Tag Archives: พรรคซ้าย

ทำไมพรรค“โพเดมอส” (Podemos) ไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล ดูเหมือนตามข้อมูลการเมืองสากลไม่ทัน เพราะพึ่งมาค้นพบพรรค“โพเดมอส” ในช่วงขาลง แล้วเสนอว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย [ดู http://bit.ly/2BTZgU8 ]

เหตุผลที่ อ.ปิยบุตรชื่นชม “โพเดมอส” มีดังนี้

  1. อ.ปิยบุตรอ้างว่า “การเมืองไทยไม่ได้มีอุดมการณ์ขวา-ซ้ายแบบยุโรป” อย่างไรก็ตามประเด็น ขวา-ซ้าย มันเป็นเรื่องชนชั้น ไม่ใช่วัฒนธรรม ในไทยมีชนชั้นให้เห็นอย่างชัดเจน และความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดงเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชนชั้นอีกด้วย
  2. อ.ปิยบุตรเสนอว่า “การเมืองไทยอยู่ในสภาวะแยกขั้วสิบกว่าปีแล้ว” ดังนั้นควรข้ามพ้นความขัดแย้งนี้ พูดง่าย เขาเสนอว่าคนรักประชาธิปไตยควรประนีประนอมกับคนที่เกลียดประชาธิปไตย ผลคือประชาธิปไตยครึ่งใบ
  3. อ.ปิยบุตรเสนอว่า โพเดมอส มีรูปแบบใหม่ แต่ในความเป็นจริงมันกลายเป็นพรรคที่ขาดประชาธิปไตยภายในและในกรณีการเรียกร้องอิสภาพของคาทาโลเนีย โพเดมอส เข้าข้างรัฐสเปนและพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา

ขออธิบายเพิ่มว่า โพเดมอส มีปัญหาอะไรบ้างมาสองสามปีแล้วดังนี้

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตของคนจนและกรรมาชีพ เราเห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรคเมื่อสามปีก่อน และออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา” คำถามง่ายๆ สำหรับไทยคือ เราต้องการเห็นพรรคที่ทรยศต่อผลประโยชน์ของคนจนหรือไม่?

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมปฏิรูปที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

เนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ตอนนี้มันหมดสภาพแล้ว

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธความสำคัญของชนชั้น แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

เราต้องการพรรคที่ไม่สนับสนุนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่ยากจนในไทยหรือไม่?

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น และพาบโล อิกเลซีอัส กลายเป็นหัวหน้าที่ถูกตรวจสอบไม่ได้และมีพฤติกรรมเผด็จการ

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคกระแสหลักที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น และเป็นพรรคที่นำโดยหัวหน้าโดยไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ล่าสุด เมื่อคาทาโลเนียออกมาประกาศว่าอยากจะแยกตัวออกจากสเปนและตั้งสาธารณรัฐใหม่ “โพเดมอส” ก็ไปเข้าข้างรัฐสเปนและนักการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่ต้องการปกป้องรัฐเดิมที่เคยสร้างในสมัยเผด็จการฟรังโก

อีกเรื่องที่เราต้องพิจารณาคือการเลือกตั้งในอนาคต เพราะเผด็จการได้ออกแบบระบบเลือกตั้งที่จำกัดเสรีภาพของพรรคการเมืองภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” มันแปลว่าการเน้นพรรคการเมืองที่สนใจแต่การเลือกตั้งในยุคนี้จะมีปัญหามาก ในระยะสั้นเราต้องการพรรคที่ทำงานกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้า แทนที่จะไว้ใจระบบการเลือกตั้งภายใต้แผนเผด็จการ เราต้องเรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริง แต่ในช่วงที่ไม่มี พรรคควรเคลื่อนไหวในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน

ด้วยเหตุนี้การเสนอว่า “โพเดมอส” เป็นรูปแบบที่ดีสำหรับประเทศไทยโดย อ.ปิยบุตร เป็นการเสนอที่จะพาคนไปสู่ทางตัน และเป็นการมองข้ามผลประโยชน์ของคนชั้นล่างในไทย ทั้งเกษตรกรและกรรมาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ยิ่งกว่านั้นเป็นการมักง่ายไม่ศึกษาข่าวสากลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่ตลกร้ายก็คือพรรคไทยรักไทยของทักษิณเคยเป็นพรรคที่พยายาม “ก้าวพ้นความขัดแย้งทางชนชั้น” โดยสร้างแนวร่วมระหว่างนายทุนใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยและกรรมาชีพ

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2E8aTbL

 

การปฏิวัติรัสเซีย กุมภาพันธ์ 1917

เรียบเรียงจากงานเขียนของ คริส ฮาร์แมน

หนึ่งร้อยปีที่แล้วไม่มีใครสามารถทำนายล่วงหน้าว่าจะเกิดการปฏิวัติในรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 แม้แต่ เลนิน ก็พูดเสมอว่ารุ่นเขา “คงไม่เห็นการปฏิวัติ”

iwd-women-protesting-cost-of-food-1917

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 ซึ่งตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้น ตรงกับวันสตรีสากล 8 มีนาคมปัจจุบัน คนงานสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมือง เพทโทรกราด (เซนต์ปิเตอร์สเบอร์ค) ออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจกับราคาสินค้า ความอดอยาก และการขาดแคลนขนมปัง แม้แต่พวกพรรคสังคมนิยมใต้ดินอย่าง “บอลเชวิค” กับ “เมนเชวิค” ตอนนั้น ยังไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้คนงานเดินขบวนเลย แต่คนงานหญิงนำทางและชวนคนงานชายในโรงเหล็กให้ออกมาร่วมนัดหยุดงานด้วย

