Tag Archives: พรรคแรงงาน

ทำไมพรรคแรงงานอังกฤษแพ้การเลือกตั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คำอธิบายเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่อังกฤษของพวกกระแสหลักหรือบุคคลที่ขี้เกียจวิเคราะห์การเมืองอย่างเป็นระบบ จะไม่อธิบายความจริงเกี่ยวกับสังคมอังกฤษเลย การพูดว่าประชาชนยังชื่นชมกับแนวการเมืองอนุรักษ์นิยม หรือการเสนอว่ากรรมาชีพงมงาย หรือการเสนอว่าพรรคแรงงานกับ เจเรมี คอร์บิน “ซ้ายเกินไป” เป็นการวิเคราะห์ผิวเผินที่ไม่ตรงกับโลกจริงแต่อย่างใด

นโยบายที่พรรคแรงงานเสนอภายใต้ ‎เจเรมี คอร์บิน เป็นนโยบายที่ก้าวหน้าที่สุดในรอบสี่สิบปี มีการเสนอว่าต้องลงทุนเพิ่มในระบบรักษาพยาบาล หลังจากที่ถูกตัดภายใต้นโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม มีการเสนอให้ตัดค่าโดยสารรถไฟ แก้ปัญหาคนไร้บ้าน แก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม มีการเสนอให้นำสาธารณูปโภคกลับมาเป็นของรัฐเพื่อลดค่าน้ำค่าไฟและเพื่อควบคุมปัญหาโลกร้อน มีการเสนอให้สร้างงานในขณะที่ลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน มีการเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนส่วนน้อยที่เป็นคนรวย และนโยบายดังกล่าวโดยรวมแล้วเป็นที่ถูกใจของประชาชนเพราะเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่

เราทราบว่านโยบายดังกล่าวเป็นที่นิยมของคนจำนวนมากเพราะพรรคแรงงานได้คะแนนเสียงทั้งหมด 10.3 ล้านเสียง และเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีกรรมาชีพมากมาย เช่น London, Liverpool, Manchester, Birmingham และ Bristol ล้วนแต่เป็น “เขตแดง” ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราทราบกัน พรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนทั้งหมด 13.9 ล้านเสียง และได้ที่นั่งมากขึ้นจนได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา

ทำไมพรรคแรงงานแพ้?

ในการเลือกตั้งอังกฤษปีนี้พรรคแรงงานแพ้เพราะถ้าเปรียบเทียบกับปี 2017 พรรคแรงงานไม่ยอมเคารพผลของประชามติเรื่องการออกจากอียูและเอียงไปในทางอยู่ต่อในอียู ยิ่งกว่านั้นพรรคหันมาเสนอว่าต้องมีประชามติรอบใหม่ ซึ่งเป็นการเอนไปทางขวาเพื่อเอาใจชนชั้นกลาง

uk-divide-2

คนที่อยู่ในเขตทางเหนือและตะวันออกของอิงแลนด์ ที่อาศัยในชุมชนกรรมาชีพที่อุตสาหกรรมโดนทำลาย รู้สึกโดนทอดทิ้งโดยอียูและรัฐบาลกลางของอังกฤษมานาน ในปี 2016 เขาจึงทุ่มเทคะแนนเพื่อออกจากอียู

ในการเลือกตั้งปี 2017 เขายังเชื่อว่านโยบายซ้ายของ คอร์บิน จะปรับปรุงชีวิตของเขาได้ เพราะพรรคแรงงานยืนยันว่าจะเคารพผลประชามติที่จะออกจากอียู แต่เมื่อพรรคแรงงานในการเลือกตั้งปีนี้ไม่ยอมเคารพความไม่พอใจของเขากับอียู และดูเหมือนจะเอาใจคนชั้นกลางทางใต้มากกว่าที่จะฟังปัญหาของเขาในการเลือกตั้งรอบนี้ เขาเริ่มหมดความเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคแรงงาน และคนจำนวนหนึ่ง คือประมาณ 10% ของคนที่เคยลงให้พรรคแรงงาน จึงผิดหวังอย่างหนักและหันไปลงคะแนนให้พรรค Brexit กับพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนที่เปลี่ยนข้างในเขตต่างๆ ทางเหนือและตะวันออกมีจำนวนเพียงพอที่จะทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมชนะ แต่เราควรเข้าใจด้วยว่าพวกนี้ให้จอห์นสัน”ยืม”เสียงของเขาชั่วคราวเท่านั้นเพื่อให้อังกฤษออกจากอียู

