Tag Archives: พระสงฆ์

พระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาว

ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศลาว “ขบวนการปะเทดลาว” เลือกที่จะใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โดยนำพระสงฆ์มาเป็นแนวร่วม ในขณะที่ฝ่ายขวาและรัฐบาลกษัตริย์ไม่สามารถใช้ศาสนาพุทธในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรลืมในกรณีลาวคือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนลาวลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีชาติพันธ์อื่นๆ ในประเทศลาวอีกมากมายที่ไม่นับถือพุทธ แต่นับถือผีสางนางไม้หรือบรรพบุรุษ ซึ่งแปลว่าขบวนการปะเทดลาวต้องหาวิธีการอื่นในการสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชาติอื่นๆที่ไม่ใช่วิธีการของศาสนาพุทธ และก็ทำได้สำเร็จ เพราะกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มเป็นกำลังต่อสู้สำคัญของขบวนการปะเทดลาว วิธีการอื่นที่กล่าวถึงคือการยกเลิกการดูถูกชาติพันธ์ที่ไม่ใช่ลาวลุ่มว่าต่ำต้อยกว่า เช่นการยกเลิกใช้คำดูถูกว่าเขาเป็น “ข้า”

ทำไมขบวนการปะเทดลาวได้เปรียบเหนือรัฐบาลกษัตริย์ฝ่ายขวาในการใช้พุทธศาสนา?

ในประการแรกฝรั่งเศสไม่ได้พัฒนาประเทศในยุคอาณานิคม ลาวจึงเป็นประเทศยากจนที่ขาดโรงเรียน หนทางในการรับการศึกษาของลูกคนจน (ที่เป็นชาย) คือการบวชเป็นพระ ดังนั้นวัดลาวจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์หนุ่มๆ ที่เป็นลูกคนจน ส่วนลูกคนรวยสามารถไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ ได้ พระสงฆ์จำนวนมากจึงเข้าใจดีว่าสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและฝ่ายขวากับกษัตริย์ไม่ยอมแก้ปัญหานี้

ในประการที่สองเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเชิดชูเจ้าลาวเพื่อเป็นเครื่องมือแต่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ เพราะมองว่าศาสนาคริสต์ดีกว่า พอมาถึงยุคสงครามกับสหรัฐ ขบวนการปะเทดลาวสามารถอ้างได้ว่าสหรัฐทิ้งระเบิดทำลายหมู่บ้านและวัดวาอารามอีกด้วย และสหรัฐเป็นอำนาจต่างชาติที่ทำแนวร่วมอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายขวาและพวกเจ้าลาว ดังนั้นขบวนการปะเทดลาวกลายเป็นฝ่ายที่ปกป้องวัฒนธรรมพุทธของลาว

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวทำงานจัดตั้งพระสงฆ์ได้ เพราะพระสงฆ์หันมาสนใจการเมืองและสังคมท่ามกลางสงคราม มีการจัดกลุ่มศึกษาสำหรับพระและประชาชนธรรมดาในวัดเพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาต่างๆ จนมีการตั้งคำถามในหมู่พระสงฆ์เองว่าทำไมพระสงฆ์ไม่มีบทบาทในการทำงานสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สาเหตุสุดท้ายที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบในการใช้ศาสนาพุทธคือรัฐบาลฝ่ายขวาในยุคปี ค.ศ. 1960 พยายามออกระเบียบเพื่อควบคุมคณะสงฆ์และทำให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก ในขณะที่ขบวนการปะเทดลาวปล่อยพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนและคิดอย่างเสรี

การที่พระสงฆ์จำนวนมากสนับสนุนขบวนการปะเทดลาวแปลว่าขบวนการนี้มีเครือข่ายและนักปฏิบัติการตามวัดวาอารามทั่วลาว

