Tag Archives: รัฐกับการปฏิวัติ

รัฐกับการปฏิวัติ ทำไมเราต้องปฏิวัติ

รัฐ คืออะไร? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบเผด็จการ? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบประชาธิปไตย? นี่คือประเด็นที่นักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจ

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน และ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” ของ มาร์คซ์ เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมภายใต้ทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มีพวกชนชั้นปกครองดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย และการกำจัดพวกนี้จะอาศัยแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นไม่พอ เพราะ “รัฐ” มันมากกว่าแค่รัฐบาล

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติเลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”    เลนิน ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” และรัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือหัวหน้า CPเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ นักการเมืองผู้ใหญ่ และนายทุนเอกชน

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร

สังคมทุนนิยมในปัจจุบัน และสังคมศักดินาในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมชนชั้น คือคนส่วนน้อยปกครองและขูดรีดคนส่วนใหญ่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ที่อาจเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ได้ ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราจึงต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐ หรือที่ เลนิน เรียกว่าเป็นการ “สิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์กำหนดอนาคตตนเองในชุมชนต่างๆ อย่างเสรี

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐ อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ (๑) อาศัยกองกำลังและการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่ง เองเกิลส์ และ เลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก กับ(๒) อาศัยการสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐ เพื่อให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือน “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ กระทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน ศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมกล่อมเกลาทางความคิด

เองเกิลส์ อธิบายว่ารัฐไหนสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นกลางได้ดีที่สุด รัฐนั้นสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างแนบเนียนที่สุด นี่คือสาเหตุที่นักวิชาการที่รับใช้ชนชั้นปกครองมักเสนอตลอดว่า “รัฐเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใคร และด่าแนวมาร์คซิสต์ว่า “ตกยุค”

ในยุคนี้รัฐไทยเผยธาตุแท้ว่าเป็นรัฐเผด็จการและเป็นศัตรูของประชาชน จึงครองใจพลเมืองยากขึ้น แต่ในอนาคตเขาจะพยายามสร้างภาพว่าเป็นกลางอีกครั้ง

ทุกวันนี้เราต้องสู้ทางความคิดเพื่อทำลายความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง ตรงนี้เราจะได้เปรียบในแง่หนึ่ง เพราะการหาความชอบธรรมของชนชั้นปกครองย่อมอยู่บนพื้นฐานการโกหกหลอกลวงเสมอ เข้าใจได้ง่าย เพราะชนชั้นปกครองมีผลประโยชน์ตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกปกครอง ดังนั้นข้อสรุปสำคัญคือ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่ไปประนีประนอมกับความคิดชนชั้นปกครองโดยกลัวว่าคนส่วนใหญ่ “ยังไม่พร้อม” จะรับความคิดใหม่ นี่คือ “สงครามจุดยืน” ที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่เคยพูดถึง สำหรับกรัมชี่มันมีสงครามสองชนิดที่เราต้องทำคือ “สงครามจุดยืน” และ “สงครามขับเคลื่อน” –การเผชิญหน้า ปฏิวัติ และล้มรัฐเก่านั้นเอง

ถ้าเราจะทำสงครามจุดยืน มันแปลว่า เราทุกคนที่อยากร่วมในการต่อสู้ ต้องสร้างตัวขึ้นมาเป็น “อาจารย์” หรือสิ่งที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ปัญญาชนอินทรีย์” คือนักคิดติดดินที่เลือกข้างประชาชนคนจน และกรรมาชีพนั้นเอง ถ้าใครคิดว่าจะพัฒนาตนเองเป็นอาจารย์ไม่ได้ ก็ลองดูพวกอาจารย์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตามมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน พวกนี้มีอคติกับคนจนที่รักประชาธิปไตย และเขาพร้อมจะโกหกบิดเบือนทฤษฏีต่างๆ เพื่อปกป้องคนรวยและอภิสิทธิ์ชน  การกระทำของเขาไม่ใช่การใช้ปัญญาอะไรหรอก มันเป็นการเอาผลประโยชน์ชนชั้นตนเองมานำทุกอย่าง

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองในทุกสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รวมถึงไทยและที่อื่น เป็นส่วนหนึ่งของ “อำนาจพิเศษสาธารณะ” นี่คือสาเหตุที่ในประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตย บ่อยครั้งรัฐบาลพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจต้องยอมอ่อนน้อมต่อนายทุนใหญ่หรือข้าราชการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

