Tag Archives: ยุโรป

วิกฤตการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ใช่วิกฤตสำหรับมาร์คซิสต์

ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปี 2008 การใช้มาตรการเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลพรรคกระแสหลักในประเทศต่างๆ ของยุโรป นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของพรรคกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป เพราะทุกพรรคส่งเสริมการโยนภาระการแก้วิกฤตไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือคนจำนวนมากเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่เข้ามาเสริมอีกคือความไม่พอใจกับมาตรการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอในการปกป้องประชาชนจากโควิด

ปรากฏการณ์นี้มีการตั้งชื่อว่าเป็น “การล่มสลายของการเมืองเสรีนิยมที่มีจุดยืนกลางๆ ระหว่างซ้ายกับขวา” เราต้องเน้นว่าแนว “เสรีนิยมกลางๆ” ดังกล่าว ที่ล่มสลายไป ไม่ใช่อะไรที่ก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นแนวที่ถือผลประโยชน์กลุ่มทุนเป็นหลัก มีการใช้เงินรัฐอุ้มกลุ่มทุน แต่ตัดสวัสดิการและระดับค่าจ้าง เพื่อจ่ายหนี้รัฐ และมีการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ซึ่งช่วยทำลายรัฐสวัสดิการ และเราต้องเน้นว่านโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคนายทุน และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ในทุกประเทศ เวลาเราพูดถึง “ฝ่ายซ้าย” เราไม่สามารถรวมพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูปในนั้น

แม้แต่ในประเทศที่พรรคกระแสหลักยังเป็นรัฐบาลอยู่ เช่นในเยอรมันกับอังกฤษ จะเห็นว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคนายทุนบวกกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ซึ่งเคยสูงถึง 80% กลับลดลงอย่างน่าใจหาย

มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3x298t6 ]

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3ntNBq8%5D

กรีซ

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งต่อจากนั้นพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อย สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก และผลคือสอบตก เพราะในสเปนพรรคโพเดมอสในที่สุดไปเข้ารัฐบาลกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูปและผลักดันแนวเสรีนิยมกลไกตลาด และในกรีซพรรคไซรีซาก็หักหลังประชาชนจนในที่สุดแพ้การเลือกตั้ง

ในกรณีฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้นำฝ่ายขวากระแสหลักที่สร้างพรรค “ใหม่”หลังจากการล่มสลายของพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มาครงมุ่งหน้าพยายามทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนผู้ทำงาน และทำลายสิทธิของสหภาพแรงงานจนเกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศกับการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง รัฐบาลของเขาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประชาชนธรรมดา แต่ตัว มาครง เองก็ใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อซื้อชุดกินข้าวหรูราคาเป็นแสน และสั่งสร้างสระว่ายน้ำในทำเนียบฤดูร้อน นอกจากนี้เขาพร้อมจะคบจับมือกับทรราชรอบโลก และใช้นโยบายเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ซึ่งไปให้กำลังใจกับพรรคฟาสซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

Le Pen ในฝรั่งเศส

ในอิตาลี่วิกฤตทางการเมืองไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่มีเรื่องการโกงกินคอร์รับชั่นเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม ท่ามกลางการล่มสลายของพรรคกระแสหลัก ซึ่งเราต้องรวมพรรคคอมมิวนิสต์ในนั้นเพราะแปรไปเป็นพรรคเสรีนิยม พรรคใหม่ๆ เช่นพรรคห้าดาว และพรรคฟาสซิสต์ก็เพิ่มคะแนนเสียง

ในเยอรมัน รัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุน CDU และพรรคสังคมประชาธิปไตย SPD เสียคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่องจนแนวร่วมระหว่างสองพรรคนี้พัง ขณะนี้พรรค SPD สร้างแนวร่วมกับพรรคกรีนเพื่อตั้งรัฐบาล แต่พรรคฟาสซิสต์ก็ขยายฐานเสียง ส่วนพรรคฝ่ายซ้าย Die Linke ที่เคยเพิ่มคะแนนหลังวิกฤตปี2008 มีปัญหาเพราะคะแนนเสียงลดลงอันเนื่องมาจากการทำแนวร่วมกับพรรคกระแสหลักในรัฐต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด

ในอังกฤษกระแสที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งในตอนแรกประชาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับนโยบายซ้ายๆ ของเขาจนเกือบชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นพวก สส.ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานกดดันให้เขาเปลี่ยนจุดยืนและเอียงไปทางขวา ซึ่งทำให้แพ้การเลือกตั้งในที่สุด [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3kQAZrq ]

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ข้อสรุปสำคัญสำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ จากวิกฤตการเมืองในยุโรปคือ ถ้าพรรคฝ่ายซ้ายไปประนีประนอมกับนโยบายทุนนิยมกลไกตลาดเสรี อย่างเช่นในกรีซ สเปน เยอรมัน หรืออังกฤษ มันจะนำไปสู่ความหายนะ และถ้าไม่มีการสร้างขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว พวกฟาสซิสต์มีโอกาสโตได้ ตัวอย่างที่แย่ที่สุดคือกรณีฝรั่งเศส ซึ่งต่างจากอังกฤษที่มีขบวนการดังกล่าว

การสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแนวมาร์คซิสต์ เป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกประเทศและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม คือวิกฤตโลกร้อน วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด ซึ่งนักการเมืองกระแสสหลักไม่มีวันแก้ปัญหาที่เกิดจากสามวิกฤตนี้ได้ เพราะยึดติดกับกรอบของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม สามวิกฤตของทุนนิยม https://bit.ly/2XKQ69L ]

ทุกวันนี้กระแสการต่อสู้และความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในทุกที่ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/30EsGaG  ] และนี่คือสิ่งที่สร้างความหวังให้กับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ โดยเฉพาะในเครือข่าย IST (International Socialist Tendency) เราไม่หดหู่เหมือนพวกที่หลงใหลในระบบการเลือกตั้ง หรือแนวเสรีนิยม เราเป็นนักปฏิวัติที่สู้เพื่อการปฏิรูปอย่างถึงที่สุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทำไมฝ่ายขวาฟาสซิสต์ในยุโรปเพิ่มคะแนนเสียง

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

ข่าวล่าสุดจากการเลือกตั้งในสวีเดนเมื่อต้นเดือนกันยายนรายงานว่าพรรค “ประชาธิปัตย์สวีเดน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากึ่งฟาสซิสต์ที่มีต้นกำเนิดจากพวกนาซี สามารถเพิ่มคะแนนเสียง 4.7% เป็น 17.6% จนกลายเป็นพรรคอันดับที่สามของประเทศรองจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคสายกลาง

สื่อหลายแห่งและพรรคประชาธิปัตย์สวีเดนเอง อ้างว่าเป็นเพราะสวีเดนรับผู้ลี้ภัยมา “มากเกินไป” แต่สาเหตุสำคัญที่แท้จริง เป็นเพราะรัฐบาลจากพรรคกระแสหลักในอดีต ได้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเพื่อค่อยๆ ทำลายรัฐสวัสดิการผ่านการรัดเข็มขัดและการเพิ่มบทบาทของบริษัทเอกชน มีการตัดอัตราภาษีที่เก็บจากบริษัท กลุ่มทุน และคนรวยอีกด้วย

การตัดสวัสดิการและการกดค่าแรงในสวีเดน เริ่มตั้งแต่วิกฤตการเงินในกลางทศวรรษที่ 90 และมาแรงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก 2008 ผลคือความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [ดู https://bit.ly/2p0LVFD ]

พรรคกึ่งฟาสซิสต์ของสวีเดนโฆษณาว่าประชาชน “ต้อง” เลือกระหว่างรัฐสวัสดิการและการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งเป็นคำโกหกเหยีดเชื้อชาติสีผิว และเป็นการสร้างแพะรับบาปในรูปแบบคนต่างชาติ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในวัยทำงาน ซึ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ และคุณภาพของรัฐสวัสดิการเพิ่มได้ถ้ามีรัฐบาลที่พร้อมจะเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากกลุ่มทุนและคนรวย และพร้อมจะเลิกการใช้นโยบายเสรีนิยม

