ใจ อึ๊งภากรณ์
ถ้าเราจะเข้าใจว่าทำไมนักมาร์คซิสต์นิยามรัฐรวมศูนย์ภายใต้การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นรัฐทุนนิยม เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับศัพท์สำคัญทางรัฐศาสตร์สองคำคือ “ทุนนิยม” และ “รัฐ”
ทุนนิยม
ในหนังสือ ว่าด้วยทุน คาร์ล มาร์คซ์ ได้นิยามระบบทุนนิยมว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญที่พอจะสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้คือ
เงิน → สินค้า → เงิน…. (หมุนเวียนไปเรื่อยๆ)
ซึ่งถ้าเราจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ มีการลงทุน(ด้วยเงิน) เพื่อผลิตสินค้า เพื่อขายให้ได้เงินทุนกลับมา เพื่อลงทุนต่อไป…. และแน่นอนไม่มีใครจะมาลงทุนเพื่อได้ทุนกลับมาเท่าเดิม ต้องมีการเพิ่มมูลค่าของทุนในรูปแบบกำไร ที่มาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานของลูกจ้างผู้ผลิตสินค้านั้นๆ
ระบบเศรษฐกิจในยุครัชกาลที่ ๕ มีแนวโน้มไปในรูปแบบการลงทุนเพื่อการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของระบบทุนนิยมมากกว่าระบบศักดินา
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งกับระบบทุนนิยมก็คือ ต้องมีการจ้างแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อได้มาซึ่งมูลค่าส่วนเกินหรือกำไร แต่แรงงานรับจ้างเป็นแรงงานที่เลือกที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ เรียกว่า “แรงงานเสรี” ต่างจากแรงงานบังคับของไพร่และทาสในระบบศักดินา และถ้ามีแรงงานรับจ้างก็ต้องมีชนชั้นนายทุนผู้เป็นนายจ้าง นี่คือที่มาของการเลิกทาส เลิกไพร่
เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญสำหรับการรองรับอำนาจของนายทุน คือความสามารถในการคุมระบบการผลิต โดยการคุมปัจจัยการผลิตและทุน ส่วนลักษณะ รูปร่าง ยศศักดิ์ ของนายทุนเป็นเรื่องรอง ดังนั้นชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยมจะมีหลายรูปแบบเช่น นายทุนเอกชน นายทุนรัฐข้าราชการ หรือนายทุนกษัตริย์ ก็ได้
คาร์ล มาร์คซ์ ในงานเขียนเกี่ยวกับอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสมัยกษัตริย์ เฮนรี่ที่ ๘ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ปกครองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “ลักษณะตำแหน่งยศศักดิ์ของเฮนรี่และที่ดินของผู้ครองที่ดินรายใหญ่ในสมัยนั้น มีลักษณะแบบทุนนิยม ไม่ใช่แบบฟิวเดิล” ลักษณะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยก็มีลักษณะทุนนิยมเช่นเดียวกัน และมีนักวิชาการหลายคนยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนการทำธุรกิจนายทุนโดยใช้พระคลังข้างที่ หรือ สถาบันทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นหน่วยธุรกิจ
ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า:
“พระองค์ทรงนำประเทศไทยในฐานะเป็นพระมหากษัตริย์นักธุรกิจ …
กล่าวคือพระองค์ทรงเข้าร่วมลงทุน โดยผ่านพระคลังข้างที่ กับนักลงทุน
ชาวต่างประเทศ และลงทุนกิจการอสังหาริมทรัพย์อย่างแข็งขัน… ลงทุน
ซื้อขายที่ดิน พัฒนาที่ดินย่านการค้าสำคัญเป็นตลาดหลวง และต่อมาเป็น
ตลาดพระคลังข้างที่ ทั้งยังทรงลงทุนสร้างห้องแถว”
ในคำจำกัดความของคำว่า “รัฐ” ของ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขาได้อธิบายว่า “อำนาจของรัฐสมัยใหม่ เป็นแต่เพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นนั้นเอง” ส่วน เลนิน อธิบายเพิ่มในหนังสือ รัฐกับการปฏิวัติ ว่า “รัฐเป็นเครื่องมือสำหรับขูดรีดชนชั้นผู้ถูกกดขี่” โดยที่รัฐใช้อำนาจในรูปแบบกองกำลังพิเศษของผู้ติดอาวุธ ทหารและตำรวจ คุก และศาล
นักวิชาการมาร์คซิสต์ชื่อ ฮาร์แมน จากอังกฤษได้กำหนดภาระหน้าที่หลักของรัฐทุนนิยมไว้ดังนี้
- การจัดสรรแรงงานเสรีที่มีการศึกษาและฝีมือเพื่อเป็นแรงงานรับจ้าง
- การจัดสรรกฏหมายธุรกิจ กฏหมายกรรมสิทธิ์ และระบบเงินตรา ที่เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ
- ปกป้องธุรกิจของนายทุนภายในประเทศจากการแข่งขันจากธุรกิจภายนอก และปัญหาการล้มละลาย
- จัดสรรกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องผลประโยชน์นายทุน
จากงานการวิจัยของ ไชยันต์ รัชชกูร เรื่องระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้รัชกาลที่ ๕ เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติรัฐที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น มีผลต่อความสามารถในการรับภาระหน้าที่ทั้งสี่ประการของรัฐทุนนิยม
รัฐรวมศูนย์ของรัชกาลที่ ๕ จึงมีกฏเกณฑ์เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ทั่วประเทศและเป็นการสร้าง “รัฐชาติ” ของ “ประเทศไทย” เป็นครั้งแรก
การปฏิวัติทุนนิยม (Bourgeois Revolution) แบบนี้ ที่นำโดยชนชั้นปกครอง ในสถานการณ์ที่อำนาจภายนอกเข้ามาคุกคาม เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันในญี่ปุ่นสมัยการปฏิวัติเมจิ (Meiji Restoration) และถึงแม้ว่าไม่ใช่การปฏิวัติจากส่วนล่างของสังคม อย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษหรือฝรั่งเศส แต่มีผลเหมือนกันคือเป็นการปูทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยม
การปฏิวัติของชนชั้นนายทุนกระฎุมพีในไทย กระทำขึ้นก่อนหน้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กว่า 60 ปี โดยเป็นการกระทำของรัชกาลที่ ๕ และการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการทำลายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบทุนนิยมที่รัชกาลที่ ๕ เคยสร้างขึ้น เพื่อเดินหน้าต่อไปและสร้างระบบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญภายใต้ทุนนิยม
อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