การทำลายอำนาจชนชั้นปกครองจึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยอมรับผลของการเลือกตั้งเท่านั้น การกำจัดชนชั้นปกครองต้องอาศัยการปฏิวัติล้มรัฐเก่าในทุกแง่ เพื่อสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “รัฐกรรมาชีพ” ซึ่ง มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ เพราะมันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่ที่มีองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงาน… เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพราะประชาธิปไตยแท้ต้องไม่มีอภิสิทธิ์ชน และต้องไม่มีนายทุนที่เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจในสถานที่ทำงานและระบบการผลิตอีกด้วย

ในระยะยาวการที่เราต้องปฏิวัติ ไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวันในสังคม หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรัฐสภาในระบบทุนนิยม การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมทุนนิยม เป็นสิ่งที่นักมาร์คซิสต์เช่น โรซา ลัคแซมเบอร์ค มองว่าสำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ มันช่วยให้เรามีสื่อและสิทธิในการแสดงออก และที่สำคัญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายในระบบทุนนิยม จะผลักดันชนชั้นปกครองจนเขาไม่กล้ามาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพมากเกินไป มันทำให้ชนชั้นปกครองลำบากมากขึ้นในการใช้อำนาจเพราะต้องหลบไปในมุมมืดและแอบใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจของเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนลับหลัง ซึ่งเป็นสภาพสังคมที่เห็นในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐ

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบาย…ในหนังสือ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าการต่อสู้ประจำวันเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมเพื่อการปฏิวัติที่จะล้มและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต แต่สำหรับคนที่เสนอให้ “ค่อยเป็นค่อยไป” นั้น เธออธิบายว่าพวกนี้จะเป็นคนที่ต้องการประนีประนอมกับรัฐเก่าเสมอ

รัฐทุนนิยมปกป้องการขูดรีด

รัฐทุนนิยมจะปกป้องกฎหมายและระบบศาลที่ให้ประโยชน์กับนายทุนในการขูดรีด การ “ขูดรีด” หมายถึงการที่นายทุนไม่กี่คน สามารถยึดมูลค่าทั้งหมดที่คนงานทั้งหลายสร้างขึ้นมาจากการทำงาน มันเป็นระบบการขูดรีดแบบแอบแฝง ไม่เหมือนสมัยก่อนทุนนิยมที่ขุนนางส่งทหารมาบังคับให้เราทำงาน หรือบังคับให้เราส่งภาษี มันดูเหมือนว่าไม่มีใครบังคับเรา แต่ในความเป็นจริง คนที่ทำงานในระบบทุนนิยมไม่มีทางเลือกอะไร เพราะถ้าไม่ทำงานก็อดตาย ที่สำคัญคือ…..

การเปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่สามารถกำจัดระบบขูดรีดของนายทุนได้

ความมั่นใจในตนเอง

การต่อสู้ของมวลชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจกับทุกคนว่าเราสามารถเปลี่ยนสังคมได้ มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าในระบบทุนนิยม เราจะถูกสอนให้คิดว่าเราด้อยกว่าชนชั้นปกครอง “เราไม่มีความสามารถ และเราต้องจงรักภักดีต่อเขาเสมอ” ชนชั้นปกครองใช้สื่อ โรงเรียน และศาสนาในการกล่อมเกลาเราเรื่องนี้ แต่ มาร์คซ์ และนักมาร์คซิสต์ชาวฮังการี่ชื่อ จอร์ช ลูคักส์ อธิบายว่าถ้าจะแก้ไขสภาพเช่นนี้ เราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ ต้องเสริมความมั่นใจซึ่งกันและกัน และท่ามกลางการต่อสู้เราจะตาสว่างถึงคำหลอกลวงของชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตามถ้าจะให้การต่อสู้มีพลัง นอกจากจะต้องมีมวลชนแล้ว ยังต้องจัดระบบความคิดและจัดตั้งมวลชนผ่านการสร้างพรรคปฏิวัติ

มาทำความเข้าใจกับรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย

แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล

บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”

แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์กำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหารข้าราชการชั้นสูง รวมถึงศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง

จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควรเป็นกลางและยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าทักษิณจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุนใหญ่ ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคต่างๆ ของทักษิณ โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน และจะไม่ได้อยู่ในมือของตัวแทนกรรมาชีพและคนจนในรัฐสภาเลย และถ้ารัฐบาลของพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน พยายามจะกำจัดอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐบาลนั้นจะถูกโค่นล้มโดยชนชั้นปกครอง

หนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจกับเนื้อแท้ของรัฐไทยภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน [ดู http://bit.ly/1QPRCP6 ]

เลนินอธิบายว่ารัฐไม่เคยเป็นกลาง และเป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นนายทุนในการกดขี่ชนชั้นล่าง ดังนั้นการที่พรรคของกรรมาชีพจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่าชนชั้นนายทุนจะมือไม้อ่อนยอมโอนอำนาจให้กรรมาชีพ ตรงกันข้ามรัฐจะพยายามทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศไม่ได้