อีกปัญหาหนึ่งของพรรคแรงงาน ถ้าเทียบกับปี 2017 คือวิธีหาเสียงของคอร์บิน เพราะในปี 2017 มีการชุมนุมใหญ่ตามเมืองต่างๆ และคอร์บินก็มาปราศัยให้คนจำนวนมาก มันสร้างกระแสและความตื่นเต้น แต่ปีนี้พรรคตัดสินใจที่จะหาเสียงในกรอบกระแสหลักแทน

Jeremy-Corbyn-12.12.2019

การที่ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานเอง โจมตีคอร์บินอย่างต่อเนื่องโดยไม่แคร์ว่าพรรคจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง ก็เป็นประเด็น การกล่าวหาเท็จว่าคอร์บินเกลียดยิวเพราะสนับสนุนชาวปาเลสไตน์เป็นตัวอย่างที่ดี และการที่ทีมของคอร์บินไม่ยอมรุกสู้ตีคำกล่าวหากลับไปก็เป็นปัญหา

แน่นอนสื่อกระแสหลักก็รุมโจมตีพรรคแรงงาน แต่นั้นเป็นเรื่องปกติและเกิดในปี 2017 มันจึงไม่อธิบายอะไรมากนัก ในแง่หนึ่งการที่คนจะเชื่อสื่อของนายทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความมั่นใจในตนเอง และความมั่นใจนั้นมีความสัมพันธ์กับระดับการต่อสู้และการนัดหยุดงานในสังคม ปัญหาคือระดับการนัดหยุดงานในอังกฤษช่วงนี้ค่อนข้างต่ำ

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สื่อกระแสหลักแห่งหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่า บอริส จอห์นสัน อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของสหราชอาณาจักร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองสกอตแลนด์ ต่างจากอิงแลนด์มากพอสมควร

สกอตแลนด์เป็นประเทศเล็กในส่วนเหนือของสหราชอาณาจักร มีประชากรแค่ 5.4 ล้านคน เมือเทียบกับ 66.4 ล้านคนทั่วอังกฤษ และในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ในสกอตแลนด์ไม่ได้สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยม แต่บ่อยครั้งถูกบังคับให้อยู่ในประเทศที่มีรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม หลังจากที่มีการกระจายอำนาจบางส่วนไปสู่รัฐสภาสกอตแลนด์เราจะเห็นนโยบายทางสังคมที่เน้นความยุติธรรมเท่าเทียมมากกว่าในอิงแลนด์ แต่อำนาจของรัฐสภาสกอตแนด์มีจำกัด จึงเกิดกระแสให้มีประชามติให้แยกดินแดนขึ้นในปี 2014 ฝ่ายที่อยากแยกดินแดนแพ้ 44.7% ต่อ 55.3% ซึ่งถือว่าสูสีกัน

การที่อิงแลนด์ลงคะแนนส่วนใหญ่ที่จะออกจากอียูในขณะที่สกอตแลนด์ลงคะแนนให้อยู่ต่อ บวกกับการที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาลมาอีกหลายรอบ ทำให้พรรคชาตินิยมกอตแลนด์ (SNP) ชนะเกือบทุกที่นั่งในสกอตแลนด์ในการเลือกตั้งรอบนี้ และผลการเลือกตั้งให้ความชอบธรรมกับการเรียกร้องให้จัดประชาตืรอบที่สอง เพื่อแยกประเทศ แต่ทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงานสกอตแลนด์คัดค้านการแยกดินแดน

ถ้าประชาชนสกอตแลนด์สามารถแยกประเทศได้ มันจะเป็นเรื่องดี เพราะมันจะทำให้สหราชอาณาจักรในฐานะจักรวรรดินิยมเก่า ที่เกาะติดสหรัฐอเมริกาและร่วมก่อสงครามกับสหรัฐ หมดพลังไป และในการเลือกตั้งปีนี้พรรคในไอร์แลนด์เหนือที่ต้องการออกจากสหราชอาณาจักรและรวมประเทศกับไอร์แลนด์ใต้ได้ที่นั่งมากที่สุดเป็นครั้งแรก

