ใจ อึ๊งภากรณ์
รัฐบาลบราซิลเคยหวังว่าการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการจัดบอล์โลก จะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะถ้าทีมบราซิลชนะ และกระแสชาตินิยมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลพรรคกรรมกร (PT) และประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดงานแข่งบอล์โลก ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงค่าใช้จ่าย และประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณสุข จนประธานาธิบดี ดิลมา ต้องออกมาประกาศจัดประชามติเรื่องการปฏิรูประบบ และสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณการขนส่งและระบบสาธารณสุข และหลังจากความพ่ายแพ้ของทีมบราซิล ความไม่พอใจในรัฐบาลคงเพิ่มขึ้น
ถ้าเราจะเข้าใจกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในบราซิล เราต้องเข้าใจว่ามันมาจากสองขั้วทางการเมือง คือมาจากทางซ้ายและมาจากทางขวา
ฝ่ายขวาไม่พอใจรัฐบาลพรรคแรงงานมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของประธานาธิบดี “ลูลา” ในปี 2002 และฝ่ายขวามีอิทธิพลในสื่อมวลชน เพราะนายทุนสื่อมักจะต่อต้านรัฐบาล ในปัจจุบันพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลางบราซิล มักจะยกเรื่อง “การคอร์รับชั่น” มาจุดประกายการประท้วง ซึ่งการโกงกินในหมู่นักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่มันเป็นข้ออ้างง่ายๆ แบบนามธรรม ของฝ่ายขวาทั่วโลกเสมอ และมันไม่มีหลักประกันว่านักการเมืองฝ่ายค้านจะไม่โกงกิน
พรรคแรงงานบราซิลมีต้นกำเนิดในยุค 1970 สมัยที่ยังมีเผด็จการทหาร ในตอนต้นมีสมาชิก 8 แสน และเป็นแนวร่วมกับสภาแรงงาน CUT ที่มีสมาชิก 20 ล้าน ข้อเรียกร้องหลักตอนนั้นจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องปากท้อง โดยที่พรรคแรงงานถือว่าเป็นพรรคซ้ายก้าวหน้า
ขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดิน MST ก็เป็นแนวร่วมหลวมๆ แต่ 85% ของประชากรบราซิลอาศัยในเมือง ดังนั้นสหภาพแรงงานมีความสำคัญมากกว่าขบวนการเกษตรกร
หลังจากที่เผด็จทหารการหมดไปในช่วง 1980 พรรคแรงงานเริ่มเดินเข้ากรอบการเมืองกระแสหลัก และเสนอนโยบายแบบพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอ่อนๆ คือเลิกเป็นพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ในช่วง 1990 มีการยอมรับแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดตามกระแสทั่วโลก มีการโจมตีฝ่ายซ้ายภายในพรรค และเน้นเอาใจชนชั้นกลาง
ในปี 2002 “ลูลา” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหล็ก เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืด ไปเป็นการใส่สูท เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักการเมืองในกรอบ และลูลาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้การหาเสียงว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด
พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และในขณะที่เอาใจนายทุนใหญ่ และเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนมั่งมี ก็มีการกระจายรายได้ไปสู่คนจนบ้าง มีการจัดสวัสดิการและเพิ่มค่าแรงด้วย นอกจากนี้มีการขยายมหาวิทยาลัยให้ลูกคนจนเข้าเรียน แต่ในรูปธรรมรัฐบาลจัดงบประมาณไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพและคนจนต้องจ่ายค่าเรียนด้วย ในยุคนี้ฐานะของสตรีและคนผิวดำก็ดีขึ้นบ้าง
การกระตุ้นพลังซื้อของคนชั้นล่าง เป็นวิธีที่รัฐบาลจะเอาใจนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศ และเป็นการช่วยคนจนด้วยพร้อมๆ กัน
ในช่วงหลังๆ ฐานเสียงของพรรคมักจะเป็นคนจนกับคนหนุ่มสาว ส่วนคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร
หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 บราซิลได้ผลกระทบมากพอสมควร ความหวังของคนชั้นล่างที่จะเห็นการพัฒนาของชีวิตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจางหายไป และคนชั้นกลางก็ไม่พอใจอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ปัญหาสำคัญคือ ในเมื่อพรรคหรือองค์กรของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเล็กและอ่อนแอ ฝ่ายซ้ายไม่สามารถจะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานในลักษณะที่คนจำนวนมากจะเชื่อถือได้ ฝ่ายขวาและชนชั้นกลางจึงมีอิทธิพลในหมู่คนที่ไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายซ้ายจะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนายทุนเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ฝ่ายซ้ายจะต้องชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคแรงงาน จะต้องกล้าวิจารณ์พรรคแรงงาน และต้องขยันสร้างแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในสภาแรงงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานสำหรับคนส่วนใหญ่