กรรมาชีพจะใช้รัฐปัจจุบันในการปกครองในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะรัฐทุนนิยมปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อไม่ให้ประชาชนเป็นใหญ่แต่แรก

จริงๆ แล้ว ระบบการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้รัฐทุนนิยมเป็นวิธีการที่จะสร้างภาพในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะถ้าจะสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ต้องมีการฝืนกฏหมายและกติการที่ถูกสร้างไว้โดยนายทุน เพื่อยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวม และยึดอำนาจทหาร ตำรวจ และศาล มาเป็นของประชาชน ซึ่งแปลว่าต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน และมีประชาธิปไตยแท้ผ่านสภาต่างๆ ในสถานที่ทำงานและในท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ คือประชาชนธรรมดาต้องมีอำนาจโดยตรงในการกำหนดทุกอย่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น

สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ ซึ่งแปลว่าเราต้องพร้อมจะจัดตั้งองค์กรหรือพรรคของคนชั้นล่างที่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าแค่ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงในอดีต

เลนินกับนิยามของ “อำนาจ”

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมกับอาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ถกเถียงกันเรื่อง “อำนาจ” ของกษัตริย์ไทย ทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๙ และ ในสมัยรัชกาลที่ ๑๐

ผมเสนอมานานแล้วกษัตริย์ไทยไม่มีอำนาจในการสั่งการ ไม่สามารถสั่งให้ทหารยิงประชาชน ไม่สามารถสั่งให้มีการทำรัฐประหาร และไม่สามารถสั่งการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจได้ ผมเสนอว่าทหารและชนชั้นปกครองอื่นๆ มักใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความชอบธรรมในสิ่งที่พวกนี้ทำต่างหาก

ส่วน อ. สมศักดิ์ เสนอว่าเราต้องเข้าใจ “อำนาจ” ในแง่ที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการอะไร แต่เป็นอิทธิพลทางความคิดในสังคมมากกว่า เขาจึงเชื่อว่าในยุคท้ายๆ หลังพฤษภา ๓๕  กษัตริย์ภูมิพลมีอำนาจมากที่สุดในหมู่ชนชั้นปกครองไทย

สำหรับผม เรื่องนี้มีความสำคัญในแง่ที่เราต้องเข้าใจว่ามันมีอำนาจอะไรที่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมันมีความสำคัญในการตั้งเป้าในการล้ม “อำนาจ” ของเผด็จการ ดังนั้นการพูดลอยๆ ว่ากษัตริย์ภูมิพลเคยมีอำนาจสูงสุด เพราะมีบารมีหรืออะไรทำนองนั้น โดยไม่สนใจว่าอำนาจนี้สั่งการอะไรได้หรือไม่ ผมมองว่าเป็นคำพูดนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ และใช้ในการออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อการปลดแอกสังคมไทยไม่ได้อีกด้วย

แน่นอนมันมีสิ่งที่เรียกว่า “ลัทธิ” ความคิด ที่หลากหลายและดำรงอยู่ในสังคม บางลัทธิความคิด เช่นลัทธิชาตินิยม หรือลัทธิเชิดชูกษัตริย์ เป็นลัทธิล้าหลังที่ปกป้องเผด็จการ แต่ “ลัทธิ” ไม่ใช่ “อำนาจ”

ลัทธิมันช่วยให้ความชอบธรรมหรือหนุนเสริมอำนาจ ถ้าพลเมืองจำนวนมากคล้อยตามลัทธิดังกล่าว และเราน่าจะหนีไม่พ้นข้อสรุปว่าลัทธิกษัตริย์นิยมในไทย หนุนเสริมอำนาจของทหาร

ในเรื่อง “อำนาจ” มันมีข้อแตกต่างระหว่างนิยามของ “อำนาจ” ตามแนวคิดของฟูโก้ (Foucault) นักปรัชญาฝรั่งเศส กับแนวคิดของเลนิน นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซีย

ฟูโก้ เสนอว่า “อำนาจ” มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั่วทุกส่วนของสังคม เมื่อมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่นความไม่เท่าเทียมทางอำนาจระหว่างครูใหญ่กับครูธรรมดา ระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างผู้บริหารโรงพยาบาลกับพยาบาล หรือระหว่างหมอในโรงพยาบาลกับลูกจ้างธรรมดาอย่างผมเป็นต้น และฟูโก้เสนอว่าถ้าเราจะเข้าใจอำนาจแบบนี้เราต้องดูความคิดที่ท้าทายหรืออยู่ตรงข้ามกับอำนาจแต่ละอำนาจ เขาพูดถึงระบบ “อำนาจทางความรู้” ในสังคมที่ครอบงำเรา

