Tag Archives: ภาษี

วชิราลงกรณ์แสดงความโลภเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การรวม “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ภายใต้ชื่อของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ไม่ใช่การรวบ “สมบัติของชาติ” มาเป็นของนายวชิราลงกรณ์ เพราะการปล้นสมบัติแห่งชาติเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายปี แต่มาตรการนี้แสดงถึงความโลภของกษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐

[ดู https://bit.ly/2ykQJNs , https://bbc.in/2LTUvPN ]

ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ไทย มาจากการใช้อำนาจบังคับด้วยความรุนแรงมาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ คือกษัตริย์ศักดินาใช้แรงงานบังคับและการผูกขาดผลประโยชน์การค้าเพื่อสะสมความร่ำรวยบนสันหลังประชาชน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่๕ มีการล้มระบบศักดินาและเปลี่ยนไปเป็นระบบทุนนิยมแทน ทรัพย์สินของกษัตริย์ หรือ “กรมพระคลังข้างที่” ก็แปรไปเป็นลักษณะธุรกิจแบบทุนนิยมที่ขูดรีดประชาชนในรูปแบบใหม่ พร้อมกับการรีดไถภาษีอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทรัพย์สมบัติของกษัตริย์เกิดหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เพราะ “กรมพระคลังข้างที่” ถูกลดบทบาทมาเป็น “สำนักงานพระคลังข้างที่” และอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง คือกลายเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์

แต่สภาพเช่นนี้อยู่ได้ไม่นาน เพราะในปี ๒๔๙๑ รัฐบาลของควง อภัยวงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มนิยมเจ้า ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นองค์กรนิติบุคคล คือปล้นโอนจากทรัพย์สมบัติของชาติกลับไปเป็นของกษัตริย์ อย่างไรก็ตามมีการสร้างภาพหลอกลวงว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อิสระจากสมบัติส่วนตัวของกษัตริย์และไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ในปีค.ศ. 2012 Simon Montlake ในนิตยสาร Forbes ได้ตั้งคำถามว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คืออะไรกันแน่? มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสำนักพระราชวัง มันไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และมันไม่ใช่บริษัทเอกชน แต่มันมีลักษณะพิเศษ Montlake สรุปว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือธุรกิจของราชวงศ์เพื่อสืบทอดสมบัติสู่สมาชิกรุ่นต่อไปของครอบครัวในอนาคต [ดู https://bit.ly/2yknoCQ ]

ในความเป็นจริงตั้งแต่สมัยกษัตริย์ภูมิพล การบริหาร “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อยู่ในมือของกษัตริย์อย่างผูกขาด เพราะกษัตริย์แต่งตั้งผู้บริหารทั้งหมดยกเว้นรัฐมนตรีคลังที่เข้ามานั่งเป็นประธานแต่ไม่มีอำนาจอะไร และกำไรต่างๆ ไม่ได้กลับเข้าคลังแต่อย่างใด แต่อยู่กับกษัตริย์โดยที่การบริหารสำนักงานมักจะปิดลับ พูดง่ายๆ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ถือได้ว่าเป็นสมบัติของกษัตริย์ นี่คือสาเหตุที่นิตยสาร Forbes คำนวณความร่ำรวยของภูมิพลโดยบวก “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์”

นอกจากนี้ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” ที่บริหารและเป็นเจ้าของวังบางแห่ง ก็ไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย

ดังนั้นการรวม “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ภายใต้ชื่อของวชิราลงกรณ์ไม่ใช่การรวบ “สมบัติของชาติ” มาเป็นของนายวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด

แต่มันเป็นการคุมสมบัติทั้งหมดโดยวชิราลงกรณ์ เพื่อกีดกันอิทธิพลของคนรุ่นก่อนที่เคยบริหารทรัพย์สินเหล่านี้และจงรักภักดีต่อภูมิพล ซึ่งวชิราลงกรณ์ไม่ไว้ใจพวกนี้เท่าไร นอกจากนี้มันเป็นการกีดกันผลประโยชน์ของคนอื่นในครอบครัวหรือในเครือข่ายราชวงศ์เพื่อไม่ให้เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง

แน่นอนมันบ่งบอกถึงความโลภทรัพย์ของกาฝากกษัตริย์วชิราลงกรณ์ แน่นอนมันแสดงให้เห็นว่าวชิราลงกรณ์ไม่สนใจวิธีการเนียนๆ ที่ภูมิพลเคยใช้ในการคุมทรัพย์ แน่นอนวชิราลงกรณ์มีนิสัยส่วนตัวที่น่ารังเกียจ แต่มันไม่ได้เป็นการปล้นสิ่งที่เคยเป็นของส่วนรวมเพราะมันถูกปล้นมาตั้งแต่ยุคก่อน และเราไม่ควรนำประเด็นนี้มาผูกกับความเพ้อฝันของบางคนที่มองว่าวชิราลงกรณ์เป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศอีกด้วย วชิราลงกรณ์เป็นแค่ประมุขที่ไร้อำนาจ อำนาจแท้อยู่ที่ทหารและนายทุน แต่วชิราลงกรณ์เป็นประมุขราคาแพง เป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศ เป็นกษัตริย์ที่รวยเป็นอันดับต้นๆของโลก ทั้งๆ ที่ตอนนี้เริ่มยอมจ่ายภาษีในทุกส่วนของสมบัติ เพราะเมื่อก่อน “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ไม่ต้องจ่ายภาษีเลย

เผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจเผด็จการ 20 ปีผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติ คืออุปสรรคหลักในการสร้างประชาธิปไตย

มันมีบทสรุปเดียวจากปรากฏการณ์เรื่อง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือในอนาคตเราจะต้องยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดกลับมาเป็นของประชาชน เพื่อสร้างชีวิตที่ดีสำหรับพลเมืองทุกคน

จุดยืนทางชนชั้นเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของพรรคการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เสนอว่าถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

การปฏิรูปสังคมและการเมืองพื้นฐานที่จะเริ่มแก้ปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง?

ในประการแรกเราต้องสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร รัฐสวัสดิการนี้ไม่ใช่การให้สวัสดิการกับคนจน มันจะต้องเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน มันต้องครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา และการดูแลคนชรา โดยที่พลเมืองไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในเรื่องการรับบริการ เพราะกองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการสร้างขึ้นจากการจ่ายภาษีของทุกคนในอัตราก้าวหน้า คือคนที่รายได้ต่ำจ่ายน้อย และคนรวยและกลุ่มทุนจ่ายมาก เราต้องมีการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มทุนใหญ่และเศรษฐี อย่างที่อาจารย์ปรีดีเคยเสนอ

การนำระบบการเก็บภาษีทางตรงแบบก้าวหน้า และการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นภาระสำหรับคนจน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

กองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ถ้าเราตัดงบประมาณทหารและสร้างสันติภาพในปาตานีผ่านการใช้วิธีทางการเมืองแทนการทหาร งบประมาณสำหรับพิธีกรรมและวิถีชีวิตของราชวงศ์ควรถูกตัดให้ “พอเพียง” เท่าเทียมกับคนธรรมดาอีกด้วย

รัฐสวัสดิการต้องถูกตรวจสอบเสมอว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำจริงในรูปธรรมได้หรือไม่ และถ้ายังไม่สำเร็จก็ควรมีการแก้ไขให้ดีขึ้น เราจะต้องไม่พูดว่าเรา “ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” เพราะคนในสังคมไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรก คนที่ด้อยโอกาสจึงต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าคนที่มีโอกาส

ดังนั้นเวลาพรรคอนาคตใหม่พูดถึงการ “ให้โอกาส” กับทุกคน มันน่าจะสร้างข้อกังวลกับคนที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการ

นอกจากการสร้างรัฐสวัสดิการแล้ว รัฐต้องลงทุนในการสร้างความก้าวหน้าทันสมัยของสังคม เช่นในการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การลงทุนในพลังงานแสงแดดและลม การกำจัดมลพิษ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ภายในประเทศในราคาที่เหมาะสม

มาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องอาศัยการขึ้นเงินเดือนหรือค่าแรงเพื่อให้พลเมืองทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต ในประเด็นนี้การแก้กฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเสรีภาพของสหภาพแรงงานมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างรัฐสวัสดิการ และมันเป็นมาตรการเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยอีกด้วย

ในเรื่องที่ดิน ควรมีการปฏิรูปให้เกษตรกรมีที่ทำกินเพียงพอ และในกรณีทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวม พลเมืองในพื้นที่ควรมีบทบาทในการร่วมบริหารการใช้อีกด้วย

และในประการสุดท้ายเราต้องช่วยกันสร้าง “ความเป็นพลเมือง” ในสังคม ควรยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ การก้มหัวให้ “ผู้ใหญ่” และการใช้ภาษาที่เน้นความไม่เสมอภาคระหว่างพลเมือง เราต้องยกเลิกการใส่เครื่องแบบของข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะครูในโรงเรียน เราต้องสร้างค่านิยมในสังคมที่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าพลเมืองจะมีเพศอะไรหรือเชื้อชาติอะไร

สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่จะต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองก้าวหน้า เพื่อการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และเราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ชนชั้น” อย่างชัดเจน เพราะอภิสิทธิ์ชน นายทุน และนายทหารระดับสูง จะรวมตัวกันเพื่อคัดค้านอย่างแน่นอน

ถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทยต้องคัดค้านกลไกตลาดเสรี

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เป็นแนวของสำนักเศรษฐกิจการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับสำนักเศรษฐกิจการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

ในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยวางกรอบสำคัญๆ สำหรับรัฐสวัสดิการดังนี้คือ

  1. เป็นระบบถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นสิทธิทั่วไปของพลเมือง ไม่ต้องไปขอความเมตตาหรือพิสูจน์ความจน และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการเนื่องจากไม่ต้องมีหลายระบบซ้อนกันและมีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มาจากการกำจัดตลาดภายในอีกด้วย
  2. เป็นระบบครบวงจร เพราะการให้สวัสดิการแบบแยกส่วนไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพลเมืองได้ ปัญหาสังคมต่างๆ เชื่อมโยงกันตลอด เช่นถ้าเด็กๆ ขาดที่อยู่อาศัยที่ดี และรายได้พ่อแม่ต่ำเกินไป จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยและความสำเร็จในการศึกษา
  3. เป็นระบบที่เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม แทนการ “ให้โอกาสเท่าเทียม” เพราะการ “ให้โอกาส” บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียมจริง เนื่องจากพลเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน
  4. เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ปราศจากความกลัว เช่นความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำแล้วจะเลี้ยงครอบครัวไม่ได้

ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบที่เน้นผลประโยชน์ร่วมของพลเมือง และความสมานฉันท์ระหว่างทุกคนในสังคม ไม่ใช่การเน้นการกอบโกยของปัจเจกชน และที่สำคัญคือมีการเก็บภาษีก้าวหน้าในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน

แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่รื้อฟื้นขึ้นมาเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดา “เสรีนิยมใหม่” นี้คือลัทธิของคนที่เน้นกลไกตลาด การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นแนวของพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะวิจารณ์รัฐสวัสดิการว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย เคยใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์

คนที่อ้างว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการภายใต้แนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดเป็นคนโกหก เพราะพวกนี้ต้องการนำกลไกตลาดมาใช้ในทุกส่วนของระบบสวัสดิการ ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมจะขอยกตัวอย่างจากระบบสาธารณสุข

การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของอดีตนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” ของเอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลกับหมอก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำลง

ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก

ตลาดภายในสำหรับระบบสาธารณสุขแบบนี้ถูกนำมาใช้ในไทยในระบบสามสิบบาทที่รัฐบาลทักษิณริเริ่ม มันจึงขาดประสิทธิภาพสำหรับพลเมืองทั่วไปแต่แรก

นอกจากการเน้นตลาดภายใน เพื่อทำลายรัฐสวัสดิการแล้ว พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีมาตรการอื่นที่ช่วยทำให้รัฐสวัสดิการเสื่อม มีการเปลี่ยนระบบสวัสดิการจากระบบถ้วนหน้าไปสู่ระบบที่จำกัดสิทธิ และเน้นคนบางกลุ่มที่ยากจนสุด คือในที่สุดพลเมืองต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน และมีการจำกัดสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์อย่าง สมภพ มานะรังสรรค์ พวก TDRI และรัฐบาลเผด็จการทหาร จะสนับสนุนการจำกัดสิทธิในการให้สวัสดิการเพื่อประหยัดงบประมาณโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีการพูดกันมากขึ้นถึงการ “ร่วมจ่าย” ซึ่งเป็นการเก็บค่าบริการนั้นเอง และการที่พวกเสรีนิยมพร้อมจะใช้รัฐเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหาร แต่ต้องการตัดสวัสดิการให้กับคนธรรมดา เห็นได้ชัดในกรณีรัฐบาลพรรคทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ผลของนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดในสหรัฐเห็นได้ชัด เพราะระหว่างปี 2000-2006 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 18% แต่รายได้จริงของกรรมาชีพลดลง 1.1% ส่วนคนรวยที่สุด 10% ของชาติเพิ่มรายได้ 32% ในขณะที่คนรวยสุดยอด 1% กอบโกยรายได้เพิ่มถึง 203% และพวกอันดับยอด 0.1% ของชาติ สามารถยึดทรัพย์เพิ่มขึ้น 425%  ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบนี้ในสหรัฐและทั่วโลกทวีคุณมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้

ข้ออ้างเท็จว่า “รัฐสวัสดิการล้มเหลวหรือใช้ไม่ได้เพราะคนชรามีมากเกินไป”ที่เรามักได้ยิน เป็นคำโกหกของพวกเสรีนิยมที่ไม่เคารพคนทำงานรุ่นก่อนหรือคนรุ่นพ่อแม่เรานั้นเอง พวกนี้อ้างว่าสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราลดลง เพราะคนมีแนวโน้มจะมีลูกน้อยและคนแก่มีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50 ปี ข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นอีกสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

รัฐสวัสดิการสร้างได้ในประเทศไทย ถ้าเราปฏิเสธสำนักคิดเสรีนิยมกลไกตลาด แต่ถ้าจะทำจริง เราต้องมีความเข้าใจและความสนใจเรื่องการรณรงค์และพลังของขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม เราต้องร่วมกันผนึกขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการที่สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนสำคัญของขบวนการนี้ต้องเป็นสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนที่มีความคิดที่จะพัฒนาสังคมไทยไปข้างหน้า แทนที่จะย่ำอยู่กับที่ในยุคหินแห่งระบบกลไกตลาด จะต้องหันมาจับมือกันเพื่อสร้างพรรคการเมืองเพื่อช่วงชิงความคิดในสังคม

ทำไมเผด็จการ “เพื่อคนรวย” ชุดนี้ ชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อเผด็จการทหารของประยุทธ์ต้องการจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และพูดจาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อปรามคนจน และในขณะที่พรรคพวกของมันกอบโกยความร่ำรวยจากการปล้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย เราควรกลับมาทบทวนเรื่อง “ภาษีก้าวหน้า” (Progressive Taxation) กับ “ภาษีล้าหลัง” (Regressive Taxation) อีกครั้ง

“ภาษีก้าวหน้า” คือภาษีคือภาษีที่คนรวยจ่ายมากเพราะสามารถจ่ายได้ และคนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย เพราะเกือบจะไม่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว มันเป็นภาษีที่เป็นธรรมและช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคม

ส่วน “ภาษีล้าหลัง” คือภาษีประเภท “ทำนาบนหลังประชาชนคนจน” โดยที่คนรวยและผู้มีอำนาจ บังคับเก็บจากคนจน ในขณะที่มีการลดการเก็บภาษีจากคนรวย เป้าหมายก็เพื่อผลประโยชน์ของนายทุน คนชั้นสูง ผู้มีอำนาจเช่นนายพลระดับสูง และแม้แต่ชนชั้นกลาง

โดยทั่วไปแล้ว พวกที่ใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งมักจะเป็นพวกฝ่ายขวาทางการเมือง มักจะนิยมการเก็บภาษีล้าหลัง ตัวอย่างที่เห็นชัดในยุคนี้คือรัฐบาลฝ่ายขวาในสหรัฐและยุโรป ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มทรัพย์สินให้กับนายทุนและคนรวย ในขณะที่กดค่าแรงและรายได้ของประชาชนผู้ทำงาน นโยบาย “รัดเข็มขัด” ของพวกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเสรีนิยมใหม่ และเข็มขัดที่ใช้รัดประชาชน มักจะไม่ใช้กับคนรวย การพยายามทำลายความเข็มแข็งของสหภาพแรงงานมีความสำคัญอีกด้วย เพราะพวกเสรีนิยมไม่ต้องการให้คนทำงานมีพลังต่อรอง

นอกจากนี้นโยบายเสรีนิยมใหม่ มักจะไปด้วยกันกับการทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วย เพราะการบังคับให้ประชาชนมีฐานะทางเศรษฐกิจแย่ลง มักต้องอาศัยอำนาจเผด็จการ ตัวอย่างที่ดีคือวิธีการที่กลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป บังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประเทศกรีซ ทั้งๆ ที่ประชาชนลงคะแนนเสียงคัดค้านมาตลอด หรือการที่เผด็จการทหารไทยทำรัฐประหารสองครั้งในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา การทำรัฐประหาร และการทำลายการเลือกตั้งของพวกทหาร ฝ่ายขวา และสลิ่มชนชั้นกลางไทย กระทำไปเพื่อทำลายนโยบายเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” ของรัฐบาลทักษิณ ที่ผสมการใช้รัฐช่วยคนจน และการใช้กลไกตลาด พวกเผด็จการทำลายอำนาจทางการเมืองของทักษิณด้วยวิธีประชาธิปไตยไม่ได้ เขาต้องใช้รัฐประหาร

ทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลของนายทุนที่ไม่นิยมการเก็บภาษีก้าวหน้า และไม่ได้ใช้นโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลทหารปัจจุบัน หรือรัฐบาลอภิสิทธ์ที่มีทหารหนุนหลัง เราจะเห็นว่าเผด็จการไทยไม่สนใจการพัฒนาสภาพคนจนอย่างที่รัฐบาลทักษิณสนใจ และเราจะเห็นว่าในรอบ 11 ปีที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญต่างๆ ของทหาร มีการเชิดชูกลไกตลาดเสรีสุดขั้ว และการห้ามปรามไม่ให้รัฐใช้นบายช่วยคนจน ที่พวกนั้นเรียกกันว่า “ประชานิยม” ยิ่งกว่านั้นมีการส่งเสริม “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง” ร่วมไปด้วย “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง” นี้เป็นข้อเสนอของกษัตริย์ผู้เป็นคนรวยที่สุดในประเทศ ว่าคนจนต้องเจียมตัวในความจน มันเป็นข้อเสนอให้แช่แข็งความเหลื่อมล้ำ และมันถูกบังคับใช้โดยทหารผ่านการมีกฏหมาย 112 ซึ่งทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ นอกจากนี้เผด็จการทหารก็หน้าด้านใช้เงินของประชาชนในการซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น ในขณะที่ด่าคนจนว่า “ขี้เกียจ”

