Tag Archives: พรรคบอลเชวิค

บทบาทเลนินในการปฏิวัติรัสเซีย 1917

เลนินพูดกับทรอตสกีว่า “สำหรับคนที่เคยถูกปราบปราม เคยถูกจำคุกมานาน อย่างเรา พอได้อำนาจรัฐแล้ว รู้สึกเวียนหัว”  จะเห็นได้ว่าในเรื่องขั้นตอนต่อไปในการสร้างสังคมนิยม เลนินก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน

การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 เกิดขึ้นเมื่อพรรคบอลเชวิคและแนวร่วมได้รับเสียงข้างมากในสามสภาโซเวียตของ กรรมาชีพ ทหาร และ ชาวนา

แต่พวกฝ่ายปฏิรูปทั้งหลาย เช่นพวกเมนเชวิค ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะอยู่รอดได้นานกว่า 2-3 วัน เพราะพวกนี้ไม่เข้าใจว่ากระแสการปฏิวัติฝังลึกลงไปในมวลชนแค่ไหน

ในการประชุมผู้แทนสภาโซเวียตครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการปฏิวัติตุลาคมหนึ่งวัน นักสังเกตการณ์จากฝ่ายที่คัดค้านพรรคบอลเชวิค เล่าให้นักข่าวอเมริกันที่ชื่อ จอห์น รีด (John Reed) ฟังอย่างดูถูกว่า “พวกผู้แทนชุดใหม่นี้ต่างจากผู้แทนชุดก่อน ดูสิ พวกนี้มันหยาบและหน้าตาโง่มาก พวกนี้เป็นคนดำๆทั้งนั้น”  จอห์น รีด ซึ่งเป็นนักข่าวมาร์คซิสต์ อธิบายว่าข้อสังเกตนี้มีความจริงอยู่มาก “ความปั่นป่วนในสังคมที่เกิดขึ้น เสมือนเอาไม้ไปคนน้ำแกงจนส่วนล่างของสังคม ขึ้นมาเป็นส่วนบน คนดำๆได้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง”

ส่วน มาร์ทอฟ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเมนเชวิคที่คัดค้านเลนิน ต้องยอมรับว่า “กรรมาชีพทั้งชนชั้นหันมาสนับสนุนเลนิน” 

ในจำนวนผู้แทนทั้งหมดของสภาโซเวียต 650 คน มีตัวแทนของพรรคบอลเชวิค 390 คน และผู้แทนของ “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย” (แนวร่วมของพรรคบอลเชวิคในหมู่ชาวนายากจน) ประมาณ 160 คน  ส่วนพรรคเมนเชวิค และ พรรคปฏิวัติสังคมซีกขวา มีผู้แทนน้อยกว่า 100 คน พวกอนาธิปไตยไม่มีอิทธิพลอะไรเลย และไม่มีบทบาทในการปฏิวัติ

กรรมการบริหารชุดแรกของสภาโซเวียต หรือ “รัฐบาลใหม่” มีผู้แทนของ พรรคบอลเชวิค 14 คน พรรคปฏิวัติสังคม (ทั้งสองซีก) 7 คน และพรรคเมนเชวิค 3 คน  แต่พวกเมนเชวิค และปฏิวัติสังคมซีกขวาไม่ยอมทำงานร่วมกับพรรคบอลเชวิค และเดินออกจากสภา  ทรอตสกีส่งท้ายการเดินออกของพวกนี้ว่า “ไปเถิด ไปลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย” และมวลชนที่เป็นผู้แทนคนชั้นล่างก็พากันตบมือ

มาตรการหลักของรัฐบาลปฏิวัติ

(๑) สันติภาพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยกเลิกการเจรจาทางทูตแบบลับๆ กับเยอรมัน เจราจาทุกครั้งอย่างโปร่งใสต่อหน้าสาธารณะชน