ในแง่หนึ่งสิ่งที่ฟูโก้บรรยายก็มีจริง คือความไม่เท่าเทียมทางอำนาจในหลากหลายรูปแบบนี้ดำรงอยู่จริง และมันไม่ใช่สิ่งที่ เลนินหรือนักมาร์คซิสต์จะปฏิเสธ แต่ประเด็นที่เราต้องสนใจมากที่สุดคืออำนาจต่างๆ ที่หลากหลาย มันมีความสำคัญไม่เท่ากัน เพราะถ้าเราจะปฏิวัติเพื่อทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อุปสรรคหลักคือ “อำนาจรัฐ” ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานชนชั้นนายทุน และอำนาจนั้นมาจากการครอบครองและควบคุมปัจจัยการผลิตในสังคม มันเป็นอำนาจวัตถุนิยมที่จับต้องได้ และเป็นอำนาจรูปธรรมที่อาศัยกลุ่มคนถืออาวุธ กฏหมาย คุกและการครองสื่อ นี่คือลักษณะอำนาจรัฐในทุกประเทศทั่วโลกภายใต้ระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน รวมถึงไทยด้วย

นี่คือสาเหตุที่เลนินสนใจอำนาจรัฐเป็นหลัก

กลุ่มคนที่ควบคุมอำนาจรัฐ อาจแย่งชิงอำนาจกันเอง แต่อำนาจรัฐมีความสำคัญเพราะมันนำไปสู่ความสามารถในการก่อรัฐประหาร หรือปกป้องรัฐบาลทหารเผด็จการ คนที่ล้มประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ คนที่ทำลายการปฏิวัติอียิปต์ หรือคนที่ปราบปรามเสื้อแดง ไม่ใช่ครูใหญ่ ผู้บริหารโรงพยาบาล หรือหมอในโรงพบาบาล แต่เป็นคนที่คุมอำนาจรัฐ

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นอำนาจในการสั่งการอย่างเป็นรูปธรรม และถ้าเราจะล้มอำนาจนี้เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติที่ยืนอยู่บนรากฐานมวลชนกรรมาชีพผู้ทำงาน

บทความนี้อาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.

อ่านเพิ่ม “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน http://bit.ly/1QPRCP6

ทำไมพรรคสังคมนิยมแพ้การเลือกตั้งในเวเนสเวลา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคสังคมนิยมที่ ฮูโก ชาเวส เคยตั้งขึ้น พึ่งแพ้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเวเนสเวลา โดยที่ฝ่ายขวาชนะขาดลอย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือพรรคฝ่ายขวาที่ตอนนี้มีเสียงส่วนใหญ่เกินสองในสามของที่นั่งทั้งหมด และสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นพวกที่เคยพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้ม ชาเวส ในปี 2002 ทั้งๆ ที่ ชาเวส ได้รับการเลือกตั้งหลายครั้งผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และก่อนหน้านั้นพวกฝ่ายขวาเหล่านี้เคยฆ่าประชาชนตายอย่างเลือดเย็น 2000 คนเพื่อปราบปรามการลุกฮือ “คาราคาโซ” ในปี 1989 การลุกฮือครั้งนั้นเป็นการกบฏของคนจนต่ออำมาตย์และชนชั้นกลางที่ผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ และการเมือง เวเนสเวลา เป็นประเทศในลาตินอเมริกาที่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมัน แต่ในอดีตผลประโยชน์ตกอยู่กับอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนทั้งสิ้น

ฮูโก ชาเวส เป็นสมาชิกกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ไม่พอใจกับระบบการปกครองของอำมาตย์ พวกเขาต้องการพัฒนาสังคมและการนำรายได้จากน้ำมันมาลดความเหลื่อมล้ำ เขามองด้วยว่าจักรวรรดินิยมสหรัฐมีอิทธิพลในประเทศเขามากเกินไป ในปี 1992 ชาเวส จึงพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ เลยติดคุกสองปี อย่างไรก็ตามประชาชนที่เจ็บปวดจากการปราบปรามของรัฐบาลในปี 1989 หันมาสนใจ ชาเวส

ต่อมาในปี 1998 ชาเวสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และชนะด้วย 58% ของคะแนนทั้งหมด หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีกลไกตรวจสอบนักการเมือง มีการเพิ่มงบประมาณรัฐให้โรงเรียนและลดบทบาทสถาบันศาสนาคริสต์ที่เคยสนับสนุนอำมาตย์ สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้ง มีมาตราเพื่อปฏิรูปสื่อและปฏิรูปอุตสาหกรรมน้ำมัน ปรากฏว่า 71% ของประชาชนสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ หลังจากนั้น ชาเวส ชนะการเลือกตั้งอีกสามรอบในปี 2000 2006 และ 2012

