Tag Archives: พรรคเพื่อไทย

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผู้ประท้วงไม่ควรฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

ถ้าเป้าหมายในใจของผู้ประท้วงคือแค่การกดดันให้รัฐสภาพิจารณาสามข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฏร หรือส่งลูกและฝากความหวังไว้กับพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เรื่องจะจบลงด้วยการประนีประนอมที่แย่ที่สุด

ในเมื่อผู้รักประชาธิปไตยออกมาแสดงพลังเป็นแสนๆ และฝ่าการปราบปรามของตำรวจ มันจะเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเศร้าใจ

อย่าให้ใครมาบอกเราว่า “เราทำได้แค่นี้” หรือ “ต้องใจเย็นปฏิรูปไปทีละก้าว” เพราะการปฏิรูปไปทีละก้าวอาจทำให้มีการถอยหลังทีละก้าวได้ง่าย

เราพอจะเดากันได้ว่าถ้ามีการพิจารณาสามข้อเรียกร้องในสภา มีแค่ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับรัฐรรมนูญที่พวกนั้นจะยอมพิจารณา และคงจะเป็นการ “แก้” รัฐธรรมนูญในบางจุดเท่านั้น ไม่ใช่การร่างใหม่โดยประชาชนรากหญ้า

ในบทความก่อนหน้านี้ผมพยายามเสนอว่าประยุทธ์คงไม่ลาออกง่ายๆ เพราะพวกโจรเผด็จการมันลงทุนไว้เยอะ เช่นเรื่องการแต่งตั้งส.ว.และโกงการเลือกตั้งฯลฯ ถ้าประยุทธ์จะลาออกมันจะเป็นการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง และเสียหน้ามากมาย ถ้าจะทำให้เป็นจริงต้องมีการยกระดับการต่อสู้ไปสู่พลังเศรษฐกิจผ่านการนัดหยุดงานเพื่อทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ หรืออีกทางหนึ่งคือการก่อจลาจลซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะจะมีการเสียเลือดเนื้อมากมาย

ชลบุรี

การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักสหภาพแรงงานบางส่วนออกมาร่วมการประท้วงแล้วที่รังสิตกับชลบุรี การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักเรียนนักศึกษาที่นำการประท้วงได้รับความชื่นชมในสายตาประชาชนเป็นล้านๆ แต่ถ้าจะให้เกิดขึ้น นักเรียนนักศึกษาจะต้องจับมือกับนักสหภาพแรงงานที่ก้าวหน้า และวางแผนเพื่อไปเยี่ยมพูดคุยถกเถียงกับคนทำงานตามสถานที่ทำงานหลายๆ แห่ง และไม่ใช่แค่โรงงาน ควรคุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พนักงานในสำนักงาน และคนที่ทำงานในระบบคมนาคม สรุปแล้วมันต้องมีการลงทุนลงแรงในการทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นจริง พลังที่จะล้มเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นเองแบบง่ายๆ

ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สำหรับพวกเรามันเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลมากมาย และหลายคนมองว่าเป็นข้อเสนออ่อนๆ ที่ไม่ใช่การล้มเจ้า แต่สำหรับทหารมันเป็นเรื่องใหญ่มากและยอมยาก เพราะทหารใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือมา 50 ปีกว่าแล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ทหารเชิดชูเพื่อใช้ในการให้ความชอบธรรมกับระบบเผด็จการ การสร้างกษัตรย์ให้ดูเหมือนมีอำนาจดุจพระเจ้า เป็นวิธีสร้างความกลัวในหมู่ประชาชน ดังนั้นถ้าเขายอมถอยในเรื่องนี้ ทหารจะหมดความชอบธรรมในการแทรกแซงการเมือง ด้วยเหตุนี้เราต้องย้อนกลับมาดูวิธีที่จะกดดันแก๊งประยุทธ์ให้ยอมแพ้ อย่างที่เขียนไว้ข้างบน

การสร้างภาพของทหารที่มีอำนาจเหนือวชิราลงกรณ์

กษัตรย์ไทยไม่มีอำนาจในตัวเอง ทั้ง ร.9 และ ร.10 เป็นคนอ่อนแอทางการเมือง ร.10 อาจทำตัวเหมือนนักเลงกระจอกในเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขา แต่เขาสั่งการทหารไม่ได้ สาเหตุที่คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่ากษัตริย์มีอำนาจ ก็เพราะทหารและชนชั้นนำไทย รวมถึงทักษิณด้วย ได้เชิดชูกษัตริย์มานานและสร้างขึ้นมาให้ดูเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้เรากลัวที่จะตั้งคำถามกับระบบชนชั้นที่กดทับเรา และยอมจำนนต่อแนวคิดว่า “บางคนเกิดสูง บางคนเกิดต่ำ” สาเหตุที่คนจำนวนมากยอมรับความคิดแบบนี้ไม่ใช่เพราะความโง่ แต่เป็นเพราะขาดความมั่นใจที่จะคิดทวนกระแสของชนชั้นปกครอง และการขาดความมั่นใจแบบนี้มักจะหายไปเมื่อมีการเคลื่อนไหวประท้วงของมวลชน นักมาร์คซิสต์เรียกการมองปรากฏการณ์ในโลกแบบ “กลับหัวกลับหาง” ว่าเป็นอาการของสภาพแปลกแยก Alienation และเราแก้ได้ด้วยการต่อสู้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นกับตาในไทย ตอนนี้ร.10 ไมใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป แต่คนที่ตาสว่างควรจะตาสว่างเพิ่มขึ้นและเข้าใจว่าศัตรูหลักของเราคือทหารกับพรรคพวกที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ขึ้นมาแต่แรก

ถ้าจะขอให้จบที่รุ่นนี้ ต้องมีการยกระดับการต่อสู้ ไม่ใช่ส่งลูกให้นักการเมืองในรัฐสภา

ใจ อึ๊งภากรณ์

โจร500 สืบทอดอำนาจเผด็จการตามคาด แต่ทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยงอมืองอเท้าไม่นำการต่อสู้นอกสภา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในที่สุดผลของการวางไข่พิษโดยเผด็จการประยุทธ์ก็บรรลุผลตามคาด พลเมืองที่รักประชาธิปไตยส่วนใหญ่คงไม่แปลกใจนัก เพราะเราเห็นการออกแบบประชาธิปไตยจอมปลอมโดยคณะโจรมานาน

ยุง

แต่ประเด็นที่พวกเราทุกคนต้องตั้งเป็นคำถามกับแกนนำพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยคือ “ทำไมไปเล่นตามกติกาโจรทุกอย่างและไม่เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับผลล่วงหน้า?”