ในวันต่อมาคนงานครึ่งหนึ่งของเมือง เพทโทรกราด ออกมาประท้วง และคำขวัญเปลี่ยนไปเป็นการคัดค้านสงคราม การเรียกร้องขนมปัง และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ ในขั้นตอนแรกรัฐบาลพยายามใช้ตำรวจติดอาวุธเพื่อปราบคนงาน แต่ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นมีการสั่งทหารให้เข้ามาปราบ แต่ทหารระดับล่างเปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝ่ายปฏิวัติหมด และเมื่อมีการสั่งให้ส่งทหารเข้ามาจากนอกเมือง ก็มีการกบฏและเปลี่ยนข้างเช่นกัน ในวันที่สี่คนงานกับทหารติดอาวุธร่วมเดินขบวนโบกธงแดง และเมื่อกษัตริย์ซาร์พยายามเดินทางกลับเข้าเมือง เพทโทรกราด เพื่อ “จัดการ” กับสถานการณ์ คนงานรถไฟก็ปิดเส้นทาง จนรัฐบาลกษัตริย์และซาร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะลาออก

putilov

แต่เมื่อกษัตริย์และรัฐบาลลาออก ใครจะมาแทนที่? ตอนนั้นมีองค์กรคู่ขนานสององค์กรที่มีบทบาทคล้ายๆ รัฐบาลคือ (1) รัฐสภา Duma ที่ประกอบไปด้วยส.ส.ฝ่ายค้านที่เลือกมาจากระบบเลือกตั้งที่ให้สิทธิ์พิเศษกับคนมีทรัพย์สิน (2) สภา โซเวียด ที่คนงานเลือกมาเอง และมีผู้แทนของคนงานกับทหาร ระดับล่าง ซึ่งสภานี้เป็นสภาที่ต้องจัดการประสานงานการบริหารเมืองและการแจกจ่ายอาหารในชีวิตประจำวัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภา Duma สามารถตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ของคนชั้นกลางได้ เพราะสภาโซเวียดยินยอม แต่พอถึงเดือนตุลาคม สภาโซเวียดเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ

ในเดือนกุมพาพันธ์ พรรคสังคมนิยมสองพรรค คือพรรคบอลเชวิค กับพรรคเมนเชวิค ยังเชื่อว่าการปฏิวัติต้องเป็นเพียงการปฏิวัตินายทุน โดยที่ เมนเชวิค มองว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องช่วยนายทุน แต่ บอลเชวิค มองว่ากรรมาชีพต้องนำการปฏิวัติ ดังนั้น บอลเชวิค อย่าง สตาลิน กับ มอลอทอฟ จาก เมนเชวิค และนักสังคมนิยมจำนวนมาก เสนอให้สภาโซเวียดสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของพวกชนชั้นกลาง ในขณะที่กรรมกรพื้นฐานไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาลใหม่เลย ในช่วงนั้น ทั้ง เลนิน และตรอทสกี ซึ่งมีความคิดว่ากรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐและปฏิวัติสังคมนิยมเอง ยังอยู่นอกประเทศ

การบริหารของรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ภายใต้นักสังคมนิยมปฏิรูปชื่อ คาเรนสกี้ กลายเป็นที่ไม่พอใจของมวลชน ทั้งในหมู่ทหารที่เป็นลูกหลานเกษตรกร เกษตรกรเอง และคนงานกรรมาชีพ เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำสงครามต่อและไม่ยอมแก้ไขปัญหาปากท้องประจำวันเลยเลย

ในช่วงสงคราม สมาชิกพรรคสังคมนิยม “เมนเชวิค” ส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม ในขณะที่พรรคสังคมนิยม “บอลเชวิค” ของ เลนิน คัดค้านสงคราม เลนิน เสนอมาตลอดว่าเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพรรค ไม่ใช่เพื่อไปสนับสนุนปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือผู้นำสหภาพแรงงานในระบบรัฐสภาทุนนิยม แต่เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่จะล้มระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่พรรคบอลเชวิคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหมู่กรรมกรเมือง เพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทันสมัย และในบางแห่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกาอีก

มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคนั้นคือ “พรรคปฏิวัติสังคม” ซึ่งไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์ แต่เติบโตมาจากแนวลุกฮือของนักสู้ชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ เดิมพรรคนี้มีฐานเสียงในชนบทในหมู่เกษตรกรยากจน แต่เมื่อแกนนำพรรคไปสนับสนุนสงครามและรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง โดยไม่แก้ไขปัญหาในชนบท เริ่มมีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้ง “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย”

ในตอนแรกพรรคบอลเชวิคเต็มไปด้วยความสับสนที่แกนนำ อย่าง สตาลิน ไปสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ในขณะที่คนงานรากหญ้าไม่พอใจ แต่เมื่อ เลนิน เดินทางกลับมาในรัสเซีย และเริ่มโจมตีนโยบายเก่าของแกนนำบอลเชวิค เริ่มเรียกร้องให้โซเวียดล้มรัฐบาล และเริ่มรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างเป็นระบบ พรรคบอลเชวิคขยายฐานเสียงในเมือง เพทโทรกราด อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พรรคปฏิวัติสังคมมีเสียงข้างมากในสภาโซเวียด พอถึงวันประชุมใหญ่ครั้งที่สองในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 ปรากฏว่าพรรคบอลเชวิคได้ 53% ของผู้แทน และพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายได้อีก 21% รวมเป็น 74% ของผู้แทนที่ต้องการปฏิวัติสังคมนิยม

