Tag Archives: ภูมิพล

ความจริงเรื่องการปราบปราม ๖ ตุลา และคำโกหกของไชยันต์ ไชยพร

ในเมื่อไชยันต์ไชยพร กล่าวหาเท็จว่านักศึกษาสมัย ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จงใจชุมนุมในธรรมศาสตร์เพื่อให้โดนปราบ (โดยที่เขาอ้างถึง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์) และยังมีการโกหกอีกว่าขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันจงใจสร้างสถานการณ์ให้โดนปราบในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งไชยยันต์เสนอว่าทำไปเพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมือง และเพื่อป้ายร้ายสถาบันกษัตริย์ เราควรกลับมาดูว่าอาชญากรรมรัฐ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เกิดขึ้นอย่างไร

การปราบปรามในวันที่ ๖ ตุลา กระทำเพื่ออะไร?

นักวิชาการคนแรกที่เสนอคำตอบเรื่องนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีการอธิบายว่า “เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ” ใครมีเจตนาแบบนี้? ป๋วย อธิบายว่าเป็น “ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมือง ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยตนจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม”

ถึงแม้ว่าการปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการกระทำต่อขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก แต่เป้าหมายโดยรวมน่าจะเป็นการทำลาย “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยดังที่ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยในยุคนั้นเคยชูคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” และเบเนดิก แอนเดอร์สัน อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวา โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ต้องการคือการหยุดยั้งการประท้วงต่างๆ ของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ที่เขามองว่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทฤษฏีที่เสนอว่าพวกฝ่ายซ้ายทำเกินเหตุว่า “การปรับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น (เช่นการปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ) เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวาย แต่การกดดันให้นายจ้างหัวแข็งลงมาเจรจากับลูกจ้างทำได้อย่างไรถ้าไม่นัดหยุดงาน? การกดดันให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่มีกับบริษัทเหมืองแร่ทำได้อย่างไรถ้าไม่ประท้วง? … ถ้ามองย้อนกลับไป รู้สึกว่าพวกเราทุกคนในยุคนั้นสายตาสั้นเวลาบ่นเรื่องความวุ่นวายเหล่านี้” (คำพูดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัย Georgetown, Washington 15/2/1977)

นอกจากความต้องการที่จะทำลายฝ่ายซ้ายโดยตรงแล้ว John Girling มองว่าผู้นำกองทัพส่วนใหญ่คิดว่าไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามา ดังนั้นต้องลงมือปราบปรามพวกประชาธิปไตยด้วยทุกวิธีทาง ในทำนองเดียวกัน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เสน่ห์ จามริก มองว่าการปราบปรามครั้งนี้เป็นการหวังทำลายแนว “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ลงมือกระทำคือกลุ่ม “อนุรักษ์นิยม” ที่ยังคุมอำนาจรัฐอยู่และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ในช่วง ๕ ธันวาคมปี ๒๕๑๙ กษัตริย์ภูมิพลได้แสดงความพึงพอใจกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา และอ้างว่ารัฐประหารเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งตรงกับความเห็นของทหาร

กษัคริย์ภูมิพลเยี่ยมถนอมที่วัดบวรนิเวศน์

นักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีการถกเถียงกันถึงบทบาทของพระราชวังในเหตุการณ์นี้ นักวิชาการต่างประเทศส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจกรรมของพระราชวังมีส่วนเสริมให้เกิดวิกฤตกาลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การสนับสนุนขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรนิเวศน์ในปลายเดือนกันยายนอย่างเปิดเผยเป็นต้น

This image has an empty alt attribute; its file name is 9vsc.jpg
กษัตริย์ภูมิพลมีบทบาทในการช่วยตำรวจ ตชด สร้างขบวนการลูกเสือชาวบ้าน

วชิราลงกรณ์ให้กำลังใจลูกเสือชาวบ้านในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ลานพระรูปทรงม้า

ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกสังคมไทยและวิกฤตที่เกิดขึ้น เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งชนชั้น มีความต้องการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้าย เราจึงต้องสรุปว่า ๖ ตุลา เป็นการพยายามทำลายขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยโดยชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบัน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตามส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีมุมมองที่อาจแตกต่างกันไปเกี่ยวกับวิธีการที่ควรจะใช้ในการสกัดขบวนการฝ่ายซ้ายไทย ฉะนั้นเราไม่ควรมองว่ามีการวาง “แผนใหญ่” เพียงแผนเดียวโดยชนชั้นปกครองไทย เราควรเข้าใจว่าส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีการสร้างกลุ่มพลังฝ่ายขวามาคานนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และฝ่ายซ้าย และมีการฉวยโอกาสตามสถานการณ์

สรุปแล้ว ไชยันต์ ไชยพร ยกเมฆโกหกเรื่อง ๖ ตุลา และป้ายสีขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบัน และที่น่าเกลียดที่สุดคือการพูดแบบนั้นของ ไชยันต์ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เท็จเพื่อฟอกตัวเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เป็นอาชญากรรัฐ ซึ่งผลในรูปธรรมคือเชิดชูเผด็จการ และทำให้การสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยทำได้ยากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

“อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔) ISBN 9748858626  https://bit.ly/2dC7Fk2  และ  https://bit.ly/2cSml2g

ประชาธิปไตยศักดิ์สิทธิ์กว่ากษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

พวกไดโนเสาร์ที่เอะอะโวยวายจะใช้กฏหมายเถื่อน 112 กับพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยตลอดเวลา ชอบอ้างว่ากษัตริย์เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่มันเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ การกล่าวหาผู้เผยแพร่รูปถ่าย “แฟลชม็อบ” #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ก โดยพวกคลั่งเจ้า เป็นเพียงข้ออ้างในการคัดค้านการต้านเผด็จการของมวลชน