การร่วมในกระบวนการเลือกตั้งของเผด็จการ และผลคะแนนเสียงที่ออกมา คือพรรคที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะต้านเผด็จการได้เสียงข้างมากและได้จำนวนที่นั่งข้างมาก เป็นโอกาสทองที่จะประกาศต่อมวลชนว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่คัดค้านการสืบทอดอำนาจโดยเผด็จการ และเป็นโอกาสทองที่จะใช้ความชอบธรรมจากผลการเลือกตั้งนี้ เพื่อสร้างขบวนการมวลชนทีเป็น “แนวร่วมเพื่อประชาธิปไตย” นอกรัฐสภา

แต่พรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยโยนโอกาสทองอันนี้ทิ้งลงน้ำ

แทนที่จะเริ่มสร้างขบวนการมวลชนเพื่อเป็นพลังในการทำลายเผด็จการ แกนนำของพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย เลือกที่จะเล่นตามเกมส์เผด็จการหมดเลย มีแต่การยอมรับว่าจะเป็นฝ่ายค้านในสภาน้ำเน่า มีแต่การอาศัยกระบวนการอยุติธรรมของศาลเตี้ยใต้ตีนทหาร มีแต่การมองไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น และการสร้างพรรคต่อไปเพื่อเล่นตามแนวเดิม

เผด็จการในไทยหรือที่อื่นทั่วโลกไม่เคยถูกล้มโดยการเล่นตามกติกาเผด็จการ เผด็จการจะถูกล้มได้ก็ด้วยพลังมวลชนบนท้องถนนและในสถานที่ทำงาน ขบวนการมวลชนเพื่อประชาธิปไตยในไทยควรจะถูกสร้างตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อมีกระแส “คนอยากเลือกตั้ง” แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ไม่สนใจ

ตอนนี้การเล่นตามเกมส์เผด็จการ และการหมกมุ่นกับกฏหมายโจรและศาลโจร ถึงทางตันแล้ว เพราะเรามีรัฐบาลทหารเถื่อนนำโดยอาชญากรที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสส.

สำหรับนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว “สลิ่ม” ที่เคยแหกปากโกหกเรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” ในยุคทักษิณ สิ่งที่เรามีวันนี้คือเผด็จการรัฐสภาตัวจริง

สภา
ภาพจาก ILaw

พวกเราคงทราบดีเรื่องที่มาที่ไปของการตั้งรัฐบาลเถื่อนชุดนี้ เริ่มจากการทำรัฐประหารล้มประชาธิปไตยของประยุทธ์ ผ่านการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายประชาธิปไตยก่อนและหลังรัฐประหาร ผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญเผด็จการ ผ่านการเขียนยุทธศาสตร์แห่งชาติ20ปี ผ่านการเขียนกติกาการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจ ผ่านการใช้ศาลเตี้ยยุบพรรค ผ่านการแต่งตั้งสว.เถื่อนโดยทหาร และขั้นตอนสุดท้ายคือการใช้กกต.ของทหารเพื่อโยกย้ายจำนวนที่นั่งจากพรรคอนาคตใหม่สู่พรรคเล็กที่ไม่มีใครสนับสนุน ผลก็อย่างที่เราเห็นอยู่

สิ่งเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของทุกคน แต่แกนนำพรรคอนาคตใหม่กับพรรคเพื่อไทย ไม่เคยเสนอว่าจะจัดการกับการโกงการเลือกตั้งแบบนี้อย่างไร มีแต่การสร้างความฝันจอมปลอมว่าแค่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งจะนำไปสู่การฆ่าเผด็จการได้ และมีแต่การสร้างความฝันว่ารัฐสภาจะคว่ำรัฐธรรมนูญและกติการทหารได้

ดู https://bit.ly/2Wu8eGH

ประเด็นที่เผชิญหน้าเราทุกคนคือ จะมีการทบทวนแนวยอมจำนนของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ หรือจะยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลเถื่อนต่อไป

ในบทความฉบับหน้าจะมีข้อเสนอว่าเราจะสู้เผด็จการอย่างไร

วิธีการคัดค้านเผด็จการแบบปัญญาอ่อน: จับมือกับแมลงสาบและงูเห่า หรือหวังพึ่งศาลเตี้ย

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังการเลื่อนประกาศผลการเลือกตั้งไปหลายสัปดาห์ภายใต้ข้ออ้างไร้สาระเรื่องพิธีกษัตริย์ เราก็เห็นว่า กกต. ใช้เวลานั้นเพื่อบิดเบือนผล ผ่านการแก้สูตรจำนวน สส. บัญชีรายชื่อ โดยตัดจำนวน สส. ของพรรคอนาคตใหม่ และดึงพรรคขนาดเล็กที่ไม่เคยประกาศจุดยืน เข้ามาในรัฐสภา

เป้าหมายชัดๆ ของการเปลี่ยนสูตรที่ใช้คำนวณ สส. บัญชีรายชื่อครั้งนี้ ก็เพื่อลดจำนวน สส. ของฝ่ายพรรคที่ต้านทหารและสนับสนุนประชาธิปไตย จนขาดเสียงข้างมากที่เคยมี เพื่อเปิดทางให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

Dt-n4cyVYAA7HNH

พรรคขนาดเล็กต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อ และไม่ทราบจุดยืน คงถูกซื้อโดยแก๊งประยุทธ์ไปแล้ว ทหารเผด็จการจะได้สืบทอดอำนาจต่อไปอย่างที่คนจำนวนมากคาดการณ์ไว้

พร้อมกันนั้นนักการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ก็โดนคดีไร้สาระ เพื่อกลั่นแกล้งไม่ให้ปฏิบัติการได้ แต่พรรคทหารไม่มีทางโดนคดี

ยิ่งกว่านั้นทหารเผด็จการก็แต่งตั้งพรรคพวกของตนเป็น สว. อีก 250 คน เพื่อประกันว่าทหารจะอยู่ต่อไปได้

นี่คือโฉมหน้าประชาธิปไตยจอมปลอมของประยุทธ์

อย่าลืมว่าคะแนนเสียงทั้งหมดทั่วประเทศ ชี้ให้เห็นว่าพรรคที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะต้านเผด็จการทหาร ได้คะแนนมากกว่าพรรคที่ประกาศว่าจะสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ และอย่าลืมว่าพรรคที่ต้านทหารได้ สส. เขต มากกว่าพรรคที่สนับสนุนประยุทธ์ด้วย [ดู https://bit.ly/2H91pBg ]

พูดง่ายๆ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง แต่ทหารและหมารับใช้ทหารใน กกต. จัดการขโมยผลและโกงการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกติกาประชาธิปไตยและความต้องการของพลเมืองส่วนใหญ่

จับมือกับฆาตกรที่สนับสนุนเผด็จการเพื่อคัดค้านประยุทธ์?