1917-russian-revolution

ก่อนที่จะถึงจุดนั้น มีการเดินหน้าถอยหลัง เช่นช่วงเดือนกรกฏาคมมีการลุกฮือของทหารและคนงานที่ถูกรัฐบาลชั่วคราวปราบ และแกนนำบอลเชวิคถูกจำคุกหรือต้องหลบหนี ต่อมานายพล คอร์นิลอฟ พยายามทำรัฐประหารเพื่อก่อตั้งเผด็จการทหารฝ่ายขวา แต่พรรคบอลเชวิคออกมาปกป้องและทำแนวร่วมกับรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยับยั้งรัฐประหารจนสำเร็จ ในขณะเดียวกัน การที่บอลเชวิคเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการสู้กับรัฐประหารฝ่ายขวา ทำให้รัฐบาลชั่วคราวหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นในชนบท เกษตรกรยากจนไม่รอใคร ตัดสินใจยึดที่ดินมาแจกจ่ายกันเอง นี่คือสภาพสังคมที่สุกงอมกับการปฏิวัติสังคมนิยม

บทเรียนสำคัญสำหรับเราจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917คือ เราต้องสร้างพรรคสังคมนิยมแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีการลุกฮือ และท่ามกลางการลุกฮือของมวลชนเมื่อมันเกิดขึ้น พรรคต้องพร้อมที่จะลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากมวลชนเสมอ แต่ถ้าไม่มีพรรค ก็เท่ากับไม่มีโอกาสให้คนก้าวหน้าเสนอการนำเพื่อให้การลุกฮือประสบความสำเร็จในที่สุด และคนอื่นที่ล้าหลังกว่าจะมาฉวยโอกาสแทน

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/2i294Cn

ความแตกแยกของขบวนการแรงงานเป็นเรื่องปกติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในงานเสวนา “แรงงานไม่มีประวัติศาสตร” เมื่อไม่นานมานี้ (ดู http://bit.ly/2cGUopg ) นภาพร อติวานิชยพงศ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าขบวนแรงงานยังขาดพลังเพราะไม่สามารถหาจุดร่วม มีความแตกแยกทางการเมือง และขาดเอกภาพ

ส่วน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการประวัติศาสตร์แรงงาน เล่าประวัติศาสตร์การขึ้นๆ ลงๆ ของการต่อสู้ของแรงงาน และเสนอว่าขบวนจะเข้มแข็งในช่วงที่มีประชาธิปไตย เพราะมีเสรีภาพ ข้อสรุปของ อ.ศักดินาคือ ขบวนการแรงงานต้องเลือกว่าจะมุ่งเฉพาะเรื่องปากท้องหรือประเด็นสังคมการเมือง

ที่แย่สุดคือมีการชวนนักวิชาการที่หากินกับเผด็จการ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ มาพูดด้วย และเนื้อหาสาระที่เขาเสนอแทบจะไม่มีอะไรเลย

สิ่งที่ขาดไปจากการวิเคราะห์ของวิทยากรเหล่านี้มีสองเรื่องใหญ่คือ ในประการแรก ขบวนการแรงงานหรือสมาชิกของสหภาพแรงงาน ในทุกสังคมย่อมแตกแยกกันทางการเมืองเป็นสภาพปกติไม่ว่าจะพูดถึงสังคมไหนในโลก ในขบวนการแรงงานยุโรป หรือในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น มีการแบ่งแยกกันระหว่างซ้ายกับขวา ทั้งในหมู่แกนนำและสมาชิกรากหญ้า นักเคลื่อนไหวแรงงานในซีกก้าวหน้าของไทยเข้าใจประเด็นนี้ดีและไม่เคยเพ้อฝันว่าทุกฝ่ายจะสามัคคีกัน มีแต่การพยายามที่จะช่วงชิงการนำจากฝ่ายล้าหลังเท่านั้น ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง

13769336_1563901320583949_524328318666672353_n

สาเหตุหลักของการแบ่งแยกทางการเมืองในขบวนการแรงงานนี้ มาจากสภาพสังคมทุนนิยม นักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน หรือ กรัมชี่ อธิบายว่ากรรมาชีพจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากสองขั้วคือ ขั้วชนชั้นนายทุน ที่อาศัยสื่อกระแสหลักและอำนาจของนายจ้างกับรัฐเพื่อกล่อมเกล่าให้แรงงานคล้อยตามการเมืองล้าหลังของชนชั้นปกครอง และขั้วของกรรมาชีพก้าวหน้า ที่มีบทสรุปร่วมจากการต่อสู้ทางชนชั้นจนเกิดจิตสำนึกของกรรมาชีพเองที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดนายทุนหรือชนชั้นปกครอง

ระหว่างกลางสองขั้วนั้นจะมีแรงงานกลุ่มใหญ่ที่รับความคิดจากทั้งสองฝ่ายและยังไม่พร้อมจะเลือกข้าง แต่กลุ่มต่างๆ และจุดยืนของเขาไม่ใช่เรื่องคงที่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอกเวลาตามการขึ้นลงของการต่อสู้ทางชนชั้น

13239284_1088207564568951_6630476242817492022_n

นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยเลนินเข้าใจดีว่าต้องมีการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม เพื่อรวบรวมขั้วก้าวหน้าของกรรมาชีพมาเข้าด้วยกัน และพรรคนี้ต้องเสนอความคิดทางการเมืองกับกลุ่มแรงงานที่ยังไม่เลือกข้าง เพื่อช่วงชิงการนำโดยหวังว่าในอนาคตจะร่วมกันล้มระบบทุนนิยมและระบบการขูดรีดแรงงาน และในที่สุดจะสร้างสังคมใหม่ที่มีความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ในช่วงเฉพาะหน้าก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง การที่มีพรรคสังคมนิยมและขั้วก้าวหน้าแบบนี้จจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการต่อสู้ทางการเมืองของแรงงาน โดยที่ไม่มีการแยกเรื่องปากท้องออกจากการเมืองภาพกว้าง เพราะมันเชื่อมกันเสมอ ดังนั้นพรรคต้องมีการพยายามเสนอการเมืองภาพกว้างตลอด เพื่อทำให้การต่อสู้เพื่อค่าจ้างหรือสวัสดิการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