การพังทลายของสหราชอาณาจักร ถ้าเกิดขึ้นจริง จะสร้างวิกฤตให้ชนชั้นปกครองอังกฤษและรัฐบาลจอห์นสันเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดอีกรอบในอนาคต และการที่พรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ สร้างวิกฤตให้กับรัฐบาลจอห์นสันได้ แต่มันมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีการยกระดับการต่อสู้นอกรัฐสภา โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการลงถนนของคนที่ประท้วงปัญหาโลกร้อน สิ่งเหล่านี้เราเห็นในฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ

ในภาพรวมเราจะเห็นว่าอังกฤษอยู่ในสภาพวิกฤตการเมืองมาตั้งแต่ปี 2010 เพราะผลของนโยบายรัดเข็มขัดที่ตามหลังวิกฤตเศรษฐกิจ มันทำลายเสถียรภาพของระบบการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และวิกฤตการเมืองนี้มีลักษณะเดียวกับวิกฤตการเมืองที่ทำให้คนลุกฮือสู้ในหลายประเทศของโลก เพียงแต่มันออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันเท่านั้น

(อ่านเพิ่มเรื่องการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr )

แนวทางการสร้างพรรคของ เลนิน กับบริบทสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่ เลนิน เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่แล้วในประเทศรัสเซีย แต่วิธีการในการสร้างพรรคกรรมาชีพของเขา มีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในยุคนี้

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องแนวคิดของเลนินในเรื่องพรรค ผมจะขอฟันธงว่า คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพราะกรอบที่เผด็จการกำหนดไว้นี้จะทำให้พรรคสังคมนิยมหรือพรรคของคนชั้นล่างลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ กรอบ“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้กำหนดมาเพื่อสร้างแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ผู้ที่สนใจที่จะสร้างพรรคสังคมนิยมในไทย ซึ่งเป็นรูปแบบพรรคของคนชั้นล่างที่ดีที่สุด จะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของคนชั้นล่าง เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึง แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO]

สำหรับ เลนิน พรรคสังคมนิยมจะต้องสร้างรากฐานในหมู่คนทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นนี้มีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาลถ้ารู้จักสามัคคีกัน พรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณจะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย และสามารถนำหรือยกเลิกการต่อสู้ได้ตามใจชอบ อย่างที่เราเห็นมาแล้ว

เราควรจะเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่พรรคของทักษิณมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วโดนทหารก่อรัฐประหาร แต่ทักษิณและพรรคพวกต้องการจำกัดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกรอบที่เป็นประโยชน์กับเขา ผลของการต่อสู้แค่ครึ่งทางแบบนี้ คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2hryRoB ]

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

นอกจากพรรคจะต้องมีแนวความคิดของตนเอง หรือพูดง่ายๆ มี “ทฤษฏี” ในการเข้าใจสังคม พรรคต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเป็นองค์กรที่เป็น “ความทรงจำ” ของคนชั้นล่าง เพราะถ้าไม่มีความทรงจำแบบนี้ มวลชนต้องเริ่มจากสูญทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว แทนที่จะมีการสรุปบทเรียนจากอดีต

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

บทความนี้ในบางส่วนอาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.

ทางเลือกใหม่ในการเลือกตั้งอังกฤษ

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเลือกตั้งของอังกฤษที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน เป็นครั้งแรกในรอบสี่สิบกว่าปีที่ประชาชนมีทางเลือกอย่างแท้จริงระหว่างนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุน และนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมาชีพผู้ทำงาน

ในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายใต้ โทนี่ แบลร์ พรรคแรงงานที่เป็นพรรคของสหภาพแรงงานอังกฤษ มีนโยบายที่คล้ายคลึงกับพรรคอนุรักษณ์นิยมของนายทุน จนดูไม่ออกว่าแตกต่างกันอย่างไร รัฐบาลของ โทนี่ แบลร์ เน้นนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วบวกกับการทำสงครามร่วมกับสหรัฐอเมริกา เขาพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงกรรมาชีพและเรียกพรรคแรงงานว่า “พรรคแรงงานใหม่” หลังจากที่แบลร์ลาออก รัฐบาลพรรคแรงงานในยุควิกฤตเศรษฐกิจโลกปี  2008 ใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ เพื่อเอาใจกลุ่มทุนและนายธนาคาร นโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจ และปูทางไปสู่ชัยชนะของพรรคอนุรักษ์นิยมสองรอบ รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมก็ใช้นโยบายรัดเข็มขัดสุดขั้วและค่อยๆ ทำลายระบบสวัสดิการและสาธารณสุขของประเทศเพื่อเพิ่มกำไรสำหรับกลุ่มทุนใหญ่ โดยที่พรรคแรงงานมือไม้อ่อนในการคัดค้าน เพราะผู้นำพรรคตอนนั้นไม่ค่อยเห็นต่างจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม

ต่อมาเมื่อปี 2015 เจเรมี คอร์บิน สส.ฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งภายในพรรคแรงงาน และขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ ตั้งแต่แรก คอร์บิน ใช้นโยบายและวิธีการใหม่ทางการเมือง คือปฏิเสธนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด และปฏิเสธพฤติกรรมของพวกนักการเมืองกระแสหลัก เขาเป็นตัวอย่างของนักการเมืองรากหญ้าที่อยู่เคียงข้างคนธรรมดา ในรัฐสภา คอร์บิน ใช้คำถามที่ประชาชนธรรมดาเขียนมา เพื่อจี้นายกรัฐมนตรี วิถีชีวิตของ คอร์บิน ขึ้นชื่อว่าเรียบง่าย และท่าทีของเขาสุภาพเสมอ

การที่สมาชิกธรรมดาของพรรคแรงงานเทคะแนนให้ คอร์บิน แสดงให้เห็นว่าอังกฤษไม่ต่างจากประเทศอื่นในยุโรปที่ประชาชนส่วนหนึ่งเบื่อหน่ายเต็มที่กับนโยบายฝ่ายขวาที่ทำลายความมั่นคงของประชาชน กระแสแบบนี้เกิดขึ้นใน กรีซ ไอร์แลนด์ และแม้แต่ในฝรั่งเศสซึ่งดูได้จากคะแนนเสียงที่ จอนลุค เมลองชง ได้รับในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก กระแสซ้ายแบบนี้สำคัญ เพราะสามารถคานการฉวยโอกาสจากวิกฤตเศรษฐกิจของพวกฟาสซิสต์ขวาจัด ที่พยายามสร้างกระแสเกลียดชังคนต่างชาติ

อย่างไรก็ตามพวกสส.เก่าภายในพรรคแรงงานหลายคน เป็นพวกฝ่ายขวาที่พยายามโค่น คอร์บินตลอดเวลา และไม่สนใจว่าสมาชิกพรรคส่วนใหญ่จะคิดอย่างไร พวกนี้พร้อมจะเปิดการต่อสู้ภายในพรรค ไม่ว่าจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งอย่างไร

สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 8 มิถุนายน นโยบายของพรรคแรงงานเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าและซ้ายที่สุดในรอบสี่สิบกว่าปี คอร์บิน ประกาศว่าพรรคแรงงานเป็นพรรคที่เข้าข้างผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่พรรคที่จะเอื้อประโยชน์กับคนส่วนน้อยที่เป็นเศรษฐีนายทุน พรรคแรงงานประกาศว่าจะยกเลิกค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย จัดอาหารกลางวันฟรีให้เด็กในโรงเรียน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างจริงจัง นำสาธารณูปโภคสำคัญๆ กลับมาเป็นของรัฐ เพิ่มงบประมาณให้กับระบบสาธารณสุข เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้สหภาพแรงงาน สร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นให้คนธรรมดา ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื้อรังในสังคม ที่สำคัญคืองบประมาณที่จะใช้ในเรื่องเหล่านี้จะมาจากการเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้นจากคนรวยและเศรษฐี นับว่าเป็นนโยบายที่ให้ความหวังกับคนธรรมดาที่หมดหวังและถูกกดทับจากนโยบายรัดเข็มขัดมานาน