คะแนนเสียงของพรรคกระแสหลักสวีเดนลดลง ทั้งๆ ที่มีการลอกแบบจุดยืนบางอย่างที่คัดค้านผู้ลี้ภัยจากพรรคประชาธิปัตย์สวีเดน ในขณะเดียวกัน “พรรคซ้าย” ซึ่งเป็นพรรคอดีตคอมมิวนิสต์ สามารถเพิ่มคะแนนเสียงโดยไม่ยอมจำนนต่อนโยบายที่เหยียดเชื้อชาติ

ผลของการขยับไปทางขวาของพรรคกระแสหลัก นอกจากจะไม่ช่วยกู้คะแนนแล้ว ยังมีผลในการทำให้นโยบายของพวกฟาสซิสต์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาประชาชนบางคน คำพูดเหยียดเชื้อชาติของ ดอนัลด์ ทรัมป์ และเงินสนับสนุนพวกฟาสซิสต์ในยุโรปที่มาจากพรรคพวกของทรัมป์ในสหรัฐ ก็มีส่วนช่วยด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนไม่ต่างจากปรากฏการณ์ในประเทศอื่นๆ ของยุโรป คือพรรคกึ่งฟาสซิสต์ ที่ประกอบไปด้วยแกนนำที่เป็นนาซี แต่สร้างภาพปลอมว่า “เคารพประชาธิปไตย” สามารถเพิ่มคะแนนเสียง พรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวาคะแนนลดลง ทั้งๆ ที่ขยับจุดยืนไปทางขวาและเริ่มโจมตีผู้ลี้ภัย จนจุดยืนของพวกฟาสซิสต์ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับในประชาชนหลายส่วนส่วน

skynews-germany-chemnitz-hitler_4403794
ฟาสซิสต์ในเมืองChemnitz

ในรัฐสภาเยอรมันตอนนี้มี สส. ที่เป็นนาซี และในเมือง Chemnitz เมื่อเดือนที่แล้ว หลังข่าวการแทงกัน มีการอาละวาดของอันธพาลนาซีที่เดินขบวนและทำร้ายคนสีผิวที่อยู่ในเมือง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกต่อต้านโดยมวลชนที่คัดค้านฟาสซิสต์

Chemnitz-assembly091118
ต้านฟาสซิสต์ที่ Chemnitz

รัฐบาลอิตาลี่ตอนนี้ประกอบไปด้วย “พรรคห้าดาว” และ พรรคLega ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และมีการกีดกันผู้ลี้ภัยที่กำลังจมน้ำในทะเลไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกันนั้นมีการส่งตำรวจไปปรามชาวโรมา (ยิปซี) และข่มขู่คนมุสลิมภายในประเทศ

_101876768_mediaitem101876767
Matteo Salvini ผู้นำพรรคกึ่งฟาสซิสต์ในอิตาลี่

รัฐบาลออสเตรียเป็นรัฐบาลพรรคแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยพรรคฟาสซิสต์ (ชื่อพรรคเสรีภาพ!)

ในเดนมาร์ครัฐบาลปัจจุบันอาศัยเสียงสนับสนุนจาก “พรรคประชาชนเดนมาร์ค” ซึ่งเป็นพรรคกึ่งฟาสซิสต์ และผลคือประเทศเดนมาร์คใช้กฏหมายคนเข้าเมืองโหดที่สุดและกีดกันผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง

marine-le-pen-fn-really-may-day-paris
Le Pen ในฝรั่งเศส

ในฝรั่งเศส “พรรคแนวร่วมชาติ” ของ Marine Le Pen ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “รวมตัวกันเพื่อชาติ” เป็นพรรคนาซี และ นางLe Pen ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

jobbik
อันธพาลพรรค Jobbik ในฮังการี่

ในฮังการี่ พรรค Fidesz ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ใช้นโยบายเหยียดมุสลิมและผู้ลี้ภัยอย่างเปิดเผย และในรัฐสภาฮังการี่ยังมี พรรค Jobbik ซึ่งเป็นพรรคฟาสซิสต์อย่างเปิดเผยที่ได้ 19% ของคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