(๒) ยกเลิกที่ดินส่วนตัวของเจ้าที่ดิน ยกที่ดินให้ชาวนาใช้ทันที่ตามความต้องการของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการยืนยันการยึดที่ดินที่ชาวนายากจนกระทำไปแล้ว

(๓) ประกาศสิทธิเสรีภาพให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย

(๔) กรรมกรต้องควบคุมระบบการผลิต และระบบการเงิน ผ่านโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากกรรมกรโดยตรง

(๕) ผู้แทนทุกคนในสภาคนงานถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อถ้าฝ่าฝืนมติคนส่วนใหญ่

(๖) สตรีทุกคนได้สิทธิเต็มที่ และได้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในโลก

(๗) แยกศาสนาออกจากรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียน

นอกจากนี้แล้วก็มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเก่าที่เลือกมาภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมเพื่อให้สภาโซเวียตเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจในรัฐใหม่ สภาโซเวียตเป็นระบบที่ใช้สถานที่ทำงานเป็นเขตเลือกตั้ง  

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันแรกของการทำงาน รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ก้าวหน้ากว่ารัฐบาลของนักการเมืองนายทุนทุกชุด ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาของการอยู่รอด

การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นหลังการสู้รบในสงครามโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนี้รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว  ร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลโซเวียตเจรจาสันติภาพกับกองทัพเยอรมัน รัสเซียต้องยอมเสีย 33% ของดินแดนที่ผลิตผลผลิตเกษตร   27% ของรายได้รัฐ  70% ของอุตสาหกรรมเหล็ก  70% ของแหล่งผลิตถ่านหิน  และ 50% ของโรงงานอุตสาหกรรม ให้รัฐบาลเยอรมัน  ในสภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกใจที่เลนินกล่าวว่า “เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน เราจะพินาศ”

สงครามกลางเมืองจากฝ่ายขวาและนโยบายเศรษฐกิจ “คอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม”

ในเดือนพฤษภาคม 1918 ประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่กลัวการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียที่อาจแพร่ไปสู่ประเทศอื่น ได้รวมหัวกันส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติรัสเซียถึง 14 กองทัพ นอกจากนี้ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก็ก่อ “กองทัพขาว” ขึ้นมาด้วย

มาตรการ “เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอดของการปฏิวัติ มีการยึดโรงงานและธุรกิจต่างๆ มาเป็นของรัฐศูนย์กลาง มีการกำหนดส่วนแบ่งอาหารให้ประชาชนโดยที่ผู้ใช้แรงหนัก และทหารได้มากกว่าผู้อื่น แต่ผู้นำพรรคได้เท่ากับประชาชนธรรมดา  มีการยึดผลผลิตจากชาวนาร่ำรวยที่กักอาหารไว้

ทรอตสกี อธิบายว่า “ระบบคอมมิวนิสต์แบบนี้ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ในยามวิกฤตแห่งสงคราม”

มาตรการทางทหาร ทรอตสกีได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแดง และใช้หลายมาตรการในการต่อสู้กับกองทัพขาวและกองทัพของมหาอำนาจ จนได้รับชัยชนะ เช่น

(๑) ใช้ความคิดทางการเมืองในการนำการต่อสู้   เลนินสังเกตว่า “เราได้รับชัยชนะเพราะทหารของกองทัพแดงเข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง กองทัพของเราเสียสละอย่างสุดยอดในการกำจัดพวกกดขี่ระยำทั้งหลาย”

(๒) ทรอตสกีใช้ผู้นำทางการเมืองควบคู่กับผู้นำทางทหารในกองกำลังทุกกอง มีรถไฟปลุกระดมพิเศษที่เคลื่อนย้ายจากจุดต่างๆ ในสนามรบ โดยที่มีโรงพิมพ์และโรงหนังเพื่อปลุกระดมกองทัพแดง และประชาชน