ในปี 2013 ชาเวส ป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต นิโคลัส มาดูโร จากพรรคสังคมนิยมก็ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน โดยมีการเลือกตั้งพิเศษในต้นปีเดียวกัน

ถ้าเราจะเข้าใจสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มหันหลังให้พรรคสังคมนิยม เราจะต้องย้อนกลับไปดูปัญหาของรัฐบาลตั้งแต่สมัย ชาเวส ปัญหาหลักคือ ถึงแม้ว่า ชาเวส จะได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นคนจน และมวลชนพร้อมจะออกมาปกป้องเขาเมื่อมีรัฐประหาร แต่โครงสร้างรัฐอำมาตย์เก่ายังอยู่ และพยายามทุกวิธีที่จะคัดค้านนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้นายทุนฝ่ายค้านก็คุมสื่อเอกชนส่วนใหญ่ และมีการประโคมข่าวเท็จด่ารัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ในระดับหนึ่ง ชาเวส พยายามสร้างรัฐใหม่คู่ขนานกับรัฐเก่าโดยอ้างว่ากำลังทำ “การปฏิวัติสังคมนิยม” เช่น มีการสร้างสภาชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนรากหญ้า มีธนาคารชุมชนเพื่อเน้นการลงทุนสำหรับคนจน มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่สนับสนุนอำมาตย์ และในบางสถานที่มีการทดลองให้กรรมกรคุมการผลิตเอง ทั้งหมดนี้เพื่อจะลดการพึ่งพาอาศัยข้าราชการและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รื้อถอนรัฐเก่าอย่างเป็นระบบเลย และมีการเน้น “การนำเดี่ยวของประธานาธิบดี” แทนการนำโดยมวลชน ชาวเส คงไม่ได้อ่านและทำความเข้าใจกับหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของเลนิน

ยิ่งกว่านั้น ชาเวส มองว่าเผด็จการ “คอมมิวนิสต์แบบสตาลิน” ของ คิวบา เป็นแม่แบบในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่า ชาเวส จะเน้นการนำพรรคพวกของเขาเข้าไปเป็นข้าราชการในโครงสร้างรัฐเก่า แทนที่จะเน้นพลังมวลชนในการรื้อถอนทำลายรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ และข้าราชการหลายคนของชาเวส กลายเป็นคนโกงกินที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้

หลังจากที่ ชาเวส จากโลกนี้ไป รัฐบาลของ นิโคลัส มาดูโร ยิ่งเปรอะเปื้อนในการคอร์รับชั่นมากขึ้น และมีการร่วมกินกับนายทุนที่ค้านรัฐบาล ปัญหาที่ซ้ำเติมมาคือราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ ทั้งปัญหาราคาน้ำมันและการคอร์รับชั่นมีผลทำให้โครงการสาธารณะต่างๆ ที่เคยมีไว้พัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเสื่อมลงอย่างน่าใจหาย พร้อมกันนั้นอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้น นอกจากนี้ในสังคมที่มีปัญหาแบบนี้ระดับอาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น แต่ มาดูโร ก็ไม่ทำอะไร และไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้นหรือยึดพลังการผลิตเอกชนมาเป็นของประชาชน มีแต่การแก้ตัวว่าทุกปัญหามาจากจักรวรรดินิยมอเมริกา

สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา
สลิ่มชนชั้นกลางเวนเนสเวลา

พรรคฝ่ายขวาที่เข้ามาในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอำมาตย์ก่อนสมัย ชาเวส พวกนี้ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด สนใจแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าชนชั้นตนเองเท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือโศกนาฏกรรมของการพยายามสร้าง “สังคมนิยมครึ่งใบ” ของ ชาเวส และมันเป็นโศกนาฏกรรมที่องค์กรสังคมนิยมสากล IST เตือนว่าจะเกิดขึ้นนานแล้ว เพราะถ้าไม่สร้างสังคมนิยมจากล่างสู่บนด้วยพลังมวลชนกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยมอย่างถอนรากถอนโคน ในที่สุดก็จะล้มเหลว มันสะท้อนว่านักมาร์คซิสต์จะต้องวิเคราะห์และติชมการเมืองฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ เสมอ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแค่กองเชียร์สำหรับรัฐบาลฝ่ายซ้ายทุกรัฐบาลที่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในเวนเนสเวลา หรือกรีซ