FUD

แท้จริงแล้วประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งอัปมงคลสำหรับสังคม แต่ทหาร ชนชั้นปกครอง และชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษ์นิยม มักจะทำลายประชาธิปไตยของเราในนามของกษัตริย์

แต่ไหนแต่ไร กษัตริย์เป็นสิ่งอัปมงคลสำหรับคนธรรมดาในสังคม ในยุคอดีต การที่กษัตริย์นำการต่อสู้ และรบในสงคราม ไม่ใช่เพื่อรักษาเสรีภาพของคนส่วนใหญ่แม้แต่นิดเดียว ในยุคศักดินากษัตริย์มันทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรสำคัญกับกษัตริย์ในเมืองอื่นๆ ทรัพยากรนี้คือมนุษย์ มีการกวาดต้อนคนเข้ามาเพื่อเป็นทาสเป็นไพร่ให้กับตนเองและพรรคพวก สรุปแล้วคนอย่างพระนเรศวร หรือกษัตริย์อื่นในยุคศักดินา ทำสงครามเพื่อแย่งคนมาขูดรีดบังคับให้ทำงานสร้างมูลค่าให้พวกมันเอง แต่พวกที่หลงเชื่อนิยายของชนชั้นปกครองจะมองว่าพวกที่กวาดต้อนคนมาขูดรีดได้มากที่สุดคือ “มหาราช”

สำหรับประชาชนธรรมดาในยุคนั้น เวลาพวกเจ้ายกทัพมาใกล้หมู่บ้านตนเอง มันเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะจะแย่งคนไปเป็นเมียน้อยหรือทาส และทำลายสภาพชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านจะมักจะหนีเข้าป่า

พอเข้าสู่ยุคทุนนิยมในสมัยรัตนโกสินทน์ การขูดรีดประชาชนเริ่มเปลี่ยนไปจากการบังคับแรงงานไปเป็นการขูดรีดทางการเงิน กษัตริย์ตั้งตัวเป็นนายทุนใหญ่และขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน โดยจ่ายค่าจ้างน้อยกว่ามูลค่าที่คนงานผลิต นอกจากนี้มีการรีดไถเกษตรกรผ่านการเก็บค่าเช่าที่ดินที่กษัตริย์ประกาศว่า “เป็นของตนเอง” และมีการรีดไถพ่อค้าแม่ค้าและคนอื่นด้วยการเก็บภาษี

มูลค่าที่กษัตริย์สะสมมา ไม่ได้นำไปพัฒนาสังคมแต่อย่างใด แต่ใช้ในการสร้างความสุขให้กษัตริย์และพรรคพวก นี่คือสาเหตุที่คณะราษฎร์ต้องเร่งสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นโรงเรียน และเร่งพัฒนาสังคม หลังการปฏิวัติ๒๔๗๕

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่กษัตริย์หมดอำนาจทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเผด็จการทหารและนายทุน การสร้างกษัตริย์ให้เป็น “กาฝากในคราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์”สำหรับชนชั้นปกครองในยุคภูมิพล กระทำไปเพื่อให้พลเมืองธรรมดาหลงคิดว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่บางคนเกิดสูงบางคนเกิดต่ำ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นแค่ “ธรรมชาติของโจร” เท่านั้น

บทบาทกษัตริย์ในยุคภูมิพลกลายเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะภูมิพลไม่เคยกล้าทำอะไรเพื่อปกป้องประชาธิปไตยหรือพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนเลย ภูมิพลไร้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำ เขาเป็นคนอ่อนแอที่กลายเป็นเครื่องมือเบ็ดเสร็จของเผด็จการ และยังหน้าด้านสอนให้พลเมือง “รู้จักพอเพียง” ในขณะที่ตนเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศ และความร่ำรวยดังกล่าวมาจากการขูดรีดประชาชนไทยและการฉวยโอกาสได้ประโยชน์จากยุคเผด็จการด้วย แต่ทหารเผด็จการและนายทุนเชิดชูให้กาฝากภูมิพลเป็น “คนดี” และเป็น “มหาราช”

เราทราบดีว่าภูมิพลไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างจริงจังกับประชาชน เพราะแค่มาตรการในห้าปีแรกของรัฐบาลทักษิณก็ทำให้ประชาชนชื่นชม และฝ่ายรักเจ้าเริ่มไม่พอใจ อิจฉาริษยาทักษิณ แต่ทักษิณไม่ใช่เทวดา เขาเป็นนักการเมืองนายทุน และต้องการใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ตนเองด้วย

thaiking-728x486ก
วชิราลงกรณ์ทำลายภาพลักษณ์ของสังคมไทย

พอถึงยุค วชิราลงกรณ์ สถานภาพของสถาบันกษัตริย์ตกต่ำที่สุดอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของวชิราลงกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมต่อสตรี หรือการกอบโกยทรัพย์สินเพิ่มเติมโดยไม่รู้จักพอ วชิราลงกรณ์ กลายเป็นตัวตลกในสื่อทั่วโลก และเป็นที่เกลียดชังในหมู่คนไทยที่กล้าคิดเองจำนวนมาก

การใช้กฏหมาย 112 ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่การใช้ 112 กับอดีตกษัตริย์ที่ตายไปแล้วยิ่งกลายเป็นเรื่องเหลวไหล อีกหน่อยการวิจารณ์พระเจ้าเหาคงเป็นเรื่องผิดกฏหมาย!!