ปัจจัยร่วมที่สำคัญซึ่งนำไปสู่สภาพแบบนี้ของการขึ้นมาของฝ่ายขวาสุดขั้วในยุโรปคือ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และการใช้นโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัด ที่กดค่าแรงและทำลายสวัสดิการ ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคกระแสหลักทั้งซ้ายและขวา บวกกับการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นและสร้างแพะรับบาปในรูปแบบผู้ลี้ภัยหรือคนมุสลิม

ในขณะเดียวกันเราไม่ควรมองข้ามการเพิ่มคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายบางพรรคที่ปฏิเสธนโยบายรัดเข็มขัดและการกีดกันผู้ลี้ภัย เช่นพรรคแรงงานอังกฤษของ Jeremy Corbyn  พรรคของ Jean-Luc Mélenchon ในฝรั่งเศส หรือพรรคซ้ายในเยอรมัน

วิธีที่จะคัดค้านกระแสเหยียดสีผิวและการขึ้นมาของฟาสซิสต์คือ ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างแนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวและฟาสซิสต์ เพื่อออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวของพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการสร้างแนวร่วมแบบนี้ในอังกฤษ เยอรมัน กรีซ และออสเตรีย สอง สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่คัดค้านนโยบายเสรีนิยมกับการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะในหมู่สหภาพแรงงาน

sutr080918_web
แนวร่วมต้านการเหยียดสีผิวในอังกฤษ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2OcScsD , https://bit.ly/2x7iyWm

 

วิกฤตทางการเมืองในยุโรป

ใจ อึ๊งภากรณ์

การลงคะแนนเสียง “ออก” ของประชาชนอังกฤษในประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกอียู(สหภาพยุโรป) เป็นเพียงหนึ่งบทในวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองของยุโรป แต่มันเป็นบทที่สำคัญ เพราะอังกฤษเป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป และเป็นศูนย์กลางทางไฟแนนส์ การธนาคาร และตลาดหุ้นที่สำคัญที่สุดในยุโรปอีกด้วย นอกจากนี้ในเรื่องกำลังทหาร อังกฤษมีบทบาทสูงสุดในอียู และใช้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา เพื่อหนุนกองทัพของยุโรปและ “นาโต้” ดังนั้นอำนาจทางทหารของยุโรปจะอ่อนแอลงระดับหนึ่ง

แง่หนึ่งของวิกฤตยุโรปมาจากการทำสงครามจักรวรรดินยมโดยสหรัฐ อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรป สงครามในตะวันออกกลางดังกล่าว ทำให้มีผู้ลี้ภัยสงครามจำนวนมาก และคนเหล่านี้พยายามเข้ามาในอียู ซึ่งสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับหลายรัฐบาล และเป็นโอกาสทองสำหรับพวกฝ่ายขวาที่เกลียดคนต่างชาติ

การออกจากอียูของอังกฤษสร้างปัญหาให้กับชนชั้นปกครองสหรัฐ เพราะสหรัฐพึ่งพาอังกฤษในแง่ของการเป็นพันธมิตรที่ดี เพื่อเพิ่มอิทธิพลของสหรัฐในยุโรป สหรัฐเองเป็นประเทศที่ผลักดันให้มีการรวมตัวกันของประเทศในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นแนวร่วมต้านรัสเซีย

ในปัจจุบันสหรัฐพยายามทำข้อตกลงค้าเสรีกับอียู ซึ่งเป็นการผลักดันแนวกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทอย่างเสรีในภาคสาธารณสุขและการบริการประชาชน สัญญาค้าเสรีอันนี้เป็นภัยต่อคนธรรมดามาก แต่การโหวดออกจากอียูของอังกฤษทำให้การตกลงในสัญญาการค้าอันนี้ต้องเลื่อนออกไป

ผลของการโหวดออกของอังกฤษในครั้งนี้ จะสร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญให้กับสหราชอาณาจักร เพราะในประเทศสก็อตแลนด์กับไอร์แลนด์ จะมีกระแสเรียกร้องให้แยกตัวออกจากอิงแลนด์ เรื่องนี้เป็นเรื่องดีสำหรับฝ่ายสังคมนิยม เพราะเราไม่ต้องการปกป้องรัฐอังกฤษ และถ้ารัฐอังกฤษ ในฐานะประเทศจักรวรรดินิยม อ่อนแอลงมากกว่านี้ ก็จะเป็นเรื่องดีสำหรับชนชั้นกรรมาชีพในทุกประเทศอีกด้วย

