประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศสเรื่องสภาพหอพักในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปารีส ลามไปสู่การต่อสู้ทั่วไปของนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลที่ติดอาวุธ นักศึกษาเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับกฏระเบียบและความคับแคบในสถาบันการศึกษาและในสังคมทั่วไป

2.-May

March

ในที่สุดรัฐบาลสั่งให้ตำรวจปราบจลาจล CRS ทุบตีนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ตำรวจปราบจลาจลจึงถูกเรียกว่าเป็นพวกนาซี ภายใต้คำขวัญ “CRS: SS!!”

altbfqyzbbby

มันกลายเป็นการท้าทายโครงสร้างอำนาจเก่าในสังคมภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา “เดอร์โกล” จนฝรั่งเศสอยู่ในภาวะ “ปฏิวัติ” เพราะในวันรุ่งขึ้น เมื่อนักสหภาพแรงงาน เห็นความรุนแรงของตำรวจ ก็ประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ 9 ล้านคน มีการยึดโรงงาน และขังฝ่ายบริหารเพื่อ “สอบสวน” ในโรงงานต่างๆ มีการเรียนแบบการยึดโรงงานจากยุคอดีตปี 1936 แต่ในปริมาณที่ใหญ่กว่า เช่นการยึดโรงงานผลิตเครื่องบิน “ซุด เอวิเอชอง” ในเมือง น่านท์ เป็นต้น ผู้บัญชาการตำรวจฝรั่งเศสถึงกับสารภาพว่า “เมื่อกรรมกรนัดหยุดงานทั่วไป มันอันตรายมากสำหรับรัฐบาล” การนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้นับว่าใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกตอนนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่นักวิชาการหอคอยงาช้างหลายคนเคยวิเคราะห์ว่าชนชั้นกรรมาชีพหมดสภาพ!!

e5df280fd4f47a93e653cf5ba9562dab
กรรมาชีพโรงงานรถยนต์เรโนนัดหยุดงาน

รัฐบาลฝ่ายขวาของ “เดอร์โกล” อัมพาตเป็นเวลาสองสัปดาห์ “เดอร์โกล” เองหนีไปอยู่ค่ายทหารฝรั่งเศสในเยอรมัน แต่แทนที่พรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานจะผลักดันการปฏิวัติไปข้างหน้า องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเบี่ยงเบนการต่อสู้จากเรื่องการเมืองไปเป็นเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าเท่านั้น ในที่สุดมีการทำสัญญากับรัฐบาลว่าจะขึ้นเงินเดือนคนงานและยุบรัฐสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลในการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ สรุปแล้วในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานกลัวการปฏิวัติและต้องการที่จะปกป้องระบบทุนนิยม

การลุกขึ้นสู้หรือยุติการต่อสู้ของกรรมาชีพ เป็นเรื่องชี้ขาดว่าการกบฏของนักศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

la-lutte-continue-paris-may-1968-street-poster-t-shirt-4

อย่างไรก็ตามการกลับมาของการต่อสู้ทางชนชั้น นำไปสู่การรื้อฟื้นความคิดมาร์คซิสต์ในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้กระแสการต่อสู้ มีผลในการเปลี่ยนวัฒนธรรม ดนตรี และค่านิยมต่างๆ และมีการกระตุ้นการต่อสู้ของกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกดขี่ในสังคมทั่วโลกอีกด้วย เช่นคนผิวดำ คนพื้นเมืองอเมริกา เกย์กะเทยทอมดี้ และสตรี

กระแสสู้ของนักศึกษาทั่วโลกไม่ได้ยุติหลังปี 1968 เพราะในปี 1970 มีการประท้วงของนักศึกษาสหรัฐทั่วประเทศ และมีการยึดมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ทหารยิงนักศึกษาตายที่มหาวิทยาลัย เคนท์ สเตด ขณะที่นักศึกษาประท้วงต่อต้านการขยายสงครามเวียดนามสู่กัมพูชา

ในประเทศไทยนักศึกษาเป็นหัวหอกในการล้มเผด็จการทหาร ถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในปีเดียวกันนักศึกษากรีซเริ่มออกมาสู้ โดยยึดวิทยาลัย โบลิเทคนิค กลางเมืองอาเทนส์ ซึ่งนำไปสู่การล้มเผด็จการทหารกรีซในที่สุด นอกจากนี้มีการเดินขบวนของนักศึกษาในอินโดนีเซีย และในเยอรมันตะวันตก