หลังจากที่มีระเบิดพลีชีพที่เมืองแมนเชสเตอร์ คอร์บิน ปราศัยว่าถ้าประชาชนจะปลอดภัยจากการก่อการร้าย นโยบายต่างประเทศของอังกฤษจะต้องเปลี่ยนไป ต้องเลิกก่อสงครามเพื่อผลประโยชน์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เพราะสงครามเหล่านี้นอกจากจะผิดศีลธรรมแล้ว ยังชักศึกเข้าบ้านอีกด้วย คอร์บิน มีประวัติการต้านสงครามมานานตลอดยุคของรัฐบาล โทนี่ แบลร์ และภายใต้รัฐบาลอนุรักษ์นิยม

Jeremy Corbyn speaks during an event to mark the 70th anniversary of the Hiroshima bomb, in Tavistock Square, London.

สหายไทยบางคนที่ไปร่วมงานสมัชชาสังคมโลกที่อินเดียในปี 2004 อาจเห็น คอร์บินปราศัยในงานนั้น

วิธีการหาเสียงของคอร์บินแตกต่างจากการหาเสียงของผู้นำแบบ โทนี่ แบลร์ หรือผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมปัจจุบัน เพราะพวกนั้นมักจะเน้นการใช้สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ แต่ คอร์บิน เน้นการปราศัยกลางแจ้งหรือในหอประชุมใหญ่ตามเมืองต่างๆ เพื่อพบประชาชนต่อหน้าต่อตา และปลุกระดมกระแสความหวังใหม่ บ่อยครั้งการปราศัยดังกล่าวจะมีคนมาฟังเป็นพันๆ คน และเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่

ในขณะที่ทีมของ คอร์บิน เสนอนโยบายที่สร้างความหวัง พรรคอนุรักษ์นิยมของ เทเรซา เมย์ เสนอแต่นโยบายที่จะใช้การรัดเข็มขัดต่อไป มีการพูดว่าจะตัดอาหารฟรีที่เด็กยากจนในโรงเรียนได้รับ มีการโจมตีฐานะทางเศรษฐกิจของคนชรา และมีการกลับลำเวลาประชาชนไม่พอใจกับนโยบายดังกล่าว การหาเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมไร้ระบบและไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง แต่สื่อกระแสหลักทุกแห่ง รวมถึงบีบีซี และหนังสือพิมพ์การ์เดียน ก็คอยสนับสนุน เมย์ ด้วยการโจมตี คอร์บิน อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าชนชั้นปกครองอังกฤษกลัวการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่

ล่าสุด เทเรซา เมย์ ไม่กล้าออกมาโต้ดีเบดสดสองต่อสองผ่านโทรทัศน์กับ คอร์บิน แต่คอร์บิน มองว่าถ้าออกโทรทัศน์สดบ่อยๆ ประชาชนจะเห็นธาตุแท้ของเขาได้ แทนที่จะฟังหรืออ่านความเห็นเกี่ยวกับเขาผ่านสื่อฝ่ายขวา นี่คือสาเหตุหนึ่งที่คะแนนนิยมในพรรคแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้โพลทางการเมืองแสดงให้เห็นว่าพรรคแรงงานเริ่มเพิ่มคะแนนนิยมจากเดิมที่ตกต่ำมาในการเลือกตั้งสองรอบที่แล้วมา เพราะเมื่อมีการเปิดการหาเสียงรอบนี้พรรคอนุรักษ์นิยมนำพรรคแรงงาน 19% แต่ตอนนี้นำแค่ 3% เอง บางโพลถึงกับเสนอว่าพรรคแรงงานนำ 1%  และคะแนนนิยมในคอร์บินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คะแนนนิยมใน เมย์ ลดลง นับว่าเป็นผลงานที่น่าทึ่งสำหรับทีมฝ่ายซ้ายของ คอร์บิน และถ้าคอร์บินไม่ชนะการเลือกตั้งในที่สุด ยังต้องถือว่าเป็นเครื่องวัดกระแสฝ่ายซ้ายในสังคมที่ต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด

ในหมู่คนหนุ่มสาวคะแนนนิยมในพรรคแรงงานพุ่งสูงถึง 68% ในขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้แค่ 16%

อย่างไรก็ตามเราต้องระมัดระวังที่จะทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากโพล สิ่งที่เป็นไปได้สูงคือจำนวนสส.ของแต่ละพรรคอาจไม่พอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

