โรเบิร์ต มูกาบี้ เกิดในครอบครัวยากจน แต่ด้วยความพยายามสามารถเดินทางไปเรียนในมหาวิทยาลัย ฟอร์ด แฮร์ ที่ประเทศอัฟริกาใต้ พอเรียนจบเขากลับมาที่ประเทศบ้านเกิดซึ่งตอนนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษที่เรียกว่า “โรดีเชียร์ใต้” ชื่อของประเทศตอนนั้นตั้งขึ้นตามชื่อโจรล่าอาณานิคม เซซิล โรดส์
ในยุคนั้นคนผิวขาวสองแสนกว่าคนมีสิทธิในการเลือกตั้งและครองอำนาจ ในขณะที่คนผิวดำห้าล้านคนไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไรเลย นอกจากนี้คนผิวขาวครอบครองที่ดิน 70% ของประเทศ โรดีเชียร์เป็นประเทศที่กดขี่คนผิวดำอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจากอัฟริกาใต้ในยุคเดียวกัน
พอ มูกาบี้ กลับมา เขาเข้าร่วมในขบวนการปลดแอกของคนผิวดำทันที เขามีส่วนสำคัญในการก่อตั้งพรรค Zimbabwe African National Union (Zanu) ในปี 1963 โดยแนวทางของพรรคคือการจับอาวุธเพื่อโค่นล้มชนชั้นปกครองผิวขาว เนื่องจากพรรค Zanu กลายเป็นพรรคผิดกฏหมายในสายตารัฐบาล มูกาบี้ต้องติดคุกหลายปี ในช่วงนั้นเขาสนใจและรับแนวการต่อสู้แบบ “สตาลิน-เหมา” จากจีน มาใช้เป็นแนวทางของพรรค
ในปี 1966 ลูกชายอายุ 3 ขวบของเขาเสียชีวิต และมูกาบี้ขออนุญาตไปงานศพ แต่นายกรัฐมนตรีเผด็จการผิวขาว เอียน สมิท ปฏิเสธ

การกดขี่ปราบปรามขบวนการปลดแอกโดยรัฐบาล ไม่สามารถจะคุมสถานการณ์ได้ และในปี 1978 รัฐบาลของ เอียน สมิท อยู่ในสภาพวิกฤต เพราะต้องรบกับขบวนการจับอาวุธใน 6 จุดทั่วประเทศ รัฐบาลขาดกำลังทหารจนต้องเกณฑ์ชายทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ไปรบ และต้องหาทหารรับจ้างมาเสริมอีก รัฐบาลหมดทางเลือกและต้องยอมเจรจา
ในปี 1974 มูกาบี้ ซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค Zanu ขณะที่ยังติดคุก ก็ถูกปล่อยเพื่อให้เข้าร่วมการเจรจาที่อังกฤษ ในกระบวนการเจรจานี้ หัวหน้าขบวนการคนผิวดำหลายคนพร้อมจะประนีประนอมและแชร์อำนาจทางการเมืองกับพรรคของ เอียน สมิท ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ มูกาบี้ ไม่ยอม เขายืนยันว่าประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย 100% และคนผิวดำต้องมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่
อย่างไรก็ตาม มูกาบี้ ยอมประนีประนอมในเรื่องการถือครองที่ดินของคนผิวขาว โดยตกลงว่าในสิบปีแรกจะไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ตอนนั้นเกษตรกรผิวขาวครอบครองที่ดินเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด
ในปี 1980 มูกาบี้ กลับเข้าประเทศ และมวลชนจำนวนมากก็มาต้อนรับ ต่อจากนั้นในการเลือกตั้งปีเดียวกันพรรคของ มูกาบี้ ก็ชนะเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาอย่างชัดเจน ซึ่งสร้างความหวาดกลัวในหมู่พวกเหยียดสีผิวและรัฐบาลตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ คนที่เคยถูกประณามว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศ “ซิมบาบวี”

ชื่อของประเทศใหม่นี้ตั้งตามโบราณสถานสำคัญที่พิสูจน์ว่าในอดีต ก่อนยุคล่าอาณานิคม ชาวอัฟริกาผิวดำมีอารยธรรมที่พัฒนาไปไกล แต่ประวัติศาสตร์นี้ถูกปกปิดโดยคนตะวันตกที่เข้ามาครอบครองประเทศ
