Tag Archives: พรรคเสือดำ

โมฮัมมัด อาลี นักมวยผู้มีจิตสำนึกทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนเวียดนามไม่เคยเรียกผมเป็น นิกเกอร์

 นี่คือคำพูดอันมีชื่อเสียงของนักมวยแชมป์โลกชื่อโมฮัมมัด อาลี และคำว่า “นิกเกอร์” เป็นคำหยาบคายเหยียดสีผิวที่คนผิวขาวหลายคนใช้เรียกคนผิวดำ ในไทยคนไทยจำนวนหนึ่งก็ใช้คำว่า “ไอ้มืด”  ในลักษณะเหยียดสีผิวเช่นกัน

ในปี 1967 โมฮัมมัด อาลี เอ่ยคำพูดดังกล่าวออกมาเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลถามเขาว่า ทำไมเขาฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ยอมถูกเกณฑ์ทหารไปรบในเวียดนาม ในคลิปวิดีโอข้างใต้ อาลี อธิบายว่าเขาจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปทำสงครามฆ่าพี่น้องคนผิวคล้ำๆ หรือคนจนที่อดอยากต้องลุยโคลน  “คนเหล่านี้ไม่เคยเรียกผมว่านิกเกอร์ ไม่เคยลงประชาทัณฑ์ฆ่าพวกผม ไม่เคยเผาบ้านพวกผม ไม่เคยข่มขืนแม่ของพวกเรา ผมจะไปยิงพวกนี้เพื่ออะไร? เพื่อมหาอำนาจอเมริกาหรือ? ผมไม่ไปหรอก ลากผมเข้าคุกเลย!” และในคลิปเดียวกัน เมื่อเถียงกับนักศึกษาผิวขาวฝ่ายขวาเรื่องการไม่ยอมไปรบที่เวียดนาม เขาอธิบายว่าคนจีน คนญี่ปุ่น คนเวียดนามไม่ใช่ศัตรูของเขา “ศัตรูของผมคือคนผิวขาว พวกคุณไม่เคยสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสำหรับคนผิวดำอย่างผม แล้วคุณจะให้ผมไปรบเพื่อพวกคุณหรือ?”

ดูวิดีโอ https://youtu.be/vd9aIamXjQI

ในยุคนั้นคนผิวดำหลายคนไม่เห็นด้วยกับการไปรบเพื่อรับใช้รัฐบาลสหรัฐทีกดขี่ตัวเองมาตลอด และเริ่มมีการตื่นตัวและสร้างองค์กรเคลื่อนไหวของคนผิวดำ เช่นพรรคเสือดำ นอกจากนี้ทหารสหรัฐผิวดำที่ไปรบที่เวียดนาม เมื่อกลับมาท่ามกลางการกบฏของกองทัพ ก็กลายเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อสิทธิเสรีภาพอีกด้วย ปี ค.ศ. 1968 เป็นปีที่มีกระแสการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำและคนอื่นๆ ทั่วโลก

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/1UBwfkT

อาลี เปลี่ยนชื่อจากชื่อภาษาอังกฤษ และหันไปนับถือศาสนาอิสลาม เพราะเขามองว่าพวกที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นพวกที่กดขี่คนผิวดำมานาน นักต่อสู้เพื่อคนผิวดำ “มัลคอม เอกส์” ก็ทำเช่นกัน และในยุคนั้นพรรคเสือดำก็จับอาวุธเพื่อปกป้องคนผิวดำจากความรุนแรงของตำรวจอีกด้วย

โมฮัมมัด อาลี ปราศรัยในการประชุมองค์กร "มุสลิมดำ"
โมฮัมมัด อาลี ปราศรัยในการประชุมองค์กร “มุสลิมดำ”

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/1U4JADz

 

มัลคอม เอกส์
มัลคอม เอกส์
มัลคอม เอกส์ กับ โมฮัมมัด อาลี
มัลคอม เอกส์ กับ โมฮัมมัด อาลี

คนผิวดำในสหรัฐเดิมถูกกวาดต้อนมาจากอัฟริกา แล้วถูกขายเป็นทาสเพื่อทำงานในไร่ฝ้ายและไร่อ้อย มันทำให้เราเข้าใจได้ว่าระบบทุนนิยมของสหรัฐสร้างขึ้นมาบนรากฐานการกดขี่ขูดรีดทาสผิวดำ ต่อมาหลังจากที่มีการเลิกทาส คนผิวดำยังถูกกดขี่มาตลอด และไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนผิวขาวทั้งๆที่สหรัฐอ้างตัวเป็นศูนย์กลางของ “โลกเสรี” ในยุคสงครามเย็น การอ้างตัวเป็นโลกเสรีของสหรัฐเป็นข้ออ้างในการกดขี่ประเทศอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐทำสงครามอันป่าเถื่อนในเวียดนามเพื่อยับยั้งการปลดปล่อยตัวเองของประชาชนเวียดนาม