เราคงต้องรอวันเลือกตั้งเพื่อดูว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ถ้าคอร์บินชนะ ซึ่งยังไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะได้เสียงข้างมาก รัฐบาลของเขาจะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนใหญ่และสื่อกระแสหลัก ที่จะพยายามทุกอย่างเพื่อทำลายความหวังของประชาชนที่เลือกพรรคแรงงาน เพราะแม้แต่ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมของอังกฤษ กลุ่มทุนและชนชั้นปกครองมักจะมีอำนาจมากกว่าพลเมืองธรรมดา และพร้อมจะขัดขวางเสียงของประชาชนเสมอ วิธีที่จะเพิ่มอำนาจของประชาชนธรรมดาคือต้องเพิ่มความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในการหนุน คอร์บิน

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ต้องมีการต่อสู้ทั้งในและนอกรัฐสภา เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

9 มิถุนายน 2017 เพิ่มเติม……

ผลการเลือกตั้งอังกฤษ

พรรคอนุรักษ์นิยมของ เทเรซา เมย์ เสียคะแนนเสียงและไม่สามารถได้ที่นั่งข้างมากในรัฐสภาอย่างที่เคยมี นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ของ เมย์ และพรรคอนุรักษ์นิยม ทั้งๆ ที่พรรคได้ที่นั่งมากที่สุด เราต้องไม่ลืมว่าเมย์ยุบสภาครั้งนี้เพื่อหวังเพิ่มคะแนนและที่นั่งเพื่อเจรจากับอียู

สงครามภายในพรรคอนุรักษ์นิยมจะทำให้ เทเรซา เมย์ อยู่ไม่ได้นาน และคงต้องมีการเลือกตั้งอีกครั้งก่อนสิ้นปี

ทั้งๆ ที่พรรคแรงงานได้ที่นั่งน้อยกว่าพรรคอนุรักษ์นิยม เจเรมี คอร์บิน และนโยบายที่ก้าวหน้าและเน้นการเมืองฝ่ายซ้ายของพรรคแรงงาน สามารถครองใจประชาชน 12.8 ล้าน หรือ 40% ของผู้ออกมาใช้เสียง และที่น่าทึ่งคือคนหนุ่มสาวออกมาเทคะแนนให้พรรคอย่างถล่มทลาย

คะแนนเสียงของพรรคแรงงานพิสูจน์ว่าการเมืองฝ่ายซ้ายสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก มันพิสูจน์ว่าประชาชนจำนวนมากต้องการทางเลือกที่ไม่ใช่การเมืองฝ่ายขวาของพวกเสรีนิยมกลไกตลาด เพราะการเมืองแบบนี้ทำลายชีวิตของคนธรรมดาจำนวนมากผ่านการรัดเข็มขัด มันพิสูจน์ว่าการเสนอทางเลือกซ้ายเป็นคำตอบในรูปธรรมเพื่อขจัดกระแสฟาสซิสต์ทั่วโลก มันพิสูจน์ว่าคนที่ประกาศว่า “ฝ่ายซ้ายหมดยุค” ไม่เข้าใจการเมืองในโลกจริง

เจเรมี คอร์บิน เพิ่มคะแนนเสียงให้พรรคแรงงานเหนือผลการเลือกตั้งปี 2015 2010 และ2005 ซึ่งเป็นยุคที่พรรคแรงงานเป็น “แรงงานใหม่” ที่เน้นนโยบายฝ่ายขวาตามนโยบายของ โทนี่ แบลร์

อนาคตการเมืองบราซิลหลังฟุตบอล์โลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลบราซิลเคยหวังว่าการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการจัดบอล์โลก จะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะถ้าทีมบราซิลชนะ และกระแสชาตินิยมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลพรรคกรรมกร (PT) และประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดงานแข่งบอล์โลก ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงค่าใช้จ่าย และประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณสุข จนประธานาธิบดี ดิลมา ต้องออกมาประกาศจัดประชามติเรื่องการปฏิรูประบบ และสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณการขนส่งและระบบสาธารณสุข และหลังจากความพ่ายแพ้ของทีมบราซิล ความไม่พอใจในรัฐบาลคงเพิ่มขึ้น

