Tag Archives: รัฐธรรมนูญ

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

สัญญาณเตือนภัย

ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้สร้างความตื่นเต้นและความหวังล้นฟ้าสำหรับคนไทยเป็นล้านๆ และคนต่างประเทศที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเองทั่วโลก

แต่สัญญาณเตือนภัยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว ว่าจะมีการลดเพดานและจะจบลงด้วยการประนีประนอมแบบแย่ๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะนักเคลื่อนไหวและแกนนำต้องการให้จบแบบนั้น แต่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการทบทวนและพัฒนาการต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้ เพราะการชุมนุมไปเรื่อยๆ ในรูปแบบเดิมๆ และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ จะเอาชนะทหารไม่ได้

ภัยหลักตอนนี้คือการยอมปล่อยให้รัฐสภาจัดการเรื่องการปฏิรูปสังคม เพราะถ้าเราไม่ระวังรัฐสภาที่คุมโดยทหารจะยอมแค่ให้แก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ประยุทธ์จะไม่ลาออก และจะไม่มีการปฏิรูปกษัตริย์

ขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวควรภูมิใจในผลงานในสามเดือนที่ผ่านมาเพราะมีการชุมนุมใหญ่ของคนจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาข้อเรียกร้อง มีการแสดงความกล้าหาญที่จะวิจารณ์กษัตริย์ และมีการดึงเรื่องสิทธิทางเพศ และสิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีเข้ามาเพื่อขยายแนวร่วม สิ่งเหล่านี้ขบวนการเสื้อแดงในอดีตไม่สามารถทำได้

และทั้งๆ ที่ขบวนการนี้นำโดยคนหนุ่มสาว ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น ทุกคนเดือดร้อนและคนจำนวนมากต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการประนีประนอมหรือลดเพดานจะไม่มีวันแก้ปัญหาของสังคมได้ และไม่มีวันทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ

มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเรื่องยุทธ์วิธีที่จะพัฒนาการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

ปัญหาอันหนึ่งคือการใช้วิธี “ทุกคนเป็นแกนนำ” สามารถช่วยให้การต่อสู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่แกนนำหลายคนถูกจับก็จริง แต่ไม่นำไปสู่การสร้างโครงสร้างภายในขบวนการที่จะกำหนดแนวทางด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ แน่นอนแกนนำไม่ได้หวังเป็นเผด็จการ แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างเพื่อให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ แกนนำจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยปริยาย และจะไม่สามารถดึงคนรากหญ้ามาช่วยตัดสินแนวทางได้ นี่คือประสบการณ์จากขบวนการเคลื่อนไหว Podemos ที่อ้างว่าไม่มีแกนนำในสเปน

ขบวนการที่ไทยได้รับความคิดและความสมานฉันท์จากขบวนการฮ่องกง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องความสำคัญของการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นข้อสรุปสำคัญของหลายส่วนที่ฮ่องกง

ทุกวันนี้มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมชุมนุมกับคนหนุ่มสาว และกระแสความชื่นชมในขบวนการประชาธิปไตยยังสูงอยู่ ดังนั้นคนหนุ่มสาวและนักสหภาพแรงงานก้าวหน้าควรลงมือเดินเข้าไปหาคนทำงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อพูดคุยกับคนทำงานในเรื่องการใช้พลังทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงานเพื่อหนุนการชุมนุมของคนหนุ่มสาว

แน่นอน จะมีคนที่ออกมาพูดว่าการนัดหยุดงาน “ทำไม่ได้” หรือ “คนงานไทยไม่มีวันนัดหยุดงาน” หรือ “คนงานกำลังจะเอาตัวรอดไม่ได้” แต่พวกนี้จะเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และปิดหูปิดตาถึงการพัฒนาทางความคิดที่เกิดขึ้นในรอบสามสี่เดือนที่ผ่านมาในไทย ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนขอท้าคนที่พูดแบบนี้ว่า “ถ้าไม่เห็นด้วยกับการพยายามสร้างกระแสการนัดหยุดงาน ท่านมีข้อเสนออื่นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้?” “ท่านมีข้อเสนออะไรที่จะนำไปสู่ชัยชนะของขบวนการ?”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ระวังพวกที่จะพาเราหลงทางจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง 3+10

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้พวกประนีประนอมพาเราไปหลงทาง เบี่ยงเบน ไปจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10”

อันนี้เป็นปัญหาปกติในกระบวนการต่อสู้ เราเคยเจอในกรณีการล้มเผด็จการทหารช่วง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ที่ฝ่ายชนชั้นปกครองเชิญนายภูมิพลออกมาเพื่อแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำไปสู่การตั้ง “สภาสนามม้า” [ดู https://bit.ly/3ggYMLW ] มันเป็นวิธีที่ชนชั้นปกครองไทยสามารถกู้สถานการณ์ไม่ให้ลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริงตามที่คนจำนวนมากต้องการ โดยเฉพาะนักศึกษา กรรมาชีพ และพลเมืองที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้ชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งตัวใหม่และกลับมาในช่วง ๖ ตุลา ๒๕๑๙

a3_0

ทั้งในสถานการณ์สากลและไทย เมื่อมีการลุกฮือล้มเผด็จการ มักจะมีกลุ่มคนที่เสนอให้ประนีประนอม พวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองเก่า อีกส่วนเป็นพวกนักการเมืองและนักวิชาการกระแสหลักที่ต้องการแค่ปฏิรูประบบ เป้าหมายของสองกลุ่มนี้คือเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจเดิม

เรื่องแบบนี้มันเกิดที่ ซูดาน เลบานอน อียิปต์ ฮ่องกง และที่อื่นๆ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกที่อยากเปลี่ยนระบบให้น้อยที่สุดพร้อมปกป้องอำนาจเดิม กับพวกที่ต้องการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน

ข้อเรียก 3 ข้อของ “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการล้มเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ ล้มรัฐธรรมนูญทหาร และยุติการคุกคามประชาชนโดยทหาร มันจะไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าประยุทธ์กับคณะทหารออกไปจากการเมืองไทย

ดังนั้นเราควรระมัดระวังคนที่เสนอให้แค่ “แก้” รัฐธรรมนูญทหาร เพราะมันจะเป็นการเสนอกระบวนการที่ใช้เวลานาน และเปิดช่องให้เผด็จการของประยุทธ์อยู่ต่อไป ถ้าเผด็จการประยุทธ์อยู่ต่อได้แบบนี้ ฝ่ายประนีประนอมหวังว่ากระแสการลุกฮือจะลดลง และนี่คืออันตรายสำหรับฝ่ายเรา

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังที่หยุดนิ่ง อยู่กับที่ มักจะถอยหลังในไม่ช้า

เราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ไปแก้รัฐธรรมนูญเผด็จการ

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้พวกประนีประนอมเดินเรื่อง โดยเฉพาะพรรคการเมืองอย่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” รับรองมันจะถูกผลักออกไปจากวาระทางการเมืองอย่างแน่นอน

FB_IMG_1597581301917

ในความเป็นจริงข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะไม่ประสบความสำเร็จตราบใดที่เผด็จการประยุทธ์หรือเผด็จการทหารอื่นๆ ยังคุมอำนาจอยู่ เพราะทหารคือผู้ที่มีอำนาจในสังคมไทย และเป็นผู้ที่ใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือของเขาเองเสมอ

ดังนั้นเราต้องคงไว้เป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10” ทั้งหมดพร้อมๆ กัน

ในความเห็นผม จริงๆ แล้วประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ คือยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลย เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยมันปฏิรูปให้ดีขึ้นไม่ได้ และลัทธิกษัตริย์นิยมเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมมาตลอด

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2Qf5yHB  https://bit.ly/2Qk0eCS  https://bit.ly/2QfI2dh และ หนังสือ “ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เขียนหลังรัฐประหาร๑๙กันยา๒๕๔๙ https://bit.ly/3gStOLd ]

เราจะคงไว้เป้าหมาย “3+10” อย่างไร?