Republic

เราไม่ควรยอมให้เผด็จการรัฐสภายุบพรรคอนาคตใหม่ และในขณะเดียวกันเราไม่ควรยอมให้ใครโดนกฏหมาย 112 อีกต่อไป กฏหมายนี้ต้องถูกยกเลิกเพื่อสร้างประชาธิปไตย

สองเหตุผลว่าทำไมไทยควรเป็นสาธารณรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านในบล็อกโดยตรง]

ประเทศทั่วโลกที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เช่นอังกฤษ สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ หรือไทย ยังคงไว้สถาบันจากอดีตอันนี้เพื่อวัตถุประสงค์สมัยใหม่ วัตถุประสงค์หลักคือเรื่องลัทธิความคิดทางการเมืองที่เน้นว่าลำดับชนชั้นในสังคมเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่เราเปลี่ยนไม่ได้ สถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนพึงรู้ว่ามีคนเกิดสูงและเกิดต่ำ คนที่เกิดสูงมีความชอบธรรมในการกอบโกยทรัพย์สินของสังคม และในการมีบทบาทหลักในสังคม ส่วนคนที่เกิดต่ำควรเจียมตัวกับความจนและการที่ถูกกีดกันออกจากการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม (ดู https://bit.ly/2On85jD )

วัตถุประสงค์หลักของลัทธิ “สูงต่ำ” อันนี้ไม่ใช่เพื่อเชิดชูกษัตริย์ แต่เพื่อให้ความชอบธรรมกับชนชั้นปกครองในรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ คือนายทุน นักการเมืองฝ่ายทุน ผู้บังคับบัญชาทหาร และข้าราชการชั้นสูง

ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ชนชั้นปกครองใช้ลัทธิความคิดอื่นในการให้ความชอบธรรมกับลำดับชนชั้นที่ดำรงอยู่ ในสหรัฐจะมีการเสนอว่าคนชั้นสูงเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษและขยันในการทำงาน ซึ่งถ้าดูพฤติกรรมและความสามารถจริงของพวกผู้นำสหรัฐก็จะเห็นว่าเป็นคำโกหก ในฝรั่งเศสจะมีการอ้างความชอบธรรมจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและการอ้างว่าทุกคนเท่าเทียมกันแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่จริง ในจีนก็เช่นกัน มีการอ้างว่าในระบบ “คอมมิวนิสต์” ไม่มีชนชั้น และเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นตัวแทนของกรรมาชีพกับประชาชน ซึ่งไม่จริงอีก ไม่เชื่อก็ลองดูสภาพความเป็นอยู่ของคนงานจีนเมื่อเทียบกับวิถีชีวิตของครอบครัวผู้นำรัฐ

ในรายละเอียด ชนชั้นปกครองอังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส หรือจีน ไม่ได้แตกต่างกันเลย ของไทยก็เช่นกัน ล้วนแต่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์กลุ่มทุนทั้งสิ้น และต้องการที่จะกดขี่ขูดรีดคนธรรมดา

บางคนที่อ้างว่าตัวเอง “ตาสว่าง” แต่ยังติดอยู่ในกับดักความคิดของกะลาแลนด์ จะเถียงว่า “ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศในยุโรปหรือที่อื่น” เพื่อพยายามเสนอว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีความ “พิเศษ” ที่ไม่เหมือนของชาติอื่น เพราะ “เรายังมีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (ดู https://bit.ly/2QgB0TJ ) คนเหล่านี้ไม่ยอมศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ตามยุคสมัย ผ่านการปฏิวัติของรัชกาลที่๕ สู่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ และที่สำคัญคือพวกนี้ไม่ยอมศึกษาบทบาทและที่มาของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ในยุโรป พวกนี้จึงมองอะไรแบบผิวเผิน คือพอได้ยินว่ากษัตริย์ไทยแต่งตั้งผู้พิพากษา หรือแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือ “โปรดเกล้า” เรื่องอื่น ก็เชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจ แต่การแต่งตั้งหรือ “โปรดเกล้า” ในเรื่องต่างๆ ก็มีในอังกฤษตามทำเนียม ซึ่งคนไทยแบบนี้จะไม่ยอมมองและเข้าใจ มันเป็นความคิดชาตินิยมในกะลาที่ส่งเสริมโดยฝ่ายเผด็จการและชนชั้นปกครองไทย ที่ชวนให้เราไม่ศึกษาการเมืองทั่วโลกในเชิงเปรียบเทียบ “เพราะประเทศไทยพิเศษ”

การที่ไทยมีกฏหมาย 112 ที่ยังใช้อยู่ในทางปฏิบัติ และการที่มีการมอบคลาน การใช้ราชศัพท์ และการติดภาพหรืออ้างถึงกษัตริย์บ่อยๆ เป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งไม่เปลี่ยนลักษณะลึกๆ ของสถาบัน ที่เหมือนกับสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ทั่วโลก

ดังนั้นปัญหาใหญ่อันหนึ่งของการมีสถาบันกษัตริย์ในไทย คือการที่ทหาร นักการเมือง และนายทุน ใช้สถาบันนี้เพื่อให้ความชอบธรรมกับอภิสิทธิ์ของตนเอง ในรูปธรรมหมายความว่าทหารทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าปกป้องกษัตริย์ได้ หรือมีการอ้างลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสนับสนุกแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

ลัทธิกษัตริย์ หรือ “ลัทธิสูงต่ำ” ถูกใช้เพื่อพยายามให้ความชอบธรรมกับเผด็จการและความเหลื่อมล้ำ

แต่อย่าหลงเชื่อว่าในยุโรปชนชั้นปกครองชื่นชมประชาธิปไตยมาตลอด ในยามวิกฤตชนชั้นปกครองยุโรปพร้อมจะใช้ระบบเผด็จการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเอง ดูได้จากอดีตในเยอรมัน อิตาลี่ สเปน หรือโปรตุเกส ดูได้จากกรณีการใช้กฏหมายฉุกเฉินในอังกฤษหรือฝรั่งเศส และดูได้จากมาตรการเผด็จการที่อียูใช้กับกรีซเพื่อบังคับให้รัดเข็มขัด หรือที่รัฐสเปนใช้กับชาวคาทาลูเนีย