หลังจากที่กองทัพแดงได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าปัญหาทางทหารจะลดลง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งทวีขึ้น เนื่องจากความเสียหายในสงครามกลางเมือง เลนินสังเกตว่า “รัสเซียผ่านการต่อสู้มา 7 ปี เหมือนคนที่ถูกรุมซ้อมจนเกือบตาย นับว่าโชคดีที่ยังเดินด้วยไม้เท้าได้”  ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนัก และบางส่วนแสดงความไม่พอใจในรัฐบาลบอลเชวิค

ที่ป้อม Kronstadt ทหารรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นหัวหอกการปฏิวัติเหมือนในปี 1917 เขาเป็นพวกลูกชาวนาที่เดือดร้อนจาก“เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” และได้อิทธิพลจากความคิดอนาธิปไตย พวกอนาธิปไตยที่ Kronstadt จับอาวุธเข้ากับฝ่ายกองทัพขาว กบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และเรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีตัวแทนพรรคบอลเชวิค ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้การปฏิวัติพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ทรอตสกีกับเลนินจึงจำเป็นต้องปราบด้วยความหนักใจ

ถ้าทรอตสกีกับเลนิน ไม่นำการรบในสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายขาวและมหาอำนาจตะวันตกก่อขึ้น คำว่า “ฟาสซิสต์” จะเป็นคำภาษารัสเซียแทนภาษาอิตาลี่ เพราะมันจะยึดอำนาจแน่นอน

รัฐบาลบอลเชวิคเข้าใจว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ จึงมีการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อซื้อเวลารอการปฏิวัติในเยอรมันและประเทศอื่นๆ

นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (N.E.P.)

นโยบายเศรษฐกิจใหม่(“เน๊พ”) ที่รัฐบาลนำมาใช้ต้องถือว่าเป็นการเดินถอยหลังกลับสู่ระบบกึ่งทุนนิยม เพื่อซื้อเวลา สาเหตุหลักที่ต้องถอยหลังคือความล้มเหลวในการปฏิวัติเยอรมันปี 1918 ซึ่งมีผลให้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เป็นผู้นำสำคัญ ถูกฆ่าตาย  นอกจากนี้การพยายามปฏิวัติในประเทศ ฮังการี่ บัลแกเรีย และ อังกฤษ ในช่วงนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน  ประเด็นสำคัญในความล้มเหลวของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ คือการที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์อย่างพรรคบอลเชวิค

ประเด็นสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่มีดังนี้คือ

(๑) ฟื้นฟูกลไกตลาดโดยปล่อยให้มีการค้าขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกับชาวนาในชนบท ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนาร่ำรวยกับชาวนายากจนมีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วทำให้เกิดพวกพ่อค้ารุ่นใหม่ขึ้นที่ใครๆ เรียกว่า “พวกนายทุนเน๊พ” ซึ่งในที่สุดพวกนี้ก็เกิดความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและพรรคบางคน

(๒) ยกเลิกการยึดผลผลิตเกษตรกรรม แต่เก็บภาษีแทน

(๓) มีการใช้ระบบคุมงานและกลไกตลาดในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพเสียประโยชน์

เลนินเห็นว่านโยบายนี้จำเป็น แต่เป็นห่วงอย่างยิ่ง “นโยบายใหม่จะทำลายสังคมนิยมถ้าเราไม่ระวัง ….  ใครเป็นคนกำหนดแนวทางของรัฐกันแน่? คนงาน หรือ กลุ่มผลประโยชน์?”

ในเดือน มกราคม 1924 เลนินเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาป่วยมาหลายเดือนหลังจากที่ถูกคนจากพรรคสังคมปฏิวัติลอบฆ่า เขาทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเป็นโรคเส้นโลหิตแตกในสมองด้วย ก่อนที่เลนินจะเสียชีวิต เขาได้เขียนบทความหลายบทความที่เตือนถึงภัยต่างๆที่กำลังเกิดกับการปฏิวัติกรรมาชีพในรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

(๑) นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้ทุนนิยมกลับมาได้

(๒) ปัญหากำลังเกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน

(๓) รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแล้ว

(๔) ผู้นำบางคน เช่น สตาลิน กำลังฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม

(๕) เลนินเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรนำของพรรคเพื่อลดบทบาทของข้าราชการแดงลง

แต่ในช่วงนี้ เลนินไม่สามารถลงไปปลุกระดมความคิดในหมู่กรรมาชีพพื้นฐาน อย่างที่เคยทำในอดีตได้ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ ความคิดของเลนินจึงมีอิทธิพลน้อย

พินัยกรรมของเลนิน

“สตาลินไม่เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการของพรรคต่อไป สมาชิกพรรคควรหาทางปลดเขาออกจากตำแหน่ง” ….  “สตาลินมีอำนาจมากเกินไปและผมไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางที่ถูกหรือไม่”

ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียไม่ได้มาจากความผิดพลาดของเลนิน หรือการที่พรรคบอลเชวิคนำการปฏิวัติแต่อย่างใด         และไม่ได้มาจากนโยบาย “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของพรรคบอลเชวิคอีกด้วย  แต่เกิดจากการที่กรรมาชีพรัสเซียไม่สามารถแพร่ขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปที่พัฒนามากกว่ารัสเซียในโอกาสนั้น ความพยายามของกรรมาชีพรัสเซียที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ที่จบลงในที่สุดด้วยความพ่ายแพ้และเผด็จการของสตาลิน เพียงแต่เป็นรอบแรกในการต่อสู้เพื่อล้มระบบทุนนิยมของกรรมาชีพโลก อนาคตของสังคมนิยมยังแจ่มใส ถ้าเราเรียนบทเรียนจากการทำงานของเลนิน

[คัดจากหนังสือเล่มเล็ก “วิธีการสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” สำนักพิมพ์ กปร. ๒๕๔๒]

หนังสือคลาสสิกแห่งยุคหลังสงครามโลก

Vasily Grossman

Stalingrad และ Life and Fate เป็นหนังสือรัสเซียคลาสสิกแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนโดย Vasily Grossman ที่เคยเป็นนักข่าวของรัฐบาลที่ไปเก็บข่าวท่ามกลางสงคราม โดยเฉพาะการสู้รบระหว่างรัสเซียกับเยอรมันที่โหดร้ายรุนแรงในเมือง Stalingrad ซึ่งชัยชนะของกองทัพแดงในที่สุดนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์กับพวกนาซี

หนังสือ Life and Fate ถูก “เก็บ” โดยสายความมั่นคงรัสเซียหลังจากที่เขียนเสร็จในยุค 1960 แต่มีคนลักลอบนำออกมาแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษในภายหลังเมื่อ 1980

สตาลิน

ท่ามกลางการต่อสู้ที่ทหารรัสเซียมองว่าเป็นสงครามปราบฟาสซิสต์ สตาลินพยายามเบี่ยงเบนสงครามให้เป็นสงครามชาตินิยม แต่บทเรื่องเอ่ยถึงการฆ่าขังทำลายนักปฏิวัติพรรคบอลเชวิคโดยสตาลินสิบปีก่อนเกิดสงครามโลก และการบังคับทำนารวมและการกดขี่เกษตรกรในยุคนั้นด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก และเป็นนโยบายของเผด็จการสตาลินที่มุ่งสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นระบบเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ”

เวลาเราอ่านเราจะลุ้นให้กองทัพแดงชนะกองทัพนาซี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราทราบอยู่ในใจว่าชัยชนะของรัสเซียจะนำไปสู่การปราบคนที่คิดเองเป็นและอดีตนักปฏิวัติโดยสตาลินอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงคนที่เสียสละในการสู้รบกับเยอรมันอีกด้วย

Grossman บรรยายจิตสำนึกคู่ขนานของนักปฏิวัติที่ยังเหลืออยู่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คือสำนึกหนึ่งมาจากการครอบงำโดยพรรคเผด็จการภายใต้สตาลิน ซึ่งนักปฏิวัติอยากจะเชื่อ แต่ขัดแย้งกับสำนึกที่สองที่มาจากการเห็นความจริงและความเป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์