มันเป็นเรื่องน่ารังเกียจอย่างยิ่งที่มีข่าวว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ปัญญาอ่อนถึงขนาดคิดจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย โดยอ้างว่าจะสกัดไม่ให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้

cc45f-558953_10151808470973823_83426302_n

การเสนอฆาตกรอย่างอภิสิทธิ์เป็นนายก หรือแม้แต่การจับมือกับพรรคแมลงสาบและงูเห่า ถือว่าเป็นการทรยศอุดมการณ์ประชาธิปไตยและตบหน้าถ่มน้ำลายใส่ประชาชนเสื้อแดงที่เคยออกมาต่อสู้กับเผด็จการในอดีตและเสียเลือดเนื้อไปมากมาย ยิ่งกว่านั้นมันเป็นวิธีการที่โง่เขลาอย่างยิ่ง เพราะการจับมือกับพรรคที่ไม่เคารพประชาธิปไตยสองพรรคนี้จะไม่มีวันนำไปสู่สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย จะไม่มีวันลบผลพวงเผด็จการ และจะไม่มีวันทำให้สังคมไทยเดินหน้าไปสู่ยุคใหม่ที่พรรคอนาคตใหม่ชอบพูดถึง

มันเป็นแนวการเมืองไร้เดียงสาที่มองว่า “การเมือง” เป็นแค่การเล่นเกมในรัฐสภาภายใต้กติกาของเผด็จการ โดยที่พลเมืองไทยเป็นล้านๆ ที่ต้องการประฃาธิปไตยเป็นแค่ “ผู้ชม” ที่ไม่ควรมีบทบาทหรือการมีส่วนร่วม และมันเป็นการเล่นเกมกับนักการเมืองระยำต่ำช้าอีกด้วย นี้หรือคือ “อนาคตใหม่” ของสังคมไทย?

DemLogo

อีกตัวอย่างหนึ่งของแนวการเมืองไร้เดียงสาที่มองว่า “การเมือง” เป็นแค่การเล่นเกมในรัฐสภา คือการที่พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ทำตัวมือไม้อ่อนเป็นเหยื่อ แล้วบอกว่าจะ “ฟ้องศาล” เพื่อหวังให้ศาลขัดขวางการโกงการเลือกตั้งของกกต.

ศาลเตี้ย

hqdefault

จำไม่ได้หรือว่าพฤติกรรมศาลเตี้ยไทยเป็นอย่างไรในหลายปีที่ผ่านมา? ทุกคดีสำคัญๆ ที่ศาลพิจารณาเข้าข้างพวกเผด็จการทั้งสิ้น ทำไมความจำสั้นจัง?

การพึ่งศาลแปลว่าคดีเรื่องการเลือกตั้งจะลากยาวเป็นเดือนๆ ปีๆ ในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ภายใต้อำนาจมืดของเผด็จการ ในทางปฏิบัติมันเท่ากับเป็นการยอมรับการโกงการเลือกตั้ง และในที่สุดเมื่อประกาศผลของคดีก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

CiHZjUdJ5HPNXJ92GRkJPGM3rHldarQkMI

พลังมวลชนนอกรัฐสภาเป็นเรื่องชี้ขาด แต่อนาคตใหม่กับเพื่อไทยไม่กล้าเดินเข้าหามวลชน

ในขณะนี้คงจะมีพลเมืองเป็นล้านๆ คนที่โกรธไม่พอใจกับ กกต. และการโกงการเลือกตั้งของฝ่ายเผด็จการ แกนนำของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยควรจะใช้อิทธิพลและความชอบธรรมที่มาจากการได้เสียงประชาชนในเขตต่างๆ เพื่อดึงคนทั่วประเทศมาชุมนุมใหญ่อย่างสันติที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ซึ่งจะเป็นการสำแดงพลังของประชาชนที่รักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน [ดู https://bit.ly/2Jsu6dN ]

COVER-คนอยากเลือกตั้ง

การเน้นพลังมวลชนแบบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างกระแสประชาธิปไตยในประเทศของเรา และปูทางไปสู่การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ไม่ได้สร้างจากการเคลื่อนไหวของมวลชน ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนที่สร้างจากการฝากความหวังไว้กับศาลที่เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนที่สร้างจากการเล่นเกมกับนักการเมืองน้ำเน่า

ถ้าแกนนำพรรคฝ่ายประชาธิปไตยไม่ยอมพิจารณาการเคลื่อนไหวแบบนี้ ก็เท่ากับยอมแพ้ และผิดสัญญากับประชาชนว่าจะต่อต้านเผด็จการอย่างถึงที่สุด ถ้าเป็นเช่นนี้ประชาชนธรรมดาจะต้องเกาะกลุ่มกันและค่อยๆ สร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเอง แต่ถ้าเราจะชนะ มันต้องขยายไปมากกว่าแค่คนสองคนยืนถือป้าย มันต้องมีการจัดตั้งมวลชน เรามีความชอบธรรมอย่างยิ่งที่จะทำในสิ่งนี้ เราไม่ควรยอมแพ้

 

วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง: การแบ่งขั้วยังดำรงอยู่ และการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมีความสำคัญยิ่ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนไทยที่รักประชาธิปไตยรู้อยู่ในใจอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เสรีและเป็นธรรม เพราะใครๆ ก็ทราบถึงมาตรการต่างๆ ของเผด็จการที่จะสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญทหาร แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20ปี การแต่งตั้งสว. 250คน หรือความลำเอียงของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ

แต่คนไทยที่รักประชาธิปไตยจำนวนมากอยากฝันถึงเรื่องดีๆ จึงปล่อยให้ตนเองแอบหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะการเลือกตั้ง และยุคแห่งเผด็จการจะสิ้นลง ตรงนี้เข้าใจได้

แต่ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองความจริงที่ทุกคนรู้ในใจอยู่แล้ว คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการลบผลพวงของเผด็จการมันยังไม่จบ มันพึ่งเริ่มในรูปแบบใหม่เท่านั้นเอง และการกาบัตรเลือกตั้งไม่สามารถฆ่าเผด็จการได้ง่ายๆ

มันมีหลายคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของ กกต. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุติประกาศคะแนนโดยไม่มีเหตุผลในเช้าวันที่25มีนาคม การที่คะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ปัญหาบัตรจากนิวซีแลนด์ เรื่อง “บัตรเสีย” 2 ล้านเสียง และการที่ตัวเลขที่กกต.เดิมอ้างว่าเป็นการนับคะแนน 100% มีข้อผิดพลาดมากมาย เรารู้ด้วยว่า คสช. โกงการเลือกตั้งด้วยหลายวิธีที่อ้างกฏหมายที่มันเขียนเอง การยุบพรรคไทยรักษาชาติเป็นตัวอย่างสำคัญที่กระทบต่อคะแนนเสียง

ปัญหาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจคงจะเกิดจากสองสาเหตุหลักคือ ความไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงของ กกต. และการจงใจโกงการเลือกตั้งโดย คสช.