ขณะที่ประชาชนตะวันตกในยุโรปและสหรัฐกำลังลุกขึ้นสู้ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติเวียดนาม” หรือ “เวียดกง” บุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐกลางเมืองไซ่ง่อนและยิงปืนออกมาสู้กับทหารอเมริกันในการลุกฮือ “ตรุษเวียดนาม” การรุกสู้ของเวียดกงครั้งนี้ เป็นสัญญาณสำคัญที่ส่งไปทั่วโลก เพื่อพิสูจน์ว่าสหรัฐไม่สามารถเอาชนะกองทัพอาสาสมัครของประเทศยากจนเล็กๆในเอเชียได้ สัญญาณนี้เป็นเครื่องเตือนใจและให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกว่าการรวมตัวต่อสู้ของ “ผู้น้อย” ทั้งหลายเอาชนะยักษ์ใหญ่ได้ และคนหนุ่มสาวไทยก็เรียนบทเรียนนี้เช่นกัน เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เกิดขึ้น แค่ 5 ปีหลังจากนั้น และเป็นแรงบันดาลใจต่อไปให้กับนักศึกษาอินโดนีเซียในการเผชิญหน้ากับเผด็จการซูฮาร์โต และนักศึกษาในประเทศกรีซอีกด้วย

โมฮัมมัด อาลี เป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ทุกสีผิวทั่วโลก เพราะเขาเป็นคนผิวดำที่ไม่ยอมก้มหัวจำนนต่อระบบทุนนิยมและอำนาจรัฐที่เหยียดสีผิว เขาให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระแสรุกสู้ในยุคนั้นด้วย

ถ้าท่านเคารพ โมฮัมมัด อาลี และมองว่าเขาเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านต้องชักชวนให้เพื่อนๆ คนไทยเลิกใช้คำหยาบคายเหยียดเชื้อชาติ เช่น “ไอ้มืด” “แขก” “ญวน” “เจ๊ก” หรือ “ฝรั่ง” และท่านต้องชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายให้เลิกดูถูกคนงานข้ามชาติ คนมุสลิม หรือผู้ลี้ภัยอีกด้วย

 

พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา

พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเดือนตุลาคม 1966 ที่เมืองโอคแลนด์ รัฐคาลิฟอร์เนีย ฮิววี่ นิวตัน กับ บอบบี้ เสียล์ ได้ก่อตั้ง “พรรคเสื้อดำเพื่อการปกป้องตนเอง” สำหรับคนผิวดำ ต่อมาหกเดือนหลังจากนั้น มีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ “เสื้อดำ” ฉบับแรก

10312076_10152419982264925_1175205723_n

     พรรคเสื้อดำได้รับมรดกความคิดจากนักเคลื่อนไหวผิวดำชื่อ มัลคอม เอกซ์ ซึ่งถูกยิงตายในปี 1965 คนผิวดำเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคทาสจนถึงทุกวันนี้ และนามสกุลของหลายคนมาจากพวกเจ้าทาส มัลคอม จึงเปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “X”

มัลคอม เอกซ์ เคยเป็นอันธพาลที่ติดคุก แต่ในคุกเขาไปเข้ากับกลุ่มคนผิวดำที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยที่มีการปฏิเสธศาสนาคริสต์และสังคมของคนผิวขาว หลายคนหันไปรับศาสนาอิสลามและพยายามสร้างสังคมเฉพาะสำหรับคนผิวดำ แนวความคิดที่ปฏิเสธการร่วมมือกับคนผิวขาวทุกคน มีส่วนคล้ายๆ แนวคิดของพวกสิทธิสตรีบางสายที่มองว่าผู้ชายทุกคนกดขี่ผู้หญิงทุกคนและผู้หญิงต้องจัดตั้งแยกจากชาย

มัลคอม เอกซ์ เปลี่ยนแนวคิดจากแนวเดิม โดยเริ่มมองว่าคนผิวดำกับคนผิวขาวในระดับล่างควรร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม เขาเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยม และเน้นเสมอว่าคนผิวดำมีสิทธิ์ใช้กำลังป้องกันตนเอง ถ้าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือพวกเหยียดสีผิว มัลคอม เอกซ์ เป็นส่วนหนึ่งของกระแส “พลังดำ” ที่เน้นว่าคนผิวดำจะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป นักกิฬาผิวดำสองคนที่ได้เหรียญทองในการแข่งโอลิมปิค แล้วชูกำปั้นที่สวมถุงมือดำในพิธีรับเหรียญ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนี้ นักมวยชื่อดัง มูฮัมมัด อาลี ที่เปลี่ยนชื่อตนเองจาก “ชื่อทาส” เดิม แล้วหันมานับถืออิสลาม ก็ไม่ยอมไปรบในสงครามเวียดนาม เพราะมองว่าเป็นสงครามของรัฐผิวขาว และคนเวียดนามไม่เคยกดขี่ดูถูกคนผิวดำแบบเขา