  1. อย่าไปฝากความหวังอะไรทั้งสิ้นกับ “ผู้ใหญ่” ในวงวิชาการ หรือนักการเมืองจากพรรคกระแสหลัก อย่าให้เขาออกแบบวิธีปฏิรูปสังคมไทย
  2. พวกเรา โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว จะต้องรีบคุยกันเพื่อหาจุดร่วมว่าต้องการเห็นสังคมไทยแบบไหน ต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน และต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พูดง่ายๆ ควรมีสมัชชาใหญ่ของคณะปลดแอกประชาชนและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเอา “เนื้อ” มาใส่โครงกระดูกของข้อเรียกร้อง “3+10” และคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร
  3. ไม่ควรหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อส่งต่อเรื่องให้คนอื่น และควรมีความพยายามที่จะขยายมวลชนไปสู่นักสหภาพแรงงาน เกษตรกร และคนธรรมดากลุ่มอื่นๆ ควรมีการคุยกันว่าคนที่อยู่ในสถานที่ทำงานสามารถประท้วงได้อย่างไร เช่นการนัดหยุดงาน
  4. เราต้องเรียกร้องให้ยุติคดีของเพื่อนเราทุกคนที่ถูกหมายเรียกหมายจับทันที

อย่ายอมประนีประนอมเพื่อรักษาระบบที่ทำลายสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม!!

จาก คาทาโลเนีย ถึงปาตานี

ใจ อึ๊งภากรณ์

การต่อสู้ของชาวคาทาโลเนีย[1]เพื่อแยกตัวออกจากรัฐสเปน และก่อตั้งสาธารณรัฐอิสระ เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองในการกำหนดอนาคตตนเอง และเราทุกคนที่รักเสรีภาพประชาธิปไตยควรจะสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข ในลักษณะเดียวกันเราควรสนับสนุนชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีที่ต้องการเสรีภาพจากรัฐไทย

การปราบปรามชาวคาทาโลเนียที่เพียงแต่ต้องการจะไปลงประชามติ โดยรัฐสเปนที่ใช้ตำรวจปราบจลาจลระดับชาติ และกองกำลัง Guardia Civil นำไปสู่การกระทำอันความป่าเถื่อนของฝ่ายรัฐสเปน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อเป็นการประท้วง และก่อนหน้านั้นกรรมาชีพดับเพลิงและกรรมาชีพท่าเรือมีบทบาทในการพยายามปกป้องประชาชนจากความป่าเถื่อนของตำรวจ

ข้ออ้างของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของสเปนคือ รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ภายใต้อิทธิพลของนายพลฟรังโกซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ เขียนไว้ว่าประเทศสเปนจะแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างเลยจากรัฐธรรมนูญไทย เพราะไทยมีมาตราแบบนี้มาตั้งแต่เผด็จการฝ่ายขวาของไทยขึ้นมามีอำนาจ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๗๕ ที่ร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของ อ. ปรีดี ไม่มีมาตราดังกล่าวเลย และ อ. ปรีดี เคยสนับสนุนการปกครองตนเองของชาวปาตานีอีกด้วย ดังนั้นการต่อสู้ของชาวคาทาโลเนีย มีประเด็นที่อาจทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราควรสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานีที่จะกำหนดอนาคตตนเอง

กษัตริย์ราชวงอื้อฉาวของสเปนได้ออกมาด่าชาวคาทาโลเนียอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ต่างจากราชินีไทยที่เคยพูดว่าอยากจับปืนสู้กับขบวนการต้านรัฐไทยในกรณีปาตานี

ถ้าเราจะเข้าใจเหตุการณ์ในคาทาโลเนียในขณะนี้เราต้อง ศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสเปน

ในปี 1936 นายพล ฟรังโก พยายามทำรัฐประหารฟาสซิสต์เพื่อล้มรัฐบาล “สาธารณรัฐ” ของสเปนที่มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแนวร่วมระหว่างพรรคนายทุนและพรรคฝ่ายซ้าย แต่ชนชั้นกรรมาชีพ พรรคฝ่ายซ้าย และองค์กรอนาธิปไตยสเปน ลุกฮือจับอาวุธจากกองทัพเพื่อต่อสู้กับฟรังโกและพวกฟาสซิสต์ การต่อสู้ในขั้นตอนแรกมีรูปแบบการยึดเมือง ยึดสถานที่ทำงาน และยึดที่ดินในชนบท มันเป็นการพยายามปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมพร้อมๆ กับการต่อสู้กับทหารเผด็จการ

นักเขียนชื่อ จอร์ช ออร์เวล ในหนังสือ “แด่คาทาโลเนีย” อธิบายจากประสบการณ์โดยตรงในคาทาโลเนียว่า “มันเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นเมืองที่ชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่ ทุกตึด ทุกสถานที่ทำงาน ถูกกรรมาชีพยึดแล้วเปลี่ยนเป็นสหกรณ์การผลิต แม้แต่คนขัดรองเท้าข้างถนนยังมีสหกรณ์ คนเสริฟอาหาร และคนขายของตามร้านค้า ที่เคยก้มหัวให้ลูกค้าหรือคนรวย จะยืนตรงและกล้ามองหน้าทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีการเลิกใช้ภาษาของผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ รถยนต์ส่วนตัวไม่มีเหลือ กลายเป็นของส่วนรวมหมด และคนชั้นกลางและคนรวยหายไปจากเมือง ทุกคนมีความหวังในอนาคตอันสดใสที่มีการปลดแอกมนุษย์… มนุษย์กำลังพยายามทำตัวเป็นมนุษย์ที่แท้จริง”

ท่ามกลางกระแสการปฏิวัตินี้ มีสถานการณ์ “อำนาจคู่ขนาน” เกิดขึ้น ในเมือง บาซาโลนา อย่างที่เคยเกิดในรัซเสียเมื่อต้นปี 1917 คือมีรัฐบาล “พรรคสาธารณรัฐ” ที่เป็น “อำนาจทางการ” แต่อำนาจจริงอยู่ในมือของสหภาพแรงงาน องค์กรอนาธิปไตย (CNT) และพรรคฝ่ายซ้าย “สามัคคีแรงงานมาร์คซิสต์” (POUM) ที่เป็นฝ่ายปฏิวัติ ปัญหาคือองค์กรการเมืองสององค์กรหลักของกรรมาชีพคาทาโลเนีย ไม่ยอมตั้งสภาคนงาน เพื่อรวมศูนย์อำนาจกรรมาชีพ และล้มระบบเก่าเพื่อสร้างรัฐใหม่ พวกอนาธิปไตยมีอิทธิพลมากที่สุด และเขาไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจหรือการสร้างรัฐใหม่

ฝ่ายฟาสซิสต์ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันศาสนาคริสต์นิกายแคทอลลิค และได้รับการสนับสนุนด้วยอาวุธ กับเครื่องบินทิ้งระเบิด จากรัฐบาลนาซีในเยอรมันและรัฐบาลพรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี่ แต่ประเทศ “ประชาธิปไตย” ตะวันตก อย่างอังกฤษและแม้แต่ฝรั่งเศส ประกาศว่าจะ “เป็นกลาง” อย่างไรก็ตาม มวลชนฝ่ายซ้ายจากยุโรปและทวีปอเมริกาจำนวนมาก เข้าไปเป็นอาสาสมัครในการสู้รบกับฟาสซิสต์ที่สเปน

