Tag Archives: รัฐบาลฝ่ายซ้าย

วิกฤตพรรคซ้ายในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขณะนี้ ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา มีวิกฤตของพรรคการเมืองซ้ายแบบ “ปฏิรูป” ที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา โดยที่ไม่มีการโค่นอำนาจเก่าเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ ไม่มีการรณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน และไม่สร้างพรรคปฏิวัติที่อาศัยอำนาจรากหญ้าจากล่างสู่บน

วิกฤตของพรรคฝ่ายซ้ายเหล่านี้ สร้างภัยให้กับคนยากจนและกรรมาชีพเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโอกาสในการกลับมาของพรรคฝ่ายขวาท่ามกลางการเดินขบวนประท้วงของชนชั้นกลาง “สลิ่ม” ที่เกลียดชังคนจนและประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน

สลิ่มในบราซิล
สลิ่มในบราซิล

ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา พรรคฝ่ายซ้ายเคยชนะการเลือกตั้งและลงมือใช้รายได้ของประเทศในการพัฒนาชีวิตของคนจน รายได้ดังกล่าว ในประเทศอย่างบราซิล มาจากการส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ ให้ประเทศจีน ซึ่งจีนในช่วงนั้นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประเทศอย่างเวนเนสเวลา เคยรับรายได้ระดับสูงจากการค้าน้ำมัน นโยบายช่วยคนจนของหลายรัฐบาลในลาตินอเมริกา เป็นที่ชื่นชมของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตรัฐบาลฝ่ายขวาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเผด็จการทหาร ไม่เคยสนใจปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่เลย หลายประเทศเคยถูกปกครองอย่างโหดร้ายโดยแก๊งอำมาตย์ที่ประกอบไปด้วยนายทุนใหญ่ คนรวย และทหาร

แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนตัวลงและจีนซื้อวัตถุดิบน้อยลง พร้อมกันนั้นปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก บวกกับนโยบายการกดราคาเพื่อทำลายคู่แข่งของประเทศซาอุ ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจบราซิลเข้าสู่วิกฤตการหดตัวอย่างหนัก และอเจนทีนากับเวเนสเวลามีระดับเงินเฟ้อที่น่ากลัวมาก

เมื่อรัฐบาลของหลายประเทศในลาตินอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะยึดทรัพย์และระบบการผลิตจากคนรวยและกลุ่มทุน กลับใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่รัดเข็มขัดตัดสวัสดิการให้ประชาชน ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานและคนจนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นโอกาสทองของพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลาง ที่จะออกมาประท้วงด้วย

แม้แต่ในประเทศ โบลิเวีย รัฐบาลของ อีโว มอราเลส ที่เคยก้าวหน้า ก็หักหลังขบวนการประชาชนพื้นเมืองท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเหมืองแร่และน้ำมันเข้ามาลงทุนและทำลายป่า

ปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งในประเทศเหล่านี้คือ นักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นนักสู้ หรือในกรณีของ ลูลา อดีตประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งเคยเป็นนักสหภาพแรงงานในโรงงานรถยนต์ เมื่อเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองโดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างรัฐ และไม่มีพลังมวลชนรากหญ้าที่คอยตรวจสอบตัวเอง เริ่มแปรธาตุไปเป็นพวกอภิสิทธิ์ชนเหมือนกับที่นักการเมืองฝ่ายขวาและนายทุนใหญ่เป็นอยู่ พวกนี้จึงหันไปใช้ชีวิตเหมือนพวกคนรวย และหากินแบบคอร์รับชั่น บางครั้งนักการเมืองฝ่ายซ้ายปฏิรูปเหล่านี้ อาจยิ่งโกงกินอย่างเปิดเผยมากกว่าฝ่ายขวาบางคน เพราะไม่ได้มาจากตระกูลร่ำรวยที่สะสมทรัพย์ผ่านการขูดรีดประชาชนหรือการโกงกินในอดีตเหมือนฝ่ายขวา แต่เขาอยากมีวิถีชีวิตเหมือนกัน

ทั่วโลกระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยการโกงกิน การคอร์รับชั่น และการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดคนอื่น ถ้านักการเมืองฝ่ายซ้ายไม่พยายามล้มทุนนิยม ก็จะปรับตัวเข้าหาระบบแทน