ถึงแม้ว่า “ขบวนการปะเทดลาว” อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนว “มาร์คซิสต์” แต่เราจะเห็นว่ามีการใช้ศาสนาพุทธเป็นส่วนสำคัญของลัทธิการเมือง ทั้งในช่วงที่ต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐและในช่วงที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่ควรแปลกใจอะไร เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น หลังปี ค.ศ. 1930 ล้วนแต่ใช้ลัทธิสตาลิน แทนลัทธิมาร์คซ์ แต่การใช้ลัทธิสตาลินบ่อยครั้งนำไปสู่การต่อต้านศาสนาโดยพรรคหรือโดยรัฐบาลหลังจากที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องปรัชญาว่าสนับสนุนหรือต่อต้านศาสนา เพราะลัทธิสตาลินเป็น “ปรัชญาปลอม” ก็ว่าได้ เนื่องจากมีการอ้างว่าใช้แนวคิดมาร์คซิสต์แต่ในทางปฏิบัติทำในสิ่งตรงข้าม ดังนั้นการคัดค้านหรือสนับสนุนศาสนาของพรรคที่ใช้แนวสตาลินกลายเป็นเรื่องของการคำนวณอย่างไร้อุดมการณ์ว่าศาสนาหรือองค์กรศาสนาเป็นคู่แข่งหรือควรนำมาเป็นแนวร่วม

ใจอึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์ (๒๕๕๒) “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน https://bit.ly/3hf6LMP

Martin Stuart-Fox (1996) Buddhist kingdom Marxist state. White Lotus.  

อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ (๒๕๔๘) “การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ป.ป. ลาว ระหว่าง 1975-2003” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภาคปกครองคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ

ศาสนาพุทธไม่ควรเป็นศาสนาประจำชาติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันน่าเบื่อเหลือเกินที่กลุ่มพระสงฆ์ออกมาพูดซำแล้วซ้ำอีก ว่าศาสนาพุทธควรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การมีเผด็จการครองเมืองที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่จะคิดเองยังไม่พออีกหรือ? การที่ทุกวันนี้คนติดคุกเพราะไม่รักใครสักคน หรือเพราะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยังไม่พออีกหรือ? จะต้องมีการบังคับให้ความเชื่อชนิดหนึ่งสำคัญกว่าความคิดอื่นไปทำไม?

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นลัทธิสุดขั้วที่เผด็จการใช้ในการกดขี่พลเมืองประเทศนี้มานานเกินไป มันน่าจะหมดยุคนานแล้ว ความคิดเรื่อง “เสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” น่าจะเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมเราแทน

มันอาจจริงที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มองว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ อันนี้ไม่มีใครเถียงด้วยได้และมันปรากฏให้เห็นชัด แต่ต่อจากนั้นก็คงมีการถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธที่แต่ละคนนับถือมันเป็นแบบไหน ภาพความขัดแย้งในคณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายในศาสนาพุทธ และเป็นสิ่งที่เกิดจากผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าพูดถึงการนับถือศาสนาพุทธในไทยแล้ว บางคนเข้าพิธีศาสนาบ่อย บางคนบวช บางคนอาจศรัทธาในศาสนาในลักษณะเงียบๆ ไม่เข้าพิธี ไม่เข้าวัด และบางคนอาจไม่เคยคิดถึงศาสนาเลย นอกจากนี้ก็จะมีคนที่ไม่นับถือศาสนาเลย ซึ่งในสังคมทันสมัยที่อิงวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และเหตุผล ย่อมมีมากขึ้นทุกที

การประกาศว่าศาสนาพุทธ “ต้อง” เป็นศาสนาประจำชาติ มันมีข้อบกพร่องเสียหายสองอย่างคือ

(1) มันเป็นการกีดกันพลเมืองที่มีความเชื่อในศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู หรือความคิดอื่นๆ ที่รวมไปถึงปรัชญาที่ปฏิเสธศาสนาด้วย มันสร้างพลเมืองสองระดับ คนที่อยู่ในกระแส กับคนที่อยู่นอกกระแส และมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนที่มีความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธ เช่นในปาตานีเป็นต้น หรือจะนำไปสู่การช่วงชิงกันเพื่อนิยามศาสนาพุทธ “ที่ถูกต้อง” อีกด้วย