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่ประชาชนสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับเผด็จการประยุทธ์ได้ และผลคะแนนทั่วประเทศคงสะท้อนความจริงในระดับหนึ่ง เพราะไม่ว่าคะแนนเสียงทั่วประเทศจะเปลี่ยนหรือ “เขย่ง” แค่ไหน ภาพรวมก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก คือฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนมากกว่าฝ่ายเผด็จการ

จำนวนคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ในแง่ที่ประยุทธ์เสนอเพื่อให้ความชอบธรรมกับการตั้งรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ

จำนวนคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับมีความสำคัญในการประเมินเสียงประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการ แล้วเทียบกับเสียงที่สนับสนุนเผด็จการ เราจำเป็นต้องไม่ลืมว่ากติกาการเลือกตั้งภายใต้ คสช. ทำให้พรรคการเมืองแตกเป็นหลายพรรคย่อย ดังนั้นการดูแค่คะแนนของพรรคเดียวจะไม่สะท้อนภาพจริง

จากการประกาศผลทั้งหมด100%โดยกกต. ในวันที่28มีนาคม จะเห็นว่าในหมู่พรรคการเมืองที่ประกาศล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งว่าต้องการลบผลพวงของเผด็จการ คือพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ และเพื่อชาติ พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนทั้งหมด 15.9 ล้านเสียง หรือ 41.5% ของผู้มาใช้สิทธิ์

พรรคพลังประชารัฐของประยุทธ์ได้ 8.4 ล้านเสียง และถ้าบวกกับเสียงของพรรคภูมิใจไทย 3.7 ล้าน และพรรครวมพลังประชาชาติ 0.4 ล้าน จะเห็นว่าพรรคที่ประกาศล่วงหน้าว่าจะสนับสนุนเผด็จการได้แค่ 12.5 ล้านเสียง หรือ 32.6% เท่านั้น เราไม่สามารถนับเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 4 ล้านเสียงรวมเข้าไปตรงนี้ได้เพราะผู้นำพรรคประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่สนับสนุนให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

พูดง่ายๆ ฝ่ายเผด็จการแพ้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน

พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนไปมากมาย ตกจาก 11.4 ล้านเสียงในปี ๒๕๕๔ เหลือแค่ 4 ล้าน สาเหตุคงจะเป็นเพราะสลิ่มเสื้อเหลืองเทคะแนนที่เคยให้ประชาธิปัตย์ไปสู่พรรคเผด็จการโดยตรง พวกนั้นคงอยากสนับสนุนเผด็จการตัวจริงแทนที่จะเลือกทางอ้อม การด่ากันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้งสะท้อนสิ่งนี้

ถ้าพิจารณาว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๔ 1.1 เท่า เนื่องจากประชากรที่อายุเกิน 18 ปีเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าคะแนนทั้งหมดของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคทหารปีนี้ คล้ายคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๕๕๔

สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ในปีนี้ คือ 74.7% ของผู้มีสิทธิ์ 51.2 ล้าน สัดส่วนพอๆกับการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ ที่ 75% ของผู้มีสิทธิ์ 46.9 ล้าน ไปใช้สิทธิ์

ผลคะแนนทั่วประเทศแสดงให้เห็นว่าการแบ่งขั้วระหว่าง “เหลืองกับแดง” หรือ “เผด็จการกับประชาธิปไตย” ยังคงดำรงอยู่หลังจากการครองอำนาจเผด็จการมาหลายปี ไม่มีการแก้วิกฤตแต่อย่างใด

พรรคเพื่อไทยได้คะแนนน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ลงสมัครในทุกเขตเพื่อไม่ให้แข่งกับพรรคไทยรักษาชาติ และพอไทยรักษาชาติถูกยุบ คนที่เคยอยากจะลงให้พรรคนี้คงวุ่นวายพอสมควร มันอาจช่วยอธิบายได้บ้างว่าทำไมพรรคภูมิใจไทยเพิ่มคะแนนจาก 1.3 ล้านในปี ๕๔ เป็น 3.7 ล้านในปีนี้

คำพูดของกษัตริย์วชิราลงกรณ์เรื่องการ “เลือกคนดี” คงไม่มีผลอะไรทั้งสิ้นกับคนที่อยากเลือกฝ่ายเผด็จการหรือคนที่อยากเลือกฝ่ายประชาธิปไตย เพราะไม่ค่อยมีความหมาย และตีความยังไงก็ได้แล้วแต่ว่าอยู่ฝ่ายใด

ในแง่ของการกำหนดจำนวนสส.ในสภา จำนวนสส.บัญชีรายชื่อยังไม่แน่นอนและคงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ้าง เพราะสูตรในการคำนวณมันซับซ้อน ทั้งนี้เพื่อกีดกันพรรคใหญ่ของทักษิณเป็นหลัก แต่ถ้าดูจำนวน สส. เขต พรรคเพื่อไทยได้มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่ประกาศต้านทหารทั้งหมด ได้มากกว่าพรรคที่ประกาศก่อนวันเลือกตั้งว่าจะสนับสนุนประยุทธ์

พูดง่ายๆ เผด็จการประยุทธ์แพ้ทั้งเสียงประชาชน และที่นั่งเขตในสภา

การที่เพื่อไทยนำทีมพรรคฝ่ายประชาธิปไตย 6 พรรคประกาศว่าจะตั้งรัฐบาล ถือว่ามีความชอบธรรม ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการเพื่อไทยระบุว่า ถ้ารวมพรรคเศรษฐกิจใหม่ของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แล้ว คาดว่าจะมีที่นั่งถึง 256 เสียง แต่ตัวเลขที่นั่งนี้เปลี่ยนได้ และมีหลายคนตั้งคำถามว่าไว้ใจ มิ่งขวัญ ได้แค่ไหน

การที่กกต.เสนอว่าจะรายงานผลอย่างเป็นทางการในเดือนพฤภาคม เป็นเรื่องตลกร้าย แต่ที่ชัดเจนคือเป็นโอกาสทองที่จะโกงการเลือกตั้งผ่านการแจกใบเหลือง ใบส้มหรือใบแดง