ในไม่ช้า สตาลิน มีคำสั่งให้พรรคคอมมิวนิสต์สเปน ช่วยยับยั้งการปฏิวัติ และเปลี่ยนการต่อสู้จากการปฏิวัติไปเป็นสงครามทางทหารแบบกระแสหลักกับฝ่ายฟาสซิสต์ “เพื่อประชาธิปไตย” ทั้งนี้เพราะ สตาลิน ต้องการรักษามิตรภาพกับอังกฤษและฝรั่งเศส มีการใช้กองกำลังของรัฐบาล “พรรคสาธารณรัฐ” ในการปราบพวกอนาธิปไตย (CNT) และพรรค “สามัคคีแรงงานมาร์คซิสต์” (POUM) ในเมือง บาซาโลนา

สรุปแล้วการจำกัดการต่อสู้ และการยับยั้งการปฏิวัติ ที่พรรคคอมมิวนิสต์สเปนกระทำ ตามคำสั่งของสตาลิน จบลงด้วยความพ่ายแพ้และโศกนาฏกรรม เพราะเผด็จการฟาสซิสต์ของฟรังโกสามารถครองอำนาจในสเปนถึง 40 ปี

ในขณะที่รัฐบาลฟาสซิสต์ครองอำนาจ มีการกดขี่ประชาชนอย่างหนัก โดยกองกำลังหลักของฟาสซิสต์คือตำรวจ Guardia Civil และคนพื้นเมืองในภูมิภาค คาทาโลเนีย กับ บาส์ค ที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ถูกห้ามไม่ให้ใช้ภาษาพื้นเมือง

จริงๆ แล้วรัฐสเปนไม่เคยเป็นรัฐเอกภาพ เพราะในหลายพื้นที่มีพลเมืองที่มีภาษาและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างรัฐรวมศูนย์ย่อมอาศัยการบังคับด้วยความรุนแรงเสมอ

ล่าสุดกระแสเรียกร้องเสรีภาพของชาวคาทาโลเนียระเบิดขึ้นเมื่อรัฐบาลกลางไม่ยอมปฏิรูปการปกครองเพื่อเพิ่มออำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นของ คาทาโลเนีย ผลคือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคที่สนับสนุนการแยกประเทศก็ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่นี้ รัฐบาลท้องถิ่นของ คาทาโลเนีย พยายามจะนำนโยบายก้าวหน้าหลายอย่างมาใช้ เช่นกฎหมายห้ามการไล่คนจนออกจากบ้านเมื่อไม่สามารถจ่ายค่าเช่า ห้ามตัดไฟบ้านคนจนที่ติดหนี้ กฏหมายเก็บภาษีจากการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อส่งเสริมพลังงานทางเลือก กฏหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีในสถานที่ทำงาน และห้ามการลวนลามทางเพศ หรือกฏหมายห้ามการสู้กระทิง แต่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนออกมาล้มทุกกฏหมาย

พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญสเปนก็ไม่ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญไทย

ในประเด็นเรื่อง คาทาโลเนีย กับ ปาตานี ส่วนที่คล้ายกันคือรัฐบาลกลางใช้อำนาจและความรุนแรงในการรวมประเทศ และในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความชอบธรรมกับการรวมประเทศ โดยไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนพื้นเมือง และมีการกดขี่ภาษาและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง มันหมายความว่าเราจะต้องสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของชาวมเลย์มุสลิมในปาตานีที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง รวมถึงการแยกประเทศด้วย ในขณะเดียวกันพลเมืองทุกคนในปาตานี ไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใด ควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะอาศัยอยู่ในรัฐแบบไหนในอนาคต

สิ่งที่เกิดขึ้นในคาทาโลเนียอาจเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับชาวปาตานีด้วย เพราะในกรณีคาทาโลเนียมีการอาศัยพลังมวลชน รวมถึงพลังกรรมาชีพ ในการต่อสู้ แทนที่จะเน้นกองกำลังติดอาวุธ และการใช้พลังมวลชนดังกล่าวที่คาทาโลเนียมีความเข้มแข็งมาก

[1] คนพื้นเมืองออกเสียงว่า “กาตาลูญญา”

๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์? เก็บตกจากข้อถกเถียงที่เยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ มีการจัดเสวนาที่เมืองโคโลน ประเทศเยอรมัน ในหัวข้อ “๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์?” ….จึงมาเล่าสู่กันฟัง และในตอนท้ายจะกล่าวถึงข้อถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์

ผมเปิดประเด็นด้วยการเล่าว่า อารัมภบทของรัฐธรรมนูญมีชัย โกหกว่ารัชกาลที่ ๗ “ยกประชาธิปไตยให้ประชาชน” ในความเป็นจริงกษัตริย์คนนี้ต้องถูกโค่นด้วยการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ “รัฐประหาร” อย่างที่พวกอนุรักษ์นิยมอ้าง แต่เป็นการปฏิวัติสังคมที่ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากประชาชนไทยจำนวนมาก

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “ยังไม่สำเร็จ” มันไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ไม่ใช่เพราะไม่สามารถล้มระบบศักดินาหรือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบศักดินาถูกทำลายโดยรัชกาลที่๕ และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และหลังจากกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ซึ่งถูกปราบโดยคณะราษฎร ฝ่ายเจ้าเลิกฝันถึงการคืนสู่อำนาจ

กษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ร่ำรวย และเสพสุขบนหลังประชาชนก็จริง มีคนเชิดชูและหมอบคลานเข้าหาก็จริง แต่กษัตริย์คนนี้ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารและชนชั้นนำอื่นๆ เช่นนักการเมืองนายทุน ฯลฯ การเชิดชูกษัตริย์แบบบ้าคลั่งที่เกิดขึ้น กระทำไปเพื่อให้ความชอบธรรมกับการกระทำของทหารและชนชั้นนำคนอื่นเท่านั้น

รัชกาลที่ ๑๐ ยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อของเขา และไม่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมไทยเลย วชิราลงกรณ์ ต้องการเสพสุขที่เยอรมันอย่างเดียว ที่ขอแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อควบคุมเรื่องส่วนตัวในวังเท่านั้น

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ยังไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตย สาเหตุสำคัญมาจากการที่อาจารย์ปรีดี ผู้ก่อตั้งคณะราษฏร์ ไม่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคการเมืองของมวลชน และไปพึ่งอำนาจทหารมากเกินไปในการปฏิวัติ นี่คือที่มาของอำนาจทหารในระบบการเมืองไทย ในภายหลังเมื่ออาจารย์ปรีดีมาทบทวนความผิดพลาด เขาเคยเขียนว่าในยุคที่เขามีอำนาจ เขาไม่ค่อยเข้าใจการเมืองอย่างเพียงพอ แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาเสียอำนาจไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ชิงสุกก่อนห่าม” แต่อย่างใด ในยุคนั้นและยุคนี้ประชาชนไทยต้องการและพร้อมที่จะมีประชาธิปไตย

ผู้ที่ทำให้เป้าหมายการสร้างประชาธิปไตยหลัง ๒๔๗๕ ไม่ประสบผลสำเร็จ คือทหารเป็นหลัก และบ่อยครั้งทหารที่ก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากนายทุนและพวกสลิ่มชนชั้นกลางอีกด้วย

ถ้าตอนนี้เราอยู่ในยุค “สู่อำนาจสมบูรณ์” มันไม่ใช่อำนาจสมบูรณ์ของกษัตริย์ แต่เป็นการสร้าง “อำนาจสมบูรณ์” ของทหารต่างหาก ซึ่งดูได้จากรัฐธรรมนูญทหาร และการใช้มาตรา 44 ในเรื่องการเมืองและสังคมแบบนี้ นายวชิราลงกรณ์ไม่เคยแสดงความเห็นหรือความสนใจแม้แต่นิดเดียว

อำนาจของทหารที่เผด็จการประยุทธ์ต้องการจะแช่แข็งและสืบทอดไปเรื่อยๆ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญดังนี้