การพูดเรื่องศาสนาที่ “ถูกต้อง” เป็นการพูดโกหกตอแหล คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าศาสนาบริสุทธ์ไม่มีจริง เพราะศาสนาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำเขียนศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์บางคนเขียนขึ้นในอดีต

ทุกวันนี้เราเห็นคนอย่าง “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” ที่เชียงใหม่ ที่ออกมาคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ในภาคเหนือกลุ่มชนชาวจีนที่นับถืออิสลามมีมานานจากสมัยที่มีเส้นทางค้าขายโบราณ แต่พวก “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” พูดเหมือนเขาไม่ใช่พลเมืองของสังคมเรา ในที่สุดถ้าความคิดแบบนี้ขยายตัวก็จะเกิดขบวนการพระสงฆ์ที่นำอันธพาลไปฆ่าคนมุสลิมอย่างที่เราเห็นที่พม่า ดังนั้นเราต้องคัดค้าน

(2) การประกาศว่ารัฐธรรมนูญต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นการผูกศาสนาไว้กับรัฐ ในอดีตรัฐไทยภายใต้เผด็จการทหารพยายามจะคุมพระสงฆ์ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ มันไม่ใช่เพื่อพัฒนาศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และรัฐไทยพยายามตลอดที่จะกำหนดว่าพุทธศาสนาที่ “ถูกต้อง”คืออะไร หรือใครบ้างที่จะมีสิทธิห่มผ้าเหลือง

ความแตกแยกในหมู่สงฆ์ที่เราเห็นตอนนี้ก็เป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในอดีตรัฐไทยพยายามที่จะประโคมว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งในการเมือง แต่มันเป็นภาพหลอกลวง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนหน้านั้นอีก พระสงฆ์กับการเมืองเกี่ยวข้องกันเสมอ รัฐไทยพยายามสร้างภาพว่าพระที่ “ดี” ต้องคล้อยตามผู้มีอำนาจ และในปัจจุบัน พุทธอิสระ พระฟาสซิสต์คนโปรดของประยุทธ์ ก็ดูเหมือนมีสิทธิพิเศษ

ผมไม่สนใจหรอก ถ้าพระสงฆ์จะตีกันและแย่งชิงอะไรกัน ถ้าไม่มีผลกระทบกับพลเมืองส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องสารภาพว่าผมชอบเห็นพระสงฆ์เผชิญหน้ากับทหาร แต่นั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่ไม่คิดมาก

สำหรับนักประชาธิปไตย หรือนักสังคมนิยม ศาสนาควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว แยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง ใครจะศึกษาศรัทธาในแนวคิดแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าคนที่นับถืออะไรจะมารวมตัวกันตั้งสมาคมหรือองค์กรทางศาสนา เพื่อสร้างวัดหรือประกอบพิธี เขาก็ควรมีสิทธิ์ ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ แต่ไม่ควรมีการบังคับสวดมนต์ในโรงเรียน และไม่ควรมีการระบุว่าพลเมืองนับถืออะไรในบัตรประจำตัวแต่อย่างใด

รัฐไทยไม่ควรทำให้การบิณฑบาตรของพระในปาตานีเกี่ยวพันกับทหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การลอบวางระเบิดพระสงฆ์ในขณะออกบิณฑบาตรที่สายบุรีเป็นเรื่องแย่ และในขณะเดียวกันการใช้กองกำลังของฝ่ายรัฐไทย เพื่อลอบสังหารนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของปาตานีก็เป็นเรื่องที่เราควรประณามเช่นกัน นอกจากนี้การใช้กองกำลังรัฐไทย เพื่อกดขี่บังคับให้ชาวมุสลิมมาเลย์ในปาตานีต้องขึ้นกับประเทศไทย ก็เป็นเรื่องแย่อีกด้วย เพราะรัฐไทยทำตัวเหมือนเจ้าอาณานิคมในพื้นที่