วิกฤตประชาธิปไตยไทยคงแก้ไม่ได้ถ้าเราเคารพกติกาที่ไร้ความชอบธรรมของเผด็จการ ไม่ว่าฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายประชาธิปไตยสามารถตั้งรัฐบาลได้ ทักษิณพูดถูกว่าไม่ว่าฝ่ายไหนเข้ามาก็ล้วนแต่ขาดเสถียรภาพ แต่สิ่งที่ทักษิณไม่พูดและไม่เคยพูดก็คือเรื่องความสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่เพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

ร่วมกันลงคะแนนให้พรรคต้านทหาร – สรุปนโยบายหลักของพรรคเหล่านี้

ใจ อึ๊งภากรณ์

พลเมืองไทยที่รักประชาธิปไตยไม่ควรตั้งความหวังสูงเกินไปสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงในอีกไม่กี่วัน เราทราบดีว่าเผด็จการประยุทธ์พยายามที่จะโกงการเลือกตั้งด้วยหลายวิธี เช่นการแต่งตั้งสว.ของฝ่ายทหาร 250 คน ซึ่งแปลว่าฝ่ายพรรคเผด็จการจะสามารถอ้างว่าได้เสียงข้างมากในสภาทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้เลือก

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปี ที่ออกแบบเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการไปอีกนาน และจำกัดความอิสระของรัฐบาลประชาธิปไตยในการบริหารประเทศ บวกกับศาลและวุฒิสภาที่เป็นทาสรับใช้ของทหาร จะทำให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเคารพ การยุบพรรคไทยรักษาชาติคือตัวอย่างที่ดี

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งประชาธิปไตย

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าเราต้องร่วมกันลงคะแนนเสียงให้พรรคต้านทหาร เรื่องนี้สำคัญมากเพราะอะไร?

เราต้องมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นโอกาสที่ประชาชนจะลงมติไม่ไว้วางใจเผด็จการและพวกทหารที่ชอบก่อรัฐประหาร มันจะเป็นการลงมติในเชิงสัญญลักษณ์ที่มีค่ามหาศาลในการให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยแท้

ลองนึกภาพดูก็ได้ ถ้าพรรคที่ต้านทหารไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ พวกทหารจะยกเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการอยู่ต่ออีกนาน กรณีนายพลเอลซีซีในประเทศอียิปต์เป็นคำเตือนที่สำคัญ

ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องเข้าใจกันว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ เราต้องข้ามพ้นอคติส่วนตัวและสร้างความสามัคคีในการลงคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งจากกลุ่มพรรคต้านทหาร ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคสามัญชน และพรรคประชาชาติ

และที่สำคัญคืออย่าไปหวังอะไรจากพรรคต่างๆ เพราะเรากำลังลงมติไม่ไว้วางใจในเผด็จการในเชิงสัญญลักษณ์เท่านั้น

ทุกพรรคที่เอ่ยถึงข้างบนมีปัญหา ไม่มีพรรคไหนพร้อมจะลงมือสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจรทันทีด้วยการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน มีแต่การเสนอว่าจะสร้างในอนาคตอันไกลหรือแค่เพิ่มสวัสดิการบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับการลงมือสร้างรัฐสวัสดิการทันที นอกจากนี้ไม่มีพรรคไหนในรายชื่อข้างบนที่เสนอให้ยกเลิกหรือแม้แต่ปฏิรูปกฏหมายเผด็จการ 112 และไม่มีพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจนอีกด้วย

พรรคเพื่อไทยมีข้อดีตรงที่เสนอตัดงบประมาณทหาร แต่ทำไปเพื่อช่วยนายทุนน้อย มีการเสนออีกว่าจะซื้อรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษแทนการซื้อรถถัง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่พรรคนี้มีนักการเมืองประเภท “มาเฟีย” หรือ “โจร” หลายคน เช่น พัลลภ ปิ่นมณี เสนาะ เทียนทอง และเฉลิม อยู่บำรุง และมี อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีที่เคยเพิ่มความเข้มข้นในใช้ 112 เพื่อการปราบประชาชานที่ใช้อินเตอร์เน็ด

พรรคอนาคตใหม่มีจุดเด่นตรงที่ประกาศว่าจะลบผลพวงของเผด็จการและตัดงบประมาณทหารเพื่อเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน แต่คำประกาศดังกล่าวขาดประเด็นสำคัญคือการสร้างพลังมวลชนนอกรัฐสภาที่จะมาหนุนช่วย นอกจากนี้มีการพูดถึงปัญหาปาตานี และการเปิดรับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นนโยบายก้าวหน้า แต่พรรคนี้เป็นพรรคนายทุนไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคฝ่ายซ้าย ดังนั้นการเพิ่มประโยชน์ให้กับแรงงานจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองผลประโยชน์นายทุนก่อน และทั้งๆ ที่มีปีกแรงงาน แต่นั้นเป็นแค่ไม้ประดับ เพราะไม่มีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจต่อรองให้สหภาพแรงงานและร่างกฏหมายแรงงานใหม่ ซึ่งตรงนี้ต่างกับนโยบายพรรคสามัญชน นอกจากนี้พรรคอนาคตใหม่มีข้อเสนอสำหรับบำนาญคนชราที่ตั้งไว้แค่ 1800 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าพรรคอื่นหลายพรรค

พรรคสามัญชนมีข้อเสนอให้รวมสามระบบประกันสุขภาพเข้าด้วยกัน ซึ่งต่างกับพรรคอื่นและเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดดิการ แต่ไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจนเรื่องการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวย บำนาญถ้วนหน้าสำหรับคนชราพรรคตั้งไว้ในระดับ 3000 บาทต่อเดือน ซึ่งทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับ และถือว่าเป็นข้อเสนอก้าวหน้า โดยทั่วไปพรรคนี้มีอิทธิพลของเอ็นจีโอสูง ไม่ใช่พรรคของแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม และนโยบายหลักๆ เน้นแต่สิ่งแวดล้อมกับปัญหาชนบท และยังมีอิทธิพลของแนวเศรษฐกิจชุมชนสูง ซึ่งสะท้อนวิธีการทำงานประเด็นปัญหาเดียวของเอ็นจีโอ อย่างไรก็ตามข้อเสนอของพรรคให้หนุนพลังสหภาพแรงงานและเขียนกฏหมายแรงงานใหม่เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า และนโยบายยกเลิกการใช้พาราคอตเพื่อคืนอาหารปลอดภัยให้ประชาชนเป็นนโยบายก้าวหน้าเช่นกัน