วชิราลงกรณ์ไม่ได้มีอำนาจสั่งการในระบบการเมืองไทย เพราะถ้าเราพิจารณาปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการสืบทอดอำนาจเผด็จการประยุทธ์ผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปี” หรือการทำลายระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาสิทธิสตรี หรือปัญหาสงครามในปาตานีฯลฯ กษัตริย์คนนี้ ซึ่งสอบตกอย่างต่อเนื่องในยุคเรียนหนังสือ ไม่มีความเห็นของตนเองที่ปรากฏออกมา

และก่อนที่ภูมิพลจะเสียชีวิต ภูมิพลหมดสภาพในการสื่อสารหรือทำอะไรเป็นเวลานานพอสมควร แต่ไม่มีผลกระทบอะไรเลยกับระบบการปกครองของเผด็จการไทยแม้แต่นิดเดียว ภูมิพลก็ไม่ได้สั่งการอะไรเช่นกัน (ดู https://bit.ly/2s0KHd4 )

อย่างไรก็ตามมันมีสิ่งที่วชิราลงกรณ์กระตือรือร้นที่จะสนใจ นั้นคือการเสพสุขของตนเองบนพื้นฐานความร่ำรวยมหาศาล มันคือสาเหตุที่เขาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถเสพสุขที่เยอรมันโดยไม่มีคนอื่นแต่งตั้งใครมาดำรงตำแหน่งเขาแทนได้ หรือการที่วชิราลงกรณ์รวบความเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ของสถาบัน มาเป็นของตนเองคนเดียว หรือการที่สั่งย้ายสวนสัตว์เขาดิน เพื่อเพิ่มกำไรจากการครองที่ดิน มันเกี่ยวกับความโลภที่จะเสพสุข และเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัวเขาอย่างเดียว มันไม่เกียงกับการบริหารสังคมหรือการเมือง (ดู https://bit.ly/2IwdWxP )

ซึ่งเรื่องนี้พาเราไปสู่การพิจารณาสาเหตุที่สองที่เราควรมีระบบสาธารณรัฐ นั้นคือการที่สถาบันกษัตริย์เป็นปรสิตที่ดูดทรัพย์ของสังคมเข้ากระเป๋าตนเอง มันเป็นปัญหาในประเทศทั่วโลกที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และในไทยถ้าเทียบทรัพย์สินของกษัตริย์กับความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องร้ายแรง

ถ้าเรายกเลิกสถาบันกษัตริย์ และบังคับให้คนอย่างวชิราลงกรณ์ต้องทำงานเลี้ยงชีพตนเองเหมือนคนธรรมดา เราจะสามารถใช้ทรัพยากรมหาศาลในการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ได้ เราสามารถพัฒนาระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และสร้างรัฐสวัสดิการได้

พูดง่ายๆ ระบบกษัตริย์ทำให้พวกสมาชิกราชวงศ์กลายเป็นคนขี้เกียจหลังยาวแบมือกอบโกย “สวัสดิการ” มหาศาลจากรัฐ โดยไม่ทำงานตลอดชีพ

ดังนั้นสองเหตุผลหลักที่เราควรมีระบบสาธารณรัฐคือ (1)มันสร้างลัทธิที่ส่งเสริมให้มีการให้ความชอบธรรมกับระบบชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และการกีดกันสิทธิเสรีภาพเต็มที่ของพลเมืองธรรมดา และ (2)มันสิ้นเปลืองทรัพยากรของสังคมที่ควรจะนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ทำไมคนจำนวนมากถึงเศร้าเมื่อกษัตริย์ภูมิพลตาย?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ภาพของคนไทยจำนวนมากที่โศกเศร้าเมื่อกษัตริย์ภูมิพลตาย ที่ทำให้คนที่มีสติปัญญานึกถึงสังคมเกาหลีเหนือ มันเป็นสัญลักษณ์ของ “ไทยเป็นทาส” หรือสัญลักษณ์ของด้านอนุรักษ์นิยมของสังคมไทย

มีคนถามพวกเราที่วิจารณ์คนไทยที่ตกเป็นทาสทางความคิด ว่าทำไมไม่เคารพความรู้สึกหรืออารมณ์ของคนที่ไว้อาลัยนายภูมิพล? คำตอบง่ายๆ คือ มันเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเช่นการตายของญาติพี่น้องของใคร และในเรื่องการเมืองเราไม่ควร “เคารพ” ความคิดล้าหลังปฏิกิริยา โดยเฉพาะจากหลายคนที่ไม่เคยเคารพผลการเลือกตั้งหรือเคารพประชาธิปไตย การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงอย่างเปิดเผย

397307c500000578-3847564-image-a-5_1476794560956

ในอดีตเวลาคนเยอรมันจำนวนหนึ่งไปคลั่งรักฮิตเลอร์ เราต้องเคารพความรู้สึกนึกคิดของพวกนั้นหรือ? ในอดีตเวลาคนร้องไห้เมื่อสตาลินตาย เราต้องเคารพความรู้สึกของเขาหรือ? เวลาประชาชนเกาหลีเหนือร้องไห้เพราะผู้นำเผด็จการตาย เราต้องเคารพความรู้สึกเขาหรือ? คนที่ห้ามเราไม่ให้วิจารณ์ความเหลวไหลของคนไทยจำนวนหนึ่งที่คลั่งเจ้า กำลังพูดว่าเรา “ไม่มีสิทธิ์” ในการแสดงความคิดที่ต่างจากกระแสหลัก สังคมไทยเต็มไปด้วยการปิดกั้นเสรีภาพในทุกด้านอยู่แล้ว