Grossman เป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการวาดภาพสถานการณ์อย่างงดงาม ในตอนท้ายของเล่ม “Life and Fate” เขาอธิบายการเบี่ยงเบนทำลายการปฏิวัติ 1917 โดยสตาลิน และการที่ภาพผิวเผินดูเหมือนว่าเผด็จการสตาลินยังเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งตรงข้ามกับความจริง:

“หนังกำหลังถูกถลกจากร่างที่ยังมีชีวิตของการปฏิวัติ เพื่อให้ยุคใหม่แทรกเข้าไปแทนที่ได้ สำหรับแดง เนื้อแดงๆ ใส้แดงร้อนๆ นั้นกำลังถูกโยนลงถังขยะ ยุคใหม่ต้องการแค่หนังเปลือกนอกของการปฏิวัติ และหนังนี้กำลังถูกถลกออกจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกที่แทรกเข้าไปในนั้นมักพูดจาด้วยศัพท์ของการปฏิวัติ และลอกแบบกิริยาต่างๆ แต่สมอง ปอด ตับ และตาของพวกนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิง”

การปฏิวัติรัสเซีย 1917

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 ซึ่งตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้นตรงกับวันสตรีสากล ท่ามกลางความป่าเถื่อนของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนงานสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมือง เพทโทรกราด (เซนต์ปิเตอร์สเบอร์ค) ออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจกับราคาสินค้า ความอดอยาก และการขาดแคลนขนมปัง แม้แต่พวกพรรคสังคมนิยมใต้ดินอย่าง “บอลเชวิค” กับ “เมนเชวิค” ตอนนั้น ยังไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้คนงานเดินขบวนเลย แต่คนงานหญิงนำทางและชวนคนงานชายในโรงเหล็กให้ออกมาร่วมนัดหยุดงานด้วยกัน

ในวันต่อมาคนงานครึ่งหนึ่งในเมือง เพทโทรกราด ออกมาประท้วง และคำขวัญเปลี่ยนไปเป็นการคัดค้านสงคราม การเรียกร้องขนมปัง และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ ในขั้นตอนแรกรัฐบาลพยายามใช้ตำรวจติดอาวุธเพื่อปราบคนงาน แต่ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นมีการสั่งทหารให้เข้ามาปราบ แต่ทหารระดับล่างเปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝ่ายปฏิวัติหมด และเมื่อมีการสั่งให้ส่งทหารเข้ามาจากนอกเมือง ก็มีการกบฏและเปลี่ยนข้างเช่นกัน ในวันที่สี่คนงานกับทหารติดอาวุธร่วมเดินขบวนโบกธงแดง และเมื่อกษัตริย์ซาร์พยายามเดินทางกลับเข้าเมือง เพทโทรกราด เพื่อ “จัดการ” กับสถานการณ์ คนงานรถไฟก็ปิดเส้นทาง จนรัฐบาลกษัตริย์และซาร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะลาออก

แต่เมื่อกษัตริย์และรัฐบาลลาออก ใครจะมาแทนที่? ตอนนั้นมีองค์กรคู่ขนานสององค์กรที่มีบทบาทคล้ายๆ รัฐบาลคือ (1) รัฐสภา Duma ที่ประกอบไปด้วยส.ส.ฝ่ายค้านที่เลือกมาจากระบบเลือกตั้งที่ให้สิทธิ์พิเศษกับคนมีทรัพย์สิน (2) สภา โซเวียด ที่มีผู้แทนของคนงานกับทหาร และเป็นสภาที่ต้องจัดการประสานงานการบริหารเมืองและการแจกจ่ายอาหารในชีวิตประจำวัน

สภาโซเวียด

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภา Duma สามารถตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ของคนชั้นกลางได้ เพราะสภาโซเวียดยินยอม แต่พอถึงเดือนตุลาคม สภาโซเวียดเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ

สภาโซเวียด

ในการปฏิวัติอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ชนชั้นนายทุนและผู้มีทรัพย์สิน มีส่วนในการล้มอำนาจเก่า ทั้งๆ ที่เริ่มลังเลใจหลังจากที่การปฏิวัติเริ่มก้าวหน้าสุดขั้วมากขึ้น แต่ในการปฏิวัติรัสเซีย ชนชั้นนายทุนเข้ากับอำนาจเก่าของกษัตริย์ซาร์ตลอด เพราะกลัวพลังของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม

ในเดือนกุมพาพันธ์ พรรคสังคมนิยมสองพรรค คือพรรคบอลเชวิค กับพรรคเมนเชวิค ยังเชื่อว่าการปฏิวัติต้องเป็นเพียงการปฏิวัตินายทุน โดยที่ เมนเชวิค มองว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องช่วยนายทุน แต่ บอลเชวิค มองว่ากรรมาชีพต้องนำการปฏิวัติ ดังนั้น บอลเชวิค อย่าง สตาลิน กับ มอลอทอฟ จาก เมนเชวิค และนักสังคมนิยมจำนวนมาก เสนอให้สภาโซเวียดสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของพวกชนชั้นกลาง ในขณะที่กรรมกรพื้นฐานไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาลใหม่ ในช่วงนั้น ทั้ง เลนิน และตรอทสกี ซึ่งมีความคิดว่ากรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐและปฏิวัติสังคมนิยม ยังอยู่นอกประเทศ

การบริหารของรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ภายใต้นักสังคมนิยมปฏิรูปชื่อ คาเรนสกี้ กลายเป็นที่ไม่พอใจของมวลชน ทั้งในหมู่ทหารที่เป็นลูกหลานเกษตรกร เกษตรกรเอง และคนงานกรรมาชีพ เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำสงครามต่อและไม่ยอมแก้ไขปัญหาอะไรเลย

ทหารรัสเซียกับเยอรมันกอดกันฉลองการยุติสงครามโดยบอลเชวิค

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนี้ สมาชิกพรรคสังคมนิยม “เมนเชวิค” ส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม ในขณะที่พรรคสังคมนิยม “บอลเชวิค” ของ เลนิน คัดค้านสงคราม เลนิน เสนอมาตลอดว่าเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพรรค ไม่ใช่เพื่อไปสนับสนุนปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือผู้นำสหภาพแรงงานในระบบรัฐสภาทุนนิยม แต่เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่จะล้มระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่พรรคบอลเชวิคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหมู่กรรมกรเมือง เพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทันสมัย และในบางแห่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกาอีก

มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคนั้นคือ “พรรคปฏิวัติสังคม” ซึ่งไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์ แต่เติบโตมาจากแนวลุกฮือของนักสู้ชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ เดิมพรรคนี้มีฐานเสียงในชนบทในหมู่เกษตรกรยากจน แต่เมื่อแกนนำพรรคไปสนับสนุนสงครามและรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง โดยไม่แก้ไขปัญหาในชนบท เริ่มมีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้ง “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย”

เลนินเดินทางกลับถึงรัสเซีย

ในตอนแรกพรรคบอลเชวิคเต็มไปด้วยความสับสนเพราะแกนนำ อย่าง สตาลิน ไปสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ในขณะที่คนงานรากหญ้าไม่พอใจ แต่เมื่อ เลนิน เดินทางกลับเข้าสู่รัสเซีย และเริ่มโจมตีนโยบายเก่าของแกนนำบอลเชวิค เริ่มเรียกร้องให้โซเวียดล้มรัฐบาล และเริ่มรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างเป็นระบบ พรรคบอลเชวิคก็ขยายฐานเสียงในเมือง เพทโทรกราด อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พรรคปฏิวัติสังคมมีเสียงข้างมากในสภาโซเวียด พอถึงวันประชุมใหญ่ครั้งที่สองในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 (ตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้น) ปรากฏว่าพรรคบอลเชวิคได้ 53% ของผู้แทน และพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายได้อีก 21% รวมเป็น 74% ของผู้แทนที่ต้องการปฏิวัติสังคมนิยม