  1. มีการคงไว้บทบาทและยืดวาระการทำงานของคณะทหารเผด็จการ คสช. ออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ในหมวดที่ 6 “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิด ถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ”
  2. มาตรา 5 และ 272 ให้อำนาจกับพวกเผด็จการในการเลือกนายกที่ไม่ใช่สส.
  3. เผด็จการทหารมีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาทั้ง200คน, กกต., และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกกต.มีอำนาจในการสั่งเปลี่ยนนโยบายของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดของทหารอนุรักษ์นิยม
  4. ระบบการเลือกตั้งและจัดจำนวนสส. ให้ประโยชน์กับพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์
  5. มีการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ที่พวกสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยม”
  6. การแก้รัฐธรรมนูญฉบับทหารอันนี้ ถ้ายึดตามกติกาของผู้ร่าง เกือบจะไม่มีโอกาสแก้ได้เลย แต่พวกทหารเผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่ประชาชนมีส่วนในการร่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
  7. ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้วจะเห็นว่ามีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  8. มีการทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข พูดง่ายๆ มีการเสนอนโยบายที่ทำลายระบบบัตรทอง หรือที่เคยเรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”
  9. ในเรื่องการศึกษา มีการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

ดังนั้นประเทศของเรากำลังเดินถอยหลังไปสู่ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ตีนทหาร

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศสอนให้เรารู้ว่าถ้าประชาชนจะปลดแอกตนเองจากเผด็จการ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่รักประชาธิปไตยพร้อมกับการสร้างพรรคมวลชนของคนธรรมดา เช่นกรรมาชีพกับเกษตรกรรายย่อย ไม่มีผู้ใหญ่ที่ไหนที่จะยกสิทธิเสรีภาพให้เรา แต่ในขณะนี้แกนนำเสื้อแดงและทักษิณได้แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพไปแล้ว ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นใหม่ในการสร้างขบวนการประชาธิปไตย

ประเด็นถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ในงานเสวนานี้

เพื่อความยุติธรรมต่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ กรุณาไปค้นโดยตรงว่าเจ้าตัวทั้งสองมีความเห็นอย่างไรครับ…

  1. เรื่อง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพล ผมเสนอมาตลอดว่ากษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจสั่งการอะไรและเป็นแค่เครื่องมือของทหาร ยิ่งกว่านั้นกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนที่ไม่มีความกล้าที่จะพูดหรือเสนออะไรเอง มักคล้อยตามกระแสผู้มีอำนาจจริงเช่นทหารเสมอ [ดู http://bit.ly/2s0KHd4 ]ตรงนั้นหลายคนเริ่มเห็นด้วยมากขึ้น ส่วน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าต้องมอง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพลในลักษณะที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการใคร และไม่ใช่อำนาจที่จับต้องได้ แต่เป็นอำนาจในลักษณะลัทธิความคิดที่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ผมมองว่าการพูดแบบนี้มันนามธรรมและเป็นการพูดลอยๆ พิสูจน์อะไรไม่ได้ จับต้องไม่ได้ และในที่สุดไม่มีความหมายเลย ผมนิยามว่าเป็นทฤษฏี “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ที่ติดดินและจับต้องได้ ผมมองว่าสมศักดิ์ เสนอความคิดแบบนี้เพราะไม่สามารถให้ตัวอย่างอำนาจกษัตริย์ภูมิพลเป็นรูปธรรม แต่ต้องการเชื่อต่อไปว่ามีอำนาจ สมศักดิ์มีจุดอ่อนในการปกป้องข้อเสนอของเขาเพราะนอกจากจะพิสูจน์อะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้แล้ว ยังโจมตีผมแบบส่วนตัวว่า “ไม่เข้าใจสังคมไทย” ในทำนองที่ชวนคนมองว่าผมไม่ใช่คนไทยแท้ทำนองนั้น ซึ่งเป็นการโจมตีที่ไม่ตรงกับสภาพชีวิตผมที่เติบโตในไทยและมีพ่อเป็นคนไทย และมีลักษณะแบบเหยียดเชื้อชาติผมอีกด้วย มันไม่ใช่ข้อถกเถียงที่ใช้ปัญญาเลย

  1. สมศักดิ์เสนอว่าในสังคมไทยเริ่มมีความเห็นร่วมกันทั้งสังคมที่เชิดชูกษัตริย์ภูมิพล ตั้งแต่พฤษภา 35 และให้เหตุผลว่าคนเชื้อสายจีนในเมืองต้องการพิสูจน์ความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมกับคนไทย คนจีนจึง “ต้องการสิ่งที่จะยึดมั่นได้” และนี่คือที่มาของอำนาจกษัตริย์ ซึ่งถ้าจริงก็คงมีอำนาจแบบ “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ลอยๆ ในเวลาแค่สิบกว่าปีเองก่อนป่วยและหมดสภาพ แต่ปัญหาของแนวคิด สมศักดิ์ นี้คือ เขามองแค่สังคมคนชั้นกลาง มองข้ามคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพไทย คนลาว คนล้านนา คนเขมร คนมาลายู ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ต้องการพิสูจน์อะไรแบบนั้น พูดง่ายๆ คือสำหรับ สมศักดิ์ ชนชั้นกลาง ซึ่งผมมองว่าเป็นสลิ่มต้านประชาธิปไตย เป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่านั้นการที่มีกระแสเชิดชูกษัตริย์หลังปี 35 นั้นมันเกี่ยวกับการที่ พคท. ล่มสลายไปและแนวคิดการเมืองพคท. และแนวคิดซ้ายอ่อนลงมากกว่าอะไรอื่น มันเป็นชัยชนะทางความคิดชั่วคราวในสงครามจุดยืนที่กรัมชี่เคยพูดถึงมากกว่า และมันเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายแนวคิดซ้ายในยุคที่เปิดกว้างให้มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตย

 

  1. สมศักดิ์เสนอมานานแล้วว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงควรเลิกด่ากัน เพื่อสร้างฉันทามติร่วมที่ยอมรับกันได้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เขาพูดเหมือนกับว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายด่ากันเหมือนคนเชียร์ทีมฟุตบอลที่เป็นคู่แข่งกันเท่านั้น นี่เป็นมุมมองที่ไร้ประเด็นการเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะความแตกแยกระหว่างเหลืองกับแดงมันมีพื้นฐานจากจุดยืนต่อนโยบายรัฐบาลทักษิณที่ช่วยยกระดับคนจนด้วยระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า และการลงทุนเพื่อพัฒนาชีวิตคนชนบทและคนจนในเมือง โดยที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่าพลเมืองทุกคนควรมีหุ้นส่วนในการพัฒนาชาติ ไม่ใช่แค่คนรวยและคนชั้นกลาง ดังนั้นฉันทามติร่วมทางการเมืองคงไม่มีทางเกิดได้ และในทุกประเทศทั่วโลกก็มีความคิดที่ขัดแย้งกันเสมอในเรื่องท่าทีต่อความเหลื่อมล้ำและนโยบายเศรษฐกิจการเมือง ในเรื่องนี้ สมศักดิ์ ไม่ให้เกียรติมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อแดงว่าคิดเองเป็นและไม่ใช่แค่ขี้ข้าทักษิณ และสมศักดิ์ไม่เคยมองว่าขบวนการมวลชนมีความสำคัญในการเปลี่ยนสังคม ในอดีตเขาเคยวิจารณ์ผมที่ลงไปทำงานกับกรรมาชีพไทยด้วย