แต่สำหรับคนไทยที่ไม่ยอมเป็นทาส เราต้องมีคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าทำไมคนจำนวนมากออกมาร้องไห้และโศกเศร้า เมื่อคนที่เขาเชื่อว่าเป็น “พ่อ” เสียชีวิต ทั้งๆ ที่บุคคลคนนี้ไม่ใช่พ่อจริง และทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ไม่รู้จักนายภูมิพลเป็นส่วนตัวแม้แต่นิดเดียว

แน่นอนมันมีประเด็นของอำนาจเผด็จการและกฏหมาย 112 และการประชาทัณฑ์ที่ข่มขู่คนที่คิดต่าง แต่นั้นไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมหลายคนร้องไห้จริง ทำไมมีคนอาสาที่จะแต่งชุดดำเอง และถึงกับสักร่างกายด้วยประโยคคลั่งเจ้า ไม่ว่าเขาจะสะกดตัวหนังสือถูกหรือผิด

14671279_1108537339231968_3253529123943464133_n

ถ้าเราแค่บอกว่าพวกนี้โง่เขลา ถึงแม้ว่าเขาอาจ “โง่” ทางการเมืองก็จริง แต่นั้นไม่ใช่คำอธิบาย การพูดว่าพวกนี้โดนล้างสมองก็ไม่สามารถอธิบายได้เช่นกัน แต่แน่นอนในสังคมไทยมีการกล่อมเกลาทางสังคมให้รักเจ้า อย่างไรก็ตามการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านโรงเรียน โทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการล้างสมอง เพราะกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมต้องอาศัยการชักชวนให้คนสมัครใจที่จะคล้อยตามกระแสหลัก

ทำไมชนชั้นปกครองสามารถชักชวนให้คนไทยสมัครใจที่จะมีความเชื่อที่เหลวไหลแบบการคลั่งเจ้า? ผมฟันธงว่ามันเป็นความคิดเหลวไหลสำหรับประชาชนคนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพผู้ทำงาน เพราะลัทธิกษัตริย์ขัดกับผลประโยชน์ระยะยาวของคนส่วนใหญ่ในสังคม เนื่องจากลัทธินี้ย้ำและให้ความชอบธรรมกับความเหลื่อมล้ำทุกชนิดและการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น มันเป็นลัทธิที่มาจากผลประโยชน์ของชนชั้นบนล้วนๆ

ทฤษฏีมาร์คซิสต์อธิบายว่า การที่มนุษย์สร้างคนหรือสิ่งสามัญประจำวันขึ้นมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องรักเหมือนพ่อ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคมชนชั้น     ที่สำคัญคือความเชื่อใน “อำนาจ” ของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นให้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องมือในการบริหารสังคม ในการกดขี่ขูดรีด หรือในการสร้างความหวังให้มนุษย์ที่สิ้นหวัง กระบวนการนี้ชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “การสร้างสภาวะแปลกแยก” (Alienation)

การสร้างสภาวะแปลกแยก เกิดจากการที่ชนชั้นปกครองใช้อำนาจในการทำลายความเป็นมนุษย์พื้นฐานของเรา การทำลายความเป็นมนุษย์พื้นฐานของเรานี้ กระทำผ่านการสร้างระบบที่บังคับให้เราทำงานให้คนอื่น แทนที่จะเป็นมนุษย์อิสระที่กำหนดอนาคตตนเองได้ในทุกแง่

การที่ประชาชนจะถูกกล่อมเกลาให้สมัครใจเชื่อในสิ่งที่ไม่จริงได้ เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง อาศัยเงื่อนไขสำคัญคือ ความรู้สึกขาดความมั่นใจ ขาดความมั่นคง และไร้อำนาจ ของประชาชนส่วนใหญ่ ในสังคมไทยและสังคมทั่วโลก ประชาชนธรรมดาถูกสอนมาตั้งแต่เล็ก ว่าตัวเองไร้ความสามารถ ไม่เหมือนคนใหญ่คนโต เราเห็นได้จากการที่คนจำนวนมากมองว่าตนไม่สามารถเป็นผู้นำได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ ดังนั้น “ต้องพึ่งผู้ใหญ่ที่เก่งกว่าตัวเองเสมอ” ในสภาพที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอขาดอำนาจ และในสภาพที่คนกลัวเผด็จการ เขาจะเชื่อนิยายของชนชั้นปกครองง่ายขึ้น ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่ขาดความมั่นคงในชีวิตเพราะเราไม่มีรัฐสวัสดิการ หรือขบวนการแรงงานไม่เข้มแข็งพอที่จะสร้างกระแส “สิทธิมนุษยชน” หรือประเพณีของการเป็น “พลเมือง” มันยิ่งง่ายมากขึ้น

ในเมื่อคนธรรมดามองไม่ออกว่าตนเองจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เอง ก็ต้องหันไปพึ่งอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์แทน คนไทยไม่น้อยจึงหลงเชื่อว่าตนพึ่งพา “ในหลวง” เพื่อความสงบสุข ทั้งๆ ที่มันไม่จริงแม้แต่นิดเดียว

แต่นักมาร์คซิสต์ ชื่อ George Lukács อธิบายในหนังสือ “ประวัติศาสตร์และจิตสำนึกทางชนชั้น” ว่า เมื่อคนธรรมดาลุกขึ้นสู้ร่วมกัน และเห็นพลังของมวลชน อย่างที่คนเสื้อแดงเคยทำ หรืออย่างที่นักศึกษาช่วง ๑๔ ตุลาเคยทำ ประชาชนจะเริ่มมั่นใจในตนเองมากขึ้นและเริ่มตั้งคำถามในใจเกี่ยวกับนิยายต่างๆ ที่เคยเชื่อ เขาจะมองออกว่าเขาและคนรอบข้าง เมื่อรวมตัวกันเป็นขบวนการ สามารถเปลี่ยนสังคมและสร้างความมั่นคงและความสงบสุขเองได้