สำหรับยุโรป ผลของการโหวดออกจะสร้างกำลังใจให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ไม่พอใจกับอียู และไม่พอใจกับพรรคกระแสหลักมานานท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ สถานการณ์จึงอยู่ในสภาพคาราคาซัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นฝ่ายซ้ายในกรีซได้กำลังใจจากการโหวดออกจากอียูของประชาชนอังกฤษ

[อ่านเพิ่ม http://bit.ly/293ZpqO ]

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้วพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อปลายมิถุนายน แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อยในการเลือกตั้งล่าสุด สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/293hWr1]

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก ซึ่งแปลว่านักสังคมนิยมต้องถกเถียง สนใจทฤษฏี และเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ ตลอดเวลา เพราะแรงกดดันจากฝ่ายทุนต่อนโยบายสังคมนิยมจะรุนแรงมาก

ในฝรั่งเศส การนัดหยุดงานทั่วไปของสหภาพแรงงานเพื่อต้านกฏหมายที่ทำลายมาตรฐานการจ้างงานของรัฐบาลพรรคสังคมนิยมจอมปลอม เพื่อเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุนตามนโยบายเสรีนิยม เป็นเครื่องเตือนใจว่าผู้ที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพแท้จริงของประชาชน คือสหภาพแรงงานที่กล้าสู้  มันไม่ใช่รัฐบาลของพรรคฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่รัฐสภาและละเลยขบวนการเคลื่อนไหวภายนอก พูดง่่ายๆ นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องเน้นพลังกรรมาชีพและสร้างพรรคสังคมนิยมที่เชื่อมการเมืองก้าวหน้ากับการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม

ในอังกฤษกระแสสำคัญอันหนึ่งที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งเป็นสส.ซีกซ้ายของพรรค แต่สส.ซีกขวากำลังพยายามล้มคอร์บิน ทั้งๆที่เขาได้รับเสียงสนับสนุนมหาศาลจากมวลชน ดังนั้นถ้าไม่มีการปลุกระดมนักสหภาพแรงงานและมวลชนทั้งในและนอกพรรค คอร์บินอาจถูกล้มได้

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ที่น่าสนใจคือมีปรากฏการณ์ “สลิ่มอังกฤษ” ที่ออกมาเรียกร้องให้จัดประชามติใหม่ เพราะไม่พอใจกับผลที่พึ่งออกมา พวกนี้จะมองคนที่โหวดออกด้วยความดูถูกว่า “จน โง่ ขาดการศึกษา และเหยียดเชื้อชาติ”

ประชามติครั้งนี้จัดขึ้นโดยรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ผลประโยชน์กลุ่มทุนอังกฤษส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ต่อไปในอียู แต่พรรคอนุรักษ์นิยมซีกขวาสุดฝันว่าจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของอังกฤษในอดีต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หลังประชามติพรรคอนุรักษ์นิยมจึงแตกเป็นสองซีกอย่างรุนแรง และนายกรัฐมนตรีคามารอนต้องประกาศลาออก

วิกฤตในยุโรปที่เราเห็นอยู่ เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008 มันเป็นวิกฤตระดับโลกที่มาจากการลดลงของอัตรากำไรที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/129xlhF ] ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจนี้สร้างวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองต่อ และมันโยงกับสภาพสงครามในตะวันออกกลางด้วย มันพิสูจน์ว่าเศรษฐศาสตร์กับการเมืองแยกกันไม่ได้ เราไม่ควรเข้าใจผิดว่าความปั่นป่วนในยุโรปเป็นเรื่องของความคิดชาตินิยมที่ฝังลึกอยู่ในใจคน หรือเข้าใจผิดว่าอังกฤษเป็นกรณีพิเศษ ถ้าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องดูภาพรวมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามแนววิเคราะห์ “วิภาษวิธี” เพราะถ้าเรามองแยกส่วน และเล็งไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจะไม่มีวันเข้าใจอะไร