  1. ในความเห็นผม ทั้ง สมศักดิ์ และ แอนดรู แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ หมกมุ่นกับนายวชิราลงกรณ์ โดยที่ แอนดรู มองว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าสั่งถอนหมุดคณะราษฏร์” ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย[ดู http://bit.ly/2oVf9Uu และ http://bit.ly/2quNSZx ] แอนดรู แสนอว่าคนไทยจำนวนมาก “ไม่เคยยอมรับการปฏิวัติ 2475” ซึ่งขัดกับหลักฐานประวัติศาสตร์ (กรุณาอ่านหนังสือของ ณัฐพล ใจจริง) และเขาอธิบายว่า “ความเป็นไทย” ทำให้คนไทยพร้อมจะหมอบคลาน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายๆ รอบที่คนไทยเข้าร่วม ในแง่หนึ่งมันดูถูกพลเมืองไทยจำนวนมาก  แต่นั้นคงไม่ใช่เจตนา ส่วนการที่ สมศักดิ์ หมกมุ่นกับ วชิราลงกรณ์ และภูมิพล นำไปสู่การมองแต่พวกเจ้าเพื่อความสนุก จนไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเสนอแนวทางการล้มเผด็จการทหาร และมรดกเผด็จการอย่างเป็นรูปธรรมเลย และไม่สนใจการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเลย การมองแต่เรื่องเจ้าๆ ทำให้คนอัมพาต โดยเฉพาะเวลาเชื่อว่าเจ้ามีอำนาจ เพราะมองไม่ออกว่าจะล้มอย่างไร ต่างโดยสิ้นเชิงกับคนที่กำลังพยายามเคลื่อนไหวในไทยทุกวันนี้ เพื่อคัดค้านทหารในเรื่องปากท้องและเรื่องรูปธรรมหลายๆ เรื่อง ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายการสร้างกระแสล้มเผด็จการ

 

ทั้งหมดนี้เป็นการถกเถียงทางการเมืองระหว่างสามคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย หวังว่าที่นำเสนอให้อ่านครั้งนี้จะช่วยชวนให้ท่านผู้อ่านคิดต่อและมีความเห็นของตนเอง

ถอดรหัสแถลงการณ์ของรัฐบาลตะวันตกเกี่ยวกับประชามติไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลายคนที่อยากเห็นประชาธิปไตยไทยในไทย แต่มองไม่ออกว่าเราจะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้อย่างไร มักจะไปตั้งความหวังว่าจะมี “อัศวินม้าขาว” มากำจัดเผด็จการให้เรา หลายคนตั้งความหวังกับสหประชาชาติ และหลายคนหลอกตนเองว่ารัฐบาลสหภาพยุโรป (อียู) หรือรัฐบาลสหรัฐ จะคอยวิจารณ์และกดดันให้รัฐบาลประยุทธ์เปิดให้มีประชาธิปไตย

แต่ความจริงในโลกไม่เป็นเช่นนั้น พิสูจน์ได้จากการถอดรหัสแถลงการณ์ต่างๆ ของรัฐบาลตะวันตกหลังผลของประชามติ

ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ดังนี้:

“หลังผลประชามติออกมา สหรัฐอเมริกา ในฐานะมิตรเก่าแก่และพันธมิตรของประเทศไทย ขอชักชวนให้รัฐบาลกลับสู่ระบบรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว และในกระบวนการนี้เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ”

[ดู http://bit.ly/2aPzqGY ]

ส่วนผู้แทนของอียูออกแถลงการณ์ที่มีใจความดังนี้:

“สหภาพยุโรปมองว่าช่วงก่อนวันลงประชามติ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพพื้นฐานอย่างมาก โดยเฉพาะในการถกเถียงแลกเปลี่ยน และมีการปิดกั้นการรณรงค์ทางการเมือง เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่การลิดรอนสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ ที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน ต้องถูกยกเลิก เพื่อให้กระบวนการทางการเมืองเปิดกว้าง ตรวจสอบได้ และประกอบไปด้วยการมีส่วนร่วม สหภาพยุโรปเรียกร้องให้ทางการไทยสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแท้ และการเลือกตั้ง”

[ดู http://bit.ly/2auzDR7 ]

ถ้าเราอ่านดีๆ และคิดแบบลงลึก เราจะเห็นว่าไม่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญเผด็จการแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญนี้จะต่ออายุเผด็จการทหารไปนานพร้อมกับแช่แข็งอิทธิพลของกองทัพในระบบการเมืองไทย

ดังนั้นในรูปธรรมรัฐบาลตะวันตกกำลังขอให้รัฐบาลทหารไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยไม่มีการรื้อถอนรัฐธรรมนูญมีชัย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลตะวันตกจะยอมรับระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของประยุทธ์ถ้าแค่มีการเลือกตั้ง

ยิ่งกว่านั้นแถลงการณ์ของอียูกล่าวต่อไปว่า “พลเมืองทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกัน และทำงานร่วมกันอย่างสันติ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเลือกตั้ง” ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่ารัฐบาลอียูต้องการให้พวกเราร่วมมือกับสลิ่ม ประชาธิปัตย์ และทหาร ในกระบวนการประชาธิปไตยครึ่งใบ

จริงๆ จุดยืนของรัฐบาลตะวันตกที่มีคำสวยเรื่องประชาธิปไตยเป็นผักชีโรยหน้า ไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐบาลหลักๆ ของประเทศในอียูเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาของพรรคนายทุน สหรัฐก็ไม่ต่าง หลายรัฐบาลละเมิดสิทธิพลเมืองภายในประเทศ และทำสงครามในประเทศอื่นเป็นประจำ ดังนั้นเราจะไปหวังอะไรได้กับพวกนี้

สิ่งที่รัฐบาลตะวันตกอยากเห็นในประเทศไทยคือระบบที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ไม่เป็นจริง เขาจะได้มีความชอบธรรมในสายตาพลเมืองภายในประเทศของเขา ในการร่วมมือกับรัฐบาลไทย ทั้งในเรื่องการค้าขายและในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

ลึกๆ แล้วรัฐบาลตะวันตกสนใจแต่เรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและรัฐ ในระบบจักรวรรดินิยมทั่วโลก เขาไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของเราแต่อย่างใด

ใครที่คิดว่ารัฐบาลตะวันตกจะเป็น “อัศวินม้าขาว” ที่จะช่วยเราให้มีสิทธิเสรีภาพ กำลังหลอกตนเอง

ไม่มีใครคนอื่นที่ไหนที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เรา ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติ หรือนักกล้าหาญปัจเจกที่เป็นคนไทย อานาคตของเสรีภาพอยู่ที่มวลชน และเสรีภาพนั้นจะเกิดเร็วขึ้นถ้าท่านมีส่วนร่วมในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยมวลชนเป็นแสน

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2b9bGhA

โปรดฟังอีกครั้ง… ช่วยกันลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโจร

ใจ อึ๊งภากรณ์

 วันที่ 7 สิงหาคมนี้ทุกคนที่รักประชาธิปไตยควรตบหน้าแก๊งไอ้ยุทธ์และคณะโจร โดยไปลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร

ถ้าประชาชนจำนวนมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่งอกจากกระบอกปืนอันนี้ มันจะช่วยทำลายความชอบธรรมของเผด็จการอย่างชัดเจน

13728936_1145964815444913_3158334133934371265_n

แต่ในขณะเดียวกัน เราทราบดีว่า “ประชามติ” ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ไร้เสรีภาพโดยสิ้นเชิง มันไม่ใช่ประชามติประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะในรูปธรรมมีการสั่งห้ามวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในที่สาธารณะ และมีการจับคุมนักเคลื่อนไหวที่พยายามวิจารณ์ความไม่เป็นประชาธิปไตยของร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง คณะทหารมีความหวังว่าถ้าขู่ประชาชนและพยายามปิดกั้นการแสดงออกหรือข้อถกเถียงต่างๆ ประชาชนจะขานรับการทำลายประชาธิปไตยที่บรรจุไว้ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวบางคนอยากให้เราบอยคอตหรืองดออกเสียง ผู้เขียนมีมุมมองต่างคือ เราต้องไปลงคะแนนเสียงไม่รับแทน และถ้าประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่รับ เราต้องชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารลาออก

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี้ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เราต้องมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญเถื่อน และเราจะต้องเคลื่อนไหวต่อต้านคณะทหารและอิทธิพลของเผด็จการต่อไปจนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยคืนมา ยิ่งกว่านั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปให้กว้างกว่ายุคทักษิณหรือยุครัฐธรรมนูญปี ๔๐ โดยเฉพาะในเรื่องกฏหมาย 112 กฏหมายคอมพิวเตอร์ และแง่อื่นๆ ของความเป็นเผด็จการในไทยที่ตกข้างจากอดีต

ขอสรุปว่าทำไมเราไม่ความรับร่างรัฐธรรมนูญมีชัยมีดังนี้

(1) อารัมภบทของร่างมีชัย แสดงให้เห็นเจตนาในการโกหกบิดเบือนประวัติศาสตร์และคำจำกัดความของประชาธิปไตยแต่แรก มันถูกออกแบบเพื่อให้ความชอบธรรมแก่คณะทหารโจรที่ปล้นสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยของประชาชนผ่านการทำรัฐประหาร มันถูกออกแบบเพื่อลดอำนาจของผู้แทนและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเพิ่มอำนาจและสืบทอดอิทธิพลของฝ่ายเผด็จการอนุรักษ์นิยม และมันมีการดูถูกประชาชนชาวไทยว่าไม่เข้าใจระบบประชาธิปไตยอีกด้วย

(2) มาตรา 5 เขียนถึงอำนาจพิเศษที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลและรัฐสภาในยามที่ทหารมองว่า “ผิดปกติ”  ซึ่งเสียงข้างมากในกลุ่มคนที่มีอำนาจพิเศษเหนือรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด

(3) มีการเปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่ใช่ สส. เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในบางสถานการณ์ ถ้าหลังการเลือกตั้งครั้งแรกเกิดมีนายกรัฐมนตรีทหารหรือคนของทหาร มันก็เป็นโอกาสสำหรับการยืดเวลาปกครองของเผด็จการได้ อย่าลืมว่าคนไทยเสียเลือดเนื้อในอดีตเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็น สส. และมาจากการเลือกตั้ง

(4) ในเรื่องศาสนามีการเอาใจคนเลวอย่าง “พุทธอิสระ” โดยตัดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก ตัดเรื่องห้ามลิดรอนสิทธิเพราะเหตุการนับถือศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้กดขี่ศาสนาอิสลามหรือศาสนาพุทธนิกายที่ทหารไม่เห็นด้วย

(5) ร่างรัฐอธรรมนูญนี้ทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข พูดง่ายๆ มีการเสนอนโยบายที่ทำลายระบบบัตรทอง หรือที่เคยเรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”

(6) ในเรื่องการศึกษา มีการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

(7) โครงสร้างการคำนวณจำนวน สส. มีการออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์

(8) วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยทหารเผด็จการทั้ง 200 คน และมีอายุการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือนานกว่าสภาผู้แทนราษฏร 1 ปี ทั้งนี้เพื่อควบคุมผู้แทนของประชาชน

(9) การแก้รัฐธรรมนูญนี้ในรูปธรรมทำได้ยากมาก เพราะต้องอาศัยเสียงข้างมากของ สส. 500คน และ สว.แต่งตั้ง 200คน รวมกัน นอกจากนี้ต้องอาศัยคะแนนเสียง 20% ของพรรคฝ่ายค้าน และ1/3 ของสว. อีกด้วย ดังนั้นอย่าไปหลงคิดว่าถ้าเรา “รับไปก่อน” เราจะแก้ทีหลังได้ ฝ่ายเผด็จการมันหลอกเราในเรื่องนี้มารอบหนึ่งแล้วในปี ๕๐ ปีนี้เราไม่ความโง่ซ้ำรอบสอง

13417520_1769959999947170_3393365336073478790_n

บอยคอตหรือโหวดโน?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเลือกว่าเราจะลงคะแนนไม่รับ “รัฐอธรรมนูญทหาร” (โหวดโน) หรืองดออกเสียง (บอยคอต) ในประชามติที่จะจัดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องยุทธวิธีเท่านั้น อย่างที่พวกเราหลายคนเข้าใจดี มันเป็นยุทธวิธีในยุทธศาสตร์การต่อต้านเผด็จการ

ผมขอเรียกเศษกระดาษของเผด็จการว่า “รัฐอธรรมนูญ” เพราะมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเลย [ดู  http://bit.ly/25jnpk3  ]

ทั้งสองฝ่ายในการถกเถียงว่าจะงดออกเสียงหรือกาช่อง “ไม่รับ” มีจุดยืนเหมือนกันคือต่อต้านเผด็จการและรังเกียจ รัฐอธรรมนูญ โสโครกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด ตรงนี้มันชัดเจน และทั้งสองฝ่ายจริงใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

แต่การเลือกยุทธวิธีที่ดีที่สุดในครั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาประเด็นปัญหาจากมุมมองการเมือง และมันมียุทธวิธีที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวคือกาช่อง“ไม่รับ”… จะขออธิบายเหตุผล

syylar7hxfydosf3li4l

คนที่เน้นการต่อสู้เชิงสัญลักณ์แบบปัจเจก จะพิจารณาเรื่องนี้จากจุดยืนของ “ความบริสุทธิ์” คือจะเสนอเหตุผลว่าการไปลงคะแนนเสียงไม่เอารัฐอธรรมนูญทหาร เป็นการยอมรับกติกาของเผด็จการ หรือเป็นการ “ถือหางทหาร” เขาจะถามต่อไปว่า ถ้าปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนรับรัฐอธรรมนูญ เราก็จะพ่ายแพ้ถึงขนาด “ต้อง” ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่หรือไม่? พวกนี้เลยเสนอว่าเราต้องงดออกเสียงหรือบอยคอตประชามติครั้งนี้

พอพวกที่เน้นความเป็นปัจเจกแบบนี้จะนั่งเฉยอยู่บ้าน ไม่ไปร่วมกิจกรรมการเมืองที่ทหารจัดไว้ เขาจะรู้สึกดีในตัวเอง เพราะสามารถรักษาความขาวสะอาด และไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร เขาก็จะอมยิ้มมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองในรูปแบบปัจเจก

แต่การมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองแบบนามธรรม มันไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางสังคมเลย เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมทุนนิยมปัจจุบันต้องอาศัย “พลัง” และ “อำนาจ” มันอาศัยเหตุผลและศีลธรรมก็จริง เพราะเราต้องชักชวนคนจำนวนมากให้มาทางเดียวกับเราด้วยเหตุผลและศีลธรรม แต่การโบกธงของศีลธรรมหรือความถูกต้องอย่างเดียว ไม่สามารถเอาชนะพลังและอำนาจของชนชั้นปกครองได้เลย สิ่งที่จะใช้ได้ในการเผชิญหน้ากับอำนาจของทหาร หรืออำนาจของรัฐที่กดขี่เรา คือพลังมวลชนกับกระแสมวลชน และเราต้องใช้พลังนั้นในสังคม บนท้องถนน และในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ถ้าไม่มีมวลชน เราชนะไม่ได้

ดังนั้นสำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เน้นพลังมวลชนแทนจุดยืนปัจเจก เราจะเลือกยุทธวิธีที่สามารถครองใจมวลชนได้ดีที่สุด

ในขณะนี้การเคลื่อนไหวของมวลชนผู้รักประชาธิปไตยในไทยอ่อนแอพอสมควร เหตุผลมาจากการ “สลาย” เสื้อแดงโดยทักษิณและพรรคเพื่อไทย บวกกับการที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ไม่ได้เดินตามทักษิณ ไม่ยอมจัดตั้งมวลชนอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะร่วมกันแสดงว่าเราปฏิเสธทหารผ่านประชามติ

ประชามติที่กำลังจะจัดขึ้น เป็นการเสี่ยงทางการเมืองของคณะทหารโจรมากพอสมควร เขาต้องการสร้างภาพว่าจะปรึกษาประชาชน และสร้างภาพว่าในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งปลอม แต่เขากังวลว่าประชาชนจะคว่ำรัฐอธรรมนูญอัปลักษณ์อันนี้ ดังนั้นเราต้องใช้โอกาสนี้เพื่อพยายามคว่ำรัฐอธรรมนูญและตบหน้าทหาร