สรุปแล้วการเชื่อหรือคลั่งในลัทธิของชนชั้นปกครองเป็นเรื่องที่ไม่คงที่ ในบางยุคคนส่วนใหญ่อาจเชื่อง ในยุคอื่นอาจคิดกบฏ หรืออย่างน้อยมีความคิดที่เป็นอิสระ

ถ้าเราจะปลดแอกสังคมไทยจากความคิดที่ครอบงำสังคม และอำนาจจริงของเผด็จการที่กดทับเรา เราต้องรวมตัวกันต่อสู้

ภูมิพล คนรวยที่ไร้ความกล้าหาญในการทำความดี

ใจ อึ๊งภากรณ์

นายภูมิพลเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ไร้ความกล้าหาญ และไม่มีอุดมการณ์ดีๆ ของตนเองเลย แต่ในขณะเดียวกันเป็นคนโลภทรัพย์และหลงตัวเอง เขาใช้ชีวิตของอภิสิทธิ์ชนอันไร้ประโยชน์ ขณะที่ล้อมรอบไปด้วยขี้ข้าที่คอยเลีย หมอบคลาน และชมว่านายภูมิพลเป็น “เทวดา”  แท้จริงแล้วนายภูมิพลเป็นคนน่าสมเพชที่ไม่น่าสงสาร เป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทย และพร้อมจะปล่อยให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยถูกเข่นฆ่าเหมือนผักเหมือนปลา

ตลอดชีวิตของเขา เขามีส่วนสำคัญในการให้ความชอบธรรมกับเผด็จการที่ทำให้สังคมไทยล้าหลังและขาดประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงท้ายของชีวิต นายภูมิพลปล่อยให้ประชาชนเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตยถูกทหารฆ่าตาย และปล่อยให้ทหารใช้คดี 112 เพื่อจำคุกผู้บริสุทธิ์ที่คัดค้านเผด็จการ โดยที่ทหารอ้างตลอดว่ากำลัง “ปกป้อง” นายภูมิพลและครอบครัว

นายภูมิพลอาสาด้วยความเต็มใจ ที่จะเป็นเครื่องมือของทหาร ที่คอยทำรัฐประหาร กีดกันประชาธิปไตยและความเจริญทางเศรษฐกิจของประชาชน สำหรับนายภูมิพลการทำหน้าที่ดังกล่าวสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเขาเองมากมาย นายภูมิพลสามารถสะสมทรัพย์สินมหาศาลจากการทำงานของประชาชน จนกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศไทยและกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันนายภูมิพลบังอาจที่จะเสนอว่า “ราษฎร” ควรพึงพอใจในความยากจนของตนเอง ผ่านลัทธิ “เศรษฐกิจพอเพียง” นี่คือนิสัยของคนที่ “ทำนาบนหลังคนอื่น” ไม่ต่างจากกษัตริย์ทั่วโลก

ข้าทาสบริวารต่างๆ ของภูมิพล ต้องคอยส่งเสริมรูปภาพหยดเหงื่อที่ปลายจมูกของนายภูมิพล เพื่อสร้างภาพหลอกลวงว่าเขาทำงานหนักได้ อย่างไรก็ตามรูปถ่ายแบบนี้ดูเหมือนจะมีรูปเดียว เพราะนายภูมิพลไม่เคยออกแรงให้เหงื่อออกจริงๆ ไม่เหมือนชาวไร่ชาวนาหรือกรรมกร และนายภูมิพลไม่เคยละอายใจที่จะมีคนมาคลานต่อหน้าตนเองเหมือนสัตว์ หรือใช้ภาษาโบราณราชาศัพท์ เหมือนกับว่าเขาเป็นเทพเจ้า

นายภูมิพลเกิดที่สหรัฐและใช้ชีวิตวัยรุ่นอันแสนสบายในสวิสแลนด์ การที่เขาชอบขับรถสปอร์ดเร็วๆ ทำให้เขาต้องสูญเสียลูกตาข้างหนึ่งในอุบัติเหตุ ก่อนหน้านั้นในปี ๒๔๘๙ นายภูมิพลได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์เมื่อพี่ชายถูกยิงตาย เหตุการณ์นี้อธิบายได้สองทางคือ เป็นการฆ่าตัวตายของพี่ชายเอง หรือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการเล่นปืนกับนายภูมิพล ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราแน่ใจได้คือนายภูมิพลทราบข้อมูลทุกอย่างและอยู่ในสถานที่เมื่อเกิดเหตุ แต่นายภูมิพลไม่มีความซื่อสัตย์หรือคุณธรรมพอที่จะพูดความจริง ปล่อยให้คนบริสุทธิ์สามคนถูกประหารชีวิต และปล่อยให้ท่านอาจารย์ปรีดีถูกป้ายร้ายจากคู่แข่งทางการเมือง หลังจากนั้นนายภูมิพลก็หากินกับการเป็นกษัตริย์ในรูปแบบที่เห็นแก่ตัว ขาดความซื่อสัตย์ ขาดคุณธรรม และขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนมาตลอด

ในช่วงเผด็จการทหารที่ป่าเถื่อนและคอร์รับชั่น หลังรัฐประหารของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายสฤษดิ์ได้ขยันสร้างแนวร่วมกับพวกรักเจ้าเพื่อเชิดชูกษัตริย์และแสวงหาความชอบธรรมกับตนเองและอำมาตย์ทั้งหลาย เพราะตั้งแต่ยุครัชกาลที่๗ ผ่านการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่เสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์จนกระแสสาธารณรัฐมาแรง ในยุคนั้นแม้แต่ผู้นำทางทหารหลายคนอย่างเช่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ไม่ต้องการกษัตริย์ นายสฤษดิ์กับพวกที่คลั่งเจ้าอาศัยบรรยากาศสงครามเย็น เพื่อส่งเสริมและเชิดชูนายภูมิพลในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลสหรัฐก็ช่วยโดยการแจกรูปภาพนายภูมิพลให้ประชาชน ใครไม่นำไปแขวนไว้ในบ้านต้องถูกกล่าวหาว่าเป็น “แดง”

เมื่อนายสฤษดิ์ตายไปด้วยโรคตับแข็ง นายภูมิพลเสียใจมากเพราะผู้อุปถัมภ์ของตนดับไป แต่ก็สามารถทำงานร่วมกับนายถนอมและนายประภาส ลูกน้องสฤษดิ์ที่ขึ้นมาเป็นเผด็จการโกงกินรุ่นใหม่ได้ดี ในช่วงนี้และช่วงสฤษดิ์ นายภูมิพลไม่เคยมีจิตสำนึกพอที่จะวิจารณ์การคอร์รับชั่นของทหารและการที่สังคมไม่มีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเลย เขาไม่เคยเปลี่ยน ยุคนั้นเป็นยุคที่เผด็จการทหารเริ่มเชิดชูโครงการหลวงทั้งหลาย แต่โครงการดังกล่าวของนายภูมิพล ไม่ได้พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าไร โดยเฉพาะถ้าเทียบกับนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลไทยรักไทย

ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นไล่เผด็จการทหารจนสำเร็จ ฝ่ายอำมาตย์จึงเรียกร้องให้นายภูมิพลออกโรงเพื่อปกป้องระบบอภิสิทธิ์ชน นายภูมิพลจึงออกมาพูดทางโทรทัศน์และฉวยโอกาสสร้างภาพว่าตนเป็น “กษัตริย์ประชาธิปไตย” อย่างไรก็ตามเมฆดำแห่งการต่อสู้ทางชนชั้นก็มาท้าทายอำมาตย์ ยุคนั้นเป็นยุคสงครามสหรัฐในเวียดนาม

นักศึกษาและประชาชนต่างต้องการให้สังคมไทยพัฒนาและมีความเป็นธรรม คนจำนวนมากเริ่มสนใจความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ นายภูมิพลจึงร่วมมือกับอำมาตย์อื่นๆ ในการพยายามปกป้องทรัพย์สินและตำแหน่งด้วยการก่อตั้งกลุ่มอันธพาลฝ่ายขวาเช่นลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มอันธพาลเหล่านี้ พร้อมกับตำรวจ ตชด. ได้ก่อเหตุนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในวันเดียวกันมีการทำรัฐประหาร และตั้งรัฐบาลเผด็จการป่าเถื่อนที่ปราบปรามผู้รักประชาธิปไตยและเซ็นเซอร์สื่อทุกชนิด หลังจากนั้นเพียงสองเดือน ในวันเกิดของเขาปีนั้น นายภูมิพลได้แสดงความพึงพอใจกับเหตุการณ์นี้ และอ้างว่ารัฐประหารเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะประเทศไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป”

ท้ายยุครัฐบาลนายเปรม พื้นที่ประชาธิปไตยเริ่มเปิดกว้างขึ้นและมีการเลือกตั้งนายชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือน แต่ในไม่ช้าฝ่ายทหารภายใต้การนำของนายสุจินดาก็ทำรัฐประหารและทำลายประชาธิปไตยอีกครั้ง นายภูมิพลก็ออกมาชมนายสุจินดาตามหน้าที่กษัตริย์เด็กดีที่ร่วมหากินกับทหาร แต่โชคดีที่ประชาชนไม่ฟัง จึงมีการลุกฮือล้มเผด็จการในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ พอสถานการณ์ชัดเจนว่าประชาชนชนะ นายภูมิพลก็ออกมาฉวยโอกาสสร้างภาพอีกครั้งเพื่ออ้างว่าตนรักประชาธิปไตย

หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งเสรี และนักการเมืองทั้งหลายก็แข่งกันหมอบคลานและเชิดชูนายภูมิพลว่าเป็น “มหาราช” หรือ “สุเปอร์แมน” ที่เก่งในทุกเรื่อง ทั้งนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่นักการเมืองและนักธุรกิจทั้งหลายเอง นายภูมิพลดูเหมือนว่าจะหลงตัวเองไปด้วย นักการเมืองคนหนึ่งที่เชิดชูนายภูมิพลคือ นายทักษิณ ซึ่งนายกคนนี้สามารถครองใจประชาชนและชนะการเลือกตั้งได้หลายรอบ

ใน “สงครามยาเสพติด” ที่มีการวิสามัญเข่นฆ่าประชาชนบริสุทธิ์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ นายภูมิพลไม่มีความกล้าหาญที่จะออกมาตำหนิการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยรักไทยเลย แต่กลับชมนายกทักษิณว่าทำในสิ่งที่จำเป็น มันพิสูจน์ว่านายภูมิพลไหลลื้นไปตามกระแสเสมอ