รัฐบาลใหม่ของ มูกาบี้ ต้องบริหารประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เพราะพวกคนผิวขาวจงใจทำลายก่อนที่จะเสียอาจไป แต่ในไม่ช้าสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนผิวดำเริ่มดีขึ้น ทั้งในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และการเกษตร
อย่างไรก็ตามพวกเกษตรกรรายใหญ่ผิวขาว ก็ทำทุกอย่างเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวไร่ชาวนาผิวดำได้ที่ดินของตนเอง
ในด้านลบ รัฐบาลของมูกาบี้ ใช้กำลังทหารในการปราบปรามคู่แข่งทางการเมืองผิวดำในพรรคฝ่ายค้าน คาดว่าประชาชนในแคว้นเมธาบีลีแลนด์ถูกฆ่าตายไปสองหมื่นกว่าคน ตัวสำคัญในการปราบปรามครั้งนี้ นอกจาก มูกาบี้ คือ มันนึงกากูวา หรือ “นายจรเข้” ซึ่งพึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่โดยทหารเมื่อไม่นานมานี้เอง
กลางทศวรรษ80 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลก และวิกฤตนี้เริ่มมีผลกระทบร้ายแรงต่อซิมบาบวี ในปี 1991 อัตราตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ปริมาณสินค้าส่งออกตกต่ำ และซิมบาบวีก็หันไปพึ่งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก นี่คือจุดเริ่มต้นของ “สงครามกับคนจน” โดยรัฐบาลมูกาบี้ ในปี 1997-1998 มีการนัดหยุดงานทั่วไปหลายครั้ง และชุมชนต่างๆ ลุกฮือคัดค้านรัฐบาล จากนั้นก็มีการตั้งพรรคฝ่ายค้าน Movement for Democratic Change (MDC) ซึ่งในช่วงนั้นมีฐานเสียงสำคัญในขบวนการแรงงาน แต่ในยุคปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นพรรคฝ่ายขวาที่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี
ในปี 2000 มูกาบี้ จัดทำประชามติ เพื่อหวังเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับตนเอง แต่เขาแพ้การลงคะแนนรอบนั้น ต่อมาในปี 2002 และ 2008 มีการโกงการเลือกตั้งและใช้กำลังในการปราบปรามฝ่ายค้าน เพราะ มูกาบี้ กลัวว่าจะแพ้ กลุ่มที่ถูกปราบปรามหนักสุดคือกลุ่มสังคมนิยม IST ในขณะเดียวกัน มูกาบี้ พยายามเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมือง เพื่อหวังกลบลักษณะเผด็จการของตนเอง มีการรณรงค์ต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน และมีการส่งพวกทหารผ่านศึกไปยึดที่ดินของคนผิวขาว ซึ่งจริงๆ แล้วควรทำแต่แรก นอกจากนี้ มูกาบี้ และครอบครัวเริ่มสะสมทรัพย์สินมหาศาลด้วยการคอร์รับชั่น และมีการวางแผนให้เมียวัยสาวเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
จุดอ่อนของ มูกาบี้ ที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปจากผู้นำขบวนการปลดแอกประเทศไปเป็นทรราช คือการเมืองของที่เน้นการทำทุกอย่างจากเบื้องบน เช่นการจับอาวุธสู้ แทนที่จะอาศัยฐานอำนาจจากชนชั้นกรรมาชีพ การเมืองแบบนี้ทำให้เขาไม่สามารถต้านกระแสจักรวรรดินิยมที่เน้นนโยบายรัดเข็มขัดขององค์กรอย่าง ไอเอ็มเอฟ ได้ และต้องหันไปกดขี่ประชาชนชั้นล่างแทน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มคนที่เข้ามาครองอำนาจแทนทรราชมูกาบี้ หลังรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว ก็เป็นกลุ่มคนเดิมที่เคยอยู่รอบข้าง มูกาบี้ และมีทหารเข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ตอนนี้พวกเขาต้องการจะใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว และกอบโกยทรัพย์สินมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นอนาคตของเสรีภาพและประชาธิปไตยแท้อยู่ในมือของมวลชนกรรมาชีพ