Tag Archives: พรรคโจรสลัด

ยุคต้านกระแสหลักทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั่วโลกในยุคนี้ หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 9 ปีก่อน และหลังจากที่พลเมืองจำนวนมากในประเทศต่างๆ ต้องประสบความเดือดร้อนมหาศาลจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลกระแสหลักที่คลั่งแนวเสรีนิยมกลไกตลาด จนมีการลดรายได้กันอย่างถ้วนหน้า ปลดคนออกจากงาน และตัดสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ ประชาชนใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และที่อื่น เริ่มแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งกับการเมืองกระแสหลักของทุนนิยม

ในสหรัฐมีการ “ถ่มน้ำลายทางความคิด”ใส่ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคพรรคเดโมแครท เพราะพลเมืองจำนวนมากมองว่าเขาคือตัวแทนโดยตรงของนายทุน 1% ที่คุมทรัพยากรทั้งหมดของประเทศและปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน สถานการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้นักการเมืองขวาจัดเลวทรามอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ จริงๆ แล้วต้องถือว่าทรัมพ์ไม่ได้ชนะ แต่ฮิลารี่เป็นผู้แพ้มากกว่า

ในอังกฤษ พลเมืองจำนวนมาก หันไปลงคะแนนเสียงในประชามติ เพื่อให้อังกฤษออกจากอียู โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กรรมาชีพยากจนเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัด มันเป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นการแทคะแนนให้ฝ่ายขวาเหมือนในสหรัฐ

ในอิตาลี่ ในประชามติเมื่อต้นเดือนธันวาคม ประชาชนลงคะแนนเสียงค้านรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการเมือง เรื่องหลักสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่รายละเอียดของสิ่งที่รัฐบาลเสนอ แต่เป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน และมันนำไปสู่การเพิ่มวิกฤตให้กับอียูอีก เพราะฝ่ายค้านที่อาจชนะการเลือกตั้งในอนาคต เกลียดชังอียู ในขณะเดี๋ยวกันมีวิกฤตหนี้เสียของธนาคารอิตาลี่ อนาคตของเงินสกุลยุโรจริงไม่แน่นอน

พวกเราที่เป็นมาร์คซิสต์ อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่าวิกฤตแห่งความศรัทธาในการเมืองกระแสหลัก จะมีผลในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวาก็ได้ แล้วแต่ว่าแต่ละฝ่ายมีการจัดตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์
นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์

ในสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมพ์ จากฝ่ายขวา ได้ประโยชน์จากการต้านการเมืองกระแสหลัก ในฟิลิปปินส์ นักการเมืองอันธพาลฝ่ายขวา โรดริโก ดูเตอร์เต ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน [ดู http://bit.ly/2hisH9g ] ในออสเตรียเกือบจะมีการเลือกนักการเมืองฟาสซิสต์มาเป็นประธานาธิบดีและในเนเธอร์แลนด์ กับฝรั่งเศส พรรคฟาสซิสต์ได้คะแนนนิยมสูงขึ้นตามลำดับ

หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส
หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส

ในขณะเดียวกันในกรีซ ฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งในขณะที่การเมืองสเปนเอียงซ้ายมานาน ส่วนในพรรคแรงงานอังกฤษนักการเมืองแนวสังคมนิยมชื่อ เจรมี คอร์บิน ถูกเลือกเป็นผู้นำ

คอร์บิน
คอร์บิน

ในบางประเทศ เช่นไอสแลนด์ พรรคแปลกๆ ที่มีภาพ “ใหม่” เช่นพรรคโจรสลัด หรือในอิตาลี่ พรรคห้าดาว ดูเหมือนจะมีคะแนนเพิ่มขึ้น แต่พรรคเหล่านี้ไม่ค่อยมีจุดยืนที่ชัดเจน

พรรคโจรสลัด
พรรคโจรสลัด

ปรากฏการณ์อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งในอังกฤษและสหรัฐ รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา เกิดความขัดแย้งชั่วคราวกับผลประโยชน์กลุ่มทุน เพราะนักการเมืองและพรรคของเขาต้องพยายามเอาใจประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือพลเมืองไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาด และไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลัก และด้วยเหตุที่นักการเมืองฝ่ายขวาต่างจากนายทุน ทั้งๆ ที่มีความคิดตรงกัน ในแง่ที่นักการเมืองต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ ในสหรัฐ จึงพยายามพูดเอาใจประชาชน ด้วยการเสนอนโยบายกีดกันการค้าเสรี นโยบายที่ดูเหมือนเริ่มหันหลังให้กับการรัดเข็มขัดของเสรีนิยมใหม่ หรือนโยบายเพื่อออกจากอียูในกรณีอังกฤษ(ซึ่งขัดกับประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่) มันนำไปสู่พฤติกรรม “หน้าไหว้หลังหลอก” ของนักการเมืองฝ่ายขวาเหล่านี้ เพราะลึกๆ แล้วทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ เป็นคนของกลุ่มทุนใหญ่

ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมพ์ อ้างว่าปกป้องกรรมาชีพที่ถูกละเลย มันกลับแต่งตั้งคนที่ต่อต้านระบบค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิสตรี และการแก้ปัญหาโลกร้อน เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และ ทรัมพ์ เองเป็นมหาเศรษฐีอยู่แล้ว

สิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายมากในยุคนี้คือ นักการเมืองฝ่ายขวาที่อยู่ในกระแสหลัก มักจะพยายามเอาใจคนที่ไม่พอใจกับระบบ ด้วยการปลุกกระแสเกลียดสีผิวและคนต่างชาติ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจและเปลี่ยนเป้าจากนายทุนไปเป็นแพะรับบาปที่เป็นคนมีสีผิว ปัญหาคือแนวคิดแบบนี้เพิ่มคะแนนนิยมให้ฟาสซิสต์ ที่น่าเสียดายคือนักการเมืองซ้ายอ่อนๆ ในพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มักจะหลงเชื่อว่าต้องคล้อยตามความคิดปฏิกิริยาอันนี้ เพื่อชนะการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จริงถ้าเขากล้าสู้

ยุคนี้เป็นยุคที่พิสูจน์ว่าฝ่ายซ้ายที่ “ใจไม่ถึง” เพราะไม่อยากพลิกแผ่นดินล้มระบบ มักจะถูกกดดันอย่างแรงให้ยอมจำนนต่อผลประโยชน์กลุ่มทุน รัฐบาลไซรีซาในกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี และต้นเหตุของการ “ใจไม่ถึง” ของนักการเมืองพวกนี้ นอกจากจะมาจากความคิดกระแสปฏิรูปที่หลีกเลี่ยงการปฏิวัติแล้ว ยังมาจากการที่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับพลังมวลชนนอกรัฐสภาในการต้านอิทธิพลของกลุ่มทุนด้วย