ถ้าจะเข้าใจที่มาของพรรคเสื้อดำ เราต้องดูประวัติการต่อสู้ของคนผิวดำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐทำให้คนผิวดำที่เคยทำงานในชนบทเป็นหลัก ย้ายเข้าไปทำงานในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ทางเหนือ ซึ่งการรวมตัวกันของคนผิวดำแบบนี้ สร้างความมั่นใจเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ในปี 1955 มีการเปิดประเด็นโดย โรซา พาร์กส์ สตรีผิวดำที่ไม่ยอมนั่งทางด้านหลังของรถเมล์ ซึ่งเป็นส่วนของรถเมล์ที่คนผิวดำเคยถูกบังคับให้นั่ง สังคมสหรัฐในยุคนั้นกดขี่คนผิวดำโดยการบังคับให้ต้องใช้ชีวิตแยกกัน และแน่นอนคนผิวดำได้รับการบริการที่แย่ที่สุดเสมอ การประท้วงของ โรซา พาร์กส์ ซึ่งเป็นผู้หญิงฝ่ายซ้ายที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดประกายให้เกิด “ขบวนการสิทธิพลเมือง” ที่นำโดยนักศึกษาผิวดำและผิวขาว และมี มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เป็นแกนนำด้วย ต่อมา มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มหันไปสนใจประเด็นอื่นๆ เช่นการคัดค้านสงครามเวียดนามและความเหลื่อมล้ำทางสังคมทุกด้าน แต่เขาไม่ทันพัฒนาความคิดไปถึงสังคมนิยมเพราะถูกยิงตาย

10306828_10152419982239925_1501304398_n10318769_10152419982244925_2015312474_n

     “ขบวนการสิทธิพลเมือง” เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ทุกครั้งที่ลงบนท้องถนนก็จะต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงสุดขั้วจากตำรวจ นี่คือสาเหตุที่นักกิจกรรมหลายคนเริ่มปฏิเสธแนวสันติวิธี และเสนอให้สู้ด้วยอาวุธเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่ถูกคุกคาม หนึ่งในนั้นคือ สโต๊คลี คอร์ไมเคิล ที่เป็นอดีตนักศึกษาที่เคยใช้สันติวิธี แต่ขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของพรรคเสือดำในปี 1968 บ่อยครั้งจะเห็นผู้ปฏิบัติการของพรรคเสือดำถือปืนยาวยืนตรวจสอบพฤติกรรมของตำรวจต่อประชาชนผิวดำในสถานการณ์ประจำวัน พรรคเสือดำนำหนังสือปกแดงของ เหมา เจ๋อ ตุง ไปขายในมหาวิทยาลัย เพื่อหาทุนซื้ออาวุธ และหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่สมาชิกพรรคต้องอ่าน

ในปี 1965,66,67 และ68 มีการลุกฮือของคนผิวดำในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ กรณีหลังสุดมีการเผาเมืองต่างๆ เมื่อ มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง โดนยิงตาย

ภายในพรรคเสือดำมีการถกเถียงอย่างถึงที่สุดว่าควรจะมีการร่วมมือกับคนผิวขาวหรือไม่ และความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคอันนี้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

พรรคเสือดำขยายสมาชิกและสาขาไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีคนงานผิวดำจำนวนมาก และพรรคมีนโยบาย 10 ข้อที่เป็นเป้าหมายในการต่อสู้คือ

1. เสรีภาพสำหรับคนผิวดำ เพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดชีวิตตนเอง

2. ต้องมีการสร้างงานสำหรับทุกคน ถ้านายทุนผิวขาวไม่ยอมสร้างงานให้คนผิวดำอย่างทั่วถึง ต้องยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของชุมชนคนผิวดำ

3. รัฐเหยียดสีผิวของอเมริกาต้องยกเลิกการปล้นคนผิวดำ

4. ต้องมีการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ ผ่านการสร้างสหกรณ์และการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ

5. ต้องมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กผิวดำ

6. คนผิวดำต้องไม่ถูกเกณฑ์ทหาร

7. ตำรวจต้องยุติความรุนแรงต่อคนผิวดำ และคนผิวดำควรถืออาวุธเพื่อป้องกันตนเอง

8. ให้ปล่อยคนผิวดำออกจากคุก เพราะคุกสหรัฐเต็มไปด้วยคนผิวดำ

9. เมื่อคนผิวดำต้องขึ้นศาล ให้มีคณะลูกขุนที่ประกอบไปด้วยคนผิวดำ

10. คนผิวดำต้องการที่ดิน อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม ความยุติธรรม และสันติภาพ และถ้าจำเป็นต้องทำก็ควรมีสิทธิ์แยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา

ในรูปธรรมมีการพยายามตั้งองค์กรในชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจน ซึ่งคาดว่าสามารถเลี้ยงอาหารมื้อเช้าให้เด็กหนึ่งหมื่นคนในเมืองโอคแลนด์

จุดอ่อนมหาศาลของพรรคเสือดำคือ ไม่มีการเชื่อมโยงกับพลังชนชั้นกรรมาชีพ และเน้นการแยกจัดตั้งคนผิวดำกับคนผิวขาว ในแง่หนึ่งมันมาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายในสหรัฐท่ามกลางการปราบปรามในสงครามเย็น เพราะในอดีตฝ่ายซ้ายในสหรัฐเน้นสามัคคีคนชั้นล่างทุกสีผิว และเน้นการจัดตั้งคนงานในสหภาพแรงงาน การแยกตัวออกจากคนผิวขาวชั้นล่าง เป็นปฏิกิริยาต่อการเหยียดสีผิว โดยไม่มีการใช้แนวชนชั้นในการวิเคราะห์

ในสมัยนั้นมีองค์กรปฏิวัติของคนผิวดำหลายกลุ่มทั่วประเทศ เช่นในเมือง ดีทรอยท์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่สำคัญที่สุดในสหรัฐในยุคนั้น “สันนิบาตปฏิวัติของคนงานผิวดำ” เข้าไปจัดตั้ง “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ในหลายโรงงานของบริษัท ไครซ์เลอร์ จีเอ็ม และฟอร์ด องค์กรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ DRUM ที่ย่อมาจาก “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติโรงงานดอช” ดอช เป็นรถยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดย ไครซ์เลอร์

“ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ในเมืองดีทรอยท์ มีลักษณะเป็นสหภาพปฏิวัติสังคมนิยม แต่ใช้แนวลัทธิสหภาพ คือปฏิเสธการสร้างพรรค และใช้สหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆ ที่อิสระต่อกัน เพื่อเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่“ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ของเมืองดีทรอยท์ จะจัดตั้งแต่คนผิวดำเท่านั้น ไม่สนใจคนผิวขาวในโรงงานเดียวกัน แนวทางนี้มีจุดอ่อนมหาศาล เพราะไม่นำไปสู่ความสามัคคีของคนงานในโรงงานเดียวกัน แต่มันเป็นผลจากการที่สหภาพแรงงานระดับชาติของคนงานประกอบรถยนต์ UAW ไปจับมือกับนายจ้าง ผู้นำแรงงานก็เป็นหมูอ้วนกินเงินเดือนสูง และไม่ให้ความสนใจกับปัญหาแรงงานผิวดำเลย

พรรคเสือดำถูกทำลายโดยองค์กรติดอาวุธของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจและ เอฟบีไอ ในช่วง 1970 มีการกลั่นแกล้งตั้งข้อหาเท็จกับแกนนำพรรค และส่งตำรวจเข้าไปยิงทิ้ง เจ เอดกา ฮูเวอร์ หัวหน้า เอฟบีไอ เคยกล่าวว่าพรรคเสือดำเป็นภัยสูงสุดต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วน “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ก็ถูกนายจ้างทำลายหลังจากการนัดหยุดงานไม่สำเร็จ

10327231_10152419982249925_111355901_n

     อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของขบวนการปฏิวัติของคนผิวดำในสหรัฐในยุคนั้น และการลุกฮือต่อสู้ สร้างความหวาดกลัวเป็นอย่างมากในหมู่ชนชั้นนำ ดังนั้นมีการพยายามซื้อตัวคนผิวดำระดับกลาง เพื่อให้มีตำแหน่งทางการในรัฐ มีการแต่งตั้งคนผิวดำเป็นหัวหน้าตำรวจ นายพล ผู้พิพากษา และพนักงานรัฐระดับสูง บางคนมีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย แต่สำหรับคนผิวดำส่วนใหญ่ เขาถูกทอดทิ้งและปล่อยให้ยากจนลงท่ามกลางสังคมแบบอาชญากรรมและยาเสพติด เราจะเห็นว่า โอบามา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐ และนักการเมืองผิวดำอื่นๆ เป็นผลพวงของนโยบายยุคนั้น

สำหรับนักต่อสู้รุ่นใหม่ในปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงไทย การศึกษาบทเรียนของการลองผิดลองถูกของพรรคเสือดำและกลุ่มอื่นๆ เป็นประโยชน์สำหรับการต่อสู้ทุกวันนี้

[อ้างอิง http://www.marxists.org/history/usa/workers/black-panthers/

Dan Georgakas & Marvin Surkin (1998) “Detroit: I Do Mind Dying”. Red Words, London]