Tag Archives: พรรคสังคมนิยมปฏิรูป

รัฐบาลพรรคสังคมนิยมกับการหักหลังขบวนการประชาชน บทเรียนจากโบลิเวีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหารที่ล้มประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย เป็นรัฐประหารที่วางแผนกันระหว่างกองทัพ ตำรวจ และนักการเมืองฝ่ายขวา และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลของกลุ่มประเทศอียูก็ดูเหมือนยอมรับการทำรัฐประหารครั้งนี้ด้วย และหลังจากการทำรัฐประหารมีการประกาศว่าโบลิเวีย “เป็นของคนผิวขาวคริสเตียน” ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนพื้นเมือง

Bolivian Coup
ทหารกับนักการเมืองฝ่ายขวาก่อรัฐประหาร

ทุกคนที่รักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคมควรจะประณาม

ในขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายจะต้องวิเคราะห์ว่าทำไมมันเกิดขึ้นได้ และจุดอ่อนกับข้อผิดพลาดของ อีโว โมราเลส กับรัฐบาลพรรคขบวนการเพื่อสังคมนิยม (MAS) มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นบทเรียนในการต่อสู้

download
อีโว โมราเลส

อีโว โมราเลส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 53.7% และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีโบลิเวียในปี 2005 ท่ามกลางกระแสการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต่อสู้กับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลที่ทำลายวิถีชีวิตกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ศูนย์กลางการต่อสู้นี้อยู่ที่เมือง El Alto ใกล้ๆ กับเมืองหลวง จุดสูงสุดของกระแสนี้เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อมีการลุกฮือต่อสู้ของประชาชนเพื่อคัดค้านการขายระบบน้ำประปาให้บริษัทเอกชน และในปี 2003 กับ 2005 การประท้วงต่อต้านการขายองค์กรก๊าชสามารถล้มประธานาธิบดีสองคน

AP_Morales_Resigns_min

โมราเลส เป็นประธานาธิบดีคนแรกของลาตินอเมริกาที่เป็นคนเชื้อสายพื้นเมือง เรื่องนี้สำคัญเพราะตั้งแต่การล่าอาณานิคมของสเปนเมื่อห้าร้อยปีก่อนหน้านี้ ชนชั้นปกครองในประเทศลาตินอเมริกามักจะเป็นคนผิวขาว และคนพื้นเมืองจากชนเผ่าต่างๆมักจะถูกกดขี่และยากจน

รัฐบาลของ โมราเลส ได้พยายามนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่นก๊าซ แร่ธาตุ ป่า และน้ำมาอยู่ภายใต้รัฐ แทนที่จะอยู่ในมือของบริษัทเอกชนและบริษัทข้ามชาติ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดาที่ยากจนก็ดีขึ้นตามลำดับเพราะรัฐสามารถนำรายได้จากก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุมาใช้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน

ในปี 2008 มีการจัดประชามติเพื่อตรวจสอบประธานาธิบดี โมราเลส ซึ่งเขาชนะ ดังนั้นฝ่ายขวาในเมือง Santa Cruz จึงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล โดยที่สหรัฐอเมริกาหนุนช่วย แต่รัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลว เพราะมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีคนพื้นเมืองร่วมอยู่ด้วย สามารถระงับการกบฏต่อรัฐบาลได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งปี 2009 โมราเลส ชนะด้วยคะแนนเสียงเพิ่ม พรรค MAS เพิ่มที่นั่งในรัฐสภา และมีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ รัฐธรรมนูญนี้เพิ่มสิทธิให้คนจน คนพื้นเมือง และกล่าวถึงการปกป้องป่ากับทรัพยากรธรรมชาติ บรรยากาศทางการเมืองในยุคนั้นต่างกับปัจจุบันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของ โมราเลส พยายามจะปฏิรูปสังคม โดยไม่ปฏิวัติล้มทุนนิยม และการที่รัฐบาลโบลิเวียอาศัยรายได้จากการส่งออกทรัพยากรอย่างสินค้าเกษตร ก๊าซธรรมชาติกับแร่ธาตุ เหมือนรัฐบาลฝ่ายซ้ายอื่นในลาตินอเมริกา หมายความว่ารัฐบาลต้องพัฒนาประเทศตามกติกากลุ่มทุนใหญ่ในระบบทุนนิยมโลก  ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือนักธุรกิจ และรายได้ที่เคยนำมาช่วยคนจนลดลงเมื่อราคาทรัพยากรส่งออกลดลงในตลาดโลก ปัญหานี้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเวเนสเวลาและบราซิลด้วย

เริ่มตั้งแต่ปี 2010 มีการประท้วงของสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องรายได้เพิ่ม และกลุ่มผู้ประท้วงประเด็นอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลสร้างความไม่พอใจเมื่อประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ไม่พอใจกับรัฐบาลภายในพรรค MAS ได้ออกแถลงการณ์ที่วิจารณ์การที่พวกนายธนาคาร บริษัทข้ามชาติ พวกที่ค้าสินค้าเถื่อน และแก๊งยาเสพติด กลายเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายรัฐบาล

มีสองเหตุการณ์ที่สำคัญที่ช่วยสร้างกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เหตุการณ์แรกคือในปี 2011 มีการเสนอให้สร้างถนนเชื่อมโยงกับบราซิลที่ตัดผ่านเขตป่าสงวนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองที่เรียกว่าเขต TIPNIS เหตุผลที่รัฐบาลเสนอให้สร้างถนนสายนี้คือมันจะช่วยในการเจาะก๊าซและแร่ธาตุ เพื่อส่งออกไปสู่ตลาดโลกผ่านบราซิล เป็นการเอาใจนายทุนภายในประเทศ และจะดึงการลงทุนจากบราซิลอีกด้วย ปรากฏว่ามีการประท้วงใหญ่ซึ่งตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างหนักในการปราบ ในที่สุด โมราเลส ต้องออกมาประณามตำรวจและหยุดโครงการสร้างถนน หลังจากนั้น โมราเลส ชนะการเลือกตั้งรอบที่สามในปี 2014 อย่างไรก็ตามในปี 2017 มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างถนนอีกครั้งซึ่งสร้างกระแสความไม่พอใจอย่างมาก

brazil-tipnis01

Sin-título

tipnis-march-la-paz-2aug17

เหตุการณ์ที่สองคือความพยายามของ โมราเลส ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 ทั้งๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการทำประชามติเรื่องนี้ในปี 2016 และโมราเลสแพ้ 51% ต่อ 49% แต่ในปี 2018 ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตราที่ห้ามไม่ให้ โมราเลส สมัครเป็นครั้งที่ 4 ในการเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา และผลการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ค่อยชัดเจน จนมีการกล่าวหาว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายของ โมราเลส พยายามจะพัฒนาชีวิตของคนจน คนพื้นเมือง และกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมก้าวพ้นระบบทุนนิยม และพยายามคานผลประโยชน์ของคนชั้นล่างกับผลประโยชน์ของนายทุน ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การหักหลังประชาชนและเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวาเผด็จการทำรัฐประหาร

เวลาเราศึกษาปัญหาที่เปิดทางให้เกิดรัฐประหารในโบลิเวีย เราควรจะเปรียบเทียบกับนโยบายที่ทำให้ประชาชนผิดหวังและเปิดทางให้ฝ่ายขวาขึ้นมาใน บราซิล กับ กรีซ เพื่อเป็นภาพรวมและบทเรียนสำหรับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในอนาคต

Syriza betrayal
กรีซ

อ่านเพิ่ม

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา” https://bit.ly/2NUhYUL

การปฏิวัติเยอรมัน 1918

ใจ อึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายนปี 1918 ในเยอรมัน เป็นการปฏิวัติที่มีความสำคัญต่อเหตุการณ์โลกไม่น้อย เพราะมีผลทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง และในระยะยาวความไม่สำเร็จของการปฏิวัติ ทำให้การปฏิวัติรัสเซียที่เกิดขึ้นหนึ่งปีก่อนหน้านั้นต้องล้มเหลว ความล้มเหลวนี้เปิดโอกาสให้เผด็จการสตาลินขึ้นมาทำการปฏิวัติซ้อน และเปลี่ยนรัสเซียจากสังคมนิยมไปเป็นทุนนิยมโดยรัฐ เพราะรัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่สร้างสังคมนิยมในประเทศเดียวไม่ได้ จึงมีการตั้งความหวังว่าถ้ามีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน ซึ่งเจริญกว่า มันจะทำให้ระบบสังคมนิยมในยุโรปมีความเข้มแข็งมากขึ้น

bs-20-08-DW-Kultur-Deankfurt-Main-Archiv-jpg

การปฏิวัติเยอรมันระเบิดขึ้นในกองทัพเรือภาคทะเลเหนือของเยอรมันที่ประจำอยู่ที่เมือง Kiel เพราะทหารเรือไม่พอใจกับคำสั่งที่จะต้องออกไปเผชิญหน้ากับกองทัพเรืออังกฤษที่มีพลังเหนือกว่า มันเป็นคำสั่งให้ทหารเรือฆ่าตัวตาย ทหารเรือบนเรือลำต่างๆ ไม่ยอมเดินเรือออกไป ฝ่ายผู้บัญชาการทหารเรือจึงจับเข้าคุก 1 พันคน แต่สตรีในเมือง Kiel พร้อมกับกรรมาชีพ และทหารที่ถูกส่งไปปราบทหารเรือ ลุกขึ้นก่อกบฏ มีการชักธงแดงขึ้นบนเรือรบทุกลำ และกรรมาชีพกับทหารในเมืองตัดสินใจก่อตั้งสภาโซเวียด

revolution1

การปฏิวัติลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ของเยอรมันอย่างรวดเร็ว ในเมืองเบอร์ลิน คาร์ล ลีบนิค แกนนำองค์กรณ์ปฏิวัติสังคมนิยม “สปาร์ตาซิสต์” พบกับผู้แทนขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ และเรียกให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป

นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาของเยอรมันกลัวการปฏิวัติ จึงปลดกษัตริย์ไคเซอร์ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง เอเบอร์ด หัวหน้าพรรคสังคมนิยมปฏิรูป (SPD) เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีความหวังว่าพรรคสังคมนิยมปฏิรูปจะขัดขวางการปฏิวัติและปกป้องระบบทุนนิยม ในวันต่อมา เอเบอร์ด จึงรีบประกาศชักชวนให้มวลชนกลับบ้านและเลิกประท้วง

bild-44326-resimage_v-variantSmall16x9_w-320
คาร์ล ลีบนิค

ส่วนในวันเดียวกัน คาร์ล ลีบนิค ปีนขึ้นบนระเบียงวังของกษัตริย์และปราศรัยกับมวลชนว่า วันแห่งการปฏิวัติมาถึงแล้ว กรรมาชีพและทหารควรเดินหน้าต่อไปและสร้างสภาโซเวียดกับรัฐบาลของคนงานและพลทหารธรรมดา มวลชนมีการตะโกนต้อนรับสาธารณรัฐใหม่ และชักธงแดงขึ้นบนยอดเสาธงของวังกษัตริย์

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย ได้ออกมาแสดงความยินดีกับการยึดอำนาจของคนงานและพลทหารเยอรมัน แต่เตือนไม่ให้มวลชนปล่อยให้รัฐบาลของนายทุนและพวกสังคมนิยมจอมปลอมอยู่ต่อไป มีการส่งเสริมให้นักปฏิวัติสังคมนิยมยึดอำนาจและก่อตั้งรัฐบาลของคนงานและพลทหารภายใต้การนำของ คาร์ล ลีบนิค

Geschichte04-9111918
นสพ. ธงแดง

โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติเยอรมันที่เป็นแกนนำองค์กรณ์ปฏิวัติสังคมนิยม “สปาร์ตาซิสต์” ร่วมกับ คาร์ล ลีบนิค ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ “ธงแดง” ของพวกสปาร์ตาซิสต์ว่า การปฏิวัติเริ่มต้นแล้ว แต่อย่างพึ่งเสียเวลากับการเฉลิมฉลอง เพราะมีภารกิจอีกมากมายที่ต้องเร่งทำ จริงอยู่มีการล้มกษัตริย์ไคเซอร์ แต่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เตือนว่ากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจจริง เป็นเพียงประมุข ผู้ที่มีอำนาจจริงที่อยู่เบื้องหลังคือพวกนายทุน และรัฐบาลของ เอเบอร์ด กับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป ไม่ได้ไปแตะอำนาจนี้แต่อย่างใด สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการยึดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพกับพลทหาร การล้มทุนนิยม และการสถาปนาระบบสังคมนิยม

rosaluxemburg-lasallemarx
โรซา ลัคแซมเบอร์ค

อย่างไรก็ตามอิทธิพลขององค์กรณ์ สปาร์ตาซิสต์ มีแค่ในบางส่วนของกรรมาชีพและทหารที่ก้าวหน้าที่สุดเท่านั้น ที่เหลือยังหลงไว้ใจพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD

Spartacus_fight

นายกรัฐมนตรี เอเบอร์ด จับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อสร้าง “ความสงบเรียบร้อย” สำหรับระบบทุนนิยม มันแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน ดังนั้นในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยม บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์ของพวกนาซี

ต่อมาในเดือนมกราคม 1919 ฝ่ายนายพลและรัฐบาลได้สร้างเรื่องให้มีการลุกฮือเพื่อที่จะมีข้ออ้างในการปราบปรามขบวนการปฏิวัติ ผลคือทั้ง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกทหารไฟรคอพส์จับคุมและพาไปฆ่าพร้อมโยนศพลงคลอง หลังจากนั้นรัฐบาลก็โกหกว่า โรซา ลัคแซมเบอร์ค ถูกม็อบฆ่าทิ้ง และ คาร์ล ลีบนิค ถูกยิงในขณะที่กำลังหลบหนี และพวกคนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย

P1140983
อนุสาวรีย์ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ริมคลองที่เมืองเบอร์ลิน

ปัญหาใหญ่ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค คือลงมือสร้างองค์กรปฏิวัติช้าเกินไปตอนที่กระแสการต่อสู้เริ่มสูงขึ้น แทนที่จะสร้างองค์กรณ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อฝึกฝนความเข้าใจทางการเมืองจากประสบการณ์การต่อสู้อย่างที่ เลนิน เคยทำ เพราะทั้ง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เคยอยู่ในพรรค SPD จนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และไม่ยอมแยกตัวออก

UFSsFZmh
โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค

อ่านเพิ่มเรื่อง โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่นี่ https://bit.ly/2ARmhde 

และ ที่นี่