เลนินกับตรอทสกี้

ก่อนที่จะถึงจุดนั้น มีการเดินหน้าถอยหลัง เช่นช่วงเดือนกรกฏาคมมีการลุกฮือของทหารและคนงานที่ถูกรัฐบาลชั่วคราวปราบ และแกนนำบอลเชวิคถูกจำคุกหรือต้องหลบหนี ต่อมานายพล คอร์นิลอฟ พยายามทำรัฐประหารเพื่อก่อตั้งเผด็จการทหารฝ่ายขวา แต่พรรคบอลเชวิคออกมาปกป้องและทำแนวร่วมกับรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยับยั้งรัฐประหารจนสำเร็จ ในขณะเดียวกัน การที่บอลเชวิคเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการสู้กับรัฐประหารฝ่ายขวา ทำให้รัฐบาลชั่วคราวหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นในชนบท เกษตรกรยากจนไม่รอใคร ตัดสินใจยึดที่ดินมาแจกจ่ายกันเอง นี่คือสภาพสังคมที่สุกงอมกับการปฏิวัติสังคมนิยม

ทหารแดงยึดถนนต่างๆ ในเมือง

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ต่างจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ 8 เดือนก่อน เพราะไม่มีความวุ่นวาย ยิงกันน้อยมาก และไม่มีใครตาย สาเหตุไม่ใช่เพราะ “เป็นการทำรัฐประหาร” อย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนอ้าง แต่เป็นเพราะเป็นการปฏิวัติโดยมวลชนที่มีการประสานกัน ผ่านองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากคนงาน ทหารเกณฑ์ และเกษตรกร องค์กรนี้ชื่อ “คณะกรรมการทหารปฏิวัติของโซเวียดเมือง เพทโทรกราด” องค์กรปฏิวัตินี้ ซึ่งมีผู้แทนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค สามารถตัดสินใจด้วยความชอบธรรม เพราะมวลชนเลือกมาในระบบที่ถอดถอนผู้แทนได้เสมอ และเมื่อมีคำสั่งจากองค์กรนี้ มวลชนทุกฝ่ายก็จะทำตาม เพราะเป็นองค์กรของมวลชน ซึ่งต่างจากรัฐบาล “ชั่วคราว” โดยสิ้นเชิง

สมาชิกพรรคบอลเชวิคแจกใบปลิว

สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

อย่างไรก็ตามแกนนำการปฏิวัติสังคมนิยม อย่าง เลนิน หรือ ตรอทสกี เข้าใจดีว่าเขาเผชิญหน้ากับปัญหามหาศาล รัสเซียเป็นประเทศล้าหลังที่มีความก้าวหน้ากระจุกอยู่ที่แค่เมือง เพทโทรกราด เกษตรกรจำนวนมากของรัสเซียไม่ได้สนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมเพราะอุดมการณ์ แต่เขาสนับสนุนการปฏิวัติเพราะมันนำไปสู่การกระจายที่ดินไปสู่เกษตรกร ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในการปฏิวัติทุนนิยมที่ฝรั่งเศส ดังนั้นถ้าการปฏิวัติสังคมนิยมนี้จะได้รับการสนับสนุนยาวนานถาวรจากเกษตรกร ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่สิ่งนี้ทำไม่ได้ในรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสียหายจากสงคราม ถ้าจะทำ ต้องทำผ่านการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเยอรมัน ซึ่งในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันตกก็มีการลุกฮือกบฏและต่อต้านสงครามมากพอสมควร