ปัญหาการโกงกินไม่ได้มาจาก “นิสัย” หรือ “ธรรมชาติ” มนุษย์ หรือปัญหาของการเป็นฝ่ายซ้ายแต่อย่างใด มันมาจากการที่ขาดขบวนการมวลชนที่จะมาตรวจสอบ เพราะเน้นการเป็นผู้แทนที่จะ “ทำอะไรให้ประชาชน” และมันมาจากรูปแบบการเมืองของฝ่ายปฏิรูปที่ไม่เน้นการปฏิวัติล้มระบบชนชั้นโดยพลังมวลชนที่ร่วมกันนำ

รัฐบาลพรรคซ้ายหลายแห่งเคยอาศัยกระแสการต่อสู้ของมวลชน เพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่พอได้อำนาจทางการเมืองก็พยายามลดบทบาทมวลชน ในเวนเนสเวลา การสร้างพรรคสังคมนิยมของ ฮูโก ชาเวส ไม่ได้สร้างเพื่อส่งเสริมการปฏิวัติจากล่างสู่บน แต่สร้างเพื่อควบคุมมวลชนแทน ดังนั้นในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายหักหลังประชาชน หรือทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวัง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนทำงานและคนจนอ่อนแอกว่าที่เคยเป็น

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อชนชั้นกลางสลิ่มกับนักการเมืองฝ่ายขวาออกมาเคลื่อนไหว นักสหภาพแรงงานและคนจน ติดกับดักที่มาจากความต้องการที่จะคัดค้านฝ่ายขวาและปกป้องสิ่งที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายเคยทำให้ แต่ในขณะเดียวกันต้องการประท้วงรัฐบาลฝ่ายซ้ายด้วย

สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา
สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา

ในประเทศบราซิล รัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และตัว “ลูลา” เอง กำลังถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นท่ามกลางการเดินขบวนของฝ่ายขวา อีกข้อกล่าวหาหนึ่งคล้ายๆ ของไทยคือฝ่ายขวาไม่พอใจกับนโยบายประชานิยมและอ้างว่ารัฐบาลใช้งบประมาณในลักษณะ “ผิดกฏหมาย” แต่นักการเมืองฝ่ายขวาที่ปลุกระดม “สลิ่ม” บราซิล ก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นมากกว่าประธานาธิบดีหลายเท่า และคนที่เข้ามารับตำแหน่งชั่วคราวในขณะที่ เดลมา รุสเซฟ ถูกบังคับพัก ขณะที่มีการสืบสวน ก็โดนข้อกล่าวหาเช่นกัน ล่าสุดพรรคพวกของประธานาธิบดีเฉพาะกาลถูกจับว่าวางแผนล้ม รุสเซฟ เพื่อกีดกันไม่ให้พวกเขาโดนสืบสวนเรื่องคอร์รับชั่นเอง

ในเวนเนสเวลา ฝ่ายขวากำลังประท้วงกดดันรัฐบาลของ นิโคลัส เมดูโร และในอาเจทีนา คริสตีนา เคอร์ชเนอร์ นักการเมืองซ้ายอ่อนๆ แพ้การเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนมองว่าเขามีปัญหาคอร์รับชั่น อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีฝ่ายขวาคนใหม่ โมริซิโอ แมครี ก็โดนเรื่องอื้อฉาวจากการเปิดโปงการเลี่ยงภาษีใน “ปานามาเปเปอร์ส”

บทเรียนสำคัญจากสิบปีที่ผ่านมาของการเมืองลาตินอเมริกา คือฝ่ายซ้ายต้องสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบบอย่างถอนรากถอนโคน ต้องเน้นขบวนการมวลชนโดยเฉพาะกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับผู้แทนในรัฐสภาเป็นหลัก และนอกนี้จากฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงานต้องมีจุดยืนที่อิสระจากพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่มักจะหักหลังคนจนเสมอ

อ่านเรื่องเวนเนสเวลา: http://bit.ly/24YHhDL

รัฐบาลฝ่ายซ้ายในชีลีผ่านกฎหมาย “การศึกษาฟรีสำหรับทุกคน”!