28897952564_b8d80d98e4

ที่นี้เวลาเราพิจารณาสิ่งที่วิทยากรในงานเสวนาเสนอ เราควรจะจำว่าศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เป็นนักวิชาการที่จริงใจเข้าข้างแรงงานก็จริง แต่ในขณะเดียวกันเขามีจุดยืนในการปฏิเสธการตั้งพรรคของแรงงานในไทย นอกจากนี้เขาชื่นชมพรรคสังคมประชาธิปไตยของเยอรมัน ซึ่งเป็นพรรค “ปฏิรูป” ที่พยายามผสมผสานแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายทุนและแรงงานเข้าด้วยกัน ซึ่งในรูปธรรมแปลว่าแรงงานต้องประนีประนอมเสมอ

ทุกวันนี้การที่เราไม่มีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติของแรงงานในไทย ทำให้แรงงานขาดพลังในการต่อสู้ทางชนชั้นเพราะไม่มีการจัดตั้งขั้วก้าวหน้าอย่างจริงจังและไม่มีการช่วงชิงการนำเท่าที่ควร ในอดีตตอนที่เรามีพรรคคอมมิวนิสต์แรงงานมีพลังมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่การเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์มีปัญหาหลายอย่าง

ngow

อีกสิ่งหนึ่งที่นักเคลื่อนไหวแรงงานก้าวหน้าในไทยเข้าใจดีคือ การเข้ามาแทรกแซงแรงงานโดยองค์กรเอ็นจีโอ ทั้งจากต่างประเทศและของไทย ทำให้แรงงานถูกแช่แข็งกดทับให้อยู่ในสภาพ “เหยื่อ” ที่ต้องมี “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอคอยดูแลและให้ทุน เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ต้องการให้แรงงานมีจิตสำนึกแบบสังคมนิยมปฏิวัติ ที่เน้นการต่อสู้ในรูปแบบที่พึ่งตนเองและนำตนเอง ทุกวันนี้เวลามีปัญหาแรงงาน เราจะเห็นคนที่หากินกับแรงงานเป็นอาชีพลงไปในม็อบ ส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวหากินที่ไม่เคยเป็นแรงงานเอง คนเหล่านี้เคยเข้ากับพวกเสื้อเหลืองด้วยซ้ำ คือหากินไปเรื่อยๆ และใช้เป็นโอกาสหาทุน ตราบใดที่ไม่มีการกำจัดพวกเหลือบดูดเลือดเหล่านี้ออกไปจากขบวนการแรงงาน กรรมาชีพจะไม่มีวันเข้มแข็ง

การทดลองราคาแพงของฝ่ายซ้ายสเปน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดสำหรับคนจนและกรรมาชีพ เราก็เห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรค และล่าสุดก็ออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา”

สาเหตุที่นักเคลื่อนไหวในไทยและรอบโลก ควรสนใจเรื่องราวเหล่านี้ ก็เพราะมันเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเด็นการสร้างพรรคสังคมนิยม ประเด็นเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งในสภา และการเข้าใจว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างในความฝันว่าจะปฏิรูประบบทุนนิยมได้

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ประกอบไปด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ต่อจากนั้นนักเคลื่อนไหวที่เป็นอดีต “อินดิกนาดอส” ก็เข้าไปต่อสู้ในสหภาพแรงงาน ขบวนการปกป้องรัฐสวัสดิการ และขบวนการที่คัดค้านการที่คนธรรมดาถูกธนาคารยึดบ้านเพราะติดหนี้

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ ที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคซ้ายปฏิรูปที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น ถ้าเทียบกับ “ไซรีซา” แล้ว มันมีจุดยืนแย่กว่าตั้งแต่ต้น และขาดประวัติการจัดตั้งมายาวนานของ “ไซรีซา” อีกด้วย และเราก็เห็นว่า“ไซรีซา” ก็ยังหักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ในที่สุด

ทุกวันนี้พวกนักฉวยโอกาสทางการเมือง ที่อยากเข้าไปในรัฐสภา แห่กันเข้ามาในพรรค “โพเดมอส” มากขึ้น

ทั้ง “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” มีจุดร่วมคือ คลุมเครือว่าต้องการปฏิวัติหรือปฏิรูประบบทุนนิยม และคลุมเครือว่าเข้าไปในรัฐสภาเพื่ออะไร คือไม่ชัดเจนว่าหลงคิดว่ายึดอำนาจรัฐผ่านรัฐสภาได้ หรือเข้าไปในรัฐสภาเพื่อเปิดโปงความแย่ของระบบและนำการต่อสู้โดยขบวนการแรงงานและประชาชนนอกรัฐสภาแทน

ดังนั้นการสร้างพรรคฝ่ายซ้านต้านทุนนิยม ที่อิสระจากพวกปฏิรูปเหล้านี้ และเน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงนี้นอกจากการนำการต่อสู้แล้ว ภาระสำคัญของพรรคซ้านต้านทุนนิยมในกรีซและสเปน จะต้องเป็นการดึงนักเคลื่อนไหวดีๆ ของ “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” ที่ผิดหวังและโกรธแค้นแกนนำ มาเป็นแนวร่วม

ในช่วงหลังนี้ที่สเปน มีการตั้งพรรค “คิวดาเดนอส” (Ciudadanos) หรือ “พรรคพลเมือง” เพื่อเป็น “พรรคใหม่ทางเลือก” ของฝ่ายขวา มีการดึงคะแนนของคนชั้นกลางและแข่งกับ “โพเดมอส” โดยเน้นเรื่องการต้านการคอร์รับชั่นในระบบการเมืองกระแสหลักเป็นนโยบายสำคัญ พรรคนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีเงิน และความไม่ชัดเจนทางการเมืองของ “โพดามอส” ทำให้ “โพดามอส” เสียคะแนนนิยมไป 10-15% ของคนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนพรรค

บทเรียนสำคัญสำหรับเราจากสเปนและกรีซคือ

  1. การเคลื่อนไหวแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยไม่มีความมั่นคงในการต่อสู้ระยะยาว ซึ่งเราก็เห็นในกรณีการต้านเผด็จการในไทยด้วย คือต้องมีการจัดตั้งสร้างพรรค
  2. การมีพรรคที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา และคลุมเครือเรื่องปัญหาของระบบทุนนิยม และประเด็นชนชั้นมันไม่พอ ต้องมีการเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของขบวนการแรงงานและกลุ่มอื่นๆ นอกรัฐสภาเสมอ และต้องไม่พยายามเอาใจคนชั้นกลางที่ไม่เคยสนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจน และไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยและการสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง

พรรคซ้าย “ไซรีซา” ชนะการเลือกตั้งในกรีซ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในการเลือกตั้งที่ประเทศกรีซ พรรคแนวร่วมซ้าย “ไซรีซา” (Syriza) ซึ่งมีรากฐานจาก กลุ่มสังคมนิยมหลากหลาย เช่นกลุ่มตรอทสกี้ กลุ่มเหมาอิสต์ กลุ่มเฟมินิสต์ และกลุ่มรักสิ่งแวดล้อม ได้รับชนะในการเลือกตั้งแบบขาดลอย นับว่าเป็นชัยชนะของพรรคซ้ายในยุโรปที่สำคัญเป็นประวัติศาสตร์ มันเป็นการตบหน้าพวกนายทุนใหญ่และนักการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาดทั่วยุโรป

นอกจากนี้ชัยชนะของ ไซรีซา เป็นสิ่งสำคัญที่หยุดยั้งการขึ้นมาของพรรคฟาสซิสต์ ที่ชอบฉวยโอกาสโทษคนผิวดำหรือคนมุสลิม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ชัยชนะของไซรีซา เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ และ “ยาพิษ” ขององค์กรคลั่งตลาดเสรี ที่กดดันให้รัฐบาลกรีซตัดงบประมาณ จนคนตกงานทั่วประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนย่ำแย่ ไซรีซา สัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณรัฐเพื่อสร้างงานและรื้อฟื้นสวัสดิการ โดยเลิกจ่ายหนี้ให้ธนาคารของยุโรป

วิกฤตนี้เกิดแต่แรก จากการที่ธนาคารเยอรมันปล่อยกู้ให้ประเทศเล็กๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) เช่นกรีซ ปอร์ตุเกส อิตาลี่ หรือสเปน เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นซื้อสินค้าจากเยอรมัน พร้อมกันนั้นมีการสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอื่นๆ และในที่สุดการปล่อยกู้กลายเป็นหนี้เสียเพราะผู้กู้จ่ายคืนไม่ได้ พอธนาคารสำคัญๆในสหรัฐและยุโรปเริ่มพังจากหนี้เสียแบบนี้ ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ทั่วโลกตะวันตกในปี 2008

หลังจากนั้นรัฐบาลต่างๆ ก็ก้าวเข้ามาอุ้มธนาคารด้วยเงินภาษีของประชาชนและด้วยการกู้เงินจากภาคเอกชน มีการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างด้วยการลงทุนของรัฐ แต่ในไม่ช้าทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะในสหรัฐหรือยุโรป ก็กลับลำภายใต้คำสั่งของกลุ่มทุนใหญ่และการกดดันจากผู้คุมตลาดการเงิน เพื่อให้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายดังกล่าวระบุว่าหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและมาจากการกู้ธนาคารเอกชนแต่แรก ต้องถูกลดด้วยการตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐ ผลคือการทำลายมาตรฐานการจ้างงาน ทำลายรัฐสวัสดิการหลายส่วน  และคนก็ตกงานเป็นล้านๆ สรุปแล้วประชาชนยากจนต้องอุ้มกลุ่มทุนใหญ่

ในสหภาพยุโรป กล่มทุนใหญ่ใช้องค์กร “ไตรภาคี” (Troika) ที่ประกอบไปด้วย ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสภาบริหารอียู เพื่อบังคับให้ประชาชนในกรีซ ยอมรับเผด็จการภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายธนาคาร รัฐบาลใหม่ลงนามในข้อตกลงที่จะตัดสวัสดิการและมาตรฐานการทำงานของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อจ่ายหนีคืนให้กลุ่มทุนใหญ่ในเยอรมันและที่อื่น ไตรภาคีเผด็จการนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายขวาและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสองพรรคกระแสหลักของกรีซ ต่อมาสองพรรคนี้ก็ตั้งรัฐบาลใหม่เอง และต่อยอดนโยบายกลไกตลาดเสรีที่สร้างความทุกข์ให้ประชาชน

การที่พรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือพรรคของฝ่ายขวา สนับสนุนนโยบายที่ทำลายชีวิตประชาชนเพื่ออุ้มกลุ่มทุนและนายธนาคาร ทำให้เราเริ่มเห็นกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้น เกือบทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคใดต้องออกไป เพราะประชาชนหมดความศรัทธา แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่พรรคซ้ายเสมอ ในฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรปตะวันออก พวกฟาสซิสต์กำลังเพิ่มคะแนนเสียง

เรื่องชี้ขาดที่ทำให้พรรคแนวร่วมซ้ายก้าวหน้าในกรีซ ได้คะแนนเสียงส่วนใหญา คือการต่อสู้นอกรัฐสภาของนักสหภาพแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตั้งแต่ปี 2009 มีการนัดหยุดงานทั่วไปในกรีซหลายสิบครั้ง มีการยึดสถานที่ทำงานที่นายจ้างประกาศจะปิด และมีการออกมาต่อต้านพวกนาซีบนท้องถนนอีกด้วย