เราอาจพูดได้ว่าพรรคสามัญชนเป็นพรรคซ้ายอ่อนๆ ซึ่งดีกว่าพรรคอื่นๆ มีจุดยืนเคียงข้างคนจนที่ชัดเจน แต่เป็นพรรคเล็ก แกนนำตั้งความหวังว่าอย่างมากอาจได้สส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเท่านั้น

ในเรื่องปัญหากฏหมายแรงงานฉบับปัจจุบันดูบทความนี้ https://prachatai.com/journal/2019/02/81152

พรรคเพื่อชาติไม่ค่อยมีนโยบายชัดเจน มีการพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำแต่รายละเอียดน้อยเกินไป มีการพูดถึง “อนาคตดิจิตอล” เหมือนเป็นคำขวัญสวย แต่ขาดรูปธรรมพอสมควร มีการเสนอบำนาญสำหรับคนชราในระดับ 2000 บาทต่อเดือน และมีนโยบายสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนักเรียนแพทย์ตำบลละ 1 คน เพื่อให้กลับมาช่วยบ้านเกิด ซึ่งเป็นเรื่องดี

พรรคประชาชาติมีจุดเด่นตรงที่เน้นการสร้างสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม และบำนาญสำหรับคนชราในระดับ 3000 บาทต่อเดือน แต่ทั้งๆ ที่มีฐานเสียงในภาคใต้ ไม่ค่อยมีนโยบายที่ชัดเจนและก้าวหน้าเรื่องการใช้การเมืองแทนการทหารในการคืนเสรีภาพให้ชาวปาตานี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับรายละเอียดของนโยบายเท่าไร ประเด็นหลักคือการต้านทหาร เพราะเรารู้กันว่ากติกาการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

โกงเลือกตั้ง

ดังนั้นเราต้องร่วมกันลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่ต้านทหารโดยข้ามพ้นอคติส่วนตัวบางอย่าง เราไม่ควรไปเลือกพรรคอื่นที่อวยทหารโดยเด็ดขาด เพราะพรรคอื่นเช่นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยเป็นตัวแทนของคนที่ทำลายประชาธิปไตย

หลังจากที่มีการนับคะแนน ถ้าคะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เทให้พรรคต้านทหาร เราต้องเรียกร้องให้ประยุทธ์และแก๊งทหารถอนตัวออกจากการเมืองไทยสักที

 

เงื่อนไขสำคัญในการออกมาประท้วงการโกงการเลือกตั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยควรเตรียมตัวรับมือกับการโกงการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหารของประยุทธ์ ขั้นตอนแรกคือการคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะมียุทธศาสตร์อะไรที่เหมาะสม เพราะเราไม่สามารถงอมืองอเท้าน้อมรับการโกงการเลือกตั้งโดยทหาร

แน่นอนพวกเราทราบดีว่า #เผด็จการทหาร มีแผนสืบทอดอำนาจไปอีก 20ปี ด้วยการแต่งตั้งสว. แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งกกต. และการใช้แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ20ปีเพื่อมัดมือรัฐบาลที่มาจากการเลอกตั้ง ประเด็นนี้เราทราบมานานแล้ว แต่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องที่จะทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจจนพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหว

ประเด็นสำคัญคือการโกงการเลือกตั้งหลังจากที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเรียบร้อยไปแล้ว

ในประการแรกหลังวันเลือกตั้งเราจะต้องนับคะแนนเสียงทั้งหมดที่ประชาชนแต่ละคนทั่วประเทศลงให้พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ สามัญชน เพื่อชาติ และประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคหลักที่มีนโยบายต้านทหารที่ชัดเจน

หลังจากนั้นเราจะต้องนำคะแนนเสียงทั้งหมดที่ประชาชนลงให้พรรคต้านทหาร มาเปรียบเทียบกับคะแนนเสียงที่ประชาชนลงให้พรรคทหารและพรรคของสุเทพ

การนับคะแนนเสียงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการนับจำนวนสส.

เราควรจะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนการลงประชามติว่าประชาชนต้องการประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ในขั้นตอนนี้จำนวน สส. ไม่สำคัญ เพราะเราทราบว่ามีการใช้สูตรแปลกๆ และการแต่งตั้ง สว. เพื่อให้ประยุทธ์กับพรรคพวกได้เปรียบ

ถ้าจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่ต้านประยุทธ์มากกว่าคะแนนเสียงที่สนับสนุนประยุทธ์ เราต้องชัดเจนว่าประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใดที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าที่นั่งในสภาจะเป็นอย่างไร

ถ้าประยุทธ์หน้าด้านผลักตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์แบบนั้น การออกมาประท้วงต้านประยุทธ์จะมีความชอบธรรมสูง และถ้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสนับสนุนการประท้วงก็จะยิ่งดี แต่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องรอนักการเมือง เพราะบ่อยครั้งนักการเมืองลังเลใจไม่กล้านำ

571d8aa2c038bd71e98317cb1cad16cdb98096fad3d964da3c320acffed5b9f0

ถ้ามีการประท้วงเราต้องชัดเจนว่ามันไม่ใช่การประท้วงแสดงความไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง แต่เป็นการประท้วงเพราะเผด็จการทหารและพรรคทหารไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

อีกกรณีที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการออกมาประท้วงคือกรณีที่พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคสามัญชนหรือพรรคเพื่อไทยถูกยุบ หรือกรณีที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือแกนนำพรรคต้านทหารคนอื่น ถูกลงโทษหรือจำคุก เพราะมันจะเป็นมาตรการที่ขัดกับการเลือกตั้งเสรีในระบบประชาธิปไตย เรายอมไม่ได้

ใครคิดที่จะเล่นพรรคเล่นพวกเพราะชอบหรือไม่ชอบ ธนาธร หรือพรรคอนาคตใหม่ หรือใครก็ตามจากฝ่ายประชาธิปไตยที่โดนลงโทษทางการเมือง จะเป็นคนปัญญาอ่อนทางการเมืองโดยสิ้นเชิง เราต้องข้ามพ้นอคติแบบนั้น

การประท้วงการโกงการเลือกตั้งอย่างที่พูดถึงนี้ มีความสำคัญในการเดินหน้าลดผลพวงของเผด็จการ ซึ่งเป็นงานที่คงใช้เวลา เราจึงยอมจำนนตั้งแต่ก้าวแรกไม่ได้ การประท้วงในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การกระทำที่ “เข้าทางเผด็จการ” หรือสร้างเงื่อนไขให้เผด็จการอยู่ต่อยาว ตรงกันข้ามการนิ่งเฉยเป็นสูตรที่ทำให้เผด็จการอยู่ต่ออย่างสบาย และที่สำคัญคือวิธีการกับรูปแบบการประท้วงต้องถูกกำหนดจากนักเคลื่อนไหวในไทย ควรเรียนบทเรียนจากอดีต และควรพิจารณาการนัดหยุดงานอีกด้วย ควรเน้นมวลชนไม่ใช่ทำในรูปแบบกลุ่มเล็กๆในเชิงสัญญลักษณ์