ข้อมูลจาก OECD ทำให้เห็นว่าประเทศชิลีเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ติด 1 ใน 34 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ค่าเล่าเรียนจากโรงเรียนมัธยมสู่มหาวิทยาลัยนั้นแพงที่สุดติดอันดับโลก นักศึกษาที่เข้าไปได้เมื่อจบออกมามีปัญหาในการหาเงินมาชดใช้หนี้ นอกจากโรงเรียนเอกชนของบรรดาชั้นชั้นนำ คุณภาพการสอนโดยทั่วไปนั้นก็ถือว่าแย่ ติดอันดับท้ายๆ ของโลก

การเปลี่ยนแปลงมาจากไหน?

การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เริ่มจากนักการเมือง หรือ ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา คือ ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มขึ้นในปี 2006 จาก “การปฏิวัตินกเพนกวิน” ชื่อดังกล่าวได้มาจากชุดนักศึกษาสีดำกับสีขาว ที่นักเรียนใส่เพื่อประกาศว่า “การศึกษาคือสิทธิมนุษยชน” เป้าหมายหลักของขบวนการคือ “ระบบการศึกษาฟรี” ตอนต้นๆ ของขบวนการนักศึกษาประสบความสำเร็จบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้

Toma_de_la_Universidad_de_Chile

พลังของนักศึกษาระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง พฤษภาคม 2011 นักศึกษายึดมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 8 เดือน ส่งผลสะเทือนและกระเพื่อมพลังการเคลื่อนไหวกระจายออกไปในระดับประเทศ การเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยความดุเดือดรอบนี้กินระยะเวลา 3 ปี ในจุดที่กระแสขึ้นสูงสุด ประมาณว่านักเรียนนักศึกษากว่า 800,000 คนหลั่งไหลเข้าสู่ท้องถนน ประชาชนชาวชิลีมากกว่า 81% ให้การสนับสนุนนักศึกษา ผู้นำนักศึกษาคนสำคัญ ๆ อย่างเช่น Camila Vallejo ตอนนี้เป็น ส.ส. พรรคคอมมิวนิสต์ ในรัฐสภา และแกนนำคนอื่นที่ถูกเลือกเป็น ส.ส. คือ Giorgio Jackson, Gabriel Boric and Karol Cariola

student-leaders

การประท้วงขนาดใหญ่ของนักศึกษาในรอบหลายเดือน เรียกร้องให้มีการปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน โดยเฉพาะการแปรรูประบบการศึกษา ที่เน้นการทำกำไร ระบบดังกล่าวนำเข้ามาโดยเผด็จการนายพลปิโนเช่

2011_student_UCH_protests_in_Chile

 

ความเข้มแข็งขอบขบวนการนักศึกษาได้กำหนดทิศทางของการเลือกตั้งในปี 2013 และส่งผลให้พรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง มิชเชลล์ บาเชเลส(Michelle Bachelet) กลายมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี เธอให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกนโยบายความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก เผด็จการปิโนเช่ในช่วง 1973-1990 เธอกล่าวต่อไปว่าเธอมุ่งมั่นจะลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยลง

Chilean presidence

ในที่สุด ระบบการศึกษาที่เน้นกลไกตลาดก็ได้ปิดฉากลง ไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมารัฐสภาชิลีได้ออกกฎหมายที่ถือว่าสำคัญที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชิลี คือ การยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนในระบบการศึกษา การศึกษาจะต้องเป็นของทุกคน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2016

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดี มิชเชลล์ บาเชเลส  ประกาศแผนการปฏิรูปการศึกษาโดยยกเลิกระบบการคัดเลือกที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นมรดกล้าหลังของนายพลเผด็จการปิโนเช่ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีประกาศต่อไปว่า “เราต้องการครูคุณภาพ กับ ระดับเงินเดือนที่ดี ระบบการจ้างงานที่มีมาตรฐาน พวกเราต้องการให้โรงเรียนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และ พวกเราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้นอกรั้วมหาวิทยาลัย” เพราะการศึกษาต้องเป็นของทุกคน”

ประธานาธิบดี มิชเชลล์ ได้ยกเครื่องระบบภาษี มีการเก็บภาษีจากทุนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ให้รัฐมีเงินเพิ่มอย่างมหาศาล 8.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ เงินดังกล่าวจะถูกมาสร้างระบบการศึกษาเพื่อทุกคน ขณะนี้รัฐสภาชิลีกำลังผ่านกฎหมายตัวใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้กับสหภาพแรงงาน

แปลและเรียบเรียงจาก : http://reut.rs/1tkVe1Z , http://bit.ly/1CeZGQn