ในรอบห้าปีแรกของรัฐบาลไทยรักไทย นโยบายสุขภาพถ้วนหน้าและนโยบายกองทุนหมู่บ้าน สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในลักษณะที่ไม่เคยเกิดในอดีตและไม่เคยเกิดจากโครงการหลวงในรอบหกสิบปี การครองใจประชาชนในระบบประชาธิปไตยแบบนี้ทำให้คู่แข่งของนายกทักษิณ โดยเฉพาะพวกอำมาตย์หัวเก่าและนายทหาร อึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง พวกนี้จึงก่อสถานการณ์และทำรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ในการทำลายประชาธิปไตยรอบนี้ นายภูมิพลก็ให้ความชอบธรรมกับทหารและอำมาตย์ตามเคย และยอมให้ทหาร เสื้อเหลือง และม็อบสุเทพ ใช้ชื่อของเขาในการประพฤติตัวแบบโจร

ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปี ๒๕๕๓ ท่ามกลางการเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าของทรราชอภิสิทธิ์และกองทัพไทย นายภูมิพลนิ่งเฉย ไม่มีความกล้าหาญ อุดมการณ์ หรือศีลธรรม พอที่จะออกมาห้าม ปล่อยให้พลเมืองล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก แค่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวก็พิสูจน์ว่าการมีกษัตริย์เป็นประมุขไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับประชาชน ถ้ากษัตริย์ไม่พร้อมจะปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ และร้ายกว่านั้น การปกป้องกษัตริย์กลายเป็นข้ออ้างของทหารโจรที่จะฆ่าประชาชนด้วย เหตุการณ์นี้และทุกอย่างที่เกิดจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้พลเมืองไทยจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามกับระบบกษัตริย์ ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยต้องการให้ระบบกษัตริย์สิ้นไปจากแผ่นดิน

หลายคนในสังคมไทยเข้าใจผิดว่านายภูมิพลวางแผนและสั่งการให้เกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ แท้จริงแล้วนายภูมิพลไม่เคยมีอำนาจแบบนี้และไม่มีปัญญาหรือความกล้าที่จะเป็นผู้นำด้วย หน้าที่ของกษัตริย์ภูมิพลคือการให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมเลวๆ ของทหารและอำมาตย์ นี่คือสาเหตุที่ทหารและอำมาตย์สร้างภาพว่านายภูมิพลเป็น “เทวดาศักดิ์สิทธิ์” การคลั่งกษัตริย์ของฝ่ายทหารและนายทุนเพิ่มทวีขึ้นหลังการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย ยุคหลังป่าแตก เพราะชนชั้นปกครองหัวเก่าต้องแข่งกับความชอบธรรมชุดใหม่ที่มาจากประชาธิปไตย เขาเลยเลือกสร้างความชอบธรรมที่มาจากการสร้างนิยายเรื่องภูมิพล ที่สำคัญคือพวกนั้นต้องการให้เราหลงเชื่อว่านายภูมิพลมีอำนาจล้นฟ้า เพื่อให้กษัตริย์เป็นหน้ากากปิดปังหน้าของเขาเอง

นอกจากการให้ความชอบธรรมกับการทำลายประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำอีก นายภูมิพลมีหน้าที่เสนอลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อคัดค้านการกระจายรายได้และแช่แข็งความยากจน โดยมีการเสนอว่าคนจนต้องมีความพึงพอใจในสถานภาพของตนเองท่ามกลางความร่ำรวยของคนใหญ่คนโต ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงไปได้สวยกับลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาดของพวกประชาธิปัตย์ ทีดีอาร์ไอ นายทุนใหญ่ และทหาร เพราะเป็นระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นต้องอดทนกับความจน” ทั้งสองแนวคิดนี้คัดค้านการใช้รัฐในการพัฒนาชีวิตประชาชน

ในช่วงท้ายของชีวิต ตั้งแต่นายประยุทธ์ทำรัฐประหารรอบใหม่ นายภูมิพลหมดสภาพ เกือบจะพูดไม่ออกและเดินไม่ได้ แต่สำหรับคนอย่างประยุทธ์ คนแก่นั่งรถเข็นน้ำลายยืด ยังใช้เป็นเครื่องมือได้เสมอ

นายภูมิพลใช้ชีวิตอันสุขสบายท่ามกลางนิยายโกหก มีการสร้างให้เขาเป็น “พ่อของชาติที่ทุกคนรัก” ทั้งๆ ที่ลูกหลานของเขาเองล้วนแต่ผิดปกติ โดยเฉพาะเจ้าฟ้าชายที่กดขี่สตรีและสนใจแต่ความสุขของตนเอง

มีการเสนอว่าภูมิพลเป็น “อัจฉริยะ” และมีการพูดว่านายภูมิพลมีชีวิต “เรียบง่าย” ผูกเชือกรองเท้าตัวเองได้ แต่ถ้าใครจะตั้งคำถาม เปิดโปงความจริง หรือวิจารณ์อะไรก็จะต้องโดนลงโทษอย่างหนักด้วยกฎหมายหมิ่นฯ 112

นายภูมิพลเป็นคนพิการในด้านความสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่น ชอบสังคมหมามากกว่าสังคมคน เมื่อเขาตายประชาชนไทยนับล้านคงหวังว่าสังคมและการเมืองเราจะพัฒนาและคืบหน้าสักที แต่คนที่คิดแบบนี้จะผิดหวัง เราจะไม่พบฟ้าสว่างหลังภูมิพลตาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดโดยอัตโนมัติ เรายังมีทหารเผด็จการและอำมาตย์อยู่ เราต้องทำลายอำนาจทหาร เราต้องสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ในระบบสาธารณรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ และเราต้องนำทรัพย์สินมหาศาลและวังต่างๆ ของราชวงศ์มาเป็นของประชาชน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า

จงเดินหน้าสู่สาธารณรัฐ  จัดตั้งขบวนการก้าวหน้าของมวลชน! ประชาชนจงเจริญ!

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/2cAODfC , http://bit.ly/24tv63k