แต่ถ้าเราจะพิจารณาเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นที่สายบุรี อ. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยเตือนมานานแล้วว่าการใช้ทหารเพื่อ “คุ้มครอง” พระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตร เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะไปผูกพันศาสนาพุทธกับทหารรัฐไทย ทำให้พระสงฆ์มีภาพเหมือนกับว่าอยู่ข้างอำนาจรัฐไทยที่กดขี่ชาวบ้าน ยิ่งกว่านั้นมันมีช่วงหนึ่งที่กองทัพพยายามส่งเสริมให้ทหารบวชเป็นพระในพื้นที่ปาตานีอีกด้วย

การที่องค์กร “สิทธิมนุษยชน” หรือองค์กรศาสนาต่างๆ ออกมาประณามการวางระเบิดที่สายบุรี ไม่มีทางแก้ปัญหาตรงจุดได้เลย เพราะพอประณามเสร็จแล้วก็ออกมาขอให้รัฐไทยคุ้มครองพระสงฆ์ แต่รัฐไทยคือผู้ใช้ความรุนแรงในการกดขี่ชาวมุสลิมมาเลย์ในปาตานีแต่แรก และกดขี่มาหลายร้อยปีอีกด้วยหลังจากที่ไทยยึดพื้นที่มาเป็นอาณานิคม มันเหมือนกับการขอร้องให้โจรจากรัฐไทยมาปกป้องประชาชน และอย่าลืมด้วยว่ากองกำลังทหารของรัฐไทย ภายใต้ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ก็เป็นพวกที่เข่นฆ่าเสื้อแดงที่ราชประสงค์ และปล้นสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจากพลเมืองไทยทุกคนผ่านการทำรัฐประหาร

แทนที่พระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตร จะหลบอยู่หลังทหาร เขาควรจะผูกมิตรกับผู้นำศาสนาอิสลาม และให้ร่วมกันเดินเคียงข้างกัน

ปัญหาความรุนแรงที่ปาตานีไม่ใช่สงครามระหว่างศาสนา ไม่ใช่สงครามระหว่างชาวพุทธกับชาวอิสลาม แต่มันเป็นสงครามระหว่างชาวมาเลย์มุสลิมกับรัฐไทย ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องมีการถอนกำลังทหารรัฐไทยออกไป และให้คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใด มาร่วมกันกำหนดอนาคต และที่สำคัญคือไม่ควรมีการบังคับใช้รูปแบบ “รัฐรวมศูนย์” ที่เคยทำมาตลอด ควรมีการคุยกันอย่างเสรีว่าปาตานีจะอยู่ต่อในรัฐไทย หรือจะแยกตัวออก หรืออาจมีการพิจารณาว่าควรจะเป็นเขตปกครองตนเองก็ได้ แล้วแต่พลเมืองในพื้นที่จะคิด

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยปกครองโดยเผด็จการทหาร และการที่เผด็จการนี้เน้นการทหารเพื่อทำลายฝ่ายที่กบฏต่อรัฐ โดยอ้างว่าจะ “สร้างสันติภาพ” มีผลทำให้สันติภาพแท้ไม่มีวันเกิดตราบใดที่เราไม่ล้มเผด็จการ

สำหรับคนที่จับอาวุธสู้กับรัฐไทย เราต้องเห็นใจเขา เพราะเขาต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และเขามีประสบการณ์ของการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐไทยมาตลอด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางออกในการปลดแอกประชาชนในปาตานีไม่ใช่การใช้กองกำลังติดอาวุธ เพราะมันทำให้เสียการเมืองเวลาฆ่าพลเรือน และมันไม่สามารถเอาชนะกองทัพไทยได้ ทางออกอยู่ที่การสร้างขบวนการมวลชนอย่างที่กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่พยายามทำอยู่ทุกวันนี้