มันมีประเด็นเดียวเท่านั้นที่สำคัญในการเลือกว่าเราจะโหวดโนหรือบอยคอต ประเด็นนี้คือเรื่องของกระแสในหมู่คนส่วนใหญ่ที่รักประชาธิปไตย เราต้องยึดติดกับกระแสนี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. จะมีส่วนในกระแสนี้หรือไม่

การนำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. มาเป็นข้ออ้างในการบอยคอตนั้นฟังไม่ขึ้น และเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เลย แท้จริงแล้วเราควรดีใจที่แกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยมีส่วนในการสร้างกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญเลวฉบับนี้ นานๆ ที่สององค์กรนี้จะมีจุดยืนถูกต้อง

เวลาเราพิจารณาว่ากระแสตอนนี้เป็นอย่างไรในหมู่คนที่รักประชาธิปไตยทั่วประเทศ เราต้องยอมรับว่าการชวนให้คนไปลงคะแนนไม่รับรัฐอธรรมนูญมีกระแสแรงกว่าการบอยคอตหลายพันเท่า เราจึงต้องเลือกเส้นทางนี้

Untitled

เราต้องเป็นส่วนของกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญทหารครับ!

บางคนอาจสงสัยว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวอะไรกับประชามติ มันเกี่ยวข้องแน่นอนและถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือสังคมทุกชนิดเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งนั้น

การที่พวกนายพลและอภิสิทธิ์ชน ใช้อำนาจของกระบอกปืนและความรุนแรงเพื่อกีดกันไม่ให้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย เป็นการปราบปรามคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยม  ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครองนี้ มีสมาชิกจากหลายส่วน มีทหาร นายทุนใหญ่ ข้าราชการชั้นสูงฯลฯ และชนชั้นนี้อาจไม่สามัคคีกันไปทั้งหมด อาจมีนายทุนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคนส่วนใหญ่ในชนชั้นปกครองก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันคือ ชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์กำลังใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นโอกาสและอิทธิพลทางการเมืองของคนทำงานในเมืองและในชนบท ซึ่งเป็นกรรมาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนซีกสมัยใหม่ของชนชั้นปกครองที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการปัจจุบัน ต้องการควบคุมเราด้วยระบบรัฐสภาและการสร้างภาพว่าเรามีส่วนร่วมเท่านั้นเอง เขาไม่ต้องการให้คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ท้ายสุดถ้าทหารมันสามารถ โกง ข่มขู่ หรือชักชวน หรือทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน จนผลประชามติออกมารับรัฐอธรรมนูญของมัน เราจะทำอย่างไร? ง่ายมากครับ หลังจากที่เราเสียใจสักห้านาที เราต้องสู้ต่อไปเพื่อคัดค้านเผด็จการและระบบการเลือกตั้งจอมปลอมที่มันอยากนำเข้ามาใช้ เราจะไม่มีวันยอมรับกติกาของโจรไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร การรณรงค์ให้โหวดโนเป็นเพียงรอบหนึ่งในสงครามระยะยาวเพื่อประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ ซึ่งไม่นับร่างรัฐธรรมนูญอีก ดูเหมือนยิ่งร่างรัฐธรรมนูญไปมากแค่ไหน การเมืองก็ยิ่งถอยหลังลงคลองมากขึ้น ร่างไปก็ฉีกไป จนรัฐธรรมนูญกลายเป็นเศษกระดาษขยะที่ปลิวไปตามลม ดังนั้นนอกจากเราต้องตั้งคำถามในยุคนี้ว่าทหารมีไว้ทำไม เราต้องตั้งคำถามอีกว่า “รัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม?” หรือ “เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญหรือไม่?”

หลายคนอาจพูดแบบกำปั้นทุบดินว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด” แต่ผมขอถามต่อว่า “แล้วยังไง?”

บ่อยครั้งหลังการทำรัฐประหาร มันมีช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ บ่อยครั้งเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจก็ไม่สนใจ ละเมิดรัฐธรรมนูญแบบหน้าตาเฉย หรือฉีกรัฐธรรมนูญด้วยปืน นอกจากนี้บ่อยครั้งมีการถกเถียงกันในการตีความมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นมันไม่น่าจะเป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด

เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเลวๆ อย่างที่พวกปฏิกูลกำลังร่างอยู่ทุกวันนี้ เป็นวิธีแสวงหาความชอบธรรมในการยืดเวลาและแช่แข็งอิทธิพลของเผด็จการ เราจึงต้องออกมาวิจารณ์ แต่ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญเลวแค่ไหน เราก็ยังต่อสู้กับเผด็จการได้

หลายคนที่หลง “คลั่งรัฐธรรมนูญ” จะคิดว่าการมีรัฐธรรมนูญดี ทำให้ประเทศมีเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่มันไม่จริง แน่นอนการมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยดีกว่าการมีรัฐธรรมนูญทหาร แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ใช่รัฐธรรมนูญ พลังมวลชนที่จัดตั้งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และพรรคการเมืองของประชาชน มีอำนาจที่สำคัญกว่าในการขยายและปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตย

ทุกครั้งที่คนจำนวนมากออกมาประท้วงเผด็จการ ทุกครั้งที่ชาวบ้านประท้วงเรื่องที่ทำกิน ทุกครั้งที่สหภาพแรงงานชุมนุมหรือนัดหยุดงาน ทุกครั้งที่ประชาชนไม่พอใจกับราคาผลผลิตทางเกษตร ต้องถือว่าเป็นการ “ออกกำลังกาย” หรือ “ฝึกฝน” ในกิจกรรมขยายและปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตย กิจกรรมเหล่านี้สำคัญกว่าการมีรัฐธรรมนูญหลายเท่า แต่แน่นอนการมีรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เป็นนามธรรมเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ เป็นสิ่งที่อาจให้กำลังใจกับผู้ที่เคลื่อนไหว เพราะอ้างมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญได้

ปัญหาของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย ไม่ได้มาจากการที่เราไม่มีรัฐธรรมนูญที่ดีพอ ปัญหาหลักมาจากการที่ชนชั้นปกครองและชนชั้นกลางไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนต่างหาก เรานำรัฐธรรมนูญกระดาษไปสู้กับอำนาจพวกนี้ไม่ได้ เราต้องนำอำนาจที่มาจากพลังมวลชนมาเป็นอาวุธแทน

แล้วถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญเราจะอยู่ได้ไหม?

ผู้เขียนไม่อยากจะยกตัวอย่างของประเทศอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาอ้าง ดังนั้นจะเอ่ยถึงบทความในอดีตของ อาจารย์ นิธิ เรื่อง “รัฐธรรมนูญชาวบ้าน”

ในบทความนี้ อ. นิธิ เสนอว่าในสังคมไทยมีรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือฉบับทางการเป็นลายลักษณ์อักษร กับฉบับของชาวบ้าน รัฐธรรมนูญฉบับชาวบ้านที่เขากล่าวถึงนี้ เป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางการเมือง เป็นเรื่องของประเพณีในการบริหารจัดการสังคม มันเป็นสิ่งที่คนธรรมดาใช้เป็นแนวคิดในหัว ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรถูกอะไรผิด อะไรมีความเป็นธรรมอะไรไม่มีความยุติธรรม หรืออะไรเป็นประชาธิปไตยและอะไรไม่ใช่