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) จะมีมุมมองต่อภาษีต่างจากพวกคลั่งกลไกตลาด คือมีการมองว่าควรเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อยกระดับประชาชนขึ้น และพัฒนาสังคมให้ทันสมัย และอีกเป้าหมายหนึ่งคือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ระบบการเก็บภาษีแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นระบบภาษีที่เก็บในลักษณะ ”ก้าวหน้า” และภาษีก้าวหน้าเป็นภาษีที่เก็บโดยตรง (Direct Taxation) เก็บจากคนรวยและบริษัท ในอัตราสูง บางครั้งมีการเก็บจากคนรวยในอัตราสูงเป็นพิเศษ (Super Tax) ตัวอย่างภาษีทางตรงคือภาษีรายได้ ภาษีจากการขายหุ้น ภาษีมรดก ภาษีจากกำไรบริษัท ภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดินเป็นต้น ในอดีตหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อจารย์ปรีดีเคยเสนอให้ไทยมีภาษีอัตราสูงเป็นพิเศษที่เก็บจากคนรวย แต่พวกอำมาตย์คัดค้านอย่างรุนแรง

ฝ่ายขวาเสรีนิยมจะมองว่ารัฐควรมีบทบาทน้อยในการช่วยคนจน และไม่ควรสร้างภาระให้เอกชนจากการเก็บภาษี สำนักคิดนี้มองว่านักธุรกิจและคนรวยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเขาควรมีแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นแค่ข้ออ้างที่ให้ความชอบธรรมกับความโลภของคนรวย เพราะผู้ที่สร้างมูลค่าจริงในโลกนี้คือกรรมาชีพคนทำงานธรรมดา พวกเสรีนิยมมองว่าเขาควรมีโอกาสแสวงหากำไรหรือรายได้สูงสุดโดยไม่มีการจำกัด ถ้าจะเก็บภาษีก็ควรลดภาระให้กับคนรวยและเพิ่มภาระให้คนจนแทน สำนักเสรีนิยมจึงสนับสนุนการเก็บภาษี “ล้าหลัง” ในรูปแบบ “ภาษีทางอ้อม” (Indirect Taxation) ซึ่งเป็นภาษีที่คนจนจ่ายโดยอาจไม่รู้ตัว เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ที่เราจ่ายทุกครั้งที่ซื้อของ หรือภาษีสุรา/บุหรี่ ซึ่งทำให้คนจนรับภาระสูงกว่าคนรวย และที่สำคัญคือเกือบ 70% ของรายได้ภาษีของรัฐไทยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีทางอ้อมอื่นๆ

ถ้าดูผิวเผินเราอาจคิดว่าภาษีทางอ้อมเป็นภาษีที่คนรวยจ่ายมาก เพราะคนรวยซื้อของมากกว่าคนจน แต่ในความเป็นจริง เมื่อตรวจสอบดูว่าคนจนกับคนรวยจ่ายภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้และทรัพย์สิน จะพบว่าคนจนจ่ายสัดส่วนมากกว่าคนรวย

การเก็บภาษีจากคนจนไม่ใช่สิ่งใหม่ ในยุคก่อนทุนนิยมมีการเก็บส่วยจากไพร่และบังคับให้ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนเลย และทุกวันนี้รัฐไทยยังเก็บภาษีส่วนใหญ่ในรูปแบบ “ทำนาบนหลังคนจน”

จะเห็นได้ว่าถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย ต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เพื่อเน้นภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า ในขณะเดียวกันควรมีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ นอกจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าแล้ว การตัดงบประมาณทหารและงบประมาณของพวกในวัง จะมีผลดีในการส่งเสริมประชาธิปไตย และการสร้างรัฐสวัสดิการอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจระบบภาษีในมุมมองของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เราจะเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์อยากจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ไม่มีการเพิ่มการเก็บภาษีรายได้จากคนรวย นายทุน นายพล หรือพวกกาฝากในราชวงศ์ นั้นคือสาเหตุที่รัฐประหารสองสามรอบที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อไม่นานมานี้ ล้วนแต่เป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”