ทั้งๆ ที่เราควรดีใจกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เราต้องเข้าใจว่า ฝ่ายซ้ายทางเลือกอื่น ที่ซ้ายกว่า พรรคไซรีซา เช่นองค์กร “แอนตาซียา ต้านทุนนิยม” และสหภาพแรงงานต่างๆ จะต้องเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อห้ามไม่ให้ ไซรีซา ประนีประนอมขายตัวยอมจำนนต่อกลุ่มทุน

ปัญหาจากการยอมประนีประนอมของ ไซรีซา ต่อไตรภาคีกลุ่มทุน เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะแกนนำ ไซรีซา กำลังเหยียบเรือสองแคม คือพยายามเอาใจประชาชนและตามกระแสความไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันพยายามเอาใจกลุ่มทุนและสัญญาว่าจะตามกติกาของเขาเพื่ออยู่ต่อในสกุลเงินยูโร นอกจากนี้ ไซรีซา ไม่เคยยอมประกาศตัวว่าเป็นพรรคปฏิวัติเพื่อล้มทุนนิยม เพราะมีการผสมแนวคิดปฏิวัติและแนวคิดปฏิรูปเป็น “ยำใหญ่” ทั้งๆ ที่สื่อต่างประเทศชอบนิยาม ไซรีซา ว่าเป็น “ซ้ายสุดขั้ว” แต่ประชาชนกรีซเองมองว่าพรรคนี้เป็น “พรรคซ้ายธรรมดา”

ชัยชนะของประชาชนกรีซรอบนี้ ต้องพัฒนาผลักไปข้างหน้าด้วยการเคลื่อนไหวและนัดหยุดงานนอกรัฐสภา

ถ้าเราไม่สร้างพรรคฝ่ายซ้าย เราสร้างเสรีภาพในไทยไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ย่ำแย่ของสังคมไทยหลายอย่าง ชี้ให้เห็นว่าเราต้องสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม… ทำไมเป็นเช่นนั้น? ขอยกตัวอย่างสำคัญมาสามตัวอย่าง

ตัวอย่างที่หนึ่งคือ การที่ขบวนการเสื้อแดง ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา ไปพึ่งพาพรรคการเมืองของนายทุนอย่างทักษิณ โดยแกนนำของเสื้อแดง คือ นปช. ไปรับการนำทางการเมืองจากทักษิณและพรรคพวกในยุคเผด็จการประยุทธ์ ซึ่งส่งผลให้การต่อสู้ของเสื้อแดงยุติลงในวินาทีที่เราต้องการการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการมากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดถ้าเสื้อแดงมีความอิสระจากพรรคนายทุนและมีพรรคของคนชั้นล่างที่นำตนเอง

ตัวอย่างที่สองคือ การที่ผู้กล้าหาญ โดยเฉพาะนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ที่ออกมาต้านเผด็จการประยุทธ์ กระจัดกระจาย ไม่มีเครือข่ายหรือพรรคเพื่อประสานงาน ทำให้ความกล้าหาญนั้นมีผลน้อยกว่าที่ควร เพราะลุกขึ้นแสดงจุดยืนพร้อมกันไม่ได้ สมานฉันท์กันยาก และทำให้ผู้กล้าสู้กลัวถูกโดดเดี่ยว

ตัวอย่างที่สามคือ การที่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย กรรมาชีพคนทำงานที่จัดตั้งในสหภาพแรงงาน และเกษตรกรรายย่อย ขาดการศึกษาทางการเมืองของชนชั้นตนเอง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การที่ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาของแนวคิดเศรษฐศาสตร์กลไกตลาดเสรี และความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม ที่ฝ่ายนักวิชาการอำมาตย์เสนออย่างต่อเนื่อง การขาดการศึกษาทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์สภาพการเหยียดเชื้อชาติภายในสังคมอย่างแหลมคมได้ โดยเอียงไปทางแนวคิดรักชาติมากกว่า และที่สำคัญมากๆ คือ การขาดการศึกษาทางการเมืองแบบสังคมนิยม ทำให้นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพผู้ทำงานในการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงแสวงหาแนวทางอื่นที่ไร้พลังแทน เช่นการต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์ การเน้นอินเตอร์เน็ดหรือโซเชียลมีเดีย การพึ่งผู้มีอำนาจ หรือการเพ้อฝันเรื่องการจับอาวุธ

การที่เราไม่มีพรรคฝ่ายซ้ายในไทย ทำให้เราไม่สามารถช่วงชิงการนำทางความคิดในมวลชนเสื้อแดงหรือคนที่รักประชาธิปไตยได้ และนั้นคือสาเหตุที่แนวคิดทักษิณกับ นปช. ผูกขาดในขบวนการได้

ปัญหาการขาดพรรคฝ่ายซ้าย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของไทย ในยุโรปตะวันตกทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรัง การที่พรรคการเมืองกระแสหลักทุกพรรค รวมถึงพรรคแรงงานและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มีนโยบายเหมือนกันหมด คือตัดสวัสดิการ และกดหัวคนจนและผู้ทำงาน โดยที่สหภาพแรงงานสับสนไม่กล้าออกมาสู้ในระดับที่ควร ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหมดความหวัง อีกส่วนหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฟาสซิสต์หรือพรรคที่เหยียดเชื้อชาติ และหลายคนมองว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากการยอมรับกลไกตลาดเสรีที่เอื้อประโยชน์มหาศาลให้นายทุน

แต่ในบางประเทศ เช่นกรีส หรือสเปน เราเริ่มเห็นความหวังระดับหนึ่งจากการสร้างพรรค “ไซรีซา” กับพรรค “โพเดมอส” ที่เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่คัดค้านการตัดสวัสดิการและการกดสภาพการจ้างงาน แม้แต่ในสก๊อตแลนด์มีความหวังชั่วคราวว่าประชามติเรื่องเอกราช อาจเป็นโอกาสในการต้านนโยบายกลไกตลาดของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษ

ในไทยเราควรศึกษาประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างละเอียด เพราะการมีพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง พคท. ทำให้การต่อสู้ของคนชั้นล่างกับเผด็จการทหารในยุคนั้นเข้มแข็งกว่าในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่แนวทางการจับอาวุธ และลักษณะเผด็จการภายในพรรคเป็นข้อบกพร่องมหาศาล

พคท. มีแนวทางการเมืองที่ชัดเจน และมีความกระตือรือร้นที่จะขยายการศึกษาการเมืองไปสู่สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคอย่างเป็นระบบ แนวทางการเมืองของ พคท. เป็นแนว “สตาลิน-เหมา” ที่สู้เพื่อปลดแอกสังคมจากจักรวรรดินิยมและสู้เพื่อขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยม ซึ่งแนวแบบนี้มีจุดอ่อน เพราะจักรวรรดินิยมอเมริกาไม่ใช่ศัตรูหลักของพลเมืองไทย ชนชั้นปกครองไทยต่างหากที่เป็นศัตรูหลัก ในเวียดนามจักรสรรดินิยมอเมริกาที่ก่อสงครามเป็นศัตรูโหดร้ายจริง แต่ในไทยไม่ใช่ นอกจากนี้การที่ พคท. เสนอให้กรรมาชีพและเกษตรกร รอและ “เสียสละ” เพื่อการทำแนวร่วมกับนายทุนก็เป็นปัญหา แต่อย่างน้อยพรรคคอมมิวนิสต์ต่อต้านอำมาตย์อย่างเป็นระบบ พยายามวิเคราะห์สังคมไทยและสังคมโลกจากจุดยืนคนชั้นล่าง และทำกิจกรรมการศึกษาและการสร้างพรรคอย่างต่อเนื่องแบบมืออาชีพ พคท. จึงกลายเป็นพรรคมวลชนของคนชั้นล่างที่ใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยมี นอกจากนี้มีการจัดตั้งกรรมาชีพในเมืองและเกษตรกรในชนบท

ถ้าเราเปรียบเทียบสิ่งที่ พคท. เคยทำ กับการศึกษาการเมืองของ นปช. มันนคนละโลกกันเลย นปช. เอาแนวการเมืองของคนชั้นบนแบบเสรีนิยม มาเสนอกับเสื้อแดง ซึ่งไม่ท้าทายชนชั้นปกครองไทยเลย และที่แย่กว่านั้นคือ คนเสื้อแดงและนักเคลื่อนไหวจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาแนวการเมืองเลย ซึ่งเป็นมรดกเลวร้ายจากการล่มสลายของ พคท. และการหันหลังให้กับแนวคิดฝ่ายซ้ายในสังคมไทยตอนนั้น

ทุกวันนี้ในระดับโลก มีการถกเถียงกันในหมู่คนที่ต้องการสร้างพรรคฝ่ายซ้าย ว่าเราควรหรือไม่ควร ที่จะสร้างพรรคที่รวบรวมคนที่เป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม กับคนที่เป็นฝ่ายซ้ายประเภท “ปฏิรูป” คือยอมรับทุนนิยม แต่หวังจะทำให้ดีขึ้นน่ารักขึ้น

ทั้งๆ ที่ทุกคนมีจุดยืนร่วมกันว่าฝ่ายซ้ายสองประเภทนี้ต้องร่วมมือกัน และบางครั้งควรสร้างเครือข่ายแนวร่วมเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่นักมาร์คซิสต์มองว่าเราควรสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่รักษาความอิสระของพรรค ในขณะที่ทำงานแนวร่วมกับคนที่ยังไม่พร้อมจะเป็นมาร์คซิสต์ ทั้งนี้เพราะแนวโน้มในรูปธรรมจากยุโรปคือ ในกรีส พรรคไซรีซา ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นพรรคปฏิวัติหรือพรรคปฏิรูป เน้นการชนะการเลือกตั้งมากกว่าการปลุกระดมพลังกรรมาชีพกับมวลชน และในการเน้นการเลือกตั้ง มีการพยายามพิสูจน์ความ “รับผิดชอบ” ของพรรคต่อการรักษาระบบทุนนิยม ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การยอมรับนโยบายการตัดสวัสดิการและกดค่าแรง ทั้งๆ ที่อาจไม่โหดเท่าพรรคฝ่ายขวา และที่สำคัญคือการชนะเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจะไม่นำไปสู่การ “คุมอำนาจรัฐ” แต่อย่างใด เพราะอำนาจรัฐอยู่ในมือชนชั้นนายทุนที่ใช้อำนาจนอกระบบ

ในไทยเรายังไม่เริ่มการสร้างพรรคฝ่ายซ้ายเลย แต่เราต้องพัฒนาการศึกษาทางการเมืองของเราเสมอ และไม่ใช่แค่เรื่องไทยๆ ด้วย การจัดกลุ่มศึกษาในหมู่กรรมาชีพสหภาพแรงงานที่เน้นแต่เรื่องปากท้องทุกๆ ปี ก็จะไม่นำไปสู่การพัฒนาความคิดทางการเมืองหรือการสร้างพรรคด้วย และที่สำคัญคือเราต้องขยายการจัดตั้ง คือขยายผู้ปฏิบัติการของ “หน่ออ่อนพรรค” แบบมืออาชีพ ถ้าเราจัดกลุ่มศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่คนที่มาร่วมเป็นหน้าเดิมๆ ตลอดไป เราคงต้องยอมรับว่ามีงานจัดตั้งที่เราต้องทำอีกมาก

จุดยืนร่วมของเราในการต้านเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะจัดตั้งทางการเมืองอย่างจริงจังเพื่อล้มเผด็จการ เราควรสร้างองค์กรแนวร่วมมวลชนที่มีจุดยืนดังนี้คือ