เลนิน ฟันธงไปเลยว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติในเยอรมัน การปฏิวัติรัสเซียจะไปไม่รอด ในต้นปี 1918 มีการลุกฮือนัดหยุดงานโดยคนงาน ห้าแสนคน ในอุตสาหกรรมเหล็กของ ออสเตรีย และเยอรมัน แต่คนงานเหล่านี้ไปหลงไว้ใจผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD และผลคือผู้นำเหล่านั้นหักหลังคนงาน โรซา ลัคแซมเบอร์ ซึ่งตอนนั้นติดคุกอยู่ เพราะต้านสงคราม เขียนว่า “ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นพวกขี้ขลาดที่แย่ที่สุด เพราะพร้อมจะนิ่งเฉยปล่อยให้รัสเซียตาย”

การที่แกนนำพรรค SPD เยอรมันหักหลังคนงานและทำลายกระแสนัดหยุดงาน ซึ่งอาจขยายไปเป็นการปฏิวัติได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นายพลเยอรมันส่งทหารบุกเข้าไปยึดพื้นที่ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของรัสเซีย นอกจากนี้กองทัพของอังกฤษ ฝรั่งเศส เชค และญี่ปุ่น บุกเข้าไปยึดส่วนต่างๆ ของรัสเซียเช่นกัน และในไม่ช้าพรรคเมนเชวิค และพรรคปฏิวัติสังคม ภายในรัสเซียเอง ก็เริ่มจับอาวุธเพื่อทำลายการปฏิวัติ ในสภาพเช่นนี้พรรคบอลเชวิคต้องตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ทั้งในลักษณะเผด็จการและในลักษณะการทหาร เพื่อเอาชนะศัตรู

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติสังคมนิยมไม่ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพและศัตรูเหล่านี้ เพราะคนจนส่วนใหญ่ในรัสเซียสนับสนุนการปฏิวัติและพร้อมจะสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขา ลีออน ตรอทสกี สามารถรวบรวมคนงานและทหารเพื่อก่อตั้ง “กองทัพแดง” ที่เอาชนะ “กองทัพขาว” ทั้งหลายได้ แต่ชัยชนะของนักปฏิวัติรัสเซียเป็นชัยชนะราคาแพง

การที่ต้องระดมพลเพื่อสร้างกองทัพแดง และเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ในสภาพที่เศรษฐกิจย่ำแย่ หมายความว่าพลังการผลิตของชนชั้นกรรมาชีพสูญหายไป เพราะโรงงานต่างๆ ต้องปิด และกองกำลังแดงกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พรรคบอลเชวิคเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์) กลายเป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือสังคม และตลอดเวลา แกนนำพรรครอและหวังว่าจะมีการปฏิวัติในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก เพื่อมาช่วยกู้สถานการณ์ในรัสเซีย แต่ในที่สุดเขาต้องผิดหวัง

สภาพแบบนี้เปิดทางให้ สตาลิน สามารถยึดอำนาจได้หลังจากที่เลนินตาย และสตาลินก็เดินหน้าทำลายสิทธิเสรีภาพและสังคมนิยมในรัสเซียอย่างถอนรากถอนโคน แต่การสร้างเผด็จการของสตาลินจำต้องอาศัยการโกหกหลอกลวงอันยิ่งใหญ่ เพราะมีการอ้างว่ารัสเซียยังเป็นสังคมนิยม ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในระบบใหม่ที่เขาสร้างขึ้นซึ่งเป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” นอกจากนี้มีการสร้างรูปปั้นเลนินทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพเท็จว่าแนวของสตาลินคือแนวเดียวกับเลนิน มีแค่ตรอทสกี้เท่านั้นที่พยายามรักษาอุดมการณ์เดิมของการปฏิวัติ แต่ในที่สุดเขาก็โดนคนของสตาลินตามไปฆ่าที่เมคซิโก

ทุกวันนี้การปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ถ้ามนุษย์จะปลดแอกตนเอง ในปัจจุบันชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมนิยม แต่สังคมนิยมจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อไม่จำกัดอยู่ในประเทศเดียว ต้องมีการขยายไปสู่ประเทศพัฒนาหลายๆ ประเทศทั่วโลก