ถ้าเราจะเข้าใจกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในบราซิล เราต้องเข้าใจว่ามันมาจากสองขั้วทางการเมือง คือมาจากทางซ้ายและมาจากทางขวา

ฝ่ายขวาไม่พอใจรัฐบาลพรรคแรงงานมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของประธานาธิบดี “ลูลา” ในปี 2002 และฝ่ายขวามีอิทธิพลในสื่อมวลชน เพราะนายทุนสื่อมักจะต่อต้านรัฐบาล ในปัจจุบันพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลางบราซิล มักจะยกเรื่อง “การคอร์รับชั่น” มาจุดประกายการประท้วง ซึ่งการโกงกินในหมู่นักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่มันเป็นข้ออ้างง่ายๆ แบบนามธรรม ของฝ่ายขวาทั่วโลกเสมอ และมันไม่มีหลักประกันว่านักการเมืองฝ่ายค้านจะไม่โกงกิน

พรรคแรงงานบราซิลมีต้นกำเนิดในยุค 1970 สมัยที่ยังมีเผด็จการทหาร ในตอนต้นมีสมาชิก 8 แสน และเป็นแนวร่วมกับสภาแรงงาน CUT ที่มีสมาชิก 20 ล้าน ข้อเรียกร้องหลักตอนนั้นจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องปากท้อง โดยที่พรรคแรงงานถือว่าเป็นพรรคซ้ายก้าวหน้า

ขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดิน MST ก็เป็นแนวร่วมหลวมๆ แต่ 85% ของประชากรบราซิลอาศัยในเมือง ดังนั้นสหภาพแรงงานมีความสำคัญมากกว่าขบวนการเกษตรกร

หลังจากที่เผด็จทหารการหมดไปในช่วง 1980 พรรคแรงงานเริ่มเดินเข้ากรอบการเมืองกระแสหลัก และเสนอนโยบายแบบพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอ่อนๆ คือเลิกเป็นพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ในช่วง 1990 มีการยอมรับแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดตามกระแสทั่วโลก มีการโจมตีฝ่ายซ้ายภายในพรรค และเน้นเอาใจชนชั้นกลาง

ในปี 2002 “ลูลา” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหล็ก เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืด ไปเป็นการใส่สูท เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักการเมืองในกรอบ และลูลาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้การหาเสียงว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด

พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และในขณะที่เอาใจนายทุนใหญ่ และเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนมั่งมี ก็มีการกระจายรายได้ไปสู่คนจนบ้าง มีการจัดสวัสดิการและเพิ่มค่าแรงด้วย นอกจากนี้มีการขยายมหาวิทยาลัยให้ลูกคนจนเข้าเรียน แต่ในรูปธรรมรัฐบาลจัดงบประมาณไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพและคนจนต้องจ่ายค่าเรียนด้วย ในยุคนี้ฐานะของสตรีและคนผิวดำก็ดีขึ้นบ้าง

การกระตุ้นพลังซื้อของคนชั้นล่าง เป็นวิธีที่รัฐบาลจะเอาใจนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศ และเป็นการช่วยคนจนด้วยพร้อมๆ กัน

ในช่วงหลังๆ ฐานเสียงของพรรคมักจะเป็นคนจนกับคนหนุ่มสาว ส่วนคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร

หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 บราซิลได้ผลกระทบมากพอสมควร ความหวังของคนชั้นล่างที่จะเห็นการพัฒนาของชีวิตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจางหายไป และคนชั้นกลางก็ไม่พอใจอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญคือ ในเมื่อพรรคหรือองค์กรของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเล็กและอ่อนแอ ฝ่ายซ้ายไม่สามารถจะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานในลักษณะที่คนจำนวนมากจะเชื่อถือได้ ฝ่ายขวาและชนชั้นกลางจึงมีอิทธิพลในหมู่คนที่ไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายซ้ายจะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนายทุนเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ฝ่ายซ้ายจะต้องชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคแรงงาน จะต้องกล้าวิจารณ์พรรคแรงงาน และต้องขยันสร้างแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในสภาแรงงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานสำหรับคนส่วนใหญ่