  1. เราร่วมกันต่อต้านรัฐบาลทหาร และผลพวงของการดัดแปลงระบบการเมืองโดยเผด็จการดังกล่าวภายใต้คำโกหกว่าจะปฏิรูปการเมือง
  2. เรามีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคม ซึ่งหมายความว่าในอนาคตต้องมีการนำทหารเผด็จการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ก่ออาชญากรรมกับประชาชนมาขึ้นศาล
  3. เรามองว่าการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถทำได้ถ้าเราไม่ยกเลิกกฏหมายเผด็จการแบบ 112 และปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน
  4. เราต้องตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดบทบาทของกองทัพในการเมืองและสังคม
  5. เราต้องสร้างความยุติธรรม ทั้งทางกฏหมาย ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

จุดยืนกว้างๆ ดังนี้มีความสำคัญถ้าเราจะสร้างองค์กรมวลชนที่มีความหลากหลาย เพราะถ้าเราไม่สร้างองค์กรมวลชน เราจะสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

แต่จุดยืนกว้างๆ แบบนี้ไม่พอ เพราะนอกจากการสร้างองค์กร “แนวร่วม” มวลชนแล้ว เราต้องสร้างพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์สังคม ศึกษาทฤษฏี และมีนโยบายที่ชัดเจนในหลายเรื่อง

ภายในแนวร่วมมวลชนอาจมีหลายพรรคหลายแกนนำร่วมกันได้ ไม่ควรกีดกันผู้รักประชาธิปไตย แต่สำรับเราชาวสังคมนิยม เราต้องสร้างพรรคสังคมนิยมหรือ “พรรคซ้าย”

สังคมนิยมคืออะไร? ในบทความสั้นนี้ เราคงต้องแค่สรุปสั้นๆ ว่าสังคมนิยมคือระบบประชาธิปไตยที่อำนาจรัฐอยู่ในมือคนทำงานธรรมดา ไม่มีอภิสิทธิ์ชน ไม่มีนายทุน มันเป็นรูปแบบสังคมการเมืองที่เน้นความสมานฉันท์ระหว่างพลเมือง แทนการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นในระบบสังคมนิยมคุณภาพชีวิตของทุกคนควรจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณะสุขและการศึกาที่มีคุณภาพได้ ไม่มีการเหยียดเพศหรือเชื้อชาติ… ทำนองนั้น

สังคมนิยมเป็นรูปแบสังคมที่เราต้องร่วมกันสร้าง มันไม่ตกหล่นจากฟ้าโดยอัตโนมัติ และมันไม่ได้มาจากคำสั่งของผู้นำ มันอาศัยการรณรงค์และการถกเถียงเสมอ

ผมขอเสนอว่าพรรคซ้ายที่เราต้องสร้าง นอกจากจะต้องเคลื่อนไหวใต้ดินร่วมกับแนวร่วมต้านเผด็จการแล้ว เราจะต้องจัดตั้งทางการเมือง คือต้องรวมตัวกันภายใต้ชุดความคิดสังคมนิยมที่ผมกล่าวถึงข้างบน

ผมเสนอว่าใครที่สนใจร่วมสร้าง “พรรคซ้าย” ในไทย ควรจัดวงคุยหัวข้อต่างๆ เช่น รัฐคืออะไร? ทุนนิยมกับสังคมนิยมต่างกันอย่างไร? เราจะลดการกดขี่ทางเพศอย่างไร? ประเทศไทยเป็นสังคมเหยียดเชื้อชาติหรือไม่? ประชาธิปไตยทุนนิยมต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยมอย่างไร? บทเรียนในการล้มเผด็จการในอดีตมีอะไรบ้าง? ทำไมพวกที่คลั่งกลไกตลาดเสรีต่อต้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและต้องการให้เรา “ร่วมจ่าย” ในระบบรักษาพยาบาล? เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง ทั้งข้อดีข้อเสีย จากพคท.? พลังในการเปลี่ยนสังคมอยู่กับกลุ่มไหนบ้าง? ระบบชนชั้นคืออะไร? การนำตนเองจากล่างสู่บนมีลักษณะอย่างไร? รัฐสวัสดิการภายใต้ทุนนิยมมีหน้าตาอย่างไร? ฯลฯ……

สำหรับเนื้อหาในการคุยการเมืองหัวข้อแบบนี้ และหัวข้อที่พวกเราคิดขึ้นเอง ท่านสามารถหาได้ที่บล็อก “เลี้ยวซ้าย” นี้ หรือที่  http://redthaisocialist.com/2011-03-04-16-28-48.html และhttp://thaimarxistdocuments.wordpress.com/  หรือท่านสามมารถติดต่อโดยตรงกับผม เพื่อให้ผมส่งเนื้อหาไปให้ ติดต่อได้ที่ ji.ungpakorn@gmail.com หรือพวกเราก็สามารถไปค้นคว้าเองได้

ใครที่จัดวงคุยและเคลื่อนไหวสร้างพรรคซ้าย ควรหาทางประสานกับกลุ่มผู้อยากก่อตั้งพรรคซ้ายในพื้นที่อื่น ควรทำเอง ผ่านการกลั่นกรองคนที่รู้จักดีและไว้ใจได้ และคนที่อยู่ต่างประเทศอย่างผมก็ยินดีช่วยประสานงานให้ได้ถ้าจำเป็น แต่คงจะต้องติดต่ออย่างต่อเนื่องนานพอสมควร เพื่อให้ไว้ใจกันได้

บทความนี้ควรจะอ่านประกอบกับบทความ “อย่ามาพูดว่า นปช. สู้ไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น”  “การทำงานแนวร่วมในยุคเผด็จการ” “อุดมการณ์ประชาธิปไตยมันมากกว่าแค่การเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”  “เผด็จการประยุทธ์เราจะสร้างประชาธิปไตยอย่างไร?”  “บทเรียนจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”  “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องอาศัยการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ”  และบทความ “พรรค”