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทุกคน คงหวังว่าพรรคต้านทหารจะได้เสียงในรัฐสภาพอที่จะตั้งรัฐบาลพลเรือนได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแต่มีการกีดกันไม่ให้ตั้งรัฐบาล นั้นก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะออกมาประท้วงด้วยความชอบธรรม

ประชาธิปไตยไม่เคยสร้างได้จากการเคารพกฏหมายเผด็จการหรือการอาศัยสส.ในรัฐสภาอย่างเดียว

ถ้าเราไม่คุยและเตรียมตัวล่วงหน้าเรื่องนี้ พลเมืองไทยจะเป็นแค่เหยื่อของเผด็จการที่ไร้พลัง ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเถิด

ทำไมฝ่ายขวาฟาสซิสต์ในยุโรปเพิ่มคะแนนเสียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ข่าวล่าสุดจากการเลือกตั้งในสวีเดนเมื่อต้นเดือนกันยายนรายงานว่าพรรค “ประชาธิปัตย์สวีเดน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่มีต้นกำเนิดจากพวกนาซี สามารถเพิ่มคะแนนเสียง 4.7% เป็น 17.6% จนกลายเป็นพรรคอันดับที่สามของประเทศรองจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคสายกลาง

สื่อหลายแห่งและพรรคประชาธิปัตย์สวีเดนเอง อ้างว่าเป็นเพราะสวีเดนรับผู้ลี้ภัยมา “มากเกินไป” แต่สาเหตุสำคัญที่แท้จริง เป็นเพราะรัฐบาลจากพรรคกระแสหลักในอดีต ได้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเพื่อค่อยๆ ทำลายรัฐสวัสดิการผ่านการรัดเข็มขัดและการเพิ่มบทบาทของบริษัทเอกชน มีการตัดอัตราภาษีที่เก็บจากบริษัท กลุ่มทุน และคนรวยอีกด้วย

การตัดสวัสดิการและการกดค่าแรงในสวีเดน เริ่มตั้งแต่วิกฤตการเงินในกลางทศวรรษที่ 90 และมาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 ผลคือความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [ดู https://bit.ly/2p0LVFD ]

พรรคกึ่งฟาสซิสต์ของสวีเดนโฆษณาว่าประชาชน “ต้อง” เลือกระหว่างรัฐสวัสดิการและการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งเป็นคำโกหกเหยีดเชื้อชาติสีผิว และเป็นการสร้างแพะรับบาปในรูปแบบคนต่างชาติ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ซึ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ และคุณภาพของรัฐสวัสดิการเพิ่มได้ถ้ามีรัฐบาลที่พร้อมจะเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มทุนและคนรวย และพร้อมจะเลิกการใช้นโยบายเสรีนิยม

คะแนนเสียงของพรรคกระแสหลักสวีเดนลดลง ทั้งๆ ที่มีการลอกแบบจุดยืนบางอย่างที่คัดค้านผู้ลี้ภัยจากพรรคประชาธิปัตย์สวีเดน ในขณะเดียวกัน “พรรคซ้าย” ซึ่งเป็นพรรคอดีตคอมมิวนิสต์ สามารถเพิ่มคะแนนเสียงโดยไม่ยอมจำนนต่อนโยบายที่เหยียดเชื้อชาติ

ผลของการขยับไปทางขวาของพรรคกระแสหลัก นอกจากจะไม่ช่วยกู้คะแนนแล้ว ยังมีผลในการทำให้นโยบายของพวกฟาสซิสต์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาประชาชนบางคน คำพูดเหยียดเชื้อชาติของ ดอนัลด์ ทรัมป์ และเงินสนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปที่มาจากพรรคพวกของทรัมป์ในสหรัฐ ก็มีส่วนช่วยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนไม่ต่างจากปรากฏการณ์ในประเทศอื่นๆ ของยุโรป คือพรรคกึ่งฟาสซิสต์ ที่ประกอบไปด้วยแกนนำที่เป็นนาซี แต่สร้างภาพปลอมว่า “เคารพประชาธิปไตย” สามารถเพิ่มคะแนนเสียง พรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวาคะแนนลดลง ทั้งๆ ที่ขยับจุดยืนไปทางขวาและเริ่มโจมตีผู้ลี้ภัย จนจุดยืนของพวกฟาสซิสต์ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับในประชาชนหลายส่วนส่วน

skynews-germany-chemnitz-hitler_4403794
ฟาสซิสต์ในเมืองChemnitz

ในรัฐสภาเยอรมันตอนนี้มี สส. ที่เป็นนาซี และในเมือง Chemnitz เมื่อเดือนที่แล้ว หลังข่าวการแทงกัน มีการอาละวาดของอันธพาลนาซีที่เดินขบวนและทำร้ายคนสีผิวที่อยู่ในเมือง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกต่อต้านโดยมวลชนที่คัดค้านฟาสซิสต์

Chemnitz-assembly091118
ต้านฟาสซิสต์ที่ Chemnitz

รัฐบาลอิตาลี่ตอนนี้ประกอบไปด้วย “พรรคห้าดาว” และ พรรคLega ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และมีการกีดกันผู้ลี้ภัยที่กำลังจมน้ำในทะเลไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกันนั้นมีการส่งตำรวจไปปรามชาวโรมา (ยิปซี) และข่มขู่คนมุสลิมภายในประเทศ

_101876768_mediaitem101876767
Matteo Salvini ผู้นำพรรคกึ่งฟาสซิสต์ในอิตาลี่

รัฐบาลออสเตรียเป็นรัฐบาลพรรคแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยพรรคฟาสซิสต์ (ชื่อพรรคเสรีภาพ!)

