Tag Archives: พระสงฆ์กับการเมือง

พระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาว

ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศลาว “ขบวนการปะเทดลาว” เลือกที่จะใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โดยนำพระสงฆ์มาเป็นแนวร่วม ในขณะที่ฝ่ายขวาและรัฐบาลกษัตริย์ไม่สามารถใช้ศาสนาพุทธในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรลืมในกรณีลาวคือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนลาวลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีชาติพันธ์อื่นๆ ในประเทศลาวอีกมากมายที่ไม่นับถือพุทธ แต่นับถือผีสางนางไม้หรือบรรพบุรุษ ซึ่งแปลว่าขบวนการปะเทดลาวต้องหาวิธีการอื่นในการสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชาติอื่นๆที่ไม่ใช่วิธีการของศาสนาพุทธ และก็ทำได้สำเร็จ เพราะกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มเป็นกำลังต่อสู้สำคัญของขบวนการปะเทดลาว วิธีการอื่นที่กล่าวถึงคือการยกเลิกการดูถูกชาติพันธ์ที่ไม่ใช่ลาวลุ่มว่าต่ำต้อยกว่า เช่นการยกเลิกใช้คำดูถูกว่าเขาเป็น “ข้า”

ทำไมขบวนการปะเทดลาวได้เปรียบเหนือรัฐบาลกษัตริย์ฝ่ายขวาในการใช้พุทธศาสนา?

ในประการแรกฝรั่งเศสไม่ได้พัฒนาประเทศในยุคอาณานิคม ลาวจึงเป็นประเทศยากจนที่ขาดโรงเรียน หนทางในการรับการศึกษาของลูกคนจน (ที่เป็นชาย) คือการบวชเป็นพระ ดังนั้นวัดลาวจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์หนุ่มๆ ที่เป็นลูกคนจน ส่วนลูกคนรวยสามารถไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ ได้ พระสงฆ์จำนวนมากจึงเข้าใจดีว่าสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและฝ่ายขวากับกษัตริย์ไม่ยอมแก้ปัญหานี้

ในประการที่สองเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเชิดชูเจ้าลาวเพื่อเป็นเครื่องมือแต่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ เพราะมองว่าศาสนาคริสต์ดีกว่า พอมาถึงยุคสงครามกับสหรัฐ ขบวนการปะเทดลาวสามารถอ้างได้ว่าสหรัฐทิ้งระเบิดทำลายหมู่บ้านและวัดวาอารามอีกด้วย และสหรัฐเป็นอำนาจต่างชาติที่ทำแนวร่วมอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายขวาและพวกเจ้าลาว ดังนั้นขบวนการปะเทดลาวกลายเป็นฝ่ายที่ปกป้องวัฒนธรรมพุทธของลาว

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวทำงานจัดตั้งพระสงฆ์ได้ เพราะพระสงฆ์หันมาสนใจการเมืองและสังคมท่ามกลางสงคราม มีการจัดกลุ่มศึกษาสำหรับพระและประชาชนธรรมดาในวัดเพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาต่างๆ จนมีการตั้งคำถามในหมู่พระสงฆ์เองว่าทำไมพระสงฆ์ไม่มีบทบาทในการทำงานสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สาเหตุสุดท้ายที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบในการใช้ศาสนาพุทธคือรัฐบาลฝ่ายขวาในยุคปี ค.ศ. 1960 พยายามออกระเบียบเพื่อควบคุมคณะสงฆ์และทำให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก ในขณะที่ขบวนการปะเทดลาวปล่อยพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนและคิดอย่างเสรี

การที่พระสงฆ์จำนวนมากสนับสนุนขบวนการปะเทดลาวแปลว่าขบวนการนี้มีเครือข่ายและนักปฏิบัติการตามวัดวาอารามทั่วลาว

ถึงแม้ว่า “ขบวนการปะเทดลาว” อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนว “มาร์คซิสต์” แต่เราจะเห็นว่ามีการใช้ศาสนาพุทธเป็นส่วนสำคัญของลัทธิการเมือง ทั้งในช่วงที่ต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐและในช่วงที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่ควรแปลกใจอะไร เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น หลังปี ค.ศ. 1930 ล้วนแต่ใช้ลัทธิสตาลิน แทนลัทธิมาร์คซ์ แต่การใช้ลัทธิสตาลินบ่อยครั้งนำไปสู่การต่อต้านศาสนาโดยพรรคหรือโดยรัฐบาลหลังจากที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องปรัชญาว่าสนับสนุนหรือต่อต้านศาสนา เพราะลัทธิสตาลินเป็น “ปรัชญาปลอม” ก็ว่าได้ เนื่องจากมีการอ้างว่าใช้แนวคิดมาร์คซิสต์แต่ในทางปฏิบัติทำในสิ่งตรงข้าม ดังนั้นการคัดค้านหรือสนับสนุนศาสนาของพรรคที่ใช้แนวสตาลินกลายเป็นเรื่องของการคำนวณอย่างไร้อุดมการณ์ว่าศาสนาหรือองค์กรศาสนาเป็นคู่แข่งหรือควรนำมาเป็นแนวร่วม

ใจอึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์ (๒๕๕๒) “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน https://bit.ly/3hf6LMP

Martin Stuart-Fox (1996) Buddhist kingdom Marxist state. White Lotus.  

อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ (๒๕๔๘) “การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ป.ป. ลาว ระหว่าง 1975-2003” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภาคปกครองคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