พูดง่ายๆ ก็คือ พลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ชีวิตหรือประพฤติตัวตามแนวประชาธิปไตย ใครๆ ก็รู้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งที่ไม่สกปรก ใครๆ ก็รู้ว่าการเมืองที่เป็นประโยชน์คือการเมืองที่ยกระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ขึ้นมา ใครๆ ก็รู้ว่าการเรียกร้องสิทธิเป็นเรื่องที่ชอบธรรมถ้าไม่ไปละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอื่น ใครๆ ก็รู้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง แต่แน่นอนในสังคมคงจะมีการถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดต่างๆ และในที่สุดก็ต้องลงมติกันเมื่อตกลงกันไม่ได้

คิดไปคิดมาผู้เขียนอดถามต่อไปไม่ได้ว่าเราจำเป็นต้องมีชนชั้นปกครองหรือ? เราต้องมีพวกใส่เครื่องแบบติดอาวุธในสังคมเราจริงหรือ? เราจำเป็นต้องมี “การปกครอง” จริงหรือ? จริงๆ แล้วเป้าหมายระยะยาวของทั้งนักมาร์คซิสต์แบบเลนิน และนักอนาธิปไตย คือการยกเลิกการปกครองและการยกเลิกรัฐไปเลย ( http://bit.ly/1QPRCP6 ) …. แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น

เจตนาในการเขียนบทความนี้คืออยากชวนให้คิดและถกเถียงกันว่าเราจะให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญแค่ไหน และเราต้องทำอะไรบ้างเป็นรูปธรรม เพื่อขยายและปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตย

การปฏิรูปที่แท้จริงจะมาจากไหน?

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่มีการฉีกทิ้งกระดาษเช็ดก้นราคาแพงที่เรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” และหลังจากที่ “สภาปฏิกูลแห่งชาติ” (สปช.) หรือ “คณะเลี้ยงเหลือบไรปัญญาอ่อนเพื่อนฝูงเผด็จการ” จบวาระการทำงานลงไปพร้อมกับล่องเรือเจ้าพระยาเพื่อฉลองเงินเดือนที่โกงมาจากประชาชน พวกเผด็จการก็ “เช็คบิล” เรากว่า 785 ล้านบาท นี่คือผลงานในรูปธรรมของพวก “คนดี”

แต่รับรองว่าจะไม่มีศาลเตี้ยจัญไรหรือพวกอ้างต่อต้านการคอร์รับชั่น ออกมาสั่งให้ประยุทธ์ขึ้นศาลติดคุกในฐานะโกงกินและเปลืองงบประมาณรัฐ พูดง่ายๆ ใครถือปืนก็ทำงานชุ่ยๆ ได้ ทำเสร็จก็สาวได้สาวเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง

องค์กร “ไอลอร์” (iLaw) เปิดเผยว่า หลักคิด สปช. มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ผุดข้อเสนอชนิด “ครอบจักรวาล” 505 ข้อ เป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีอะไรใหม่ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน เน้นขยายระบบราชการ เสนอตั้งหน่วยงานใหม่มากกว่า 100 หน่วยงาน และเสนอร่างกฎหมายใหม่นับร้อย จะใช้ระยะเวลายาวนานถึงปี พ.ศ. 2575 นอกจากนี้ สปช. ใช้หลักคิดที่คาดหวังเชื่อมั่นใน “คนดี” ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง

สรุปแล้วการทำงานของ สปช. คล้ายๆ กับเด็กอนุบาลนั่งคุยกันถึงความฝัน แต่แตกต่างกันมหาศาลในเรื่องค่าใช้จ่าย

ท่ามกลางความอื้อฉาวของเผด็จการครั้งนี้ หลายคนพูดว่าถ้าจะมีการปฏิรูปการเมืองหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ประชาชนต้องมีส่วนร่วม” ซึ่งก็จริง แต่ปัญหาคือพวกปฏิกูล และพวกที่นิยมเผด็จการก็พูดแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นในรูปธรรมเราต้องนิยาม “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ให้ชัดเจน

เราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามทหารเผด็จการที่ชอบเชิญพวกสายอาชีพต่างๆ เช่นนักวิชาการรับจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิขายตัว นายทุน และเพื่อนทหาร มาตั้งวงเพื่อเลือกผู้แทนกันเอง

เราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามของม็อบสุเทพ ที่เสนอว่าม็อบของมันคือ “มวลมหาประชาชน” หรือมูลหมาประชาชนก็ว่าได้

และเราควรปฏิเสธ “การมีส่วนร่วม” ในนิยามของเอ็นจีโอ เพราะเอ็นจีโอชอบเสนอตัวเองว่าเป็น “ผู้แทนประชาสังคม” ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครเลือกมาผ่านกลไกการเลือกตั้ง และอย่าลืมอีกว่าเอ็นจีโอใน สปช. ออกเสียงรับรัฐธรรมนูญโจรด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนบังคับผ่านการเขียนกติกาไม่ได้ ร่างไว้ในกฏหมายไม่ได้ และไม่เคยงอกมาจากคณะกรรมการใด เพราะการมีส่วนร่วมจริง มาจากการที่พลเมืองจำนวนเป็นล้านๆ สมัครใจที่จะเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สร้างจาก “รากหญ้า”

ในลักษณะเดียวกัน สิทธิเสรีภาพ และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดจากการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเขียนกี่ร้อยล้านฉบับ และที่สำคัญคือ ถ้าเรายกอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญให้กับผู้ทรงคุณวุฒิคนที่รับใช้เผด็จการชนชั้นปกครอง และจำกัดบทบาทของพลเมืองไว้แค่ในเรื่องการ “เสนอ” บางสิ่งบางอย่างเท่านั้น รัฐธรรมนูญก็จะเป็นของอำมาตย์เสมอ

สิทธิเสรีภาพ และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย มาจากการต่อสู้โดยมวลชนที่ปะทะกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง ปะทะไปเพื่อผลักดันให้ฝ่ายตรงข้ามถอย และเมื่อได้ชัยชนะระดับหนึ่งก็อาจสามารถเขียนอะไรไว้เป็น “มาตรฐานเสรภาพ” เหมือนเวลาน้ำทะเลขึ้นสูงและทิ้งหอยหรือเศษไม้ไว้ตรงจุดสูงสุดที่น้ำขึ้น แต่พอเขียนไว้เป็นมาตรฐานดังกล่าว ก็ต้องมีการปกป้องตลอดเวลาผ่านการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่เช่นนั้นมันจะถูกชนชั้นปกครองทำลาย ซึ่งบทเรียนจากทั่วโลกพิสูจน์ว่า สหภาพแรงงาน และองค์กรทางการเมืองของกรรมาชีพและเกษตรกร มีบทบาทสำคัญในการรักษาความเข้มแข็งของขบวนการตรงนี้

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สร้างจากรากหญ้า จะเป็นเวทีแห่งการถกเถียง เพือรับข้อเสนอหลากหลายและแสวงหาแนวทางที่เหมาะที่สุด และถ้าองค์กรทางการเมืองไหนจะมามีบทบาทนำ ก็ต้องสามารถสร้างความชอบธรรม และครองใจคนส่วนใหญ่ในขบวนการ ผ่านกลไกการถกเถียงและการลงคะแนนเสียง ตามกติกาประชาธิปไตย

จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญที่ดีควรเขียนไว้ให้น้อยที่สุด เพราะเสรีภาพมาจากรูปธรรมของการเคลื่อนไหว ควรมีการกระจายอำนาจสู่สภาชุมชนในเรื่องที่เหมาะสม ไม่ใช่สั่งการทุกอย่างมาจากส่วนกลาง ซึ่งแปลว่าควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคต่างๆ รวมถึงปาตานี สามารถปกครองตนเอง

ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระดับชาติ การสร้างรัฐสวัสดิการในรูปธรรม ที่มีลักษณะ “ถ้วนหน้า ครบวงจร พร้อมเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย” จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สรุปแล้วถ้าเราจะมีการปฏิรูประบบการเมือง เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและเพิ่มสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องเน้นการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน และหันหลังให้กับการหา “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาร่างกระดาษเช็ดก้นราคาแพงอีกฉบับ