ในเดนมาร์ครัฐบาลปัจจุบันอาศัยเสียงสนับสนุนจาก “พรรคประชาชนเดนมาร์ค” ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และผลคือประเทศเดนมาร์คใช้กฏหมายคนเข้าเมืองโหดที่สุดและกีดกันผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง

marine-le-pen-fn-really-may-day-paris
Le Pen ในฝรั่งเศส

ในฝรั่งเศส “พรรคแนวร่วมชาติ” ของ Marine Le Pen ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “รวมตัวกันเพื่อชาติ” เป็นพรรคนาซี และ นางLe Pen ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

jobbik
อันธพาลพรรค Jobbik ในฮังการี่

ในฮังการี่ พรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ใช้นโยบายเหยียดมุสลิมและผู้ลี้ภัยอย่างเปิดเผย และในรัฐสภาฮังการี่ยังมี พรรค Jobbik ซึ่งเป็นพรรคฟาสซิสต์อย่างเปิดเผยที่ได้ 19% ของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

ปัจจัยร่วมที่สำคัญซึ่งนำไปสู่สภาพแบบนี้ของการขึ้นมาของฝ่ายขวาสุดขั้วในยุโรปคือ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และการใช้นโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัด ที่กดค่าแรงและทำลายสวัสดิการ ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวา บวกกับการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและสร้างแพะรับบาปในรูปแบบผู้ลี้ภัยหรือคนมุสลิม

ในขณะเดียวกันเราไม่ควรมองข้ามการเพิ่มคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายบางพรรคที่ปฏิเสธนโยบายรัดเข็มขัดและการกีดกันผู้ลี้ภัย เช่นพรรคแรงงานอังกฤษของ Jeremy Corbyn  พรรคของ Jean-Luc Mélenchon ในฝรั่งเศส หรือพรรคซ้ายในเยอรมัน

วิธีที่จะคัดค้านกระแสเหยียดสีผิวและการขึ้นมาของฟาสซิสต์คือ ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างแนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวและฟาสซิสต์ เพื่อออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวของพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการสร้างแนวร่วมแบบนี้ในอังกฤษ เยอรมัน กรีซ และออสเตรีย สอง สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่คัดค้านนโยบายเสรีนิยมกับการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะในหมู่สหภาพแรงงาน

sutr080918_web
แนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวในอังกฤษ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2OcScsD , https://bit.ly/2x7iyWm

 

พรรคการเมืองที่ต้านเผด็จการควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การที่นักการเมืองอย่าง วัฒนา เมืองสุข และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเยี่ยมและให้กำลังใจแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่โดนขังหลังจากการชุมนุม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

images-771303392988.33234804_1679739312111511_4525595980254412800_n

แต่พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนว่าต้านเผด็จการ และจะลบผลพวงของเผด็จการประยุทธ์ จะต้องทำมากกว่านี้ เพราะในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็น “ละครประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบเผด็จการทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจไปข้างหน้าอีก 20 ปี

ทั้งรัฐธรรมนูญทหาร แผนการเมืองในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของทหาร การแต่งตั้งสว. การแต่งตั้งตุลาการ การเขียนกฏหมายเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง กกต.ฯลฯ จะมีผลในการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี และไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เพราะจะมีการกำหนดว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายอะไรบ้าง และจะมีการมัดมือรัฐบาลในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และการลบผลพวงของเผด็จการประบุทธ์ จะเป็นเรื่องที่ “ผิดกฏหมาย” ตามคำนิยามของเผด็จการ แต่ทั้งๆ ที่ผิดกฏหมายเผด็จการ มันเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมีความชอบธรรมสูงตามมาตรฐานประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ล้วนแต่ผ่านกระบวนการของการฝืนกฏหมายทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเผด็จการของ “ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด” ชอบอ้างว่าทำตามกฏหมายเสมอ ก็แน่นอนล่ะ!กฏหมายของมัน มันกับพรรคพวกล้วนแต่ร่างเองออกเองทั้งนั้น

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะละครการเลือกตั้งในอนาคต จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฏหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ

สรุปแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว

การไปเยี่ยมและให้กำลังใจกับแกนนำการประท้วงที่ถูกจับเป็นเรื่องดี แต่มันต้องมีการพัฒนาไปสู่การไปร่วมประท้วงด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการชักชวนมวลชนเข้ามาเพิ่ม ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนฝ่ายทหารจะจับตาดูพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่บางทีมันต้องมีการแบ่งงานกันทำในหมู่สมาชิกและแกนนำของพรรค

33424580_1680606478691461_2432532333853671424_o

ในมุมกลับนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ จะต้องไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากพรรคภายใต้ข้ออ้างว่าจะ “รักษาความบริสุทธิ์” แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมให้กลุ่มหรือพรรคเข้ามาครอบงำ ดังนั้นการนำและแผนการทำงานต้องมาจากมติประชาธิปไตยภายในองค์กร ซึ่งดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแบบนี้

นอกจากนี้การพูดถึง “ความบริสุทธิ์” มันเป็นการสร้างภาพลวงตาพอๆ กับคนที่อ้างว่าหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นคน “บริสุทธิ์” และมันเป็นการดูถูกคนอื่นๆ เป็นล้านๆ ที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองกับพรรคการเมืองว่าเป็นคน “สกปรกที่เสียความบริสุทธ์”

ถ้าเราดูประวัติของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย เช่นการสร้างขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา หรือการสร้างเสื้อแดง จะเห็นว่ามีการกระตุ้นและประสานงานโดยพรรคการเมือง

ในช่วง ๑๔ ตุลา จะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในกรณีเสื้อแดงก็เป็นพรรคของทักษิณ

ในยุคนี้การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยต้องทำแบบไม่เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งแปลว่าต้องมีการสร้างแนวร่วมระหว่างหลายกลุ่ม ไม่ใช่คุมโดยพรรคใดหรือกลุ่มใดอย่างผูกขาด ต้องมีการเปิดกว้างยอมรับหลากหลายมุมมองภายใต้จุดยืนร่วมสำคัญๆ เกี่ยวกับการลบผลพวงของเผด็จการ

บทเรียนอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับยุคนี้มาจากขบวนการเสื้อแดง ที่เคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันมีสองบทเรียนที่สำคัญคือ หนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคคอยประสานงานและกระตุ้นให้เกิดมันก็ไม่เกิดแต่แรก สอง การที่พรรคของทักษิณนำขบวนการเสื้อแดงมีผลทำให้เสื้อแดงถูกแช่แข็งและทำลายโดยนักการเมืองของทักษิณได้ เมื่อพรรคมองว่าไม่ควรเคลื่อนไหวต่อทั้งๆ ที่สังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการ

จริงๆ ประสบการณ์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่า พรรคที่จะให้ความสนใจกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างจริงจัง จากล่างสู่บน มักเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการสหภาพแรงงานและคนชั้นล่างโดยทั่วไป และจะเป็นพรรคที่ไม่ได้หมกมุ่นกับรัฐสภาจนลืมเรื่องอื่นๆ อีกด้วย แต่พรรคการเมืองแบบนี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาในไทยอย่างจริงจัง

 

[หลายภาพถ่ายโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ แต่เขาไม่มีส่วนในการเขียนบทความนี้  ซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียว]