Tag Archives: ฟาสซิสต์

ดอนัลด์ ทรัมป์ ปลุกม็อบเพื่ออะไร?

หลายคนอาจมองว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ พยายามยึดอำนาจผ่านการปลุกม็อบที่บุกเข้าไปในรัฐสภาสหรัฐ แต่นั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์

ทรัมป์ มีเป้าหมายมาตลอดที่จะผลักดันการเมืองในสหรัฐไปทางขวา ซึ่งเขามองว่าเป็นประโยชน์กับฐานเสียงของตนเอง แต่พอแพ้การเลือกตั้งและต้องลงจากตำแหน่ง เป้าหมายของเขากลายไปเป็นการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของพวกขวาจัด ที่เกลียดคนก้าวหน้าทุกฝ่ายและเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง ทรัมป์ต้องการที่จะมีบทบาทเป็นปากเสียงของขบวนการนี้ในอนาคต

เราเห็น ทรัมป์ พูดจาด่าผู้ลี้ภัยและคนที่อพยพหนีความยากจนมาสู่ประเทศตะวันตก ในลักษณะที่ไม่ต่างเลยจากพวกฟาสซิสต์ และในขณะที่ทรัมป์พูดจาสนับสนุนกลุ่มขวาจัดในสหรัฐ เราต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ เองไม่ใช่ ฟาสซิสต์ เพียงแต่ต้องการที่จะส่งเสริมการเมืองฝ่ายขวาผ่านการร่วมมือกับฟาสซิสต์

แน่นอน ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง เพราะต่อต้านสิทธิสตรี และอวดว่าตนเองละเมิดผู้หญิงหลายคน ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัมป์ เป็นคนที่เหยียดคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวชาวอเมริกัน เขาพูดจาดูถูกคนจากประเทศอื่น เช่นชาวเม็กซิโก ว่าเป็นพวก “ขี้ขโมย” ที่นำอาชญากรรมเข้าประเทศ เขาดูถูกคนพื้นเมืองอเมริกัน และคัดค้านคนที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งๆ ที่พ่อแม่ของ ทรัมป์ เองไม่ได้เกิดที่สหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ พร้อมจะอุดหนุนทุนใหญ่ของสหรัฐ เช่นทุนพลังงานหรือการเกษตร โดยการปิดหูปิดตาถึงปัญหาโลกร้อนและการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากมลพิษ

แต่ ไบเดน ไม่มีนโยบายอะไรที่ก้าวหน้าเลย เพราะไบเดนเป็นนักการเมืองกระแสหลักอนุรักษ์นิยมของฝ่ายทุน สองพรรคใหญ่ในสหรัฐสนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ไม่มีพรรคใดที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจนเลย

จริงอยู่ภายในพรรคเดโมแครตมีกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย และกลุ่มนี้มีผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งในสภาหยิบมือหนึ่ง แต่กลุ่มนี้จะไม่มีอิทธิพลแต่อย่างใดกับรัฐบาลของไบเดน และกลายเป็น “ไม้ประดับ” ที่สร้างภาพความก้าวหน้าปลอมของพรรคเท่านั้น

ไบเดนชนะเพราะสาเหตุเดียวเท่านั้นคือเขาไม่ใช่ทรัมป์ ไม่มีใครตื่นเต้นอะไรกับนโยบายของเขา และเขาเกือบแพ้เพราะคนจนและกรรมาชีพส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาลงคะแนนให้ใคร และอีกส่วนโดนทรัมป์ชักชวนให้หาแพะรับบาปสำหรับปัญหาความยากจน

ม็อบฝ่ายขวาบุกรัฐสภา

ถ้าเปรียบเทียบการรับมือของตำรวจสหรัฐต่อม็อบฝ่ายขวา กับการรับมือกับการประท้วงของคนผิวดำเรื่องการโดนตำรวจยิงตาย จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมสหรัฐเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดสีผิว โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ

ตำรวจรับมือกับการประท้วงของคนผิวดำ

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายและผู้รักความเป็นธรรมในหลายประเทศจะต้องออกมารับมือ วิธีรับมือคือการต่อต้านพวกฟาสซืสต์ และพวกเหยียดสีผิวเชื้อชาติ และที่สำคัญคือต้องต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อระงับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่นำไปสู่การรัดเข็มขัดที่มาพร้อมกับวิกฤตโควิด ต้องมีการสนับสนุนและปลุกระดมการนัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแบบนี้ ฝ่ายขวาจะครองถนนและสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ดีแล้วที่ทรัมพ์แพ้การเลือกตั้งในสหรัฐ แต่กรรมาชีพไว้ใจไบเดนไม่ได้

มันเป็นเรื่องดีมากที่ทรัมพ์แพ้การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา เพราะทรัมพ์เป็นนักการเมืองฝ่ายขวาตกขอบ เป็นนักการเมืองเศรษฐีที่สนับสนุนนายทุนและคนรวย และพร้อมจะใช้การเหยียดสีผิวเชื้อชาติเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดาไปสู่การโทษต่างชาติ คนยิว คนมุสลิม คนผิวดำ และฝ่ายซ้าย แทนที่จะโทษระบบทุนนิยม ทรัมพ์และพรรคพวกพยายามสนับสนุนให้กลุ่มฟาสซิสต์ขยายอิทธิพล ซึ่งบางส่วนถืออาวุธและพร้อมจะใช้ความรุนแรง นี่คือวิธีการของเขาในการดึงคะแนนเสียงมาสนับสนุนเขาจนเกือบชนะการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ทรัมพ์เป็นคนที่พร้อมจะดูถูกและลวนลามสตรี

แต่ยิ่งกว่านั้นทรัมพ์จงใจโกหกในหลายเรื่องรวมถึงเรื่องโควิด เขาเป็นคนที่จงใจฝืนหลักฐานวิทยาศาสตร์ซึ่งเพิ่มอัตราการตายและอัตราการติดโรคสำหรับชาวสหรัฐโดยไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นเขาพยายามจะทำลายระบบสาธารณสุขสำหรับคนจนและกรรมาชีพอีกด้วย ในเรื่องโควิดเขาไม่แคร์ว่าประชาชนธรรมดาจะตายโดยไม่จำเป็นเพราะเขาเห็นแก่ประโยชน์คนรวยเท่านั้น

แต่ชัยชนะของไบเดน ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะฉลอง ไบเดนไม่มีนโยบายอะไรที่ก้าวหน้าเลย เพราะไบเดนเป็นนักการเมืองกระแสหลักอนุรักษ์นิยมของฝ่ายทุน คือสองพรรคใหญ่ในสหรัฐสนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ไม่มีพรรคใดที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจน

กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย

จริงอยู่ภายในพรรคเดโมแครตมีกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย และกลุ่มนี้มีผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งในสภาหยิบมือหนึ่ง แต่กลุ่มนี้จะไม่มีอิทธิพลแต่อย่างใดกับรัฐบาลของไบเดน และกลายเป็น “ไม้ประดับ” ที่สร้างภาพความก้าวหน้าปลอมของพรรคเท่านั้น ในการเลือกผู้ที่จะลงแข่งกับทรัมพ์ ในช่วงต้นๆ เบอร์นี แซนเดอร์ส นักการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยมาแรง แต่ในที่สุดพวก “ผู้ใหญ่” ในพรรคเดโมแครตก็จัดการให้เขาต้องถอนตัวภายใต้ระบบของพรรคที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เบอร์นี แซนเดอร์ส

ไบเดนชนะเพราะสาเหตุเดียวเท่านั้นคือเขาไม่ใช่ทรัมพ์ ไม่มีใครตื่นเต้นอะไรกับนโยบายของเขา และเขาเกือบแพ้เพราะคนจนและกรรมาชีพส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาลงคะแนนให้ใคร และอีกส่วนโดนทรัมพ์ชักชวนให้หาแพะรับบาปสำหรับปัญหาความยากจน หลายคนคาดว่าถ้าเบอร์นี แซนเดอร์สเป็นผู้แทนของพรรคเดโมแครต แทนไบเดน เขาคงจะสร้างความตื่นเต้นและความหวังสำหรับคนธรรมดาไม่น้อยและน่าจะชนะทรัมพ์ง่ายกว่า

ในขณะที่ทรัมพ์แพ้ เขาและพวกฝ่ายขวาตกขอบกับพวกฟาสซิสต์ก็จะไม่หยุดขยายความเกลียดชังและความรุนแรงในสังคมสหรัฐ คนธรรมดาจะต้องออกมาต้านพวกนี้ เพราะเรื่องจะไม่จบที่ผลการเลือกตั้ง

ถ้าสังคมสหรัฐจะก้าวหน้าไปสู่ความเท่าเทียมและเสรีภาพจริง ความหวังไม่ได้อยู่ที่พรรคเดโมแครต แต่อยู่ที่การเคลื่อนไหวของมวลชน โดยเฉพาะในขบวนการ Black Lives Matter และขบวนการแรงงานซึ่งมีการนัดหยุดงานเมื่อเร็วๆ นี้ เช่นในกรณีสหภาพแรงงานครูเป็นต้น ซึ่งในประเด็นนี้ก็ไม่ต่างจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย (ดูบทความก่อนหน้านี้ https://bit.ly/2GAkDCa )

สหภาพแรงงานครูนัดหยุดงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

การทำลายมาตรฐานการจ้างงานในเยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปัญหาความเสื่อมในคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการทำงานของกรรมาชีพเยอรมัน อธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเยอรมันได้ มันอธิบาย “ความสำเร็จ” ในการส่งออกซึ่งสร้างกำไรมหาศาลให้กับกลุ่มทุนเยอรมัน แต่เกิดขึ้นบนสันหลังกรรมาชีพ มันอธิบายว่าทำไมธนาคารต่างๆ ของเยอรมันพร้อมจะปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศที่ยากจนกว่าในยุโรป เช่นกรีซ เพื่อระบายสินค้าส่งออกของเยอรมัน มันอธิบายว่าทำไมหลังจากนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 รัฐบาลเยอรมันเป็นหัวหอกในการบังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดในกรีซ เพื่อเอาเงินกู้นั้นคืนมา ซึ่งทำให้ประชาชนกรีซต้องยากลำบาก และล่าสุดมันอธิบายว่าทำไมในสังคมเยอรมัน ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับพรรคกระแสหลัก และบางคนพร้อมจะเชื่อการเป่าหูที่เบี่ยงเบนประเด็นไปสู่การโทษผู้ลี้ภัย คนมุสลิม และคนต่างชาติที่ทำงานในเยอรมัน ซึ่งมีผลทำให้พรรคนาซีเยอรมันกลับมาได้คะแนนเสียงในรัฐสภาเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลก

AfD+hitler

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้สงครามเย็น เยอรมันถูกแบ่งออกเป็นสองซีก เยอรมันตะวันตกภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ ฝรั่งเศส กับอังกฤษ และเยอรมันตะวันออกภายใต้อิทธิพลรัสเซีย

ในสมัยนั้นการเมืองกระแสหลักในเยอรมันตะวันตกส่งเสริมให้รัฐมีบทบาทสูง มีการสร้างระบบรัฐสวัสดิการและระบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้ทุนนิยมขยายตัวและพัฒนาสังคมภายใต้สันติภาพทางชนชั้น รายได้และมาตรฐานการทำงานของกรรมาชีพเยอรมันก็ดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนั้นนายทุนก็สามารถเพิ่มกำไรและปริมาณการส่งออกได้ มันสร้างวัฒนธรรมการร่วมมือกันระหว่างสหภาพแรงงานกับนายทุนจนผู้นำสหภาพเลิกสนใจการต่อสู้ผ่านการนัดหยุดงาน

แต่พอถึงปลายทศวรรษที่ 70 ระบบเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่วิกฤตทุนนิยมเรื้อรังท่ามกลางการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นทั่วโลกมีการรื้อฟื้นแนวเสรีนิยมกลไกตลาดและแนวคิดที่ต่อต้านบทบาทรัฐในเศรษฐกิจ เช่นการต่อต้านรัฐสวัสดิการ และการต่อต้านมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ทั้งนี้เพื่อพยายามกู้อัตรากำไรให้นายทุน [ดู https://bit.ly/2tWNJ3V]ในยุคทศวรรษที่ 80 และ 90 เริ่มมีการตัดงบประมาณในรัฐสวัสดิการและการส่งเสริมการขายรัฐวิสาหกิจ อัตราการว่างงานค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่สภาพชีวิตของคนธรรมดาในเยอรมันยังไม่ถึงขั้นวิกฤต

พร้อมกันนั้นระบบเผด็จการสตาลินก็ล่มสลายในรัสเซียกับยุโรปตะวันออก ซึ่งนำไปสู่การรวมประเทศเยอรมันเป็นประเทศเดียวหลัง 1989 และทั้งๆ ที่การรวมประเทศทำให้รัฐเยอรมันต้องลงทุนมหาศาลในการพัฒนาเยอรมันตะวันออกให้มีมาตรฐานเท่ากับตะวันตก แต่กลุ่มทุนเยอรมันได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสู่ภูมิภาคที่มีค่าจ้างต่ำในเยอรมันตะวันออกกับส่วนอื่นของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ดังนั้นกลุ่มทุนเยอรมันสามารถประคองอัตราการส่งออกได้ แต่อัตราการว่างงานในเยอรมันซีกตะวันออกสูงมาก เพราะอุตสาหกรรมเก่าจากยุคเผด็จการสตาลินล้มเหลว

Gerhardschroeder
แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์

พอถึงปี 2003 รัฐบาลแนวร่วมระหว่างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคกรีน ภายใต้นายกรัฐมนตรี แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ (Gerhard Schröder) หันหลังให้กับความคิดเดิมที่เน้นรัฐสวัสดิการและแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เพื่อรับแนวเสรีนิยมมาเต็มๆ และเปิดศึกกับขบวนการแรงงาน เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน การหักหลังชนชั้นกรรมาชีพและรับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดโดยพรรคสังคมนิยมปฏิรูปหรือพรรคแรงงานเกิดขึ้นทั่วยุโรป และมีการแก้ตัวโดยที่นักวิชาการหลายคน[1]โกหกว่าเป็น“แนวทางที่สาม” ระหว่างแนวที่เน้นรัฐกับแนวที่คลั่งตลาด ในความจริงมันเป็นการรับแนวคลั่งตลาดมาเต็มตัว ในอังกฤษรัฐบาลของ โทนี แบลร์ ที่อ้างว่าเป็น “พรรคแรงงานใหม่” ก็ส่งเสริมนโยบายแบบนี้เช่นกัน

ในเยอรมัน แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ เสนอนโยบาย “วาระ2010” (Die Agenda 2010) มีการตัดสวัสดิการต่างๆ แบบถอนรากถอนโคน มีการทำลายกฏหมายที่ปกป้องความมั่นคงของการทำงานเพื่อให้นายจ้างสามารถไล่คนออกง่ายขึ้น และมีการนำระบบรับเหมาช่วงและการจ้างคนงานชั่วคราว มาใช้ในบริษัทต่างๆ ในหลายบริษัทเกือบครึ่งหนึ่งของคนงานเป็นคนงานชั่วคราวที่ไร้สิทธิ์และสวัสดิการที่ดี ในบางกรณีคนงานชั่วคราวได้รับค่าจ้างแค่ครึ่งหนึ่งของคนงานประจำ มีการลดการใช้ระบบเจรจาระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงานในกรรมการลูกจ้างของบริษัทต่างๆ ในปี 2014 แค่ 28% และ 15% ของบริษัทในซีกตะวันตกและตะวันออกได้รับค่าจ้างมาตรฐานที่มาจากการเจรจากับสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนงานจากประเทศอื่นในอียูที่เข้ามาทำงานเกือบจะไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย คนงานที่แย่ที่สุดคือคนงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงาน

german-workers

ท่ามกลางการเปิดศึกกับกรรมาชีพของชนชั้นปกครองเยอรมัน ผู้นำสหภาพแรงงานหมูอ้วนหลายคนที่เคยชินกับการเจรจาแทนการนำการต่อสู้ ก็ยอมจำนนโดยปลอบใจตัวเองและสมาชิกสหภาพว่าอย่างน้อยก็สามารถรักษาผลประโยชน์อะไรบางอย่าง อย่างไรก็ตามในหลายบริษัทก็มีกรณีที่สหภาพแรงงานพยายามต่อสู้เพื่อเพิ่มมาตรฐานการจ้างงานสำหรับคนงานชั่วคราวในระบบรับเหมาช่วง และคนงานที่มีรายได้ต่ำ เช่นการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน Verdi กับ NGG ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและระบบการศึกษา

GERMANY-US-UNIONS-RETAIL-STRIKE-IT-AMAZON

สรุปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 90 กรรมาชีพเยอรมันได้ส่วนแบ่งของผลผลิตที่ตัวเองผลิตน้อยลง ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนนายทุนได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเยอรมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในปี 2012 25% ของคนงานเยอรมันมีรายได้ต่ำกว่ารายได้ที่ถือว่าอยู่ในระดับยากจน และในหมู่ลูกหลานของคนชั้นกลาง มีกระแสความกลัวในเรื่องความมั่นคงในชีวิต

นี่คือรากฐานของการกลับมาของกระแสการเมืองฟาสซิสต์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคของนายทุนและมีนโยบายที่เหมือนกัน

a53ee86f43e24999be6547d254e9230d_18
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเข้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคของนายทุน

แม้แต่ “พรรคซ้าย” (Die Linke) ก็มีปัญหาในการครองใจคนที่ประสพความยากลำบาก เพราะไปเน้นเรื่องการเจรจาในรัฐสภาแทนที่จะนำการต่อสู้ของสหภาพแรงงานหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อคัดค้านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว

dlinke
พรรคซ้าย

มันเปิดโอกาสให้พวกนาซีหรือฟาสซิสต์ในพรรค AfD (Alternative für Deutschland) สามารถเบี่ยงเบนความทุกข์ของประชาชนไปสู่การต่อต้านผู้ลี้ภัย คนต่างชาติ หรือคนมุสลิม ทั้งๆ ที่ความทุกข์ของประชาชนมาจากนโยบายเสรีนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน

1018316866
สส.พรรคนาซี

[อ่านเพิ่ม: Oliver Nachtwey (2018) “Germany’s Hidden Crisis. Social Decline in the Heart of Europe”. Verso Books.]

[1] เช่น Anthony Giddens และ Thomas Meyer ในกรณี Thomas Meyer องค์กร FES ในไทยเคยเชิญคนนี้มาเพื่อคุยกับนักสหภาพแรงงานไทยและชักชวนให้ชื่นชมแนวทางที่สามและสร้างพรรคแรงงานที่ยอมรับกลไกตลาดเสรี โดยมีการตีพิมพ์หนังสือ “อนาคตของสังคมประชาธิปไตย”

 

วิเคราะห์ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นขบวนการที่ดูเหมือนระเบิดขึ้นอย่างกระทันหันจนสามารถท้าทายการปกครองของประธานาธิบดีมาครง

มีนักวิเคราหะบางคน รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจากยุค 1968 ที่มองว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเป็นขบวนการของชาวชนบทที่มี่นำโดยพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

แต่พวกที่มองแบบนี้เป็นคนที่มองอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ติดดิน และไม่ทันกับสถานการณ์โลกจริง เพราะขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองซับซ้อนกว่านั้นมากและกลายเป็นขบวนการทางชนชั้นที่เอียงไปทางซ้าย

ในตะวันตกพอมาครงชนะการเลือกตั้งในปี2017 พวกเสรีนิยมทั้งหลายพากันตื่นเต้นและเชียร์เขาสุดขีด หลายคนมองว่าเขาคือความหวังใหม่และจะปฏิรูปฝรั่งเศสและยุโรปให้ทันสมัย

macron-1

ในไทยตอนที่มาครงเข้ามาใหม่ๆ นสพ ไทยรัฐ เขียนชมไว้ว่า “หลายคนเห็นหน้าประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่แล้ว กรี๊ดกร๊าดในความหล่อ ทั้งยังฉลาด รู้สึกหลงรักอย่างบอกไม่ถูก” ส่วน MThaiNews ก็มีบทความ “เปิดประวัติ ‘มาครง’ ผู้นำหล่อคนใหม่แห่งเมืองน้ำหอม”

ยิ่งกว่านั้น ความ “หน้าใหม่หน้าหล่อ” ของมาครงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบเขากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP และ https://bit.ly/2S3MSto ] แต่ที่สำคัญคือธนาธรเองไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับมาครง

1920px-Manif_fonctionnaires_Paris_contre_les_ordonnances_Macron_(37572386626)

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของเขา โดยแนวร่วมสหภาพแรงงานเป็นแกนหลัก สาเหตุคือความพยายามของมาครงที่จะทำลายสิทธิแรงงานเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือการพยายามนำรัฐวิสาหกิจในภาคขนส่งออกขายให้เอกชน

นอกจากนี้ในไม่นานมาครงได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เพราะลดภาษีให้คนรวยทันที และใช้เงินรัฐเพื่อการเสพสุขของตนเอง เช่นซื้อของใช้ราคาแพงสำหรับบ้านพักประธานาธิบดี และเขายังผลักดันนโยบายรัดเข็มขัดที่ทุกรัฐบาลในอียูทำกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจนมาก

mka05lnsc5d123536

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเกิดขึ้นจากการประท้วงนโยบายของมาครงที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน โดยที่มาครงใช้ข้ออ้างเท็จว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในความจริงมันมีผลกระทบกับคนจนและคนชั้นกลางมากกว่า ในช่วงแรกพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน พยายามจะฉวยโอกาสด้วยการสนับสนุน แต่เมื่อขบวนการเริ่มชูประเด็นของชนชั้นกรรมาชีพ เช่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย เลอ แปน ก็ถอยออกไป ในไม่ช้าขบวนการนักศึกษาก็มาร่วมโดยนำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการเก็บค่าเล่าเรียนและการกีดกันนักศึกษาจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนและประกาศนัดหยุดงานด้วย แต่แกนนำสหภาพระดับชาติยังสองจิตสองใจอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศและเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนผิวดำก็ถูกชูขึ้นอีกด้วย และเวลาเกิดการทำลายทรัพย์สิน มักจะเป็นร้านค้าและรถยนต์ของเศรษฐีคนรวยที่ถูกเผา แต่ความรุนแรงส่วนใหญ่มากจากตำรวจของรัฐที่พยายามปราบผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

กลุ่มล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมคือกลุ่มคนพิการที่ไม่พอใจกับกฏหมายของรัฐบาลที่ลดมาตรฐานในการสร้างบ้านใหม่ นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานที่ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกลงในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแรงงานออกมาประสานการนัดหยุดงาน

yellow-vests-demonstration-in-paris

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ และเป็นพื้นที่สำหรับการช่วงชิงการนำโดยพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายขวารวมถึงฟาสซิสต์ด้วย ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายซ้ายสามารถชิงการนำได้ [ดูhttps://bit.ly/2cvlmCk ]

นอกจากนี้นักมาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าจะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคใดยุคหนึ่ง ต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์ คือดูว่าการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมีหน้าตาอย่างไร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ การต่อต้านมาครงระเบิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008 นำไปสู่นโยบายรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงในทุกประเทศของยุโรปและหลายประเทศของลาตินอเมริกา มันทำให้คนจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และความเดือดร้อนดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธแค้นที่สะสมในหัวใจคนจำนวนมาก มันแค่รอวันที่จะแสดงตัวเท่านั้น มันอธิบายได้ว่าทำไปประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียูซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตรุนแรงสำหรับชนชั้นปกครอง มันอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนใน บราซิล เยอรมัน อิตาลี่ ฯลฯ เบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก และมันอธิบายความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของ “ผู้ที่ถูกลืม” ในฝรั่งเศส

c318c5c05db8a043348e993cf24f8214_w982_h543
นักสหภาพแรงงานร่วมประท้วงกับเสื้อกั๊กเหลือง

ทุกวันนี้ชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรป เกรงกลัวว่าเสื้อกั๊กเหลืองจะลามจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศของตนเอง เหมือนกับคลื่นประท้วงอาหรับสปริงเมื่อไม่นานมานี้

ชัยชนะของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่จะล้มมาครงและเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงมวลชนกับพลังของชนชั้นกรรมาชีพและนักศึกษา แต่ถ้าผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามจะประนีประนอมมันก็จะไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีเสื้อกั๊กเหลืองแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและคนจนมีผลสำคัญในการผลักพวกฟาซิสต์ออกจากเวทีการเมืองของมวลชน และมันมีผลทำให้รัฐบาลมาครงหมดความชอบธรรม

ทำไมฝ่ายขวาฟาสซิสต์ในยุโรปเพิ่มคะแนนเสียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ข่าวล่าสุดจากการเลือกตั้งในสวีเดนเมื่อต้นเดือนกันยายนรายงานว่าพรรค “ประชาธิปัตย์สวีเดน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่มีต้นกำเนิดจากพวกนาซี สามารถเพิ่มคะแนนเสียง 4.7% เป็น 17.6% จนกลายเป็นพรรคอันดับที่สามของประเทศรองจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคสายกลาง

สื่อหลายแห่งและพรรคประชาธิปัตย์สวีเดนเอง อ้างว่าเป็นเพราะสวีเดนรับผู้ลี้ภัยมา “มากเกินไป” แต่สาเหตุสำคัญที่แท้จริง เป็นเพราะรัฐบาลจากพรรคกระแสหลักในอดีต ได้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเพื่อค่อยๆ ทำลายรัฐสวัสดิการผ่านการรัดเข็มขัดและการเพิ่มบทบาทของบริษัทเอกชน มีการตัดอัตราภาษีที่เก็บจากบริษัท กลุ่มทุน และคนรวยอีกด้วย

การตัดสวัสดิการและการกดค่าแรงในสวีเดน เริ่มตั้งแต่วิกฤตการเงินในกลางทศวรรษที่ 90 และมาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 ผลคือความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [ดู https://bit.ly/2p0LVFD ]

พรรคกึ่งฟาสซิสต์ของสวีเดนโฆษณาว่าประชาชน “ต้อง” เลือกระหว่างรัฐสวัสดิการและการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งเป็นคำโกหกเหยีดเชื้อชาติสีผิว และเป็นการสร้างแพะรับบาปในรูปแบบคนต่างชาติ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ซึ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ และคุณภาพของรัฐสวัสดิการเพิ่มได้ถ้ามีรัฐบาลที่พร้อมจะเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มทุนและคนรวย และพร้อมจะเลิกการใช้นโยบายเสรีนิยม

คะแนนเสียงของพรรคกระแสหลักสวีเดนลดลง ทั้งๆ ที่มีการลอกแบบจุดยืนบางอย่างที่คัดค้านผู้ลี้ภัยจากพรรคประชาธิปัตย์สวีเดน ในขณะเดียวกัน “พรรคซ้าย” ซึ่งเป็นพรรคอดีตคอมมิวนิสต์ สามารถเพิ่มคะแนนเสียงโดยไม่ยอมจำนนต่อนโยบายที่เหยียดเชื้อชาติ

ผลของการขยับไปทางขวาของพรรคกระแสหลัก นอกจากจะไม่ช่วยกู้คะแนนแล้ว ยังมีผลในการทำให้นโยบายของพวกฟาสซิสต์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาประชาชนบางคน คำพูดเหยียดเชื้อชาติของ ดอนัลด์ ทรัมป์ และเงินสนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปที่มาจากพรรคพวกของทรัมป์ในสหรัฐ ก็มีส่วนช่วยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนไม่ต่างจากปรากฏการณ์ในประเทศอื่นๆ ของยุโรป คือพรรคกึ่งฟาสซิสต์ ที่ประกอบไปด้วยแกนนำที่เป็นนาซี แต่สร้างภาพปลอมว่า “เคารพประชาธิปไตย” สามารถเพิ่มคะแนนเสียง พรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวาคะแนนลดลง ทั้งๆ ที่ขยับจุดยืนไปทางขวาและเริ่มโจมตีผู้ลี้ภัย จนจุดยืนของพวกฟาสซิสต์ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับในประชาชนหลายส่วนส่วน

skynews-germany-chemnitz-hitler_4403794
ฟาสซิสต์ในเมืองChemnitz

ในรัฐสภาเยอรมันตอนนี้มี สส. ที่เป็นนาซี และในเมือง Chemnitz เมื่อเดือนที่แล้ว หลังข่าวการแทงกัน มีการอาละวาดของอันธพาลนาซีที่เดินขบวนและทำร้ายคนสีผิวที่อยู่ในเมือง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกต่อต้านโดยมวลชนที่คัดค้านฟาสซิสต์

Chemnitz-assembly091118
ต้านฟาสซิสต์ที่ Chemnitz

รัฐบาลอิตาลี่ตอนนี้ประกอบไปด้วย “พรรคห้าดาว” และ พรรคLega ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และมีการกีดกันผู้ลี้ภัยที่กำลังจมน้ำในทะเลไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกันนั้นมีการส่งตำรวจไปปรามชาวโรมา (ยิปซี) และข่มขู่คนมุสลิมภายในประเทศ

_101876768_mediaitem101876767
Matteo Salvini ผู้นำพรรคกึ่งฟาสซิสต์ในอิตาลี่

รัฐบาลออสเตรียเป็นรัฐบาลพรรคแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยพรรคฟาสซิสต์ (ชื่อพรรคเสรีภาพ!)

ในเดนมาร์ครัฐบาลปัจจุบันอาศัยเสียงสนับสนุนจาก “พรรคประชาชนเดนมาร์ค” ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และผลคือประเทศเดนมาร์คใช้กฏหมายคนเข้าเมืองโหดที่สุดและกีดกันผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง

marine-le-pen-fn-really-may-day-paris
Le Pen ในฝรั่งเศส

ในฝรั่งเศส “พรรคแนวร่วมชาติ” ของ Marine Le Pen ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “รวมตัวกันเพื่อชาติ” เป็นพรรคนาซี และ นางLe Pen ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

jobbik
อันธพาลพรรค Jobbik ในฮังการี่

ในฮังการี่ พรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ใช้นโยบายเหยียดมุสลิมและผู้ลี้ภัยอย่างเปิดเผย และในรัฐสภาฮังการี่ยังมี พรรค Jobbik ซึ่งเป็นพรรคฟาสซิสต์อย่างเปิดเผยที่ได้ 19% ของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

ปัจจัยร่วมที่สำคัญซึ่งนำไปสู่สภาพแบบนี้ของการขึ้นมาของฝ่ายขวาสุดขั้วในยุโรปคือ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และการใช้นโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัด ที่กดค่าแรงและทำลายสวัสดิการ ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวา บวกกับการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและสร้างแพะรับบาปในรูปแบบผู้ลี้ภัยหรือคนมุสลิม

ในขณะเดียวกันเราไม่ควรมองข้ามการเพิ่มคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายบางพรรคที่ปฏิเสธนโยบายรัดเข็มขัดและการกีดกันผู้ลี้ภัย เช่นพรรคแรงงานอังกฤษของ Jeremy Corbyn  พรรคของ Jean-Luc Mélenchon ในฝรั่งเศส หรือพรรคซ้ายในเยอรมัน

วิธีที่จะคัดค้านกระแสเหยียดสีผิวและการขึ้นมาของฟาสซิสต์คือ ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างแนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวและฟาสซิสต์ เพื่อออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวของพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการสร้างแนวร่วมแบบนี้ในอังกฤษ เยอรมัน กรีซ และออสเตรีย สอง สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่คัดค้านนโยบายเสรีนิยมกับการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะในหมู่สหภาพแรงงาน

sutr080918_web
แนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวในอังกฤษ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2OcScsD , https://bit.ly/2x7iyWm

 

ดอนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำอะไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

หลายคนอาจมองว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำ “สติเสีย” เพราะมักจะมีการกลับคำเสมอ พร้อมจะโกหกแบบหน้าด้าน และนโยบายของเขาดูเหมือนไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จึงขัดแย้งในตัวเอง หรือไร้เหตุผลทางปัญญา แต่คนที่มองแบบนี้ประเมิน ทรัมป์ ต่ำเกินไป

แน่นอน ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่ง เพราะต่อต้านสิทธิสตรี อวดว่าตนเองละเมิดผู้หญิงหลายคน และในขณะนี้กำลังหาทางที่จะยกเลิกสิทธิทำแท้งในสหรัฐผ่านการแต่งตั้งผู้พิพากษาอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยาสุดขั้ว ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัมป์ เป็นคนที่เหยียดคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวชาวอเมริกัน เขาพูดจาดูถูกคนจากประเทศอื่น เช่นชาวเม็กซิโก ว่าเป็นพวก “ขี้ขโมย” ที่นำอาชญากรรมเข้าประเทศ เขาดูถูกคนพื้นเมืองอเมริกัน และคัดค้านคนที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งๆ ที่พ่อแม่ของ ทรัมป์ เองไม่ได้เกิดที่สหรัฐ นอกจากนี้ ทรัมป์ พร้อมจะอุดหนุนทุนใหญ่ของสหรัฐ เช่นทุนพลังงานหรือการเกษตร โดยการปิดหูปิดตาถึงปัญหาโลกร้อนและการที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจากมลพิษ และถ้าแค่นี้ไม่พอ ทรัมป์ เป็นคนที่พร้อมจะก่อให้เกิดสงครามทั่วโลก เช่นในตะวันออกกลาง โดยไม่ห่วงใยเพื่อนมนุษย์

ทรัมป์ ชอบอ้างว่าเป็นมิตรของคนทำงานธรรมดาในสหรัฐที่ต้องยากลำบาก แต่ในรูปธรรมนโยบายของเขาหนุนแต่ทุนใหญ่และคนรวยในขณะที่ทำลายความมั่นคงของคนธรรมดา เช่นนโยบายการลดภาษีให้กลุ่มทุน หรือการพยายามทำลายระบบสาธารณสุขสำหรับประชาชน

ในการเดินทางมายุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว เราเห็นความพยายามของ ทรัมป์ ที่จะเปิดศึกกับนักการเมืองและพรรคการเมืองกระแสหลักแบบเสรีนิยม โดยเฉพาะ อังเกลา แมร์เคิล ในเยอรมัน และ ทะรีซา เมย์ ในอังกฤษ เป้าหมายของ ทรัมป์ คือการสร้างความปั่นป่วน ทำลายพรรคกระแสหลัก และลดอิทธิพลของ อียู (สหภาพยุโรป)

ทรัมป์ เชื่อว่าองค์กรที่สหรัฐเคยสร้างและสนับสนุนในอดีต เช่น อียู นาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และองค์กรการค้าระหว่างประเทศ (WTO) ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ เขาไม่พอใจที่ เยอรมัน มีดุลการค้ากับสหรัฐสูง และไม่ยอมเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยที่ ทรัมป์ เชื่อว่าประเทศต่างๆ ใน อียู อาศัย “ร่ม” ทางทหารของสหรัฐ โดยไม่ยอมจ่าย

5aca2cf0dda4c817528b458c

การเปิดศึกทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐกับจีนและอียู มาจากแนวคิดเดียวกันที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสหรัฐ แต่มันเป็นยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างจะเสี่ยง และคุมยาก เพราะประสบการณ์จากอดีต สมัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก 1930 ชี้ให้เห็นว่าการปิดกั้นทางการค้าของทุกฝ่ายทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศได้รับผลเสีย และนายทุนสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการโต้ตอบของจีนและอียูในสมัยนี้ ก็คงไม่พอใจอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นทั้งสหรัฐ อียู และจีน ผูกพันกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการลงทุนและการถือหุ้นในบริษัทข้ามชาติต่างๆ และตลาดจีนมีความสำคัญกับสหรัฐไม่น้อย ดังนั้นการปิดประเทศโดย ทรัมป์ คงทำไม่ได้

อีกสาเหตุสำคัญที่ ทรัมป์ โจมตีพรรคเสรีนิยมกระแสหลัก ก็เพราะเขามีเป้าหมายร่วมกับพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ในยุโรป ที่จะผลักดันการเมืองโลกไปทางขวา ซึ่งเขามองว่าจะเป็นประโยชน์กับฐานเสียงตนเองในสหรัฐ

ดังนั้นเราเห็น ทรัมป์ พูดจาด่าผู้ลี้ภัยและคนที่อพยพหนีความยากจนมาสู่ยุโรป ในลักษณะที่ไม่ต่างเลยจากพวกฟาสซิสต์ที่อยู่ในรัฐบาล อิตาลี่ ออสเตรีย และฮังการี่ ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็พูดจาสนับสนุนกลุ่มขวาจัดในสหรัฐด้วย อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ ไม่ใช่ ฟาสซิสต์ แต่เพียงแต่ต้องการที่จะส่งเสริมการเมืองฝ่ายขวา

FRANCE-US-POLITICS-FN-PARTY-CONGRESS
สตีฟ แบนนอน กับหัวหน้าพรรคฟาสซิสต์ฝรั่งเศส

ที่น่ากังวลคือ สตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาคนโปรดของ ทรัมป์ ได้ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นในยุโรป เพื่อให้ทุนอุดหนุนกลุ่มฟาสซิสต์ต่างๆ ในทุกประเทศของยุโรป

US-POLITICS-TRUMP-STAFF

จะเห็นได้ว่าการมีประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปและสหรัฐ ในบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดเพราะผลของนโยบายรัดเข็มขัดสร้างความไม่พอใจทั่วไปในหมู่ประชาชนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่อันตรายยิ่ง และเสี่ยงกับการเพิ่มกระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ กับกระแสฟาสซิสต์โดยทั่วไป

การเน้นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว เป็นวิธีหนึ่งที่ชนชั้นปกครองใช้ในการเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายรัดเข็มขัดที่เริ่มหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายและผู้รักความเป็นธรรมในหลายประเทศจะต้องออกมารับมือ วิธีรับมือคือการต่อต้านพวกฟาสซืสต์ และการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อระงับนโยบายรัดเข็มขัด เช่นด้วยการนัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างสวัสดิการเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายแบบนี้ ยุโรปและสหรัฐจะเข้าสู่ยุคมืด

20180715_135530

[บทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความของ Alex Callinicos ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker]

“ประชานิยม” ถ้อยคำอคติของชนชั้นกลาง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคนี้ทั่วโลกมีการใช้คำว่า “ประชานิยม” หรือ Populism โดยเฉพาะเวลากล่าวถึงนักการเมืองฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีทรัมพ์ในสหรัฐ พรรคฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย หรือพรรคอิสรภาพสำหรับสหราชอาณาจักร (UKIP) ในอังกฤษ

สองนักการเมืองฟาสซิสต์จากฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์

อดีตหัวหน้าพรรค UKIP

“ประชานิยม” ที่มีการพูดถึงในยุคนี้จะถูกเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา”

เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้คำว่า “ประชานิยม” เพื่อกล่าวถึงพรรคไทยรักไทยและนโยบายของทักษิณ และทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ถูกเรียกว่าใช้นโยบาย “ประชานิยมฝ่ายขวา” แต่การใช้คำว่า “ประชานิยม” ในไทยมีส่วนคล้ายกับการใช้คำนี้ในตะวันตกในปัจจุบัน

ส่วนคล้ายที่ผมอยากจะยกมาอธิบายคือ คำว่า “ประชานิยม” นี้ในทั้งสองกรณี เป็นคำที่ปัญญาชนหรือนักวิชาการชนชั้นกลางใช้เพื่อดูถูกคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพและคนจน มันเป็นคำที่เต็มไปด้วยอคติของพวกที่มองว่าตัวเองฉลาดกว่า มีการศึกษามากกว่า และเข้าใจเศรษฐศาสตร์กับการเมืองมากว่าพลเมืองธรรมดา พวกนี้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพกับคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของทุกสังคม เป็นคนโง่

ในกรณีไทย พวกนักวิชาการสลิ่มชนชั้นกลาง จะเล่านิยายว่าทักษิณ “ซื้อเสียง” ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ สำหรับพวกสลิ่มเหล่านี้การมีนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าที่ทำให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เป็นครั้งแรก เป็นการเปลืองตัง การมีนโยบายสร้างงาน เป็นการใช้งบประมาณรัฐในทางที่ผิดและไร้วินัย การพยายามลดหนี้เกษตรกร เป็นการปล่อยให้ชาวไร้ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบฯลฯ ซึ่งความคิดอคติดังกล่าวสะท้อนความเห็นแก่ตัวทางชนชั้นของชนชั้นกลางและพวกชนชั้นสูง

ทุกวันนี้พรรคพวกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดกำลังออกแบบ “ยุทธศาสตร์ล้าหลังแห่งชาติ” เพื่อไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการกีดกันคนธรรมดาออกจากการเมืองประชาธิปไตย พูดง่ายๆ พวกมันต้องการให้เราไม่มีทางเลือกอะไรในแง่ของนโยบายเมื่อมีการเลือกตั้ง

ในเรื่องประชานิยมนี้มันมีสองประเด็นที่น่ารักเกียจคือ ในประการแรกในระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองควรพยายามเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองส่วนใหญ่ และถ้าพลเมืองเหล่านั้นพึงพอใจและเทคะแนนให้พรรคนั้น มันก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย แต่พวกสลิ่มมองว่ารัฐบาลไม่ควรใช้เงินรัฐที่มาจากภาษีประชาชนในการพัฒนาชีวิตของคนส่วนใหญ่ สลิ่มมองว่ารัฐบาลควรเอาใจแค่ทหาร พวกในวัง คนรวย หรือชนชั้นกลางเท่านั้น อย่าลืมว่าไม่มีพวกนักวิชาการชนชั้นกลางคนไหนเลยที่โวยวายเวลารัฐบาลชวนเอาเงินประชาชนไปอุ้มหนี้เสียของธนาคารและบริษัทไฟแนนส์ ที่พวกชนชั้นกลางไปฝากเงินไว้ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และไม่มีนักวิชาการสลิ่มออกมาวิจารณ์งบประมาณอันฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์ของทหารหรือพวกในวัง

ในประการที่สอง พลเมืองที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองของทักษิณ ไม่ได้เป็นคนโง่ ไม่ได้ “เข้าไม่ถึงข้อมูล” และไม่ได้ถูกทักษิณซื้อแต่อย่างใด ตามที่สลิ่มและเอ็นจีโออ้าง มันเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานเหตุผล และถ้านโยบายต่างๆ ที่เขาสนับสนุนเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มันย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ

ในตะวันตกการพูดถึง “ประชานิยมฝ่ายขวา” ในยุคนี้ก็เป็นถ้อยคำที่เต็มไปด้วยอคติของปัญญาชนและนักวิชาการชนชั้นกลางเช่นกัน แน่นอนมันมีหลายส่วนของนโยบายของพวกฝ่ายขวาที่น่าเกลียดและเป็นพิษภัยต่อสังคม ซึ่งเราต้องประณามและต่อต้าน โดยเฉพาะนโยบายเหยียดเชื้อชาติ สีผิว เพศ และศาสนาอิสลาม มันเป็นแนวคิดที่สร้างความแตกแยกในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และกดขี่ทำลายศักดิ์ศรีของคนที่ถูกมองว่าเป็นคน “ต่าง” หรือคน “ด้อย”

แต่บ่อยครั้งคำว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” ถูกใช้เพื่อให้ความหมายว่ากรรมาชีพและคนจน ไปหลงสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เพราะพวกนี้โง่ ไร้การศึกษา และมีความคิดคับแคบ เช่นมีการเหมารวมว่าพลเมืองอังกฤษทุกคนที่ลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู รวมถึงผู้เขียนคนนี้ เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหมด มันมีการเหมารวมว่า ทรัมพ์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐเพราะกรรมาชีพและคนจนเหยียดเชื้อชาติและกดขี่สตรี แต่คำอธิบายนี้เต็มไปด้วยเรื่องเท็จ

ในกรณีอังกฤษ การลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู เป็นการประท้วงชนชั้นปกครองจากทุกพรรคที่อยากอยู่ต่อในอียู มันเป็นการประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตคนจำนวนมาก และที่น่าสังเกตคือนักการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านอียู ร่วมกันใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติพอๆ กัน ยิ่งกว่านั้นเวลาสำรวจความคิดเหยียดเชื้อชาติ จะพบว่าพวกสลิ่ม ชนชั้นกลางผู้ประกอบการรายย่อย และพวกคนชั้นสูง เป็นตัวดีที่เหยียดเชื้อชาติสีผิว ส่วนกรรมาชีพจะมีความคิดขัดแย้งในตัว คืออาจรับความคิดเหยียดเชื้อชาติจากสื่อ แต่ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าต้องสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร

ทรัมพ์

ในสหรัฐการที่ทรัมพ์ชนะ เป็นเพราะกรรมาชีพคนจนเกลียดชังคนอย่างคลินตัน ซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนและชนชั้นปกครองที่ทำลายชีวิตเขาหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยออกไปใช้เสียงในวันเลือกตั้ง และส่วนหนึ่งอาจลงคะแนนให้ทรัมพ์เพื่อเป็นการประท้วง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าคนจนล้าหลังคับแคบ ในความเป็นจริงประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนมีนโยบายเลวๆ ที่ดูแลแต่คนรวยและขยันในการก่อสงคราม โอบามา เคยสร้างความหวังกับพลเมืองไม่น้อย แต่ในที่สุดคนส่วนใหญ่ต้องผิดหวัง เพราะโอบามาไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่ได้เสนอรัฐสวัสดิการ และไม่ได้แก้ปัญหาของคนผิวดำ โดยเฉพาะในเรื่องการที่ตำรวจฆ่าวิสามัญคนผิวดำ

สรุปแล้วปรากฏการณ์ของสิ่งที่พวกปัญญาชนสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” มาจากการประท้วงของพลเมืองต่อสภาพสังคมที่พวก “ข้างบน” คอยกดทับชีวิตของเขาและไม่แคร์อะไรเลย พวกสลิ่มก็ไม่เคยสนใจสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนใหญ่ด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งของกระแสฝ่ายขวามาจากการที่ฝ่ายซ้ายยังอ่อนแอเกินไปที่จะดึงคะแนนของพวกที่ไม่พอใจเพื่อไปในทางที่ก้าวหน้า ฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติจึงสามารถฉวยโอกาสสร้างแพะรับบาปได้ แต่พวกสลิ่มก็ตัวดีในการด่าวิจารณ์ฝ่ายซ้ายอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสหรัฐ หรือ เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษ คือไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้เกิดกระแสก้าวหน้า แค่สบายใจในการดูถูกคนจนเท่านั้น

คำว่า “ประชานิยม” ไม่ว่าจะในกรณีทักษิณ หรือกรณีพวกนักการเมืองฝ่ายขวาในตะวันตก เป็นคำที่ใช้เพื่อดูถูกคนส่วนใหญ่ของสังคม และมันปิดบังข้อเท็จจริงทางการเมืองหลายประการ ดังนั้นเราไม่ควรใช้อีกต่อไป

ยุคต้านกระแสหลักทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั่วโลกในยุคนี้ หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 9 ปีก่อน และหลังจากที่พลเมืองจำนวนมากในประเทศต่างๆ ต้องประสบความเดือดร้อนมหาศาลจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลกระแสหลักที่คลั่งแนวเสรีนิยมกลไกตลาด จนมีการลดรายได้กันอย่างถ้วนหน้า ปลดคนออกจากงาน และตัดสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ ประชาชนใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และที่อื่น เริ่มแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งกับการเมืองกระแสหลักของทุนนิยม

ในสหรัฐมีการ “ถ่มน้ำลายทางความคิด”ใส่ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคพรรคเดโมแครท เพราะพลเมืองจำนวนมากมองว่าเขาคือตัวแทนโดยตรงของนายทุน 1% ที่คุมทรัพยากรทั้งหมดของประเทศและปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน สถานการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้นักการเมืองขวาจัดเลวทรามอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ จริงๆ แล้วต้องถือว่าทรัมพ์ไม่ได้ชนะ แต่ฮิลารี่เป็นผู้แพ้มากกว่า

ในอังกฤษ พลเมืองจำนวนมาก หันไปลงคะแนนเสียงในประชามติ เพื่อให้อังกฤษออกจากอียู โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กรรมาชีพยากจนเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัด มันเป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นการแทคะแนนให้ฝ่ายขวาเหมือนในสหรัฐ

ในอิตาลี่ ในประชามติเมื่อต้นเดือนธันวาคม ประชาชนลงคะแนนเสียงค้านรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการเมือง เรื่องหลักสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่รายละเอียดของสิ่งที่รัฐบาลเสนอ แต่เป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน และมันนำไปสู่การเพิ่มวิกฤตให้กับอียูอีก เพราะฝ่ายค้านที่อาจชนะการเลือกตั้งในอนาคต เกลียดชังอียู ในขณะเดี๋ยวกันมีวิกฤตหนี้เสียของธนาคารอิตาลี่ อนาคตของเงินสกุลยุโรจริงไม่แน่นอน

พวกเราที่เป็นมาร์คซิสต์ อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่าวิกฤตแห่งความศรัทธาในการเมืองกระแสหลัก จะมีผลในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวาก็ได้ แล้วแต่ว่าแต่ละฝ่ายมีการจัดตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์
นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์

ในสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมพ์ จากฝ่ายขวา ได้ประโยชน์จากการต้านการเมืองกระแสหลัก ในฟิลิปปินส์ นักการเมืองอันธพาลฝ่ายขวา โรดริโก ดูเตอร์เต ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน [ดู http://bit.ly/2hisH9g ] ในออสเตรียเกือบจะมีการเลือกนักการเมืองฟาสซิสต์มาเป็นประธานาธิบดีและในเนเธอร์แลนด์ กับฝรั่งเศส พรรคฟาสซิสต์ได้คะแนนนิยมสูงขึ้นตามลำดับ

หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส
หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส

ในขณะเดียวกันในกรีซ ฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งในขณะที่การเมืองสเปนเอียงซ้ายมานาน ส่วนในพรรคแรงงานอังกฤษนักการเมืองแนวสังคมนิยมชื่อ เจรมี คอร์บิน ถูกเลือกเป็นผู้นำ

คอร์บิน
คอร์บิน

ในบางประเทศ เช่นไอสแลนด์ พรรคแปลกๆ ที่มีภาพ “ใหม่” เช่นพรรคโจรสลัด หรือในอิตาลี่ พรรคห้าดาว ดูเหมือนจะมีคะแนนเพิ่มขึ้น แต่พรรคเหล่านี้ไม่ค่อยมีจุดยืนที่ชัดเจน

พรรคโจรสลัด
พรรคโจรสลัด

ปรากฏการณ์อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งในอังกฤษและสหรัฐ รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา เกิดความขัดแย้งชั่วคราวกับผลประโยชน์กลุ่มทุน เพราะนักการเมืองและพรรคของเขาต้องพยายามเอาใจประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือพลเมืองไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาด และไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลัก และด้วยเหตุที่นักการเมืองฝ่ายขวาต่างจากนายทุน ทั้งๆ ที่มีความคิดตรงกัน ในแง่ที่นักการเมืองต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ ในสหรัฐ จึงพยายามพูดเอาใจประชาชน ด้วยการเสนอนโยบายกีดกันการค้าเสรี นโยบายที่ดูเหมือนเริ่มหันหลังให้กับการรัดเข็มขัดของเสรีนิยมใหม่ หรือนโยบายเพื่อออกจากอียูในกรณีอังกฤษ(ซึ่งขัดกับประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่) มันนำไปสู่พฤติกรรม “หน้าไหว้หลังหลอก” ของนักการเมืองฝ่ายขวาเหล่านี้ เพราะลึกๆ แล้วทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ เป็นคนของกลุ่มทุนใหญ่

ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมพ์ อ้างว่าปกป้องกรรมาชีพที่ถูกละเลย มันกลับแต่งตั้งคนที่ต่อต้านระบบค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิสตรี และการแก้ปัญหาโลกร้อน เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และ ทรัมพ์ เองเป็นมหาเศรษฐีอยู่แล้ว

สิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายมากในยุคนี้คือ นักการเมืองฝ่ายขวาที่อยู่ในกระแสหลัก มักจะพยายามเอาใจคนที่ไม่พอใจกับระบบ ด้วยการปลุกกระแสเกลียดสีผิวและคนต่างชาติ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจและเปลี่ยนเป้าจากนายทุนไปเป็นแพะรับบาปที่เป็นคนมีสีผิว ปัญหาคือแนวคิดแบบนี้เพิ่มคะแนนนิยมให้ฟาสซิสต์ ที่น่าเสียดายคือนักการเมืองซ้ายอ่อนๆ ในพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มักจะหลงเชื่อว่าต้องคล้อยตามความคิดปฏิกิริยาอันนี้ เพื่อชนะการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จริงถ้าเขากล้าสู้

ยุคนี้เป็นยุคที่พิสูจน์ว่าฝ่ายซ้ายที่ “ใจไม่ถึง” เพราะไม่อยากพลิกแผ่นดินล้มระบบ มักจะถูกกดดันอย่างแรงให้ยอมจำนนต่อผลประโยชน์กลุ่มทุน รัฐบาลไซรีซาในกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี และต้นเหตุของการ “ใจไม่ถึง” ของนักการเมืองพวกนี้ นอกจากจะมาจากความคิดกระแสปฏิรูปที่หลีกเลี่ยงการปฏิวัติแล้ว ยังมาจากการที่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับพลังมวลชนนอกรัฐสภาในการต้านอิทธิพลของกลุ่มทุนด้วย

สงครามโลกครั้งที่สอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สิ้นสุดลงเมื่อ 70 ปีก่อน ถ้าพิจารณาฝ่ายพันธมิตร เราจะเห็นว่ามีสงครามคู่ขนานในการต่อสู้กับฝ่ายอักษะ หรือเยอรมัน อิตาลี่ และญี่ปุ่น เพราะประชาชนธรรมดาในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมวลชนก้าวหน้า สู้เพื่อทำลายระบบฟาซิสต์เผด็จการ และสู้เพื่อเสรีภาพกับความเท่าเทียม คนจำนวนมากสู้เพื่อสังคมนิยมอีกด้วย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกอย่างผิวเผิน เราอาจมองไม่เห็นว่าสงครามของประชาชน กับสงครามของชนชั้นปกครองในประเทศพันธมิตรต่างกันเท่าไร

แต่ฝ่ายชนชั้นปกครองทุนนิยมตลาดเสรีในอังกฤษ สหรัฐ กับฝรั่งเศส และชนชั้นปกครอง “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในเผด็จการคอมมิวนิสต์รัสเซีย สู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและจักรวรรดินิยมเท่านั้น อย่างไรก็ตามในการปลุกระดมมวลชนให้รบในกองทัพของรัฐบาล ชนชั้นปกครองต้องใช้วาจาในการสร้างภาพว่าสงครามนั้นเป็น “สงครามต้านฟาสซิสต์เพื่อเสรีภาพ” ในขณะเดียวกันผู้นำฝ่ายพันธมิตรคือ โรสเวลต์ เชอร์ชิล และสตาลิน เคยแสดงความพร้อมในอดีตที่จะทำข้อตกลงจับมือกับฟาสซิสต์

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นสิบปีก่อนสงคราม เพิ่มความแตกแยกระหว่างมหาอำนาจต่างๆ และนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่อิทธิพลมากขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจกดดันให้รัฐบาลต่างๆ สร้างกำแพงเพื่อปกป้องกลุ่มทุนของตนเอง และตลาดของตนเอง จากการแข่งขันกับต่างชาติ และในสถานการที่ต่างฝ่ายต่างพยายามขยายพื้นที่อิทธิพล ก็ย่อมมีการปะทะกัน โดยเฉพาะในกรณีที่เยอรมันเกือบจะไม่มีอาณานิคมเลยและต้องการขยายพื้นที่

รัฐบาล นาซี ในเยอรมันต้องการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังเกรงกลัวว่าถ้าขูดรีดแรงงานภายในประเทศมากเกินไป คนงานเยอรมันจะลุกขึ้นสู้อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นมีวิธีเดียวคือ ต้องพยายามแย่งพื้นที่จากประเทศอื่นในยุโรป และมีการเกณฑ์แรงงานต่างชาติไปทำงานในสภาพที่ย่ำแย่กว่าแรงงานเยอรมัน

ในเอเชียตะวันออก รัฐบาลเผด็จการของญี่ปุ่นก็ทำเช่นกัน โดยยึดพื้นที่ในแผ่นดินใหญ่จีน เกาะไต้หวัน กับแหลมเกาหลี หลังจากนั้นก็เลงไปที่อาณานิคมของฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลแลนด์ กับ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นอาณานิคมสหรัฐ

ในอิตาลี่ เผด็จการมุสโสลีนี ก็พยายามยึดพื้นที่ในอัฟริกา เช่น อีทิโอเบีย โซมาเลีย และลิบเบีย เป็นต้น

อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม กับสหรัฐ ไม่แน่ใจว่าจะรับมืออย่างไร ชนชั้นปกครองสองจิตสองใจว่าควรจะเผชิญหน้าปะทะกับเยอรมันหรือไม่ และยิ่งกว่านั้นประเทศเหล่านี้แข่งขันกันเองอีกด้วย ฝรั่งเศสกับอังกฤษเป็นคู่แข่งกันมานาน และสหรัฐต้องการชิงความเป็นใหญ่จากอังกฤษในหลายพื้นที่

โดยทั่วไปแล้วชนชั้นปกครองอังกฤษและฝรั่งเศส แยกเป็นสองส่วน ระหว่างกลุ่มที่อยากจะประนีประนอมกับ ฮิตเลอร์ และกลุ่มที่มองว่าต้องเผชิญหน้าปะทะกัน นอกจากนี้ทั้งสองซีกมองว่ารัสเซียยังเป็นภัยมากกว่าพวกฟาสซิสต์ เพราะอย่างน้อยฟาสซิสต์สามารถกีดกันการปฏิวัติของคนชั้นล่างได้

ในอังกฤษ ซีกของชนชั้นปกครองที่มองว่า “ยอมไม่ได้” ต้องสู้กับเยอรมัน มีอิทธิพลมากที่สุด และมีผู้นำชื่อ วินสตัน เชอร์ชฮิล แต่ เชอร์ชฮิล ไม่ได้ต้าน ฮิตเลอร์ เพราะคัดค้านระบบฟาสซิสต์ เขาต้าน ฮิตเลอร์ เพราะเขาอยากปกป้องอาณานิคมและความเป็นใหญ่ของอังกฤษต่างหาก

ในไม่ช้ากองทัพของ ฮิตเลอร์ สามารถยึดพื้นที่จำนวนมากในยุโรปตะวันตก รวมถึงฝรั่งเศส และกองทัพอังกฤษต้องถอยทัพกลับอังกฤษ สถานการณ์ย่ำแย่ของอังกฤษมาจากการที่ชนชั้นปกครองสองจิตสองใจมานานว่าจะสู้หรือประนีประนอม

ในกรณีสหรัฐ ตอนแรก โรสเวลท์ หวังว่าสงครามในยุโรปจะเปิดโอกาสให้สหรัฐเข้าไปมีอิทธิพลในพื้นที่เก่าของมหาอำนาจยุโรป โดยที่สหรัฐไม่ต้องร่วมในสงคราม เพียงแต่ขายอาวุธให้อังกฤษก็พอ แต่พอเกิดการปะทะกับญี่ปุ่น สหรัฐตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโดยตรง

world-war-ii-china-1943-granger

     ในรัสเซีย สตาลิน ไม่อยากทำสงครามกับ ฮิตเลอร์ และพยายามทำข้อตกลงสันติภาพ แต่พอ ฮิตเลอร์ ทำลายข้อตกลงด้วยการส่งทหารไปบุกรัสเซีย เขาไม่มีทางเลือก และการทำสงครามของ สตาลิน ทำในนามของ “ความรักชาติ” และ “การปกป้องมาตุภูมิ” เป็นหลัก

การล้างเผ่าพันธ์

ในการพิจารณาว่าทำไมพวกนาซีมีพฤติกรรมป่าเถื่อนที่สุด จนตั้งใจฆ่าล้างเผ่าพันธ์คนยิว 6 ล้านคน และคน “ยิบซี” กับคนพิการอีกจำนวนมาก เราต้องหาเหตุผล แน่นอนคนอย่าง ฮิตเลอร์ เป็นคนหัวรุนแรงสุดขั้วที่ไม่มีสำนึกถึงความผิดหรือถูกเลย แต่นั้นเป็นคำอธิบายไม่เพียงพอ เพราะการเริ่มโครงการล้างเผ่าพันธ์นั้น เริ่มขึ้นในช่วงที่กองทัพเยอรมันมีปัญหาในการสู้รบหลายด้าน โดยเฉพาะในการรบกับรัสเซีย มันไม่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจหรือการทหารเลย

ฮิตเลอร์ทราบดีจากประสบการณ์ในอดีตว่าการปลุกกระแสเกลียดชังและทำร้ายคนยิว มีผลจำกัดในหมู่ประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้บ้าเลือด เพราะคนเยอรมันไม่ได้เกลียดคนยิว “เป็นธรรมชาติ” แต่การตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธ์ กระทำไปเพื่อตอกย้ำลัทธินาซีให้สมาชิกพรรค โดยเฉพาะวงใน และทำไปเพื่อกระตุ้นแกนนำในพรรค พวกคลั่งลัทธินาซี ให้กระตือรือร้นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เยอรมันกำลังแพ้สงคราม ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหญ่อย่างเช่น ครุปส์, ไอ จี ฟาร์เบน และกลุ่มอ่นๆ ก็ร่วมมืออย่างเต็มที่กับพรรคนาซีของ ฮิตเลอร์

สิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง พิสูจน์คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เคยพูดว่า “ถ้าไม่เกิดสังคมนิยม ก็จะเกิดความป่าเถื่อน”

การลุกฮือต่อสู้ และการหักหลังการต่อสู้โดยมหาอำนาจ

ทั้งๆ ที่ชนชั้นปกครองในประเทศมหาอำนาจพันธมิตรอ้างว่าสงครามนี้เป็น “สงครามต่อต้านฟาสซิสต์” และ “สงครามปลดแอก” แต่พฤติกรรมของผู้นำรัฐบาลตอนท้ายของสงครามบ่งบอกถึงวัตถุประสงค์อื่น

71350-004-75E35FF9

     ในการประชุมนัดพบกันระหว่าง เชอร์ชฮิล สตาลิน และ โรสเวลท์ มีการตกลงกันเพื่อแบ่งโลกระหว่างซีกที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก กับซีกที่จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย เช่น เชอร์ชฮิล เล่าว่าเคยมีเศษกระดาษที่ เชอร์ชฮิล ยื่นให้ สตาลิน ในการประชุมปี 1944 ที่เมือง มอสโก ที่ เชอร์ชฮิล เขียนไว้ว่า “โรเมเนีย – รัสเซียคุม 90%, กรีซ – อังกฤษคุม 90% และยูโกสลาเวีย 50:50” สตาลินอ่านกระดาษเสร็จก็กาด้วยเครื่องหมาย “ถูก” แล้วส่งกลับ ข้อตกลงแบบนี้ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและสหรัฐ มีผลมหาศาลกับการต่อสู้ของกองกำลังปลดแอกคอมมิวนิสต์ในหลายพื้นที่

ในกรีซ ซึ่งถูกยึดครองโดยอิตาลี่กับเยอรมัน โดยมีรัฐบาลเผด็จการภายใต้กษัตริย์กรีซร่วมมืออยู่ด้วย พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทหลักในขบวนการกู้ชาติ EAM-ELAS และในปลายปี 1944 ขบวนการนี้คุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกสั่ง โดย สตาลิน ให้ยอมจำนนต่ออังกฤษ เพื่อให้กองทัพอังกฤษยึดเมืองอาเทนส์ หลังจากนั้นอังกฤษพยายามรื้อฟื้นเผด็จการฝ่ายขวาและกษัตริย์ และมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีทางเลือกนอกจากจะสู้ในสงครามกลางเมือง แต่การยอมต่ออังกฤษในขั้นตอนแรกทำให้เสียเปรียบ ฝ่ายขวาในกรีซได้รับอาวุธและการสนับสนุนทางการเมืองจากสหรัฐด้วย ซึ่งทำให้คอมมิวสนิสต์แพ้สงครามกลางเมืองในที่สุด กรีซตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการและกึ่งเผด็จการของฝ่ายขวาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีจนนักศึกษาจุดประกายลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหาร และในการต่อสู้ครั้งนั้นของนักศึกษากรีซ มีการตะโกน “ประเทศไทย ประเทศไทย” เพราะนักศึกษาได้กำลังใจจากการล้มเผด็จการทหารในไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ปีเดียวกัน

ในอิตาลี่ พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทสำคัญในขบวนการกู้ชาติจากอำนาจฟาสซิสต์เช่นกัน และขบวนการนี้ประกอบไปด้วยสามส่วนคือ นักรบในชนบท นักรบในเมือง และขบวนการแรงงาน การต่อสู้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมปี 1943 เมื่อมีการนัดหยุดงานของคนงานเป็นแสนในเมือง ตูริน ทางเหนือของอิตาลี่ พอถึงต้นเดือนกรกฏาคม ทหารสหรัฐกับอังกฤษเริ่มบุกขึ้นมาทางใต้ หลายส่วนของชนชั้นปกครองอิตาลี่ตัดสินใจเขี่ย มุสโสลีนี ออกไป เพื่อเอาตัวรอด แต่กองทัพเยอรมันเข้ามายึดอิตาลี่ทางเหนือแทน และแต่งตั้ง มุสโสลีนี อีกครั้ง ในช่วงนี้กองกำลังกู้ชาติติดอาวุธขยายตัวอย่างรวดเร็วจนคาดว่ามีกำลังทั้งหมด 100,000คน และในต้นปี 1944 มีการนัดหยุดงานของคนงานหลายแสนในเมืองต่างๆ เพื่อประท้วงความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลอีด้วย

ท่ามกลางการลุกสู้เพื่อปลดแอกประเทศ คนส่วนใหญ่ในอิตาลี่มองว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน พรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสมาชิก 5,000 คนในมิถุนายน 1943 เป็น 410,000 คนในเดือนมีนาคม 1945 แต่ในเดือนกันยายน 1944 รัฐมนตรีต่างประเทศของ สตาลิน ชื่อ ลิดวีนอฟ ฟันธงกับผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐในอิตาลี่ว่า “เราไม่ต้องการเห็นการปฏิวัติในตะวันตก” และก่อนหน้านั้นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี่ ทอกลีแอตี้ ประกาศว่าพรรคจะสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวา

หลังจากสงครามจบลง อิตาลี่อาจมีรูปแบบของประชาธิปไตยรัฐสภา แต่โครงสร้างรัฐในหลายส่วน เช่นตำรวจและหน่วยราชการลับ ไม่ได้เปลี่ยนจากสมัยฟาสซิสต์ ซึ่งเห็นชัดเมื่อตำรวจลับทำงานร่วมกับกลุ่มฟาสซิสต์ในการวางระเบิดในยุค 1970 เพื่อพยายามสร้างสถานการณ์ให้มีการทำรัฐประหาร

ในฝรั่งเศส กองกำลังกู้ชาติมีสองซีก คือซีกของนักการเมืองทุนนิยมภายใต้นายพล ชาร์ลส์ เดอร์โกล (ซึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีภายหลังสงคราม) และซีกของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมาร่วมสู้กับเยอรมันหลังจากที่ข้อตกลงสันติภาพระหว่าง ฮิตเลอร์ กับ สตาลิน กลายเป็นโมฆะในปี 1941 อังกฤษสนับสนุนกลุ่มของ เดอร์โกล แต่ตอนแรกสหรัฐไม่ยอมรับ และพยายามหาทางเจรจากับผู้นำฝ่ายขวาฝรั่งเศสที่ประนีประนอมกับฮิตเลอร์

เมื่อกองกำลังกู้ชาติฝรั่งเศสยึดเมืองปารีสจากเยอรมันได้ในปี 1944 ทุกคนทราบดีว่าอิทธพลหลักในกองกำลังนี้คือพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ประเด็นคือพรรคจะใช้อิทธิพลนี้ในการยึดอำนาจหรือจะประนีประนอมกับฝ่ายขวา? ปรากฏว่าข้อตกลงของ สตาลิน ที่ทำไว้กับผู้นำตะวันตก เป็นหลักประกันว่าพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสจะไม่ยึดอำนาจ และหลายส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจชั้นสูง ก็ถือตำแหน่งอย่างต่อเนื่องระหว่างสมัยรัฐบาลฟาสซิสต์จนถึงรัฐบาลหลังสงคราม และรัฐฝรั่งเศสก็ใช้นโยบายทำสงครามในอาณานิคม อย่างเช่น อัลจีเรีย และเวียดนาม เพื่อปกป้องผลประโยชน์เดิม ในกรณีเวียดนาม กว่าประเทศนั้นจะได้อิสรภาพ ต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสและสหรัฐเป็นเวลาอีก 30 ปี

ในมาลายู ตอนท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการกู้ชาติภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะญี่ปุ่นและคุมส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่นโยบายการยอมจำนนของพรรคคอมมิวนิสต์ เปิดโอกาสให้อังกฤษกลับมา และในที่สุดอังกฤษก็ลงมือปราบพรรคคอมมิวนิสต์

มีนักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆ สามารถยึดอำนาจได้หรือไม่ คำตอบคือ พรรคเหล่านั้นใน กรีซ อิตาลี่ ฝรั่งเศส หรือมาลายู มีอำนาจเพียงพอที่จะทำการปฏิวัติ แต่เลือกที่จะไม่ทำภายใต้นโยบายของ สตาลิน โลกในยุคท้ายสงคราม มีบรรยากาศที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการยึดอำนาจของฝ่ายซ้าย เพราะทหารธรรมดาของตะวันตก ไม่อยากรบต่อ และมีทัศนะที่มองคอมมิวนิสต์ในแง่ดีด้วย ดังนั้นรัฐบาลตะวันตกจะไม่สามารถปราบปรามได้ง่ายๆ

ที่ ยูโกสลาเวีย ที่เดียว กองกำลังและขบวนการกู้ชาติของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ ทีโท สามารถยึดอำนาจและตั้งประเทศอิสระได้ โดยที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก หรือของรัสเซีย นี่คือสาเหตุที่ ยูโกสลาเวีย แตกกับรัสเซียตั้งแต่ปี 1948 และสามารถรักษาความเป็นกลางเป็นเวลา 40 ปี

ในซีกโลกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลรัสเซีย ตามข้อตกลงระหว่างมหาอำนาจ กองทัพของสตาลินสามารถปราบปรามผู้ที่ต้องการกู้ชาติหรือล้มเผด็จการในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออกได้ โดยที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ทำอะไร นอกเหนือจากการวิจารณ์ด้วยวาจาที่ไร้ความหมาย

hiroshima

     ในญี่ปุ่นสหรัฐรีบทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูก ซึ่งทำให้พลเรือนล้มตายจำนวนมาก และมีผลร้ายจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้เพื่อยึดญี่ปุ่นก่อนที่กองทัพรัสเซียจะมาถึง และเพื่อพิสูจน์แสนยานุภาพของสหรัฐต่อชาวโลก ซึ่งจะมีความสำคัญในการเบ่งอำนาจของสหรัฐในช่วงหลังสงคราม นับว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนของสหรัฐ ซึ่งคงป่าเถื่อนพอๆ กับพฤติกรรมของรัฐบาลเผด็จการญี่ปุ่นต่อประชาชนจีนและประชาชนในเอเชียตะวันออกโดยทั่วไป

สรุปแล้วแต่ละฝ่ายใช้เวลารบกันในสงครามโลกครั้งที่สองห้าปี คือระหว่าง 1940-1945

รัฐบาลฝรั่งเศสถูกยุบท่ามกลางความขัดแย้งซ้าย-ขวา

ประธานาธิบดี ฟรานซ์วา ฮอลแลนด์ เห็นชอบกับการที่รัฐบาลพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี แมนูล วาลส์ ยุบตัวเองภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีซีกซ้ายกับขวา

อาร์โน มอนทาบูร์ก, เบนนัว แฮมมอน และ โอเรล ฟิลิเพที สามรัฐมนตรีจากซีกซ้าย คัดค้านนโยบายการตัดงบประมาณรัฐ โดยเฉพาะในการบริการประชาชนและสวัสดิการสำรับคนทำงาน นโยบายดังกล่าว พร้อมกับการลดภาษีให้กลุ่มทุน เป็นนโยบายที่ถูกผลักดันอย่างแรงจากรัฐบาลฝ่ายขวาของเยอรมันทั่วอียูภายใต้ข้ออ้างว่าจะลดหนี้และกระตุ้นให้กลุ่มทุนลงทุนเพิ่ม

แต่ผลของนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วแบบนี้ ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสและเยอรมันหดตัว และทำให้คนทำงานยากลำบากมากขึ้น สามรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายกล่าวว่านโยบายดังกล่าวทำให้คนหันไปสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์นาซี “แนวร่วมแห่งชาติ” และทำให้คนทั่วไปเบื่อหน่ายระบบการเมือง เพราะหมดหวังในชีวิต

ขณะนี้ประธานาธิบดี ฟรานซ์วา ฮอลแลนด์ เป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ตอนที่ชนะการเลือกตั้งเขาประกาศว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและสภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น แต่ในรูปธรรมประธานาธิบดีพรรคสังคมนิยมคนนี้ไม่ทำอะไรและใช้นโยบายฝ่ายขวา

การตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีรัฐมนตรีจากซีกซ้าย อาจลดความขัดแย้งภายใน แต่จะไม่มีวันแก้ปัญหาของการที่คนทั่วไปเบื่อหน่ายระบบการเมืองและหันไปสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์

สิ่งเดียวที่จะลดคะแนนสนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ คือการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิว และการตัดงบประมาณรัฐที่เป็นประโยชน์กับประชาชน