แต่หลัง 1968 ศูนย์กลางการต่อสู้ส่วนใหญ่ย้ายไปที่ขบวนการแรงงาน เช่นในอิตาลี่ปี 1969 หรือในสเปนบทบาทสำคัญของกรรมาชีพ ตั้งแต่ปี 1970 ทำให้เผด็จการ “ฟรังโก” อ่อนแอลง และในอังกฤษการนัดหยุดงานทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมถูกล้ม

ทั่วโลกชนชั้นปกครองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เอง แต่ต้องพึ่งพรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ และสภาแรงงานต่างๆ ซึ่งยอมร่วมมือเพื่อช่วยดับไฟของการปฏิวัติ โดยในหลายประเทศมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคฝ่ายขวา

ในลาตินอเมริกา มีการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาและแรงงานเช่นกัน ใน อาเจนทีนา มีการยึดเมือง คอร์โดบาและใน ชิลี มีการยึดที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่กระแสนี้ถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ใน อาเจนทีนา มีการรณรงค์ให้อดีตเผด็จการประชานิยม เพรอน กลับมาแก้สถานการณ์ แต่แก้ไม่ได้ และเมื่อ เพรอน เสียชีวิต ทหารฝ่ายขวาก็ทำรัฐประหารป่าเถื่อน โดยเข่นฆ่านักกิจกรรมฝ่ายซ้ายหลายหมื่นคน ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่ไทย

ใน ชิลี กระแสการต่อสู้นำไปสู่ชัยชนะของ ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ ผู้แทนพรรคสังคมนิยม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ฝ่ายขวา นายทุน ทหาร และสหรัฐอเมริกาไม่พอใจ และคอยหาทางล้มรัฐบาลด้วยการปิดกิจกรรมการขนส่ง และการพยายามทำรัฐประหาร ซึ่งในระยะแรกถูกคนงานรากหญ้าต้านสำเร็จผ่านการสร้าง “สภาคนงาน” (คอร์ดอนเนย์ Cordones) ในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คล้ายกับสภาคนงานในรัสเซียปี 1917 อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ชักชวนให้กรรมาชีพสลายการต่อสู้ เพื่อเอาใจทหารและฝ่ายขวา โดยหลงเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อได้ ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี แต่สามเดือนหลังจากนั้นในปี 1973 พิโนเช ยึดอำนาจ ฆ่าประธานาธิบดี และจับคุมเข่นฆ่านักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานหลายพันคน

ในขณะที่พรรคปฏิรูปและสภาแรงงานในยุโรปตะวันตกพยายามกล่อมขบวนการแรงงานให้หลับนอนและเลิกสู้ ฝ่ายขวาในลาตินอเมริกายุติการต่อสู้ของแรงงานผ่านการปราบปรามอย่างนองเลือด

มีที่หนึ่งที่ประกายไฟจาก 1968 ลุกเป็นเปลวอีกครั้ง คือในประเทศปอร์ตุเกส ซึ่งมีรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์มาเกือบห้าสิบปี ในกลางทศวรรษ 1970 ปอร์ตุเกสกำลังแพ้สงครามในอาณานิคมอัฟริกา และทหารระดับล่างไม่พอใจกับการต่อสู้ ดังนั้นในเดือนเมษายน 1974 มีรัฐประหารและนายพลฝ่ายขวาขึ้นมาแทนเผด็จการ “ไคทาโน” รัฐประหารนี้นำไปสู่การนัดหยุดงานตามโรงต่อเรือขนาดใหญ่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใต้ดินพรรคเดียวที่มีการจัดตั้งอย่างดี ก็พยายามตั้งตัวเป็นศูนย์กลางการเจรจาและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพฝ่ายขวา กับขบวนการแรงงาน แต่ทำไม่ได้ เริ่มมีกลุ่มทหารระดับล่างและคนงานฝ่ายซ้ายที่อยากไปไกลกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามองค์กร “ซีไอเอ” ของสหรัฐ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน และนายทหารปฏิรูปของปอร์ตุเกส สามารถเปลี่ยนทิศทางการปฏิวัติปอร์ตุเกสไปสู่ประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยมได้ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ทำอะไรเลย

บทสรุปสำคัญจากยุค 1968 คือต้องมีการสร้างพรรคปฏิวัติฝ่ายซ้ายใหม่ ที่ไม่ยอมประนีประนอมกับทุนและพร้อมจะสามัคคีพลังกรรมาชีพกับการตื่นตัวของนักศึกษาและคนหนุ่มสาว

ภารกิจการสร้างพรรคแบบนี้ยังเป็นภารกิจสำคัญของเราในยุคนี้

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a